เกษตรผสมผสาน ในสวน ยางพารา 15 ไร่ ป้อนสหกรณ์ฯโนนสุวรรณ รายได้ไม่เคยต่ำกว่า 20,000 บาท/เดือน
“ภาคอีสานมีพื้นที่ปลูก ยางพารา 4 ล้านไร่ มากเป็นอันดับ 2 รองจากภาคใต้ที่มีพื้นที่ปลูก 13 ล้านไร่ (อ้างอิงจากจากศูนย์สารสนเทศการเกษตรสำนักเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2557) โดยจังหวัดบุรีรัมย์มีพื้นที่ปลูก 267,573 ไร่ มากเป็นลำดับที่ 8 ในภาคอีสาน จากข้อมูลของศูนย์ข้อมูลกลางกระทรวงมหาดไทยและจังหวัด
เมื่อปี 2554 จังหวัดบุรีรัมย์มีพื้นที่ปลูก ยางพารา ทั้งหมด 160,616 ไร่ อำเภอโนนสุวรรณเป็นอำเภอที่มีพื้นที่ปลูก ยางพารา ติดอันดับ 1 ใน 4 ของ จังหวัด คือ มีพื้นที่ปลูก ยางพารา 12,877 ไร่ รองจาก อ.บ้านกรวด 55,229 ไร่ อ.ละหานทราย 20,347 ไร่ และ อ.คูเมือง 15,800 ไร่”
คุณสมพาน สีหามารถ เกษตรกรชาว สวนยางพารา อายุ 43 ปี ปลูก ยางพารา พื้นที่ 15 ไร่ มาได้ 12 ปี ที่ ต.ดงอีจาน อ.โนนสุวรรณ จ.บุรีรัมย์ และเริ่มกรีด ยางพารา มาตั้งแต่ปี 2554
ยางพารา ที่ปลูกเมื่อปี 2548 พื้นที่ 15 ไร่ ระยะปลูก 7×3 เมตร จำนวนต้นยางทั้งหมด 760 ต้น สามารถเปิดกรีดได้แล้ว 10 ไร่ ส่วนอีก 5 ไร่ ปลูกทีหลังอายุ 3 ปี ยังไม่สามารถเปิดกรีดได้ นอกจากนี้ในพื้นที่ 5 ไร่ นั้น ทำ เกษตรผสมผสาน แบบปลูกพืชผักสวนครัวต่างๆ เช่น กล้วยหอม มะละกอฮอลแลนด์ และพืชผักสวนครัวต่างๆ เอาไว้ประกอบอาหารในครัวเรือน
เมื่อได้ผลผลิตน้ำยางคุณภาพส่งสหกรณ์กองทุนสวนยางโนนสุวรรณ อ.โนนสุวรรณ จ.บุรีรัมย์ อย่างต่อเนื่อง เนื่องด้วยสวน ยางพารา ของคุณสมพานอยู่ใกล้กับที่ทำการของสหกรณ์ฯโนนสุวรรณจึงเข้าร่วมเป็นสมาชิก และส่งน้ำ ยางพารา ให้สหกรณ์ฯโนนสุวรรณ เนื่องจากได้ราคาดี เพราะสหกรณ์ฯต้องการช่วยเหลือเกษตรกร
และซื้อหุ้นของสหกรณ์ฯโนสุวรรณสะสมมาอย่างต่อเนื่องถึง 1,000 หุ้น คิดเป็นมูลค่า 10,000 บาท ตลอดระยะเวลา 5 ปี ที่เป็นสมาชิกของสหกรณ์ได้เงินปันผลมาแล้ว 3 ครั้ง และเป็นตัวอย่างเกษตรกรสวน ยางพารา ของสหกรณ์ฯโนนสุวรรณ ที่ได้ผลผลิตน้ำยางดี มีคุณภาพ
ต้นทุนการปลูกและการช่วยเหลือจากสหกณ์ฯ
กล้ายางพันธุ์ RRIM600 ได้จาก สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ประมาณ 800 ต้น นอกจากนี้ยังได้รับเครดิตการซื้อ ปุ๋ยยางพารา เคมีและสารเคมีต่างๆ ที่ใช้ในการดูแล สวนยางพารา จากสหกรณ์ฯโนนสุวรรณ ราคาปุ๋ยเริ่มต้นที่กระสอบละ 800 บาท บางครั้งราคาก็มีขึ้นๆ ลงๆ บ้าง ไม่คงที่ หากซื้อเป็นเงินสดก็จะบวกเพิ่มอีกกระสอบละ 10 บาท
หากซื้อเงินเชื่อจะคิดเพิ่มกระสอบละ 20 บาท จากราคาที่สหกรณ์ซื้อมา สหกรณ์จะให้เครดิตสมาชิกคนละ 1 เดือน หากนำเงินค่า ปุ๋ยยางพารา มาชำระได้ภายใน 1 เดือน ก็จะไม่ถูกหักค่า ปุ๋ยยางพารา จากบัญชีสมาชิกครั้งละ 25% จนครบค่า ปุ๋ยยางพารา ที่ซื้อไป ซึ่งคุณสมพานเลือกที่จะให้ทางสหกรณ์หักจากบัญชีสมาชิกครั้งละ 25% จนหมดค่าปุ๋ย
เพื่อลดภาระการจ่ายเงินของตนเองลง จำนวน ปุ๋ยยางพารา เคมีที่สมาชิกสามารถนำไปใช้ได้นั้น ทางสหกรณ์จะประเมินจากพื้นที่ปลูกยางของสมาชิกแต่ละคนว่ามีพื้นที่ปลูกมากน้อยพียงใด ประกอบกับดูความสามารถของเกษตรกรว่ามีรายได้มากพอที่จะชำระหนี้ค่า ปุ๋ยยางพารา ได้มากน้อยเพียงใด
นอกจากการให้เครดิตซื้อ ปุ๋ยยางพารา เคมีและสารเคมีต่างๆ แล้ว ทางสหกรณ์ยังสนับสนุนในเรื่องของความรู้ การอบรมต่างๆ และพาไปศึกษาดูงานนอกสถานที่
ปลูกพืช เกษตรผสมผสาน ในสวน ยางพารา
ที่สวน ยางพารา พันธุ์ RRIM600 ที่ปลูกใหม่เมื่อ 3 ปีที่แล้วนั้น ก่อนหน้านี้เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ปลูกมันสำปะหลังแล้วหัวไม่โต เนื่องจากต้น ยางพารา ที่ปลูกก่อนหน้า 1 ปี รากยาวไปไกลแล้ว ทำให้แย่งอาหารกับมันสำปะหลัง รากมันสำปะหลังจึงไม่สะสมอาหาร เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตปรากฏว่ามันสำปะหลังมีแต่ราก ไม่มีหัว
จึงหันมาทำ เกษตรผสมผสาน ปลูกพืชอื่นๆ แทน ได้แก่
- กล้วยหอมทอง 200 ต้น
- มะละกอฮอลแลนด์ 100 ต้น
- เงาะโรงเรียน 3 ต้น
- ทุเรียน 3 ต้น
- ลำไยพันธุ์อีดอ 3 ต้น
- มะม่วงพันธุ์ต่างๆ 20 ต้น
- ไผ่ 5 กอ
- มะพร้าว 4 ต้น
นอกจากนี้ยังมีพืชผักสวนครัวหลากหลายชนิดที่ปลูกเอาไว้กินในครัวเรือน เช่น ถั่วฝักยาว แตงกว่า น้ำเต้า ฟัก ฟักทอง กระเจี๊ยบเขียว ข่า ตะไคร้ มะเขือยาว พริก และ ดอกชมจันทร์ เป็นต้น ที่เลือกปลูกพืชต่างๆ เหล่านี้ เพราะตอนนี้ต้นยางอายุ 3 ปี กว่าจะกรีดได้ก็อีกหลายปี จึงอยากใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
โดยการทำแบบ เกษตรผสมผสาน ปลูกพืชอื่นๆ แซมระหว่างต้นยาง เพื่อเอามาบริโภคในครัวเรือน และสามารถเก็บขาย สร้างรายได้ระหว่างรอกรีดยางได้ด้วย
รายได้จากการทำสวนแบบ เกษตรผสมผสาน
ผักสวนครัวที่ปลูกและได้ผลผลิตมากจนต้องนำไปขาย ได้แก่ ถั่วฝักยาว น้ำเต้า และ กระเจี๊ยบเขียว เก็บแต่ละครั้งได้ถั่วฝักยาวประมาณ 5 กก. โดยจะแบ่งเป็นกำ กำละ 10 บาท น้ำเต้าก็เก็บ 3 ลูก มัดรวมกัน ขายมัดละ 10 บาท และกระเจี๊ยบเขียวก็ทำเป็นกำ ราคากำละ 10 บาท หลังจากนั้นก็จะรวบรวมนำไปขายให้แม่ค้าร้านขายกับข้าวในหมู่บ้าน ได้เงินครั้งละ 100-200 บาท
กล้วยหอมทอง สั่งซื้อต้นพันธุ์มาจากจังหวัดเชียงราย จำนวน 300 ต้น เป็นต้นพันธุ์ที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ราคาต้นละ 18 บาท รวมค่าขนส่งต้นละ 1 บาท เป็นต้นละ 19 บาท รวมราคาทั้งหมด 5,700 บาท เริ่มปลูกตั้งแต่เดือน ก.พ. ปี 2560 ตอนนี้กล้วยอายุ 6 เดือน ต้นสูงเท่าหัวแล้ว ตอนนี้เหลือต้นกล้วย 200 ต้น การดูแลจะมีการถางหญ้า การใส่ปุ๋ย ปุ๋ยที่ให้ก็จะมียูเรีย สูตร 46-0-0 และใส่ปุ๋ยคอกขี้วัวรองก้นหลุมตอนลงปลูกในตอนแรก จะเอาไปขายให้แม่ค้าที่ตลาด ได้ราคาตามวัน
มะละกอฮอลแลนด์ มี 200 ต้น ด้วยความที่ชอบกินมะละกอ และซื้อมากินเป็นประจำอยู่แล้ว คุณสมพานจึงซื้อมะละกอมาแล้วนำเมล็ดไปเพาะกล้าเอง ทดลองปลูกดูว่าได้ผลไหม ปรากฏว่าออกผล ได้ผลผลิตให้ได้กินแล้ว เริ่มปลูกพร้อมกันกับกล้วย ส่วนวิธีการดูแลก็จะมีการถางหญ้า และการใส่ ปุ๋ยจะใส่เหมือนการใส่ปุ๋ยกล้วยหอมทอง
มุ่งเน้นหลักการ เศรษฐกิจพอเพียง ของพ่อหลวง
ทุกพืชที่ปลูก จะมุ่งเน้นว่าเราชอบกินอะไร เราก็ปลูกเอาไว้กิน เดินตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ดอกชมจันทร์ ปลูก 1 ค้าง ตั้งแต่เดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ตอนนี้ออกดอกให้ได้กินแล้ว กระเจี๊ยบเขียวมี 20 ต้น ฟักทองตอนนี้ออกผลแล้วได้ 10 ผล ผลละประมาณ 2-3 กก. มะเขือเปราะกับมะเขือยาวซื้อมาปลูกอย่างละ 10 ต้น
มะม่วงมี 20 ต้น มีหลากหลายสายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์งามเมืองย่า หรือเขียวใหญ่ พันธุ์อกร่อง พันธุ์โชคอำนวย พันธุ์มหาชนก และพันธุ์ฟ้าลั่น ซื้อต้นพันธุ์มาจากร้านขายต้นไม้ที่ จ.นครราชสีมา ราคามีตั้งแต่ต้นละ 50-80 บาท และมีมะม่วงพันธุ์มหาชนกที่ราคาแพงหน่อย ราคาต้นละ 500 บาท ต้นทุเรียน 7 ต้น ซื้อมาและปลูกพร้อมกับมะม่วง
ปลูกตั้งแต่เดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ตอนนี้ต้นทุเรียนสูงเท่าคอแล้ว เงาะโรงเรียน และลำไยอีดอ ซื้อต้นกล้ามาปลูกอย่างละ 3ต้น ปลูกพร้อมกันกับทุเรียน และไผ่ ปลูก 5 กอ ได้ต้นพันธุ์มาจากสหกรณ์การเกษตรจังหวัดบุรีรัมย์เขาแจกให้ เป็นไผ่ลำใหญ่ที่เอาไว้ทำเฟอร์นิเจอร์ เช่น เตียง เก้าอี้ โซฟา หรือนำไปสร้างบ้านได้
เลี้ยงสัตว์ เพิ่มรายได้ ใน สวนยางพารา
นอกจากพืชแล้วยังมีไก่แจ้ญี่ปุ่น ที่พี่ชายให้มาทดลองเลี้ยงดู ในอนาคตจะเลี้ยงปลาดุกสัก 100-150 ตัว และไก่ไข่สัก 10 ตัว เอาไว้กินเอง และเอาไว้ขายในหมู่บ้าน
ผลผลิตน้ำยางที่ได้ ปุ๋ยยางพารา
การกรีดยางคุณสมพานจะเปิดกรีดในหน้าฝน หากปีไหนฝนมาเร็วก็จะเปิดกรีดตั้งแต่กลางเดือน เม.ย. จนถึงเดือน ก.พ.ของปีถัดไป และจะปิดกรีดในหน้าแล้ง คือ เดือน ก.พ.- เม.ย. ในช่วงหน้าแล้งที่ว่างเว้นจากการกรีดยางพารา
คุณสมพานและสามีจะไปรับจ้างตัดต้นมันสำปะหลัง รวมทั้งขุดและปลูกมันสำปะหลัง โดยเจ้าของสวนจะจ้างเหมาราคาไร่ละ 350 บาท ในช่วงเดือนนั้นเป็นช่วงที่คนปลูกมันสำปะหลังกันมาก ประจวบเหมาะกับการปิดกรีดยางพอดี จึงทำให้มีงานทำต่อเนื่อง แม้จะพักกรีดยางในหน้าแล้งแล้ว
เมื่อกรีดยางเสร็จแล้วก็จะรวบรวมนำมาส่งให้สหกรณ์ฯโนนสุวรรณในตอนเช้า ปริมาณน้ำยางสดที่นำมาขายให้สหกรณ์ในแต่ละครั้งประมาณ 2-3 ถัง หรือประมาณ 100-150 กก. ถ้าฝนดีก็จะได้น้ำยางมากถึง 3 ถัง หรือประมาณ 150 กก. ส่วนความถี่ในการส่งยางให้ทางสหกรณ์จะขึ้นอยู่กับปริมาณฝนที่ตก
ถ้าฝนตกบ่อยก็จะกรีดยางวันเว้นวัน แต่ถ้าฝนห่างหน่อยก็จะกรีด 2 วัน เว้น 1 วัน เวลากรีดยางคุณสมพานจะกรีดด้วยกันกับสามี 2 คน เริ่มกรีดตั้งแต่เวลาตี 3 ถึง ตี 4 ถ้าวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ จะมีลูกสาวคนกลางที่เรียนอยู่ ม.5 มาช่วยกรีดด้วย
ถ้าปีไหนฝนมาไวคุณสมพานจะเปิดกรีดยางตั้งแต่กลางเดือน เม.ย. ซึ่งเป็นช่วงที่สหกรณ์ฯโนนสุวรรณยังไม่เปิดรับซื้อน้ำยาง คุณสมพานจะนำน้ำยางสดไปขายให้พ่อค้าคนกลางข้างนอกก่อน พอถึงช่วงที่สหกรณ์ฯเปิดรับซื้อน้ำยาง จึงจะนำน้ำยางมาขายให้
รายได้จากการขายน้ำ ยางพารา ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 20,000 บาท
สหกรณ์จะเปิดรับซื้อน้ำยางตั้งแต่เดือน พ.ค. ถึงเดือน ก.พ.ของปีถัดไป โดยจะรับซื้อน้ำยางจากสมาชิกทุกวันตั้งแต่เวลา 6 โมงเช้าถึงบ่ายโมง ส่วนราคาน้ำยาง ทางสหกรณ์ฯโนนสุวรรณจะให้ราคาอยู่ที่ประมาณ 27-29 บาท/กก. แต่ละวันราคาจะไม่เท่ากัน คุณสมพานกล่าวว่าพอใจกับราคาที่ได้ เพราะว่าเป็นราคาที่อิงตามตลาดกลางยางพารา แต่โดยรวมแล้วราคาขายที่สหกรณ์ฯจะสูงกว่าราคาของพ่อค้าคนกลางข้างนอก
เมื่อกรีดยางและได้น้ำยางในตอนเช้า คุณสมพานจะรวบรวมน้ำยางเทใส่ถังขนาด 50 กก. 2-3 ถัง บรรทุกใส่รถมอเตอร์ไซค์พ่วงซาเล้งแล้วนำไปส่งที่สหกรณ์ฯโนนสุวรรณ ซึ่งอยู่ใกล้กับ สวนยางพารา ของตนเอง ระยะห่างประมาณ 500 เมตร
รายได้จากการขายน้ำยางพาราไม่ต่ำกว่าเดือนละ 20,000 บาท หลังจากนำน้ำยางมาจำหน่ายให้สหกรณ์ฯโนนสุวรรณแล้ว สหกรณ์ฯจะกำหนดวันจ่ายเงินค่าน้ำยางให้สมาชิกทุกๆ 15 วัน เดือนหนึ่งก็จะจ่าย 2 ครั้ง โดยจะจ่ายโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร ธกส.ที่สมาชิกเปิดบัญชีตอนเข้าร่วมสหกรณ์ในตอนแรก
ปัญหาที่พบตอนนี้ ได้แก่ ต้นยางไม่สมบูรณ์ ต้นยางแคระ หน้ายางตายนึ่ง รวมๆ แล้วต้นที่มีปัญหาประมาณ 30 ต้น และปัญหาดินบางจุดในสวนที่ปลูกต้นยางไม่ได้ แม้ปลูกหลายรอบต้นยางก็ตายเหมือนเดิม จึงแก้ปัญหาด้วยการปลูกพืชอื่นแทน เช่น กล้วย มะละกอ และพืชผักสวนครัวอื่นๆ เป็นต้น
การส่งน้ำยางสดให้ทางสหกรณ์ฯ เพื่อผลิตเป็นยางแผ่นรมควัน
โดยสรุปก็คือ คุณสมพาน สีหามารถ เกษตรกรตัวอย่างของสหกรณ์ฯโนนสุวรรณ ปลูกยางพาราและสามารถส่งน้ำยางสดให้ทางสหกรณ์ฯได้ครั้งละ 90-100 กก. เพื่อผลิตเป็นยางแผ่นรมควัน มีรายได้จากการขายน้ำยางสดให้ทางสหกรณ์ฯเดือนละมากกว่า 20,000 บาท
นอกจากนี้ยังได้เงินปันผลจากการเป็นสมาชิก และซื้อหุ้นของสหกรณ์รวม 100 หุ้น คิดเป็นมูลค่า 10,000 บาท ตั้งแต่เป็นสมาชิกสหกรณ์ฯมา 5 ปี ได้รับเงินปันผลมาแล้ว 3 ครั้ง ทำให้มีรายได้พอเพียงต่อการใช้จ่ายในครัวเรือน และส่งลูกทั้ง 3 คน เรียนหนังสือได้
หากท่านใดสนใจการปลูกและการดูแลยางพารา การกรีดยางเพื่อทำน้ำยางพารา สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ คุณสมพาน สีหามารถ บ้านเลขที่ 219 ม. 1 หมู่บ้านดอนสมบูรณ์ ต.ดงอีจาน อ.โนนสุวรรณ จ.บุรีรัมย์ 31110 เบอร์โทรศัพท์ 083-373-6681
เกษตรผสมผสาน ยางพารา สวนยางพารา สวนยาง สวนผสม ปุ๋ยยางพารา พันธุ์ยางพารา สวนยางพารา ต้นยางนา ไร่นาสวนผสม การทําเกษตรผสมผสาน