ไม้เศรษฐกิจ ไม้โตเร็ว 5 ชนิด โรงไฟฟ้าญี่ปุ่น รับซื้อ ภายใต้มาตรฐาน FSC
คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้มีการจัดเสวนาวิชาการเรื่อง “ ไม้เศรษฐกิจ พลังงาน บนฐานความยั่งยืน” ขึ้น และยังมีพิธีลงนามความร่วมมือทางวิชาการกับ บริษัท สยามฟอร์เรสแมเนจเม้นท์ จำกัด ในกลุ่มบริษัท สยามสตีล ในการพัฒนาป่าเศรษฐกิจ
ภายใต้โครงการ “ม.เกษตรจับมือภาคเอกชนปลูกป่าเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน 1 ล้านไร่ นำร่องในพื้นที่จังหวัดอุทัยธานี” เพื่อเป็นโครงการนำร่อง โดย ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ เข้าร่วมเป็นประธาน
นอกจากนี้ นายสุรพล คุณานันทกุล กรรมการบริหาร บริษัท สยามฟอร์เรสแมเนจเม้นท์ จำกัด ยังได้มอบเงินสนับสนุนมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์กว่า 2 ล้านบาท เพื่อพัฒนาเป็นโครงการนำร่อง โดยเล็งเห็นว่าประเทศไทยนั้นมีเชื้อเพลิง หรือสามารถพัฒนาเชื้อเพลิงด้านพลังงานได้เป็นจำนวนมาก
โดยเฉพาะ “กลุ่ม ไม้โตเร็ว ” ที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก และใช้หลักวิชาการด้านการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนมาใช้ในการรับรอง ซึ่งชนิดพันธุ์ไม้เป้าหมายที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก 5 ชนิด ได้แก่
(1) กระถินเทพณรงค์ (Acacia sp.) ลูกผสม (Acacia mangium+A.auriculiformis)
เป็น ไม้โตเร็ว อยู่ในวงศ์ Leguminosae-Mimosoideae สกุล Acacia มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Acaciauriculiformis มีลักษณะลำต้นคดงอ มีเรือนยอดแผ่กว้าง แตกกิ่งก้านมาก และมักแตกกิ่งที่ระดับล่างของลำต้น
ทำให้คุณภาพเนื้อไม้ด้อยไปทั้งที่มีความแข็ง และเนื้อไม้มีสีน้ำตาลอ่อน สวยงาม ตลอดจนมีการยืดหดตัวน้อยมาก จึงไม่นิยมใช้ประโยชน์เพื่อการก่อสร้างหรือทำเฟอร์นิเจอร์ได้ แต่จะใช้เป็นไม้เชื้อเพลิง ทำฟืน และทำถ่าน ที่ให้พลังความร้อนสูง 4,000 kcal./kg. อีกทั้งยังมีค่ามวลชีวภาพทางใบและกิ่งสูง ให้ผลผลิต 41.47 ตัน/ไร่
(2) กระถินยักษ์ (Leucaena leucocephala)
เป็น ไม้โตเร็ว ที่มีความคงทนต่อสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้ดี แม้ในพื้นที่ที่มีความแห้งแล้ง หรือพื้นที่มีน้ำท่วมเป็นระยะ ก็สามารถขึ้นได้ ไม้กระถินยักษ์ใช้ทำฟืนได้ ให้ค่าความร้อนที่ 4,652 kcal./kg. อีกทั้งการใช้ฟืนกระถินยักษ์จำนวน 2.75 กก. จะมีค่าเท่ากับใช้ก๊าซเหลวเป็นเชื้อเพลิง 1 กก. หรือเท่ากับค่าความร้อน 45,265 บีทียู/กก.
หากผลิตเป็นถ่านกระถินยักษ์จะให้ควันน้อย มีความร้อนสูงถึง 7,250 kcal./kg. (28,665 บีทียู/กก.) ในขณะที่น้ำมันให้ค่าความร้อน 10,000 kcal./kg. (39,469.5 บีทียู/กก.) ซึ่งค่าความร้อนจากกระถินยักษ์จะมีความร้อนสูง 70% ของน้ำมัน
(3) สนประดิพัทธ์ (Casuarina junhuniana)
เป็น ไม้โตเร็ว ที่มีเนื้อไม้สีขาวแกมเหลือง มีเสี้ยนตรงขนานกับแกน มีความแข็งแรงพอสมควร แต่เลื่อยไสกบตบแต่งง่าย มีความทนทาน ตามธรรมชาติ 3-6 ปี สามารถอาบน้ำยาเข้าไปในเนื้อไม้ได้ง่าย เพิ่มความทนทานขึ้นมาได้ เนื้อไม้ใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น เสาโป๊ะ เสากระโดงเรือ ไม้ค้ำยันในการก่อสร้าง ทำฟืน และถ่าน ซึ่งจะให้ความร้อนสูงพอๆ กับไม้โกงกางและไม่แตกประทุเช่นเดียวกัน
(4) ยูคาลิปตัสทุกชนิด (Eucalyptus spp.)
เป็น ไม้โตเร็ว ที่มีการเจริญเติบโตดีที่สุด มีมวลชีวภาพของลำต้น และน้ำหนักต่อไร่มากที่สุด ให้ผลผลิต 30.74 ตัน/ไร่ ให้ค่าพลังงานความร้อน 4,500 kcal./kg. ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า ยูคาลิปตัสเป็น ไม้โตเร็ว ที่ให้ผลผลิต 1,128.4 ตันสด ที่อายุ 3 ปี
สามารถผลิตให้พลังงานได้ 2,231,975 kcal. (ไม้ยูคาลิปตัสให้พลังงาน 1,978 kcal./kg. ที่ความชื้น 50%) พลังงานดังกล่าวสามารถนำไปใช้เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 88 kW (ประสิทธิภาพโดยรวมเท่ากับ 30%) สำหรับ 1 รอบตัดฟัน
(5) เสม็ดขาว (Melaleuca cajuputi)
เป็น ไม้โตเร็ว และไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ที่ทนต่อสภาพแวดล้อมได้ดี ทั้งในสภาวะที่ดินเป็นกรดจัด ดินเค็ม สภาพน้ำท่วม และแห้งแล้ง ทนต่อไอน้ำเค็ม สามารถเจริญเติบโตและกระจายพันธุ์ได้ดีมากในที่ลุ่มน้ำขังตามขอบพรุ
เนื้อไม้ใช้ทำเสาบ้าน วงกบ ประตู หน้าต่าง นั่งร้าน และเสาเข็ม ลำต้นขนาดเล็กใช้ทำคันเบ็ด ไม้ค้างผัก ไม้หลักหมายแนวเขต ใช้ในงานแกะสลัก ผลิตไม้อัดซีเมนต์ เผาถ่านคุณภาพดี ให้ค่าความร้อนสูง หรือมีค่าความร้อน 4,400-4,500 kcal./kg. ควันน้อย แตกกระเด็นขณะติดไฟ ขี้เถ้าน้อย
การสร้างโรงงานผลิตเชื้อเพลิงจาก ไม้โตเร็ว ป้อนโรงไฟฟ้า
“เชื้อเพลิงชีวมวล” เป็นเชื้อเพลิงที่มีศักยภาพมากที่สุดอีกชนิดหนึ่ง สำหรับประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศเกษตรกรรมที่ตั้งอยู่ในเขตร้อนที่สามารถปลูกพืชพันธุ์ได้หลายชนิด อีกทั้ง “ชีวมวล” ยังเป็นแหล่งพลังงานธรรมชาติที่ประเทศไทยมีอยู่ และใช้มานานแล้ว ที่รวมถึงทรัพยากรป่าไม้ หรือต้นไม้
ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถทดแทนได้ (renewable resource) หมายถึง เมื่อนำออกมาแล้วมนุษย์สามารถปลูกทดแทนหมุนเวียนการใช้ได้ตลอดกาล หากมีการจัดการที่เหมาะสม แตกต่างจาก ปิโตรเลียม ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ใช้แล้วหมดไปไม่สามารถสร้างใหม่ได้
ซึ่งจะเห็นว่าหลายประเทศมีความต้องการใช้ “ ไม้เศรษฐกิจ ” เพื่อทดแทนวัสดุ ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นผลมาจากข้อตกลงที่จะลดการปลดปล่อยคาร์บอน Paris Agreement หรือ COP-21 ทั้งการต้องการใช้ไม้เฟอร์นิเจอร์และไม้เพื่อที่อยู่อาศัย
รวมไปถึงการใช้ไม้เพื่อเป็นพลังงาน ที่นับวันจะมีความต้องการเป็นจำนวนมาก ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ เช่น Wood Pellet, Wood Chip, Pulp and Paper แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ไม้เป็นส่วนประกอบนั้นจะต้องผ่านการรับรองการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนตามมาตรฐานในระดับที่ต่างประเทศนั้นๆ ให้การยอมรับเสียก่อน
ซึ่งมาตรฐานที่ใช้ในการรับรองนี้จะมุ่งเน้นถึงความถูกต้องตามกฎหมาย และความยั่งยืนด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เป็นหลักสำคัญ
ซึ่งประเทศไทยมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งจัดทำยุทธศาสตร์เพื่อการจัดการ “ ไม้เศรษฐกิจ ” อย่างยั่งยืนและเป็นระบบ ด้วยการอาศัยกระบวนการมีส่วนร่วม ทั้งการรับฟังข้อเสนอ ความคิดเห็น และแนวทางตั้งแต่ต้น ทั้งในส่วนของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อยกระดับ ไม้เศรษฐกิจ ของไทย
มาตรฐานการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ตามมาตรฐาน FSC หรือ PEFC
ปัจจุบันประเทศไทยนำโดยภาครัฐได้มีการจัดตั้ง “คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน” ขึ้นมา เพื่อผลักดันและดำเนินการให้เกิดมาตรฐาน และเกิดองค์กรต่างๆ ที่ทำหน้าที่ในการรับรอง ไม้เศรษฐกิจ ไทย เพื่อการจัดการ ไม้เศรษฐกิจ อย่างยั่งยืน เสนอต่อรัฐบาลเพื่อการขับเคลื่อนต่อไป
ซึ่งสอดคล้องกับผู้ประกอบการไทยที่ได้ทราบถึงความต้องการใช้ Wood Pellet เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าทดแทนการใช้ถ่านหิน และนิวเคลียร์ ในประเทศญี่ปุ่นเป็นจำนวนมาก แต่ทว่า Wood Pellet ทั้งหมดจะต้องผ่านการรับรองจาก 2 มาตรฐานนี้ก่อน
นั่นก็คือ มาตรฐานการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ตามมาตรฐาน FSC หรือ PEFC และมาตรฐานที่ 2 ก็คือ มาตรฐานผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงพลังงาน ซึ่งถ้าหากสินค้าหรือ Wood Pellet ของไทยผ่านมาตรฐานทั้งสองนี้ ประเทศญี่ปุ่นจะทำสัญญาเพื่อรับซื้อวัตถุดิบให้นานถึง 20 ปี
การจัดตั้งเครือข่ายการรับรอง ไม้เศรษฐกิจ ไทย
นั่นจึงเป็นที่มาในการจัดทำมาตรฐานขึ้นในประเทศไทย ภายใต้การนำของ ผศ.ดร.นิคม แหลมสัก และ ดร.สุเทพ จันทร์เขียว ที่เป็นหัวหอกในการต่อสู้มาตลอด ตั้งแต่การจัดตั้ง “เครือข่ายการรับรอง ไม้เศรษฐกิจ ไทย” (Thai – Forest Certification Network:T-CERN)
ซึ่งเป็นองค์การอิสระภาคเอกชน (NGOs) ที่ทำหน้าที่ในการให้บริการด้านวิชาการ ที่เกี่ยวข้องกับการรับรองด้านป่าไม้ ทั้งในส่วนของการให้คำปรึกษา หรือจัดทำระบบ (Inspection Body) ให้แก่หน่วยงาน องค์กร ภาคเอกชน ต่างๆ ที่ต้องการขอการรับรองตามมาตรฐาน FSC หรือ PEFC รวมถึงมาตรฐานอื่นๆ ตามความต้องการของลูกค้าในตลาดปลายทาง เช่น JIA (Japan Gas Appliances Inspection Association ) สำหรับประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น
การสนับสนุนดำเนินการให้เกิด 2 มาตรฐาน ทั้งมาตรฐานการจัดการและมาตรฐานคุณภาพผลิตภัณฑ์
อีกทั้ง เครือข่ายการรับรอง ไม้เศรษฐกิจ (T-CERN) และคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ รวมทั้งมีเครื่องมือ ห้องปฏิบัติการ บุคลากรที่มีความพร้อมที่จะให้การสนับสนุน ดำเนินการให้เกิดมาตรฐาน ทั้ง 2 รูปแบบดังกล่าว ทั้งมาตรฐานการจัดการ และมาตรฐานคุณภาพผลิตภัณฑ์ ในราคาที่เหมาะสมและเป็นไปได้ จึงขอปรึกษาหารือผู้ประกอบการในประเด็น ดังต่อไปนี้
1) ความสนใจและความพร้อมของผู้ประกอบการที่จะเข้าร่วมโครงการ
2) การเข้าสู่ระบบการรับรองตามมาตรฐาน FM/CoC หรือ CW/CoC ในรูปแบบของ Group Certified (สร้างกลุ่มของโรงงานที่มีกิจกรรมเหมือนๆ กัน และขอรับการรับรอง) ใน 2 รูปแบบ คือ ผู้ประกอบการเสียค่าใช้จ่ายเองในการดำเนินการรับรอง หรือผู้รับซื้อเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการรับรอง แต่หักคืนจากมูลค่าสินค้าที่ขายได้
3) มาตรฐานที่ท่านสนใจ FSC หรือ PEFC
4) สัญญาซื้อขายล่วงหน้า และการรับประกันปริมาณ และคุณภาพสินค้า
การส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพันธุ์ไม้โตเร็ว
อย่างไรก็ตามโดยมาตรการ หรือระบบของ FSC นั้น มีความเข้มงวดในเรื่องของความยั่งยืน ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จึงได้มีการส่งเสริมให้ปลูกไม้รอบตัดฟันปานกลาง และรอบตัดฟันยาว เช่น ไม้ สัก ไม้พะยูง ไม้ประดู่ เป็นต้น จะต้องนำไปฝากไว้กับ ธกส. ภายใต้โครงการธนาคารต้นไม้ด้วย
ดังนั้น “ไม้โตเร็ว” จึงเป็น “ ไม้เศรษฐกิจ ” ที่จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่เหมาะสมที่สุดกับบริบทของประเทศไทยที่มีพื้นที่เกษตรกรรมจำนวนมาก อีกทั้งเหมาะสมอย่างยิ่งกับการเพาะปลูกภายใต้วิกฤติภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน หรือสอบถามเพิ่มเติม ดร.สุเทพ จันทร์เขียว ผู้จัดการโครงการ
ขอขอบคุณข้อมูล สำนักประสานงานการพัฒนานวัตกรรม ศูนย์วิจัยป่าไม้ ชั้น 5 ตึกวนศาสตร์ 72 ปี คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เลขที่ 50 ถนนงามวงศ์วาน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900 โทร. 02-561-4761 ต่อ 512, มือถือ : 089-117-0419 Email : [email protected], [email protected]