ความสำเร็จของ การเลี้ยง กุ้งทะเล โครงการฟาร์มทะเลตัวอย่างตามพระราชดำริ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ด้วยการจัดการบ่อแบบเพชรบุรีโมเดล โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งเพชรบุรี
ในสภาวะที่โรคอีเอ็มเอสยังมีการระบาดอย่างแพร่หลายในแทบทุกพื้นที่ของการเลี้ยงกุ้ง ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งต่างก็ได้รับความเสียหายจากโรคนี้มากน้อยแตกต่างกันไป ซึ่งขึ้นอยู่กับเกษตรกรได้มีการปรับตัว เปลี่ยนแปลง และพัฒนารูปแบบการเลี้ยงเพื่อลดโอกาสของการเกิดโรคอีเอ็มเอสได้ดีมากน้อยเพียงใด
ถ้าทำได้ดีก็จะสามารถอยู่รอดได้ในสภาวะการเลี้ยงกุ้งปัจจุบัน ข่าวกุ้งฉบับนี้จึงขอนำเสนอข้อมูลการเลี้ยง กุ้งทะเล ของโครงการฟาร์มทะเลตัวอย่างตามพระราชดำริ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งโครงการนี้ตั้งอยู่ในอำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี
ดำเนินการภายใต้ความรับผิดชอบของศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งเพชรบุรี โดยมีการจัดการบ่อในรูปแบบการเลี้ยงที่รู้จักกันดีในชื่อ “เพชรบุรีโมเดล” ซึ่งจะใช้สาหร่ายในการบำบัดน้ำก่อนนำไปใช้เลี้ยงกุ้งร่วมกับมีการจัดการบ่ออื่นๆ รวมทั้งมีการใช้ลูกพันธุ์กุ้งขาวจากโรงเพาะฟักของซีพีเอฟ โดยมีรายละเอียดดังนี้
การเตรียมบ่อเลี้ยง
บ่อเลี้ยงเป็นบ่อดิน มีขนาดประมาณ 1-1.5 ไร่ โดยเปิดน้ำเข้าบ่อประมาณ 20-30 เซนติเมตร เพื่อให้ดินมีความชื้นร้อยละ 10-40 จากนั้นสาดพื้นบ่อด้วยปูนเผา (CaO) 320 กิโลกรัมต่อไร่ เพื่อช่วยในการฆ่าเชื้อ โดยจะลดจำนวนแบคทีเรียที่ตกค้างตามพื้นบ่อ
แล้วปล่อยไว้ 7 วัน จึงใช้จุลินทรีย์ ปม.1 (จุลินทรีย์ของกรมประมง) 100 ลิตรต่อไร่ สาดพื้นบ่อ และทำซ้ำทุก 7 วัน ร่วมกับการฉีดเลนพื้นบ่อทุก 2-3 วัน เมื่อครบ 3 สัปดาห์จึงถ่ายน้ำออก และติดตั้งระบบให้อากาศพื้นบ่อโดยเป็นท่อพีอีเจาะรู
บ่อเลี้ยงสาหร่ายทะเล
บ่อเลี้ยงสาหร่ายทะเลทำหน้าที่ในการบำบัดน้ำ โดยสาหร่ายจะดูดซับธาตุอาหารจากน้ำทะเลก่อนนำไปเลี้ยง จะส่งผลให้แบคทีเรียในน้ำทะเลลดจำนวนลง รวมทั้งจำนวนแพลงก์ตอนพืชในน้ำก็จะลดลงด้วย ทำให้น้ำทะเลใสขึ้น นอกจากนี้สาหร่ายทะเลจะผลิตออกซิเจนในช่วงเวลากลางวัน ทำให้น้ำมีปริมาณออกซิเจนสูงขึ้น โดยเฉพาะบ่อที่มีสาหร่ายทะเลหนาแน่นจะมีปริมาณออกซิเจนในน้ำเกินระดับจุดอิ่มตัว โดยอัตราส่วนของบ่อเลี้ยงสาหร่ายต่อบ่อเลี้ยง กุ้งทะเล เป็น 1:1 ซึ่งบ่อเลี้ยงสาหร่ายขนาด 1 ไร่ สามารถติดตั้งราวไม้ไผ่อย่างน้อย 4 ราว สำหรับผูกแผงเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นจำนวน 25 แผงต่อราว แต่ละแผงห่างกันประมาณ 1 เมตร ในพื้นที่ที่น้ำมีความเค็มต่ำควรใช้สาหร่ายผมนางในการบำบัดน้ำ เนื่องจากสามารถทนต่อน้ำที่มีความเค็มต่ำถึง 10 พีพีทีได้
การเตรียมน้ำเลี้ยง กุ้งทะเล
เติมน้ำทะเลที่ผ่านการบำบัดจากบ่อสาหร่ายเข้าบ่อเลี้ยง ผสมน้ำให้ได้ความเค็ม 20-25 พีพีที ใช้คลอรีน 30 พีพีเอ็ม ในการฆ่าเชื้อในน้ำ เมื่อคลอรีนสลายฤทธิ์ จึงใช้อวนลากเพื่อกำจัดลูกปลา หวีวุ้น เศษสาหร่ายที่อาจตกค้างในบ่อ
ลูกพันธุ์กุ้ง
ลูกพันธุ์กุ้งขาวที่นำมาใช้เลี้ยงในโครงการนี้ ทางศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งเพชรบุรีได้เลือกใช้ลูกกุ้งขาวจากโรงเพาะฟักของซีพีเอฟ เนื่องจากมีความเชื่อมั่นในคุณภาพของ ลูกกุ้งทะเล โดยได้เล็งเห็นถึงกระบวนการจัดการการเลี้ยงที่มีมาตรฐานสูง รวมทั้งการควบคุมคุณภาพลูกกุ้งโดยการตรวจสอบก่อนจำหน่ายอย่างเคร่งครัด รัดกุมและถูกต้อง
โดยลูกกุ้งจากโรงเพาะฟักของซีพีเอฟทุกชุดจะต้องผ่านเกณฑ์การตรวจสอบคุณภาพในทุกๆด้านอันประกอบด้วย การเจริญเติบโตต้องได้ตามเกณฑ์มาตรฐาน ต้องมีสุขภาพดี โดยเฉพาะส่วนของตับกุ้งจะต้องมีเม็ดไขมันจำนวนมากและต้องไม่พบการเกิดพยาธิสภาพ ลูกกุ้งต้องแข็งแรง
โดยต้องผ่านเกณฑ์การทดสอบความเครียด (Stress Test) และที่สำคัญที่สุดลูกกุ้งจะต้องปลอดจากเชื้อก่อโรคที่สำคัญใน กุ้งทะเล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชื้อ วิบริโอ พาราฮีโมไลติคัส สายพันธุ์ AHPND ที่ก่อโรคอีเอ็มเอส สำหรับอัตราการปล่อยลูกกุ้งนั้นจะอยู่ที่ 100,000 ตัวต่อไร่
การจัดการอาหาร
เพื่อลดปริมาณสารอินทรีย์ในช่วงแรกของการเลี้ยง จึงให้อาร์ทีเมียตัวเต็มวัยแทนอาหารกุ้ง โดยใช้อาร์ทีเมียตัวเต็มวัยมีชีวิตใส่ในบ่อเลี้ยงประมาณ 10 กิโลกรัมต่อ กุ้งทะเล 100,000 ตัว ก่อนปล่อยลูกกุ้ง 1 วัน หลังจากลงลูกกุ้งแล้วจะมีการให้อาร์ทีเมียตัวเต็มวัยมีชีวิตต่อเนื่องในช่วง 7 วันแรกของการเลี้ยง
โดยใน 3 วันแรก จะให้อาร์ทีเมียตัวเต็มวัยมีชีวิต 10 กิโลกรัมต่อกุ้ง 100,000 ตัวต่อวัน แบ่งให้ 5 มื้อ ตั้งแต่วันที่ 4 จะเริ่มเสริมอาหารสำเร็จรูป 2 มื้อสลับกับอาร์ทีเมียตัวเต็มวัยมีชีวิต เมื่อครบ 7 วัน จึงให้อาหารสำเร็จรูปทั้ง 5 มื้อ ที่เวลา 7.00, 11.00, 15.00, 19.00 และ 23.00 น.
จะมีการเสริมจุลินทรีย์ในอาหาร กุ้งทะเล ตลอดช่วงการเลี้ยง เพื่อรักษาสมดุลของจุลินทรีย์และควบคุมเชื้อแบคทีเรียในตัวกุ้ง โดยเติมจุลินทรีย์ ปม.1 ที่ผ่านการหมักทั้งในอาร์ทีเมียและอาหารเม็ดก่อนให้กุ้งกิน ในอัตราส่วน 1 ลิตรต่ออาร์ทีเมีย 1 กิโลกรัม แช่ไว้ 15-20 นาทีพร้อมให้อากาศ
ส่วนในอาหารเม็ดจะทำการคลุกจุลินทรีย์ ปม.1 ในอัตราส่วน 1 ลิตรต่ออาหาร 1 กิโลกรัม ให้กุ้งกิน 2 มื้อ หรือตามความเหมาะสม นอกจากนี้อาจมีการเสริมวิตามินและแร่ธาตุต่างๆในอาหาร เพื่อเสริมสร้างภูมิต้านทานและช่วยให้กุ้งลอกคราบดี
การจัดการน้ำในระหว่างการเลี้ยง
ในช่วง 30 วันแรกของการเลี้ยงจะไม่มีการเปลี่ยนถ่ายน้ำ หลังจากนั้นจึงเติมหรือเปลี่ยนถ่ายน้ำโดยทำการหมุนเวียนน้ำระหว่างบ่อเลี้ยงกุ้งและบ่อสาหร่ายทุกสัปดาห์ หรือตามความเหมาะสม โดยในระหว่างการเลี้ยงจะมีการเติมจุลินทรีย์ ปม.1 เพื่อรักษาสมดุลของจุลินทรีย์ในน้ำ
โดยหมักจุลินทรีย์ ปม.1 1 ซองในน้ำจืด 250 ลิตรที่เติมกากน้ำตาล 0.5 ลิตรและอาหาร กุ้งทะเล 0.5 กิโลกรัม พร้อมให้อากาศเป็นเวลา 36 ชั่วโมง ก่อนนำมาใช้ โดยสาดจุลินทรีย์ ปม.1 ที่ผ่านการหมักให้กระจายทั่วบ่อในอัตรา 100 ลิตรต่อไร่ เป็นประจำทุกสัปดาห์ในช่วงเดือนแรกและปรับเพิ่มเป็น 2 ครั้งต่อสัปดาห์ในเดือนที่ 2 ของการเลี้ยง โดยสัดส่วนการใช้อาจมีการปรับเพิ่มขึ้นได้ตามความเหมาะสม
ผลการเลี้ยง
ผลการเลี้ยงกุ้งจำนวน 3 รุ่น ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2557 จนถึงปัจจุบันนี้ ได้ผลในระดับที่น่าพอใจ โดยในระยะเวลาการเลี้ยงประมาณ 70 วัน จะได้ผลผลิตเฉลี่ย 1,025 กิโลกรัมต่อไร่ กุ้งมีขนาดเฉลี่ยประมาณ 80 ตัวต่อกิโลกรัม อัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ย 0.17 กรัมต่อวัน อัตราแลกเนื้อเฉลี่ย 1.25 และอัตรารอดเฉลี่ยร้อยละ 82 ดังรายละเอียดในตารางที่ 1
ตารางที่ 1 ผลการเลี้ยงกุ้งของโครงการฟาร์มทะเลตัวอย่าง
จะเห็นได้ว่าความสำเร็จของโครงการนี้เกิดจาก 2 ปัจจัยที่สำคัญได้แก่ การเลือกใช้ลูกกุ้งที่มีคุณภาพดีและปลอดเชื้อ เนื่องจากพบว่าลูกกุ้งที่มีการปนเปื้อนเชื้อ วิบริโอ พาราฮีโมไลติคัส สายพันธุ์ก่อโรคอีเอ็มเอส จะทำให้มีโอกาสพบความเสียหายของกุ้งจากโรคนี้ในช่วงแรกของการเลี้ยงสูงมาก
จึงเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า ลูกกุ้งที่ปลอดเชื้อเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อความสำเร็จของการเลี้ยง ดังนั้นจึงต้องให้ความสำคัญกับการคัดเลือกลูกกุ้งที่จะใช้เลี้ยงเป็นอย่างมาก ส่วนอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือ การจัดการบ่อเลี้ยงที่ดี ซึ่งการจัดการสภาพแวดล้อมในบ่อที่ดีก็เป็นอีกปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จของการเลี้ยงเป็นอย่างมากเช่นเดียวกัน
ซึ่งการจัดการการเลี้ยงแบบผสมผสานในรูปแบบเพชรบุรีโมเดลนั้น จะช่วยลดปริมาณสารอาหารในน้ำและสร้างสมดุลของระบบนิเวศในบ่อ ทำให้สภาพแวดล้อมในบ่อดีเหมาะสมกับการเลี้ยงกุ้ง จึงทำให้กุ้งอยู่สบาย ไม่เครียด แข็งแรง มีสุขภาพดี ทำให้ความเสี่ยงของการเกิดโรคต่ำลง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จํากัด (มหาชน)
[wpdevart_like_box profile_id=”377357182296025″ connections=”show” width=”300″ height=”220″ header=”big” cover_photo=”show” locale=”th_TH”]