ปลูกกล้วยหอม และ ดาวเรือง สร้างรายได้เสริมให้ชาวสวนยางหลักแสน
เมื่อยางพาราราคาลดลง ชาวสวนยางจำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ ซึ่งมีเกษตรกรหัวก้าวหน้าจำนวนมากที่มีความพร้อมปรับเปลี่ยนพืช หรือไม่ก็หาพื้นที่ปลูกพืชชนิดอื่นเพื่อชดเชยรายได้จากยางพารา เป็นการสะท้อนว่าชาวสวนยางไม่ยอมคุกเข่ารับชะตากรรมของยางพารา หากแต่ชีวิตสามารถกำหนดได้ด้วยตัวเอง
ดังตัวอย่างของ 2 เกษตรกรชาวสวนยาง จ.ระยอง และ จ.ตรัง เลือก ปลูกกล้วยหอม และ ดาวเรือง ทดแทนรายได้จากยางพารา ซึ่งพอจะสร้างรายได้เสริมได้อย่างดี
นายเกรียงศักดิ์ นาโสมภักดิ์ อายุ 38 ปี บ้านมาบตารอด หมู่ที่ 4 ตำบลซากบก อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง หนุ่มวิศวกรโรงงานอุตสาหกรรมในสวนอุตสาหกรรมโรจนะ อำเภอบ้านค่าย หันมาเอาดีทางด้าน การปลูกกล้วยหอม ด้วยการโค่นสวนยางพารากว่า 4 ไร่ ที่มีอยู่ทิ้ง แล้วหันมา ปลูกกล้วยหอม พันธุ์หอมทองเพชรบุรี และหอมปทุม แทน โดยหาความรู้จากทางอินเทอร์เน็ต จนมาถึงปัจจุบันมีออเดอร์เข้าสั่งซื้อจนส่งไม่ทัน แถมหน่อยังขายได้อีก
ออเดอร์การสั่งซื้อกล้วยหอม
เจ้าของสวนกล้วยหอมฯ กล่าวว่า สาเหตุที่หันมาเอาดีทาง ปลูกกล้วยหอม เนื่องจากตนเป็นคนชอบกินกล้วยหอม ไปซื้อของคนอื่นมากินก็ไม่ถูกใจ ประกอบกับเป็นช่วงที่ยางพารามีราคาตกต่ำ ทำไม่คุ้มทุน จึงได้โค่นต้นยางพาราทั้งหมดทิ้ง แล้วหาพันธุ์กล้วยหอม คือ พันธุ์หอมทองเพชรบุรี และหอมทองปทุม มาปลูก
โดยปลูกมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2558 จนถึงปัจจุบัน ผลผลิตกล้วยหอมอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก โดยจะตัดปีละ 2 ครั้ง คือ ช่วงแรกเป็นช่วงเทศกาลตรุษจีน ช่วงที่ 2 จะเป็นช่วงเทศกาลสารทจีน ที่ตลาดต้องการกล้วยหอมเป็นจำนวนมาก
เขาบอกว่าปีนี้วันสารทจีนที่จะถึงนี้มีออเดอร์สั่งซื้อมาแล้ว 30 ตัน ตลาดส่วนใหญ่จะส่งตลาดผลไม้ศูนย์การค้าสตาร์ระยอง พัทยา และมาบตาพุด ราคากิโลกรัมละ 20-25 บาท และเมื่อเทียบกับสวนยางพาราไร่ต่อไร่แล้ว กล้วยหอม 1 ไร่ เฉลี่ยผลผลิตมากกว่ายางพารามาก ทุกวันนี้ทุนที่ลงไปได้คืนหมดแล้ว จากนี้ไปก็จะมีผลกำไร
รายได้จากกล้วยหอม 1 ไร่ ได้เงิน 1 แสนบาท
ปัจจุบันผลผลิตกล้วยหอมของตนยังไม่พอจะส่งขายในจังหวัดระยอง จึงได้มีการรวมกลุ่มและชักชวนญาติพี่น้องมาร่วมกัน การปลูกกล้วยหอม รวมพื้นที่กว่า 30 ไร่ เพื่อส่งให้เพียงพอกับความต้องการของลูกค้าในจังหวัดระยองและใกล้เคียง
วิธีการปลูกกล้วย เป็นพืชที่ต้องการน้ำ ปุ๋ย แสงแดด และลมถ่ายเท จึงจะได้ผลผลิตที่ดี พื้นที่ 1 ไร่ สามารถปลูกกล้วยได้ถึง 400 ต้น ถ้าสวนไหนใบมากไปก็ให้แต่งเอาใบออก ให้แสงแดดสามารถส่องถึงพื้นดิน ต้นกล้วยจะได้ไม่สูงนัก และป้องกันไม่ให้เกิดเชื้อรา หรือโรคศัตรูพืช
ส่วนพันธุ์ที่ใช้มีพันธุ์หอมทองเพชรบุรี หรือหอมปทุม ที่ตลาดต้องการ เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วโค่นต้นทิ้ง และหน่อใหม่ก็จะแตกขึ้นมา ปีๆ หนึ่งสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ 2 ครั้ง เฉลี่ยผลผลิตกล้วยหอม 1 ไร่ จะได้เงิน 1 แสนบาท
ด้านเกษตรกรที่ปลูกดอกดาวเรือง ในจังหวัดตรัง เร่งเก็บดอก ดาวเรือง จำหน่ายให้พ่อค้า แม่ค้า มารับซื้อถึงที่ สามารถสร้างรายได้เป็นอย่างดีให้กับเกษตรกรวันละ 2 หมื่นบาท
นายสมพงษ์ วงศ์วิชากร ปลูกดาวเรือง พื้นที่ประมาณ 10 ไร่ จ.ตรัง
นายสมพงษ์ วงศ์วิชากร เจ้าของแปลง ดาวเรือง ในพื้นที่ตำบลเขากอบ อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง ซึ่งเป็นแปลงปลูกดอกดาวเรืองที่ใหญ่อีกแห่งหนึ่งของจังหวัดตรัง โดยปลูกดอกดาวเรืองในพื้นที่ประมาณ 10 ไร่ ทดแทนยางพารา
ดอกดาวเรือง ที่ปลูกนั้นสามารถให้ผลผลิตเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก โดยมีพ่อค้า แม่ค้า สั่งจอง และมารับซื้อถึงที่ ในแต่ละวันจะมีรายได้ประมาณ 2 หมื่นบาท โดยเริ่มต้นปลูกมาตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
รายได้จากดอก ดาวเรือง วันละ 2 หมื่นบาท
เมื่อปลูกได้ประมาณ 45 วัน ก็สามารถเก็บดอกขายได้ โดยสามารถเก็บดอกดาวเรืองจำหน่ายได้อย่างต่อเนื่อง ตลาดยังมีความต้องการอีกมาก ซึ่งจำหน่ายดอกละ 1.50-2 บาท ประกอบกับช่วงวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา มีพ่อค้า แม่ค้า สั่งดอกดาวเรืองจำนวนมาก เพื่อนำไปทำพวงมาลัย และช่อดอกดาวเรืองสำหรับไหว้พระ
โดยมีความต้องการดอกดาวเรืองจำนวนมาก ยิ่งสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรเป็นอย่างมาก นับว่าเกษตรกรตัดสินใจถูกที่ยอมโค่นยางพารา แล้วหันมาปลูกดอกดาวเรือง ทำให้มีรายได้ดีกว่าการตัดยางพาราอย่างมาก ซึ่งเปรียบเทียบอย่างเห็นได้ชัด
การจัดอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง
ขณะที่หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ก็เดินหน้าส่งเสริมเกษตรกรชาวสวนยาง หาอาชีพเสริมทำต่อเนื่อง อย่าง การยางแห่งประเทศไทย จ.สงขลา ร่วมกับสภาเกษตรกรจังหวัดสงขลา ให้ความรู้ทำเกษตรผสมผสานในสวนยางแก่ชาวสวนยางพารา โดยจัดโครงการอบรมให้ความรู้แนวทางการทำกิจกรรมเสริมของเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อย
เพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ให้เกษตรกร โดยการถ่ายทอดเทคโนโลยีและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการจัดการสวนวนเกษตรยางพารา และการทำเกษตรผสมผสานในสวนยางให้กับเกษตรกร พร้อมทั้งสร้างมูลค่าเพิ่ม และสร้างรายได้ ในพื้นที่ปลูกยางพาราของเกษตรกรให้มากขึ้น
เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติของเกษตรกรชาวสวนยาง จากการทำเกษตรเชิงเดี่ยวมาเป็นสวนวนเกษตรยางพารา การทำเกษตรผสมผสาน โดยมีเกษตรกรชาวสวนยางพาราจากพื้นที่อำเภอจะนะ เทพา นาทวี และอำเภอสะบ้าย้อย ประมาณ 200 คน เข้าร่วมโครงการ
การเปลี่ยนจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยวปรับเปลี่ยนทำเป็นเกษตรแบบผสมผสาน
ทั้งนี้เมื่อราคายางตกต่ำ สิ่งสำคัญที่เกษตรกรจะต้องปรับทัศนคติก็คือ การเปลี่ยนจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยวจะให้ปรับเปลี่ยนทำเป็นเกษตรแบบผสมผสาน โดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงเอามาใช้ ถ้ายึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว จะทำให้เกษตรกรสามารถมีรายได้ แล้วก็มีสิ่งต่างๆ มาประกอบ ทำให้ตัวเองไม่ได้มีรายได้ทางเดียวจากยาง
แต่ถ้าชาวสวนยางทำเกษตรผสมผสานจะทำให้สามารถบริโภคเองได้ เหลือจึงนำไปขาย หรือถ้ามีความสามารถเฉพาะปลูกพืชนิดต่างๆ เช่น สนใจ การปลูกกล้วยหอม ทอง สนใจจะปลูกเมล่อน และเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น
ปลูกกล้วยหอม การปลูกกล้วยหอม กล้วยหอมทอง กล้วยหอม การปลูกกล้วย ปลูกกล้วย ปลูกดาวเรือง ดอกดาเรือง การปลูกดาวเรือง การปลูกดอกดาวเรือง วิธีปลูกดอกดาวเรือง