เพราะความที่พืชหัว “ มันสำปะหลัง ” มีเชื้อแป้งสูงกว่าพืชหลายชนิด ทำให้นักวิจัย / พัฒนา หลายประเทศ นำเชื้อแป้งไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ทางอุตสาหกรรมได้หลายอย่าง ซึ่งแต่ละชนิดเป็นสินค้าจำเป็นต้องใช้
ประเทศไทย… 1 ในหลายประเทศ ที่ทำเรื่องมันสำปะหลัง พัฒนาเป็นสินค้ามูลค่าสูง ภายใต้ BCG โมเดล ที่เป็นวาระแห่งชาติ และจะเป็น “วาระโลก” ในอนาคต หลังวิกฤตโควิด-19 คลี่คลาย
โลกต้องเข้าสู่ เศรษฐกิจชีวภาพ (BIOECONOMY) / เศรษฐกิจหมุนเวียน (CIRCULAR ECONOMY) และ เศรษฐกิจสีเขียว (GREEN ECONOMY) เพราะสภาวะโลกร้อน / ก๊าซเรือนกระจก บีบบังคับ
1 ในผลิตภัณฑ์จากมันฯ ในระดับโลก คือ “ไบโอพลาสติก” ซึ่งโลกต้องการใช้ทดแทนพลาสติกที่มาจากน้ำมัน
หลายบริษัทในไทยเร่งเข้าสู่อุตสาหกรรมใหม่ไบโอพลาสติก เช่น บริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน) ได้ลงทุนผลิตเม็ดพลาสติก ประเภทพอลิแลคติกแอซิด (PLA) เพื่อส่งออก ปีนี้น่าจะถึง 2,700 ล้านบาท ปี 63 บริษัทรับซื้อ หัวมันสด กว่าแสนสองหมื่นตัน จากชาวไร่กว่า 6,000 ราย และจะซื้อมากขึ้นเรื่อยๆ
การส่งเสริมปลูกมันสำปะหลัง
สำหรับเกษตรกรชาวไร่มันฯ เริ่มตื่นตัวในเรื่องอุตสาหกรรมมันสำปะหลัง เช่น คุณมานพ เรียงรวบ ได้รวบรวมเกษตรกร 10 คน ในจังหวัดกาญจนบุรี จัดตั้ง สหกรณ์บริการเพื่อประชาชนกาญจนบุรีจำกัด เพื่อทำธุรกิจบริการ ซึ่งมี “ภาคเกษตร” อยู่ด้วย หมุดหมายแรกของธุรกิจ คือ ส่งเสริมสมาชิกให้ปลูกมันฯ เพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมมันเส้นสะอาด ซึ่งมีตลาดรองรับ
จากปีแรก มีสมาชิก 325 คน ปีที่ 2 เพิ่มเป็น 700 กว่าคน ปลูกมันฯ ทั้งจังหวัดแสนกว่าไร่ ปีหน้าคาดว่าจะถึง 5 แสนไร่ “เขาปลูกมันฯ อยู่แล้ว ขายใครขายมัน ถูกพ่อค้าคนกลางกดราคา พอเขารวมเป็นสหกรณ์ มีลานเป็นของตนเอง ดึงพ่อค้าที่มีคุณธรรมเข้ามา” คุณมานพเปิดเผยถึงสาเหตุที่สมาชิกเข้ามามาก
ค่าสมัครเป็นสมาชิก 50 บาท หุ้นละ 20 บาท 20 หุ้น และรับสมาชิกสมทบจากจังหวัดอื่นด้วย
ในการปลูกมันสำปะหลัง เรื่องดินและน้ำสำคัญ สหกรณ์มีสมาชิกผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง มาตรฐานกรมวิชาการเกษตร อินทรียวัตถุ 20 พร้อม ธาตุอาหารหลัก ธาตุอาหารรอง และ ธาตุอาหารเสริม โดยมีวัตถุดิบ มูลวัวนม มูลไก่ไข่ และ มูลเป็ดไข่ เป็นต้น
การบริหารจัดการไร่มันสำปะหลัง
นอกจากนี้ทางสหกรณ์ได้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านจุลินทรีย์ปุ๋ยน้ำ เพื่อนำไปใช้ในการปรับปรุงบำรุงดิน ซึ่งปุ๋ยเม็ดและน้ำ สมาชิกซื้อจากสหกรณ์ด้วยเครดิต
ในเรื่องน้ำและระบบน้ำ สหกรณ์พร้อมสนับสนุนสมาชิกในเรื่องสร้างแหล่งน้ำถาวร เช่น เจาะบ่อบาดาล เป็นต้น วันนี้สมาชิกที่ติดตั้งระบบน้ำใช้ในไร่มันฯ หลายหมื่นไร่
สำหรับผลผลิตหัวมันสด ทางสหกรณ์จะเน้นเรื่อง น้ำหนัก และ เชื้อแป้ง เพื่อให้สมาชิกได้ผลผลิต / ไร่ สูง ซึ่งวันนี้บางคนได้ไร่ละ 10 ตัน / เชื้อแป้ง 25% ปลูก 4 เดือน ผลผลิตต้นละ 15 หัว
เมื่อถามถึง pH ดิน คุณมานพเปิดเผยว่า ของตน 6 กว่าๆ ซึ่งมีความพร้อมที่จะปลูกมันสำปะหลัง เพราะค่าดินมีความเป็นด่าง ส่วนสายพันธุ์มันฯ สมาชิกปลูกหลายๆ พันธุ์
สหกรณ์ปฏิเสธในเรื่องยาฆ่าหญ้าเคมี แต่ส่งเสริมให้ใช้ยาฆ่าหญ้าอินทรีย์ เช่นเดียวกับให้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปฏิเสธปุ๋ยเคมี ทั้งนี้เพื่อให้หัวมันสำปะหลังเป็นมันปลอดสารนั่นเอง
การแปรรูปมันสำปะหลัง
สหกรณ์ไม่เน้นเรื่องขายหัวมันสด แต่มุ่งแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า เช่น ให้ คุณชำนาญ สุพร วิศวกรเครื่องกล ผลิต “เครื่องอบ” 1 เครื่อง ศักยภาพการอบ 1 ตัน / ชั่วโมง ทำให้ปีนี้สหกรณ์ผลิตได้ 150 ตันแห้ง และปีหน้าจะติดตั้งเครื่องอบเพิ่ม เพื่อผลิตถึง 400 ตันแห้ง
มันเส้นเกรดพรีเมียม เข้าสู่อุตสาหกรรมหลายอย่าง โดยเฉพาะอาหารสัตว์ ทดแทน รำ และ ปลายข้าว ในการเลี้ยงสุกร
สรุปได้ว่า สหกรณ์บริการเพื่อประชาชนกาญจนบุรีจำกัด ที่มี คุณมานพ เรียงรวบ อดีตรองนายก อบต. เป็นประธาน มี คุณพศวีร์ นคร เป็นผู้จัดการ โทร.098-828-3629 วันนี้เริ่มทำธุรกิจมันสำปะหลังครบวงจร เป็นองค์กรขับเคลื่อนชาวไร่มันเมืองกาญจน์ให้มีรายได้ดีขึ้น
ในการเคลื่อนไหวเรื่อง “มันสำปะหลัง” ระดับชาติ คุณรังษี ไผ่สะอาด นายกสมาคมชาวไร่มันสำปะหลังแห่งประเทศไทย ที่มี สมาชิก และ กรรมการ ระดับองค์กร กระจายทั่วประเทศ และเป็น “กรรมาธิการ” หลายคณะ ได้เปิดเผย “บทบาท” ของสมาคม ที่มีผลกระทบต่อนโยบายแห่งรัฐหลายเรื่อง โดยเฉพาะความไม่เป็นธรรมที่กระทบต่อชาวไร่มันฯ
ด้านตลาดและช่องทางจำหน่าย มันสำปะหลัง
เรื่องตลาดมันสำปะหลัง คุณรังษีมองว่า ขณะนี้จีนออกกฎหมายไม่ให้ใช้พลาสติกที่ย่อยสลายไม่ได้ ดังนั้นผู้ประกอบการจึงต้องใช้มันสำปะหลังถึง 80% ในการผลิต “เม็ดพลาสติกชีวภาพ” ดังนั้นจีนจึงต้องการมันเส้นมากขึ้น เมื่อข้าวโพดแพงขึ้น จีนก็ต้องใช้มันสำปะหลังมาทดแทน เพื่อผลิต “เอทานอล”
แต่ประเทศไทยค้าขายกับจีน ผ่านพ่อค้าคนกลางเป็นชาวจีน มักจะถูกกดราคา หรือบางบริษัทของคนจีนใช้มันเน่ามาผสมกับมันดี ทำให้มันของไทยเสียชื่อ คุณรังษีได้เสนอรัฐให้ปิดบริษัทนายหน้าคนจีน แล้วแต่งตั้ง บริษัท หรือ สมาคม เป็นของคนไทย มาทำหน้าที่เป็นนายหน้าแทน โดยให้ ธกส สนับสนุนด้านเงินทุน ปรากฏว่ารัฐบาลไม่ทำ
จากการที่นักธุรกิจมองเห็นศักยภาพมันสำปะหลังไทย จึงตัดสินใจจับมือกับกับสมาคมชาวไร่มันฯ ลงทุนผลิต “ไบโอพลาสติก” จากมันเส้นสะอาด โดยจีนนำเครื่องจักรมาเป็นหุ้น พอเจอโควิด-19 ต้องชะงัก ต้องรอปีหน้า “ผมทำแน่นอน เป็นคนแรกของไทย ได้ประกาศซื้อหัวมันสด กก.ละ 3 บาท เพื่อช่วยเกษตรกร ก็ยังกำไร” คุณรังษียืนยัน ถ้าสำเร็จ เกษตรกรไม่ต้องง้อโรงแป้งอย่างที่เป็นอยู่
เหตุที่ต้องร่วมกับจีนผลิตเม็ดไบโอพลาสติกเพื่อนำร่อง ซึ่งขั้นตอนการผลิตไม่ซับซ้อน ได้ศึกษาเรียบร้อยแล้ว ถ้าสำเร็จจะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นแน่นอน
วันนี้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ผลิตเม็ดพลาสติก (PPS) ส่งไปขายสิงคโปร์ คุณรังษีได้ตัวอย่างมาศึกษา จึงกล้าลงทุนร่วมกับจีน
สำหรับสูตรการผลิต PPS เป็นของ ดร.เรืองรอง ม.เกษตรศาสตร์ บางเขน ซึ่งเป็นสูตรที่สากลยอมรับ โดยเฉพาะนักลงทุนไต้หวันซื้อสูตรไปลงทุนหลายล้านบาท
นโยบายเพิ่มมูลค่าหัวมันสดของสมาคม ได้เดินหน้าทุกมิติ เช่น จับมือกับพาณิชย์จังหวัดนครราชสีมา ใช้งบ 10 ล้านบาท ซื้อเครื่องสับ ให้เกษตรกรนำไปใช้ในการผลิต มันเส้น ปี 63 ผลิตได้ 2 หมื่นกว่าตัน ถ้าราคาตกก็เก็บไว้ พอราคาดีค่อยขายในช่วงหน้าฝน “เวลามันสำปะหลังออกมาพีคๆ ต้องไปบรรจุที่โรงแป้ง ดังนั้นผมจึงต้องของบจาก คชก. มาทำมันเส้นเก็บไว้ เหมือนมีเงินใต้ถุนบ้าน” คุณรังษียืนยันถึงข้อดีของการผลิตมันเส้น ปีนี้แจกเครื่องไปแล้วกว่า 650 เครื่อง
การจัดตั้งสมาคมชาวไร่มันสำปะหลัง
เมื่อประเทศไทยเจอวิกฤตโควิด-19 ทางสมาคมได้จับมือกับ วิทยาลัยการอาชีพกำแพงเพชร นำร่องผลิต แก๊สโซฮอล์ หรือ เอทานอล 5,000 ลิตร โดยมีลานมันแสงฟ้าบริจาคมันเส้นให้ 30 ตัน วันนี้สมาคมได้เชิญสหกรณ์ต่างๆ มาถือหุ้นผลิตแก๊สโซฮอล์ในเชิงธุรกิจ ขายให้ผู้ใช้รถมอเตอร์ไซด์ เป็นต้น เป็นเอทานอลเพื่อชุมชนนั่นเอง ทั้ง แก๊สโซฮอล์ และ แอลกอฮอล์ ชุมชนได้ประโยชน์โดยตรง
สมาคมชาวไร่มันสำปะหลังแห่งประเทศไทย เกิดจากวิกฤตราคามันสำปะหลัง คุณรังษี และ ผู้นำหลายจังหวัด นำมันมาประท้วงที่กระทรวงพาณิชย์จนสำเร็จ จากนั้นก็จัดตั้งองค์กร เป็น สมาพันธ์มันสำปะหลังแห่งประเทศไทย มีสมาชิกหลายจังหวัด จนกระทั่ง ปี 2561 จัดตั้ง สมาคมชาวไร่มันสำปะหลังแห่งประเทศไทย มีองค์กรชาวไร่มัน เช่น กลุ่มวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ และ กลุ่มมันแปลงใหญ่ เป็นต้น เป็นสมาชิก ส่งเงินค่าบำรุง 2,000 บาท / ปี
สมาคมเป็นนิติบุคคล จึงได้เป็น “กรรมการ” ในคณะกรรมการมันสำปะหลังแห่งชาติ มีสถานะเท่า 4 องค์กรมันสำปะหลัง
เมื่อถามว่าชาวไร่มัน และ สมาคม ยังขาดอะไรบ้าง พัฒนาธุรกิจมันสำปะหลัง คุณรังษีสรุปว่ายังขาดสินเชื่อราคาถูก เครื่องมืออุปกรณ์ โกดัง ลานมัน ตาชั่ง และ รถไถเดินตาม เป็นต้น
ปี 63 สมาคมได้งบจาก กรมส่งเสริมการเกษตร 35 ล้านบาท ซื้อรถไถ 22 เครื่อง เพื่อระเบิดดินดาน เป็นรถแทรกเตอร์ 120 แรงม้า ยี่ห้อฟอร์ด แจกให้กลุ่มละ 2 คัน
แต่เงิน 35 ล้านบาท สมาคมจะต้องส่งคืนกรม ด้วยการผ่อนส่งเป็นงวด ปรากฏว่าหน่วยงานเครื่องจักรของกรมกำหนดราคาค่าไถ 4,500 บาท / ไร่ / ปี ต้องส่งเงินคืนปีละ 350,000 บาท ปรากฏว่าตกลงหลักการกันไม่ได้ ทางกรมไม่ต่อโครงการ จะเอารถคืน คุณรังษีจึงเข้าพบ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมต.เกษตร สั่งให้ปิดโครงการ ไม่ส่งเงินคืน
ในฐานะที่คุณรังษีเป็นวิศวกร เป็นเกษตรกร เป็นนักเคลื่อนไหว และเป็น NGO ได้คิดค้น เครื่องอบมัน ที่มีประสิทธิภาพ จดสิทธิบัตร กำลังเร่งหาทุนผลิต แล้วให้ สหกรณ์ หรือ กลุ่มเกษตรกร นำไปใช้ แล้วแบ่งผลประโยชน์กัน
ถ้ามีเครื่องอบ ชาวไร่จะปลูกมันขายหัวมันสดให้สมาคมตลอดปี แต่วันนี้ไม่มีเครื่องอบ ต้องอาศัยแสงแดดช่วงหน้าร้อน
วันนี้ 8 โรงงานเอทานอล ได้ซื้อมันเส้นสะอาดของสมาคม โดยซื้อสูงกว่าราคาตลาด 30 สต. / กก. เพื่อมิให้ผู้ซื้อจีนกดราคา
คุณรังษีเป็นวิศวกรหัวก้าวหน้า ได้เห็นปัญหาของลานตากมันเส้น ที่เสียหายถึง 10% และยังเป็นปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม จึงได้คิดเครื่องผลิตมันเส้นสะอาด ปรากฏว่าผิดพลาด หมดเงินนับล้าน แต่ไม่ย่อท้อ เดินหน้าศึกษาจนประสบความสำเร็จ ด้วยนวัตกรรมแลกเปลี่ยน ความร้อน และ ความชื้น อบออโตฯ ตลอด 24 ชั่วโมง ผลผลิต 100% ด้วยอัตรา 5 ตัน / ชั่วโมง ใช้งานไม่ต่ำกว่า 10 ปี
ปัญหาและอุปสรรคในไร่มันสำปะหลัง
อย่างไรก็ดี วันนี้วงการมันสำปะหลังเจอกับ โรคใบด่าง ระบาดหนัก เมื่อเป็นโรคต้องทำลาย นำความเสียหายมาสู่ชาวไร่มัน เรื่องนี้รัฐจัดงบประมาณมาช่วย แต่ช้ากว่าโรคระบาด ต้องขยายเวลาการใช้งบจนถึงเดือน มี.ค. 65 ตัวเลข 1,329 ล้านบาท ถ้าใช้ไม่หมดต้องส่งคืน
เรื่องนี้ กรมวิชาการเกษตร ต้องยอมแพ้ ได้แต่แนะนำให้ใช้พันธุ์ทนโรค เช่น ระยอง 78 ระยอง 90 KU 50 และ ห้วยบง 60 เพราะไวรัส SRILANKAN มีแมลงหวี่ขาวเป็นพาหะ แก้ยาก ถ้าระบาดก็ต้องทำลายอย่างเดียว
การแก้ปัญหาและพัฒนาชาวไร่มันสำปะหลัง
จากบทบาทของ 2 องค์กรชาวไร่มันสำปะหลังที่จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อจะแก้ปัญหาและพัฒนา “ชาวไร่มันฯ” ให้มีรายได้ดีขึ้น โดยมี พ.อ.วินัย เสวกวิ ที่ปรึกษา มูลนิธิพิทักษ์พระพุทธศาสนาและวัฒนธรรม เป็นผู้ประสานงาน แน่นอนปัญหาบางอย่างต้องใช้เวลาในการแก้ไข พร้อมๆ กับการเติมเต็ม “องค์ความรู้” ให้เกษตรกร ซึ่งแต่ละคนมีพื้นฐานแตกต่างกัน
อย่างไรก็ดี สมาคมชาวไร่มันสำปะหลังแห่งประเทศไทย และ สหกรณ์บริการเพื่อประชาชนกาญจนบุรีจำกัด ต้องเดินหน้าในการพัฒนามากขึ้น โดยมี ผลประโยชน์ ทางธุรกิจ ของสมาชิก และขององค์กร เป็นเดิมพัน