การผลิต หมอนยางพารา
ไฟท์บังคับทางธุรกิจของสหกรณ์ฯ สมบูรณ์พัฒนา คือ ขาดทุนกับยางรมควัน ธุรกิจหลักของสหกรณ์ก่อนที่พวกเขาจะใช้เงินทุนที่มีอยู่ไม่ถึง 1 ล้านบาท ผลักดันตัวเองสู่ธุรกิจแปรรูปยางเป็น “ หมอนยางพารา ” เนื่องจากลงทุนไม่สูงนัก ขณะเดียวกันยังทำได้ทั้งปี ฝนตกก็ทำได้ ปิดหน้ายางก็ยังทำได้ แต่ปัจจัยสำคัญก็คือ หมอนยางพารา เป็นการแปรรูปเพิ่มมูลค่า และตลาดยังเปิดสำหรับเกษตรกร
“ทุกวันนี้ธุรกิจยางแผ่นรมควันเลี้ยงตัวเองไม่รอด ต้องอาศัยทำยางเครป และ หมอนยางพารา คอยเลี้ยง ถ้าวันนี้สหกรณ์เรายังทำแต่ยางรมควัน แล้วราคายางเป็นอยู่อย่างนี้ เราไปไม่รอดแน่นอน” ประโยคบอกเล่าของผู้จัดการสหกรณ์กองทุนสวนยางสมบูรณ์พัฒนาจำกัด สะท้อนปัญหา อุปสรรค โอกาส และแนวทางแก้ไข อยู่ในหลายมิติ
– มิติที่หนึ่ง วันนี้ธุรกิจแปรรูปน้ำยางสดเป็นยางแผ่นรมควันของสหกรณ์แห่งนี้กำลังประสบปัญหา เพราะราคายางขึ้น-ลงทุกวัน ยากต่อการบริหารวัตถุดิบ และขายสู่ตลาด ขณะที่ต้นทุนการผลิตไม่ลดลง และเชื่อว่าสหกรณ์ที่มีธุรกิจโรงรมประสบปัญหาไม่ต่างกัน
– มิติที่สอง คือ แม้ธุรกิจหลักอย่างยางรมควันจะขาดทุน แต่สหกรณ์ยังมีอีกธุรกิจหนึ่งที่ยังพอยืนอยู่ได้ และมีกำไรมากพอจะพยุงธุรกิจหลักให้ยืนอยู่ได้
– มิติที่สาม เป็นมิติที่มีความสำคัญ นั่นก็คือ ผลิตหมอนจากยางพารา เป็นหนึ่งในธุรกิจที่กำลังยกระดับศักยภาพของสหกรณ์แห่งนี้ จากผู้ผลิตยางต้นน้ำสู่ธุรกิจยางปลายน้ำ
ที่สำคัญการแปรรูปยางเป็นผลิตภัณฑ์ หมอนยางพารา สามารถเพิ่มมูลค่ายางได้หลายเท่าตัว และได้กำไรต่อหน่วยสูงที่สุด
ด้านการตลาดและช่องทางจำหน่าย
ประธานสหกรณ์ฯ สมบูรณ์พัฒนา บอกว่าปัจจุบันคุณภาพหมอนยางพาราของสหกรณ์ได้รับการพัฒนาคุณภาพ จนสามารถส่งออกต่างประเทศได้อย่างต่อเนื่อง มีประเทศจีนและตุรกีเป็นตลาดหลัก โดยทำร่วมกับผู้ผลิตหมอนอีก 4 ราย ใน จ.พัทลุง ร้อยเอ็ด และปทุมธานี
“มูลค่า หมอนยางพารา ที่เราผลิตใบละ 500 บาท แต่หมอนยางพาราที่ขายในห้างราคา 1,200 บาท กำไรอาจจะไม่มาก ใบละ 100-200 บาท เราก็พอใจแล้ว เป้าหมายเราตอนนี้ คือ ผลิตและขายให้ข้ามกำแพงทุนให้ได้เร็วที่สุด เพราะเงินทุนเป็นเงินของสมาชิก ขณะที่สหกรณ์อื่นๆ ได้เงินกู้ ดอกเบี้ยต่ำบ้าง ได้ทุนฟรีบ้าง นี่คือข้อจำกัดของเรา
“แต่ปีหน้าเรากำลังจะต่อยอดผลิตภัณฑ์ไปเรื่อยๆ ถ้าราคายางยังเป็นอย่างนี้ เราต้องเดินหน้าทำผลิตภัณฑ์ ถ้าเราไม่สู้ก็ไปไม่รอด เมื่อหยุดหรืออยู่กับที่ มีผลเท่ากัน ทางเดียว คือ เราต้องกัดฟันเดินไปข้างหน้า”
ที่มาของแหล่งเงินทุนและองค์ความรู้
เส้นทางการลงทุนในธุรกิจแปรรูปยางเป็นผลิตภัณฑ์ของสหกรณ์กองทุนสวนยางสมบูรณ์พัฒนา จ.ชุมพร จึงน่าศึกษาและเรียนรู้เป็นอย่างยิ่ง ย้อนไปเมื่อ 4 ปีก่อน นิตยสารยางเศรษฐกิจ เคยเข้าไปเยี่ยมชมสหกรณ์แห่งนี้ โดยเจาะลึกธุรกิจการผลิตยางแผ่นรมควัน ซึ่งสามารถผลิตได้อย่างมีคุณภาพ และทำกำไรได้เป็นกอบเป็นกำ
ซึ่งตรงกับช่วงขาขึ้นของราคายางพารา และเป็นธุรกิจระดับ “ดาวค้างฟ้า” แต่นาทีนี้รูปแบบธุรกิจเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เมื่อดาวค้างฟ้า กำลังจะหมดแสง และพร้อมที่จะพัฒนาเป็น “ดาวตก” แต่ด้วยความพยายามของสหกรณ์ที่ต้องการพยุงธุรกิจที่มีสมาชิกฝากอนาคตไว้กว่า 91 ราย ให้อยู่รอด จึงต้องหาธุรกิจเสริม เพิ่มรายได้
ยางเครป เป็นตัวเลือกแรกๆ เพราะระยะหลังสมาชิกบางส่วนหันมาทำยางก้อนถ้วย หรือภาคใต้เรียกขี้ยาง มากขึ้น โดยเฉพาะในหน้าฝน และส่วนหนึ่งเป็นไปตามราคายางที่ค่อยๆ ลดลง การผลิตยางที่มีต้นทุนต่ำอย่างขี้ยาง จึงได้รับความนิยม สมาชิกส่วนหนึ่งเรียกร้องให้สหกรณ์รับซื้อขี้ยางแก้ปัญหาถูกกดราคาจากพ่อค้า และพัฒนาสู่การลงทุนผลิตยางเครปส่งขายโรงงานยางแท่งโดยตรง ช่วยให้เพิ่มมูลค่ายางได้ระดับหนึ่ง
จนเมื่อปีที่แล้วยางแผ่นรมควันฟื้นชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากรัฐบาลมีโครงการมูลภัณฑ์กันชน รับซื้อยางราคาสูงกว่าตลาด สหกรณ์จึงมีกำไรจากการทำยางรมควัน “ตอนนั้นสมาชิกมีความสุขมาก ขายน้ำยางได้ราคาสูง มีเงินปันผลปลายปีก็สูง ปันผลคืนสมาชิก กก.ละ 2 บาท” คุณชมพูนุช รักษาวัย ประธานสหกรณ์ให้ข้อมูล
แต่เมื่อวิเคราะห์ดูทิศทางราคายางแผ่นรมควันในปีถัดมาแล้ว เธอบอกว่ามองไม่เห็นอนาคต เพราะหลังจากโครงการมูลภัณฑ์กันชน “โลกแห่งความจริง” ของราคายางก็ปรากฏ หากไม่ทำอะไรสักอย่างสมาชิกจะได้รับผลกระทบหนัก ที่ประชุมสหกรณ์จึงมีมติจ่ายเงินปันผลสมาชิกแค่ 1 บาท/กก. เท่านั้น ส่วนเงินที่เหลือประมาณ 1 ล้านกว่าบาท นำไปลงทุนธุรกิจอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อสร้างผลกำไรให้งอกเงย หลังจากหมดความหวังกับยางแผ่นรมควัน
จนเมื่อ 4 เดือนที่แล้ว สหกรณ์เห็นชอบให้นำยางพาราไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์แทนการแปรรูปเป็นวัตถุดิบแบบเดิมๆ ซึ่งไม่สามารถแก้โจทย์ราคายางได้ “เรามีเงินทุนของสหกรณ์อยู่ไม่ถึง 1 ล้านบาท ด้วยเป็นไฟท์บังคับ เรื่องเงินทุน ตัวเดียวที่เหมาะกับเรา คือ หมอนยางพารา เนื่องจากลงทุนไม่สูงนัก ขณะเดียวกันยังทำได้ทั้งปี ฝนตกก็ทำได้ ปิดหน้ายางก็ยังทำได้ ต่างจากยางรมควัน และยางเครป ฝนตก ปิดหน้ายาง ทำไม่ได้ แล้วราคายางอย่างนี้เสี่ยงขาดทุนสูง แต่หมอนยางพาราเป็นการแปรรูปเพิ่มมูลค่า ตลาดยังเปิดสำหรับเกษตรกร” นี่คือเหตุผลง่ายๆ
ขั้นตอนการผลิตหมอนยางพารา
ประธานสหกรณ์บอกว่าช่วงเริ่มต้นต้องศึกษาวิธีแปรรูปหมอนยางพารา โดยเดินทางไปดูตัวอย่างการทำหมอนยางพาราของโรงงานเอกชน จ.สมุทรสาคร แต่ไม่ให้ความรู้ หรือแนะนำ อะไรมากนัก “เราเข้าใจ กว่าจะผลิตได้ กว่าจะทำตลาดได้ เขาเหนื่อยยาก เขาจึงไม่อยากเปิด เพราะจะเป็นการเพิ่มคู่แข่ง” ก่อนจะเดินทางไปดูตัวอย่างใน จ.พัทลุง และปรึกษาขอความรู้จาก สถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
โดยมี รศ.อาซีซัน แกสมาน แนะนำเทคนิคการผลิตเป็นอย่างดี แต่ด้วยความที่เป็นนักแปรรูปยาง “มือใหม่” ความชำนาญไม่มีเลย ทำให้เกิดความสูญเสียมาก “ทำครั้งแรกรูปแบบก็ไม่ได้ อุณหภูมิก็ไม่ได้ ยางเสียกองเป็นภูเขา เราก็โทรสอบถาม อ.อาซีซัน ตลอด กว่าจะได้เทคนิคลงตัว”
หมอนยางพาราชุดแรกหลังผ่านการลองผิดลองถูก นำไปให้สมาชิกทดลองใช้ หน่วยงานราชการต่างๆ ในพื้นที่เมื่อรู้ว่ามีการทำหมอนยางพาราก็มาดู แล้วซื้อไปใช้ ซึ่งราคาต่ำกว่าหมอนยางพารายี่ห้อดังๆ แต่คุณภาพเทียบเท่ากัน หลังจากนั้นหน่วยงานราชการ อย่าง ธ.ก.ส. และ สกย. เวลามีงานต่างๆ มักจะนำหมอนยางพาราของสหกรณ์ฯ สมบูรณ์พัฒนาไปจัดแสดง และวางจำหน่าย จึงเป็นการโฆษณาหมอนยางพาราที่ผลิตโดยเกษตรกรเป็นอย่างดี “หลังจากเปิดตลาด เรารับโทรศัพท์แทบไม่ไหวเลย” ประธานสหกรณ์เปิดเผยผลตอบรับ
ธุรกิจแปรรูปยางเป็นผลิตภัณฑ์ของสหกรณ์ฯ สมบูรณ์พัฒนา จึงไปได้สวยช่วงเริ่มต้น หลังจากนั้นการผลิตหมอนยางพาราได้รับการพัฒนาคุณภาพอย่างค่อยเป็นค่อยไป มีรูปแบบหมอนหลากหลายขึ้น เช่น หมอน หมอนข้าง เบาะรองนั่ง หมอนอิง แผ่นรองนั่ง เป็นต้น ขณะที่ลวดลาย และสีสัน เริ่มมีความสำคัญมากขึ้น เพราะแม้จะเป็นหมอนยางพาราที่ดีต่อสุขภาพการนอน แต่เรื่องลวดลายและสีสันของปลอกหมอนจำเป็นต้องดึงดูดผู้ซื้อด้วยเช่นกัน
“ลวดลายถูกตา ต้องใจ สีสันดึงดูด เราก็ดูว่าลายไหนที่ได้รับความนิยม ก็ทำลายนั้นเยอะ พร้อมกับมีลวดลายใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ตรงกับความต้องการ และมีทางเลือกให้ผู้ซื้อ อีกอย่างหมอนยางพาราเป็นของฝากที่ดี เพราะเป็นหมอนเพื่อสุขภาพ ผู้ซื้อจึงมักจะซื้อไปเป็นของฝาก ซื้อแทนความห่วงใยให้ผู้ใหญ่ ลวดลายบางครั้งจึงทำให้เข้ากับเทศกาล เช่น วันแม่ วันพ่อ”
ขณะเดียวกันเมื่อสหกรณ์มีธุรกิจหมอนยางพาราขึ้นมา จึงเกิดการจ้างงานขึ้น ได้แก่ คนงานผลิต คนเย็บปลอกหมอน และตัดเศษหมอน เป็นต้น โดยคนงานเหล่านี้เป็นคนในครอบครัวของสมาชิกสหกรณ์ โดยเฉพาะคนงานเย็บปลอกหมอนจะเป็นภรรยาของสมาชิก มีงานเป็นแม่บ้าน หรือว่างจากการกรีดยาง สหกรณ์จะมีจักรเย็บผ้าอุตสาหกรรมให้คนเหล่านี้เย็บปลอกหมอน ตัดเศษยางเป็นเบาะรองนอน เป็นต้น จึงเป็นการจ้างงานที่ดีในพื้นที่
วัตถุดิบในการผลิตหมอนยางพารา
ในส่วนของภาคการผลิตหมอนยางพารา ประธานสหกรณ์เปิดเผยว่า สหกรณ์ลงทุนเครื่องจักรต่างๆ ไป 1 ล้านกว่าบาท ส่วนใหญ่เป็นเครื่องจักร สต็อกสารเคมี และน้ำยางข้น เป็นต้น มีกำลังการผลิตวันละ 50 ใบ “เราทำไม่มาก ทำให้พอกับออเดอร์ เพราะเราไม่อยากให้ของค้างสต็อกเป็นเวลานาน ต้นทุนจะจมอยู่ตรงนั้น ซึ่งจะส่งผลกับเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจ”
ส่วนวัตถุดิบหลักในการผลิตหมอนยางพาราคือ น้ำยางข้น สหกรณ์จะไม่นำน้ำยางสดจากสมาชิกมาผลิต แต่จะซื้อน้ำยางข้นจากโรงงานในพื้นที่ “ถ้านำน้ำยางสดจากสมาชิกมาทำ เราก็ต้องตั้งโรงงานน้ำยางข้น ก่อนนำมาทำหมอนได้ เราทำไม่เยอะ ถ้าทำอย่างนั้นไม่คุ้มค่า เราก็ใช้วิธีตัดตอนการลงทุน ซื้อน้ำยางข้นจากโรงงานมาผลิต”
ขณะที่ขั้นตอนการผลิตและสูตรผสมการผลิตหมอนยางพารา สหกรณ์ของสงวนไว้เป็นความลับ แต่อย่างไรก็ตามหากกลุ่มเกษตรกรใดสนใจผลิตก็หาได้ไม่ยากนัก โดยปรึกษาได้ที่ สถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หากแต่สูตรการผลิตคงไม่สำคัญกว่าคำถามที่ว่า จะพัฒนาการผลิตหมอนยางพาราของเกษตรกรไปสู่การส่งออกได้อย่างไร
อนาคตหมอนยางพารา
จากการพูดคุยกับคุณชมพูนุช ประธานสหกรณ์กองทุนสวนยางสมบูรณ์พัฒนา เธอไม่มีความกังวลเรื่องเทคนิคการผลิต ไม่กลัวเรื่องตลาด เพราะสินค้าประสบความสำเร็จทั้งสองด้านแล้ว แต่เรื่องที่เธอกลัวมากที่สุด คือ เมื่อมีข่าวว่ามีการทำหมอนยางพาราส่งออกโดยเกษตรกร บรรดากลุ่มเกษตรกรที่มีโครงการแปรรูปยางเป็นผลิตภัณฑ์ โดยกู้เงินจากรัฐ จะแห่มาผลิตหมอนยางพารา ซึ่งที่ผ่านมามีสหกรณ์จำนวนมากเข้ามาปรึกษาเรื่องนี้กับเธอ
เมื่อสหกรณ์หลายๆ แห่ง มุ่งแต่จะทำหมอนยางพาราเพียงอย่างเดียว อนาคตหมอนยางพาราจะถึงทางตัน และเกิดการตัดราคากันเอง โดยเฉพาะหลายๆ สหกรณ์ที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐแบบให้เปล่า แทบไม่มีต้นทุนเลย เธอจึงเกรงว่า “สงครามราคา” หมอนยางพาราจะเกิดขึ้น และสุดท้ายจะพาให้ธุรกิจนี้ได้รับผลกระทบในท้ายที่สุด
หากแต่เรื่องที่ควรทำก็คือ หลายๆ สหกรณ์ควรสร้างเครือข่ายร่วมกัน แล้วแบ่งกันทำธุรกิจที่เกื้อหนุนกับการแปรรูปผลิตภัณฑ์นั้นๆ ตัวอย่างการผลิต หมอนยางพารา ควรแยกกันทำว่า 1-2 สหกรณ์ ทำหน้าที่ผลิต หมอนยางพารา ขณะที่อีก 2-3 สหกรณ์ ผลิตน้ำยางข้นป้อน เป็นธุรกิจที่เกื้อหนุนกัน ไม่ใช่ผลิตอย่างเดียวกัน แล้วแข่งขันกันเอง
ขอขอบคุณ
คุณชมพูนุช รักษาวัย สหกรณ์กองทุนสวนยางสมบูรณ์พัฒนา จำกัด 108/1 ม.13 ตำบลชุมโค อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร 86160 โทร.08-8319-4914