“ปลาดุก” เป็นปลาเศรษฐกิจที่ขณะนี้มีการเลี้ยงอย่างแพร่หลาย เป็นชนิดปลาที่สามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ ถึงแม้จะใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงค่อนข้างนานหลายเดือน หากเลี้ยงตั้งแต่เพาะขยายพันธุ์ แต่ในปัจจุบัน เกษตรกรสามารถเลี้ยงปลาดุกโดยใช้ระยะเวลาที่เลี้ยงสั้นลง เพราะมีการนำปลาดุกเล็ก หรือที่เรียกว่า “ปลาตุ้ม” มาเลี้ยง เพื่อช่วยย่นระยะเวลาในการเลี้ยงปลานั่นเอง
คุณสำเนา เกาะกาเหนือ เจ้าของ “สำเนาพันธุ์ปลา” คือ หนึ่งในเกษตรกรผู้เพาะพันธุ์ปลาดุกคุณภาพ อย่าง ปลาดุกบิ๊กอุย และปลาดุกรัสเซีย ได้พูดคุยกับทีมงานว่า เดิมทีก่อนที่ตนจะเข้ามาอยู่ในวงการธุรกิจเพาะพันธุ์ปลาดุกนั้น อดีตเป็นพนักงานดูแลซ่อมบำรุงเกี่ยวกับเครื่องจักรในโรงงานใหญ่ที่กรุงเทพ จนมาถึงจุดพลิกผันในชีวิต คือ เมื่อปี 2540 ยุคต้มยำกุ้ง เศรษฐกิจถดถอย จากโอทีที่เคยได้ทุกวันก็เริ่มลดลง ประกอบกับคุณสำเนามีลูก จึงคิดมองหาอาชีพเสริม งานเสริม ที่จะสร้างรายได้อีกทาง
จนมาวันหนึ่งเห็นเพื่อนในละแวกบ้านเพาะเลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุย (ปลาตุ้ม) จึงสนใจ เพราะใช้เวลาในการเลี้ยงสั้น ต้นทุนในการเลี้ยงต่ำ อีกทั้งเมื่อจับขายหลังจากหักต้นทุนแล้วยังเหลือเงินอีกเป็นจำนวนมาก อีกทั้งปลาดุกบิ๊กอุยยังมีความต้องการของตลาดค่อนข้างสูง ทั้งด้านของรสชาติ เนื้อ และด้านโภชนาการสารอาหารครบถ้วน จึงสนใจเลี้ยงบ้าง เพื่อสร้างรายได้เพิ่มขึ้นอีกทาง “ปลาดุกบิ๊กอุย” เป็นปลาลูกผสม ระหว่างปลาดุกอุยและปลาดุกรัสเซีย ซึ่งปลาดุกบิ๊กอุยจะได้ข้อดีของแม่ (ปลาดุกอุย) คือ คุณภาพเนื้อที่ดี เนื้อแน่น หวาน และได้ข้อดีของพ่อ (ปลาดุกรัสเซีย) คือ การเจริญเติบโตที่ดี และโตเร็ว
จับปลาขายครั้งแรกได้เงินกำไรกว่า 60,000 บาท
ด้วยเหตุนี้คุณสำเนาจึงตัดสินใจหันมาเลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุยที่บ้านเกิด อ.ปากพลี จ.นครนายก ลงครั้งแรก 2 บ่อเลี้ยง พื้นที่บ่อละ 2 ไร่ ไร่ละ 2 ล้านตัว โดยการซื้อลูกปลามาอนุบาลต่อให้ได้ขนาดและจับขาย ซึ่งขณะนั้นคุณสำเนายังไม่ออกจากงาน ยังคงเลี้ยงปลาควบคู่กับการทำงานในเมืองใหญ่ โดยให้ญาติๆ ทางบ้านช่วยดูแลปลาในฟาร์ม
ในการเลี้ยงปลาดุกครั้งแรกคุณสำเนาต้องดูแลอย่างใกล้ชิด รวมทั้งศึกษาหาความรู้ในการเลี้ยงควบคู่กับการไปศึกษาดูบ่อของเกษตรกรท่านอื่นๆ จนสามารถจับปลาขายครั้งแรกได้เงินกำไรกว่า 60,000 บาท
“ตอนนั้นผมทำงานเงินเดือนประมาณหมื่นกว่าบาท แต่พอเลี้ยงปลารอบแรกได้เงินกลับมา 60,000 กว่าบาท ใช้เวลาเลี้ยงแค่เดือนกว่าๆ พอหมดชุดแรกก็ลงใหม่รอบที่ 2 พอจับขายก็ยังได้เงินไม่ต่างจากครั้งแรก พอลงครั้งที่ 3 ก็ลาออกจากงาน ลงดูแลอย่างเต็มตัวเลย เพราะเราคิดว่า 1 ปี เราเลี้ยงแค่ 6 รอบ ถ้าบวก ลบ คูณ หาร แล้ว ก็ได้มากกว่าเงินเดือนพนักงานที่เราทำอยู่ นี่ก็เลยเป็นจุดที่ผมออกจากงานมาทำตรงนี้เต็มตัว”
การเพาะพันธุ์ปลาดุกบิ๊กอุย
ในช่วงแรกของการเลี้ยงปลาดุก คุณสำเนาจะไปซื้อปลาขนาดเล็กมาอนุบาลเพื่อเลี้ยงเป็นปลาตุ้มแล้วจึงจับขาย แต่เมื่อเลี้ยงไปไม่กี่รอบคุณสำเนาก็เริ่มหันมาเพาะขยายพันธุ์เอง เพื่อลดต้นทุนด้านลูกพันธุ์ และจำนวนลูกพันธุ์ที่แน่นอน คุณสำเนาจึงเพาะพันธุ์ปลาดุกบิ๊กอุยเอง โดยสร้างโรงเพาะฟักบนพื้นที่ 9 ไร่ มีจำนวนอ่างอนุบาลกว่า 36 อ่าง โดยคุณสำเนาถ่ายทอดความรู้ในการเพาะปลาให้แก่หลานชาย เพื่อให้เป็นคนดูแลระบบในโรงเพาะฟักทั้งหมด
โดยส่วนหนึ่งจะใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยด้วย ส่วนหนึ่งเพื่อลดความยุ่งยากในการดูแลระบบการเพาะขยายพันธุ์ และเพื่อให้ได้ลูกพันธุ์ปลาที่มีคุณภาพ คุณสำเนาเลือกที่จะดูแลพ่อแม่พันธุ์ให้ได้คุณภาพ
การเพาะฟักลูกปลาดุก
โดยแม่พันธุ์ปลาดุกของคุณสำเนานั้นจะไม่เลี้ยงโดยการใช้ยาปฏิชีวนะ แต่จะเน้นการเลี้ยงแบบธรรมชาติให้สู้โรคด้วยตัวของปลาเอง โดยให้ปลาสร้างภูมิคุ้มกันออกมาเองเพื่อต่อสู้กับโรค เพราะหากปลารอดพ้นจากโรคต่างๆ มาได้ นั่นหมายถึงปลาจะมีคุณภาพ ไข่ปลาที่ออกมาก็จะมีคุณภาพ มีภูมิคุ้มกันโรคติดตัวออกมาด้วย
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการฟาร์มควบคู่ไปด้วย โดยบ่อแม่พันธุ์ปลาดุก คุณสำเนาจะเลี้ยงปลานิลควบคู่ไปด้วย เพื่อให้ปลานิลช่วยกำจัดของเสียภายในบ่อ อย่าง แพลงก์ตอนพืชที่เกิดขึ้นจากของเสีย ทำให้น้ำภายในบ่อสะอาด แม่พันธุ์ปลาดุกก็จะแข็งแรง ได้คุณภาพ
การบริหารจัดการบ่อเลี้ยงปลาดุก
“สำเนาพันธุ์ปลา” มีบ่อเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ และอนุบาลปลาหลายบ่อ บนพื้นที่ 88 ไร่ แบ่งออกเป็นบ่อพ่อพันธุ์ 2 บ่อ บ่อแม่พันธุ์ 5 บ่อ และบ่ออนุบาลลูกปลากว่า 20 บ่อ ขนาดบ่อ 2-4 ไร่ รวมไปถึงบ่อพักน้ำสำหรับใช้น้ำหมุนเวียนภายในฟาร์ม ซึ่ง “น้ำ” คือ เรื่องที่สำคัญที่สุด ทางฟาร์มจะมีการบริหารจัดการน้ำแบบระบบหมุนเวียน มีการบำบัดน้ำภายในฟาร์ม เพื่อนำน้ำเก่ามาเปลี่ยนเป็นน้ำใหม่โดยผ่านบ่อบำบัดน้ำ
ที่เน้นการเลี้ยงปลานิลภายในบ่อเพื่อกินแพลงก์ตอนพืชที่ถูกสูบออกมาจากบ่อเลี้ยง ทำให้น้ำมีคุณภาพดีขึ้น จากนั้นน้ำเหล่านี้จะถูกดูดมายังบ่อพักน้ำ บ่อพักเพื่อปรับสภาพน้ำ เนื่องจากพื้นที่ จ.นครนายก เป็นพื้นที่ดินเปรี้ยว เมื่อนำน้ำจากบ่อเลี้ยงที่มีสภาพเป็นด่างมาเจอบ่อดินเปรี้ยว น้ำก็จะมีค่า pH ที่ดีขึ้น แต่ยังไม่เหมาะสมต่อการเลี้ยงปลา จึงต้องดูน้ำจากบ่อน้ำเปรี้ยวมาพักไว้ในบ่อใหม่ ซึ่งเป็นบ่อน้ำลึก สำหรับให้น้ำตกตะกอน
ซึ่งสภาพน้ำที่เป็นดินเปรี้ยวจะทำให้เศษตะกอนตกเร็วขึ้น เพียง 1 วัน น้ำก็จะใส และกลับมาเป็นน้ำดี สามารถนำมาใช้ในบ่อเลี้ยงปลาได้รวดเร็วขึ้น นี่คือหลักการบำบัดน้ำของฟาร์มปลาคุณสำเนานั่นเอง ซึ่งหลักบำบัดน้ำวิธีนี้ทำให้คุณสำเนาได้รับรางวัล “เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติสาขาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด ประจำปี 2558” อีกด้วย
การเตรียมบ่อเลี้ยงปลาดุก
เมื่อได้น้ำที่ดีแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนการเตรียมบ่อเลี้ยงปลา ก่อนอื่นการเตรียมบ่อคุณสำเนาย้ำว่าการขุดบ่อจะต้องทำให้พื้นบ่อลาดเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง เพื่อให้ตะกอนเลนไหลมารวมกัน โดยให้มีความลึกของน้ำอยู่ที่ 60 ซม. (ในจุดที่ตื้น) และ 110 ซม. (ในจุดที่ลึก) จากนั้นมีการขึงเอนหรือกางตาข่ายเพื่อป้องกันนก
หลังจากที่จับปลาออกจากบ่อแล้ว คุณสำเนาจะถ่ายน้ำออกนำไปบำบัด จากนั้นตากบ่อให้แห้ง ประมาณ 10-15 วัน จึงปรับสภาพดินให้ได้ค่า pH อยู่ที่ประมาณ 7 จากนั้นกำจัดศัตรูก้นบ่อให้เรียบร้อย มีการโรยปูนขาวรอบบ่อ แล้วจึงนำน้ำเข้า ทำการทรีตน้ำ ใส่ยาฆ่าเชื้อ ทำให้น้ำปลอดเชื้อมากที่สุด
โดยใช้ “โปรไบโอติกส์” ในการฆ่าเชื้อ ทางฟาร์มจะไม่เน้นการใช้ยา เพราะทุกวันนี้เชื้อโรคในน้ำ หรือในปลา มีการพัฒนาการมากขึ้นทุกวัน ดื้อยามากขึ้น ทำให้เกษตรกรเสียต้นทุนในการเลี้ยงเป็นจำนวนมาก อีกทั้งการใช้ยาปฏิชีวนะแต่ละครั้งต้องใช้ในอัตราส่วนที่มากขึ้นกว่าเก่า จึงจะสามารถควบคุมเชื้อโรคได้ อีกทั้งยังส่งผลต่อสัตว์ที่เลี้ยง ทำให้ป่วยง่าย ไม่แข็งแรง ซึ่งคุณสำเนาได้มองเห็นข้อเสียเหล่านี้ จึงเลือกที่จะใช้ “โปรไบโอติกส์” ในการฆ่าเชื้อในน้ำ เรียกว่า ใช้ทฤษฎี “เกลือจิ้มเกลือ” อีกทั้งยังเป็นการลดต้นทุนในการผลิตอีกด้วย
การอนุบาลลูกปลาดุก
คุณสำเนาจะใช้เวลาในการเตรียมน้ำประมาณ 2 วัน วันแรก คือ การสูบน้ำเข้า วันที่ 2 การปรุงน้ำ และเติมเชื้อไรแดงลงบ่อ เพื่อที่เวลาปล่อยปลาลงบ่อจะได้มีอาหารรอในบ่ออยู่แล้ว เนื่องจากในช่วงแรกลูกปลาจะยังไม่กินอาหารเม็ด อีกทั้งการให้ไรแดงจะช่วยเพิ่มโปรตีนให้แก่ปลา ทำให้ปลาโตเร็ว แข็งแรง สมบูรณ์
หลังจากลูกปลาออกจากไข่มาแล้ว ประมาณ 4 วัน คุณสำเนาจะนำมาปล่อยอนุบาลต่อในบ่อดินที่เตรียมไว้ โดย 1-2 วันแรก จะยังไม่เน้นให้อาหารเม็ด เนื่องจากต้องการให้ปลากินไรแดงที่อยู่ในน้ำก่อน แต่จะมีการโยนอาหารให้เพียงเล็กน้อย เพื่อให้ไรแดงได้มีอาหารกิน หลังจากนั้นให้สังเกตดูว่าหากปลาเริ่มว่ายน้ำหาอาหาร แสดงว่าไรแดงที่ให้ไปในบ่อเริ่มหมด คุณสำเนาก็จะเริ่มให้อาหารเม็ด และบางส่วนจะวางไว้บริเวณตลิ่งขอบบ่อ เพื่อดูว่าปลากินอาหารหมดหรือไม่
การให้อาหารปลาดุก
สำหรับอาหารปลา คุณสำเนาจะเน้นใช้อาหารปลาดุกคุณภาพ อย่าง อาหารปลา “ฟิชเฟิร์ส” เบอร์ 461 กระสอบแดง ของ บริษัท อินเทคค์ฟีด จำกัด เนื่องจากเนื้ออาหารบดได้ละเอียด แตกตัวดี อีกทั้งยังมีโปรตีนจากเนื้อสัตว์ค่อนข้างสูง อัตราแลกเนื้อ FCR ต่ำ อยู่ที่ 1.2-1.3 เท่านั้น
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการฟาร์มของเกษตรกรแต่ละท่าน สาเหตุที่ทางฟาร์มเลือกใช้อาหารปลา “ฟิชเฟิร์ส” ของอินเทคค์ฟีด จะสังเกตเห็นเมื่อปลากินอาหารไปแล้ว ปลาจะโตเร็ว ทรงสวย ไขมันไม่มากเกินไป อีกทั้งเนื้อปลาที่ออกมายังได้คุณภาพ เนื้อหวาน แน่น นอกจากนี้กลิ่นของอาหารยังช่วยให้ปลากินอาหารได้ดี (กลิ่นแรงปลาชอบ)
นอกจากเรื่องคุณภาพของอาหารแล้ว ทางอินเทคค์ฟีดยังรับฟังความคิดเห็นของเกษตรกร เพื่อช่วยในการปรับปรุงคุณภาพอาหารให้ดีขึ้น ตรงตามที่เกษตรกรต้องการ “ก่อนที่ผมจะมาใช้อาหารปลา “ฟีชเฟิร์ส” ผมลองมาหลายยี่ห้อ หลายบริษัท แต่ก็ยังไม่มีอันไหนสู้ของที่นี่ได้ สู้ในเรื่องความนิ่งของคุณภาพอาหาร ความนิ่งของราคาไม่ขึ้น-ลงบ่อย และที่สำคัญโปรตีนสูง FCR ต่ำ อย่างเห็นได้ชัด”
โดยคุณสำเนาจะนำอาหารปลาดุก “ฟีชเฟิร์ส” มาผสมกับน้ำและวิตามิน อาหารเสริม โดยใช้เครื่องในผสม แล้วจึงอัดเป็นก้อนขนาดใหญ่ประมาณก้นแก้ว โยนให้ปลากิน ซึ่งในช่วงแรกที่ลงปลาในบ่อดินนั้น การให้อาหารจะเน้นให้อาหารจนปลาอิ่ม หรืออาหารประมาณ 1 กระสอบต่อปลา 1 ล้านตัว 2 มื้อต่อวัน จนถึงวันที่จับขาย
ซึ่งสาเหตุที่ต้องให้อาหารค่อนข้างเยอะ เนื่องจากปลาดุกเป็นสัตว์กินเนื้อ หากในช่วงแรกเกษตรกรให้อาหารน้อยไม่เพียงพอ ปลาจะเกิดการกินกันเอง ส่งผลให้ปลาหายในเวลาที่จับขาย ซึ่งการเลี้ยงปลาดุกขนาดปลาตุ้มจนถึงจับขายใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงประมาณเดือนกว่าๆ ก็สามารถจับขายได้
ปัญหาและอุปสรรคในการเลี้ยงปลาดุก
คุณสำเนาเน้นย้ำว่าการอนุบาลปลาดุกนั้น ในช่วงที่ปลายังเล็กอยู่ โรคที่ต้องคอยระวังมากที่สุด คือ โรคเกี่ยวกับ ปากเปื่อย ครีบหย่อน และพยาธิในเหงือก ซึ่งสาเหตุของโรคก็มาจากสภาพอากาศ และสภาพของน้ำ ที่หมักหมม ซึ่งทางแก้ปัญหาที่ดี คือ การเปลี่ยนถ่ายน้ำให้บ่อย โดยทางฟาร์มจะเน้นการสังเกต เมื่อผ่าน 10 วันแรก หลังจากลงปลาไปแล้ว จะเริ่มดูน้ำว่าสีน้ำเริ่มเปลี่ยนหรือไม่ น้ำเริ่มมีกลิ่นโชยขึ้นมาหรือไม่
หากพบคุณภาพน้ำเริ่มเปลี่ยนไปให้รีบเปลี่ยนถ่ายน้ำทันที เพราะหากปล่อยทิ้งไว้นานจะส่งผลเสียต่อปลาที่เลี้ยงไว้ได้ พร้อมทั้งการควบคุมเชื้อ โดยการใช้โปรไบโอติกส์ และยาฆ่าเชื้อ ที่ไม่ส่งผลให้เนื้อปลามีสารตกค้าง
การช่วยเหลือสมาชิกด้าน การเพาะพันธุ์ปลาดุกบิ๊กอุย
ปัจจุบันสำเนาพันธุ์ปลามีกำลังการผลิตลูกพันธุ์ปลาดุกบิ๊กอุยประมาณหลายสิบล้านตัว นอกจากนี้คุณสำเนายังเปิดรับสมาชิกเครือข่ายที่มีบ่ออยู่ในละแวกบ้านอีกกว่า 30 กว่าราย โดยคุณสำเนาจะช่วยสมาชิกดูแลเรื่องการบริหารจัดการฟาร์ม เทคนิควิธีการเลี้ยง รวมถึงด้านการตลาด เป็นการสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชน
ซึ่งหากเกษตรกรคนไหนไม่มีเงินทุนในการทำฟาร์ม คุณสำเนาก็ยินดีที่จะเข้าไปช่วยเหลือโดยไม่หวังผลตอบแทน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินทุน หรืออาหารปลา ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุย เมื่อบ่อไหนเลี้ยงปลาได้ขนาดตามที่ต้องการแล้ว คุณสำเนาก็จะรับจับปลาคืน ในราคาประกัน คือ 31 สตางค์/ตัว
ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายปลาดุก
ในแง่การตลาด คุณสำเนาเน้นย้ำว่าตนทำตลาดแบบให้ “การตลาดนำการผลิต” โดยอาศัยคุณภาพของลูกปลา และชื่อเสียงของคุณสำเนาที่สั่งสมมาเป็นเวลานาน อีกทั้งการดูแลลูกค้าหลังการขายที่มีการรับเคลมปลาที่เสียหายระหว่างขนส่ง เรียกว่าลูกค้าซื้อปลาจากสำเนาพันธุ์ปลา อัตราการรอดแทบ 100%
ปัจจุบันนอกจากการเพาะเลี้ยงพันธุ์ปลาดุกบิ๊กอุยแล้ว คุณสำเนายังมีโครงการส่งออกปลาดุกไปยังประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย โดยขายเป็นปลาเนื้อ ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงศึกษาดูงานของนายทุนจากประเทศญี่ปุ่น “เดือนหน้าเราจะตกลงซื้อขายปลาดุกกับญี่ปุ่น เขาเอาไปใช้แทนปลาไหล อุนางิ คือ เราคบเขามา 2 ปี เขาก็ประทับใจเรา เพราะเราไม่เอาเปรียบเรื่องการค้า”
ฝากถึงเกษตรกรที่สนใจ การเพาะพันธุ์ปลาดุกบิ๊กอุย
“อยากบอกเกษตรกรทุกท่านว่าเราต้องดูแลฟาร์มของเราทุกส่วน ไม่ใช่แค่บางส่วน ต้องดูแลตั้งแต่การเพาะเลี้ยง การกินอยู่ ต้องรู้ธรรมชาติของการเลี้ยงให้ได้ว่าสัตว์ชนิดนี้กินอยู่ยังไง จะอ่อนแอช่วงไหน ดีช่วงไหน สมควรดูแลเป็นพิเศษช่วงไหน ต้องเข้าใจสัตว์ แล้วก็ค่อยมาปรับเปลี่ยนประยุกต์ให้เข้ากับเรา เข้ากับการทำมาหากินของเรา เพื่อที่เกษตรกรจะได้เหนื่อยน้อยลง
ถ้าเรารู้ทุกอย่างในสัตว์ที่เราเลี้ยงอยู่ ที่สำคัญต้องคลุกคลีอยู่กับมัน เพราะมันเป็นสิ่งมีชีวิต ที่สำคัญต้องลดต้นทุนในการผลิตให้ต่ำที่สุด อย่างเรื่องอาหาร ก็ต้องใช้อาหารที่มีคุณภาพ สัตว์กินแล้วโตดี แข็งแรง สมบูรณ์ ที่สำคัญ FCR ต้องต่ำ แต่ก็ต้องควบคู่กับการบริหารจัดการฟาร์มที่ดีด้วย”
ขอขอบคุณข้อมูล “สำเนาพันธุ์ปลา” คุณสำเนา เกาะกาเหนือโทร : 086-849-2584 250 หมู่ 1 ตำบลท่าเรือ อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก 26130 การเพาะพันธุ์ปลาดุกบิ๊กอุย การเพาะพันธุ์ปลาดุกบิ๊กอุย
สนใจผลิตภัณฑ์อาหารปลา ติดต่อ บริษัท อินเทคค์ฟีด จำกัด
www.inteqcgroup.com/Email : [email protected]/www.facebook.com/inteqcgroup
หรือโทร : 083-619 0035 การเพาะพันธุ์ปลาดุกบิ๊กอุย การเพาะพันธุ์ปลาดุกบิ๊กอุย การเพาะพันธุ์ปลาดุกบิ๊กอุย