การใช้ปุ๋ยเคมี ในการเกษตร อย่างถูกวิธี
- การใช้ปุ๋ยเคมี
- สูตรปุ๋ย และ การใช้ปุ๋ยเคมี
- ชนิดของปุ๋ย
- การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในการเกษตร
- ใช้ปุ๋ยหมักกับยางพารา
การใช้ปุ๋ยเคมี ในการเกษตร
ปุ๋ยเคมีแบ่งตามส่วนประกอบของธาตุอาหารหลักที่มีอยู่ได้ดังนี้
ปุ๋ยเชิงเดี่ยว
เป็นปุ๋ยที่มีธาตุอาหารหลักธาตุเดียว เช่น ปุ๋ยที่ให้ธาตุไนโตรเจน ได้แก่ ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต ปุ๋ยยูเรีย ปุ๋ยที่ให้ธาตุฟอสฟอรัส ได้แก่ ปุ๋ยหินฟอสเฟต ปุ๋ยซูเปอร์ฟอสเฟต และปุ๋ยที่ให้ธาตุโพแทสเซียม ได้แก่ ปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์ และปุ๋ยโพแทสเซียมซัลเฟต
ปุ๋ยเชิงผสม
เป็นการผสมปุ๋ยเคมีชนิดหรือประเภทต่างๆ เพื่อให้ได้ธาตุอาหารหลักตามต้องการ โดยปุ๋ยเคมีนั้นจะต้องมีธาตุอาหารหลัก 2 ธาตุขึ้นไป การผสมจะเป็นเนื้อเดียวกันหรือไม่ก็ได้
ปุ๋ยเชิงประกอบ
เป็นปุ๋ยเคมีที่ทำขึ้นโดยกรรมวิธีทางเคมี มีธาตุอาหารหลักอย่างน้อย 2 ธาตุขึ้นไป เช่น ปุ๋ยโมโนแอมโมเนียมฟอสเฟต ปุ๋ยไดแอมโมเนียมฟอสเฟต
ปุ๋ยเคมีที่มีขายตามท้องตลาดในประเทศมีหลายชนิด ทั้งปุ๋ยเชิงเดี่ยว ปุ๋ยเชิงผสม และปุ๋ยเชิงประกอบ มีทั้งเป็นผลึก เกล็ด เม็ด และผง
โดยปุ๋ยที่ผลิตและจำหน่ายจะต้องได้รับการขึ้นทะเบียนถูกต้องกับกรมวิชาการเกษตร ตามพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. 2518 และพระราชบัญญัติปุ๋ยฉบับที่ 2 พ.ศ. 2550
สูตรปุ๋ย
สูตรปุ๋ย หรือเกรดปุ๋ย เป็นคำที่บอกให้ทราบว่าปุ๋ยนั้นจะให้ธาตุอาหารหลักชนิดใด และมีปริมาณที่เป็นประโยชน์ต่อพืชเท่าใด เพื่อประโยชน์ของผู้ขาย ผู้ใช้ และผู้ควบคุมให้เป็นไปตามกฎหมาย และทำให้ผู้ใช้สามารถเลือกใช้ให้เหมาะสมตามชนิดของพืชที่ปลูก
โดยตัวเลขในสูตรปุ๋ยจะบอกถึงปริมาณธาตุไนโตรเจน ( N ) ฟอสฟอรัส ( P2O5 ) และโพแทสเซียม ( K2O ) ที่มีอยู่ในปุ๋ยเป็นร้อยละโดยน้ำหนักของปุ๋ยทั้งหมด และจะบอกเรียงกันตามลำดับ N – P2O5 – K2O ตัวอย่างเช่น ปุ๋ยสูตร 20 – 8 – 20
หมายถึง ปุ๋ยนี้มีปริมาณไนโตรเจนทั้งหมด ( Total N ) ร้อยละ 20 ปริมาณฟอสฟอรัสในรูปของฟอสเฟตที่เป็นประโยชน์ ( Available P2O5 ) ร้อยละ 8 และปริมาณโพแทสเซียมที่ละลายน้ำได้ ( Water Soluble K2O ) ร้อยละ 20
ซึ่งปริมาณฟอสเฟตที่เป็นประโยชน์ในสูตรปุ๋ยจะหมายถึง ปริมาณฟอสเฟตที่ละลายน้ำได้ ( Water Soluble K2O ) และปริมาณฟอสเฟตที่ละลายในกรดซิตริก ( Citric Soluble P2O ) ซึ่งเป็นฟอสฟอรัสที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อพืช
เรโชปุ๋ย
เป็นค่าที่บอกสัดส่วนระหว่างปริมาณของไนโตรเจน ( N ) ฟอสฟอรัส ( P2O5 ) และโพแทสเซียม ( K2O ) ที่มีอยู่ในสูตรปุ๋ย
เช่น ปุ๋ยสูตร 20 – 10 – 10 จะมีเรโช 2 : 1 : 1 เป็นต้น
ปุ๋ยที่มีเรโชเดียวกันอาจมีได้หลายสูตร เช่น ปุ๋ย 10 – 10 – 10 และ 15 – 15 – 1 จะมีเรโช 1 : 1 : 1
ซึ่งหมายถึง ปุ๋ยทั้งสองสูตรนี้เป็นปุ๋ยอย่างเดียวกัน เพราะมีเรโชเหมือนกัน แต่ปริมาณธาตุอาหารรวมในปุ๋ยแตกต่างกัน กล่าวคือ ปุ๋ยสูตร 10 – 10 – 10 มีธาตุอาหารรวมร้อยละ 30 ส่วนปุ๋ยสูตร 15 – 15 – 15
มีธาตุอาหารรวมร้อยละ 45 นั่นคือ ปุ๋ยสูตรทั้งสองสูตรดังกล่าวข้างต้นเป็นปุ๋ยชนิดเดียวกัน สามารถใช้แทนกันได้ เพียงลดอัตราการใช้ให้น้อยลง ถ้าเลือกใช้ปุ๋ยสูตร 15 – 15 – 15 แทนปุ๋ยสูตร 10 – 10 – 10
อัตราปุ๋ย
เป็นปริมาณปุ๋ยแต่ละสูตรที่ใส่ให้กับพืชต่อพื้นที่หนึ่งไร่ หรือต่อหนึ่งต้น ดังนั้น การใช้ปุ๋ยเคมี สูตรที่มีเรโชเดียวกัน เช่น ปุ๋ยสูตร 10 – 10 – 10 และ 15 – 15 – 15
ซึ่งเป็นปุ๋ยชนิดเดียวกัน สามารถใช้แทนกันได้ แต่ปรับอัตราการใช้ เช่น ใช้ปุ๋ยสูตร 10 – 10 – 10 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ แต่ถ้าใช้ปุ๋ยสูตร 15 – 15 – 15 จะใช้เพียงอัตรา 33.3 กิโลกรัมต่อไร่
การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในการเกษตร
ปุ๋ยอินทรีย์เป็นปุ๋ยอินทรีย์ธรรมชาติที่มีปริมาณธาตุอาหารค่อนข้างต่ำ ปุ๋ยอินทรีย์มีหลายชนิด แต่ละชนิดมีปริมาณธาตุอาหารแตกต่างกัน ดังนี้
ปุ๋ยมูลสัตว์
เป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้จากมูลสัตว์ต่างๆ ได้แก่ มูลไก่ มูลเป็ด มูลสุกร มูลโค มูลกระบือ มูลค้างคาว มีปริมาณธาตุอาหารค่อนข้างต่ำ โดยมีไนโตรเจนประมาณ 1.2 % มูลค้างคาวมีสูงสุด 3.1 %
สำหรับฟอสฟอรัสมีความแปรปรวนสูง คือ มีปริมาณฟอสฟอรัสเพียง 0.4 % ในมูลโค และ 12.2 % มูลค้างคาว ส่วนปริมาณโพแทสเซียมในมูลสัตว์มีปริมาณค่อนข้างใกล้เคียงกันประมาณ 1.5 %
ปุ๋ยหมัก
เป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้จากการแปรสภาพของเศษซากพืชเป็นส่วนใหญ่ เกิดจากการย่อยสลายของเชื้อจุลินทรีย์หลายชนิด ซึ่งย่อยสลายสารอินทรีย์ให้กลายเป็นฮิวมัส ระหว่างการหมักจะเกิดความร้อน ซึ่งจะทำลายเมล็ดวัชพืช จุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรคแมลง ปุ๋ยหมักที่สลายตัวได้ดีแล้วสามารถนำไปใช้กับพืชได้จำนวนมาก แต่ควรคำนึงถึงผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ
ปุ๋ยพืชสด
เป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้จากการไถกลบพืช ขณะที่สดอยู่ลงในดิน อายุของพืชที่ควรไถกลบจะแตกต่างกันตามชนิดของพืช แต่ควรเป็นพืชที่เจริญเติบโตเร็ว เป็นพืชที่สะสมน้ำหนักแห้งได้สูง ให้ปริมาณธาตุไนโตรเจนสูง เมล็ดหาง่าย พืชที่ปลูกส่วนใหญ่เป็นพืชตระกูลถั่วต่าง ๆ เช่น ถั่วลาย ถั่วพุ่ม ไมยราพไร้หนาม โสนอินเดีย โสนแอฟริกัน ถั่วพร้า ถั่วมะแฮะ และกระถิน
การปลูกพืชตระกูลถั่วเป็นปุ๋ยพืชสดนั้น จะช่วยบำรุงดินและเพิ่มไนโตรเจนได้มากกว่าการใช้พืชชนิดอื่น เนื่องจากเชื้อไรโซเบียมที่บ่มรากของพืชตระกูลถั่ว สามารถตรึงไนโตรเจนจากอากาศแล้วให้ถั่วได้ใช้ประโยชน์ ดังนั้นซากถั่วจึงมีไนโตรเจนสูงประมาณ 3-5% เมื่อไถกลบลงในดินจึงปลดปล่อยไนโตรเจนได้มากกว่าซากพืชชนิดอื่น
ปุ๋ยชีวภาพ
หมายถึง ปุ๋ยที่มีจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพสูงอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อใส่ลงในดินแล้วทำให้พืชได้รับธาตุอาหารมากขึ้น ปุ๋ยชีวภาพที่แนะนำในปัจจุบัน ได้แก่ ปุ๋ยชีวภาพที่เชื้อบักเตรี เช่น ไรโซเบียม มีแบคทีเรียที่สร้างปมที่รากถั่ว ช่วยตรึงไนโตรเจนจากอากาศให้ปุ๋ยไนโตรเจนแก่พืช เชื้อไมโคไรซ่า
ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในรากพืชในระบบพึ่งพากันและกัน ส่วนของเส้นใยที่พันอยู่กับรากจะชอนไชเข้าไปในดิน ช่วยดูดธาตุอาหารในดิน โดยเฉพาะธาตุฟอสฟอรัสให้เป็นประโยชน์แก่พืช นอกจากนี้ยังป้องกันไม่ให้ฟอสฟอรัสที่ละลายออกมาถูกตรึง
โดยปฏิกิริยาทางเคมีของดินด้วย ชนิดที่พบในพืชไม้ยืนต้นและไม้ปลูกป่า เช่น สน รวมทั้งยางพาราด้วย ได้แก่ เอคโตไมโคไรซ่า การใช้ปุ๋ยชีวภาพเป็นแนวทางหนึ่งที่จะทำให้มีการพัฒนาด้านการเกษตร ช่วยลดปริมาณ การใช้ปุ๋ยเคมี ลงได้
น้ำหมักชีวภาพ
หมายถึง สารละลายเข้มข้น หรือของเหลว ที่ได้จากการหมักพืชหรือสัตว์ ในสภาพควบคุมอากาศ และถูกย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ พวกยีสต์ แบคทีเรีย ที่ทำให้เกิดกรดแลคติก และเชื้อราต่างๆ
การใช้ปุ๋ยหมักกับยางพารา
โดยทั่วไปสวนยางที่ไม่มีการใส่ปุ๋ย หรือไม่ปลูกพืชคลุมดินตระกูลถั่วระหว่างแถวยาง จะมีระดับของธาตุคาร์บอนไนโตรเจน และฟอสฟอรัสต่ำถึงปานกลาง แต่สำหรับพื้นที่ป่าเปิดใหม่จะมีระดับของธาตุคาร์บอนและไนโตรเจนสูง
มีการสะสมของธาตุโพแทสเซียมและแมกนีเซียมสูงด้วย สวนยางส่วนใหญ่ของประเทศไทยเป็นสวนยางที่ได้รับการสงเคราะห์ปลูกแทน
ดังนั้นเกษตรกรผู้ได้รับการสงเคราะห์ปลูกแทนจำเป็นต้องใส่ปุ๋ยตามคำแนะนำ ซึ่งสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร แนะนำปุ๋ยเคมีสูตร 20-80-20 ( เขตปลูกยางเดิม ) สูตร 20-10-12 ( เขตปลูกยางใหม่ ) สำหรับยางพาราก่อนเปิดกรีดตามปริมาณธาตุอาหารที่ยางพาราต้องการ