การเลี้ยงปูนา น้ำใสในกระชัง ธุรกิจเงินล้านที่ถูกมองข้าม

โฆษณา
AP Chemical Thailand

“ปูนา” ชื่อนี้เชื่อว่าใครๆ ก็รู้จัก เพราะเป็นสัตว์ประจำท้องถิ่นของเมืองไทยมาแต่ช้านาน แต่ก็เป็นชนิดสัตว์ที่ใครหลายคนมองข้าม เพราะไม่เห็นคุณค่าและมูลค่าของมัน แต่ในวันนี้ปูนากลับมีกระแสขึ้นมาอีกครั้ง ด้วยมีคนหัวใสหันมาเพาะเลี้ยงปูนา สร้างตลาดพรีเมียมขึ้นมาเพื่อรองรับผลผลิต พร้อมกับการแปรรูปปูนาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งประสบผลสำเร็จมาแล้ว

1.คุณศรีเพ็ญ-เจ้าของ-CRAB-HOUSE
1.คุณศรีเพ็ญ-เจ้าของ-CRAB-HOUSE

จุดเริ่มต้นการเพาะเลี้ยงปูนา

วันนี้นิตยสารสัตว์น้ำก็ไม่พลาดที่จะเกาะติดสถานการณ์ นำความรู้ เทคนิค แนวความคิด และการต่อยอดธุรกิจปูนา มาให้ท่านผู้อ่านติดตามกัน โดยทีมงานได้รับเกียรติจาก “คุณศรีเพ็ญ พงศ์ทรัพย์เจริญ” เจ้าของ Crab House”ฟาร์มปูนาน้ำใส มาเป็นผู้ถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับธุรกิจปูนา ที่กว่าจะประสบความสำเร็จดังทุกวันนี้นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลยทีเดียว

คุณศรีเพ็ญ พงศ์ทรัพย์เจริญ หรือพี่ศรี อดีตเจ้าของธุรกิจส่งออกจิวเวลรี่รายใหญ่ ที่ผันตัวเองมาทำธุรกิจ “ปูนา” เริ่มต้นจากยุคที่เศรษฐกิจตกต่ำ ธุรกิจเครื่องประดับมีทิศทางดิ่งลง ซึ่งสวนทางกับราคาต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น จึงทำให้ธุรกิจของพี่ศรีขณะนั้นเรียกว่าสั่นคลอนไปตามเศรษฐกิจโลก แต่ด้วยความบังเอิญ หรือชะตาลิขิต ก็ว่าได้ ทำให้พี่ศรีมาพบกับเจ้าปูนาตัวน้อย สัตว์น้ำที่อยู่นอกสายตาของใครหลายคน ผ่านทางคลิปวิดีโอ “ปูนาเงินล้าน” จึงสนใจและศึกษาเรื่องปูนาเรื่อยมา ได้ค้นคว้าหาความรู้เกี่ยวกับปูนามากขึ้น ยิ่งพี่ศรีค้นหาเรื่องปูนามากเท่าไร ก็ยิ่งหลงใหลมันมากเท่านั้น

“ช่วงที่พี่ศึกษาเรื่องปูนา ครั้งแรกซื้อปูมา 100 คู่ 200 ตัว ราคาคู่ละ 100 บาท  มาลองเลี้ยง ช่วงนั้นก็ถูกหลอกมาเยอะเหมือนกัน ฟาร์มไหนบอกว่ามีลูกปูนา พี่กว้านซื้อหมด เพราะเราคิดอย่างเดียวว่าจะเลี้ยงๆๆ โดยที่เราไม่ได้ศึกษาแหล่งผลิตลูกปูว่าฟาร์มนี้ดียังไง มีมาตรฐาน มีความน่าเชื่อถือมั๊ย บางฟาร์มซื้อมาพอปูมาถึงเราก็รอดไม่กี่ตัว แต่ด้วยประสบการณ์ที่ไม่หยุดของเรา เราก็เริ่มอนุบาลลูกปูได้ เริ่มรู้แหล่งซื้อลูกปูที่แข็งแรง ข้อดีของตัวพี่หนึ่งอยาก คือ คิดแล้วลงมือทำทันที  ลองผิดลองถูกเลย แล้วพี่ไม่เชื่อว่าในโลกนี้ไม่มีอะไรที่มนุษย์ทำไม่ได้ เพราะมนุษย์ทำได้ทุกอย่าง ขอแค่ความตั้งใจและลงมือทำแค่นั้น” คุณศรีกล่าว

2.ปูที่สมบูรณ์แข็งแรงจะลอกคราบ
2.ปูที่สมบูรณ์แข็งแรงจะลอกคราบ

สภาพพื้นที่เลี้ยงปูนา

ในช่วงแรกที่พี่ศรีเลี้ยงปูนา ทางครอบครัวไม่มีใครเห็นด้วย โดยเฉพาะลูกๆ หรือแม้แต่เพื่อนในวงการจิวเวลรี่ แต่พี่ศรีก็ไม่ได้สนใจเขาเหล่านั้น ยังคงมุ่งมานะศึกษาและทดลองเลี้ยงปูนา จนกระทั่งประสบความสำเร็จ แต่นั่นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่พี่ศรีสามารถเลี้ยงปูนาจนรอดได้ แต่ยังไม่มีการต่อยอดในธุรกิจ จนวันหนึ่งลูกชายพี่ศรีสังเกตเห็นว่าปูนาที่เลี้ยงจะอยู่ในคอกดินตลอดเวลา ทำให้ตามตัวของปูมีดินโคลนเปรอะเปื้อนตลอดเวลา มองดูสกปรก และไม่น่ารับประทาน

ที่สำคัญปูนาที่เลี้ยงอยู่กับดินมักจะมีพยาธิในตัวเสมอ จึงเกิดคำถามว่า “ปูเปื้อนดิน ดูน่าสกปรกขนาดนี้ แม่จะกินหรือ?” ซึ่งพี่ศรีได้มองเข้าไปในบ่อเลี้ยงปู และคิดว่าถ้าเป็นเรา “เราก็คงไม่กิน” เมื่อคิดเช่นนั้นพี่ศรีจึงปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงปูใหม่ หันมาเลี้ยงปูนาในบ่อผ้าใบ โดยเป็นการเลี้ยงปูแบบน้ำใส ไม่มีดินในบ่อเลี้ยงเหมือนเคย

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ซึ่งหลังจากทดลองเลี้ยง 1 บ่อ ปรากฏว่าประสบความสำเร็จอย่างเหลือเชื่อ ไม่พบลูกปูตาย อีกทั้งยังพบการลอกคราบของปู ซึ่งแสดงให้เห็นว่าปูแข็งแรง สมบูรณ์ ทำให้พี่ศรีมั่นใจแล้วว่าปูนาสามารถเลี้ยงในน้ำใสได้ อีกทั้งยังสมบูรณ์แข็งแรง และที่สำคัญ คือ สะอาด ปราศจากพยาธิ แน่นอน เมื่อเลี้ยงได้แล้วพี่ศรีจึงขยายบ่อเลี้ยงปู โดยใช้สถานที่ตึกโรงงานเก่าที่พี่ศรียังสร้างไม่เสร็จมาทำเป็นสถานที่เพาะขยายพันธุ์ปูนาจนเต็มเนื้อที่ เพื่อให้ได้จำนวนและปริมาณ

3.ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากปูนา
3.ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากปูนา
บริการส่งปูนาทางไปรษณีย์
บริการส่งปูนาทางไปรษณีย์

ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายปูนา

แน่นอนต้องมีคำถามว่าเลี้ยงปูแล้วผลผลิตไปไหน ซึ่งพี่ศรีไม่ได้มองแค่การเลี้ยงปูให้รอดอย่างเดียว ยังมองถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มของมัน โดยการนำปูนามาแปรรูป ไม่ว่าจะเป็นปูทอดกระเทียม น้ำพริกปู หรือแม้แต่เป็นเมนูกับข้าว แต่ที่นิยมมากที่สุด คือ น้ำพริกปูนา และปูทอดกระเทียม เนื่องจากมีอายุการเก็บได้นาน ในส่วนของน้ำพริก ส่วนปูทอดนั้นด้วยรสชาติและฝีมือการทำของพี่ศรีทำให้ใครที่ได้ลิ้มลองปูทอดของพี่ศรีแล้วนั้นต่างออเดอร์กันล่วงหน้าทันที ที่สำคัญพี่ศรีย้ำว่าเจ้าปูนาตัวน้อยนั้นสามารถนำมาแปรรูปได้ทุกช่วงอายุอีกด้วย

ปูนาที่มีอายุ 3-4 เดือน จะเหมาะสำหรับการ “ทอด” ขาย ซึ่งทางฟาร์มจะมีเมนูประจำชื่อว่า “ปูทอดกระเทียมแน่น” ที่พี่ศรียินดีนำเสนอเป็นอย่างยิ่ง เรียกว่า ทำขายทีไร ไม่พอขายซะงั้น เพราะฝีมือปรุงรสที่อร่อย และที่สำคัญความสด และสะอาด ของปูที่เลี้ยงภายในฟาร์ม ที่ไม่มีกลิ่นโคลนติดเนื้อเลย ต่อมา คือ ปูนาขนาด 4-5 เดือน ปูนาขนาดนี้พี่ศรียืนยันว่าเหมาะสำหรับทำเมนู “ปูดอง” มากที่สุด เพราะมีเนื้อเยอะ เนื้อแน่น ที่สำคัญปูจะเป็นวัยที่เริ่มมีไข่แล้วนั่นเอง

ขนาดถัดมา คือ ขนาดปูนาอายุ 7-8 เดือน ปูขนาดนี้เหมาะสำหรับจับขายเป็น “พ่อแม่พันธุ์” เพราะเป็นช่วงที่ปูโตเต็มวัย ไม่แก่เกินไป เหมาะสำหรับเป็นพ่อแม่พันธุ์มากที่สุด ซึ่งแม่ปูจะสามารถให้ไข่ได้จำนวนหลายแสนฟอง/ตัว ซึ่งหากมีการอนุบาลพ่อแม่พันธุ์ที่ดี ปูก็พร้อมที่จะผสมพันธุ์ตลอดเวลา และสุดท้าย คือ ขนาด 1 ปีครึ่ง-2 ปี ปูขนาดนี้เหมาะสำหรับทำเป็นปูนิ่มมากที่สุด นั่นหมายถึงการเลี้ยงที่ต้องอาศัยความชำนาญเพื่อเร่งให้ปูลอกคราบโดยเร็ว ซึ่งเมื่อปูลอกคราบแล้วก็จะได้ปูนิ่มมาทำเป็นอาหารนั่นเอง

4.บรรยากาศวันเปิดอบรม
4.บรรยากาศวันเปิดอบรม
ลูกค้าที่เข้ามาเยื่นมชมฟาร์มพร้อมศึกษาเรื่องการเลี้ยงปูนา
ลูกค้าที่เข้ามาเยื่นมชมฟาร์มพร้อมศึกษาเรื่อง การเลี้ยงปูนา

การจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ปูนา CRAB HOUSE

พี่ศรียอมรับว่าเดิมทีที่ตนเลี้ยงปูนาไม่ได้ตั้งใจจะเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้แต่แรก แต่เนื่องจาก การเลี้ยงปูนา นั้น ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด อีกทั้งเกษตรกรหรือคนเลี้ยงหลายรายอาจจะถูกหลอกจากพ่อค้าที่ต้องการขายพ่อแม่พันธุ์ เมื่อตนศึกษาลองผิดลองถูกจนสามารถเลี้ยงปูนาจนรอดได้ เลยคิดที่จะเปลี่ยนพื้นที่ฟาร์มของตนเป็นศูนย์เรียนรู้ เพื่อส่งต่อความรู้ให้กับผู้ที่สนใจ โดยจะมีการเปิดอบรม การเลี้ยงปูนา แบบครบวงจรให้กับผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษา เรียนรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์

ปัจจุบัน CRAB HOUSE” มีการเปิดอบรม การเลี้ยงปูนา แบบครบวงจรทุกเดือน เดือนละ 1 ครั้ง ซึ่งเนื้อหาจะมีทั้งวิธีการคัดเลือกพันธุ์ปู ซึ่งเรื่องสายพันธุ์นี้พี่ศรีย้ำว่าปูนาที่ตนเลี้ยงอยู่นั้น คือ “สายพันธุ์กำแพง” โดยปูสายพันธุ์นี้จะมีลักษณะตัวใหญ่ เนื้อเยอะ แข็งแรง มันเยอะ ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่นิยมเลี้ยงมากที่สุด จึงเหมาะสำหรับการเลี้ยงเพื่อบริโภค

โฆษณา
AP Chemical Thailand

นอกจากนี้ยังสอนการทำธุรกิจปูนา การทำตลาดออนไลน์ ซึ่งนอกจากความรู้ที่ได้แล้ว การอบรมครั้งนี้ก็ยังได้พ่อแม่พันธุ์กลับบ้านไปอีกจำนวน 20 ตัว และยังมีอุปกรณ์กระชังปู และอาหารปู ที่เป็นสูตรเฉพาะของทางฟาร์มกลับไปด้วย พร้อมทั้งสูตรแปรรูปอาหารจากปูนา ไม่ว่าจะเป็นน้ำพริกปู ปูทอดกระเทียม หรือเมนูกับข้าวต่างๆ

“แน่นอนว่าการอบรมต้องมีค่าใช้จ่าย ของเรา อบรม 1 คอร์ส ราคา 5,000 บาท ถามว่าคุณจ่ายเงินจำนวนนี้ คุณได้อะไรบ้าง คุณจะได้ชุดทดลองเลี้ยง 1 ชุด มูลค่า 3,500 บาท คุณได้ความรู้ คุณได้แนวทางธุรกิจปูนา เพราะคุณเลี้ยงให้ปูรอดอย่างเดียว คุณจะไม่รวย เราถึงต้องสอนการต่อยอดให้คุณด้วย”

“ที่ฟาร์มเราจะมีอุปกรณ์ขายเป็นชุดเลี้ยงปูนา หรือ “ชุดธุรกิจ” แต่ถ้าคนที่มาซื้อแล้วยังไม่ได้อบรม เราก็จะไม่ขายให้ เพราะว่าเขายังไม่ความรู้ ยังไม่รู้วิธีการเลี้ยง ดังนั้นเลี้ยงไปปูก็มีสิทธิที่จะตายได้ พอปูตายเยอะๆ เข้า คนเลี้ยงก็จะเกิดความท้อ และไม่อยากเลี้ยงต่อ เพราะมันมีไม่กี่คนที่จะอดทนเหมือนเรา ที่ปูตายแล้วก็ซื้อใหม่ตลอดเวลา”

“ตัวพี่เองก็ไม่ได้เก่งมากมาย แต่ด้วยประสบการณ์โดยตรงของเรา เราจะรู้ว่าปูที่ปล่อยไปแล้วช่วงนี้เขาจะเป็นแบบนี้ ถ้ามีอาการแปลกๆ เราก็จะรู้ว่าปูไม่สบาย ก็ต้องหาทางแก้ไข โดยส่วนมากสิ่งที่สำคัญสำหรับการเลี้ยงปู คือ การเลี้ยงแบบธรรมชาติ โดยเราเองนี่แหละที่จะเป็นคนสร้างธรรมชาติให้กับเขา นี่คือสิ่งที่พี่มี พี่ก็อยากบอกต่อให้กับคนที่สนใจ โดยที่เค้าจะได้ไม่ต้องไปเริ่มต้นแบบติดลบเหมือนพี่ 

และอีกอย่าง คือ เคยมีคนมาติดต่อให้เราแปรรูปปูนาส่งให้เขา เขาต้องการเยอะมาก แต่ปัญหา คือ เรามีผลผลิตไม่เพียงพอ ดังนั้นการที่เราเปิดเป็นคอร์สอบรมส่วนหนึ่งเพื่อที่เราจะได้สร้างเครือข่ายผลผลิตปูนาให้มากขึ้น แล้วทางฟาร์มเราจะเป็นศูนย์กลางในการรับซื้อผลผลิตปูนาคุณภาพ เมื่อวันใดที่เรามีผลผลิต มีจำนวนแล้ว ตลาดก็จะวิ่งมาหาเราแบบไม่หยุด”

5.ปูนาจะหลบซ่อนตัวอยู่ใต้กระเบื้อง
5.ปูนาจะหลบซ่อนตัวอยู่ใต้กระเบื้อง
การใช้พืชน้ำลงในกระชังเพื่อสร้างบรรยากาศและอาหาร
การใช้พืชน้ำลงในกระชังเพื่อสร้างบรรยากาศและอาหาร

 การเลี้ยงปูนา น้ำใสในกระชัง

การเลี้ยงปูในกระชัง (เลี้ยงแบบน้ำใส) เมื่อเตรียมกระชังเสร็จแล้ว ให้ใส่น้ำเพียงเล็กน้อยเท่านั้น (พอพื้นแฉะ) แล้วค่อยๆ เติมในวันถัดไป จนท่วมหลังมือ เพื่อให้ปูปรับสภาพเข้ากับน้ำป้องกันการน๊อคน้ำ น้ำที่ใช้เลี้ยงปูนานั้น หากเป็นน้ำประปาควรขังน้ำทิ้งไว้ 1 วัน เพื่อให้คลอรีนระเหยก่อน แล้วค่อยใส่ปูลงไปในบ่อ

โฆษณา
AP Chemical Thailand

จากนั้นให้เตรียมกระเบื้อง หรือเศษวัสดุ ใส่ในกระชัง เพื่อเป็นที่หลบซ่อนตัวของปู แล้วจึงหาพืชน้ำ อาทิเช่น สาหร่าย ผักตบชวา จอก หรือแหน ใส่ในกระชัง เพื่อให้ปูกัดกินระหว่างวัน เนื่องจากพืชน้ำนั้นมีโปรตีนค่อนข้างสูงถึง 40% จะช่วยลดการให้อาหารในระหว่างวันได้

6.สปริงเกลอร์สำหรับสร้างบรรยากาศในกระชังเลี้ยง
6.สปริงเกลอร์สำหรับสร้างบรรยากาศในกระชังเลี้ยง

การบริหารจัดการบ่อเลี้ยงปูนา

การสร้างบรรยากาศให้ปูนั้นคือสิ่งสำคัญ เพราะปูนาเป็นสัตว์ที่มักอาศัยอยู่ตามธรรมชาติ ดังนั้นการเลี้ยงปูให้ประสบผลสำเร็จได้นั้นจำเป็นต้องมีการสร้างบรรยากาศให้ใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด โดยพี่ศรีจะใช้สปริงเกลอร์ใส่ในกระชัง หรือบ่อเลี้ยง และเปิดตลอดในช่วงกลางวัน เพื่อสร้างบรรยากาศให้ใกล้เคียงว่าฝนตก จะช่วยให้ปูผสมพันธุ์บ่อยขึ้น และยังเป็นการลดอุณหภูมิและเพิ่มออกซิเจนในน้ำอีกด้วย อัตราการปล่อยปู พี่ศรีกล่าวว่าปริมาณที่เหมาะสมมากที่สุด คือ 30 ตัว/ตารางเมตร ปริมาณนี้จะไม่หนาแน่นและบางจนเกินไป จะทำให้ปูไม่เครียดนั่นเอง

การให้อาหาร ทางฟาร์มจะเน้นให้อาหารวันละ 1 มื้อ ช่วงเวลาไหนก็ได้แล้วแต่การฝึก แต่ที่ฟาร์มจะให้ช่วงเย็นของทุกวัน โดยอาหารที่ให้นั้นจะมีอาหารเม็ด ข้าวเหนียว กุ้งฝอย ไส้เดือน หรือการต้มข้าวผสมกับโครงไก่ ให้ปู เพื่อเพิ่มแคลเซียม เพราะปูเป็นสัตว์มีกระดอง ดังนั้นแคลเซียมเป็นธาตุอาหารที่ปูต้องการไม่น้อยกว่าโปรตีนเลยอัตราการให้ควรให้แต่น้อยก่อน แล้วคอยสังเกตว่าอาหารเหลือหรือไม่ ถ้าเหลือมื้อถัดไปให้ลดลง (หากอาหารเหลือบ่อยๆ จะทำให้น้ำในบ่อเน่าได้)

7.ปูนาจะผสมพันธุ์ต่อเมื่อมีสภาพแวดล้อมที่ดี
7.ปูนาจะผสมพันธุ์ต่อเมื่อมีสภาพแวดล้อมที่ดี
ลักษณะปูนาตัวผู้
ลักษณะปูนาตัวผู้
การเลี้ยงปูนา ลักษณะปูนาตัวเมีย
การเลี้ยงปูนา ลักษณะปูนาตัวเมีย

การขยายพันธุ์ปูนา

ปูนาเมื่อผสมพันธุ์แล้ว สักระยะจะเริ่มตั้งท้อง (สังเกตฝาใต้ท้องจะเริ่มอูมขึ้น) เมื่อปูท้องแก่จะเห็นลูกปูตัวสีดำ ที่พร้อมลงเดิน ในช่วงนี้จะต้องรีบหากระชังแยกแม่ปูออกมาใส่กระชังเล็ก 1 กระชัง ควรมีแม่ปูเพียง 2 ตัว เท่านั้น

ลักษณะปูนาที่เริ่มตั้งท้อง
ลักษณะปูนาที่เริ่มตั้งท้อง
ลูกปูพร้อมออกจากท้องแม่
ลูกปูพร้อมออกจากท้องแม่

สิ่งสำคัญของการทำคลอดแม่ปู คือ ไม่ควรทำคลอดก่อนกำหนด เพราะลูกปูจะมีโอกาสรอดน้อย ควรปล่อยให้ลูกปูออกเดินเอง จนหมดท้องแม่ โดยสังเกตดูรากของพืชน้ำ หากพบว่ามีปริมาณลูกปูมากแล้ว ให้แยกแม่ปูออกทันที ป้องกันการกินลูก ในช่วงแรกคลอดยังไม่จำเป็นต้องให้อาหารลูกปู จะให้ต่อเมื่อครบ 2 อาทิตย์แล้ว จึงเริ่มให้เป็นอาหารบดละเอียด วันละ 1 มื้อ เมื่อเลี้ยงครบ 1 เดือน จะเริ่มเปลี่ยนน้ำ

โดยหลังจากที่มีการเปลี่ยนน้ำทุกครั้ง พี่ศรีย้ำว่าควรให้วิตามิน อาหารเสริม พร้อมกับอาหารทุกครั้ง เพื่อให้ปูแข็งแรง การอนุบาลลูกปูนั้นจะใช้ระยะเวลาในการดูแลเพียง 1-2 เดือน ให้สังเกตดูขนาดตัวปู และความแข็งแรง หากสมบูรณ์ดีก็สามารถทำการย้ายลูกปูมาใส่กระชังใหญ่ได้

โฆษณา
AP Chemical Thailand
8.ลูกค้าบางส่วนเข้ามาซื้อพ่อแม่พันธุ์ปูนาถึงหน้าฟาร์ม
8.ลูกค้าบางส่วนเข้ามาซื้อพ่อแม่พันธุ์ปูนาถึงหน้าฟาร์ม การเลี้ยงปูนา การเลี้ยงปูนา การเลี้ยงปูนา การเลี้ยงปูนา

แนวโน้มในอนาคตของ การเลี้ยงปูนา

ปัจจุบัน CRAB HOUSE ศูนย์การเรียนรู้ ปูนา พระราม 2 ดำเนินการมาได้ประมาณ 1 ปีเศษ แต่ด้วยการต่อยอดความคิด และเทคนิคการเลี้ยง ตลอดเวลาของพี่ศรี ทำให้วันนี้ถือว่าพี่ศรีประสบความสำเร็จแล้วในเรื่องของ การเลี้ยงปูนา แต่พี่ศรียอมรับว่า “ถึงวันนี้เราจะทำได้ดีแล้ว แต่ในอนาคตเราก็ต้องพัฒนาตัว พัฒนาฟาร์มให้ดีมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม เพราะไม่เดินอยู่กับที่แน่นอน”

สนใจเรียนคอร์สอบรม การเลี้ยงปูนา และธุรกิจปูนา สามารถติดต่อได้ที่

CRAB HOUSE ศูนย์การเรียนรู้ ปูนา พระราม 2

คุณศรีเพ็ญ พงศ์ทรัพย์เจริญ (พี่ศรี)

โทร : 062-974-5647