ม.มหิดล จัดทำฐานข้อมูลบัญชีการปล่อยมลพิษสารตั้งต้นก่อฝุ่น PM2.5 ทุติยภูมิ

โฆษณา
AP Chemical Thailand

มลภาวะทางอากาศเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ประชาชนทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมลภาวะจากฝุ่น PM2.5 เนื่องจากมีผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพมนุษย์ โดยเฉพาะในพื้นที่เมืองหรือมหานครซึ่งมีประชากรที่ต้องสัมผัสกับมลพิษทางอากาศเป็นจำนวนมาก

1.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จิรทยา เริ่มมนตรี
1.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จิรทยา เริ่มมนตรี อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

การวิจัยด้านฝุ่น PM2.5

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จิรทยา เริ่มมนตรี อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในประเทศไทยปัญหาหมอกควันเกิดจากความเข้มข้นของฝุ่นละออง (PM10, PM2.5) ปริมาณสูงเกินค่ามาตรฐาน ส่วนใหญ่จะพบได้ในช่วงฤดูแล้งของทุกๆ ปี ในพื้นที่ภาคเหนือ และในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเกิดปัญหารุนแรงขึ้นในช่วง 4 – 5 ปีที่ผ่านมา

งานวิจัยส่วนใหญ่ในประเทศไทยจะเป็นการประเมินเฉพาะในส่วนของฝุ่น PM2.5 ปฐมภูมิ ที่เกิดจากการปล่อยโดยตรงจากแหล่งกำเนิด อย่างไรก็ตามงานวิจัยด้านฝุ่น PM2.5 ทุติยภูมิ ซึ่งเกิดจากการรวมตัวและ/หรือการแปลงสภาพของมลพิษปฐมภูมิที่อยู่ในบรรยากาศยังมีการศึกษาน้อย จึงจำเป็นต้องมีฐานข้อมูลทั้งบัญชีการปล่อยฝุ่น PM2.5 ปฐมภูมิ และมลพิษสารตั้งต้นที่สามารถก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5 ทุติยภูมิ (Precursors) ได้ในคราวเดียวกัน ควบคู่ไปกับการใช้แบบจำลองคุณภาพอากาศที่ใช้หลักการฟิสิกส์ และเคมีจำลองปฏิกิริยาในบรรยากาศ

2.ฝุ่น PM2.502

การจัดทำแนวทางการจัดการฝุ่น PM2.5

ด้วยเหตุนี้ จึงเล็งเห็นความสำคัญในการศึกษาวิจัยด้านการจัดทำแนวทางการจัดการฝุ่น PM2.5 โดยศึกษาการเกิดอนุภาคทุติยภูมิ (Secondary Aerosol Formation) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ซึ่งระบบแบบจำลองนี้ ประกอบด้วย ระบบบัญชีการปล่อยมลพิษทางอากาศที่เป็นปัจจุบัน (ได้แก่ ฝุ่น PM10 ปฐมภูมิ ก๊าซเรือนกระจก PM2.5 ปฐมภูมิ และ Precursors ของ PM2.5 ทุติยภูมิ เช่น แอมโมเนีย ฯลฯ) โดยสามารถใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการกำหนดการปล่อยมลพิษทางอากาศของกรณีพื้นฐาน/ปกติ (Baseline/Business As Usual, BAU) และการสร้างฉากทัศน์ (Scenario) ภายใต้สถานการณ์ที่มีมาตรการลดการปล่อยสาร Precursors ของ PM2.5 ทุติยภูมิ และผู้วิจัยเตรียมต่อยอดพัฒนาสร้างแบบจำลองคุณภาพอากาศเพื่อศึกษาอิทธิพลของการปล่อยสาร Precursors ต่อผลกระทบการเกิดฝุ่น PM2.5 ในบรรยากาศต่อไป

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จิรทยา เริ่มมนตรี กล่าวทิ้งท้ายว่า ในการควบคุมการเกิดฝุ่น PM2.5 ทุติยภูมิในช่วงวิกฤติมลภาวะทางอากาศจากฝุ่น PM2.5 สำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ในช่วงเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ของทุกปี ภาครัฐควรมีมาตรการควบคุมการใช้ปุ๋ยยูเรียและปุ๋ยไนโตรเจนอื่นๆ สำหรับการเพาะปลูกในภาคการเกษตรให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสมกับความต้องการของพืชที่เพาะปลูก หรือลดปริมาณการใช้ปุ๋ยลงประมาณร้อยละ 30 จากที่ใช้ในปัจจุบัน เพื่อควบคุมการระบายสารแอมโมเนีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่นาข้าว รวมถึงควรมีมาตรการห้ามเผาเศษวัสดุการเกษตรในที่โล่ง โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดที่ตั้งอยู่ในทิศตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงเทพฯ เนื่องจากเป็นแหล่งกำเนิดหลักของฝุ่น PM2.5 ทั้งปฐมภูมิและสารมลพิษตั้งต้น จะเป็นการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศได้อย่างยั่งยืนในที่สุด

แม้ฝุ่น PM2.5 จะทำให้โลกปัจจุบันต้องตกอยู่ในสภาพปัญหาที่เป็นผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 รอบด้าน ในอนาคตผู้วิจัยเตรียมศึกษาต่อยอดไปถึงสารมลพิษตั้งต้นอื่นๆ ที่ก่อให้เกิด PM2.5 นอกเหนือจากแอมโมเนีย เพื่อความไม่ประมาทในการรับมือต่อมหันตภัยที่เกิดจากฝุ่น PM2.5 ให้รอบด้านมากยิ่งขึ้น เพื่อมอบอากาศบริสุทธิ์ ต่อลมหายสู่คนรุ่นลูกรุ่นหลานได้ต่อไปในอนาคต

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th