ธุรกิจยางเครป “อบแห้ง” ยางเครป “อัดก้อน” ส่งตลาดจีน ได้ราคาดีกว่ายางก้อนถ้วย กำไร 200,000 บาท/เดือน
“ดิฉันเองเป็นคนรุ่นใหม่ ที่เห็นชาวบ้านเขากรีดยางแล้วขายได้ครั้งละ 800-900 บาท แล้วนำเงินส่วนนี้ไปใช้จ่ายในครอบครัว ถามดูสิว่า ชาวสวนเขาจะอยู่ได้อย่างไร? ตัวดิฉันเองจึงมีแรงผลักดันที่ว่าอย่างไรก็ตามจะต้องผลักดันให้ราคายางสูงขึ้นให้ได้ ไม่ว่าจะต้องเดินไปทางไหนก็ต้องหาทางดิ้นรนไปให้ได้ เพื่อให้เราอยู่ได้ ชาวสวนยางก็อยู่ได้ด้วย”
คำกล่าวนี้ คือ อุดมการณ์อันแรงกล้าของ คุณนนลษร เปียตี๋ เกษตรกรชาวสวนยางพาราวัย 35 ปี ที่ อ.พาน จ.เชียงราย ที่ก่อให้เกิดพัฒนาการในการทำสวนยางพาราเรื่อยมา ตั้งแต่ปี 2555 จากเดิมที่ทำยางก้อนถ้วยเพื่อส่งขายโรงงานที่ภาคใต้
ต่อมาเกิดการรวมกลุ่มชาวสวนยางพาราในพื้นที่นำยางก้อนมาแปรรูปเป็น ยางเครปดิบ และ ยางเครปอบแห้ง โดยจดทะเบียนเป็น บริษัท เชียงราย วี ซี รับเบอร์ จำกัด เพื่อส่งยางก้อนถ้วย ยางเครปดิบ และ ยางเครปอบแห้ง ไปจีน 100% ซึ่งได้ราคาดีกว่าขายที่เมืองไทยกิโลกรัมละ 7-10 บาท
ผลผลิตของ ธุรกิจยางเครป ยางเครปดิบ-ยางเครปอบแห้ง-ยางก้อนถ้วย รอส่งให้ลูกค้าจีน
การดำเนินงานในทุกๆ 15 วัน ก็จะได้ ยางเครป ดิบ 200-400 ตัน และ ยางเครปอบแห้ง 60 ตัน จากนั้นก็จะทยอยจำหน่าย โดยขนส่งทางเรือไปประเทศจีนผ่านท่าเรือเชียงแสน โดยสินค้าที่จำหน่ายมี 3 ประเภท ได้แก่
- ยางเครป ดิบ มีสัดส่วนการส่งออก 50 % จากสินค้าทั้งหมด ได้ราคากิโลกรัมละ 37 บาท
- ยางเครปอบแห้ง และ
- ยางก้อนถ้วย มีสัดส่วนการส่งออกอย่างละ 25 % จากสินค้าทั้งหมด ราคา ยางเครป อบแห้งอยู่ที่กิโลกรัมละ 44 บาท ส่วนยางก้อนถ้วยขายกิโลกรัมละ 33 บาท
ที่มาของ ธุรกิจยางเครป ยางเครปอบแห้ง และ ยางเครปอัดก้อน ส่งจีน
คุณนนลษรเป็นชาวเมืองหมูย่าง ช่วยพ่อแม่ทำสวนยางมาตั้งแต่เด็ก คุณแม่ก็เป็นคนรับซื้อและขายยางมานาน ทำให้คุณนนลษรคลุกคลี และมีประสบการณ์ในงานส่วนนี้มานานหลายปี เมื่อปี 2555 เพื่อนชวนไปซื้อสวนยางพาราที่เชียงราย จึงลงพื้นที่ไปดู และซื้อทั้งหมด 400 กว่าไร่ ขณะนั้นต้นยางมีอายุ 9 ปี สามารถกรีดได้แล้ว
มีพันธุ์ยาง 2 สายพันธุ์ คือ พันธุ์มาเลเซีย RRIM600 และพันธุ์ไทย RRIT251 ช่วงแรกทำเป็นยางก้อนถ้วย แต่ในสมัยนั้นไม่มีพ่อค้ารับซื้อ จึงรวบรวมซื้อยางก้อนถ้วยจากลูกน้องที่นำมาขายให้ แล้วส่งขายเองที่โรงงานในภาคใต้ พักหลังชาวบ้านในละแวกรู้ว่าเอาไปขายที่ภาคใต้ จึงนำยางก้อนถ้วยมาฝากขายด้วย เพราะเห็นว่าขายได้ราคาดีกว่าทางภาคเหนือ และชาวบ้านไม่อยากถูกพ่อค้าคนกลางกดราคา
คุณนนลษรก็เริ่มรับซื้อและนำไปขายที่ภาคใต้ร่วมกับยางของตนเอง ทำแบบนี้มาเกือบ 2 ปีแล้ว ก็มองว่า “เราขนยางก้อนถ้วยไปขาย เหมือนกับเราขนน้ำไปขายด้วย” จึงปรึกษากับกลุ่มเกษตรกรในละแวก ชวนกันทำเป็น ยางเครป แทน ทางกลุ่มก็เห็นด้วย จึงสั่งเครื่องรีด ยางเครป ขนาดเล็ก ของ บริษัท ยิปต้า อะโกร อินดัสทรี จำกัด มา 1 เครื่อง และเริ่มผลิตเป็น ยางเครป ดิบออกมาจำหน่าย ก็ได้ราคาดีกว่ายางก้อนถ้วย
แต่ DRC ยังไม่เป็นที่น่าพอใจนัก และทำเป็นยางเครปดิบขายแบบนี้มา 1 ปี มีเกษตรกรในตำบลนำยางก้อนถ้วยมาขายให้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงตัดสินใจซื้อเครื่องรีด ยางเครป เพิ่มอีก 1 เครื่อง ต่อมาราคายางผันผวน บวกกับเมื่อนำไปขายให้โรงงานจะต้องจ่ายค่าภาษี 0.75% สำหรับกลุ่มเกษตรกรถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่สูง เมื่อรวมกับค่าขนส่งทำให้มองว่ายังไม่คุ้มทุน
จึงปรึกษากันในกลุ่มเรื่องจดทะเบียนเป็นบริษัทฯ เพื่อที่จะสามารถส่ง ยางเครป ไปขายต่างประเทศได้ จึงได้ยื่นจดทะเบียนสำเร็จ ด้วยทุนจดทะเบียน 3 ล้านบาท และใช้ชื่อว่า บริษัทเชียงราย วี ซี รับเบอร์ จำกัด หลังจากเป็นบริษัทฯ แล้วก็มียางก้อนถ้วยเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ และสังเกตว่ายางเครปดิบหลังรีดเสร็จต้องพักไว้ 15 วัน ยางถึงจะแห้งดี และส่งไปขายได้
แต่เมื่อนำไปขายกลับได้ DRC เพียง 80 % จึงยังไม่คุ้มทุน จากนั้นจึงปรึกษากับกลุ่มเกษตรกรอีกครั้ง เพื่อที่จะอบ ยางเครป ให้ได้ DRC สูงขึ้นกว่าเดิม จึงลองนำไปอบกับตู้อบลำไยของชาวบ้าน หลังอบแล้วได้ DRC เพิ่มขึ้นเป็น 95% เป็นที่น่าพอใจต่อมามีพ่อค้าชาวจีนมาดูสินค้า
ซึ่งเพื่อนของคุณนนลษรที่อยู่ประเทศจีนแนะนำให้มาดู ยางเครปอบแห้ง ที่กลุ่มทำ พ่อค้าชาวจีนพอใจในสินค้า และตกลงทำสัญญาซื้อขายในราคากิโลกรัมละ 44 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ทางบริษัทฯ ตั้งเอง และในขณะนั้นประเทศไทยซื้อขายเพียงราคากิโลกรัมละ 32-33 บาท
ต้นทุนการผลิต และขั้นตอนการผลิต ยางเครปอบแห้ง และ ยางเครปอัดก้อน ส่งตลาดจีน
ธุรกิจยางเครป มีต้นทุนการผลิตยางเครปดิบในแต่ละเดือนก็จะมีค่าไฟเดือนละ 2,600-2,700 บาท ค่าขนส่งตกพ่วงละ 8,000 บาท รวมต้นทุนทุกอย่างแล้วอยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 34 บาท
วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตยางเครป คือ ยางก้อนถ้วยที่ได้จากเกษตรกรที่เป็นสมาชิกของบริษัทฯ 100 ราย โดยแบ่งกลุ่มเกษตรกรออกเป็นกลุ่มๆ ประมาณ 10 กลุ่ม แต่ละกลุ่มจะทยอยนำยางเข้ามาบริษัทฯ ทีละกลุ่ม ตามวัน เวลา ที่วางแผนเอาไว้ หมุนเวียนกันไปเรื่อยๆ
เกษตรกรแต่ละคนจะนำยางก้อนถ้วยมาขายคนละประมาณ 0.5-2 ตัน/วัน วันหนึ่งจะมียางก้อนถ้วยป้อนบริษัทฯ ประมาณ 30-40 ตัน จากนั้นก็จะนำยางก้อนถ้วยเข้าเครื่องรีดเปียก และรีดแห้ง รวมกันทั้งหมด 7 รอบ จะได้ยางเครปที่มีความหนา 0.7 ซม.
หลังจากรีดเสร็จแล้วจะม้วนพับไว้รอเข้าเตาอบ วันหนึ่งจะรีดยางเครปดิบได้ประมาณ 1 รถพ่วง หรือมากกว่า 25-30 ตัน เมื่อสะสมยางเครปดิบได้ครบ 10 ตัน ก็จะนำเข้าตู้อบขนาด 8 ตัน ใช้อุณหภูมิในการอบ 40-45 องศาเซลเซียส ตู้หนึ่งจะใช้เวลาอบ 5 วัน หลังอบแล้วน้ำหนักก็จะหายไปประมาณ 14 %
ตู้อบที่ใช้เป็นตู้อบลำไยของชาวบ้านจำนวน 4 ครัวเรือน บางครัวเรือนมี 4-5 เตา รวมเตาอบทั้งหมด 10 กว่าเตา บางครัวเรือนได้ค่าอบยางเดือนละเป็นแสนบาท ซึ่งเป็นการเพิ่มรายได้ จากปกติที่อบลำไยได้แค่ปีละครั้ง แต่ถ้าอบยางสามารถอบได้ตลอดเกือบทั้งปี
ปัจจุบันได้ซื้อเตาอบรุ่นใหม่มาอีก 1 เครื่อง ขนาดความจุ 7 ตัน ซึ่งสามารถอบยาง 20 ตัน ได้ภายใน 5 ชม. และภายในเวลา 3 วัน ก็จะได้ ยางเครปอบแห้ง 60 ตัน สามารถส่งไปขายจีนได้ 1 ลำเรือ ทำให้ปัจจุบันสามารถส่งยางไปขายจีนทุกๆ 3 วัน
ด้านการตลาดยางเครปดิบ- ยางเครปอบแห้ง -ยางก้อนถ้วย
การส่งออกจะส่งให้พ่อค้าจีนรายเดียว โดยจะใช้รถพ่วงบรรทุกยางไปส่งที่ท่าเรือเชียงแสน ซึ่งห่างจากบริษัทฯ ประมาณ 70 กม. เลือกที่จะส่งสินค้าไปจีนทั้งหมด 100% เพราะได้ราคาดีกว่าขายที่โรงงานในไทย กิโลกรัมละ 7-10 บาท อาทิตย์หนึ่งจะส่งออก 2-3 ครั้ง เดือนหนึ่งจะมียางส่งออกทั้งหมด 1,000 ตัน ตลอดทั้งปีสามารถส่งสินค้าให้จีนได้ 9 เดือน
และจะว่างเว้นในช่วงปิดกรีดหน้ายาง การรับเงินค่ายาง พ่อค้าจีนจะวางเงินมัดจำก่อน 30% ในแต่ละครั้ง เมื่อสินค้าไปถึงท่าเรือที่ประเทศจีน พ่อค้าก็จะโอนเงินส่วนที่เหลืออีก 70% มาให้ เมื่อยางไปถึงประเทศจีนเขาก็จะแปรรูปเป็นยางแท่ง หรือยางรถยนต์ เพื่อส่งขายต่อไปยังประเทศที่ 3 กำไรแต่ละเดือนหลังหักค่าใช้จ่ายแล้วจะอยู่ที่ประมาณ 200,000 บาท/เดือน
การจัดการดูแล สวนยางพารา เพื่อทำ ยางเครป
สวนยางทั้ง 400 ไร่ คุณนนลษรจะแบ่งให้คนงาน 10 กว่าคน เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบทุกอย่าง ตั้งแต่การใส่ปุ๋ย การกรีดยาง การลำเลียงยางมาขาย และการรีด ยางเครป เมื่อขายยางก้อนถ้วยได้เท่าไหร่ก็จะแบ่งกับลูกน้องในสัดส่วน 50:50 หรือมีรายได้จากการทำสวนยางคนละ 30,000-50,000 บาท แต่ถ้าลูกน้องกรีดยางเสร็จแล้วมารีด ยางเครป ต่อก็จะได้ค่ารีดตันละ 500 บาท โดยคุณนนลษรมีหลักการว่า “ลูกน้องอยู่ได้ เราก็อยู่ได้” และปฏิบัติอย่างนี้มาตลอด
ช่วงที่ราคายางตกต่ำ ในปี 2557 ย่างเข้าปี 2558 คุณนนลษรทำทุกวิถีทางเพื่อลดต้นทุนในการทำสวนยาง เช่น เปลี่ยนจากใช้ปุ๋ยเคมีสูตรสำเร็จมาเป็นการซื้อแม่ปุ๋ยมาผสมเอง และใช้ร่วมกับปุ๋ยมูลสัตว์ชนิดต่างๆ ที่หาได้ แต่ส่วนมากขี้ไก่จะได้ผลดีที่สุด เพราะทำให้หน้ายางนิ่ม และน้ำยางไหล ดีกว่าการใส่มูลสัตว์ชนิดอื่นๆ
ซึ่งมูลสัตว์เหล่านี้จะช่วยปรับสภาพดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ ลดปัญหาหน้าดินแข็ง และแห้ง ที่เคยประสบมาจากการใช้ปุ๋ยเคมีติดต่อกันหลายปี ปริมาณแม่ปุ๋ยที่ซื้อมาปีละครั้ง ครั้งละ 25 ตัน และใส่ปุ๋ยปีละ 2 ครั้ง ในช่วงต้นฝน และปลายฝน ทำให้ปัจจุบันหน้าดินร่วนซุย ดินอุดมสมบูรณ์ มีไส้เดือนจำนวนมากช่วยย่อยสลายอินทรียวัตถุในดิน เป็นปุ๋ยให้ต้นยางพาราได้ ทำให้ต้นยางใบเขียว หน้ายางนิ่ม และกรีดง่ายกว่าเดิม น้ำยางไหลดี
จากเมื่อก่อนแปลงหนึ่งขายยางก้อนถ้วยเมื่อแบ่งกับลูกน้องแล้วได้ 50,000-70,000 บาท/เดือน แต่ปัจจุบันหลังแบ่งกับลูกน้องแล้วได้ถึงเดือนละ 200,000 บาท ธุรกิจยางเครป ธุรกิจยางเครป ธุรกิจยางเครป ธุรกิจยางเครป
นอกจากนี้น้ำกรดที่เคยใช้ตามท้องตลาดทั่วไปก็เปลี่ยนมาใช้น้ำกรดชีวภาพที่ทำขึ้นเอง เนื่องจากน้ำกรดตามท้องตลาดที่เคยใช้นั้นทำให้หน้ายางตายนึ่ง จึงเปลี่ยนมาใช้น้ำกรดชีวภาพที่ทำขึ้นเอง โดยหมักจากกล้วยสุก 15 กก.ต่อน้ำ 200 ลิตร หมักไว้ 1 อาทิตย์ ก็นำมาใช้ได้เลย ธุรกิจยางเครป ธุรกิจยางเครป ธุรกิจยางเครป ธุรกิจยางเครป
ชาวบ้านส่วนใหญ่ในพื้นที่จะนิยมใช้ยาฆ่าหญ้าในสวนยาง แต่คุณนนลษรจะไม่ใช้ยาฆ่าหญ้า แต่จะใช้วิธีการตัดและปล่อยให้เน่าเปื่อยกลายเป็นปุ๋ยในสวนแทน การดูแลสวนอย่างอื่นก็จะมีการทาหน้ายางในช่วงหน้าฝนเพื่อป้องกันเชื้อราเข้าทำลายหน้ายาง ส่วนระบบน้ำจะให้น้ำฝนตามธรรมชาติ ต้นยางพาราก็จะอยู่ได้ตามปกติ
ความพร้อม ปัญหา และสิ่งที่อยากให้รัฐเข้ามาดูแล
ความพร้อมในการดำเนินงานตอนนี้ยังไม่พร้อม 100% เพราะบริษัทฯ เริ่มต้นจากการเป็นกลุ่มเกษตรกรเล็กๆ ที่มีเงินทุนน้อยนิด ไม่ได้มีเงินถุง เงินถัง ต้องค่อยๆ เป็น ค่อยๆไป ปัญหาในการดำเนินงานตอนนี้ คือ การขึ้นค่าส่งยางออกนอกราชอาณาจักรไทย หรือค่าเงิน CESS (Centre for Experimental Social Sciences) ของ กยท. ที่เพิ่มขึ้นจากกิโลกรัมละ 1.40 บาท เป็น 2 บาท ส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น และได้กำไรน้อยลง ธุรกิจยางเครป
อยากฝากถึง กยท. ให้ทบทวนเรื่องการขึ้นเงิน CESS ว่าช่วยเหลือเกษตรกรได้จริงหรือไม่ นอกจากนี้อยากให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือเกษตรกรเรื่องการตลาด โดยให้รัฐรับซื้อโดยตรงจากเกษตรกร โดยที่ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง สนับสนุนให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันผลิตยาง หรือแปรรูปผลิตภัณฑ์ยาง แล้วรัฐบาลก็เข้ามาสนับสนุนเงินทุนให้ตรงส่วนนี้ เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ที่เพียงพอเลี้ยงดูครอบครัว ให้เขาสามารถลืมตา อ้าปาก และสามารถเดินหน้าต่อไปได้
ทิศทางในอนาคตของ ธุรกิจยางเครป
แผนในอนาคตของ ธุรกิจยางเครป แผนจะมีโครงการจะผลิต ยางเครปอัดก้อน หรือยางบล็อก ส่งออก ซึ่งเป็นยางที่มีคุณภาพดีกว่า ยางเครปอบแห้ง เนื่องจากกระบวนการผลิตจะต้องทำให้เป็นยางสะอาด 100% ปราศจากสิ่งเจือปนใดๆ ทั้งสิ้น ตอนนี้มัดจำและซื้อเครื่องอัดยางก้อนมาแล้ว ซึ่งต้องลงทุนเพิ่มในส่วนนี้อีก 16 ล้านบาท
ตอนนี้กำลังเตรียมเอกสารไปยื่นกู้ธนาคาร อัตราดอกเบี้ย 0% ตามโครงการของ กยท. ที่สนับสนุนเงินทุนให้กลุ่มเกษตรกรที่แปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา คาดว่ากลางเดือน ก.ย. 2560 นี้ จะสามารถเริ่มผลิต ยางเครปอัดก้อน ได้และคาดว่าจะสามารถเพิ่มมูลค่า ยางเครปอบแห้ง จากกิโลกรัมละ 44 บาท เป็น 54 บาท/ กก.ได้
สรุปได้ว่า บริษัท เชียงราย วี ซี รับเบอร์ จำกัด ผลิตยางก้อนถ้วย ยางเครป ดิบ และ ยางเครปอบแห้ง ส่งประเทศจีนเดือนละ 1,000 ตัน ได้ DRC สูงกว่าส่งขายที่โรงงานในประเทศไทยต่างกันถึง 10 % และได้ราคาสูงกว่าขายส่งโรงงานในประเทศไทย 7-10 บาท/กก. ช่วยให้ชาวสวนยางในจังหวัดเชียงราย มีรายได้จากการทำสวนยางมากขึ้นกว่าเดิม และเพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในครัวเรือน
ขอขอบคุณข้อมูล และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณนนลษร เปียตี๋ ประธาน บริษัท เชียงราย วี ซี รับเบอร์ จำกัด
บ้านเลขที่ 84 หมู่ที่ 3 ตำบลธารทอง อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย 57250 โทรศัพท์ : 096-696-0999 ไลน์ : 096-696-0999