การผลิตมันเส้นสะอาด
กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้มีประกาศเรื่อง “การกำหนดคุณภาพและมาตรฐานมันเส้นสะอาด” เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2544 เพื่อส่งเสริมการผลิตและพัฒนาคุณภาพมันเส้นสะอาดให้มีมาตรฐานที่ดี และสอดคล้องกับความต้องการของตลาด
คำนิยาม “มันเส้นสะอาด” หมายความว่า มันสำปะหลังลักษณะเป็นชิ้น จากการแปรสภาพหัวมันสำปะหลังที่ผ่านการร่อนดินทราย และหรือวัสดุอื่นที่ติดมากับหัวมันสำปะหลังออกแล้ว “วัสดุอื่น” หมายความว่า วัตถุที่ไม่ใช่ส่วนประกอบตามธรรมชาติของหัวมันสำปะหลังคุณภาพ และมาตรฐานมันเส้นสะอาด มีดังนี้
ลักษณะคุณภาพของมันเส้น
- มันสำปะหลังพันธุ์ดีในไร่
- หัวมันสดที่ไม่มีเหง้า มีดินทรายปนน้อยที่สุด
- ร่อนเอาผิวนอก ดิน/ทรายออก
- หั่นเป็นชิ้น
- ผึ่งแดด 3-4 แดด
- มันเส้นสะอาด (ความชื้นไม่เกิน 13%)
ขั้นตอนการผลิต มันเส้นสะอาด คุณภาพดี
ในการผลิตมันเส้น 1 กิโลกรัม ต้องใช้หัวมันสด 2.0-2.5 กิโลกรัม ทั้งนี้อัตราการแปรรูปขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น ลักษณะการหั่น ลักษณะการตากแห้ง ฤดูที่ทำการแปรรูป เป็นต้น แต่ปัจจัยสำคัญ คือ เปอร์เซ็นต์แป้งในหัวมันสำปะหลังสด กล่าวคือ ถ้าหัวมันสำปะหลังสดมีเปอร์เซ็นต์แป้งสูง ก็ผลิตมันเส้นได้สูงด้วย
1.ใช้พันธุ์มันสำปะหลังที่เหมาะสมกับพื้นที่ปลูก ได้แก่ พันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 พันธุ์ระยอง 5 พันธุ์ระยอง 7 พันธุ์ระยอง 9 พันธุ์ระยอง 11 พันธุ์ห้วยบง 60 และพันธุ์ห้วยบง 80 เป็นต้น
2.การบำรุงรักษา
2.1 กำจัดวัชพืชในแปลงปลูกมันสำปะหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ในช่วง 3 เดือนแรก
2.2 การใส่ปุ๋ย ควรเป็นปุ๋ยคอก ปุ๋ยมูลสัตว์ หรือปุ๋ยหมัก ช่วยปรับสภาพดินให้ดีขึ้นด้วย ส่วนปุ๋ยเคมีมีความจำเป็นต้องใช้เพื่อเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15,สูตร 16-8-16 และสูตร 15-7-18 ในอัตราประมาณ 50-100 กิโลกรัมต่อไร่ โดยการขุดหลุม 2 ข้าง ต้นลึก 3-4 นิ้ว ใส่ปุ๋ยแล้วกลบดิน
3.อายุเก็บเกี่ยวทั่วไป ควรเก็บเกี่ยวเมื่ออายุไม่ต่ำกว่า 8 เดือน แต่การเก็บเกี่ยวที่อายุ 10-12 เดือน จะให้ผลผลิตและคุณภาพที่ดีกว่า
4.วิธีการทำมันเส้นคุณภาพดี
4.1 ต้องตัดหัวมันสำปะหลังแต่ละหัวแยกออกจากเหง้า หรือส่วนโคนของลำต้น อย่าให้มีส่วนของเหง้า
4.2 เคาะหรือร่อนดินทรายที่ติดมากับหัวมันสำปะหลัง และในกรณีที่ใช้เครื่องร่อนดินทรายที่สามารถขุดส่วนเปลือกนอกของหัวมันออกไปได้บ้าง ยิ่งจะเป็นการทำให้คุณภาพของมันเส้นที่ได้ดียิ่งขึ้น
4.3 การสับหัวมันอาจใช้วิธีสับด้วยมือ หรือสับด้วยเครื่องก็ได้ การสับด้วยมือมี 2 แบบ คือ
1) การสับตามขวาง ข้อดี คือ จะสับได้ง่าย ตากแห้งเร็ว ขนาดชิ้นที่ได้พอเหมาะกับการใช้ผสมอาหารโคที่ใช้มันเป็นชิ้นได้เลย การป้อนเข้าเครื่องบดก็ทำได้ง่าย ไม่ค่อยมีปัญหาติดขัดระบบลำเลียง
2) การสับตามยาวจะสับได้ค่อนข้างช้า และใช้เวลาตากนานกว่า นอกจากนี้การนำเข้าเครื่องบด หรือเครื่องผสมอาหาร มักมีปัญหาติดระบบลำเลียง ข้อดี คือ จะมีการเสียน้ำหนักน้อย และเปอร์เซ็นต์แป้งสูง ส่วนการสับด้วยเครื่องสามารถทำได้รวดเร็ว แต่จะมีส่วนของหัวมันที่ถูกหั่นจนป่น เมื่อตากเป็นมันเส้นจะกลายเป็นฝุ่นมากกว่าสับด้วยมือ
ขอขอบคุณข้อมูล
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรปราจีนบุรี สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6
100 หมู่ที่ 5 ตำบลวังตะเคียน อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี 25110
โทร/โทรสาร 0-3721-0261-2, อีเมล์ : [email protected]