การทำธุรกิจใดก็ตาม หากมีทางเลือกมากกว่าหนึ่งช่องทาง ย่อมจะดีกว่ามีทางเลือกเดียว การทํายางเครป
ธุรกิจรับซื้อยางพาราก็เช่นเดียวกัน ใครทำธุรกิจนี้รู้ดีว่ามักจะตกเป็น “ลูกไล่” ของโรงงานยางเสมอไป โดยเฉพาะยางก้อนถ้วย เมื่อนำไปขายโรงงานมักจะถูกตีเปอร์เซ็นต์ยางต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งเปอร์เซ็นต์ยางที่ถูกตัดหายไป หมายถึง กำไร และ ขาดทุน ของพ่อค้ายาง
ในขณะเดียวกันยางที่รับซื้อจากเกษตรกรมีหลายรูปแบบ เปียก สด แห้ง สกปรก สะอาด บางรายไม่มีโอกาสแยกคุณภาพยาง เมื่อนำขายคละรวมจึงถูกโรงงานตัดเปอร์เซ็นต์ได้ง่าย ยังไม่รวมปัญหาการแข่งขันรับซื้อยางในพื้นที่ที่มีความเข้มข้นสูง
เหล่านี้เป็นปัญหาใหญ่ ทำให้ผู้รับซื้อยางต้องเลิกกิจการไปในที่สุด จะดีไหมถ้าจะมีทางเลือกอื่นให้กับคนทำธุรกิจนี้
จุดเริ่มต้น การทํายางเครป
คุณทวีศักดิ์ เพชรน้อย เจ้าของร้าน เขาน้อยการยาง อ.สวี จ.ชุมพร เป็นหนึ่งในผู้รับซื้อยางที่เจอปัญหานี้ ตลอดระยะเวลา 8 ปี เขายอมรับว่าเวลานำยางไปขายโรงงานจะได้กำไรมากน้อย หรือขายทุน ขึ้นอยู่กับปลายปากกาของพนักงานเสมียน ผู้ทำหน้าที่ตีเปอร์เซ็นต์ยางของโรงงาน แม้ว่าเขาจะยังไม่เคยขาดทุน แต่หลายครั้งที่ขายแล้วไม่ได้กำไร และได้ไม่คุ้มค่ากับเงินลงทุน
ทางออกของนายทวีศักดิ์ คือ ทำอย่างไรจะคัดแยกคุณภาพยางก้อนถ้วย หรือไม่ก็แปรรูปเบื้องต้นเพื่อเพิ่มมูลค่าสำหรับยางคุณภาพดี
คุณทวีศักดิ์ เพชรน้อย ผู้รับซื้อยางรายใหญ่ของ จ.ชุมพร
ยางเครป จึงเป็นทางเลือกที่สองของเขาน้อยการยาง เขาศึกษามาเป็นอย่างดีก่อนลงทุนผลิตยางเครปว่าหากคัดเลือกยางที่มีเปอร์เซ็นต์ยางดีนำมารีดเป็นยางเครป จะทำให้ยางมีความชื้นน้อยลง คุณภาพยางสูงขึ้น เช่นเดียวกับราคาจะเพิ่มขึ้นเช่นกัน
จึงน่าจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งของธุรกิจนี้ ไม่รอช้าเขาทุ่มเงินลงทุนกว่า 2.5 ล้านบาท ลงทุนเครื่องจักรรีดยางเครป 4 ตัว ประกอบด้วยเครื่องรีดยางหยาบ 2 ตัว (ราคาตัวละ 2.5 แสนบาท) และเครื่องรีดยางเครป ยี่ห้อ ยิปต้า กำลังการผลิต 2 ตัน/ชม.อีก 2 ตัว (ราคาตัวละ 6.9 แสนบาท และระบบไฟฟ้า (5 แสน) ยังไม่รวมอาคารขนาดใหญ่
การรับซื้อยางก้อนถ้วย
ทุกวันเขาน้อยการยางจะเปิดรับซื้อยางจากเกษตรกรในพื้นที่ และร้านรับซื้อยางก้อนถ้วยใน จ.ชุมพร วันละประมาณ 80-100 ตัน ขึ้นอยู่กับฤดูกาล ซึ่งยางจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ยางเปียกที่มีน้ำอบอยู่ในก้อนยาง และยางแห้งมีน้ำปนอยู่ไม่มากนัก ยางแห้งไม่มีสิ่งปลอมปน และสะอาด จะถูกนำมาแปรรูปเป็นยางเครปประมาณวันละ 20 ตัน
ส่วนยางเปียก หรือเปอร์เซ็นต์ยางน้อย จะส่งขายเข้าโรงงาน คุณภาพยางก้อนถ้วยของภาคใต้เปอร์เซ็นต์ยางค่อนข้างดี เพราะเกษตรกรไม่หยอดน้ำกรด และส่วนหนึ่งตากยางก่อนขาย แต่ข้อเสียก็คือ เนื้อยางค่อนข้างแข็ง การจะนำมารีดยางเครป เครื่องรีดต้องมีกำลังเครื่องสูงเพียงพอ
การรีดยางเครป
ด้วยเหตุนี้เขาน้อยการยางจึงเลือก ยี่ห้อยิปต้า รุ่น PRO ขนาดลูกรีด 14 นิ้ว มอเตอร์ 30 แรงม้า กำลังการบดรีดสูง ผลิตยางเครปได้ 2 ตัน/ ชม. หากแต่เพื่อความรวดเร็วของการทำงานจะนำยางก้อนถ้วยเข้าเครื่องรีดหยาบ หรือเรียกว่า ระเบิดยาง ก่อน 1 รอบ เพื่อให้รีดเครปได้สะดวก และรวดเร็วขึ้น ทำให้สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ระดับหนึ่ง
คุณทวีศักดิ์บอกว่าการผลิตยางเครป ความสะอาดคือเรื่องสำคัญ ดังนั้นในกระบวนการผลิตต้องมีน้ำชำระล้างระหว่างรีดอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ลูกรีดต้องบดบี้ยางได้ละเอียด เพื่อให้เนื้อยางสะอาด จึงต้องรีดเครปประมาณ 4 รอบ
ยางเครปที่ผลิตวันละ 20 ตัน จะนำไปขายให้กับโรงงานยางแท่ง บริษัท วงศ์บัณฑิต สาขาท่าแซะ และลงไปขายไกลถึงด่านนอก จ.สงขลา เขาบอกว่าขึ้นอยู่กับว่าโรงงานเปิดราคาสูงกว่า “บางช่วงโรงงานท่าแซะบวกราคายางเครปจากหน้าโรงงาน แต่มีบางช่วงที่โรงงานซื้อยางเครปเท่าราคายางก้อน ก็ต้องลงไปขายด่านนอก ได้กำไรมากกว่าส่งท่าแซะ 3-4 หมื่นบาท”
รายได้จาก การทํายางเครป
เมื่อถามถึงต้นทุนการผลิตยางเครป เขาบอกว่าต้นทุนหลัก คือ แรงงาน จากเมื่อก่อนจ้างเป็นรายวันคนละ 300 บาท ใช้คนงาน 6 คน ค่าใช้จ่ายสูงมาก แต่ตอนหลังเปลี่ยนมาใช้ระบบเหมา ตันละ 350 บาท ปรากฏว่าคนงานทำได้เร็วขึ้น ได้ยางมากขึ้น วันละ 20 ตัน เป็นอย่างน้อย เมื่อหักต้นทุนการผลิตยางเครปแล้วจะได้กำไรไม่น้อยกว่า กก.ละ 1 บาท หากผลิตวันละ 20 ตัน จะได้กำไรหลังหักต้นทุน 20,000 บาท/วัน ถ้าทำทุกวันจะได้กำไรเดือนละอย่างน้อย 600,000 บาท
“ขายขี้ยางหักค่าใช้จ่าย เหลือกำไรกิโลละบาทกว่าๆ ก็พอใจแล้ว แต่ยางก้อนเราไม่ต้องทำอะไร ซื้อมาส่งเข้าโรงงานได้ 50 สตางค์ หรือ 1 บาท แต่ยังไม่หักค่าใช้จ่าย ทำยางเครป ดีกว่าขายยางก้อนถ้วย” แต่เขาก็ยอมรับว่ามีบางช่วงโรงงานไม่บวกราคายางเครปหน้าโรงงาน ซื้อเท่าราคายางก้อนถ้วย จำเป็นต้องหยุดการผลิตยางเครป
เมื่อธุรกิจรับซื้อยางก้อนถ้วย เริ่มสั่นคลอน กำไรจากการซื้อขายเริ่มลดน้อยลง หากยังทำธุรกิจนี้อยู่มีแต่ความเสี่ยง และไม่คุ้มค่าการลงทุน แนวทางการผลิตยางเครปเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการแก้ปัญหา และเพิ่มมูลค่ายางให้กับผู้ที่ทำธุรกิจนี้
ขอขอบคุณ
ทวีศักดิ์ เพชรน้อย
ต.เขาน้อย อ.สวี จ.ชุมพร โทรศัพท์ 08-4744-0790
บริษัท ยิปต้า จักรกลเกษตร เทรดดิ้ง จำกัด โทรศัพท์ 08-4894-3456, 08-1717-7127