สถานการณ์ข่าวประจำสัปดาห์ของนิตยสารพลังเกษตร
กล้วยน้ำว้า-พริกชี้ฟ้า-ข่า-ไผ่ พืชสร้างรายได้ ตลาดต้องการ ของเกษตรกรเมืองชล
นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ยางพารานับเป็นหนึ่งในสินค้าเกษตรสำคัญที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงสุด (Top4) ของจังหวัดชลบุรี โดยปัจจุบันพบว่า เกษตรกรจังหวัดชลบุรี มีการปลูกยางพาราในพื้นที่ที่มีความเหมาะสมมากและเหมาะสมปานกลาง (S1/S2) จำนวน 205,774 ไร่ เกษตรกรได้ผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) เฉลี่ย 1,475 บาท/ไร่ แต่การปลูกในพื้นที่ที่มีความเหมาะสมน้อย และไม่เหมาะสม (S3/N) ก็มีจำนวนไม่น้อยเช่นกัน จำนวน 105,695 ไร่ โดยได้ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย 165 บาท/ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 10 ของผลตอบแทนสุทธิในพื้นที่เหมาะสมเท่านั้น
อย่างไรก็ตามพบว่าหากเกษตรกรมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ (S3/N) ของยางพารา มาปลูกพืชอื่นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ (Top4) ของจังหวัด คือ ปาล์มน้ำมัน จะได้ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย 3,953 บาท/ไร่ มันสำปะหลังโรงงาน ได้ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย 214 บาท/ไร่ ส่วนสับปะรดโรงงาน ได้ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย 34,144 บาท/ไร่ ซึ่งแม้ว่าจะมีรายได้ที่ดีกว่าการปลูกยางพาราในพื้นที่ไม่เหมาะสม แต่ก็อาจเกิดปัญหาล้นตลาดได้ในอนาคต
สศก. ขานรับนโยบายเกษตรอินทรีย์ เร่งขับเคลื่อนแผน เพิ่มพื้นที่ให้ได้ 1.3 ล้านไร่ ตามเป้าในปี 65
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เปิดเผยว่า นโยบายสนับสนุนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ เป็นนโยบายสำคัญของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน) ซึ่งเน้นการบูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่ายและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การสร้างความสมดุลให้กับระบบนิเวศ ที่มีความปลอดภัยต่อทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนในประเทศ
สำหรับการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ สศก. ได้จัดทำ “แผนปฏิบัติการด้านเกษตรอินทรีย์ พ.ศ.2560-2565” โดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บท ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูปประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งบริบทต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยกำหนดวิสัยทัศน์ “ประเทศไทยเป็นผู้นำเกษตรอินทรีย์ในภูมิภาคอาเซียน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ภายในปี 2565” พร้อมทั้งเร่งผลักดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำแผนปฏิบัติการด้านเกษตรอินทรีย์ไปใช้เป็นกรอบในการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ไปสู่การปฏิบัติ เพื่อเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ ไม่น้อยกว่า 1.3 ล้านไร่ และเพิ่มจำนวนเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่า 80,000 ราย ภายในปี 2565 รวมทั้งเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรอินทรีย์เฉลี่ยร้อยละ 3 ต่อปี
สถานการณ์ข่าวประจำสัปดาห์ของนิตยสารสัตว์น้ำ
ซีพีเอฟ ฟิลิปปินส์ เปิดโครงการเลี้ยงปลาใน 3 โรงเรียน ฟิลิปปินส์
นายอุดมศักดิ์ อักษรภักดี กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร ฟิลิปปินส์ คอร์ปอร์เรชั่น หรือซีพีเอฟ ฟิลิปปินส์ พร้อมด้วย นางสาวไอดา มาคาลิเนา (Aida Macalinao) นายกเทศมนตรีเมืองซามาล สำนักงานการศึกษาเมืองซามาล และเมืองพิล่าห์ กำนันตำบลนากวาลิง สมาคมครูและผู้ปกครองโรงเรียน ร่วมเปิดโครงการเลี้ยงปลาในโรงเรียน (Fish Culture Project) สำหรับเป็นอาหารกลางวันแก่นักเรียนชั้นประถมศึกษาของโรงเรียนกูโกะ โรงเรียนอาซันชวอน และโรงเรียนนากวาลิง ประเทศฟิลิปปินส์ ให้สามารถเข้าถึงอาหารปลอดภัยและมีโภชนาการ ได้บริโภคอาหารที่เหมาะสม ช่วยให้เด็กมีการเจริญเติบโตและพัฒนาการที่สมวัย แก้ปัญหาทุพโภชนาการในเด็กและเยาวชน พร้อมถ่ายทอดความรู้นอกห้องเรียน ด้านการเลี้ยงปลา เพื่อให้แต่ละโรงเรียนสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องอย่างยั่งยืน
ชงครม. 2 โครงการช่วยเกษตรกรเหยื่อท่วม
นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ผลสำรวจความเสียหายด้านการประมงที่เกิดจากอุทกภัยพายุโพดุล และพายุคาจิกิ ล่าสุดพบเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ได้รับความเสียหาย 21 จังหวัด ประกอบด้วย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย พิจิตร กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ขอนแก่น นครพนม มหาสารคาม อุดรธานี อุบลราชธานี ยโสธร อำนาจเจริญ ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ สกลนคร ตราด สระแก้ว กาญจนบุรี และกระบี่ รวม 21,529 ราย พื้นที่เพาะเลี้ยงเสียหาย แบ่งเป็นบ่อดิน 21,900.82 ไร่ กระชัง/บ่อซีเมนต์ 20,491.75 ตารางเมตร โดยเบื้องต้นกรมประมงวางแนวทางเร่งช่วยเหลือแก่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2562 มีอัตราการช่วยเหลือ ดังนี้ กุ้งก้ามกราม กุ้งทะเล ปูทะเล หอยทะเล ไร่ละ 10,920 บาท ไม่เกินรายละ 5 ไร่ ปลา หรือสัตว์น้ำอื่น ไร่ละ 4,225 บาท ไม่เกินรายละ 5 ไร่ และกระชัง บ่อซีเมนต์ ตารางเมตรละ 315 บาท ไม่เกินรายละ 80 ตารางเมตร
ล่าสุดกรมเตรียมเสนอโครงการพัฒนาส่งเสริมการประกอบอาชีพทางเลือกด้านการประมง เพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย เนื่องจากพายุ “โพดุล” และ “คาจิกิ” 2 โครงการ ได้แก่ โครงการพัฒนาเสริมทางเลือกอาชีพด้านประมง : การเลี้ยงปลานิลแปลงเพศในบ่อดินงบประมาณ 260 ล้านบาท เป็นโครงการช่วยเหลือเกษตรกรให้ทำได้ทันทีหลังน้ำลด โดยตั้งเป้าเป็นเกษตรกรที่ประสบเหตุตั้งแต่เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2562 เป็นต้นมา และได้รับการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ทั้งนี้กรมจะเข้าไปสนับสนุนปัจจัยการผลิต อาทิ ลูกพันธุ์ปลานิลแปลงเพศ อาหารสัตว์น้ำ ฯลฯ ซึ่งโครงการนี้จะช่วยให้เกษตรกรฟื้นฟูอาชีพได้รวดเร็ว และโครงการสร้างรายได้จากอาชีพประมงในแหล่งน้ำชุมชน งบประมาณ 506.9080 ล้านบาท จากงบกลาง และงบรายจ่าย ของกรมประมง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2562 ซึ่งจะเป็นการเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำ ปล่อยกุ้งก้ามกรามลงในแหล่งน้ำชุมชน ในพื้นที่จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ปี 2562 เพื่อสร้างอาชีพและสนับสนุนให้ชุมชนมีส่วนร่วมบริหารจัดการแหล่งน้ำให้มีผลผลิตเพิ่มขึ้น
สถานการณ์ข่าวประจำสัปดาห์ของนิตยสารสัตว์บก
บมจ.อินเตอร์ ฟาร์มา’ ลุยโรดโชว์ 16 ต.ค.นี้ ให้ข้อมูลสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน ตอกย้ำผู้นำธุรกิจ รับเทรนด์ผู้บริโภคต้องการผลิตภัณฑ์เพื่อดูแลสุขภาพและชะลอวัย พร้อมเดินเกมรุกขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ
บมจ.อินเตอร์ ฟาร์มา’ หรือ IP ผู้นำธุรกิจด้านการพัฒนา คิดค้น และจำหน่าย ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและนวัตกรรมความงามสำหรับคน และผลิตภัณฑ์สุขภาพสำหรับสัตว์เลี้ยงและปศุสัตว์ ชี้เทรนด์ตลาดเสริมอาหารและวิตามินในไทยช่วง 5 ปีข้างหน้า (ปี 2562-2566) เติบโตเฉลี่ยปีละ 9.1% รับพฤติกรรมผู้บริโภคมุ่งดูแลสุขภาพเชิงป้องกันโรค หนุนการจับจ่ายซื้อสินค้าเพื่อดูแลสุขภาพของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น ด้านผู้บริหาร IP ชูจุดเด่นด้านผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายที่มีคุณภาพสูง ตอกย้ำการเป็นบริษัทชั้นนำด้านผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่มีคุณภาพและแตกต่าง พร้อมเร่งขยายช่องทางขายออกสู่ตลาดต่างประเทศ สร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดด ล่าสุดนำเสนอข้อมูลแก่นักลงทุนในวันที่ 16 ต.ค.นี้ เวลา 9.30-12.00 น. ณ ห้อง 704 ชั้น 7 อาคารตลาดหลักทรัพย์ฯ สร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน
ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์ของ IP มีความหลากหลายครอบคลุมทุกความต้องการของลูกค้า ตั้งแต่ผลิตภัณฑ์สุขภาพและชะลอวัยที่เน้นการสร้างสมดุลให้แก่อวัยวะภายในของร่างกาย หรือโภชนเภสัช ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ Probac7, Probac10 Plus, TS6, PreBO, Astacumin, Multivitamin และกลุ่มผลิตภัณฑ์นวัตกรรมความงาม ภายใต้แบรนด์ YUUU ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์โปรไบโอติคที่ช่วยดูแลสุขภาพช่องปาก และผิวพรรณ แบบบูรณาการ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาสีฟัน และมูสทำความสะอาดผิวหน้า และผลิตภัณฑ์ช่วยดูแลสุขภาพของจุดซ่อนเร้น เช่น TS6-Lady Health Mousse เป็นต้น
จากความหลากหลายของผลิตภัณฑ์และความมุ่งมั่นในการทำตลาดภายในประเทศ และการขยายไปสู่ตลาดต่างประเทศ เช่น กลุ่มประเทศ CLMV, ประเทศจีน, ประเทศญี่ปุ่น และประเทศเกาหลี จะช่วยสร้างการเติบโตให้แก่การดำเนินงานของบริษัทฯ ได้อย่างก้าวกระโดด
สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดอุทัยธานีตรวจประเมินมาตรฐานฟาร์มสุกรในพื้นที่จังหวัดอุทัยธานี
วันที่ 16 ตุลาคม 2562 กลุ่มพัฒนาคุณภาพสินค้าปศุสัตว์ ได้รับมอบหมายจาก นายนที เจนประเสริฐ ปศุสัตว์จังหวัดอุทัยธานี ให้ปฏิบัติงานร่วมกับสำนักงานปศุสัตว์อำเภอบ้านไร่ และสำนักงานปศุสัตว์อำเภอหนองฉาง ตรวจประเมินมาตรฐานฟาร์มสุกร พร้อมให้ความรู้ คำแนะนำ การป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ในพื้นที่อำเภอบ้านไร่ และอำเภอหนองฉาง พบว่าผู้ประกอบการได้ปฏิบัติตามหลักการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี สำหรับฟาร์มสุกร และมีระบบการควบคุมป้องกันโรคที่ดี
“ปศุสัตว์บึงกาฬตรวจเยี่ยม ให้กำลังใจ และร่วมวางแผนการเฝ้าระวังโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร”
น.สพ.ดร.สมพร พรวิเศษศิริกุล ปศุสัตว์จังหวัดบึงกาฬ พร้อมเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์จังหวัดบึงกาฬ เข้าตรวจเยี่ยมให้กำลังใจ และร่วมวางแผนการเฝ้าระวังป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ร่วมกับเจ้าหน้าที่ด่านกักกันสัตว์นครสวรรค์ และด่านกักกันสัตว์ขอนแก่น ที่มาปฏิบัติหน้าที่เฝ้าระวังโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ทั้งนี้โรคอหิวาต์แอฟริกานั้นเป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้ในสุกร ซึ่งในประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศนั้นเริ่มมีการระบาดมากขึ้น ทำให้กลุ่มหน่วยงานกรมปศุสัตว์จะต้องเข้ามาตรวจสอบและเฝ้าระวังกันเป็นอย่างมาก