จะหยุด “ กรดซัลฟิวริค ” ต้องแก้จุดอ่อน “ กรดฟอร์มิค ” ยางพารา

โฆษณา
AP Chemical Thailand

จะหยุด “ กรดซัลฟิวริค ” ต้องแก้จุดอ่อน “ กรดฟอร์มิค ” ยางพารา

ถ้าเปิดอ่านสกู๊ปพิเศษเรื่อง “หยุด กรดซัลฟิวริค ในยางก้อนถ้วย ก่อนตลาดยางไทยพัง” ในยางเศรษฐกิจ ฉบับ 54/2558 ก็จะ “ไขปัญหา” เกลี้ยงตู้ กับประเด็น กรดซัลฟิวริคใช้ในยางก้อนถ้วยได้หรือไม่

เพราะหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น กรมวิชาการเกษตร และ การยางแห่งประเทศไทย รวมถึงนักวิชาการชำนาญการเรื่องการผลิตยาง “ฟันธง” ให้หายข้องใจแล้วว่า ไม่ควรใช้กรดอานุภาพกัดกร่อนแรงๆ ตัวนี้ไม่ควรใช้ในกระบวนการทำยางก้อนถ้วย รวมถึงยางแผ่น

พร้อมกับแนะนำให้ใช้กรดที่เป็น “อินทรีย์” เช่น กรดฟอร์มิค เป็นต้น

และถ้าใครอ่านงานวิจัยเรื่อง ผลกระทบของสารจับตัวยางที่อ้างวาเป็นกรดออร์แกนิคยี่ห้อหนึ่ง ในการผลิตยางก้อนถ้วยและยางแผ่นดิบ โดย นางปรีดิ์เปรม ทัศนกุล นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสงขลา ในวารสารยางพารา ปีที่ 36 ฉบับ 3 กรกฎาคม-กันยายน 2558 ของสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร จะเห็นภาพผลกระทบของกรด หรือสารจับตัวยางที่ไม่เหมาะสมชัดเจนขึ้น

แต่ปัญหายังไม่ “อวสาน” เพียงเท่านี้ เพราะงานวิจัยดังกล่าวได้ “แตกกิ่งเรื่อง” ใหม่ขึ้นมา เมื่อมีการนำกรดออร์แกนิค ชื่อดังในตลาด ที่มีการโฆษณาและประกาศสรรพคุณ ว่า ราคาถูก ปลอดภัย น้ำยางจับตัวได้ไว ก้อนยางสวย ไม่ติดก้นถ้วย ไม่มีกลิ่นเหม็น เรียกกว่าครอบจักรวาลการทำยางก้อนถ้วยเลยทีเดียว

โฆษณา
AP Chemical Thailand

แต่เมื่อนำไปตรวจวิเคราะห์แล้วกลับผมว่า “ออร์แกนิคเทียม” เพราะพบว่าฉลากไม่ระบุโครงสร้างทางเคมี เมื่อนำไปตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์บริการ พบว่ามีส่วนผสมของ กรดซัลฟิวริค (กำมะถัน) เข้มข้น 8.8%  กรดอะซิติค 0.47% และกรดฟอร์มิค ผสมอยู่ นอกจากนั้นยังพบองค์ประกอบของสารแคลเซียม แมกนีเซียม และโซเดียม ปริมาณสูงพอให้ค่าความอ่อนตัวของเนื้อยางต่ำ จึงเป็นการโฆษณาเกินจริง

DSC_0154

“อินทรีทนง” ไม่ขอพูดถึงประเด็นนี้มาก เพราะในงานวิจัยและผลการทดลองระบุชัดอยู่แล้ว หาอ่านได้ในเว็บไซต์ของสถาบันวิจัยยาง

แต่ประเด็นที่ติดใจก็คือ วันนี้กรดจับตัวยาง ที่มีส่วนผสมของ กรดซัลฟิวริค ที่ใช้ผลิตยางก้อนถ้วย ยังมีเกษตรกรใช้อยู่จำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสาน

ส่วนใหญ่เกษตรกรไม่รู้จริงๆ ว่าทำให้คุณสมบัติของยางเสื่อมค่าลง และผลของมันลากยาวไปถึง การผลิตยางแท่ง และยางล้อรถยนต์ ดังที่มีผู้ซื้อยางต่างประเทศยกเลิกยางแท่งที่ผลิตในภาคอีสาน

ก่อนจะมีข่าวว่าโรงงานยางแท่งบางโรงไม่ซื้อยางก้อนถ้วยที่ใช้ซัลฟิวริค ถ้าซื้อก็กดราคาเตี้ยเรี่ยดินแน่นอน

คำถามก็คือ เหตุในกรดซัลฟิวริค จึงได้รับความนิยมสูง ทั้งๆ ที่พิษสงรอบตัว

โฆษณา
AP Chemical Thailand

คำตอบก็คือ กรดตัวนี้ราคาถูก ซื้อได้ด้วยแบงค์ยี่สิบใบเดียว

ผู้ผลิตออกแบบให้สามารถใช้งานง่าย สะดวก โดยผสมเป็นสูตรสำเร็จ บรรจุขวดแบบเดียวกับขวดน้ำกลั่น พร้อมใช้งานได้ทันที ไม่ต้องเสียเวลาผสมให้ยุ่งยาก

การกระจายสินค้าสามารถเข้าถึงเกษตรกรรายย่อย ในทุกหมู่บ้าน และมีให้เลือกมากมายหลายยี่ห้อ

และที่สำคัญก็คือ เกษตรกรส่วนใหญ่ขาดความรู้เรื่องการทำยางก้อนถ้วยคุณภาพ และผลกระทบของกรดซัลฟิวริค

ขณะที่เกษตรกรก็ชาชิน จนรู้สึกชิลชิล กับผลกระทบของกรดซัลฟิวริคไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกลิ่นเหม็นจากยาง น้ำเสียจากก้อนยาง และความแรงของกรดที่ทำให้รากยางและหน้ายางเสียหาย

เหล่านี้ทำให้กรดซัลฟิวริค ยึดภาคอีสานไว้อย่างราบคาบ

โฆษณา
AP Chemical Thailand

การเข้าถึงกรดซัลฟิวริคได้ง่ายนี้เอง กลับเป็นจุดอ่อนของ “ฟอร์มิค” กรดจับตัวยางที่กรมวิชาการเกษตรแนะนำให้ใช้ 

เพราะ กรดฟอร์มิคราคาสูงกว่าเกือบเท่าตัว

รูปแบบของบรรจุภัณฑ์ขายเป็นแกลลอน อย่างน้อย 5 ลิตร ราคาขายปลีก 270 บาทขึ้นไป

กรดฟอร์มิคไม่มีรูปแบบ “พร้อมใช้” เกษตรกรต้องนำไปผสมน้ำก่อนใช้  ทั้งนี้เพราะกรดชนิดนี้ไม่สามารถผลิตสำเร็จรูปพร้อมใช้ได้ เนื่องจากเป็นกรดอินทรีย์ หากผสมน้ำทิ้งไว้นานๆ กรดจะย่อยสลายตัวตามธรรมชาติ ซึ่งต่างกับกรดซัลฟิวริคที่สลายตัวช้าแม้ผสมน้ำ

และที่สำคัญคือการกระจายสินค้ายังเข้าไม่ถึงเกษตรรายย่อย ส่วนใหญ่จะขายอยู่ในร้านอุปกรณ์ยางพารา และร้านเคมีเกษตร ยังเข้าไม่ถึงระดับหมู่บ้าน

ดังนั้นถ้าจะเปลี่ยนพฤติกรรมเกษตรกรให้เลิกใช้กรดซัลฟิวริค ก็ต้องมาแก้จุดอ่อนด้านการตลาดของกรดฟอร์มิคให้ได้ 

โฆษณา
AP Chemical Thailand

แต่ “อินทรีทนง” เชื่อว่า ผู้ผลิตและจำหน่ายกรดฟอร์มิคกำลังเร่งปรับจุดอ่อนนี้ เพราะเกษตรกรภาคอีสานจำนวนไม่น้อยเริ่ม “ตื่นภัยกรดซัลฟิวริค” แล้ว พร้อมหันมาใช้กรดฟอร์มิคมากขึ้น เมื่อความต้องการสูงจะซื้อหาได้ง่ายขึ้น

แต่ที่ต้องขอ “บิณฑบาตร” กันเลยก็คือ ผู้จำหน่ายกรดซัลฟิวริค หรือกรดอื่นๆ ที่ผสมกรดตัวนี้ลงไป ขอให้หยุดขายสินค้าเสีย เพราะเป็นหนึ่งในการบ่อนทำลายยางไทย ที่ขึ้นชื่อว่าผลิตยางที่มีคุณภาพของโลก

เกษตรกรเองก็อย่าเห็นแก่ของถูก เพราะของดีแล้วถูกไม่มีในโลก ควรหันมาใช้กรดอินทรีย์ ซึ่งเชื่อว่า ไม่ใช่เฉพาะกรดฟอร์มิคอย่างเดียวที่ใช้ได้ เชื่อว่ายังมีกรดอินทรีย์ หรือกรดชีวภาพ หลายตัวที่ใช้ได้ ทางที่ดีควรเลือกตัวที่มีความน่าเชื่อถือ และมีผลตรวจวิเคราะห์รับรองเป็นดีที่สุด

ขณะเดียวกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งแนะนำและให้ความรู้เกษตรกรเรื่องการผลิตยางก้อนถ้วยโดยด่วน

อินทรีทนง คอลัมน์นิสต์ นิตยสารยางเศรษฐกิจ

[wpdevart_like_box profile_id=”112152085551102″ connections=”show” width=”300″ height=”220″ header=”big” cover_photo=”show” locale=”th_TH”]

โฆษณา
AP Chemical Thailand