“กบ” ถ้าเข้าช่วงฤดูฝนแล้ว ถือเป็นช่วงผสมพันธุ์ที่ดีที่สุดของสัตว์น้ำเศรษฐกิจตัวนี้ ซึ่งทางทีมงานนิตยสารสัตว์น้ำได้พยายามนำมาลงเพื่อเป็นข้อมูลให้กับเกษตรกรทุกท่านได้ติดตามแทบจะทุกฉบับ ทั้งในเรื่องของเทคนิคการเลี้ยง และการเพาะพันธุ์ต่างๆ โดยทีมงานได้เดินทางไปในหลากหลายพื้นที่ทั่วทุกภาคของประเทศ เพื่อให้ได้ข้อมูลครบถ้วนในทุกพื้นที่
ทีมงานนิตยสารสัตว์น้ำจะพาทุกท่านเดินทางไปยังภาคภาคเหนือกันบ้าง เพื่อไปศึกษาข้อมูลของกลุ่มเกษตรกรที่ดำเนิน การเพาะพันธุ์กบ ในเขตพื้นที่ภาคเหนือมาเป็นเวลายาวนานกว่า 10 ปี นั่นคือ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพาะเลี้ยงกบ ตำบลแม่กา อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 12 คน และช่วยให้สมาชิกมีอาชีพเสริมเพื่อสร้างรายได้ให้กับครอบครัว โดยมี คุณธนศักดิ์ นามวงศ์ เป็นประธานของกลุ่ม และเป็นแกนนำในการหาตลาด และส่งต่อองค์ความรู้ของตนให้กับสมาชิก
คุณธนศักดิ์ยังเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพาะเลี้ยงกบขึ้นมานี้ ได้กล่าวต้อนรับทีมงานอย่างเป็นกันเอง ได้พาเยี่ยมชมฟาร์มกบของตน และได้กล่าวถึงจุดเริ่มต้นก่อนที่จะมาก่อตั้งกลุ่มวิสาหกิจแห่งนี้ว่า เดิมทีนั้นตนเองไม่ได้ทำงานทางด้านเกษตรกรรมมาก่อน เพราะแต่เดิมเป็นคนงานขับรถก่อสร้างถนนอยู่ต่างประเทศ ทั้งซาอุดิอาระเบีย ลิเบีย และสิงคโปร์ ซึ่งตนเองได้กลับมาที่ประเทศไทย และตัดสินใจที่จะตั้งรกรากอยู่ที่ประเทศไทย จึงได้ลองหาอาชีพที่เหมาะกับตนเอง ในที่สุดจึงตัดสินใจที่จะเลี้ยงกบ ด้วยความสนใจและชื่นชอบในการเพาะเลี้ยงกบ
จุดเริ่มต้นการเลี้ยงกบ
โดยเริ่มต้นนั้นคุณธนศักดิ์ได้เปิดเป็นฟาร์มเลี้ยงกบเนื้ออยู่ที่ อ.พาน จ.เชียงราย แต่ภายหลังได้ย้ายครอบครัวมาอยู่ที่พะเยา และได้เริ่มเพาะพันธุ์กบควบคู่กับการเลี้ยงขุนไปด้วย ซึ่งผลประกอบการในช่วงนั้นถือว่าประสบความสำเร็จ จนมีเกษตรกรหลายๆ รายให้ความสนใจ และเข้ามาขอข้อมูลความรู้จากตน จึงมีเครือข่ายเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้จัดตั้งกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงกบขึ้นมา
ซึ่งในขณะนั้นมีสมาชิกอยู่กว่า 25 ราย ต่อมาได้จดทะเบียนก่อตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพาะเลี้ยงกบ จ.พะเยา สมาชิกของกลุ่ม ณ ปัจจุบันนี้มีทั้งหมด 12 ราย โดยวัตถุประสงค์ในตอนเริ่มต้นของการตั้งกลุ่มนั้น เนื่องจากได้รับคำแนะนำจากบริษัทอาหารให้รวมกลุ่มกันเพื่อเลี้ยงกบส่งพ่อค้าคนกลาง แต่ทำไปได้ 2 ปี ทางกลุ่มต้องประสบปัญหาการขาดทุน ทางกลุ่มจึงได้ลงมติเปลี่ยนแนวทางการขาย
โดยหาพ่อค้าคนกลางเอง และมาทำตลาดในส่วนของการเพาะลูกพันธุ์มากขึ้น โดยคุณธนศักดิ์จะรับหน้าที่หาตลาดและลูกค้าให้กับสมาชิกในกลุ่ม ทั้งในส่วนของลูกพันธุ์ และกบเนื้อ โดยในแต่ละเดือนทางกลุ่มจะประชุมเดือนละ 2 ครั้ง เพื่อให้รู้ถึงปัญหาของสมาชิก และปริมาณลูกกบ และกบเนื้อของสมาชิกแต่ละราย เพื่อให้กลุ่มสามารถมีผลผลิตส่งขายให้ผู้บริโภคได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ทางกลุ่มยังได้รวมตัวกันเพื่อกู้ยืมเงินจากธนาคารออมสิน เพื่อนำมาช่วยเหลือสมาชิกให้มีเงินสำหรับขยายธุรกิจ และพัฒนากิจการของตน
การให้คำแนะนำ ทั้งการเลี้ยง การเพาะพันธุ์ และการตลาด กบ
คุณธนศักดิ์ได้กล่าวเกี่ยวกับการดำเนินของกลุ่มอีกอย่างหนึ่งว่าเนื่องจากภายในกลุ่มจะมีสมาชิกเข้ามาใหม่อยู่เรื่อยๆ รวมถึงมีเกษตรกรจากต่างจังหวัดเข้ามาศึกษาดูงาน ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของประธานที่จะเป็นวิทยากรให้คำแนะนำ ทั้งในด้านการเลี้ยง การเพาะพันธุ์ รวมถึงการทำตลาด ตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการให้กับสมาชิกที่เข้ามาใหม่ และเกษตรกรที่เข้ามาศึกษาหาความรู้ จึงทำให้ภายในกลุ่มจะมีวิธีการเลี้ยง และวิธีการเพาะพันธุ์ ที่ไม่แตกต่างกัน ซึ่งจะทำให้ง่ายต่อการดูแล และการแก้ปัญหา อีกทั้งยังจะได้ผลผลิตที่มีคุณภาพไม่แตกต่างกันอีกด้วย
ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดอีกอย่างก็คือ ภายในกลุ่มจะใช้พ่อแม่พันธุ์จากแหล่งเดียวกัน และใช้สายพันธุ์กบนา และกบจาน ในการเพาะพันธุ์เหมือนกันทั้งกลุ่ม ซึ่งในส่วนของพ่อแม่พันธุ์นั้น ทางกลุ่มจะจัดหามาจาก จ.อยุธยา และ จ.ชลบุรี สาเหตุที่ทางกลุ่มเลือกใช้กบจาน
เนื่องจากเมื่อนำลูกกบไปเลี้ยงแล้วจะได้กบที่ตัวใหญ่ ทนทานต่ออากาศหนาว และเมื่อนำมาผสมกับกบนาจะได้ลูกพันธุ์ที่มีความแข็งแรง และทนต่อโรคได้เป็นอย่างดี โดยสมาชิกสามารถสั่งพ่อแม่พันธุ์ผ่านทางกลุ่มได้โดยตรง อีกทั้งเมื่อกบอายุครบตามที่กำหนดได้ขนาดแล้ว ทางกลุ่มก็จะเป็นตัวกลางหาตลาดให้กับสมาชิกอีกด้วย
สายพันธุ์กบ
จากที่กล่าวมาในเบื้องต้นว่าทางกลุ่มจะใช้พ่อแม่พันธุ์เป็นกบสายพันธุ์กบจาน และกบนา โดยจะใช้พ่อพันธุ์เพียง 1 ปี เท่านั้น แต่ตัวเมียจะใช้อยู่ 2 ปี โดยจะใช้วิธีการหาพ่อพันธุ์เข้ามาใหม่เรื่อยๆ ในช่วงที่ไม่ได้เพาะพันธุ์นั้น ทางฟาร์มจะเก็บพ่อแม่พันธุ์แยกเอาไว้ในกระชัง ขนาด 3×3 เมตร ที่ปักเอาไว้ในบ่อดิน ส่วนอาหารเม็ดเบอร์ 3 สำหรับเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์
ซึ่งในพื้นที่ภาคเหนือนั้นจะมีอุณหภูมิค่อนข้างต่ำ ทำให้ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคมไม่สามารถเพาะพันธุ์ได้ เริ่มผสมพันธุ์ได้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเมื่อถึงช่วงดังกล่าวทางฟาร์มจะเริ่มให้ฮอร์โมน ไข่เป็ด และนมสด ผสมลงไปในอาหาร โดยใช้ไข่เป็ด 3 ฟอง และนมสด 1 กล่อง ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม
นอกจากนั้นจะเสริมด้วยปลาเหยื่อ เพื่อให้กบมีความพร้อมที่จะผสมพันธุ์ดีขึ้น โดยจะให้อาหารวันละ 2 มื้อ ให้เช่นนี้ไปจนครบ 15 วัน จึงจะทำการคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ขึ้นมา
การเพาะพันธุ์กบ
ในการเพาะพันธุ์จะคัดเอาพ่อแม่พันธุ์กบที่มีความสมบูรณ์เพศดีที่สุด โดยดูจากผิวหนังบริเวณข้างลำตัว ถ้าลูบแล้วข้างลำตัวยิ่งมีความสากมาก ก็จะยิ่งได้ไข่ที่แข็งแรง และมีปริมาณมาก ซึ่งในการเพาะพันธุ์แต่ละรอบจะใช้พ่อแม่พันธุ์ 20-30 คู่ ในแต่ละครั้ง โดยดูจากความสมบูรณ์ของพ่อแม่พันธุ์ในช่วงเวลานั้นๆ
สำหรับการเตรียมบ่อเพาะพันธุ์ ก่อนที่จะเริ่มนำพ่อแม่พันธุ์มาลงนั้นจะต้องตากบ่อแล้วล้างฆ่าเชื้อด้วยด่างทับทิมก่อน จากนั้นจึงล้างด้วยน้ำอีกครั้ง จึงจะใส่น้ำลงไปในบ่ออีกครั้งหนึ่ง โดยจะใส่น้ำสูงเพียง 7 เซนติเมตร เท่านั้น โดยน้ำที่ทางฟาร์มใช้จะเป็นน้ำสดจากธรรมชาติ ไม่ได้ผ่านการทรีตน้ำใดๆ จากนั้นจะใส่น้ำแข็ง และหญ้า ลงไปในบ่อเพาะ เพื่อปรับสภาพน้ำให้เหมาะสมต่อการผสมพันธุ์
เมื่อเตรียมการเสร็จจึงจะนำพ่อแม่พันธุ์ที่คัดไว้มาลงในบ่อ จากนั้นปล่อยเอาไว้เพียง 1 คืน แม่กบก็จะทำการวางไข่ และในช่วงเช้าจึงจะนำเอาพ่อแม่พันธุ์ย้ายออกไปใส่เอาไว้ในกระชังที่เตรียมเอาไว้ สำหรับพ่อแม่พันธุ์ที่ผ่านการผสมไปแล้ว โดยแม่กบ 1 ตัว นั้น จะสามารถวางไข่ได้ 4 ครั้ง/ปี ซึ่งช่วงที่ได้ไข่มากที่สุด คือ ช่วงเดือนพฤษภาคม
การให้อาหารลูกกบ
หลังจากที่พ่อแม่พันธุ์ออกแล้ว จะปล่อยไข่ไว้ก่อน 3 วัน จึงจะเริ่มให้อาหารได้ในวันที่ 4 โดยจะใช้เป็นอาหารลูกอ๊อดแบบจม นำมาผสมน้ำและปั้นเป็นก้อน โดยจะผสมวิตามินรวมลงไปในอาหารด้วย ให้เป็นเวลา 2 วัน จึงจะเปลี่ยนเป็นอาหารเม็ดลอย โดยจะมีการเปลี่ยนถ่ายน้ำทุก 2 สัปดาห์ เมื่อเลี้ยงครบ 18 วัน ลูกกบจะเริ่มมีขาหลัง และเมื่อครบ 22 วัน ก็จะเริ่มมีขาหน้า ซึ่งเป็นตัวสมบูรณ์แล้ว
เมื่อเลี้ยงไปจนครบ 1 เดือน 5 วัน จึงจะเริ่มทำการคัดแยกขนาดของลูกกบ เพื่อป้องกันการกินกันเอง จากนั้นจึงจะสามารถนำไปจำหน่ายสำหรับเลี้ยงขุนได้ โดยจะขายอยู่ที่ตัวละ 2 บาท แต่ถ้าเป็นลูกอ๊อดอายุ 18 วัน จะขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 300 บาท
ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายกบ
ตลาดของทางกลุ่มนั้นส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มลูกค้าในเขตภาคเหนือ รวมถึงพ่อค้า แม่ค้า ที่จะมารับลูกกบไปขายต่อ รวมถึงการส่งเข้าโครงการของหน่วยงานราชการ ที่จะนำไปเลี้ยง หรือสำหรับแจกชาวบ้านตามโครงการต่างๆ ซึ่งตกเดือนๆ หนึ่งนั้นต้องใช้ลูกกบ 40,000-50,000 ตัว
ซึ่งคุณธนศักดิ์กล่าวว่าจุดเด่นของกลุ่ม คือ การช่วยเหลือสมาชิก ทั้งในด้านความรู้ การแก้ไขปัญหา การสนับสนุนพ่อแม่พันธุ์ รวมถึงการรับซื้อกบเนื้อคืน โดยคิดราคาตามตลาด ณ ขณะนั้น ซึ่งสำหรับคนเพาะพันธุ์ลูกกบในภาคเหนือนั้นจะมีความได้เปรียบอยู่ที่กบ ที่ถูกเพาะพันธุ์ในเขตพื้นภาคเหนือนั้น จะสามารถทนต่อสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิต่ำได้ดีกว่ากบที่มาจากทางภาคกลาง หรือภาคใต้
จึงทำให้กบของทางกลุ่มเป็นที่นิยมของผู้เลี้ยงในเขตภาคเหนืออย่างมาก ซึ่งปัจจุบันทางกลุ่มยอมรับว่าตลาดลูกพันธุ์กบในเขตพื้นที่ภาคเหนือนั้นยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร
ฝากถึงเกษตรกรที่สนใจเลี้ยงกบ
คุณธนศักดิ์ฝากถึงเกษตรกรที่มีความสนใจอยากจะลองประกอบอาชีพเลี้ยงกบเพื่อเป็นรายได้เสริม หรือจะใช้เป็นอาชีพเพื่อหาเลี้ยงตัวเองเป็นรายได้หลักก็ตาม “ควรมีความรักในสิ่งที่ทำ และเอาใจใส่ ไม่ใช่มองแค่เงินเพียงอย่างเดียว” เพราะการเลี้ยงกบมีปัจจัยที่ต้องควบคุม และบริหารจัดการหลายอย่าง เพราะฉะนั้นควรเอาใจใส่และศึกษาดูแลรายละเอียดต่างๆ ให้ครบถ้วนก่อนลงมือทำ และหากเกษตรกรท่านใดต้องการคำปรึกษา คุณธนศักดิ์กล่าวว่ายินดีให้คำปรึกษา และพาเยี่ยมชมฟาร์มได้ทุกเมื่อ การเพาะพันธุ์กบ การเพาะพันธุ์กบ การเพาะพันธุ์กบ
หากเกษตรกรท่านใดสนใจเข้าเยี่ยมชมฟาร์ม หรือติดต่อขอข้อมูลด้านการเลี้ยง และการเพาะพันธุ์ จากทาง กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพาะเลี้ยงกบ จ.พะเยา สามารถติดต่อได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 084-671-2614