เลี้ยงกบในบ่อพีอี ประหยัดน้ำ เลี้ยงง่าย ไกลโรค
จากสิ่งที่ทำ สู่อาชีพที่มั่นคง ในยุคที่พูดได้เลยว่าใครทำก่อน ได้ก่อน! เช่นเดียวกับคุณ ธีระพงศ์ แก้วมหาดไทย หรือ คุณนุ พนักงานบริษัทเอกชน เซลล์แมนฝ่ายขายพลาสติก หรือถ้าในวงการสัตว์น้ำจะรู้จักกันดีในชื่อ PE ปูพื้นบ่อเลี้ยงกุ้ง ด้วยหน้าที่ความกตัญญูรู้คุณ ที่ต้องกลับมาดูแลคุณตาที่ชราภาพ ประจวบเหมาะกับทางบ้านสนับสนุนอยากให้มีอาชีพ เป็นนายตนเอง จึงเสนอพื้นที่สวนยูคาลิปตัส และมีบ่อน้ำอยู่แล้ว แปลงโฉมเป็นฟาร์มเพาะเลี้ยงกบ
การเลี้ยงกบ ถือเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่คนหันมาให้ความสนใจ ส่วนมากแล้วจะเลี้ยงเป็นอาชีพเสริม เลี้ยงเพื่อบริโภคเองภายในครอบครัว แบ่งผลผลิตออกไปขายบ้าง ถ้ารอบการเลี้ยงนั้นมีผลผลิตมากเกินไป
ราคากบกับการลงทุน ถ้าเปรียบเทียบกับระยะเวลา 2-3 เดือน จับผลผลิตได้ในต้นทุนไม่เกิน 40 บาท แต่ราคาจับปากบ่อให้ราคาต่ำสุด ก็ยังเป็นกำไรที่ 5 -10 บาท/กก.
ถ้าจะเลี้ยงกบเป็นอาชีพหลัก กำไรเพียงเท่านี้อยู่ได้หรือ…?
นี่คือความตั้งใจ หลังจากที่ออกจากงานประจำมาเป็นเถ้าแก่เอง คุณนุกล่าวว่า เมื่อตอนเป็นพนักงานได้ทดลองเลี้ยงกบในบ่อพลาสติก เกิดเป็นงานทดลองมาก่อน และประสบความสำเร็จ ทีมงานนิตยสารสัตว์น้ำ บุกดงสวนต้นยูคาลิปตัส พื้นที่หลายร้อยไร่ เกิดความแปลกใจว่า ทำไมฟาร์มนี้ ถึงมีคนกล่าวถึงเป็นจำนวนมากทั้งๆที่ทางเข้า แสนจะทรหด ฟาร์มตั้งอยู่ลึก คนที่ตั้งใจมาจริง ถึงเข้ามา เพราะถ้าฟาร์มตั้งอยู่ในแหล่งชุมชนหรือติดถนน การตลาดจะดีและตรงกันข้ามจะเป็นการรบกวนกบ ที่ตั้งฟาร์มลึกออกได้ ข้อดีอีกประการ คือเสียงร้องของกบไม่รบกวนผู้อื่น จึงไม่มีข้อสงสัยในสุภาษิตที่ว่า “เสือซุ่ม” มีอยู่จริงๆ
สุขสำราญฟาร์มกบ มาจากชื่อคุณตา ที่ชื่อตาสำราญและความต้องการให้ผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชม มีความสุขกลับไป จึงเป็นที่มาของ “สุขสำราญฟาร์มกบ”
ถ้าดูจากลักษณะบ่อพลาสติกจะเสียเปรียบในเรื่องของความไม่แข็งแรง ไม่ทนทาน เท่าการเลี้ยงในบ่อปูน แต่มันดีในเรื่องของการเคลื่อนย้ายสะดวก การลงทุนที่ไม่สูง กบไม่เป็นแผลและที่สำคัญอายุการใช้งาน 5-6 ปี
เรื่องของสายพันธุ์กบ
กบนาหรือกบธรรมชาติถือเป็นสัตว์น้ำที่คนนิยมบริโภคกันอยู่เดิมแล้ว แต่เมื่อมีการเพาะพันธุ์และพัฒนาสายพันธุ์กบขึ้นมา ความคล้ายคลึงต้องใกล้เคียงธรรมชาติที่สุด ตลาดถึงจะยอมรับ สายพันธุ์กบแต่ละฟาร์มแต่ละที่ มีการพัฒนา หลักๆก็จะเป็นการผสมไขว้สายพันธุ์ เพราะต้องการให้กบเลี้ยงเจริญเติบโตดี ในระยะเวลา 2-3 เดือน คุณนุกล่าวว่า สายพันธุ์ผมเองก็ผ่านการพัฒนามาแล้ว สายพันธุ์แรกผมจะซื้อลูกพันธุ์มาเลี้ยงแล้วนำมาผสมไขว้สายพันธุ์ ให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคและก็ตลาด สายพันธุ์หลักๆ ของเราจะเป็นสายพันธุ์ “ทองดำ”และ “ทองสุก” เริ่มแรกเราจะใช้กบบลูฟร็อกกับกบจานที่ผสมกันแล้วมาผสมไขว้กับกบนาที่ซื้อมาจากตลาดมหาชัย เป็นกบ 3 สายพันธุ์ ในตัวเดียวกัน เกิดเป็นสายพันธุ์ชุดแรก ปกติแล้วกบบลูฟร็อกกับกบจานปากจะกว้าง ไม่น่ากิน เลยนำมาไขว้กับกบนาที่มีลักษณะปากแหลม จะดูน่ากินกว่า
และอีกหนึ่งสายพันธุ์มาจากแม่ค้ารับซื้อ สอบถามมาว่าทำไมไม่ทำกบสีดำ จึงใช้สายพันธุ์ชุดแรกมาผสมกับสายพันธุ์กบนาแท้ๆออกมาเป็นสายพันธุ์ “ทองดำ”
ส่วนอีกหนึ่งสายพันธุ์เกิดจากการนำกบสายพันธุ์ชุดแรกเช่นกัน มาผสมกับกบจานออกมาเป็นสายพันธุ์ “ทองสุก”
ความแตกต่าง “ทองดำ ทองสุก”
“ทองดำ” เป็นที่นิยมในตลาดบ้านเรา ไซส์เล็ก ตัวดำ จะเหมือนกบนามากที่สุด เป็นสายพันธุ์ที่ไม่ผลิตออกมาเยอะ เพราะเกษตรกรที่นำไปเลี้ยง เรื่องของการเจริญเติบโตจะช้ากว่า เพราะมาจากสายพันธุ์กบนาเยอะ
“ทองสุก” ตลาดจะดีกว่า ปริมาณจะกว้างกว่า เป็นตลาดผู้บริโภคส่วนใหญ่ ลักษณะตัวใหญ่ เป็นกบสีเหลือง ได้เปรียบในเรื่องของการเจริญเติบโตที่รวดเร็วกว่า ทองดำ
การเพาะพันธุ์กบในบ่อพลาสติก
การเพาะพันธุ์กบในบ่อพลาสติกขนาด 2×3 ซึ่งเป็นได้ทั้งบ่อเพาะและบ่อเลี้ยง 2 in 1 ปกติการเพาะจะใช้น้ำเยอะ น้ำน้อยแล้วแต่รูปแบบการเพาะ แต่ในแบบของสุขสำราญฟาร์มจะใช้ปริมาณน้ำประมาณ 5-7 เซนติเมตร แล้วใส่ผักบุ้งเหมือนจำลองธรรมชาติให้เขาอยู่ จะปล่อยกบลงไปเพาะในช่วงเวลา 16.00-17.00 น. ในอัตรา 1:1 หรือบางครั้งจะใช้ 2:1 จำนวน 4-5 คู่ การใช้อัตรา 2:1 ก็เพราะบางครั้งกบตัวผู้จะเกาะกันเอง ทำให้แม่พันธุ์ ขาดคู่ผสมพันธุ์ จึงต้องปล่อยเผื่อลงไป และที่ขาดไม่ได้คือการทำระบบน้ำสปริงเกอร์กระตุ้นธรรมชาติของกบ ที่จะวางไข่ในช่วงหน้าฝน ช่วงประมาณ 03.00 น. กบจะเริ่มปล่อยไข่ออกมา คุณนุกล่าวเสริมว่า ตนจะไม่มีการใช้ฮอร์โมนฉีดกระตุ้นเร่งให้ไข่สุก เพราะจะทำให้กบไม่ค่อยแข็งแรง แข็งแรงบ้าง ไม่แข็งแรงบ้าง ของเราจะใช้ธรรมชาติล้วนๆ จากไข่เป็นจะฟักเป็นตัวใช้ระยะเวลาประมาณ 24 ชั่วโมง ในรุ่งเช้าจำเป็นต้องย้ายพ่อแม่พันธุ์ออก แต่ผักบุ้งยังอยู่ เพราะไข่กบอาจไปเกาะอยู่เป็นที่ฟักตัว
อาหารและการให้อาหาร
กบเมื่อฟักเป็นตัวจะยังมีถุงไข่แดงติดมา 2-3 วันแรก จะให้กินไข่แดงนั้นก่อน จะเริ่มให้อาหารปลาชนิดผงสำหรับสัตว์น้ำแรกเกิด คุณนุกล่าวว่า ที่เลือกใช้อาหารผงก็เพราะว่ามีสารอาหารครบถ้วน ถ้าใช้ไข่แดงให้กินจะมีแต่โปรตีนอย่างเดียว และอีกอย่าง คือ ไข่แดง ถ้าลูกอ๊อด กินไม่หมด จะเป็นสาเหตุทำให้น้ำในบ่อเสียด้วย
อาหารผงจะให้กิน 1 สัปดาห์ ให้กินวันละ 3 มื้อ หลังจากนั้นไปจะให้ไฮเกรด ประมาณ 1 เดือน การใช้อาหารโปรตีนสูงจะส่งผลดีในเรื่องของการเจริญเติบโต ความแข็งแรง ใช้ระยะเวลาในการอนุบาลลูกกบ 25-30 วัน ก็เริ่มทยอยออกจำหน่ายได้
เจ้าแรกการเลี้ยงกบบ่อพลาสติก
สุขสำราญฟาร์มถ้านับชั่วโมงบิน ยังไม่ครบ 2 ปี ความนิยมและประตูบานแรก คือ โลกโซเชียล ทำให้เป็นที่รู้จักของผู้ที่สนใจและคุณภาพของลูกกบ และที่แปลกไปกว่านั้น คือการการพลาสติก สร้างเป็นบ่อเลี้ยงกบ ผู้ที่เข้ามาศึกษาเป็นกระบอกเสียงจากปากต่อปาก เพราะถือว่าบ่พลาสติกเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับเกษตรกรที่สนใจ ได้ทดลองเลี้ยง
บ่อพลาสติกขนาด 2×3 เมตร จะปล่อยลูกกบลงเลี้ยงประมาณ 500-600 ตัว หรือคำนวณในอัตรา 10 ตัว/ตร.ม ความน่าสนใจในการเลี้ยงกบด้วยบ่อพลาสติก คือ กบเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ไม่จำเป็นต้องใช้น้ำเยอะ แค่ปริ่มๆ ลักษณะเป็นพื้นบ่อสโลป สูงต่ำไล่ระดับ มีทั้งส่วนที่กั้งขังน้ำและส่วนที่เป็นพื้นบกในที่เดียว ปริมาณน้ำบ่อปูนที่ใช้เลี้ยง 20-30 เซนติเมตร ถ้าในบ่อพลาสติกสามารถกระจายน้ำเหล่านั้นใช้เลี้ยงกบได้ 10 บ่อ และไม่จำเป็นต้องใส่แผ่นยางรองเท้าให้เป็นต้นทุนเพิ่ม
การเปลี่ยนถ่ายน้ำสะดวก รวดเร็ว
ในการเลี้ยงกบนั้นเรื่องของความสะอาดถือเป็นหัวใจของการเจริญเติบโต และอีกอย่าง คือ ป้องกันการเกิดโรค ฉะนั้นในบ่อพลาสติกหากกังวลใจว่าการเปลี่ยนถ่ายน้ำจะทำได้อย่างไรนั้น ทางคุณนุจะใช้ระบบเดินท่อ ตั้งวาวล์ เปิด–ปิด มีเกลียวนอก–ใน เจาะพลาสติกประมาณหัวแม่มือ หมุนเข้าใช้โอลีน นอก–ในหมุนเข้าไป เป็นท่อน้ำไหลออก นอกจากนี้ เพื่อป้องกันน้ำล้นบ่อ จะตัดท่อ ทำเป็นระบบน้ำล้นในฤดูฝน ไม่ต้องกังวลว่าน้ำจะล้นบ่อออกมา สร้างความวุ่นวายใจ
การทำความสะอาดบ่อ จะใช้ด่างทับทิม ฆ่าเชื้อภายในบ่อและตากแดดให้แห้ง ก่อนการใช้งานทุกครั้ง นอกความความสะดวกในการใช้งาน จัดการง่ายแล้ว ยังเคลื่อนย้ายสะดวกอีกด้วย
ความสะดวก ง่าย และรวดเร็ว ในการเลี้ยงกบในบ่อพลาสติกไม่ถือเป็นปัญหา ปริมาณน้ำที่ใช้เลี้ยงในปริมาณน้ำน้อย นอกจากประหยัดต้นทุนแล้ว หากการเปลี่ยนถ่ายน้ำทำได้บ่อย การจัดการดี ไม่จำเป็นต้องใช้ยารักษาโรค เป็นผลผลิตปลอดภัยจากสารตกค้าง กบที่เลี้ยงในบ่อพลาสติก ปากหรือลำตัวไม่มีโอกาสสัมผัสของแข็ง โอกาสเกิดบาดแผลไม่มี รูปร่างกบจะสวย เป็นที่ต้องการของตลาด
เลี้ยงกบกินอาหารบ่อยๆ ดีไหม
อาหารในช่วงการเลี้ยงจะเริ่มจากอาหารกบเบอร์ 1 เบอร์ 2 จะเลี้ยงไม่เยอะ ถ้ากบกระโดดได้จะเปลี่ยนเป็นอาหารกบเบอร์ 3 กบกินอาหารบ่อยจะดี แต่ไม่ควรให้ปริมาณเยอะ เนื่องจากกบมีขนาดลำไส้กบสั้น กินแล้วขับถ่าย ถ้ากบได้รับสารอาหารครบ กินแบบทิ้งช่วงไม่มาก จะมีการเจริญเติบโตได้ดี
ตลาด
กบเป็นสัตว์น้ำที่ปัจจุบันความต้องการบริโภค มีปริมาณมากขึ้น อาชีพการเพาะเลี้ยงเกิดขึ้นกันมาก บางรายที่มีต้นทุนดี มีความใส่ใจ การจัดการดี สามารถทำเป็นอาชีพหลัก และเลี้ยงแบบพานิชย์ได้ ตลาดถือเป็นจุดเริ่มต้น หากจะเลี้ยงกบ คนเลี้ยงต้องมีตลาดรับซื้อ กบใช้ระยะเวลา 2-3 เดือน ก็ได้ผลผลิตออกจำหน่ายแล้ว คุณนุกล่าวว่า ตลาดในปีนี้ ถือว่ากบเป็นของกินสามารถขายได้เรื่อยๆ ไม่สิ้นสุด ตอนนี้ทางฟาร์มกำลังอยู่ในขั้นตอนการของใบรับรอง มาตรฐานฟาร์มเพาะเลี้ยงเพื่อการส่งออก (GAP) เพราะตอนนี้ตลาดเพื่อนบ้านมีความต้องการสูง ถ้าเรามีใบ GAP รับรองสามารถส่งออกผลผลิตไปยังต่างแดนได้ ทั้งในตลาดประเทศจีน เวียนนามและลาว มีการเข้ามาดูงานที่ฟาร์มและนำลูกพันธุ์กลับไปเลี้ยง การส่งออกถือเป็นการขยายตลาดให้กว้างขึ้น รองรับทั้งผู้เลี้ยงที่สนใจมากขึ้นและถึงผู้บริโภคได้อย่างทั่วถึง
ปัจจุบันนี้สุขสำราญฟาร์มมีบ่อประมาณ 25 บ่อ ตั้งใจจะมีบ่อเพาะ 13 บ่อ แต่ด้วยกระแสการเลี้ยงกบเชิงพานิชย์และเพื่อบริโภคในครัวเรือนมีความต้องการสูง บ่อเพาะขนาด 2×3 ได้ผลผลิต 4-5 พันตัว แต่ถ้าใช้เลี้ยงจะได้ผลผลิตบ่อละ 100 กิโลกรัม การเลี้ยงกบที่มีหลากหลายรูปแบบ บางฟาร์มก็มีการทำแบบครบวงจร เพาะเลี้ยงเอง และรับซื้อคืน ซึ่งเรื่องของตลาดรับซื้อ ถ้าเกษตรกรซื้อกบจากฟาร์มเราไปจะมีตลาดที่เป็นพ่อค้าประจำรับซื้อวันละ 100-200 กิโลกรัม อย่างแน่นอน และแม่ค้าขายปลีกอีกกว่า 10 ราย ถ้าเรื่องกบในระบบเครือข่ายจะลดความเสี่ยงส่วนนี้ลงไป ต้นทุนการผลิตประมาณ 35-38 บาท/กิโลกรัม
การลดต้นทุนในเรื่องของสายพันธุ์ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่แตกต่าง ฉะนั้นหากเกษตรกรที่สนใจต้องการเลี้ยงต้องรับลูกพันธุ์จากแหล่งที่น่าเชื่อถือ มีตลาดรองรับที่แน่นอน เพื่อลดความเสี่ยง การวางแผนด้านการตลาด คุณนุกล่าวทิ้งท้าย
สำหรับเกษตรกรที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลการเลี้ยงหรือสั่งจองลูกพันธุ์กบ กบเนื้อ พ่อแม่พันธุ์กบ อาหารกบและบ่อพลาสติกสำหรับเพาะเลี้ยงกบได้ที่ คุณธีระพงศ์ แก้วมหาดไทย (คุณนุ)ได้ที่ 107 หมู่ 10 บ้านกั้ง ตำบล ดอนหายโผก อำเภอ หนองหาน จังหวัด อุดรธานี 41130 หรือโทร.085-083-1215,084-515-0099
tags: เลี้ยงกบ การเลี้ยงกบ ในบ่อพีอี วิธีการเลี้ยงกบ วิธีเลี้ยงกบ PE pe อาหารกบ การเลี้ยงกบในบ่อพีอี เลี้ยงกบ การเลี้ยงกบ ในบ่อพีอี วิธีการเลี้ยงกบ วิธีเลี้ยงกบ
[wpdevart_like_box profile_id=”377357182296025″ connections=”show” width=”300″ height=”220″ header=”big” cover_photo=”show” locale=”th_TH”]