การผลิตถุงมือยาง
ธุรกิจถุงมือยางมีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็ว ตามประมาณประชากรของโลกที่เพิ่มขึ้นจนใกล้ 8,000 ล้านคน ยิ่งประชากรโลกเพิ่มมากขึ้นเท่าไหร่ อุตสาหกรรมการแพทย์จะขยายตัวมากขึ้นเท่านั้น พร้อมๆ กับความต้องการใช้ถุงมือยาง ซึ่งเป็นอุปกรณ์สิ้นเปลือง ใช้แล้วทิ้ง ถุงมือยางที่มีคุณภาพ และใช้มากที่สุด ก็คือ ถุงมือที่ผลิตจากยางพารา
แน่นอนว่าเมื่อทิศทางของโลกเป็นเช่นนี้ อุตสาหกรรมถุงมือยางย่อมขยายตัว โดยมีประเทศมาเลเซียเป็นผู้ผลิต และส่งออกมากที่สุดของโลก ขณะที่ประเทศไทยรั้งอันดับสอง แม้ว่า “มาเลเซีย” จะไม่ใช่ผู้ผลิตยางพารามากที่สุด แต่เขาสามารถก้าวขึ้นแท่นผู้ผลิตสินค้าจากยางพาราแถวหน้าของโลกหลายตัว โดยนำเข้ายางจากประเทศไทย และอินโดนีเซีย โดยเฉพาะ “น้ำยางข้น” เพื่อป้อนอุตสาหกรรมถุงมือยาง และถุงยางอนามัย เป็นต้น
ขณะที่บริษัทยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมถุงมือยางของโลก สัญชาติมาเลเซีย ยังเข้ามาตั้งโรงงานผลิตน้ำยางข้น และถุงมือยาง ใน อ.สะเดา จ.สงขลา เพราะใกล้แหล่งวัตถุดิบ จึงวิเคราะห์ได้ว่าวันนี้มาเลเซียอาศัยวัตถุดิบยางจากประเทศไทย เป็น “บันได” ก้าวสู่ผู้นำผลิตภัณฑ์ยางของโลก ทั้งๆ ที่ประเทศไทยสามารถผลิตและแข่งขันได้ และมีวัตถุดิบอยู่ในมือ
จากข้อมูลของสมาคมผู้ผลิตถุงมือยางแห่งประเทศไทย ระบุว่า ประเทศมาเลเซียมีโรงงานผลิต 80 ราย ส่งออกปีละ 90,000 ล้านบาท เป็นผู้ผลิตและส่งออกอันดับหนึ่งของโลก มีส่วนแบ่งร้อยละ 60 ทิ้งห่างอันดับสอง อย่างไทย ที่มีผู้ผลิตถุงมือยางประมาณ 20 ราย ใช้ยางรวมไม่ต่ำกว่าปีละ 4 แสนตัน ทำเงินปีละกว่า 30,000 ล้านบาท มีส่วนแบ่งร้อยละ 22
ปัญหาและอุปสรรคในการผลิต ถุงมือยาง
อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ไทยถูกมาเลเซียทิ้งห่าง นายประชัย ก้องวารี นายกสมาคม ชี้ปัญหาว่ามาจากขาดการสนับสนุนอย่างจริงจังจากภาครัฐ ทำให้ธุรกิจแข่งขันยาก เริ่มจากปัญหาเครื่องจักรในการผลิตที่ล้าสมัย เครื่องจักรของไทยส่วนใหญ่เป็นรุ่นที่ผลิตถุงมือได้ 6-7 ล้านชิ้น/เดือน ขณะที่เครื่องจักรของมาเลเซียสามารถผลิตได้ 20 ล้านชิ้น/เดือน
ซึ่งการเปลี่ยนเครื่องจักรต้องใช้เงินลงทุนประมาณเครื่องละ 150 ล้านบาท ขณะที่อัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมถุงมือยางเพิ่มขึ้นเรื่อย เนื่องจากการแพร่กระจายของโรคระบาดส่งผลให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลก ตระหนักถึงความสำคัญของสุขอนามัยสูงขึ้น ความต้องการบริโภคถุงมือยางของประชากรโลกจึงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบันทั้งโลกปริมาณความต้องการใช้ถุงมือยางอยู่ที่ประมาณ 200,000 ล้านชิ้น/ปี แต่ผู้ผลิตทั่วโลกสามารถผลิตถุงมือออกสู่ตลาด คิดเป็นร้อยละ 90 ของความต้องการทั่วโลก อุตสาหกรรมถุงมือยางสำหรับประเทศไทยจึงยังมีโอกาสเติบโต และแชร์ส่วนแบ่งในตลาดเพิ่ม โดยอาศัยข้อได้เปรียบมีวัตถุดิบอยู่ในมือมากที่สุดของโลก
และการลงทุนผลิตถุงมือยางในประเทศเพิ่มมากขึ้น หนึ่งในผู้ลงทุนที่น่าสนใจ ก็คือ บริษัท ไทยกอง จำกัด ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัททำธุรกิจลงทุนด้านการเงิน ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ มีทุนจดทะเบียน 625 ล้านบาท สนใจธุรกิจถุงมือยางเพราะมองเห็นทิศทางการขยายตัวในประเทศ และต่างประเทศ จึงทุ่มเงินลงทุนกว่า 1,800 ล้านบาท สร้างโรงงานที่ทันสมัยใน ต.บางหมาก อ.กันตัง จ.ตรัง กำลังการผลิตประมาณ 4,000 ล้านชิ้น/ปี
การแปรรูปยางพารา
โรงงานผลิตถุงมือแพทย์แห่งนี้นับเป็นโรงงานแห่งแรก และมีเพียงแห่งเดียวใน จ.ตรัง การที่ผู้บริหาร บริษัท ไทยกองฯ ตัดสินใจเลือก จ.ตรัง เป็นฐานที่มั่นสร้างโรงงานถุงมือยาง เพราะเป็นจังหวัดที่ผลิตน้ำยางได้มากที่สุดในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งอันดามัน และน้ำยางมีคุณภาพสูง อีกทั้งใน จ.ตรัง ยังมีผู้ผลิตน้ำยางข้นซึ่งเป็นการแปรรูปน้ำยางพาราขั้นต้นอยู่ในพื้นที่เพียงพอสำหรับป้อนโรงงานที่มีความต้องการอย่างน้อย 14,000 ตัน และจะเพิ่มกำลังการผลิตเต็มที่ต้องใช้น้ำยางข้นอย่างน้อย 30,000 ตัน/ปี
การเกิดขึ้นของโรงงานผลิต ถุงมือยาง ใน จ.ตรัง จะเกิดผลสะท้อนในหลายมิติ
– มิติแรก คือ ปริมาณความต้องการใช้ยางพาราในพื้นที่จะเพิ่มมากขึ้น อย่างน้อยปีละ 30,000 ตัน ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นยางภายในจังหวัดอาจจะไม่เพียงพอ ต้องนำมาจากจังหวัดใกล้เคียง
– มิติที่สอง เมื่อโรงงานผลิตถุงมือยางต้องการน้ำยางข้นป้อน ย่อมเป็นช่องทางและโอกาสให้ธุรกิจแปรรูปน้ำยางพาราเป็นน้ำยางข้นเกิดการขยายตัวโดยเฉพาะในภาคเกษตรกรที่เป็นสหกรณ์ หรือกลุ่มเกษตรกร หันมาแปรรูปน้ำยางสดจากสมาชิกเป็นน้ำยางข้นเพิ่มมูลค่าขายป้อนโรงงาน ซึ่งเป็นนโยบายที่รัฐบาลส่งเสริมเพื่อแก้ไขปัญหาราคายาง
– มิติที่สาม เกิดการใช้ยางพาราในประเทศแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์มากขึ้น จะช่วยลดการพึ่งพาตลาดต่างประเทศ ที่ไทยยังส่งออกยางในรูปของยางวัตถุดิบเป็นหลัก ย่อมจะลดปริมาณวัตถุดิบยางในตลาดลง ส่งผลให้ราคาจะค่อยๆ ขยับสูงขึ้น
– มิติที่สี่ คือ การเพิ่มมูลค่ายางสูงขึ้น จากที่ไทยส่งน้ำยางข้นให้มาเลเซีย เมื่อเราแปรรูปเองมูลค่าจะเพิ่มขึ้น
หลายเท่าตัว
– มิติที่ห้า เกิดการจ้างงานแรงงานในพื้นที่ โดยคาดว่าจะเกิดการจ้างงานกว่า 1,000 คน
เพียงแค่ห้ามิตินี้จึงทำให้พอเห็นผลลัพธ์ของการแปรรูปยางเป็นผลิตภัณฑ์อย่างชัดเจน
นอกจากนั้นยังมีข่าวว่า บริษัทบิ๊กยางพาราของไทยหลายราย มีโครงการสร้างโรงงานผลิต ถุงมือยาง เช่นกัน เช่น บริษัท ไทยฮั้วฯ เตรียมผลิต ถุงมือยาง เป็นต้น ส่วนเกษตรกรก็น่าจะจับชีพจรอุตสาหกรรมยางได้ดีขึ้น มองเห็นอนาคตของสวนยางพาราชัดเจนขึ้น เพราะการเกิดขึ้นของโรงงานผลิตสินค้าจากยางพาราเป็นเครื่องหมายการันตีด้านความมั่นคง