การกำจัด หญ้าคา ในสวนปาล์มน้ำมัน
จังหวัดชุมพรมีพื้นที่ในการปลูกปาล์มน้ำมันแหล่งใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของประเทศไทย รองจาก จังหวัดกระบี่ และสุราษฎร์ธานี ดังนั้นวีถีต่างๆ ที่เป็นแนวทางในการจัดการสวนปาล์มน้ำมัน จึงมีให้ศึกษาหลายแง่มุม แม้ว่าจะมีการนำเสนอเทคนิคต่างๆในการจัดการสวนให้ได้ผลผลิตที่ดีต่อไร่มาแล้วหลายครั้ง หากแต่มีน้อยถึงน้อยมากที่อาจจะยังไม่มีผู้ใดหยิบยกมานำเสนอ นั่นคือ เทคนิคการจัดการสวนแบบไม่ต้องลงทุนมาก และข้อควรระวังจากการนำทะลายปาล์มเปล่าที่นำมาใส่ในสวน เพราะแทนที่จะได้ประโยชน์ แต่กลับกลายเป็น “โทษมหันต์” ในเวลาต่อมา
ผู้อ่านและผู้ที่ติดตามจึงพบเพียงกระบวนการที่เป็นเพียงผลสำเร็จของแต่ละแหล่งเท่านั้น แต่เมื่อเกิดปัญหาจึงเป็นเรื่องยากที่จะแก้ไขจัดการ ซึ่งก็ต้องใช้เวลาศึกษาเพิ่มอีก และความตั้งใจที่นำเสนออีกหนึ่งมุมมองที่หลายๆ ท่านมองข้ามไปในการจัดการสวนปาล์มน้ำมันในครั้งนี้ เพื่อเป็นเสมือนทางลัดให้ทราบว่า ที่จริงแล้วการเพิ่มผลผลิต หรือลดการสูญเสียน้ำหนักของปาล์มน้ำมันที่ยังอยู่ในสวนทำอย่างไร ทั้งนี้ผู้เขียนได้เลือกพื้นที่ไปยัง จ.ชุมพร และได้ คุณสัญญา ปานสวี นายกสมาคมชาวสวนปาล์มน้ำมัน จ.ชุมพร เป็นผู้อำนวยความสะดวก พร้อมเดินทางเก็บข้อมูลจากเกษตรกรในพื้นที่อีกด้วย
ทางทีมงานพืชพลังงานพร้อมออกเดินทางไปยังสวนปาล์มน้ำมัน 20 ไร่ ของ คุณจรูญ ประดับการ อดีตข้าราชการครูวัย 63 ปี ที่หันมายึดอาชีพชาวสวนปาล์มน้ำมัน สร้างรายได้ช่วงบั้นปลายชีวิต ด้วยพื้นฐานของความเป็นครู ทำให้เขาเป็นผู้หนึ่งที่เป็นเกษตรกรต้นแบบ และให้คำแนะนำในการจัดการสวนที่มีประสิทธิภาพ พร้อมลดต้นทุนการผลผลิตได้ดี
เกษตรกรผู้นี้มีความรู้ และประสบการณ์ ในการดูแลจัดการสวนปาล์มน้ำมัน ได้ค้นหาวิธีการลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิต ในปาล์มน้ำมันของตนเองหลากหลายวิธีการ จนค้นพบว่าการรักษาความชื้นในดินจะสามารถช่วยลดการสูญเสียน้ำหนักในทะลายปาล์มได้ “ผมทำการสังเกตมานานแล้วพบว่าถ้าเราตัดหญ้าสั้นๆ เมื่อเข้าช่วงฤดูแล้ง เพียงเวลา 10 วัน ทำให้น้ำหนักของทะลายปาล์มหายไป 100 กิโลกรัม คิดเฉลี่ยในปริมาณทั้งหมด 1,000 กิโลกรัม แต่ถ้าปล่อยให้หญ้ายาวพอประมาณ ไม่ดูรกมากเกินไป น้ำหนักที่จะหายไปมีเพียง 30-40 กิโลกรัม/1,000 กิโลกรัม เป็นอย่างมาก”
ข้อแนะนำการรักษาความชื้นในดินได้ดีนั้น คือ ปล่อยให้มีวัชพืชขึ้นปกคลุมหน้าดินบ้าง โดยเลือกวัชพืชที่มีประโยชน์ อย่างเช่น หญ้ากรวมคา หรือ หญ้าข่มคา และพืชคลุมดินตระกูลถั่ว
ลักษณะของหญ้าข่มคา
คุณจรูญเล่าให้ฟังว่า ทางเขตภาคใต้จะพบหญ้าชนิดหนึ่งที่รู้จักทั่วไปว่า “หญ้าข่มคา” เกิดขึ้นภายในสวนไม้ผล ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ต่อมาได้มีการศึกษาเพิ่มเติมจนทราบถึงประโยชน์ของหญ้าชนิดดังกล่าว จึงทำให้เขาเกิดแนวคิดว่าจะทดลองนำหญ้าชนิดดังกล่าวมาปลูกไว้ภายในสวนบ้าง หากมีการเปลี่ยนแปลงภายในสวนที่ดีขึ้น ก็เท่ากับว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดี และเป็นการพัฒนาด้านการจัดการสวนได้อีกระดับ แต่หากผลออกมาไม่ดีอย่างที่ตั้งใจไว้จะทำลายทิ้งก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะหญ้าชนิดนี้เพียงแค่ถูกเหยียบย่ำมากๆ ก็ตายแล้ว
หญ้าข่มคา หรือภาคใต้เรียกว่า หญ้าใบมัน เป็นพืชคลุมดินอย่างดี มักขึ้นในที่ร่มตามสวนไม้ผล สวนยางพารา สวนปาล์มน้ำมัน หรือในที่ที่มีฝนตกชุก พบมากทางภาคใต้ ลำต้นเล็ก สูงไม่เกิน 90 เซนติเมตร ใบยาวประมาณ 6-8 เซนติเมตร บริเวณฐานใบกว้างประมาณ 4 เซนติเมตร ลักษณะใบคล้ายใบไผ่ ช่อดอกมีลักษณะเป็นแฉก ลักษณะลำต้นเป็นเถาคลุมพืชต้นเตี้ยอื่น ๆ เช่น หญ้าคา ชาวบ้านจึงเรียกว่า “หญ้าข่มคา”
“คนทั่วไปเขารังเกียจ คิดว่ามันรก เกะกะ ทำลายยาก และไม่มีประโยชน์ใดๆ ผมได้มาสังเกตการเจริญเติบโต และศึกษาถึงข้อดี-ข้อเสียของหญ้าชนิดนี้ จนทราบว่าสามารถช่วยควบคุมความชื้นในดินได้อย่างดี และที่สำคัญทำให้เกิดมีไส้เดือนมาก ซึ่งนับว่าเป็นผลดีทีเดียวหากนำมาปลูกในสวนปาล์ม”
สภาพพื้นที่ปลูกหญ้าข่มคา
ต่อมาคุณจรูญได้นำหญ้าข่มคามาปลูกที่สวนปาล์มเพื่อให้รักษาความชื้นภายในสวน โดยมีขั้นตอนการเตรียมต้นพันธุ์และการปลูกดังนี้
เริ่มจากหาหญ้าข่มคาจากแหล่งที่มี แล้วใช้จอบหรือเสียมขุดออกมา จากนั้นตัดต้นของหญ้าข่มคาขนาดความยาวประมาณ 1 คืบ เพื่อให้เกิดการแตกยอดใหม่ที่อุดมสมบูรณ์ หลังจากนั้นแบ่งออกประมาณ 1 กำมือต่อการปลูก 1 หลุม
ขั้นตอนการปลูก หญ้าข่มคา
สำหรับขั้นตอนการปลูกควรมีการเตรียมพื้นที่สักเล็กน้อยด้วยการพรวนดิน และตัดหญ้าเก่าออกให้หมด แล้วขุดหลุมปลูกให้ความห่างระหว่างต้นและแถวประมาณ 50 เซนติเมตร ที่สำคัญให้ห่างจากโคนต้นปาล์มน้ำมันประมาณ 1.50 เมตร
หญ้าข่มคาเป็นพืชที่มีความอดทนต่อการขาดน้ำได้ดี เพียงระยะเวลา 2 ปี ก็สามารถเจริญเติบโตได้เต็มพื้นที่แล้ว ในการดูแลไม่ให้สูงเกินไป ควรมีการตัดปีละครั้ง โดยตัดให้สูงจากพื้นประมาณ 30 เซนติเมตร
ประโยชน์ของหญ้าข่มคา
คุณจรูญอธิบายถึงประโยชน์ของหญ้าชนิดนี้ให้ฟังต่อว่าหญ้าข่มคาสามารถรักษาความชื้นในดินไว้ได้นาน โดยเฉพาะช่วงฤดูแล้ง ส่งผลให้ดินมีความชุ่มชื้นอยู่ตลอดเวลา ทำให้ปาล์มไม่ขาดน้ำ นอกจากนั้นยังสามารถตรึงไนโตรเจนในอากาศ และในดิน ซึ่งมาจากปม หรือราก แล้วเปลี่ยนให้เป็นสารประกอบไนโตรเจน ได้แก่ ไนเตรต และเกลือแอมโมเนีย ที่มีคุณสมบัติละลายน้ำได้ดี
ปาล์มจะสามารถดูดซึมสารประกอบเหล่านี้แล้วนำมาสังเคราะห์เป็นโปรตีน ซึ่งเป็นธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต แน่นอนผลพลอยได้ที่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ตามมาในการปลูกพืชคลุมดิน เมื่อดินมีความชุ่มชื้นก็ส่งผลให้มีการเข้ามาอยู่อาศัยของไส้เดือน เมื่อมีไส้เดือนดินที่เคยแข็ง แน่น ก็กลายเป็นทำให้ดินมีความโปร่ง ร่วนซุย รากปาล์มจึงหาอาหารได้ดีขึ้น พร้อมทั้งมูลไส้เดือนยังเป็นปุ๋ยได้อีกด้วย
คุณจรูญยังบอกอีกว่าบริเวณใดมี หญ้าคา เกิดขึ้น แล้วนำหญ้าข่มคาไปปลูก เมื่อโตขึ้น หญ้าคา ก็จะค่อยๆ ตายไป เพราะลักษณะนิสัยการเจริญเติบโตของ หญ้าคา จะชอบในที่โล่งแจ้ง แต่เมื่อหญ้าข่มคาที่เป็นพืชเถา และเกิดติดกันจนทึบ จึงทำให้หญ้าคาเจริญเติบโตไม่ได้ ซึ่งในแง่มุมนี้ยังช่วยให้ลดการใช้สารเคมีกำจัด หญ้าคา ได้เป็นอย่างดีทีเดียว
“จากการทดลองไว้หญ้าคลุมดินให้ยาวหลายชนิด เพื่อทดสอบการเก็บความชื้น ปริมาณการเข้าอยู่อาศัยของไส้เดือน และความสามารถในการอุ้มน้ำของดิน ปรากฏว่าหญ้ากรวมคา (ชื่อเรียกตามภาษาถิ่นใต้) หรือหญ้าข่มคา มีปริมาณไส้เดือนมาอาศัยอยู่มากที่สุด ดินโปร่ง และอุ้มน้ำ หรือเก็บความชื้นได้ดี” ข้อสรุปของการปลูกพืชคลุมดินที่ตอบโจทย์ได้ครบถ้วน
ลักษณะของซีรูเลียม พืชคลุมดินตระกูลถั่ว
ในขณะที่เดินชมสวนไปด้วย ระหว่างที่คุณจรูญอธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับหญ้าข่มคาอยู่นั้นผู้เขียนก็สังเกตเห็นหญ้าอีกชนิดหนึ่งที่มีในสวนแห่งนี้ หลังจากที่เจ้าของสวนอธิบายจบจึงได้ถามว่าเป็นหญ้าอะไร แล้วมีประโยชน์อย่างไร จึงเห็นมีอยู่มากจนทั่วสวน ไม่ต่างจากหญ้าข่มคา ซึ่งคุณจรูญก็ไขข้อสงสัยให้ว่าหญ้าชนิดนั้นเรียกว่า “ซีรูเลียม” เป็นพืชคลุมดินตระกูลถั่ว ที่นำมาปลูกไว้เช่นกัน
ซีรูเลียมลำต้นจะเป็นเถาเลื้อย สำหรับเถาแก่มีรากเป็นปุ่มเล็กๆ สีขาวเกือบทุกข้อ และงอกเป็นราก เมื่ออยู่ชิดดิน ใบมีสีเขียวเข้ม เป็นมัน แผ่นใบค่อนข้างหนา คล้ายใบโพธิ์ ดอกเป็นช่อสีม่วง เริ่มสร้างช่อดอกในเดือนธันวาคม และฝักสีน้ำตาลเข้ม ค่อนข้างเป็นเหลี่ยม ยาวประมาณ 5 เซนติเมตร มีเมล็ดฝักละ 2-9 เมล็ด สามารถช่วยป้องกันการชะล้าง และการพังทลายของดิน
มีคุณสมบัติในการรักษาความชุ่มชื้นให้กับดิน ช่วยควบคุมวัชพืช ทำให้ลดเวลา แรงงาน ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการปราบวัชพืช และที่สำคัญเพิ่มธาตุอาหารให้กับดิน จากความสามารถในการตรึงไนโตรเจนของบักเตรีไรโซเบียมในปมราก และเศษซากพืชคลุม ในช่วง 5 ปีแรก จะมีปริมาณธาตุอาหารไนโตรเจน ปริมาณไร่ละ 30-56 กก. ฟอสฟอรัส ปริมาณ 3-4.5 กิโลกรัม/ไร่, โพแทสเซียม ปริมาณไร่ละ 14-21 กิโลกรัม/ไร่ และแมกนีเซียม ปริมาณไร่ละ 2.5-4.5 กิโลกรัม/ไร่ กลับคืนดิน
ซีรูเลียมเจริญเติบโตได้ดีในสภาพร่มเงามาก ช่วงแรกจะเจริญเติบโตช้า แต่ต่อไปจะเจริญเติบโต และคลุมดินได้หนาแน่น และคงทนกว่าพืชคลุมดินชนิดอื่น ทนทานต่อความแห้งแล้งได้ดี โดยเฉพาะในท้องที่ที่มีสภาพแห้งแล้ง และมีปรากฏการณ์ฝนทิ้งช่วงเกิดขึ้นบ่อย จะช่วยลดความเสียหายที่เกิดขึ้นได้มาก
การป้องกันกำจัดด้วงแรด
เทคนิคการจัดการสวนปาล์มเพิ่มผลผลิตของคุณจรูญยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เพราะนอกจากจะมีการปลูกหญ้า และพืชคลุมดินแล้ว เขาได้มีการเพิ่มอินทรียวัตถุในดินด้วยทะลายปาล์มเปล่าด้วย
“ดินในเขตภาคใต้ขาดอินทรียวัตถุค่อนข้างรุนแรง เราจำเป็นต้องเติมอินทรียวัตถุลงไปเพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดิน อย่างเช่น ใส่ทะลายปาล์มเปล่ารอบโคนต้น หลังจากนั้นประมาณ 2-3 ปี ทะลายปาล์มเปล่าเริ่มมีการย่อยสลายจนกลายเป็นอินทรียวัตถุให้กับดิน ทำให้มีการใส่ปุ๋ยเคมีน้อยลง แต่ผลผลิตจะเพิ่มขึ้น” แต่ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพราะคิดว่ายิ่งใส่มากยิ่งจะช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุในดินมากขึ้น ปรากฏว่าส่งผลเสียให้อย่างมหันต์
เฉลี่ยแล้วเขานำทะลายปาล์มเปล่ามาใส่ประมาณ 500 กิโลกรัม/ต้น หารู้ไม่ว่านั่นกลายเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของ “ด้วงแรด” ซึ่งตัวแก่จะเข้ามาฟักไข่ไว้ประมาณ 4-5 เดือน แล้วเมื่อกลายเป็นตัวเต็มวัย จากนั้นก็เข้ากัดกินยอดปาล์มเป็นอาหาร ไม่นานทางใบ และยอดปาล์ม เริ่มหัก ส่งผลให้ยืนต้นตายเป็นจำนวนมาก
“ผมนำทะลายปาล์มเปล่ามาใส่มากเกิน เมื่อปีที่ผ่านมากะคราวเท่าที่จำได้ เฉลี่ยประมาณ 500 กิโลกรัม/ต้น โดยที่ไม่รู้เลยว่ามันจะกลายเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของด้วงแรด ซึ่งตัวแก่จะเข้ามาฟักไข่ไว้ประมาณ 4-5 เดือน แล้วเมื่อกลายเป็นตัวเต็มวัยมันก็จะเข้ากัดกินยอดปาล์ม ไม่นานผมก็เริ่มเห็นทางใบเริ่มหัก ยอดก็หัก และแห้งไป ลามไปหลายต้น ผมก็ไม่รู้จะแก้ยังไงสำหรับต้นที่ถูกกัดยอด เพราะปาล์มมันสูงแล้ว ทำได้แค่ตัดวงจรทางพื้นดิน ผมรื้อทะลายปาล์มเปล่าออกให้เหลือบางๆ แล้วโรยปูนขาว ตอนนี้ก็ดีขึ้นมากแล้ว แต่ยังไม่หายขาด” เป็นอุทาหรณ์อีกข้อหนึ่งสำหรับพี่น้องชาวสวนปาล์มน้ำมันท่านอื่นๆ ที่ผู้เขียนเองได้มีโอกาสเดินทางลงพื้นที่ และหลายแห่งเช่นกัน ที่มีการนำทะลายปาล์มเปล่าไปใส่ภายในสวนปาล์ม สิ่งที่มีประโยชน์นั้นอาจจะให้โทษได้ หากเกินความพอดี
การใส่ปุ๋ยต้นปาล์มน้ำมัน
ทั้งนี้ทั้งนั้นแม้การใส่ทะลายปาล์มเปล่าลงไปจะช่วยลดการใส่ปุ๋ยลงได้ หากแต่ครูจรูญก็ยังจำเป็นต้องใส่ปุ๋ยสูตร 21-0-0 ลงไปด้วย เพราะปาล์มน้ำมันต้องการธาตุกำมะถันไปสร้างน้ำมัน ในการใส่ทะลายปาล์มเปล่านั้นสามารถช่วยลดปริมาณการใส่ปุ๋ยได้มากทีเดียว โดยปกติในปาล์มน้ำมันอายุ 14 ปี ต้องใส่ปุ๋ยประมาณ 9 กิโลกรัม/ต้น/ปี
เมื่อนำทะลายปาล์มเปล่ามาใส่แล้วลดการใส่ปุ๋ยลงได้เหลือเพียง 6 กิโลกรัม/ต้น/ปี เท่านั้นเอง ตามปกติแล้วปาล์มน้ำมันที่ปลูกกันทั่วๆ ไปจะเริ่มออกดอกตัวผู้ เมื่อเข้าสู่ช่วงอายุประมาณ 12-15 เดือน หลังปลูก โดยส่วนใหญ่แล้วจะปล่อยให้ปาล์มออกดอกไปตามธรรมชาติ แต่การที่ปล่อยช่อดอกไว้จะส่งผลให้ต้นโตได้ไม่เต็มที่
ซึ่งคุณจรูญมีวิธีการเร่งโตด้วยวิธีการแทงช่อดอกมาแนะนำ ขั้นตอนแรกเตรียมไม้ไผ่ที่เหลาเป็นง่าม ความยาวขนาดเหล็กแทงปาล์ม ทั้งนี้ครูจรูญได้อธิบายถึงสาเหตุในการใช้ไม้ไผ่แทนเหล็กแทงปาล์มว่าในขณะที่กำลังแทงช่อดอกปาล์มน้ำมันออกอาจจะพลาดไปถูกลำต้นได้
คุณจรูญให้ข้อมูลต่อว่าเมื่อปาล์มน้ำมันที่ปลูกเริ่มออกดอก ให้สังเกตว่าถ้าต้นปาล์มออกดอกวนไปทางใด เช่น ถ้าดอกวนไปทางขวา ให้เข้าไปยืนทางด้านซ้าย แล้วจึงแทงช่อดอกปาล์มเล็กทิ้ง โดยใช้ง่ามที่ทำจากไม้ไผ่เสียบที่โคนดอกปาล์มแล้วค่อยๆ บิดออก ในขณะที่แทงอยู่นั้นควรระมัดระวังอย่าให้ไม้ไปโดนต้นจนเป็นแผล สิ่งสำคัญควรแทงช่อดอกปาล์มน้ำมันออกขณะที่ดอกยังไม่ทันบาน เนื่องจากในช่วงขณะนั้นสารอาหารที่เข้าไปเลี้ยงช่อดอกยังไม่มากเท่าไร หลังจากแทงดอกปาล์มเล็กออกประมาณช่วงอายุ 24 เดือน ก็เริ่มไว้ดอก เพื่อให้ออกทะลายเก็บผลผลิตในเวลาต่อไปได้
ข้อดีของการแทงช่อดอกเล็กทิ้ง คือ สารอาหารที่จะเข้าไปหล่อเลี้ยงช่อดอก หรือที่จะออกเป็นทะลายเล็กนั้น จะถูกนำไปเลี้ยงลำต้นมากขึ้น ทำให้ต้นปาล์มน้ำมันมีการเจริญเติบโตที่เร็วขึ้น ต้นสมบูรณ์ โคนต้นมีขนาดใหญ่ เมื่อถึงช่วงเวลาให้ผลผลิตจะเห็นว่าผลผลิตที่ได้จะสมบูรณ์ และมากกว่าต้นที่ไม่แทงช่อดอกเล็ก หรือทะลายแรก ถึง 10% จึงจะเห็นได้ว่าสวนที่มีการจัดการที่ดีแต่ละต้น หรือที่รู้จักกันว่า สะโพกต้นใหญ่ นั่นก็มาจากการตัดช่อดอกเล็ก หรือทะลายแรกของการให้ผลผลิตในปาล์มน้ำมันอายุ 1-2 ปี หลังจากปลูก (ข้อมูล/รูปภาพจาก : เกษตรแผ่นดินทอง,www.rakbankerd.com, การจัดการช่อดอกปาล์มน้ำมันเพื่อเพิ่มผลผลิต)
การเก็บเกี่ยวผลผลิตปาล์มน้ำมัน
จากการพูดคุยผู้เขียนทราบมาอีกอย่างว่าสายพันธุ์ที่คุณจรูญนำมาปลูกเป็นสายพันธุ์ดั้งเดิม ซึ่งก็จำไม่ได้ แต่ก็เรียกว่า พันธุ์ DxP หรือที่รู้จักกันว่า ลูกผสมเทเนอร่า เมื่อนำมาปลูกเมื่อใครๆ มาเห็นต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นพันธุ์ที่ไม่ค่อยดีเท่าไร แม้ฟังดูอาจจะทำให้หลายๆ คนอยากจะโค่นทิ้งเสียทีเดียวนั้น หากเป็นของตนเอง
แต่สำหรับท่านนี้ไม่ใช่ เขาพยายามมีการจัดการและบำรุงอย่างดีมาโดยตลอด ศึกษาหาเทคนิคต่างๆ จากหลายแหล่ง ไม่ว่าจะเป็นการเข้าอบรมต่างๆที่มี หรือแม้แต่ขอคำแนะนำจากบริษัทเอกชนเองก็ตาม เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในสวน หลังจากได้รับการอบรมแล้วเขาได้เก็บตัวอย่างใบส่งวิเคราะห์ และใช้ปุ๋ยตามคำแนะนำติดต่อกันเป็นเวลา 3 ปี ผลที่ได้รับ คือ ปาล์มออกทะลาย 2 ชั้น ถึง 90% (100 ต้น ออกทะทาย 2 ชั้น 90 ต้น) ซึ่งก่อนหน้านี้ภายในสวนมีทะลาย 2 ชั้น เพียงแค่ 5% เท่านั้น
“ที่ปลูกอยู่นี้เป็นพันธุ์ไม่ค่อยดี แต่ผมพยายามทำให้มันดี สูงสุดเคยได้ผลผลิต 5.8 /ไร่/ปี อายุ 14 ปี หลังจากที่ผมนำทะลายปาล์มเปล่ามาใส่รอบโคนแล้ว จะฉีดน้ำปลาหมักชีวภาพอย่างเข้มข้น ซึ่งจะใช้น้ำปลาหมัก 8 ลิตร ผสมกับน้ำ 200 ลิตร แล้วนำมาฉีดลงบนทะลายปาล์มเปล่าที่อยู่รอบๆโคนต้น กะให้ได้ปริมาณสัก 20 ลิตรต่อต้น ปีละ 2 ครั้ง เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของต้นและใบ”
สิ่งสำคัญของธาตุอาหารสำหรับปาล์มน้ำมัน
นอกจากนี้คุณจรูญโชว์แผ่นไวนิลขนาดใหญ่ให้ผู้เขียนได้เห็นชัดๆ ถึงความสำคัญของธาตุอาหารสำหรับปาล์มน้ำมัน ที่เขาเองก็ยึดหลักการนั้นมาใช้ภายในสวนด้วยเช่นกัน ไม่รอช้าผู้เขียนจึงขอจดมาฝากผู้อ่านด้วย
ธาตุอาหารที่จำเป็นสำหรับปาล์มน้ำมัน |
1.N ไนโตรเจน สำคัญสำหรับลำต้น และใบ
2.P ฟอสฟอรัส สำคัญสำหรับราก ดอก และกิ่งก้าน 3.K โพแทสเซียม สำคัญสำหรับผล ราก และ หัว 4.S กำมะถัน สำคัญสำหรับสร้างน้ำมัน 5.B โบรอน สำคัญสำหรับติดลูกดก น้ำหนักดี ทะลายไม่มีหนาม 6.Ca แคลเซียม สำคัญสำหรับเร่งการเจริญเติบโตของยอด และปลายราก ปรับความสมดุลของ ฮอร์โมน จำเป็นมากช่วงออกดอก และสร้างเมล็ด 7.Mg แมกนีเซียม สำคัญสำหรับเป็นองค์ประกอบของคลอโรฟิลด์ ช่วยสังเคราะห์แสงและสร้าง โปรตีน
|
ปุ๋ยที่เหมาะสม ต้นทุนต่ำ ให้ผลผลิตสูง และคุณภาพดีที่สุด สำหรับปาล์มน้ำมันอายุ 5 ปี ขึ้นไป |
ธาตุอาหารหลัก 21-0-0, 0-3-0, 0-0-60
ธาตุอาหารรอง คีเซอร์ไรท์ (แมกนีเซียม) ธาตุอาหารเสริม โบรอน หรือบอแรกซ์
|
สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่ากระบวนการจัดการสวนปาล์มน้ำมันนั้นไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่ต้องใส่ใจในรายละเอียดมากขึ้น ก็จะสามารถทำให้เพิ่มผลผลิตได้ไม่ยากในพื้นฐานต้นทุนที่น้อยนิด ที่สำคัญความใฝ่รู้ และไหวพริบ ในการนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ของเจ้าของสวนเองด้วย
ยังมีเรื่องราวอีกมากมายของผู้คนที่เกี่ยวกับปาล์มน้ำมันในครั้งเมื่อผู้เขียนลงพื้นที่ อย่างไรก็ตามผู้เขียนจะขอหยิบยกมาเล่าให้ฟังในฉบับต่อๆ ไปแล้วกัน
ขอขอบคุณ นายสัญญา ปานสวี นายกสามคมชาวสวนปาล์มน้ำมันชุมพร อาจารย์จรูญ ประดับการ 142/2 หมู่ 6 ต.ทุ่งคา อ.เมือง จ.ชุมพร