สถานการณ์ข่าวประจำสัปดาห์ของนิตยสารพลังเกษตร
ลุยแหล่งผลิตข้าวภาคเหนือ สำรวจแหล่งผลิตและทิศทางตลาด สุโขทัย-พิษณุโลก
นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การผลิตและการตลาดข้าว ในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย และพิษณุโลก ระหว่างวันที่ 13-16 สิงหาคม 2562 เพื่อติดตามการเพาะปลูกข้าวเจ้านาปีของเกษตรกร ปริมาณผลผลิต การประสบภัยธรรมชาติ ตลอดจนราคาข้าวเปลือกที่ผู้ประกอบการโรงสีรับซื้อ สำหรับสถานการณ์ราคาข้าวเปลือกทั้ง 2 จังหวัด พบว่า ณ เดือนสิงหาคม 2562 ราคาอยู่ในเกณฑ์ดีและมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยจังหวัดสุโขทัย ราคาข้าวเปลือกเจ้าที่เกษตรกรขายได้ (ความชื้น 25-26%) ประมาณตันละ 6,700-7,200 บาท และข้าวเปลือกเจ้า (ความชื้น 15%) ประมาณตันละ 8,000-8,200 บาท สำหรับจังหวัดพิษณุโลกราคาข้าวเปลือกเจ้าที่เกษตรกรขายได้ (ความชื้น 25-26%) ประมาณตันละ 6,800-7,000 บาท และข้าวเปลือกเจ้า (ความชื้น 15%) ประมาณตันละ 8,200-8,300 บาท
ดังนั้นหากพิจารณาในภาพรวม เมื่อปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง ขณะที่ตลาดยังคงมีความต้องการข้าว ราคาข้าวเปลือกอาจจะรักษาระดับราคาอยู่ในเกณฑ์สูงได้ต่อเนื่องตลอดทั้งปี อย่างไรก็ตาม เกษตรกรควรจะดูแลแปลงนาตลอดฤดูกาลเพาะปลูกอย่างสม่ำเสมอ ไม่ให้มีวัชพืช และศัตรูพืชระบาด เพื่อให้ได้ผลผลิตมีคุณภาพดี สามารถจำหน่ายได้ในราคาที่สูง นอกจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาสนับสนุนเงินทุนให้กับสหกรณ์การเกษตรที่มีศักยภาพ เพื่อซื้อเครื่องอบลดความชื้นข้าวเปลือก เนื่องจากจะเป็นวิธีการหนึ่งที่สามารถช่วยชะลอปริมาณข้าวออกสู่ตลาดพร้อมกันเป็นจำนวนมาก เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาราคาข้าวเปลือกตกต่ำ
แนะสินค้าทางเลือก ทดแทนพื้นที่ปลูกข้าวไม่เหมาะสมเกษตรกรจังหวัดตราด
นายสุชัย กิตตินันทะศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 (สศท.6) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสินค้าเกษตรสำคัญที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงสุด (Top 4) ของจังหวัดตราด ตามแนวทางบริหารจัดการพื้นที่ตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) พบว่า ได้แก่ ยางพารา ทุเรียน เงาะ กุ้งขาวแวนนาไม โดยการปลูกยางพาราในพื้นที่มีความเหมาะสมมาก และเหมาะสมปานกลาง (S1/S2) เกษตรกร ได้ผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) เฉลี่ย 1,166 บาท/ไร่ ส่วนพื้นที่มีความเหมาะสมน้อยและไม่เหมาะสม (S3/N) เกษตรกร ได้ผลตอบแทนสุทธิ เฉลี่ย 194 บาท/ไร่ ทุเรียน พื้นที่ S1/S2 ได้ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย 48,267 บาท/ไร่ ส่วนพื้นที่ S3/N ได้ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย 46,352 บาท/ไร่ เงาะ พื้นที่ S1/S2 ได้ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย 19,768 บาท/ไร่ พื้นที่ S3/N ได้ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย 19,673 บาท/ไร่ และกุ้งขาวแวนนาไม ซึ่งไม่มีการจำแนกพื้นที่ความเหมาะสม มีผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย 74,503 บาท/ไร่ หากมองถึงการปลูกข้าวในจังหวัดตราด พบว่า มีพื้นที่ S1/S2 ที่เหมาะสำหรับการปลูก 114,233 ไร่ เกษตรกรได้ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย 607 บาท/ไร่ ส่วนพื้นที่ S3/N จำนวน 20,633 ไร่ เกษตรกรได้ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย 487 บาท/ไร่ ซึ่งพิจารณาสินค้าทางเลือกเพื่อให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการผลิตทดแทนพื้นที่ปลูกข้าวไม่เหมาะสม ตาม Agri-Map พบว่า มีสินค้าหลายชนิดที่สามารถพัฒนาให้มีคุณภาพและเพิ่มมูลค่า
ราคากลาง หรือ ตลาดสำคัญ ประจำวันที่ 22 สิงหาคม 2562
- ข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิ 105
-โรงสีสหพัฒนา อ.สะตึก จ.บุรีรัมย์ 17,000 บาท/ตัน
- ข้าวเปลือกเจ้าพันธุ์สุพรรณบุรี ความชื้น 15%
-โรงสีไฟโชครุ่งเรือง อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก 8,000 บาท/ตัน
- หัวมันสำปะหลังสด (แป้ง 25%)
-บริษัท สงวนวงษ์อุตสาหกรรม จำกัด อ.เมือง จ.นครราชสีมา 2.20 บาท/กก.
- ปาล์มน้ำมัน เปอร์เซ็นต์น้ำมันปาล์ม 17%
-ชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่ อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ 2.80 บาท/กก.
-บริษัท แสงศิริน้ำมันปาล์ม จำกัด อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี 2.90 บาท/กก.
- ยางพาราแผ่นดิบชั้น 3
-ตลาดกลางยางพารา อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 39.40 บาท/กก. ราคาลดลงจากวันที่ 21 สิงหาคม 2562 ที่ราคา 39.83 บาท/กก.
- น้ำยางพาราสด
-ร้านแสงตะวันการยาง จ.สุราษฎร์ธานี 32.00 บาท/กก. ราคาเพิ่มขึ้นจากวันที่ 21 สิงหาคม 2562 ที่ราคา 31.50 บาท/กก.
- ทุเรียนหมอนทอง ส่งออกเกรด AB
-จุดรับซื้อ ต.เพิ่มพูลทรัพย์ (คุณวารินทร์) อ.นาสาร จ.สุราษฎร์ธานี 75.00 บาท/กก.
- เงาะโรงเรียน
-จุดรับซื้อ ต.เพิ่มพูลทรัพย์ (คุณวารินทร์) อ.นาสาร จ.สุราษฎร์ธานี 25.00 บาท/กก.
- มังคุดคละ
-ร้านรับซื้อผลไม้ตลาดหลังสวน อ.หลังสวน จ.ชุมพร 12.00 บาท/กก.
- ลองกอง เบอร์ 1
-จุดรับซื้อ ต.เพิ่มพูลทรัพย์ (คุณวารินทร์) อ.นาสาร จ.สุราษฎร์ธานี 28.00 บาท/กก.
- ลองกอง เบอร์ 2
-จุดรับซื้อ ต.เพิ่มพูลทรัพย์ (คุณวารินทร์) อ.นาสาร จ.สุราษฎร์ธานี 23.00 บาท/กก.
- ลำไยทั้งช่อพันธุ์ อีดอ เกรด AA
-จุดรับซื้อ บริษัท ซินฮั้ว จำกัด อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ 39.00 บาท/กก.
- ลำไยทั้งช่อพันธุ์ อีดอ เกรด A
-จุดรับซื้อ บริษัท ซินฮั้ว จำกัด อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ 30.00 บาท/กก.
สถานการณ์ข่าวประจำสัปดาห์ของนิตยสารสัตว์น้ำ
กรมประมงปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ เฉลิมพระเกียรติ ‘วันแม่แห่งชาติ’
อธิบดีกรมประมงเปิดเผยว่า กรมประมงร่วมกับส่วนราชการในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจัดพิธีปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล และแสดงออกถึงความจงรักภักดี ที่พระองค์ทรงมีต่อพสกนิกร ปวงชนชาวไทย โดยพระองค์ทรงให้มี พระราชเสาวนีย์ให้กรมประมงปล่อยพันธุ์ปลาที่เจริญเติบโตเร็วลงแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อให้ราษฎรจับไปบริโภคในครัวเรือน เป็นการแก้ปัญหาขาดอาหารโปรตีนจากปลา นอกจากนี้ทรงมีพระราชดำริให้กรมประมงจัดทำโครงการฟื้นฟูทรัพยากรพันธุ์ปลาและสัตว์น้ำจืดของไทย เพื่อให้สัตว์น้ำของไทยในแหล่งน้ำธรรมชาติมีปริมาณเพิ่มขึ้น สำหรับพันธุ์สัตว์น้ำที่กรมประมงจัดเตรียมมาปล่อยในพิธีมีทั้งสิ้น 1,350,000 ตัว ได้แก่ กุ้งก้ามกราม จำนวน 350,000 ตัว และพันธุ์ปลาไทย 9 ชนิด ได้แก่ พันธุ์ปลากะโห้ ปลากราย ปลายี่สกไทย ปลาชะโอน ปลากาดำ ปลาสวาย ปลากดเหลือง ปลาตะเพียนทอง และปลาตะเพียนขาว จำนวน 1,000,000 ตัว นอกจากนี้ยังนำไปปล่อยในแหล่งน้ำสาธารณะอื่นที่มีความเหมาะสมทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ รวม 15,400,000 ตัว กิจกรรมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำที่จัดขึ้นนอกจากเป็นการเฉลิมพระเกียรติและ ถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 87 พรรษา 12 สิงหาคม 2562 แล้วยังเป็นการ อนุรักษ์สัตว์น้ำ น้ำจืด 10 สายพันธุ์ ให้คงอยู่แม่น้ำเจ้าพระยาตลอดไป ตลอดจนสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนร่วมอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำ และฟื้นฟูระบบนิเวศในพื้นที่ของตนอีกด้วย
กรมประมง…เตรียมระดมนักวิชาการตัวท็อปจากทั่วประเทศ โชว์สุดยอดงานวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดเศรษฐกิจ 27 – 28 ส.ค.
กรมประมงกำหนดจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดเศรษฐกิจ เพื่อนำไปสู่การผลิตแบบแปลงใหญ่ (เปิดบ้านงานเด่น กพจ.) ระหว่างวันที่ 27-28 สิงหาคม 2562 ณ ห้องประชุมอานนท์ กรมประมง ซึ่งภายในงานได้รวบรวมกิจกรรมที่น่าสนใจไว้มากมาย อาทิ การจัดเสวนาความรู้จากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน การโชว์ผลงานวิจัยที่โดดเด่นโดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดจากทั่วประเทศ การจัดแสดงนิทรรศการเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด ตลอดจนมีผลิตภัณฑ์ประมงจาก 4 ภูมิภาค ที่หาซื้อได้ยากมาจำหน่ายในงานดังกล่าวนี้ด้วย
นอกจากนี้มีการบรรยายผลงานวิจัยในหัวข้อที่น่าสนใจ อาทิ
1.นวัตกรรมเพื่อลดต้นทุนการผลิตลูกพันธุ์ปลานิลคุณภาพ
2.ต้นแบบความสำเร็จแปลงใหญ่สัตว์น้ำจืด 4.0
3.ยกระดับงานวิจัย กพจ. สู่ความมั่นคงในอาชีพของเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
4.มารู้จักปลากับกาสะลอง
5.มิติใหม่ของการนำผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ และการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านสัตว์น้ำสวยงาม และพรรณไม้น้ำ เพื่อการส่งออกสู่ตลาดโลก และอีกมากมาย
อีกทั้งยังมีการจัดแสดงนิทรรศการเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด อาทิ นิทรรศการโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ (สัตว์น้ำจืด) นิทรรศการวิจัยและพัฒนาประมงยอดดอยและพื้นราบสู่ผลสัมฤทธิ์เกษตรกรประมง เขต 1 นิทรรศการสัตว์น้ำควบคุม…คุณรู้หรือยัง นิทรรศการไข่มุกน้ำจืด อัญมณีมีชีวิต ฯลฯ
สถานการณ์ข่าวประจำสัปดาห์ของนิตยสารสัตว์บก
กรมปศุสัตว์ ผนึกกำลังกับ ซีพีเอฟ และผู้ประกอบการติวเข้มเกษตรรายย่อยทั่วอีสานร่วมป้องกัน ASF
กรมปศุสัตว์ ร่วมกับ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ บริษัทเวชภัณฑ์ และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ตั้งเป้าจัดอบรมแนะมาตรการป้องกัน ASF แก่เกษตรกรรายย่อยจนครบทั้ง 20 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภายในเดือนสิงหาคม 2562 นี้ และเดินหน้าดำเนินการในภูมิภาคอื่นๆ อย่างต่อเนื่องให้ครอบคลุมทั่วประเทศ สร้างความพร้อมเกษตรกรทั่วไทยร่วมเป็นเครือข่ายป้องกันโรค ASF ในสุกรที่เข้มแข็ง ตอกย้ำความเชื่อมั่นผู้บริโภคกระบวนการผลิตเนื้อหมูปลอดภัย สร้างโอกาสทางอาชีพให้เกษตรกร
น.สพ.ศีลธรรม วราอัศวปติ ปศุสัตว์เขต 4 กล่าวว่า เชื้อโรค ASF ไม่ติดต่อหรือส่งผลกระทบต่อมนุษย์ แต่เป็นโรคระบาดรุนแรงในสุกรที่ยังไม่มียารักษาหรือวัคซีนป้องกัน แม้ว่าในขณะนี้ยังไม่พบการระบาดโรคดังกล่าวในประเทศไทย ถ้าหากพบจะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ ทั้งทางตรงและทางอ้อมต่ออุตสาหกรรมการผลิตปศุสัตว์ รวมถึงผลกระทบด้านสังคมและความมั่นคงด้านอาหารของประเทศ กรมปศุสัตว์จึงได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชนในการดำเนินมาตรการป้องกันโรค ASF อย่างเต็มที่ อาทิ จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังและควบคุมโรค (War Room) ในระดับจังหวัด การตรวจเยี่ยมมาตรการป้องกันโรคของสถานประกอบการ และระดมความร่วมมือภาคเอกชน อย่าง ซีพีเอฟ จัดอบรมให้เกษตรกรทุกจังหวัดในภาคอีสาน พร้อมลงพื้นที่ให้ความรู้เพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรรายย่อยตื่นตัวและยกระดับการป้องกันโรคให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น
คณะทำงานขับเคลื่อนแผนบูรณาการพัฒนาพื้นที่ระดับภาคกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายคมสัน จำรูญพงษ์ และนายกฤษณพงศ์ ศรีพงษ์พันธุ์กุล) เป็นประธานการประชุมคณะทำงานขับเคลื่อนแผนบูรณาการพัฒนาพื้นที่ระดับภาคกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คณะที่ 2 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ครั้งที่ 2/2562 โดยมี น.สพ.ศีลธรรม วราอัศวปติ ปศุสัตว์เขต 4, น.สพ.เอกภพ ทองสวัสดิ์วงศ์ ปศุสัตว์เขต 3 พร้อมด้วยผู้อำนวยการส่วนยุทธศาสตร์และสารสนเทศการปศุสัตว์ สำนักงานปศุสัตว์เขต 4 เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมพรหมวรราช ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี ชั้น 4 อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี วันพฤหัสบดี ที่ 22 สิงหาคม 2562 เวลา 09.00 น. โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยหัวหน้าส่วนราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 200 คน
ออกตรวจติดตามการตรวจรับรองหลักการปฏิบัติที่ดีสำหรับศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ GMP
วันที่ 20 สิงหาคม 2562 ปศุสัตว์เขต 4 มอบหมายให้ส่วนมาตรฐานการปศุสัตว์กับสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดกาฬสินธุ์ ร่วมตรวจติดตามการตรวจรับรองหลักการปฏิบัติที่ดีสำหรับศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ GMP บริษัท กาฬสินธุ์แดรี่ฟูด จำกัด ตำบลโคกสมบูรณ์ อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อให้ผู้ประกอบการมีการจัดการศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบให้ได้มาตรฐาน เป็นการยกระดับการจัดการศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบที่ดี และเป็นการรักษาคุณภาพน้ำนมดิบให้มีคุณภาพก่อนส่งโรงงานผลิตภัณฑ์นม อีกทั้งเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคภายในประเทศ