ประเทศไทยมีพื้นที่เก็บเกี่ยวปาล์มน้ำมันประมาณ 5.1 ล้านไร่ โดยที่ร้อยละ 88 อยู่ในจังหวัดภาคใต้ จากแผนยุทธศาสตร์ปาล์มน้ำมันของชาติกำหนดให้มีการขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันในแต่ละช่วงอายุมีความสำคัญต่อการวางแผนในการจัดการสวนปาล์มน้ำมันในอนาคต
การศึกษาเรื่องนี้ใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ GIS เป็นเครื่องมือช่วยในการศึกษา จากผลการศึกษาพบว่าในปี พ.ศ.2559 มีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันจำนวน 4,924,715.69 ไร่ ใน 11 จังหวัดทางภาคใต้ โดยจังหวัดสุราษฎร์ธานีมีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันมากที่สุด นอกจากนี้ยังมีการปลูกปาล์มน้ำมันในเชิงการค้ากระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย
แต่เนื่องจากเกษตรกรไทยส่วนใหญ่เป็น “เกษตรรายย่อย” มากกว่ารายกลาง และรายใหญ่ ทำให้ยากต่อการบริหารจัดการ ดังนั้นภาครัฐจึงมีนโยบายส่งเสริม “เกษตรแปลงใหญ่” เน้นการรวมกลุ่มเกษตรกรในรูปแบบวิสาหกิจชุมชนและสหกรณ์การเกษตร เพื่อให้กลุ่มเกษตรกรรายย่อยเข้าถึงการสนับสนุน และการช่วยเหลือทั้งจากภาครัฐและเอกชนอย่างต่อเนื่อง
ควบคู่ไปกับการยกระดับการผลิตปาล์มน้ำมันให้ได้มาตรฐานสากลภายใต้ “โครงการระบบบริหารจัดการปาล์มน้ำมันอย่างมีส่วนร่วมที่ยั่งยืนเพื่อเตรียมพร้อมการรับรอง GAP และ RSPO” ส่งผลให้มีกลุ่มเกษตรกรรายย่อยอิสระที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน RSPO เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างมีส่วนร่วมของชุมชนทั่วประเทศทั้งหมด 14 กลุ่ม
คุณสมบัติของปาล์มน้ำมัน
นอกจากนี้ “ปาล์มน้ำมัน” เป็นพืชที่มากด้วย “คุณค่าและมูลค่า” เป็นทั้งพืชอาหาร พืชพลังงาน พืชความงามและของเสียจากทุกกระบวนการผลิตสามารถพัฒนาต่อยอดนำไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมดผ่านงานวิจัยที่ได้รับงบการวิจัยจาก สวก. เป็นทีมวิจัยไทยที่มากด้วยฝีมือจากภาคส่วนต่างๆ ที่ได้มุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลงานวิจัยดีๆ ให้กับกลุ่มเกษตรกร และผู้ประกอบการ นำไปต่อยอดได้ในเชิงการค้าได้จริง ดังนี้
ผศ.ดร.ณัฐพรพรรณ อุตมา และคณะ สำนักเศรษฐกิจชายแดนและโลจิสติกส์ (OBELS) มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง วิจัยเรื่องโซ่อุปทานและโครงสร้างตลาดธุรกิจปาล์มน้ำมัน และน้ำมันปาล์มในเขตภาคเหนือตอนบน : กรณีศึกษาโอกาสทางการตลาดในประเทศอาเซียน-จีนในเส้นทางเศรษฐกิจ R3A พบว่า ศักยภาพด้านการผลิตและโครงสร้างตลาดปาล์มน้ำมันในเขตภาคเหนือตอนบนมีความแตกต่างจากที่อื่น ทั้งด้านต้นทุนและการตลาด ที่ทำให้เห็นถึงโอกาสและข้อจำกัดตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำได้ชัดเจน
โดยเฉพาะข้อจำกัดด้านตลาดและราคาขายต่ำกว่าที่อื่น เนื่องจากข้อจำกัดด้านปริมาณผลผลิต ต้นทุนด้านขนส่ง ในขณะที่โอกาสทางการตลาดและพฤติกรรมทางผู้บริโภคผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มของไทยในตลาดอาเซียน-จีน (ตอนใต้) คือ ในเส้นทางเศรษฐกิจสาย R3A มีโอกาสทางการตลาดและการส่งออกผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มในระบบการค้าชายแดนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะ สปป.ลาว และสหภาพเมียนมา
ซึ่งผลิตภัณฑ์น้ำมันของไทยได้รับความนิยมในตลาด สปป.ลาว และสหภาพเมียนมา ที่ปัจจุบันมีการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มของประเทศคู่แข่งที่สำคัญอย่างมาเลเซีย แต่ความท้าทายของอุตสาหกรรมการส่งออกผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มของไทยไปยังตลาดอาเซียน-จีน (ตอนใต้) คือ ผู้บริโภคในประเทศจีน (ตอนใต้) ส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์ม และไม่สามารถรับรู้ถึงข้อดีของผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์ม ซึ่งเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการไทยในการวางแผนเชิงกลยุทธ์เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มนี้ และขยายโอกาสทางตลาดไปยังประเทศจีนตอนใต้ต่อไป
การวัดเปอร์เซ็นต์น้ำมันปาล์มในทะลายปาล์มน้ำมัน
ดร.ปรีดาวรรณ ไชยศรีชลธาร กรมวิชาการเกษตร เรื่อง การศึกษาเทคนิควัดเปอร์เซ็นต์น้ำมันปาล์มในทะลายปาล์มน้ำมันอย่างรวดเร็ว โดยใช้ความสัมพันธ์ของเปอร์เซ็นต์น้ำมันกับค่าทางไฟฟ้า พบว่า ต้นแบบเครื่องวัดเปอร์เซ็นต์น้ำมันแบบหัววัดทรงกระบอกด้วยค่าทางไฟฟ้าอ้างอิงวิธีวิเคราะห์องค์ประกอบทะลาย
ซึ่งใช้เวลาตั้งแต่สับแยกแกนทะลายจนถึงหั่นเปลือกปาล์มเป็นแผ่นบาง 87 นาที และใช้เวลาในการวัดเปอร์เซ็นต์น้ำมันด้วยเครื่องต้นแบบเพียง 1 นาที ก็ทราบผล เทียบกับวิธีวิเคราะห์องค์ประกอบทะลายมาตรฐานใช้เวลา 98 ชั่วโมง จึงมีความเป็นไปได้ในการพัฒนาต่อยอดเป็นเครื่องวัดในเชิงการค้าได้ และจะทำให้เกิดการซื้อขายปาล์มทะลายตามเปอร์เซ็นต์น้ำมันอย่างแท้จริง
เกษตรกรที่เก็บผลปาล์มทะลายสุกพอดีจะได้เปอร์เซ็นต์น้ำมันดีที่สุดเฉลี่ย 21% แทนที่ 17% ทันที เกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มขึ้น มีผลผลิตเพิ่มขึ้นเท่ากับ 11.62 ล้านตัน จะทำให้ประเทศไทยมีรายได้เพิ่มขึ้น 90,000 ล้านบาท เทียบเท่ากับมีพื้นที่ปลูกปาล์มมากถึง 781,000 ไร่
การแปรรูปจากปาล์มน้ำมัน
ผศ.ดร.ชลทิศา สุขเกษม และคณะ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง เรื่อง การบำบัดสีในน้ำเสียจากการแปรรูป ปาล์มน้ำมัน ด้วยเซลล์เชื้อเพลิงจุลินทรีย์ชนิดใช้กล้าเชื้อราที่เจริญภายใต้สภาวะไร้อากาศเป็นตัวเร่งบนขั้วแอโนด พบว่า เชื้อราที่เจริญได้ในสภาวะไร้อากาศสามารถบำบัดสีได้ประมาณร้อยละ 60 โดยปราศจากการเติมอาหารเลี้ยงเชื้อแก่ระบบบำบัด เป็นการนำกระบวนการทางชีวภาพมาบำบัดน้ำเสียสีคล้ำทดแทนการใช้สารเคมีและอื่นๆ ได้ดี ที่มีต้นทุน และเป็นพิษกับสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ยังช่วยลดพื้นที่กักเก็บน้ำเสียไม่ผ่านมาตรฐานน้ำทิ้งตามกฎหมาย เช่น บริษัทมีบ่อน้ำเสีย 800 ลูกบาศก์เมตร/วัน โรงงานต้องมีบ่อกักเก็บน้ำเสียถึง 48,000 ลูกบาศก์เมตร คิดเป็นพื้นที่ 7.5 ไร่ หรือมีมูลค่าที่ดินที่มีค่าใช้จ่ายประมาณ 23 ล้านบาท
การออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากไม้ ปาล์มน้ำมัน
ผศ.วรพงค์ บุญช่วยแทน และคณะ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย เรื่อง การศึกษาความเป็นไปได้ในการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากไม้ปาล์มน้ำมัน พบว่า การนำต้นปาล์มสายพันธุ์ดูร่าอายุ 35 ปี ความยาว 13 เมตร มาตัดเอาช่วงความสูง 1-2 เมตร จากโคนต้น แปรรูปเป็นแผ่น 2.5×7 เมตร แล้วผึ่งแดดให้แห้ง 7 วัน
และพบว่าเป็นเนื้ออ่อนมาก มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับไม้ยางพารา แต่ด้อยกว่าไม้มะพร้าว และไม้ตาลโตนด แต่มีลวดลายเนื้อไม้สวยงาม ไม่เหมาะทำไม้โครงสร้าง แต่เหมาะกับการทำไม้เฟอร์นิเจอร์ภายในอาคาร เช่น โต๊ะรับประทานอาหาร 4 ที่นั่ง โต๊ะรับแขก ชุดสำหรับนั่งหรือนอน เป็นต้น ที่สามารถเพิ่มโอกาสการแข่งขันทางธุรกิจได้ สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ให้กับประชาชนในชุมชน มีอาชีพหลักหรือเสริมเลี้ยงตัวเองได้ หลุดพ้นจากการเป็นหนี้สิน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
รศ.ดร.วันดี ทาตระกูล และ ดร.อมรรัตน์ วังอังคาร คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร เรื่อง วัตถุดิบอาหารสัตว์พลังงานสูงจากน้ำมันปาล์มดิบเพื่อปรับปรุงคุณภาพซากและเนื้อสุกร พบว่า ประเทศไทยผลิตสุกรขุนปีละไม่ต่ำกว่า 10 ล้านตัว สุกรขุนแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะน้ำหนักตัว 50-80 กิโลกรัม และ 80-100 กิโลกรัม ตามชนิดของสูตรอาหารที่ใช้เลี้ยง
โดยจากน้ำหนัก 50-100 กิโลกรัม สุกรจะกินอาหารประมาณ 130-150 กิโลกรัมต่อตัว และในอาหารสุกรระยะนี้สามารถใช้น้ำมันประกอบในสูตรอาหารได้ถึง 3% ดังนั้นถ้าสามารถนำน้ำมันปาล์มดิบมาใช้ในสูตรอาหารสุกรระยะนี้ ซึ่งเป็นระยะขุนเพียงระยะเดียว สามารถใช้ได้ 4-5 กิโลกรัม ต่อการผลิตสุกรขุนหนึ่งตัว
ถ้าการผลิตทั้งประเทศจะสามารถนำน้ำมันปาล์มดิบไปใช้เพิ่มมูลค่าเฉพาะช่วงสุกรขุนได้ถึงปีละ 4-5 หมื่นตันต่อปี อีกทั้งยังช่วยปรับคุณภาพซากและคุณภาพของเนื้อสุกรให้ตรงตามความต้องการของตลาดและผู้บริโภค
ขอขอบคุณข้อมูล ผลงานวิจัยภายใต้แผนงานวิจัย มุ่งเป้าตอบสนองความต้องการพัฒนาประเทศโดยเร่งด่วน
ปาล์มน้ำมัน ปีงบประมาณ 2558