แพทย์เฉพาะทาง เตือนผู้บริโภคกินหมูดิบ เสี่ยงติดเชื้อโรคไข้หูดับ ย้ำปรุงสุกเท่านั้นเพื่อความปลอดภัย แนะสายชาบู-ปิ้งย่าง สำคัญต้องแยกตะเกียบคีบหมูสุกและหมูดิบ พร้อมไขความจริงแอลกอฮอล์ในเครื่องดื่มไม่ช่วยฆ่าเชื้อโรคในอาหาร
การติดเชื้อโรคไข้หูดับ
นายแพทย์ต้นกล้า พลางกูร แพทย์เฉพาะทางสาขาวิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เปิดเผยว่า “ไข้หูดับ” เป็นโรคติดต่อจากหมูสู่คน เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย สเตรปโตคอคคัส ซูอิส (Streptococcus suis: S. suis) ที่พบเฉพาะในหมูโดยไม่พบในสัตว์ชนิดอื่นๆ และไม่มีรายงานพบการติดเชื้อจากคนสู่คน
สาเหตุของโรคไข้หูดับ
สาเหตุที่พบโรคนี้บ่อยที่สุด คือ การกินหมูดิบที่ปนเปื้อนเชื้อ ทำให้ร่างกายได้รับเชื้อและเกิดการติดเชื้อ แต่หากนำเนื้อหมูไปปรุงสุกจะทำให้เชื้อตาย และสามารถกินได้อย่างปลอดภัย ดังนั้นการไม่กินหมูดิบจึงเป็นการป้องกันการติดโรคได้ดีที่สุด อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีตัวเลขยืนยันแน่นอนถึงปริมาณที่กินเข้าไปว่าจำนวนเท่าไหร่จึงทำให้เกิดการติดเชื้อ เพราะไม่สามารถรู้ได้ว่าปริมาณเชื้อในเนื้อหมูปริมาณเท่าใด และยังมีอีกหลายปัจจัย อาทิ ภูมิคุ้มกันของผู้บริโภคแต่ละคน หากภูมิคุ้มกันไม่ดีแม้ได้รับเชื้อเพียงเล็กน้อยก็สามารถฟักตัวในร่างกายและเพิ่มปริมาณขึ้นมาได้
อาการของโรคไข้หูดับ
ส่วนอาการ “หูดับ” มาจากที่พบการติดเชื้อของแบคทีเรียชนิดนี้ได้บ่อยในบริเวณเยื่อหุ้มสมอง ซึ่งอยู่ใกล้กับหูชั้นใน เมื่อเชื้อแพร่กระจายไปบริเวณหูชั้นในแล้วจะเกิดการอักเสบและทำให้การได้ยินลดลงได้ถึง 75% เกิดภาวะหูดับถึงเกณฑ์หูหนวก ซึ่งการรับเชื้อจะมีระยะฟักตัวประมาณ 3-4 วัน จึงเริ่มมีอาการ ไข้สูง ซึมลง ปวดศรีษะ คอแข็ง ชักเกร็ง หมดสติ และหากติดเชื้อในกระแสเลือดสามารถทำให้เสียชีวิตได้ สำหรับวิธีการรักษา ทางการแพทย์จะให้ยาฆ่าเซื้อจำเพาะในตำแหน่งของการติดเชื้อ เมื่อผู้ป่วยหายแล้ว แต่หากกลับไปกินหมูดิบหรือไปสัมผัสตัวเชื้อจนได้รับเชื้อก็สามารถกลับมาติดโรคนี้ได้อีก
ประเทศที่พบผู้ป่วยติดเชื้อไข้หูดับได้บ่อย อาทิ ไทย เวียดนาม และจีน พบว่าการเกิดโรคสัมพันธ์กับพฤติกรรมการกินหมูดิบ โดยประเทศไทยพบมากที่ภาคเหนือ ซึ่งมีวัฒนธรรมชื่นชอบการกินหมูดิบ ทั้งยังมีความเชื่อในกลุ่มสายนักดื่มที่ว่าแอลกอฮอลล์ในเครื่องดื่มจะช่วยฆ่าเชื้อโรคได้ ซึ่งเป็นความเชื่อที่อันตรายมาก การดื่มแอลกอฮอล์คู่กับอาหารปรุงไม่สุก อาจจะทวีคูณความรุนแรงของโรคได้ เพราะแอลกอฮอล์ทำให้ภูมิคุ้มกันลดลง โดยเฉพาะผู้ที่ดื่มเป็นประจำจนถึงขั้นเป็นตับแข็ง ภูมิคุ้มกันจะไม่ดี การที่รับเชื้อเข้าไปเพียงเล็กน้อย ก็อาจทำให้การติดเชื้อรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ทั้งนี้วิธีรับประทานเนื้อหมูอย่างปลอดภัย คือ ทำให้หมูสุก ไม่ว่าจะจากการ ต้ม ตุ๋น ผัด แกง หรือปิ้งย่าง โดยสังเกตสีของเนื้อหมู ถ้าสียังเป็นสีแดงหรือมีเลือดฉ่ำอยู่ อาจจะยังมีเชื้อโรคที่ยังไม่ตาย จึงควรทำให้สุกจนสีเปลี่ยนจากสีแดงกลายเป็นสีหมูสุก และที่ต้องระวังอย่างมาก คือ การปนเปื้อนข้าม โดยเฉพาะเวลากินชาบูหรือปิ้งย่าง ตะเกียบที่ใช้แนะนำว่าควรแยกตะเกียบในการคีบระหว่างหมูดิบและหมูที่สุกแล้ว
การป้องกันโรคไข้หูดับ
ด้านการป้องกันโรคที่ดี ต้องเริ่มจากการเข้าใจถึงสาเหตุของโรค วิธีหลีกเลี่ยงและป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น เพราะนอกจากการรับประทานแล้ว เชื้อโรคในหมูสามารถเข้ามาสู่คนได้หลายวิธี โดยเชื้อจะอยู่ในตัวของหมูทั้งที่ยังมีชีวิตและชำแหละแล้ว ตามเยื่อบุต่างๆ เยื่อจมูก ทางเดินหายใจ ลำไส้ และสารคัดหลั่ง ไม่ว่าจะเป็นน้ำมูก น้ำลาย รวมถึงในเลือดของหมู หากมือสัมผัสโดนสารคัดหลั่งแล้วมีช่องทางให้เชื้อโรคเข้าได้ เช่น มีบาดแผล หรือสัมผัสกับดวงตาก็สามารถติดเชื้อเข้าสู่กระแสเลือดได้ ดังนั้น อาชีพที่ต้องมีการสัมผัสหมู ทั้งเกษตรกรผู้เลี้ยง โรงชำแหละ ผู้จำหน่าย รวมถึงผู้ประกอบอาหาร แนะนำให้ใส่อุปกรณ์ป้องกัน ไม่ว่าจะเป็นถุงมือ หรือหน้ากาก และหลังทำงานเสร็จทุกครั้งต้องล้างมือให้สะอาด
นายแพทย์ต้นกล้า ย้ำถึงผู้บริโภคว่า โรคไข้หูดับ เป็นโรคที่อันตรายถึงขั้นเสียชีวิต แต่เป็นโรคที่ป้องกันได้ เพียงผู้บริโภคตระหนักถึงอันตรายของโรค สาเหตุการเกิดโรค และการป้องกันโรค สำหรับผู้บริโภคที่ชื่นชอบการกินหมูดิบ หากทราบถึงอันตรายและโทษ ก็อาจจะช่วยให้เขาสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินได้ ส่วนอาชีพที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการสัมผัสหมู ควรได้รับข้อมูลเพียงพอถึงวิธีการและให้ความสำคัญกับการป้องกันมากขึ้น จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดโรคได้มากขึ้น