เนื้อหาในฉบับนี้ จะเป็นตอนแรกของ พันธุ์ปาล์มน้ำมัน ผู้เขียนจะเขียนให้ครบสักห้าถึงหกตอนเพื่อพูดคุยเรื่องพื้นฐาน พันธุ์ปาล์มน้ำมัน ที่เราควรพิจารณาข้อเท็จจริงที่เราอาจมองผ่านไปบ้าง ถือเป็นเรื่องธรรมดาบ้าง แต่กลับมีความสำคัญอย่างยิ่ง ผู้เขียนพยายามไม่เข้าลึกไปในเชิงวิชาการที่ซับซ้อน แต่จะใช้ประสบการณ์ที่อยู่กับปาล์มน้ำมันมาเป็นเวลา 30 ปี ทั้งด้านการจัดการสวน การปรับปรุงพันธุ์ปาล์มน้ำมัน และการเป็นวิทยากรในขณะเดียวกัน มาถ่ายทอด โดยเฉพาะจะเป็นแนวคิดให้กับเกษตรกรที่ต้องการเรียนรู้หรือปลูกปาล์มน้ำมันนำไปพิจารณาและตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง
ผลผลิตปาล์มน้ำมัน ควรจะเป็นเท่าไร
เราวัดผลผลิตปาล์มน้ำมันเป็นกิโลกรัมหรือจำนวนตันต่อไร่ต่อปี ทั้งนี้ เพื่อเป็นข้อมูลที่จะบอกได้ว่าผลผลิตของเรามีปริมาณมากน้อยเพียงใดเมื่อเปรียบเทียบกับที่ควรจะได้รับแต่เป็นที่น่าเสียดายว่า เรามักละเลยการบันทึกผลผลิตที่ได้แต่ละครั้งของการตัดไปขาย การบันทึกการใส่ปุ๋ย ตลอดจนค่าใช้จ่ายต่างๆ เราไม่รู้เลยว่าผลผลิตต่อไร่ต่อปีของเราได้เท่าไร จ่ายเงินไปเท่าไร และท้ายที่สุด ยังไม่รู้เลยว่ารายรับแต่ละปีหักค่าใช้จ่ายแล้ว มีรายได้สุทธิเท่าไร
ดังนั้น เราจะทราบได้อย่างไรว่า เราบำรุงรักษาต้นปาล์มของเราได้อย่างเหมาะสม พันธุ์ปาล์มน้ำมัน ที่เราปลูกดีระดับใด ในสภาพปัจจุบันเราควรได้รับผลผลิตเท่าไร ถ้าคนขายปุ๋ยบอกท่านว่า ใส่ปุ๋ยชนิดนี้แล้วจะได้ผลผลิต 10 ตันต่อไร่ต่อปี หรือ ปลูกสาย พันธุ์ปาล์มน้ำมัน นี้แล้วได้ผลผลิต 8 ตันต่อไร่ต่อปี ท่านเชื่อหรือไม่
เรามักจะพูดว่า รอบนี้ไปตัดปาล์ม มีต้นปาล์มอยู่ จำนวน 450 ต้น ได้ผลผลิต จำนวน 15 ตัน เปรียบเทียบกับเพื่อนอีกคนหนึ่ง มีต้นปาล์มอยู่ จำนวน 500 ต้น ได้ผลผลิตแค่ จำนวน 10 ตันท่านคิดว่าแปลงปาล์มน้ำมันของทั้งสองคน ของใครดีกว่ากัน ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว เราไม่สามารถระบุเปรียบเทียบผลผลิตที่ได้รับในช่วงสั้นๆ ได้ เพราะต้นปาล์มให้ผลผลิตแตกต่างกันในช่วงฤดูกาล ซึ่งขึ้นอยู่กับสาย พันธุ์ปาล์มน้ำมัน และ อายุของต้นปาล์ม ต้นปาล์มอายุ 6 ปี อาจมีผลผลิตสูงมากในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน และปาล์มอายุตั้งแต่ 10 ปี อาจมีผลผลิตมากในช่วงเดือนมกราคา-เมษายน เป็นต้น และเช่นเดียวกัน ปาล์มที่มีอายุ 5 ปี ย่อมมีผลผลิตน้อยว่าต้นปาล์มอายุ 8 ปี ถ้ามีสภาพพื้นที่ การบำรุงรักษา และพันธุ์มาตรฐานใกล้เคียงกัน
เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจึงต้องวัดผลผลิตทั้งปีและนำมาคำนวณต่อไร่ อย่างไรก็ตาม ท่านเชื่อหรือไม่ว่ามีเกษตรกรหลายคนทราบจำนวนต้นที่ปลูกแต่ไม่ทราบจำนวนไร่ที่แท้จริงปัญหาต่อมาคือ ยังมีการปลูกที่ระยะระหว่างต้นไม่เท่ากันอีก อันนี้ ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การเปรียบเทียบผลผลิตได้ไม่ชัดเจน
ท่านเป็นคนหนึ่งหรือไม่ที่ประเมินผลผลิตอย่างผิวเผิน วันหนึ่งท่านเห็นต้นปาล์มจำนวนหนึ่งให้ผลผลิตทะลายใหญ่จำนวนหลายทะลาย เราอาจตื่นเต้นว่าปาล์มแปลงนี้ให้ผลผลิตสูง ซึ่งตามหลัการแล้วเราต้องสังเกตว่า ต้นปาล์มน้ำมันส่วนใหญ่เป็นอย่างนั้นหรือไม่ เราอาจพบว่าต้นที่ทะลายดกและมีขนาดใหญ่มีจำนวนน้อย ส่วนที่มากกว่ามีจำนวนทะลายน้อย หรือเล็กบ้างใหญ่บ้าง อันนี้ เราเรียกว่าไม่มีความสม่ำเสมอของสายพันธุ์ โดยเฉพาะเราจะเห็นต้นสูงต่ำไม่เท่ากัน ขนาดต้นและลักษณะทางใบ ไม่เหมือนกัน เป็นต้น เมื่อเราคำนวณผลผลิตทั้งแปลงก็จะพบว่าผลผลิตน้อยกว่าแปลงที่ต้นปาล์มมีความสม่ำเสมอ แต่อาจดูธรรมดาเช่น มีจำนวนทะลายปานกลาง หรือขนาดทะลายปานกลาง หรือ ท่านอาจไปเยี่ยมสวนใดสวนหนึ่ง แต่ท่านกลับพบแต่ช่อดอกตัวผู้เป็นส่วนใหญ่อยู่บนลำต้น ท่านอาจสรุปว่า สายพันธุ์นี้ให้ผลผลิตน้อย แต่ความเป็นจริงเมื่อถัดจากนั้นมาไม่กี่เดือนต้นปาล์มที่ท่านเห็นเริ่มให้ทะลายออกมาเป็นจำนวนมากพร้อมๆ กันเกือบทุกต้น ซึ่งเช่นกันถ้าท่านมาเห็นในช่วงนี้ ท่านก็จะกล่าวว่าปาล์มแปลงนี้ให้ผลผลิตดีเหลือเกิน ดังนั้น เราไม่สามารถสรุปผลได้ว่าต้นปาล์มให้ผลผลิตไม่ดีเพียงการได้เห็นเพียงครั้งเดียว
เมื่อเรารู้จำนวนผลผลิตที่เราได้รับ ทีนี้ มาพิจารณาว่า ควรจะเป็นเท่าไร ปัจจัยที่กำหนดระดับผลผลิตที่สำคัญ ได้แก่ ปริมาณความชื้นในดิน ซึ่งเกี่ยวเนื่องถึงปริมาณน้ำฝน จำนวนวันฝนตกในแต่ละเดือน การอุ้มน้ำของดิน การระเหยของน้ำ และระดับน้ำใต้ดิน ถัดมาเป็นการจัดการบำรุงรักษาและการเก็บเกี่ยว ความสมบูรณ์ของดิน และสายพันธุ์ เป็นต้น ผู้เขียนไม่อาจหยิบยกผลการวิจัยหรือสถิติที่ซับซ้อนได้ในที่นี้ที่มีเนื้อที่จำกัดแต่จะสรุปภาพรวมมาให้เห็น พันธุ์มาตรฐานทั่วไป หากมีการบำรุงรักษาและสภาพดินดีปานกลางเหมือนกันแล้ว ต้นปาล์มอายุตั้งแต่ 6 ปี ขึ้นไป ถ้ามีความแห้งแล้ง ฝนตกน้อยมากไม่ถึง 10 วันต่อเดือน ติดต่อกันเป็นเวลา 4 เดือน ผลผลิตที่ได้รับมักอยู่ที่ระดับ 2.5 – 2.7 ตันต่อไร่ต่อปี และถ้ามีฝนตกดีตลอดปี มีฝนตกมากกว่า 10 วัน ทุกๆเดือน ผลผลิตที่ได้รับ อาจถึง 5 ตันต่อไร่ต่อปี ซึ่งถือว่าสูงกว่าเกณฑ์เฉลี่ยมากแล้ว อย่างไรก็ตามเราอาจได้ผลผลิตถึง 6 ตันต่อไร่ต่อปีภายใต้สภาวะที่สมบูรณ์จริงๆหรือมีระบบน้ำเข้ามาช่วยเสริม และที่ขาดไม่ได้คือมีแรงงานที่สามารถเก็บเกี่ยวออกมาชั่งขายได้ทั้งหมด (แม้จะตัดดิบบ้าง) อันที่จริง เขามีการวัดและคำนวณระดับการขาดน้ำของต้นปาล์มน้ำมันแต่จะซับซ้อนไปบ้างจึงไม่กล่าวรายละเอียดในที่นี้
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราคงไม่ลืมว่า ผลผลิตที่กล่าวถึงข้างต้น ไม่ได้มีผลทันทีทันใดกับปุ๋ยที่ใส่ กับน้ำฝนที่ตกลงมา หรือกับผลของความแล้งจนทางใบปาล์มน้ำมันแห้งและพับเราคงได้ยินมาบ้างว่า เหตุจากวันนี้ จะไปมีผลอีกประมาณ 24 เดือนข้างหน้า ซึ่งอธิบายจากการพัฒนาของช่อดอกที่กำหนดเพศเป็นทะลายหรือดอกตัวผู้ในขณะนี้แต่จะเป็นทะลายสุกที่จะเก็บเกี่ยวได้ในอีกประมาณ 24 เดือนข้างหน้า สรุปก็คือ ผลจากวันนี้ จะมีผลกับการเก็บเกี่ยวจำนวนทะลายปาล์มน้ำมัน อีกประมาณ 24 เดือนข้างหน้า ซึ่งอันที่จริง ผลที่ได้รับทันทีก็มี กล่าวคือ มีผลต่อขนาดและน้ำหนักของทะลาย แต่อย่างไรก็ตาม จำนวนทะลายจะมีผลต่อผลผลิตรวมมากกว่ามาก
นอกจากนี้ เรามักได้รับผลผลิตจากปาล์มน้ำมันไม่เท่ากันทุกปี จาก 5 ตันต่อไร่ อาจ ได้รับเพียง 2.8 ต้นต่อไร่ในบางปี ขึ้นอยู่ปัจจัยต่างๆ หลายประการที่กล่าวแล้วข้างต้น ดังนั้น การประเมินผลผลิตต้องดูค่าเฉลี่ยหลายๆปี เราอาจได้รับผลผลิตสูงสุดที่ 5 ตันต่อไร่ต่อปี เพียงไม่กี่ปีตลอดอายุการเก็บเกี่ยวเท่านั้น โดยเฉพาะในสภาพแห้งแล้ง ทุกสายพันธุ์ได้รับผลกระทบหมดแต่สายพันธุ์ที่ทนทานกว่าจะให้ผลผลิตสูงกว่า ตัวอย่างจากการวิจัยคัดเลือกพันธุ์ที่เห็นได้ชัด คือ สายพันธุ์ “ซีหราด เดลี่ ดูรา x ลาแม” จะให้ผลผลิตสูงกว่า“ซีหราด เดลี่ ดูรา x ยังแกมบิ” อย่างชัดเจน ในสภาพแห้งแล้งติดต่อกัน 4-5 เดือน แต่จะใกล้เคียงกันเมื่อมีสภาพความชื้นที่เหมาะสม
ที่กล่าวมา ท่านคงมองเห็นได้ว่าถ้าทราบผลผลิตหรือสามารถคาดการณ์จำนวนผลผลิตได้ ท่านจะเลือกพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันได้อย่างเหมาะสม โดยพิจารณาผลตอบแทนเปรียบเทียบกับการประกอบกิจกรรมหรือการปลูกพืชอื่น ท่านยังเลือกสายพันธุ์ได้อย่างมั่นใจยิ่งขึ้น ไม่หลงโฆษณาชวนเชื่อที่มักทำให้เราท่านเป็นเหยื่ออยู่เสมอหากไม่รู้เท่าทัน พบกันใหม่ตอนต่อไปครับ
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
บริษัทสหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน)