เกษตรกรยุคใหม่หากใส่ใจในเรื่องนวัตกรรมมักจะประสบความสำเร็จ เช่น นายณรงค์ชัย ชูเพ็ง หรือคุณเปี๊ยก เป็นคนในพื้นที่จังหวัดตรัง เรียนจบเทคนิคเกษตรที่จังหวัดภูเก็ต เริ่มต้นกิจการโดยรับซื้อน้ำยางสดมาผลิตเป็นยางแผ่น หลังจากนั้นก็เริ่มสร้างเตาอบรมควันจำนวน 8 ห้อง ซึ่งใน 1 ห้อง สามารถอบยางแผ่นรมควันได้ถึง 1.7-1.8 ตัน
ในช่วงแรกๆ ราคายางดี ก็ไม่มีปัญหาอะไร ช่วงหลังๆ ราคายางพาราตกต่ำ และมีปัญหาในเรื่องขาดแคลนแรงงาน จึงไม่ได้ทำต่อ แต่ก็ยังรับซื้อน้ำยางสดเหมือนเดิม โดยให้หุ้นส่วนเป็นผู้ดูแล
จุดเริ่มต้นของการ เลี้ยงไส้เดือน ทำ ปุ๋ยมูลไส้เดือน
คุณเปี๊ยกเล่าว่า “เช้าวันหนึ่งก่อนที่ผมจะไปปั่นจักรยาน ได้เปิดดูยูทูป แล้วมาเจอการผลิต ปุ๋ยมูลไส้เดือน จึงเกิดความสงสัยว่าคืออะไร ก็เลยเข้าไปดูข้อมูลในอินเตอร์เน็ต มีทั้งการ เลี้ยงไส้เดือน ในบ่อ เลี้ยงไส้เดือน ในกะละมัง ซึ่งในโรงเรือนมีทุกอย่างแล้ว ไม่ต้องซื้อหรือผลิตขึ้นมาใหม่ จึงตัดสินใจทดลอง เลี้ยงไส้เดือน ดูว่าจะได้ผลไหม?
จากนั้นก็ไปหาขี้วัวมาใส่ในตะกงทำยางพารา ใส่ไว้ 1 ตะกง แล้วไปขุดตัวไส้เดือน ไส้เดือนดิน แถวบริเวณรอบบ้านมาใส่ไว้ ก็สังเกตดูการเปลี่ยนแปลง กลางคืนก็เอาไฟส่องดู ผ่านไป 1 เดือน ก็ยังอยู่เหมือนเดิม ผ่านไปอีก 1 เดือนครึ่ง ก็ยังไม่พบการเปลี่ยนแปลง
ดังนั้นจึงได้ศึกษาวิธีการต่างๆ ประโยชน์ของปุ๋ย และศึกษาจากบุคลต่างๆ ที่เคยผลิต ปุ๋ยมูลไส้เดือน จึงตัดสินใจเตรียมพร้อมที่จะ เลี้ยงไส้เดือน อย่างจริงจัง พอดีเพื่อนที่บรรทุกมูลวัวมาจากราชบุรีเพื่อมาส่งฟาร์มกุ้ง แล้วเจ้าของฟาร์มไม่รับสายเพื่อน จึงโทรมาหา ผมเองก็ตัดสินใจจะทำปุ๋ยอย่างจริงจังแล้ว
จึงรับซื้อมูลวัวจากเพื่อนจำนวน 200 กระสอบ มาตั้งไว้ในโกดัง แล้วก็เริ่มนำมูลวัวมาแช่น้ำ เตรียมบล็อกเสร็จ แล้วได้มาเจอคุณต้าเจ้าของฟาร์มโชคดี ซึ่งได้เปิดให้ความรู้ฟรีในเรื่องการทำ ปุ๋ยมูลไส้เดือน ” จึงตัดสินใจซื้อไส้เดือนจากคุณต้า 20 กิโลกรัม และได้พูดคุย รวมถึงดูวิธีการ เลี้ยงไส้เดือน
หลังจากนั้นก็นำไส้เดือนที่ได้มาใส่ในบ่อ เลี้ยงไส้เดือน ที่เตรียมไว้ทั้งหมด 10 บ่อๆ ละ 2 กิโลกรัม จากนั้นเริ่มเห็นการย่อยของไส้เดือน พอเริ่มเก็บผลผลิตได้ก็เอามาร่อน แรกๆ ก็ใช้มือ หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตปุ๋ยรอบแรกได้แล้วก็เริ่มคิดสูตร เนื่องจากเกิดปัญหาว่า บางบ่อ เลี้ยงไส้เดือน ย่อยไม่หมด บางบ่อ เลี้ยงไส้เดือน เปียกเกินไป ใส่ปุ๋ยหนาบ้าง บางบ้าง ใส่เท่าไหร่ถึงจะพอดีกับพื้นที่ แล้วปล่อยตัวสักเท่าไหร่ ก็เริ่มศึกษาดูว่าสิ่งไหนดีที่สุด
พอได้สูตรลงตัวแล้วจึงขยายจาก 20 กิโลกรัม ก็เพิ่มมากขึ้น จากในตะกงก็เข้าไปอยู่ในห้องรมยาง และเปลี่ยนมาทำเป็นบล็อกพื้นแทน ต่อมาปุ๋ยเริ่มเยอะขึ้น การร่อนมือคงไม่ได้อีกต่อไป คุณเปี๊ยกก็คิดค้นการทำเครื่องร่อนไส้เดือน โดยได้ไอเดียจากที่ปัดน้ำฝนหน้ารถ จากข้อสังเกตเล็กๆ ทำให้คุณเปี๊ยกสามารถผลิตเครื่องร่อนปุ๋ยได้สำเร็จ
การทำ ปุ๋ยมูลไส้เดือน
ส่วนผสมหลักของการ เลี้ยงไส้เดือน
- มูลวัวนม
- ไส้เดือน
- น้ำ (น้ำหมักมูลไส้เดือน)
- จุลินทรีย์
ขั้นตอนการเตรียมมูลวัว
เริ่มแรกนำมูลวัวมาแช่น้ำในถังขนาด 1,000-1,500 ลิตร เติมน้ำเกินครึ่งถัง เติมจุลินทรีย์ประมาณ 20 ลิตร มูลวัว 25 กระสอบ กระสอบละ 13 กิโลกรัม แช่ไว้ประมาณ 1 สัปดาห์ มูลวัวเป็นมูลวัวนมเท่านั้น ในน้ำที่แช่ก็ผสมกับน้ำหมักมูลไส้เดือนด้วย เพื่อช่วยดับกลิ่นมูลวัว
ขั้นตอนการเตรียมเพลทดิ้ง
หลังจากแช่มูลวัว 1 อาทิตย์ เราก็เอาขึ้นมาตั้งให้สะเด็ดน้ำสัก 1 วัน จากนั้นเราก็เอาเข้าคอก 1 บล็อก พื้นที่ประมาณ 1-2 ตารางเมตร ใช้มูลวัวประมาณ 4-5 กระสอบ หลังจากนั้นเอาน้ำหมักมูลไส้เดือนรดมูลวัวให้ชุ่ม โดยใช้มือแหย่ดูว่ามูลวัวเย็นหรือยัง แล้ววันต่อมาเราก็ร่อนไส้เดือนใส่ มูลวัว 4 กระสอบ ต่อไส้เดือน 5 กิโลกรัม หรือถ้ามูลวัว 5 กระสอบ ก็ใช้ไส้เดือน 6 กิโลกรัม
มูลวัว 4 กระสอบ เราจะได้ ปุ๋ยมูลไส้เดือน ประมาณ 70-80 กิโลกรัม ถ้ามูลวัว 5 กระสอบ จะได้ ปุ๋ยมูลไส้เดือน อยู่ที่ 90-100 กิโลกรัม
ขั้นตอนการดูแลหลังจากปล่อยตัวไส้เดือน
อาทิตย์แรกๆ ต้องมีการรดน้ำ ถ้าอากาศร้อนๆ ก็เกือบทุกวัน แต่ถ้ามีฝนบ้างก็วันเว้นวัน รดน้ำปกติ ถ้าจะให้ดีก็ใช้หัวปล่อยน้ำแบบสเปรย์ เนื่องจากว่าถ้าเราให้แบบฉีดธรรมดาจะมีข้อเสีย คือ จะทำให้เปียกเฉพาะบางจุด ฉีดพอให้ชื้น ไม่ต้องเปียกจนชุ่ม ถ้าหากเปียกชุ่มก็จะมีปัญหาตามหลังมาว่าปุ๋ยจะช้า เรื่องความชื้นเราต้องชำนาญนิดหนึ่ง เปิดจนล้นก็ไม่ได้อันนี้สำคัญ ถ้าเขาเปียกเมื่อไหร่ เวลาเขาย่อยออกมาทับถมกันแน่นมาก
ใช้เวลาในการย่อยประมาณ 25 วัน ถึง 1 เดือน หรือไม่เกิน 40 วัน หลังจากนั้นก็เก็บออกมาผึ่งแดด แต่ผึ่งไม่ใช่ผึ่งแดด ผึ่งในร่ม ห้ามไม่ให้โดนแสงแดด เพื่อปรับความชื้น ให้ความชื้นลดเหลือสัก 20-30% ถ้าชื้นมากไปก็ไม่สามารถร่อนได้
นอกจากนี้คุณเปี๊ยกยังแนะนำถึงการดูแลในแต่ละบ่ออีกว่า “แต่ละบล็อกเราต้องมีวัน เวลา เขียนเอาไว้ว่า บ่อที่ 1 เราลงวันที่เท่าไหร่ บ่อที่ 2 ลงวันที่เท่าไหร่ ทุกบ่อจะต้องมีวัน เวลา กำหนด เพื่อสะดวกต่อการคาดการณ์ในการหมักมูลวัวในครั้งต่อไป” ส่วนน้ำหมักที่ใช้หมักมูลวัวก็สามารถนำกลับมาใช้ได้ถึง 2 ครั้ง หลังจากนั้นคุณเปี๊ยกก็สูบไปใช้ที่สวน เป็นน้ำปุ๋ยได้อย่างดี ถือว่าใช้ประโยชน์ทุกส่วนได้คุ้มจริงๆ
ประโยชน์ของปุ๋ยมูลไส้เดือน
- ส่งเสริมการเกิดเม็ดดิน
- เพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุแก่ดิน
- เพิ่มช่องว่างในดิน ให้การระบายน้ำและอากาศดียิ่งขึ้น
- ส่งเสริมความพรุนของผิวหน้าดิน ลดการจับตัวเป็นแผ่นแข็งของหน้าดิน
- ช่วยให้ระบบรากพืชสามารถแพร่กระจายตัวในดินได้กว้าง
- เพิ่มขีดความสามารถการดูดซับน้ำในดิน ทำให้ดินชุ่มขึ้น
- เพิ่มธาตุอาหารพืชให้แก่ดินโดยตรง และเป็นแหล่งอาหารของสัตว์และจุลินทรีย์ดิน
- เพิ่มศักยภาพการแลกเปลี่ยนประจุบวกของดิน
- ช่วยลดความเป็นพิษของธาตุอาหารพืชบางชนิดที่มีปริมาณมากเกินไป เช่น อลูมินัม และแมงกานีส
- ช่วยเพิ่มความต้านทานในการเปลี่ยนแปลงระดับความเป็นกรด-เบส (Buffer capacity) ทำให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นไม่เร็วเกินไป จนเป็นอันตรายต่อพืช
การใส่มูลไส้เดือนในบ่อกุ้ง
นอกเหนือจากประโยชน์เหล่านี้แล้ว คุณเปี๊ยกเล่าให้ฟังว่าตนนำกากของไส้เดือนที่ร่อนออกแล้วเอาไปใส่ทิ้งไว้บริเวณต้นยางตายนึ่ง ก็ไม่ได้ต้องการผลอะไรมากมาย ใส่ทิ้งๆ เอาไว้ อยากรู้ว่าปุ๋ยจะดีไหม ก็ใส่ไว้ประมาณสัก 3 กิโลกรัม เพราะเป็นกากปุ๋ยไม่ได้ไปใช้อะไร
พอระยะเวลาผ่านไป 3 เดือนกว่าๆ เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงของใบต้นยางเริ่มมีใบเขียวขึ้น เดิมจากใบที่โล่งๆ ระบบรากก็เริ่มเปลี่ยนเส้นใหญ่ขึ้น เริ่มมีน้ำยางออกมา ต้นที่ไม่มีน้ำยางก็น้ำยางเพิ่มขึ้น ณ เวลานี้ก็ยังกรีดอยู่เรื่อยๆ แต่ยังไม่กล้าการันตี ขอเก็บข้อมูลตรงนี้ก่อน ใช้เอง ผลิตเอง ดูว่ามีผลแค่ไหน ถึงจะไปบอกต่อ
นอกจากนี้ชาวเกษตรกรฟาร์มกุ้งในละแวกนั้นก็มาซื้อ ปุ๋ยมูลไส้เดือน ไปปูบ่อกุ้งแทนปูนขาว เพื่อปรับค่า pH น้ำ และก็ไปสร้างแพลงค์ตอนน้ำ ไรแดง สัตว์หน้าดิน เพื่อเป็นอาหารกุ้ง นับได้ว่าประโยชน์ล้นเหลือจริงๆ สำหรับ ปุ๋ยมูลไส้เดือน ไม่มีสารเคมี ไม่สร้างมลพิษ ทำง่าย สร้างรายได้กระสอบละ 350 บาท บรรจุ 20 กิโลกรัม/กระสอบ ตกกิโลกรัมละ17.50 บาท ราคาถูก แถมประโยชน์คับกระสอบ “คุณเปี๊ยกสามารถผลิตปุ๋ยมูลไส้เดือนวันละ 200 กก.”
ประโยชน์ของน้ำหมักมูลไส้เดือน
คุณเปี๊ยก หรือณรงค์ชัย ชูเพ็ง ไม่เพียงแต่ทำ ปุ๋ยมูลไส้เดือน เท่านั้น เขายังทำน้ำหมักมูลไส้เดือนมาใช้ และยังแบ่งให้เกษตรกรทดลองใช้กันฟรีๆ อีกด้วย มาดูกันว่าน้ำหมักมูลไส้เดือนที่คุณเปี๊ยกทำเป็นอย่างไร และมีประโยชน์กับเกษตรกรมากแค่ไหน
การทำน้ำหมักมูลไส้เดือน
ส่วนผสม และอัตราส่วนผสม
- กากน้ำตาล 10 กิโลกรัม
- น้ำ 150-180 ลิตร
- มูลไส้เดือน 10-15 กิโลกรัม
ขั้นตอนการทำน้ำหมักมูลไส้เดือน
- ใส่น้ำกับกากน้ำตาลไปตีออกซิเจนประมาณอาทิตย์กว่าๆ เกือบสองอาทิตย์ หรือ 10-15 วัน โดยสังเกตจากเปลือกไขมันจะติดอยู่ขอบๆ ถังเป็นขาวๆ แสดงกว่าเราสกัดเอาไขมัน หรือของเสีย ที่อยู่ในกากน้ำตาลออกมาได้แล้ว จากนั้นก็วัดค่า pH ค่า pH ที่ได้จะเป็นกรด
- หลังจากนั้นใส่มูลไส้เดือนลงไป นำมูลไส้เดือนใส่ถุงแล้วลงแช่
- แรกๆ จะมีการตีออกซิเจนอย่างแรง เพราะถ้าไม่ตีออกซิเจนอย่างแรงน้ำจะเน่าเสีย และเพื่อเป็นการเพิ่มออกซิเจนให้จุลินทรีย์ ถ้าหากว่าใช้ได้แล้วเราก็ไม่ต้องให้ออกซิเจน หรือว่าให้เบาๆ ก็ได้
- หลังจากนั้นประมาณอีกสักเดือนกว่าๆ เราต้องเช็คค่า pH เรื่อยๆ แล้วก็สีของน้ำหมักจากเป็นสีขาวขุ่นๆ จะเป็นสีดำ หรือสีน้ำตาล แล้วก็เช็คค่า pH ต้องให้ได้ 7 กว่า ถึง 8 กว่า และก็เช็คค่าอัลคาไลน์ให้ได้ 1000 กว่า เราก็สามารถเก็บใส่ถังได้เลย
คุณเปี๊ยกยังกล่าวอีกว่าน้ำหมักตัวนี้จะไม่มีกลิ่นเหม็น และมีเทคนิคพิเศษ คือ จะมีการล้างตัวไส้เดือนเพื่อเอาเมือกจากตัวไส้เดือนมาเป็นหัวเชื้อสำคัญในการทำน้ำหมัก น้ำที่ล้างไส้เดือนจะมีจุลินทรีย์ และตัวนี้ก็จะทำให้ค่า pH ของน้ำเปลี่ยนไปด้วย การผลิตต่อครั้งได้ปริมาณน้ำหมัก 150 ลิตร/ครั้ง
ประโยชน์ของน้ำหมักมูลไส้เดือน
- ปรับค่า pH ดิน
- ปรับค่า pH น้ำให้เหมาะสม
- เป็นตัวฮอร์โมนเร่งดอกให้กับพืช
รายได้จากน้ำหมักมูลไส้เดือน
นอกจากประโยชน์ข้างต้นแล้ว น้ำหมักยังสร้างรายได้ถังละ 600 บาท ความจุ 20 ลิตร/ถัง ในบางครั้งก็มีเกษตรกรมาขอซื้อ แต่คุณเปี๊ยกก็จะให้มากกว่า เพราะต้นทุนไม่ได้สูงมากนัก แบ่งให้เกษตรกรไปทดลองใช้ และตอนนี้มีการนำไปใช้ในฟาร์มไก่ เอาไปใส่ไว้ในถังน้ำให้ไก่กิน เพื่อไปลดกรดอาหารในลำไส้ เนื่องจากน้ำเป็นด่าง เวลาไก่ขับถ่ายออกมาก็จะไม่ค่อยมีกลิ่นเหม็นอีกด้วย ส่วนเกษตรกรฟาร์มกุ้งก็นำน้ำหมักไปผสมกับอาหารให้กุ้งกิน
ทั้งนี้ ปุ๋ยมูลไส้เดือน เป็นปุ๋ยในโครงการ 9101 ซึ่งคุณเปี๊ยกร่วมกับสมาชิกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อเสริมขยายตามแนวคิดของในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงตั้งใจสร้างกลุ่มนี้ขึ้นมาเพื่อผลิตปุ๋ยมาใช้ ช่วยลดต้นทุนในการผลิต และเพิ่มรายได้ให้แก่สมาชิก
นอกจากนี้สมาชิกในกลุ่มยังซื้อปุ๋ยได้ในราคาถูกกว่าท้องตลาด อย่าง ปุ๋ยมูลไส้เดือน ตกอยู่กิโลกรัมละ 17.50 บาท แต่ราคาสมาชิกเพียงกิโลกรัมละ 10 บาท “ผมใช้งบตัวเองเพิ่มเข้ามา เพื่อให้โครงการนี้ได้เกิด เพื่อเดินตามรอยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9” คุณเปี๊ยกกล่าวด้วยความภาคภูมิใจ
แต่ภารกิจของเราไม่ได้จบลงเท่านี้ เขายังมีเนื้อที่อีก 1,000 ไร่ สำหรับปลูกยางและปาล์ม
การดูแลจัดการ สวนยาง
คุณเปี๊ยกเล่าว่า ตนปลูกยาง 300 กว่าไร่ อายุของยาง 7 ปี, 10 ปี, 11 ปี และ 20 ปี ซึ่งตอนนี้เปิดกรีดได้หมดแล้ว การดูแลจัดการ สวนยาง ไม่ยากอย่างที่คิด ช่วงที่ต้นยางต้องการการดูแลมากที่สุดจะเป็นช่วงต้นฝน และปลายฝน การใส่ปุ๋ยจะใส่อินทรีย์สลับกับเคมี เช่น ถ้าต้นฝนใส่ปุ๋ยอินทรีย์ประมาณ 1 กิโล/ต้น/ครั้ง พอปลายฝนก็จะใส่เคมีสูตร 15-7-18 หรือ 20-8-20 ประมาณครึ่งกิโล/ต้น/ครั้ง
นอกจากนี้แล้วปัญหาในเรื่องของโรคต้นยาง ส่วนมากจะพบปัญหาโรคยางตายนึ่ง และรากขาว การแก้ปัญหาดีที่สุดก็คือ การถอนทิ้ง ถ้าไม่ถอนทิ้งจะทำให้โรคระบาด ทำให้เกิดความเสียหายกับ สวนยาง เป็นอย่างมาก ส่วนโรคตายนึ่งทางคุณเปี๊ยกกำลังทดลองอยู่ว่าถ้าใส่ ปุ๋ยมูลไส้เดือน แล้วจะทำให้กลับมาให้น้ำยางได้อีกหรือเปล่า เพราะตอนนี้ทดลองไปแล้ว 1 ต้น มันสามารถกลับมาให้น้ำยางได้เหมือนเดิม
การดูแลจัดการสวนปาล์ม
นอกจากปลูกยางแล้วคุณเปี๊ยกยังปลูกปาล์มอีก 600 กว่าไร่ ซึ่งปาล์มที่ปลูกไว้ก็มีหลากหลายพันธุ์ เช่น สุราษฎร์1 เทเนอร่า และเทเนอร่า ที่เป็นสายพันธุ์ของยูนิวานิช สาเหตุที่เลือกสายพันธุ์เทเนอร่าของยูนิวานิช เพราะเชื่อมั่นในบริษัทใหญ่ๆ
ส่วนการดูแลจัดการสวนปาล์มไม่ยุ่งยาก ใส่ปุ๋ยจะใส่ปีละ 2 ครั้ง เหมือนกับยาง คือ ใส่ช่วงต้นฝน และปลายฝน ซึ่งสูตรปุ๋ยก็จะใช้ 15-15-15, 21-0-0, 13-13-21, 0-0-60 และ 14-7-35 ซึ่งก็แล้วแต่ช่วง โดยใส่ประมาณ 1 กิโล/ต้น/ครั้ง ผลผลิตที่ได้โดยเฉลี่ยแล้วประมาณ 4 ตัน/ไร่/ปี
แหล่งที่นำไปขายก็จะเป็นลานปาล์มที่อยู่บริเวณใกล้ๆ และกระจายไปให้ทั่วๆ เหตุผล คือ เรื่องของราคา ที่แต่ละลานให้ต้องเป็นธรรม และที่ไม่ยึดติดกับลานใดลานหนึ่ง และอยากกระจายให้ทั่วถึงทุกลาน เนื่องจากรู้จักกันทั้งนั้น ทางทีมงานถามต่อไปว่าตอนนี้ราคาปาล์มก็ตกต่ำ แล้วอยู่ได้มั๊ย เนื่องจากเป็นสวนที่ใหญ่พอสมควร เขาตอบว่า อยู่ได้ เพราะปุ๋ยเขาก็เป็นคนขายเอง ปุ๋ยมูลไส้เดือน เขาก็เป็นคนทำเอง ดังนั้นต้นทุนจึงไม่สูงมาก
จุดเริ่มต้นของร้านจำหน่ายปุ๋ย
เมื่อประมาณ 6-7 ปีที่แล้ว คุณเปี๊ยกเคยใช้ปุ๋ยของท้อชมาก่อน ต่อมาก็เป็นตัวแทนจำหน่ายของท้อช เพราะนำไปใช้ใน สวนยาง และปาล์ม จากนั้นก็เริ่มนำปุ๋ยมงกุฎ ศักดิ์สยาม TIP และไวกิ้ง มาขาย ซึ่งในแต่ละเดือนก็ทำกำไรได้ไม่น้อยเลย
ทำไมเกษตรกรถึงมาซื้อแต่ร้านนี้ คำตอบ คือ ก่อนที่จะขายปุ๋ยทุกครั้ง คุณเปี๊ยกจะถามเกษตรกรก่อนว่าครั้งล่าสุดใส่ไปเมื่อวันไหน ดินเป็นอย่างไรบ้าง ถ้าดูแล้วว่ายังไม่สมควรใส่ปุ๋ย จะบอกว่ายังไม่ต้องใส่ อีก 1-2 เดือน ค่อยมาซื้อ เพราะยังไม่ถึงเวลาที่จะใส่ปุ๋ย นี่คือจุดเด่นที่ให้คำปรึกษา และคอยดูแลเกษตรกรเป็นอย่างดี เกษตรกรทุกๆ คนจึงเชื่อใจ และไว้ใจ
ขอขอบคุณ นายณรงค์ชัย ชูเพ็ง หรือคุณเปี๊ยก หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมการ เลี้ยงไส้เดือน สามารถติดต่อ 58 หมู่ 9 ต.หาดสำราญ อ.หาดสำราญ จ.ตรัง 91120 โทร.083-009-9386