การเลี้ยงปลากะพงขาว
ปลาเศรษฐกิจหลักในวงการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกร่อย หรือปลาสองน้ำ คือ “ปลากะพงขาว” ซึ่งเป็นปลาเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่ใช้ทุนค่อนข้างมากในการเลี้ยง แต่ผลกำไรที่ได้กลับมานั้นคุ้มค่าแก่การลงทุน เกษตรกรหลายท่านคิดว่าปลากะพงจำเป็นต้องเลี้ยงในพื้นที่ที่จำกัด และยึดความเค็มเป็นที่ตั้งของการเลี้ยง แต่ในวันนี้พื้นที่จังหวัดขอนแก่น เมืองหลวงของภาคอีสาน สามารถที่จะเลี้ยงปลากะพงในกระชังได้มานานกว่า 7 ปี ซึ่งมีผลตอบแทนที่สูงมาก ปัจจุบันมีกว่า 300 กระชัง ในบริเวณบ้านดงพอง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
คุณยุทธรินทร์ วิจิตรานนท์ หรือพ่อแดง อดีตประกอบอาชีพเกี่ยวกับการท่องเที่ยว แต่มีโอกาสได้มาอยู่ขอนแก่นเมื่อราว 20 ปีที่แล้ว คิดว่าจะมาใช้ชีวิตบั้นปลาย ซึ่งภูมิลำเนาเป็นคนกรุงเทพฯ จากเดิมที่เคยเลี้ยงปลาสวยงามส่งเข้าประกวดได้รับรางวัลถ้วยพระราชทาน แต่เมื่อได้มาอาศัยอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น และเห็นว่าชาวบ้านมีอาชีพเลี้ยงปลานิลร่วมกับบริษัทยักษ์ใหญ่ในประเทศแล้วประสบปัญหาสภาวะขาดทุน จึงเกิดการรวมกลุ่มกันขึ้นมาเมื่อปี 2550
ตอนนั้นได้มีแนวคิดที่ว่า “ไม่อยากเลี้ยงอะไรที่ซ้ำกับเกษตรกรรายอื่น ไม่งั้นเราจะสู้ราคา และตลาดไม่ได้” จึงคิดหาวิธีเปลี่ยนไม่ให้เหมือนเกษตรกรรายอื่น ตอนแรกนั้นคิดที่จะเลี้ยงปลาแซลมอน แต่บ้านเราเลี้ยงไม่ได้ เนื่องจากน้ำมีอุณหภูมิที่ไม่เหมาะสม จึงได้หันมาทดลอง การเลี้ยงปลากะพงขาว และได้ผลที่ดี ถึงได้เลี้ยงเป็นสัตว์น้ำชนิดหลักมาจนทุกวันนี้ แต่ก็มีชนิดอื่นเพิ่มเติมมาบ้าง เช่น ปลาทับทิม เพราะว่าบริเวณนี้ไม่มีคนเลี้ยง
ด้านตลาดชอง การเลี้ยงปลากะพงขาว
ปลากะพงขาวเป็นปลาน้ำกร่อยที่มีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก และมีคุณค่าทางโภชนาการสูง นิยมบริโภคกันอย่างแพร่หลาย ผลผลิตจากการเพาะเลี้ยงมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อตลาดปลากะพงที่ลดลงจากการจับจากธรรมชาติต่อการบริโภค
ซึ่งตลาดที่ส่งผลผลิตอยู่นั้นได้ส่งไปยัง บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ MAKRO และร้านอาหารในบริเวณใกล้เคียง ผลผลิตหลักในช่วงนี้จะอยู่ที่ 3 ตัน/เดือน เนื่องจากเศรษฐกิจถดถอย แต่หากเป็นช่วงเศรษฐกิจดีจะขายอยู่วันละ 200 กิโลกรัม ก่อนส่งขายนั้นจะมีการอดอาหาร 3 วัน ในบ่อปูน เพื่อให้คายโคนออก และยังทำให้ปลาแข็งแรงในช่วงการขนส่งอีกด้วย
การจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนนิลสยามบ้านดงพอง
เมื่อมีการรวมกลุ่มเลี้ยงปลาในบริเวณเดียวกันแล้ว โดยเริ่มต้นจากการเลี้ยงปลานิล เพราะเงินทุนของเกษตรกรแต่ละรายมีน้อย จึงคิดที่จะจัดตั้งเป็น “วิสาหกิจชุมชนนิลสยามบ้านดงพอง (กลุ่มเลี้ยงปลากะพงขาว)” ขึ้น กว่า 5 ปีที่ผ่านมา ที่เริ่มจัดตั้งมีสมาชิกทั้งหมด 8 คน 100 กระชัง จนปัจจุบันนี้มีทั้งหมด 16 คน มีกว่า 300 กระชัง
โดยมี คุณยุทธรินทร์ วิจิตรานนท์ ดำรงตำแหน่ง ประธานกลุ่มและฝ่ายการตลาด คุณสมศักดิ์ กาลพรหมมา ตำแหน่งรองประธาน และคุณเสถียร นุศรีอัน เป็นรองประธาน และเหรัญญิก และยังมี คุณสุทธิ มะหะเลา หรือคุณเค เป็นผู้ให้คำปรึกษาในเรื่องของ การเลี้ยงปลากะพงขาว อีกด้วย
ส่วนสมาชิกเกษตรกรที่เลี้ยงอยู่ในบริเวณบ้านดงพองมีอยู่ทั้งหมด 7 คน และสาเหตุที่จัดตั้งกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนเพราะเมื่อแยกกันเลี้ยงแล้วจะเปรียบเสมือนหลักลอย ใครอยากทำอะไรก็ทำ ไม่มีการประชุมหรือลงมติใดๆ แต่หากมีแนวทางในทางเดินเดียวกันก็จะเป็นกลุ่มที่แข็งแรงกว่า ซึ่งจะมีแนวทางการเลี้ยงและตลาดที่ชัดเจน ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มที่แข็งแกร่ง รวมกันมาได้กว่า 5 ปีแล้ว
สภาพพื้นที่ของ การเลี้ยงปลากะพงขาว
เนื่องจากในเวลานี้ปลากะพงขาวขยายเขตการเลี้ยงไปถึงกาฬสินธุ์ แต่เป็นการเลี้ยงในบ่อดิน บ่อละ 2 ไร่ 2 บ่อ และในตอนนี้กำลังระดมทุนเพื่อไปซื้อที่ดินใกล้แหล่งน้ำ และเลี้ยงในบ่อดิน เมื่อเลี้ยงในแม่น้ำไม่สามารถควบคุมคุณภาพน้ำได้ เพราะเมื่อก่อนสภาพแวดล้อมธรรมชาติยังดีอยู่
แต่ปัจจุบันนี้ต้นน้ำมีการทำโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ทำให้มลภาวะเปลี่ยนไป จึงจำเป็นให้ต้องย้ายที่เลี้ยงเพื่อลดความเสี่ยงต่อการสูญเสีย จึงได้ตัดสินใจหันมาเลี้ยงปลาเศรษฐกิจชนิดที่ใช้ทุนสูงมาก ในช่วงเริ่มต้นก็ได้ลองผิดลองถูกมาตลอดระยะเวลา 1 ปี ถึงจะเริ่มเลี้ยงได้ผล ตอนที่นำปลากะพงมาเลี้ยงใหม่ๆ พบความสูญเสียอย่างมาก
เนื่องจากลูกพันธุ์ปลาที่สั่งมามีขนาดใหญ่ เมื่อลงกระชังทำให้มีการปรับภาพปลาให้เหมาะสมกับพื้นที่ได้ยาก เพราะการขนส่งที่ไกล ใช้เวลานาน ซึ่งรูปแบบการขนส่งเปลี่ยนมาหมดแล้ว ทั้งเครื่องบิน รถยนต์ ก็เสียหายได้ทุกทาง และจึงได้มามองถึงตัวลูกพันธุ์ว่ามีคุณภาพและแข็งแรงพอต่อการขนส่งหรือไม่ ก็เปลี่ยนมาอีกหลายที่เช่นกัน ใครบอกว่าที่ไหนดีก็ลองสั่งมา เช่น จังหวัดชลบุรี สมุทรสงคราม ฉะเชิงเทรา เป็นต้น
เปลี่ยนวิธีขนส่งลูกพันธุ์ปลา อัตรารอดสูง
สุดท้ายจึงได้เปลี่ยนวิธีขนส่งทั้งหมด โดยการไปรับเองจากฟาร์ม ซึ่งทำให้เห็นว่าคุณภาพลูกปลาที่ได้มามีคุณภาพดีแค่ไหน และใช้ปลาขนาดเล็กลง หรือขนาดประมาณ 2 เซนติเมตร และค่อยๆนำมาปรับสภาพลูกปลา ทำให้ลดอัตราการสูญเสียไปได้มาก
ก่อนที่จะเริ่มเลี้ยงสัตว์น้ำชนิดต่างๆ ควรเลือกลูกพันธุ์ที่ได้คุณภาพเป็นอันดับแรก ซึ่งได้คัดเลือกจากที่ต่างๆ จนมาเจอที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ในตำบลสองคลอง เป็นลูกพันธุ์ของ “เจ๊นิด” ที่เป็นฟาร์มผลิตลูกปลากะพงที่มีคุณภาพ และซื่อสัตย์ต่อลูกค้า ลูกปลาที่รับมาจะรับมาเดือนละประมาน 30,000 ตัว และรับมาจากบ้านโพธิ์บรรจงฟาร์ม เป็นฟาร์มอนุบาลลูกปลากะพงขาวที่ได้คุณภาพอีกฟาร์มหนึ่ง
การปรับสภาพของปลา
การเลี้ยงปลาให้ได้ผลดี แต่ละฟาร์มก็มีเทคนิคเฉพาะตัว โดยที่พ่อแดงนั้นจะมีเทคนิคของการปรับลูกปลาให้สามารถมีชีวิตอยู่ได้ และลดความสูญเสียในระหว่างการเลี้ยงของพื้นที่ที่ตนเลี้ยง คือ เมื่อหลังจากที่ได้ลูกพันธุ์ปลาขนาดที่ต้องการมาแล้วจะค่อยๆ นำมาปรับน้ำ จากความเค็มที่ฟาร์มใช้เลี้ยงมาก่อนการขนส่ง และจะปรับให้เหลือ 0 ppt. (น้ำจืด) ซึ่งทำให้อัตรารอดอยู่ที่ 85%
การปรับความเค็มของน้ำในบ่อปูนก่อนที่จะปล่อยลงกระชังโดยการใช้ “เกลือสมุทร” ปรับความเค็มให้เหลือประมาณ 5 ppt. และมีการ “สเปรย์น้ำจืด” ควบคู่กันไป โดยใช้ระบบน้ำล้นเพื่อปรับความเค็ม แล้วต้องสังเกตดูว่าปลามีสุขภาพเป็นอย่างไร มีความเครียดหรือไม่ เริ่มปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศใหม่หรือยัง เพราะสภาพอากาศที่แตกต่างมีผลอย่างมากต่อการอนุบาล
โดยสังเกตได้จากการว่ายน้ำ การหายใจ สีจะเข้มถ้าปลาอยู่ในสภาวะเครียด และการรวมกลุ่มกินอาหารของปลา และการปรับสภาพของปลาขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของลูกพันธุ์ที่ได้รับมา หากมีความแข็งแรงเพียงพอ การปรับสภาพก็จะใช้ระยะเวลาที่สั้นกว่า หรือใช้ระยะเวลาเพียง 3-7 วัน แต่จะอนุบาลในบ่ออนุบาล จนกระทั่งได้ความยาว 3-4 นิ้ว พร้อมกับฝึกให้กินอาหารเม็ด D-Light ของบริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ จำกัด (มหาชน) ระยะเวลา 30-45 วัน
การอนุบาลลูกปลา
หลังจากนั้นสามารถปล่อยลงกระชังเลี้ยงได้ตามปกติ เพื่อลดอัตราสูญเสีย พ่อแดงได้ร่อนไซส์ก่อนลงกระชังระหว่างการอนุบาลไม่ให้กินกันเองในกระชัง ตัวที่จะปล่อยลงกระชังได้ขั้นต่ำต้องมีขนาด 3 นิ้วขึ้นไป เมื่อได้ขนาดที่ต้องการแล้วจะทยอยลงกระชัง โดยที่ปลาเล็กจะลงให้มีความหนาแน่นมากกว่าปลาใหญ่ เพราะปลากะพงขาวเป็นปลาที่อาศัยแบบเป็นกลุ่ม หากลงบางปลาจะไม่กินอาหาร
หลังจากนั้นประมาณ 1 เดือน จะทำการร่อนไซส์ แต่มีการวางยาสลบเพื่อขยายกระชังออก ลดความหนาแน่นเมื่อปลาโตขึ้น โดยเริ่มเลี้ยงที่ 1,000 กว่าตัว/กระชัง การร่อนไซส์ครั้งที่สองจะเหลือ 600-700 ตัว/กระชัง จนเหลือกระชังละ 500 ตัว ในขนาดกระชัง 4×4 ลึก 1.5 เมตร จะใช้ระยะเวลาเลี้ยงต่อเพียงแค่ 60 วัน เท่านั้น เพื่อลดการแตกไซส์ของปลา
การให้อาหารปลากะพงขาว จาก บ.ไทยยูเนี่ยนฯ
เมื่อสภาพแวดล้อมในการเลี้ยงยากขึ้น บริษัทอาหารชั้นนำของประเทศ อาทิ บริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ จำกัด (มหาชน) ก็ได้คิดค้นอาหารเม็ดสำหรับปลากะพงขาว เพื่อให้เกษตรกรได้ใช้อาหารที่มีคุณภาพ และมีผลตอบแทนที่คุ้มค่า หรือที่ชาวเกษตรกรผู้เลี้ยงปลารู้จักกันในนาม “โปรฟีด” ซึ่งมีอยู่ถึง 9 เบอร์ ด้วยกัน
เพราะต้องคำนึงถึงขนาดของปลาเป็นหลัก เพื่อให้ได้ขนาดที่เหมาะสม แต่ที่ใช้อยู่มีเพียงแค่ 7 ขนาด นับตั้งแต่เบอร์ 901-907 จะพอดีที่ได้ผลผลิตจับขายในระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งจะได้ขนาดปลาอยู่ที่ 700-800 กรัม/ตัว แต่อาหารที่ให้จะให้ 2 เวลา เช้า-เย็น และมั่นใจว่าอาหารโปรฟีดเป็นอาหารสำหรับปลากะพงที่ดีที่สุดในประเทศไทย
การควบคุมคุณภาพของน้ำ
การตรวจคุณภาพน้ำถือว่าเป็นตัวช่วยสำคัญต่อการเลี้ยง หากไม่มีการตรวจคุณภาพน้ำเป็นประจำ และสม่ำเสมอ อาจจะทำให้เกิดความเสียหายได้ ซึ่งค่าน้ำที่ตรวจเป็นประจำ และสม่ำเสมอ คือ ค่า pH, DO เป็นต้น ปลากะพงขาวเป็นปลาที่ไวต่อออกซิเจนในน้ำ หากมีต่ำกว่ามาตรฐานที่ปลาต้องการ ปลาจะมีอาการผิดปกติ คือ ลอยหัว ต้องรีบแก้ไขโดยการเพิ่มออกซิเจนในน้ำ
การเลี้ยงสัตว์น้ำทุกชนิดในแต่ละพื้นที่ล้วนมีความแตกต่างกันทั้งนั้น ยกตัวอย่างเช่น การเลี้ยงในบ่อดิน สามารถควบคุมคุณภาพน้ำ และสภาพแวดล้อมภายในบ่อได้เกือบ 100% รวมถึงการเจริญเติบโตด้วย ใช้ระยะเวลาสั้นกว่าเกือบ 1 เดือน ทำให้ลดต้นทุนในค่าอาหารได้มาก ทำให้วางแผนการตลาดได้ง่ายขึ้น
ซึ่งการเลี้ยงในกระชัง คุณภาพของเนื้อปลาที่ได้จะดีกว่า เพราะปลามีการว่ายน้ำตลอด แต่ความเสี่ยงก็สูงตาม การเลี้ยงบ่อดินควรจะมีตัวช่วย อีกอย่าง คือ เรื่องการเพิ่มอากาศ โดยการเพิ่มเครื่องตีน้ำ เพราะจะทำให้น้ำไหลเวียน และใช้ระบบน้ำล้นลักษณะเดียวกับบ่อปูน เนื่องจากปลากะพงขาวชอบน้ำที่สะอาด หากน้ำเน่าเสีย หรือน้ำเก่า จะไม่ค่อยกินอาหาร ทำให้ปลาอ่อนแอ และตายลงในที่สุด
การจำหน่ายปลากะพงขาวตามความต้องการของตลาด
การผลิตปลากะพงขาวเพื่อทดแทนปลากะพงที่เป็นทรัพยากรจากธรรมชาติที่มีแนวโน้มที่ลดลงในระบบนิเวศ และส่งผลให้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ดังนั้น การเลี้ยงปลากะพงขาว จึงสำคัญ ทำให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลากะพงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเริ่มมีวิธีการเลี้ยงที่แตกต่างกันไป
จนปัจจุบันนี้สามารถพัฒนาวิธีการเลี้ยง จนเลี้ยงได้บนพื้นที่ภาคอีสานซึ่งเป็นพื้นที่น้ำจืด โดยการปรับสภาพปลาให้เข้ากับสภาพพื้นที่ก่อนปล่อยลงกระชัง สร้างรายได้ให้เกษตรกรเป็นกอบเป็นกำ ทีมงานนิตยสารสัตว์น้ำขอขอบคุณ คุณยุทธรินทร์ วิจิตรานนท์ หรือพ่อแดง ที่สละเวลา และให้เกียรติสัมภาษณ์พิเศษในโอกาสนี้
พ่อแดงกล่าวทิ้งท้ายว่า “หากมีการอนุบาลที่ดีแล้ว การเลี้ยงปลากะพงขาว ในกระชังบริเวณพื้นที่น้ำจืดสามารถเลี้ยงได้อย่างสบาย” และขอให้มีความคิดริเริ่ม คิดต่าง ทำให้คู่ค้าทางการตลาดน้อย ไม่จำเป็นต้องไปแข่งกับราคาเจ้าอื่น