การเลี้ยงกุ้งในปัจจุบันจำเป็นต้องอาศัยระบบไฟฟ้าเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนกระบวนการต่างๆ อย่างไรก็ตาม แม้ไฟฟ้าจะเป็นประโยชน์อย่างมหาศาล แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่ามันยังคงมีอันตรายแฝงอยู่หากใช้งานอย่างไม่ระมัดระวัง จึงเสมือนเป็น “ดาบสองคม” ที่สามารถนำพามาซึ่งทั้งคุณและโทษได้ในคราวเดียวกัน
ความสำคัญในการจัดการระบบไฟฟ้าในนากุ้ง
ดังนั้น หลังจากเรื่องพื้นฐานของการติดตั้งระบบไฟฟ้าในฟาร์มกุ้งแล้ว สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือการให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในการใช้งาน เพื่อลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุและการสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นได้ ประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาร่วมกันคือ การลดค่าไฟที่สูญเปล่าและสิ้นเปลืองเกินความจำเป็น โดยอาจจะต้องมีการทบทวนกระบวนการทำงานของอุปกรณ์ไฟฟ้าบางชนิด เช่น ปั๊มน้ำหรือใบพัดให้อากาศ ว่าจะสามารถปรับปรุงแก้ไขให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้หรือไม่นอกจากนี้ การนำพลังงานทดแทนโดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ผ่านระบบโซลาร์เซลล์มาใช้ในฟาร์มก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจเช่นกัน
หนึ่งในหัวข้อการบรรยายใน งานวันกุ้งจันท์ ครั้งที่ 28ที่สำคัญเรื่องนี้ ได้รับการบรรยายโดยดร.ชวพร บำรุงพฤกษ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมเกษตรและเทคโนโลยี จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก มหาวิทยาลัยเกษตรบางพระหัวข้อ การจัดการระบบไฟฟ้าในนากุ้งโดย ดร.ชวพร ได้อธิบายว่า ระบบไฟฟ้าเป็นสิ่งจำเป็นที่อยู่รอบตัวเราในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่การใช้งานอุปกรณ์ชาร์จแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือ การใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ไปจนถึงการประกอบกิจกรรมต่างๆ ในฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ระบบไฟฟ้าสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก คือ ไฟฟ้ากระแสตรงและไฟฟ้ากระแสสลับ โดยมีต้นกำเนิดมาจากการผลิตกระแสไฟฟ้ากระแสสลับผ่านวิธีการต่างๆ เช่น การใช้พลังงานน้ำ ไอน้ำ หรือแก๊ส ขับเคลื่อนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า หลังจากนั้นจึงมีการแปลงกระแสและแรงดันไฟฟ้าเพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานในแต่ละประเภท โดยมีหน่วยงานหลักอยู่ 3 แห่ง ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าภูมิภาค ทำหน้าที่ผลิต จัดส่ง รวมถึงดูแลบำรุงรักษาระบบไฟฟ้าให้แก่ผู้ใช้งานทั้งระดับครัวเรือนและระดับอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ ดร.ชวพร ยังอธิบายถึงแนวทางการเตือนภัยจากระบบไฟฟ้าและป้องกันตนเอง เพราะในการใช้งานระบบไฟฟ้า มีประเด็นสำคัญที่ต้องระวังอันตรายจากการลัดวงจรและไฟฟ้าดูด ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่อาจนำไปสู่การสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินได้การลัดวงจรนั้นมักเกิดจากสายไฟแตก ขาดฟิวส์ หรือใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่ได้มาตรฐาน ส่งผลให้เกิดไฟไหม้อย่างรวดเร็ว ผู้เชี่ยวชาญแนะนำวิธีป้องกันด้วยการเลือกใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสม ดูแลบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ ใช้อุปกรณ์มาตรฐาน และพิจารณาระดับการป้องกันอันตรายตามค่า IP
แนวทางการเตือนภัยจากระบบไฟฟ้าและป้องกันตนเอง
นอกจากนี้ ไฟฟ้าดูดก็เป็นอีกอันตรายร้ายแรง โดยเกิดจากการสัมผัสระบบไฟฟ้าทำให้กระแสไหลผ่านร่างกาย ซึ่งมีรายงานเคยพบผู้เสียชีวิตจากกรณีนี้ถึง 8 รายแล้ว วิธีป้องกันคือการติดตั้งสายดินที่มีความต้านทานไฟฟ้าต่ำกว่า 5 โอห์ม รวมถึงใช้อุปกรณ์ตัดตอนวงจรไฟรั่ว เช่น เอิร์ทลีกหรือเซฟตี้คัท ทั้งนี้ ดร.ชวพร ย้ำให้เกษตรกรตระหนักถึงความปลอดภัยในการใช้งานระบบไฟฟ้า และปฏิบัติตามวิธีป้องกันอย่างเคร่งครัด เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้
“ สิ่งปกติของการใช้งานระบบไฟฟ้าจะแบ่งออกเป็น 2 หัวข้อหลักๆ ด้วยกัน อันที่ 2.1 หัวข้อการลัดวงจร คือ ช็อตเลย การป้องกันการลัดวงจรมีอยู่ 4 หัวข้อที่สำคัญ 4 หลักด้วยกัน อันที่ 1.เลือกอุปกรณ์ป้องกันที่เหมาะสม อาจจะราคาแพงหน่อย และเราดูอุปกรณ์ตรงไหนที่มันใช้โหลดที่มีกระแสสูงเลือกเลย2.ดูแลบำรุงรักษาเป็นประจำ มีการตรวจเช็ค ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องวัด แค่ใช้สายตาตรวจสอบเบื้องต้นดูก็ได้ 3.เลือกใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่มี มอก. และใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างถูกวิธีคู่มือตามการใช้ 4.ตรวจสอบแคปซูลที่ห่อหุ้มหรือตัวที่ห่อหุ้ม บางครั้งมันจะมี IP บอก อย่างเช่น IP 55 คือ ตัวแรกป้องกันฝุ่นได้ 5 ตัวหลังป้องกันน้ำได้บ้าง แต่ถ้ามันเป็นเลข6หรือ8 เมื่อไหร่ มันสามารถอยู่ใต้น้ำและทำต่อสายไฟหมุนได้เลยป้องกันน้ำได้เลยนี่ก็เป็น IPโพรเทคชันเพราะว่ามีความสำคัญเหมือนกันกับงานที่เป็นระบบบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ หรือฟาร์ม กุ้ง ปลา พวกนี้ บางครั้งเราอาจจะต้องเข้าใจในเรื่องของโพรเทคชันตัวนี้ด้วย อันที่ 2.2 เรื่องของไฟฟ้าดูด ประเด็นหลักเคยเห็นมาแล้ว 8 คน ที่เสียชีวิต หรือการเสียชีวิตโดยไม่น่าเกิด โดยทั่วไปไฟฟ้าดูดเกิดจากเราไปสัมผัสระบบไฟฟ้า ไฟฟ้าก็จะไหลลงผ่านตัวเรา แต่ของเราจะสัมผัสลงดินมันก็จะลงดิน ไหลลงดินไปเสร็จมันก็จะวิ่งไปเข้าหม้อแปลง และหม้อแปลงมันก็จะออกสายไลน์วิ่งเข้ามาสายไลน์ที่เราสัมผัสอีกที วนกันอยู่อย่างนี้ วิธีการป้องกัน เราก็ใช้ตัวหลักกราวน์ป้องกัน ความต้านทานของคนเรามันอยู่ที่ประมาณ 1,000 โอห์ม สมมุติ แต่จะขึ้นอยู่กับความชื้นของร่างกายด้วย การเปียกน้ำด้วย มันก็จะต่ำลงเรื่อยๆ แต่ถ้าวันใดทำให้มันต่ำกว่า 5 โอห์ม มันก็ยังช่วยเราได้ ไฟฟ้าที่มันไหลมันก็จะไม่ลงที่ความต้านทานที่สูงกว่า มันก็ลงไปที่ความต้านทานที่ต่ำกว่า ไม่ย้อนเข้าหาคน 5 โอห์ม ก็ถือว่ามาตรฐานที่เขาใช้งาน ยังมีอีกตัวที่เราเรียกว่าป้องกันไฟดูด โดยปกติสายไฟ 2 สาย ทั้งไปและกลับ สมมติว่ามันวิ่งไปที่อุปกรณ์ไฟฟ้า 10 แอมป์ พอมันวิ่งออกมาก็ต้อง 10 แอมป์ ถ้าเกิดใครซ่อมแอร์จะรู้ เพราะที่ L กับ N มันจะมีไฟด้วย เป็นไปและกลับ รอบสายตัวนำ เมื่อมันไป 10 แอมป์ และกลับ 10 แอมป์ แม่เหล็กมันจะเท่ากัน เขาเอาตัวนี้มาหักล้างให้เป็นศูนย์ แต่ถ้าเมื่อใดมันไหลผ่านร่างกายมนุษย์ไป 0.2 แอมป์ ขากลับไม่เท่าแล้ว การหักล้างของแม่เหล็กตัวนี้จะมีค่าความแตกต่างแล้วมันไปฝังชิพ เราเรียกว่าเอิร์ทลิส หรือเซฟทีคัท ที่เราใช้ แม่เหล็กที่อยู่รอบๆ มาหักล้างกัน ถ้าไฟรั่วมันไม่เท่ากัน เอาไปใช้ในการตัดต่อวงจร อันนี้ก็เป็นประเด็นหลักในเรื่องของความปลอดภัย” ดร.ชวพรอธิบายถึงแนวทางการเตือนภัยจากระบบไฟฟ้าและป้องกันตนเอง
ประเด็นหลักสำคัญในการลดต้นทุนคือการลดค่าไฟฟ้า
ดร.ชวพร ยังยกประเด็นเรื่องของต้นทุนหลักที่สำคัญคือค่าไฟฟ้า โดยเฉพาะค่าไฟสำหรับการตีน้ำให้ออกซิเจนเพียงพอ ทางแก้ปัญหาหนึ่งที่น่าสนใจคือการติดตั้งตู้แคปแบงค์ เพื่อปรับปรุงค่าพาวเวอร์แฟคเตอร์ให้สูงขึ้น ช่วยลดความสูญเสียกำลังไฟฟ้าในระบบและหม้อแปลง จากการวิเคราะห์พบว่าค่ากำลังไฟฟ้ารวมจากหลายแหล่งนั้น ไม่ได้เป็นการบวกเลขธรรมดา แต่ต้องคำนึงถึงการรวมกำลังแบบเวกเตอร์ด้วยนอกเหนือจากการบริหารจัดการด้านพลังงานแล้ว การควบคุมปัจจัยต่างๆ อาทิ ค่า pH อัลคาไลน์ ออกซิเจนที่ละลายน้ำ และแพลงก์ตอน ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ส่งผลต่อสภาพแวดล้อมและสุขภาพของกุ้ง การจัดการฟาร์มที่มีประสิทธิภาพจะช่วยเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนการผลิตได้
“การลดค่าไฟในฟาร์มเลี้ยงกุ้ง อันนี้เป็นสิ่งที่เราต้องการเลย เพราะว่าเงินในแต่ละทุกเดือนมันเป็นเงินที่มหาศาลพอสมควรในการเลี้ยง มาดูประเด็นที่ปลายทางก่อน เราเคยพูดถึงในเรื่องของตัวแคปแบงค์บ้างไหม แต่ละฟาร์มมีตู้แคปแบงค์หรือเปล่า แต่ในอุตสาหกรรมใหญ่ๆเขามีตู้แคปแบงค์ ผลของมันจะทำให้ค่าพาวเวอร์แฟคเตอร์ ต้องถูกปรับให้สูงขึ้นด้วย ถ้าใส่เข้าไปแล้วมันจะช่วยแก้ ถ้าต่ำลงมันจะทำให้เกิดความสูญเสียกำลังในระบบไฟฟ้า ช่วยลดความสูญเสียของระบบไฟฟ้าในหม้อแปลง มันจะร้อนผิดปกติเลย ถ้าเรายังไม่แก้ไขมัน แทนที่จะไปพลังงานที่หมุนไป เพลาของใบตีน้ำจะดันไปเผาทิ้งเหมือนฮีตเตอร์โดยไร้ประโยชน์ เอาแค่พาวเวอร์แฟคเตอร์ ก่อน ถ้าเราแก้ไขมันได้ อันนี้ก็คืออ้างอิงจากตัวอย่างข้อมูลที่เก็บมาได้คือเขาลดได้จริงๆ ลดลงมาอย่างเห็นผลจริงๆ แต่สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ทุกสิ่งทุกอย่างมันเกิดขึ้นจากความเป็นธรรมชาติ ถ้าเราเข้าใจกับความเป็นธรรมชาติ เราก็จะสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ในระดับนึง เพราะทุกอย่างเราเรียกระบบนิเวศทั้งหมดเลย ไม่ว่าจะเป็นฟาร์มต่างๆ และสิ่งที่สำคัญของฟาร์มกุ้งเอง มันจะเกิดสิ่งต่างๆ ที่ให้เห็น แก๊สที่ไม่พึงประสงค์ แก๊สพิษที่จะส่งผลต่างๆ กับกุ้ง ทำให้เกิดอะไรก็แล้วแต่ ผลที่มันเกิดขึ้นมันก็ส่งผลจากค่าระบบนิเวศภายในบ่อ มีผลต่อการควบคุมต่างๆ และก็จะส่งผลต่อออกซิเจนที่อยู่ในน้ำด้วย มันจะเป็นที่มาที่ไปของตัวตีน้ำกับควบคุมจุลินทรีย์ในน้ำที่มันเกิดขึ้นมาตอนนี้ก็เลยมามองในเรื่องของตัวแจ้งเตือน การวัด โดยปกติเราก็มองในลักษณะของการใช้งานเรื่องของตัวเซ็นเซอร์ที่ใช้วัด เซ็นเซอร์ก็มีประเด็นอีก ใช้แล้วเดี๋ยวก็พัง ไม่เที่ยงตรง”
การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยจัดการระบบ
ดร.ชวพร บอกอีกว่า ทุกวันนี้สามารถนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการจัดการเพิ่มมากขึ้นได้ อย่างพวกเทคโนโลยีใหม่ที่อาศัยระบบจีพีเอสจากโครงการทางทหารของสหรัฐในปี 1960 มาช่วยติดตามสภาพแวดล้อมในฟาร์มเลี้ยงกุ้ง ระบบนี้ใช้ดาวเทียมวงโคจรสูงประมาณ 20,000 กิโลเมตร ร่วมกับเซ็นเซอร์ตรวจวัดค่าบีโอดี, ค่าพีเอช เพื่อส่งข้อมูลพร้อมพิกัดสถานที่ผ่านระบบคลาวด์ข้อมูลสภาพแวดล้อมในแต่ละบ่อสามารถนำมาแสดงผลบนโทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์ได้ทันที พร้อมระบุตำแหน่งบนแผนที่ดิจิทัล นอกจากนี้ยังบันทึกข้อมูลเป็นกราฟตามช่วงเวลาต่างๆ เช่น เช้า กลางวัน เย็น เพื่อวิเคราะห์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงได้อย่างละเอียด
การมีข้อมูลเชิงตัวเลขที่ชัดเจนจะช่วยให้เจ้าของฟาร์มสามารถบริหารจัดการปัจจัยต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การปรับค่าให้คงที่ รวมถึงกำหนดระยะเวลาการให้อาหารที่เหมาะสมกับการเติบโตของกุ้ง ซึ่งจะส่งผลให้สามารถควบคุมต้นทุนการผลิตได้ดียิ่งขึ้นระบบนี้นับเป็นก้าวสำคัญในการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับใช้กับอุตสาหกรรมเลี้ยงกุ้งของไทย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและสร้างความยั่งยืนในระยะยาว
การจัดการระบบหมุนเวียนน้ำเป็นปัจจัยที่สำคัญ
ในการเลี้ยงกุ้งในฟาร์มอย่างมีประสิทธิภาพนั้น การจัดการระบบการหมุนเวียนน้ำหรือระบบตีน้ำเป็นปัจจัยสำคัญ ทาง ดร.ชวพรได้เปิดเผยถึงรายละเอียดและข้อแนะนำในการออกแบบระบบตีน้ำที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยรักษาคุณภาพน้ำ ลดต้นทุนการผลิต และยืดอายุการใช้งานของอุปกรณ์ สำหรับการเลี้ยงกุ้งอย่างยั่งยืน การออกแบบระบบตีน้ำที่ดีจะต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายประการ ทั้งการหมุนผสมน้ำ การสร้างรูปแบบการไหลเวียนของกระแสน้ำ การกวาดล้างสิ่งสกปรก การเลือกใช้มอเตอร์ที่เหมาะสม รวมถึงการบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ
“ อันนี้เป็นปัจจัยอีก ใบตีน้ำใครคิดว่าโยนน้ำเข้าไปกลางอากาศแล้วรับออกซิเจนและลงไปในน้ำอย่างเดียว ทั้งหมดมันไม่ใช่ แต่สิ่งที่สำคัญสำหรับใบตีน้ำมันยังทำให้เกิดเราเรียกว่า ไซโคลน คือ การหมุน และทำให้ขี้ต่างๆ สิ่งสกปรก ไปรวมอยู่ตรงกลางและเรากวาดได้ง่าย เพื่อที่เราจะดูคราบของกุ้งลอกคราบ หรือดูตะกอนที่เกิดขึ้น หรือการบำบัดน้ำ ให้มีคุณภาพของน้ำที่ดีขึ้น ณ ปัจจุบันนี้เราสามารถใช้มอเตอร์ที่ปรับความเร็วรอบได้ และมีแรงบิดสูงด้วย ปัจจุบันนี้พยายามเอามาใช้ในเรื่องของบัสเลส ด้วยของบัสเลสเองมันใช้ ต้องดูว่ามันคุ้มทุนไหม หรือการซ่อมบำรุงหลังจากที่เอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้มันตอบโจทย์ไหม อีกอย่างคือการออกแบบใบตีน้ำที่เป็นมาตรฐาน ใบพัดต้องกินน้ำสม่ำเสมอ ลดการกินกระแสของมอเตอร์ด้วย ถ้าเราออกแบบดีๆ พวกนี้ก็จะมีผลต่อค่าไฟเหมือนกัน และการชำรุดพังเสียหาย และก็เป็นการยืดอายุการใช้งานด้วย”
พลังงานทดแทนเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่สำคัญ
ดร.ชวพร ยังกล่าวถึงเรื่องพลังงานทดแทนว่าปัจจุบันพลังงานทดแทนมีบทบาทสำคัญในการตอบสนองความต้องการด้านพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น โดยพลังงานทดแทนที่นิยมใช้มีหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ หรือพลังงานความร้อนใต้พิภพ ซึ่งสามารถนำมาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าหรือใช้เป็นพลังงานความร้อนได้อย่างไรก็ตาม ระบบพลังงานแสงอาทิตย์หรือโซลาร์เซลล์ยังคงเป็นทางเลือกหลักที่ได้รับความนิยมเนื่องจากสามารถคืนทุนได้ในระยะเวลาไม่นาน โดยระบบโซลาร์เซลล์ส่วนใหญ่มักจะเป็นแบบไฮบริดที่สามารถสลับการใช้งานระหว่างพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานไฟฟ้าจากการไฟฟ้าได้อย่างยืดหยุ่น
ในการคำนวณความคุ้มค่าของการลงทุนติดตั้งโซลาร์เซลล์ ปัจจัยสำคัญคือปริมาณการใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยต่อวันซึ่งโดยทั่วไปนั้น ช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้ามากที่สุดจะอยู่ที่ประมาณ 4-5 ชั่วโมงต่อวัน ขนาดกำลังการผลิตที่เหมาะสมก็จะขึ้นอยู่กับข้อมูลการบริโภคนี้เป็นหลักสำหรับทั่วไปในประเทศไทย การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ขนาดประมาณ 12 แผง ซึ่งมีกำลังการผลิตรวมราว 5,400 วัตต์ ก็จะสามารถตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าเฉลี่ย 21.6 กิโลวัตต์ต่อวันได้ คาดว่าจะสามารถคืนทุนได้ภายในระยะเวลาประมาณ 8 ปี ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าสำหรับการประหยัดพลังงานในระยะยาวการนำพลังงานทดแทนมาใช้จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจและมีแนวโน้มได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากนอกจากจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในระยะยาวแล้ว ยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างยั่งยืนอีกด้วย
ขอบคุณข้อมูล :ส่วนหนึ่งการบรรยายในงานวันกุ้งจันท์ ครั้งที่ 28
โดย ดร.ชวพร บำรุงพฤกษ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมเกษตรและเทคโนโลยี จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก มหาวิทยาลัยเกษตรบางพระ