สถานการณ์ข่าว ประจำสัปดาห์ของนิตยสารพลังเกษตร
สศก. ติดตาม เศรษฐกิจสังคมครัวเรือนเกษตรกรในพื้นที่โครงการเกษตรวิชญา จ.เชียงใหม่ สถานการณ์ข่าว
สศก. โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ (สศท.1) ได้ศึกษาภาวะเศรษฐกิจและสังคมครัวเรือนเกษตรของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการเกษตรวิชญา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำข้อมูลที่ได้จากการศึกษานี้ไปใช้เป็นแนวทางในการวางแผนดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่โครงการให้สอดคล้องกับความต้องการพัฒนาด้านการเกษตร รวมทั้งแก้ปัญหาทางการเกษตรในปัจจุบันได้
และจากการสำรวจเกษตรกรจำนวน 42 ราย ที่เข้าไปทำประโยชน์ในพื้นที่โครงการ ในปี 2560 พบว่า เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 41-50 ปี มีสมาชิกเฉลี่ยครัวเรือนละ 4 ราย รายได้เฉลี่ยครัวเรือนละ 229,564 บาท ประมาณร้อยละ 34 เป็นรายได้ทางการเกษตร 78,316 บาท และร้อยละ 66 เป็นรายได้นอกการเกษตร 151,248 บาท เช่น พนักงานรีสอร์ท ค้าขาย รับเหมาก่อสร้าง เป็นต้น
ด้านหนี้สิน พบว่า เกษตรกรหนี้สินเฉลี่ยครัวเรือนละ 132,643 บาท โดยเป็นหนี้สินในภาคการเกษตร 84,762 บาท และนอกภาคการเกษตร 47,881 บาท สำหรับแหล่งเงินกู้ส่วนใหญ่เป็นเงินกู้ ในระบบ ได้แก่ ธ.ก.ส. กองทุนหมู่บ้าน สหกรณ์ เป็นต้น เกษตรกรส่วนใหญ่ต้องการให้สนับสนุนด้านเงินทุนและการบรรเทาปัญหาหนี้สิน โดยเฉพาะการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ การสนับสนุนเงินทุนอัตราดอกเบี้ยต่ำ และการพักชำระหนี้
การใช้ประโยชน์ในพื้นที่โครงการ ปีเพาะปลูก 2560/61 เกษตรกรส่วนใหญ่จะปลูกพืชทั้งแปลงในและนอกโครงการในลักษณะเดียวกัน คือ 1 รอบปีเพาะปลูก (เดือนพฤษภาคม 2560-เมษายน 2561) จะหมุนเวียนปลูกพืช 4 ชนิด ได้แก่ หอมหัวใหญ่ ถั่วแขก กะหล่ำปลี และคะน้า
ซึ่งพืชเศรษฐกิจหลักของโครงการ คือ หอมหัวใหญ่ จะปลูกในช่วงฤดูหนาว ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2560 และเก็บเกี่ยวจนถึงเดือนเมษายน 2561 ช่วงเวลาที่รอเพาะปลูกหอมหัวใหญ่ เกษตรกรจะปลูกพืชผักอื่นๆ แต่บางรายปล่อยเป็นพื้นที่ว่างเปล่า และจะเข้าไปใช้ประโยชน์เมื่อถึงฤดูกาลเพาะปลูกหอมหัวใหญ่เท่านั้น ซึ่งเกษตรกรที่เข้ามาใช้ประโยชน์จากที่ดินของโครงการสามารถเพาะปลูกพืชเพื่อสร้างรายได้ให้กับครอบครัวเพิ่มขึ้น
ด้านนายธวัชชัย เดชาเชษฐ์ ผู้อำนวยการ สศท.1 กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับหอมหัวใหญ่ที่ปลูกในพื้นที่โครงการฯ มีผลผลิตเฉลี่ยไร่ละ 3,284 กิโลกรัม ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 8 บาท เกษตรกรได้รับผลตอบแทนเฉลี่ยไร่ละ 26,273 บาท เมื่อหักต้นทุนการผลิตได้รับผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ยไร่ละ 1,878 บาท
ทั้งนี้เกษตรกรส่วนใหญ่ ประสบปัญหาด้านศัตรูธรรมชาติ โดยเฉพาะโรคพืช ร้อยละ 74 และด้านแมลง ร้อยละ 50 ซึ่งเกษตรกรใช้วิธีการกำจัดศัตรูพืชและแมลงโดยใช้สารเคมีเป็นส่วนใหญ่ และต้องการให้ภาครัฐเข้ามาอบรมให้ความรู้ด้านการดูแลผลผลิต การจัดการโรคพืชศัตรูพืชและแมลง โดยใช้สารชีวภัณฑ์และสารชีวมวลทดแทนสารเคมี เพื่อลดต้นทุนการผลิต ทำให้ผลผลิตมีคุณภาพ ปลอดภัย
รวมทั้งส่งเสริมการปลูกพืชทางเลือกที่มีศักยภาพ และมีตลาดรองรับในพื้นที่สูงให้แก่เกษตรกร ส่งเสริมการทำบัญชีครัวเรือน และส่งเสริมให้รวมกลุ่มเพื่อบริหารจัดการการผลิตและการตลาดร่วมกัน เป็นต้น
วันถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตข้าวระดับประเทศ
วันที่ 5 มิถุนายน 2562 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตข้าวระดับประเทศ เนื่องในวันข้าวและชาวนาแห่งชาติ ประจำปี 2562 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-7 มิถุนายน 2562 ณ กรมการข้าว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ ภายใต้แนวคิด “ชาวนายุคใหม่ พัฒนาข้าวไทย ก้าวไกลสู่สากล”
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ไทย และพระราชวงศ์ทุกพระองค์ ที่ทรงให้ความสำคัญต่อกิจการด้านข้าวมาโดยตลอด รวมทั้งเชิดชูเกียรติชาวนาที่ได้เสียสละปลูกข้าวให้คนไทยได้มีอาหารบริโภคอย่างสมบูรณ์ตลอดมา
ในการนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร นำโดย นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ร่วมเฝ้ารับเสด็จฯ ด้วย โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้ร่วมจัดนิทรรศการในหัวข้อแอปพลิเคชัน “ฟาร์ม D” นวัตกรรมสู่อนาคต ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันสำหรับเกษตรกรที่สามารถใช้ออกแบบฟาร์มได้ด้วยตัวเอง โดยเป็นเครื่องมือในการวางแผนการผลิตให้เกษตรกรใช้ในการวิเคราะห์ วางแผน และตัดสินใจผลิตพืช หรือสินค้าเกษตรที่เหมาะสมได้ด้วยตัวเกษตรกรเอง
สถานการณ์ข่าว ประจำสัปดาห์ของนิตยสารสัตว์น้ำ
ประเทศไทยจับมือติมอร์-เลสเต เพื่อทำการสำรวจน่านน้ำในทะเล
นายไพบูลย์ บุญลิปตานนท์ ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาประมงทะเล เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าวเป็นการดำเนินการภายใต้บันทึกความเข้าใจ (MOU) เรื่องความร่วมมือด้านวิชาการและเศรษฐกิจระหว่างราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต
การสำรวจครั้งนี้มีหัวข้อวิจัย ได้แก่ ด้านทรัพยากรประมง ด้านสมุทรศาสตร์และด้านมลพิษทางทะเลและความปลอดภัยทางอาหาร โดยการสำรวจด้านทรัพยากรประมงจะใช้เครื่องมือทำการประมงอวนลอย เบ็ดราวปลาผิวน้ำ เบ็ดราวหน้าดิน อวนลากกลางน้ำ และลอบปลา รวมทั้งศึกษาชีววิทยาของสัตว์น้ำ การแพร่กระจายของลูกสัตว์น้ำวัยอ่อน และแพลงก์ตอน
นอกจากนี้ยังศึกษาเรื่องไมโครพลาสติกในน้ำทะเล และส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลสัตว์น้ำอาจกินอาหารปนเปื้อนของไมโครพลาสติกได้ การศึกษาเรื่องดังกล่าวจึงมีความสำคัญและกำลังเป็นที่สนใจระดับโลก การสำรวจครั้งนี้เป็นการสำรวจในทะเลอาณาเขต และเขตเศรษฐกิจจำเพาะของติมอร์-เลสเต ซึ่งเป็นประเทศที่อยู่ทิศตะวันออกของประเทศอินโดนีเซีย และอยู่เหนือประเทศออสเตรเลีย โดยมีลูกเรือและนักวิจัยของไทย 37 คน และนักวิจัยจากติมอร์-เลสเต 10 คน ร่วมสำรวจครั้งนี้
ผู้ประกอบการเรือประมงเฮ ! ! ! กรมประมงเซ็นเช็คจ่ายชดเชยเรือประมง
กรมประมงเซ็นเช็คจ่ายชดเชยเรือประมง ออกนอกระบบ ระยะที่ 1 แล้วกว่า 27 ล้านบาท
นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า จากการที่กรมประมงได้มีการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมเจ้าท่า สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย และชาวประมง ในการซักซ้อมความเข้าใจถึงแนวทางปฏิบัติวิธีจ่ายค่าชดเชยเรือประมงที่นำออกนอกระบบ ระยะที่ 1 (ระยะเร่งด่วน)
ช่วงที่ 1 ตามนโยบายของรัฐบาลในการดำเนินการจ่ายค่าชดเชยเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวประมงอย่างเร่งด่วนไปแล้ว ได้มีเจ้าของเรือประมงที่ได้รับค่าชดเชยเข้ามายื่นเอกสารทำสัญญาแล้วจำนวน 248 ลำ โดยมีเรือที่ได้ผ่านการเห็นชอบสัญญาแล้วจำนวน 203 ลำ ส่วนเรืออีก 45 ลำ นั้นอยู่ในระหว่างการดำเนินการทางด้านเอกสาร
สำหรับความก้าวหน้าของการจ่ายเงินค่าชดเชย ขณะนี้มีเรือประมงที่ได้รับการอนุมัติการจ่ายเงินค่าชดเชยแล้ว จำนวน 144 ลำ จากจำนวน 203 ลำ โดยจากข้อมูล ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2562 ได้มีการทยอยจ่ายเงินค่าชดเชยดังกล่าวให้กับเจ้าของเรือประมงไปแล้วจำนวน 53 ลำ เป็นจำนวนเงิน 27,933,730 บาท ส่วนเรือประมงที่เหลือนั้น อยู่ในระหว่างการเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด
สถานการณ์ข่าว ประจำสัปดาห์ของนิตยสารสัตว์บก
รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ต้อนรับคณะผู้ตรวจประเมินรางวัลเลิศรัฐ ตรวจกลุ่มวิสาหกิจชุมชนรักษ์แพะบางบัวทอง
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ มอบหมายให้ นายสุรเดช สมิเปรม รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ต้อนรับคณะผู้ตรวจประเมินรางวัลเลิศรัฐ สาขาบริการภาครัฐ พ.ศ.2562 พร้อมด้วย นายชูฤทธ์ เสนีย์มโนมัย ปศุสัตว์จังหวัดนนทบุรี และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง โดยมีนายทวีสิฎฐ์ บุญญาภิบาล หัวหน้ากลุ่มพัฒนาระบบบริหาร เป็นผู้นำเสนอผลงาน
“วิสาหกิจชุมชนรักษ์แพะบางบัวทอง ผู้เปลี่ยนสิ่งที่สังคมรังเกียจสู่ผลิตภัณฑ์ Hi-end” ณ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนรักษ์แพะบางบัวทอง อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี โดยการตรวจประเมินครั้งนี้ได้พาคณะผู้ตรวจประเมินรางวัลฯ เยี่ยมชมฟาร์มแพะ ขั้นตอนการรีดนมแพะ สาธิตการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ (แปรรูปน้ำนมแพะเป็นสบู่) และแพร่ภาพสด (Live) การผลิตนมแพะพาสเจอร์ไรส์ จากศูนย์การเรียนรู้การแปรรูปผลิตภัณฑ์นมแพะ
รมว.เกษตรฯ แจงราคาไข่ไก่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง หลังใช้มาตรการปรับสมดุลการผลิตให้สอดคล้องความต้องการตลาด
เปิดเผยว่า ปัจจุบันราคาไข่ไก่อยู่ที่ประมาณ 3 บาท/ฟอง และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
การแก้ปัญหาราคาไข่ไก่อย่างจริงจังเริ่มตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนรายใหญ่ และเกษตรกรผู้เลี้ยง ในการให้ความร่วมมือตามมาตรการที่กรมปศุสัตว์กำหนด ทำให้ราคาไข่ไก่ขยับขึ้นใกล้เคียงต้นทุนการผลิต ช่วยให้เกษตรกรสามารถต่อยอดอาชีพต่อไป
หลังจากนี้จะยังคงสานต่อมาตรการเพื่อให้ราคาไข่ไก่มีเสถียรภาพ จากมาตรการส่งออกไข่ไก่ที่ยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับในขณะนี้เป็นช่วงที่โรงเรียนเปิดภาคเรียน ราคาไข่ไก่น่าจะดีขึ้นตามลำดับจากการบริโภคที่เพิ่มขึ้น” นายกฤษฎา กล่าว และในระยะยาว กระทรวงเกษตรฯ ได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ไก่ไข่ ระยะที่ 3 (62-66) เพื่อทบทวนยุทธศาสตร์เดิม และเพิ่มเติมเรื่องการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
ทั้งการลดต้นทุนการผลิต การส่งเสริมการบริโภค การสร้างมูลค่าเพิ่ม รวมถึงการบริหารจัดการปริมาณการเลี้ยงที่เหมาะสม ตลอดจนการจับคู่ระหว่างเกษตรกรผู้เลี้ยงรายย่อยกับผู้ซื้อโดยตรง และการสร้างแรงจูงใจต่างๆ ให้กับเกษตรกรที่ปฏิบัติตามมาตรการแก้ปัญหาอีกด้วย สถานการณ์ข่าว สถานการณ์ข่าว