สถานการณ์ข่าวประจำสัปดาห์ของนิตยสารพลังเกษตร
โรคใบด่างในมันสำปะหลังไม่สร้างความเสียหายต่อผลผลิตในปี 2562 แต่ก็ยังเป็นปีที่มีความท้าทายสำหรับรัฐบาล
จากสัญญาณการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังในขณะนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในปี 2562 การระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังจะยังไม่สร้างความเสียหายให้กับภาพรวมผลผลิตมันสำปะหลัง เนื่องจากในช่วงครึ่งปีหลังจะเป็นช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดตามฤดูกาลน้อยอยู่แล้ว โดยคาดว่าราคามันสำปะหลังในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 อาจทรงตัวระดับต่ำอยู่ในกรอบ 1.7-1.8 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อเทียบกับ 2.02 บาทต่อกิโลกรัม ในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 โดยคาดว่าภาพรวมราคามันสำปะหลังทั้งปี 2562 จะยังให้ภาพที่ไม่สดใสนัก เฉลี่ยอยู่ที่ราว 1.9 บาทต่อกิโลกรัม หรือลดลงร้อยละ 20.1 (YoY) จากปัจจัยฉุดด้านความต้องการจากจีนที่ชะลอลงเป็นหลัก เนื่องจากปริมาณสต๊อกข้าวโพดของจีนที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยคาดว่าในปี 2562 สต๊อกข้าวโพดของจีนจะอยู่ที่ 209.8 ล้านตัน เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยช่วง 5 ปี (ปี 2557-2561) ที่ 213.5 ล้านตัน
ดังนั้นจึงนับเป็นโจทย์ท้าทายของรัฐบาลในการจัดการแก้ปัญหาด้านผลผลิตของมันสำปะหลังในระยะสั้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 เพื่อป้องกันการลุกลามของโรคใบด่างอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้กระทบต่อความเสียหายของผลผลิตมันสำปะหลังในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 ผ่านมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังที่ประสบปัญหาโรคใบด่าง เช่น การจ่ายเงินชดเชย รวมถึงการบริหารจัดการในด้านการตลาด ที่ควรเน้นไปที่การสร้างอุปสงค์ในประเทศให้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการช่วยพยุงราคามันสำปะหลังไม่ให้ตกต่ำ และให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังมีรายได้เพิ่มขึ้น
ผลกระทบภัยแล้งนอกฤดู 2562 กระทบผลผลิตข้าวนาปี อาจจะสร้างความสูญเสียได้หลายล้านบาท
สถานการณ์ภัยแล้งนอกฤดูกาลในปี 2562 (พฤษภาคม-กรกฎาคม 2562) ได้ส่งผลกระทบต่อความแห้งแล้งเป็นอย่างมาก จากอิทธิพลของเอลนีโญกำลังอ่อนที่ทำให้เกิดภาวะฝนทิ้งช่วง และมีภาวะฝนน้อย น้ำน้อย พิจารณาได้จากปริมาณน้ำในเขื่อนที่อยู่ในระดับต่ำ ส่งผลต่อความเสียหายของผลผลิตพืชเกษตรหลัก อย่าง ข้าวนาปี ที่ได้ปลูกไปแล้ว ทำให้ราคาข้าวนาปีเฉลี่ยขยับขึ้นได้ในช่วงนี้ ส่งผลต่อภาพรวมราคาข้าวนาปีเฉลี่ยในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.4 (YoY) อย่างไรก็ตามด้วยความเสียหายของผลผลิตข้าวนาปีที่ลดลง จึงยังเป็นแรงกดดันต่อภาพรวมรายได้เกษตรกร
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ผลกระทบจากภัยแล้งนอกฤดูกาลในครั้งนี้ (พฤษภาคม-กรกฎาคม 2562) คาดว่าจะทำให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิตข้าวนาปีเป็นหลัก ซึ่งจะทำให้เกิดมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 15,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นราวร้อยละ 0.1 ของ GDP นอกจากนี้ยังต้องติดตามสถานการณ์ภัยแล้งนอกฤดูกาลที่อาจลากยาวได้อีกในช่วงเดือนสิงหาคม-ธันวาคม 2562 ที่อาจกระทบต่อปริมาณผลผลิตข้าวนาปีที่จะออกสู่ตลาดจำนวนมากในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 ซึ่งอาจส่งผลต่อมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจเพิ่มเติมอีก
สศก. ร่วมเวที BIMSTEC ณ เมียนมา ยกระดับความร่วมมือสาขาเกษตร
การประชุมดังกล่าวถือเป็นการยกระดับกลไกการทำงานในระดับรัฐมนตรี และระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ครั้งแรกของความร่วมมือสาขาเกษตร ภายใต้กรอบ BIMSTEC โดยมีเมียนมาเป็นประเทศนำ (Lead Country) ของความร่วมมือ สาขาเกษตร ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ของผู้นำ BIMSTEC เมื่อคราวประชุมสุดยอดผู้นำเดือนสิงหาคม 2561 ณ ประเทศเนปาล
ในการนี้รัฐมนตรีเกษตรของประเทศสมาชิก BIMSTEC ได้รับรองแถลงการณ์ร่วมสำหรับการประชุมระดับรัฐมนตรีเกษตร ภายใต้กรอบ BIMSTEC ครั้งที่ 1 ในหัวข้อ “การเกษตรเพื่อความมั่งคั่งด้วยเกษตรกรรมยั่งยืน การสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อความมั่นคงอาหารและโภชนาการ” อีกทั้งเน้นย้ำความสำคัญของการพัฒนาภาคการเกษตร และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในสาขาเกษตร สามารถส่งเสริมองค์ความรู้ด้านการทำเกษตรแบบดั้งเดิม ลดต้นทุน เสริมสร้างรายได้ ขจัดความยากจน ลดความเสี่ยงของชุมชนเกษตร และเสริมสร้างการค้าสินค้าเกษตร รวมถึงช่วยให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
ปัจจุบันประเทศไทยและภูมิภาค BIMSTEC มีมูลค่าการค้าเฉลี่ยระหว่างกันประมาณ 19 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี เป็นการค้าสินค้าเกษตรประมาณ 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยอัตราการเพิ่มขึ้นของมูลค่าการค้าของสินค้าเกษตรระหว่างไทยกับ BIMSTEC ในช่วงปี 2559-2561 เฉลี่ยร้อยละ 14 ต่อปี แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางการค้าทางการเกษตรที่สำคัญระหว่างประเทศสมาชิก BIMSTEC โดยสินค้าเกษตรที่ไทยส่งออก ได้แก่ น้ำตาล เครื่องดื่มประเภทนม น้ำมันปาล์มดิบยางธรรมชาติ และอาหารปรุงแต่ง สำหรับสินค้าเกษตรที่ไทยนำเข้าจากภูมิภาค BIMSTEC เช่น ปลา และสัตว์ทะเลแช่แข็ง พริกแห้ง หรือพริกป่น โค กระบือ มีชีวิต กากน้ำมัน และถั่วลิสง ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาไทยยินดีที่จะสนับสนุนความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับประเทศสมาชิก BIMSTEC และพร้อมผลักดันโครงการร่วมด้านการเกษตร ตลอดจนแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือเชิงลึกให้มีความก้าวหน้าและเป็นรูปธรรม เพื่อให้เกิดความสมดุลของการพัฒนาไปพร้อมกันอย่างมีศักยภาพ
สถานการณ์ข่าวประจำสัปดาห์ของนิตยสารสัตว์น้ำ
กรมประมงรุก! อบรมเกษตรกรทั่วประเทศ
ปัจจุบันผู้บริโภคทั่วโลกสนใจบริโภคอาหารสด สะอาด ปลอดภัย ไร้สารตกค้างมากขึ้น ดังนั้นประเทศไทย ผู้เป็นหนึ่งฐานการผลิตสินค้า วัตถุดิบสำหรับทำอาหาร ซึ่งเปรียบเสมือนครัวโลก จึงต้องหันมาใส่ใจให้ความสำคัญกับเรื่องการผลิตอาหารปลอดภัย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคด้วยเช่นกัน
จากการติดตามผลหลังเกษตรกรได้รับความรู้ไป พบว่าเกษตรกรกระตือรือร้น ตอบรับนโยบาย และมุ่งมั่นผลิตสัตว์น้ำให้สด สะอาด ไร้สารตกค้าง เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคมากขึ้น ดังนั้นแนวทางดำเนินการดังที่ผ่านมาเป็นการทำงานเชิงรุก เพราะเจ้าหน้าที่กรมลงพื้นที่เคาะประตูบ้านส่งเสริมความรู้ เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้เป็นเกษตรกรอัจฉริยะ (Smart Farmer) ในการผลิตสินค้า สัตว์น้ำมีคุณภาพ ได้มาตรฐานสากล ปลอดภัยต่อผู้บริโภค เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ถือเป็นการสร้างจุดแข็งของไทย ช่วยเพิ่มขีดการแข่งขันส่งออกสินค้าสัตว์น้ำของไทยกับประเทศคู่ค้าได้มาก
ปฏิบัติการพิเศษของหน่วยงานไทย ในการจับกุมการทำประมงผิดกฎหมายตามเป้าหมายการต่อต้านประมงผิดกฎหมายของอาเซียน
รัฐบาลไทย โดยศูนย์บัญชาการการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมประมง ได้ออกปฏิบัติการพิเศษร่วมกันในการจับกุมเรือประมงที่กระทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) ในเขตน่านน้ำไทยที่จังหวัดระนอง รวม 2 ครั้ง ในช่วงระหว่างวันที่ 22-30 มิถุนายน 2562 โดยหน่วยงานไทยได้ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจชุด SAT (Special Arrest Team) พร้อมเจ้าหน้าที่จากกรมประมง ด่านตรวจสัตว์น้ำระนอง และหน่วยป้องกันและปราบปรามประมงทะเลเกาะสุรินทร์ พังงา ออกปฏิบัติการดังกล่าว ส่งผลให้มีการจับกุมเรือที่ทำประมงผิดกฎหมาย รวม 66 ลำ
นอกจากนี้ปฏิบัติการดังกล่าวยังเป็นการแสดงถึงจุดยืนของไทยในการดำเนินการตามเป้าหมายของอาเซียน โดยเฉพาะในช่วงที่ไทยดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน ซึ่งไทยได้เน้นย้ำถึงการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วน ความร่วมมือในการทำการประมงอย่างยั่งยืน การรักษาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล และมุ่งหวังที่จะให้การทำประมงผิดกฎหมายหมดไปจากภูมิภาค อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนและต่อยอดการดำเนินการตามผลการประชุม ASEAN Meeting on Combating IUU Fishing in Partnership with the EU ซึ่งรัฐบาลไทย โดยกรมประมง เป็นเจ้าภาพ เมื่อเดือนเมษายน 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งมีเป้าหมายที่จะผลักดันการจัดตั้ง ASEAN IUU Network และแสดงถึงจุดยืนร่วมกันของอาเซียน ที่จะขจัดปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมายให้หมดไปจากภูมิภาค
สถานการณ์ข่าวประจำสัปดาห์ของนิตยสารสัตว์บก
กรมปศุสัตว์เขต 6 ชี้แจงแนวทางการฝึกซ้อมแผนเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรระดับจังหวัด
วันที่ 22 กรกฎาคม 2562 นายพนม มีศิริพันธุ์ ปศุสัตว์เขต 6 เป็นประธานการประชุมชี้แจงแนวทางการฝึกซ้อมแผนเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรระดับจังหวัด รูปแบบเฉพาะเจ้าหน้าที่ Functional Exercise เพื่อชี้แจงรูปแบบการฝึกซ้อมให้แก่เจ้าหน้าที่ของสำนักงานปศุสัตว์จังหวัด และเร่งรัดการฝึกซ้อมแผนของแต่ละจังหวัด เพื่อให้มีความพร้อมในการรับมือและป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาที่อาจจะเข้ามาระบาดในสุกรของพี่น้องตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศไทย จึงมีการจัดประชุมและหารือในเรื่องดังกล่าวกับเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วน เพื่อเป็นกระบอกเสียงในการกระจายข่าวให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลข่าวสารในพื้นที่ของแต่ละจังหวัด ณ ห้องประชุมสำนักงานปศุสัตว์เขต 6 อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก
กรมปศุสัตว์ประจำอำเภอออกตรวจ และทำการเจาะเลือดกระบือในพื้นที่จังหวัดอุทัยธานี
เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ทางทีมงานกรมปศุสัตว์ประจำอำเภอเมือง ของจังหวัดอุทัยธานี ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบและติดตามการดูแลโคและกระบือ ของพี่น้องเกษตรกรที่เลี้ยงโคและกระบือ ในพื้นที่อำเภอเมือง อำเภอหนองขาหย่าง เพื่อทำการตรวจและเจาะเลือดโคและกระบือของเกษตรกร เพื่อเป็นการป้องกันและตรวจสอบหาเชื้อโรคที่อาจจะเกิดขึ้นในโคและกระบือได้ อีกทั้งยังเป็นการตรวจสอบเพื่อหาเชื้อที่อาจจะเกิดขึ้นทำให้ติดต่อมายังคนได้อีกเช่นกัน ซึ่งถือเป็นความร่วมมือระหว่างคนในพื้นที่และกรมปศุสัตว์ประจำอำเภอเมืองอุทัยธานี ที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีกับทางเจ้าหน้าที่