การเจริญเติบโตของสัตว์น้ำประเภทมีกระดองในกลุ่มที่เรียกว่า Crustacea เจริญเติบโตโดยการลอกคราบ โดยการลอกคราบทำให้เกิดปรากฏการณ์การสูญเสียแคลเซียม สัตว์น้ำที่กำลังลอกคราบหรือลอกคราบใหม่ ลำตัวจึงนิ่ม หลังจากนั้นไม่นานกระดองหรือเปลือกหุ้มลำตัวจะถูกสร้างขึ้นใหม่ปกคลุมลำตัวที่ขยายใหญ่ขึ้น กุ้งนิ่ม
โดยทั่วไปการลอกคราบในสัตว์น้ำตัวเต็มวัยมักเกิดในช่วงวันโกนหรือวันพระ หรือประมาณเดือนละ 2 หน ในระหว่างที่ตัวยังนิ่มมักเกิดปัญหาโดนรังแก หรือถูกกินจากสัตว์น้ำตัวอื่น เพราะไม่สามารถป้องกันตัวเองได้ ปรากฏการณ์อีกอย่างระหว่างลอกคราบ คือ สัตว์น้ำเพศเมียวัยเจริญพันธุ์จะปล่อยฟีโรโมนออกมาเพื่อดึงดูดให้มีการผสมพันธุ์
ในวงการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อการค้าใช้โอกาสที่สัตว์น้ำลอกคราบตัวยังไม่แข็ง หลังลอกคราบใหม่ๆ ตัวยังนิ่มอยู่ทำเป็นธุรกิจ เช่น ปูนิ่ม เพราะสามารถนำปูนิ่มมาทำเป็นอาหารได้หลากหลายเมนู รสชาติดี รับประทานง่ายไม่ต้องแกะเปลือกหรือกระดอง
การเพาะเลี้ยงปูนิ่มเป็นการค้าดำเนินการในหลายแห่งในฟาร์มเลี้ยงภาคใต้ และภาคตะวันออก สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับผู้เลี้ยงได้ โดยวิธีซื้อปูทะเลขนาดเล็กมาเลี้ยงด้วยอาหารสดใส่ในตะกร้าแขวนไว้ในบ่อตะกร้าละ 1 ตัว เมื่อลอกคราบสามารถมองเห็นปู 2 ตัว ซึ่งตัวหนึ่ง คือ ปูนิ่ม
อีกตัว คือ คราบหรือกระดองที่ถูกสลัดออกจากตัวปู นำปูนิ่มขึ้นมาแพ็ครักษาความสดให้อยู่ในสภาพนิ่มก่อนจำหน่ายให้ร้านอาหาร ปูนิ่มขนาด 4-6 ตัว/กก. ราคา 300 บาท ขนาด 7-9 ตัว/กก. ราคา 280 บาท ในขณะที่ปูทะเลขนาด 4-6 ตัว/กก. ราคา 200-250 บาท/กก.เท่านั้น
ลักษณะทั่วไปของกุ้งก้ามกราม
สัตว์น้ำอีกชนิดหนึ่งที่มีพฤติกรรมเช่นเดียวกัน คือ กุ้งก้ามกราม หรือชื่ออื่นๆ เช่น กุ้งนาง กุ้งหลวง กุ้งก้ามเกลี้ยง กุ้งแห กุ้งใหญ่ มีชื่อสามัญว่า Giant Freshwater Prawn ชื่อวิทยาศาสตร์ Macrobrachuim rosenbergii De Man อยู่ใน Phylum Arthopoda, Class Crustacea ลักษณะทั่วไปของกุ้งก้ามกรามมีลำตัวเป็นปล้อง ส่วนหัวและอกคลุมด้วยเปลือกชิ้นเดียวกัน ส่วนของลำตัวมีลักษณะเป็นปล้องๆ มี 6 ปล้อง มีหนวด 2 คู่ ขาเดิน 5 คู่ ขาเดินคู่ที่ 2 เป็นก้ามมีขนาดยาวโดยเฉพาะเพศผู้
ส่วนของก้ามทำหน้าที่จับอาหารป้อนเข้าปากและป้องกันศัตรู มีขาว่ายน้ำ 5 คู่ ส่วนแพนหางมีลักษณะแหลม ตรงปลายด้านข้างเป็นแพนออกไป 2 ข้าง ลักษณะสีของกุ้งก้ามกรามโดยทั่วไปมีสีน้ำเงินอมเหลืองโดยเฉพาะขาเดินคู่ที่เป็นก้าม และส่วนลำตัวมีสีน้ำเงินเข้ม ปลายขาและแพนหางตอนปลายสีชมพูอมแดง กุ้งก้ามกรามตัวเต็มวัย ตัวผู้ใหญ่กว่าตัวเมีย แต่เปลือกหุ้มตัวส่วนท้องจะแคบกว่า ช่องเปิดน้ำเชื้อของตัวผู้อยู่บริเวณขาเดินคู่ที่ 5 ส่วนตัวเมียมีช่องเปิดสำหรับไข่อยู่ที่โคนขาคู่ที่ 3
กุ้งก้ามกรามมีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชีย พบทั่วไปในประเทศไทย พม่า เวียดนาม เขมร มาเลเซีย บังคลาเทศ อินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เคยมีรายงานว่าพบในมหาสมุทรอินเดีย ในประเทศไทยกุ้งก้ามกรามแพร่กระจายอยู่ทั่วไปในแหล่งน้ำจืด เช่น ภาคกลาง พบอาศัยอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำปราณบุรี และแม่น้ำนครนายก
ภาคตะวันออกพบที่แม่น้ำจันทบุรี แม่น้ำระยอง และแม่น้ำเวฬุ ส่วนที่ภาคเหนือเคยพบกุ้งก้ามกรามที่แม่น้ำเมยซึ่งเป็นสาขาของแม่น้ำสาละวิน นอกจากนี้ยังพบในที่ที่มีทางน้ำไหลขึ้น-ลงติดต่อกับทะเลในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะทะเลสาบสงขลาและพัทลุงมีชุกชุมมากที่สุด
ปี พ.ศ.2510 สถานีประมงทะเลสงขลาสามารถเพาะพันธุ์กุ้งก้ามกรามสำเร็จ และส่งเสริมให้มีการเพาะเลี้ยงเป็นอาชีพ กุ้งก้ามกรามเป็นกุ้งน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่ที่สุด โดยเฉพาะเพศผู้มีคุณค่าทางเศรษฐกิจสูง เนื่องจากมีความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ปีพ.ศ.2545 มีมูลค่าของผลผลิตมากกว่า 4,000 ล้านบาท
การเลี้ยงกุ้งก้ามกราม
การเลี้ยงกุ้งก้ามกรามทำได้หลายวิธี เช่น เลี้ยงในกระชัง เลี้ยงในคอกเฝือก หรือที่ล้อมขังในร่องสวน และในบ่อ ถ้าจะเลี้ยงให้ได้ผลจริงจังควรเลี้ยงในบ่อดิน แต่ คุณธงชัย ศีลอุดม เลี้ยงกุ้งก้ามกรามในบ่อผ้าใบที่เขาได้ไอเดียจากบ่อประกวดปลาคาร์พของญี่ปุ่นนำมาประยุกต์จ้างผลิตเป็นบ่ออเนกประสงค์ ใช้งานได้หลากหลาย และมีหลายขนาด จุน้ำได้ตั้งแต่ 1-113 ตัน ทำเป็นบ่อเก็บน้ำ สระว่ายน้ำ บ่อปลูกบัว และบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
การเลี้ยงกุ้งก้ามกรามในบ่อผ้าใบขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 เมตร ปล่อยกุ้งก้ามกราม 500 ตัว เลี้ยงระบบกึ่งปิด ปล่อยสัตว์น้ำหลายชนิดเลี้ยงรวมกัน มีเครื่องเป่าเติมอากาศลงน้ำ ใช้กะละมังดักตะกอน พรางแสงด้วยวัสดุต่างๆ ลดการสังเคราะห์แสงของแพลงก์ตอน ระหว่างเลี้ยงแทบไม่มีการเปลี่ยนถ่ายน้ำ คุณภาพน้ำค่อนข้างนิ่ง ใส สามารถมองเห็นถึงพื้นบ่อ
ในขณะที่ตะกอนส่วนหนึ่งถูกดักจับขังไว้ในกะละมัง และเทใส่เป็นปุ๋ยให้ต้นไม้ อีกส่วนระบายออกทางก้นบ่อ สำหรับกะละมังดักตะกอนเป็นกะละมังพลาสติกเจาะรูที่ขอบกะละมังลอยอยู่ผิวน้ำ เมื่อตะกอนถูกลมจากเครื่องเป่าเติมอากาศพัดพามาตกที่บริเวณน้ำนิ่งในกะละมังสามารถนำออกจากบ่อลดปริมาณตะกอนได้ส่วนหนึ่ง ทั้งนี้ตะกอนในบ่อเลี้ยงกุ้งก้ามกรามเกิดจากสารแขวนลอย ขี้กุ้ง เศษอาหารเหลือ หากปล่อยให้อยู่ในบ่อจะเปลี่ยนรูปเป็นแอมโมเนีย ไฮโดรเจนซัลไฟด์ และมีเทน เป็นอันตรายต่อสุขภาพกุ้ง
กุ้งก้ามกรามเป็นสัตว์ที่กินอาหารไม่เลือก กินทั้งซากสัตว์ และเมล็ดพืช หากินเวลากลางคืนตามพื้นก้นบ่อ คุณธงชัยเลี้ยงกุ้งก้ามกรามในบ่อผ้าใบด้วยอาหารเม็ดทุกอย่างที่มี เช่น อาหารปูม้า อาหารกุ้ง ปริมาณที่ให้กำหนดจากการเช็คยอดูการกินอาหารของกุ้ง ป้องกันอาหารเหลือ และกุ้งก้ามกรามสามารถจับกินสัตว์น้ำตัวเล็กๆ เช่น ลูกปลาคาร์พ ปลาหางนกยูงตัวเล็กๆ รวมทั้งหอยเจดีย์ ที่เกิดในบ่อเป็นอาหาร
การลอกคราบของกุ้งเพื่อทำ กุ้งนิ่ม
กุ้งเจริญเติบโตด้วยการลอกคราบมีการเปลี่ยนแปลงทางสรีระวิทยาเป็น 3 ระยะ
- ระยะก่อนลอกคราบ (Premolt) กุ้งจะไม่กินอาหาร สังเกตได้จากกุ้งเริ่มกินอาหารไม่หมดยอ แต่กุ้งจะดึง
สารอาหารและพลังงานจากอาหารที่สะสมไว้ที่ตับมาใช้แทน ในระยะนี้จะพัฒนาเข้าสู่ระยะลอกคราบเร็วหรือไม่ขึ้นอยู่กับปริมาณสารอาหารที่จะพัฒนาเป็นเปลือกใหม่ หากกุ้งได้รับสารอาหารและเปลี่ยนเป็นไคตินได้มากจะลอกคราบได้เร็ว หากเกิดปัญหาการกินชะงักหรือสารอาหารไม่เพียงพอที่จะเปลี่ยนให้อยู่ในรูปไคตินในเปลือกใหม่ ช่วงระยะเวลาการลอกคราบก็จะยืดออกไป 3-5 วัน ระยะนี้ความต้องการออกซิเจนของเซลล์จะเพิ่มมากขึ้น มีการดูดซึมพวกแร่ธาตุและสารอินทรีย์ต่างๆ ที่สะสมอยู่ที่เปลือกเก่ากลับเข้าสู่ร่างกายโดยผ่านระบบเลือด ทำให้คราบเก่าอ่อนนุ่มลง
- ระยะลอกคราบ (Intermolt) กุ้งจะหยุดการเคลื่อนไหว กิจกรรมต่างๆ เริ่มลดลง ปริมาณกลูโคส, โปรตีนและ
ไขมันในเลือดจะเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งการรับออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายจะเพิ่มขึ้นด้วย เนื่องจากกุ้งต้องใช้พลังงานมากในการลอกคราบ เมื่อลอกคราบเสร็จจะมีการดูดซึมน้ำเข้าสู่ร่างกายอย่างรวดเร็ว โดยดูดซึมจากกระแสเลือดและเนื้อเยื่อของร่างกาย เป็นระยะที่อันตรายที่สุดในวงจรชีวิต มักพบการสูญเสียกับกุ้งที่สะสมสารอาหารไม่เพียงพอ กุ้งลอกคราบไม่ออก ลอกคราบติด เปลือกนิ่ม ตัวกรอบแกรบ และมักกินกันเอง
- ระยะหลังลอกคราบ (postmolt) หลังจากการถอดคราบสมบูรณ์แล้ว การสะสมแคลเซียมจะเริ่มต้นทันทีเพื่อช่วย
เร่งการแข็งตัวของเปลือก ระยะนี้จะมีการดึงน้ำและแร่ธาตุเข้าสู่ร่างกายมากที่สุด เพื่อเพิ่มขนาดและน้ำหนักของร่างกาย มีการสะสมแคลเซียมที่บริเวณคราบชั้นนอก เมื่อเปลือกเริ่มแข็งจะเริ่มมีการเคลื่อนไหว และเริ่มกินอาหารเพิ่มขึ้น อาหารที่กินเข้าไปจะถูกใช้ไปในการดำรงชีวิตประจำวัน
ส่วนที่เหลือจะถูกเปลี่ยนไปสะสมในตับอยู่ในรูปของสารอาหารพวกโปรตีน ไขมัน และไกลโคเจน เพื่อเป็นอาหารและพลังงานสำรองในการเปลี่ยนให้อยู่ในรูปของสารที่จำเป็นในการสร้างเปลือกใหม่อีกครั้ง ความถี่ในการลอกคราบแตกต่างกันตามอายุของกุ้ง กุ้งอายุน้อยลอกคราบบ่อย และลดจำนวนครั้งลงเมื่อโตขึ้น
กุ้งที่ลอกคราบใหม่ๆ มีลำตัวนิ่ม ไม่สามารถช่วยตัวเองได้ และธรรมชาติของกุ้งเป็นสัตว์ที่กินกันเอง ถ้าไม่มีที่หลบซ่อนในขณะลอกคราบมักถูกกุ้งตัวอื่นกิน ทั้งๆ ที่มีอาหารสมบูรณ์ คุณธงชัยใส่กะละมังพลาสติกเจาะรูลอยไว้ กุ้งสามารถว่ายหลบเข้าไปลอกคราบในกะละมังได้โดยปลอดภัย เมื่อคราบใหม่แข็งแรงดีจึงกลับไปอาศัยที่พื้นบ่อเช่นเดิม ซึ่งกะละมังดังกล่าวมีมูลค่าเพียงใบละ 20 บาท ใช้เป็นกะละมังอเนกประสงค์ดักจับตะกอน และเป็นที่หลบภัยให้กุ้งเข้ามาลอกคราบภายในกะละมัง จะปรากฏเป็นกุ้ง 2 ตัว คือ กุ้งนิ่ม กับคราบของมัน
กุ้งที่ลอกคราบแล้วอยู่ในสภาพนิ่มเรียก กุ้งนิ่ม หากเลี้ยงเป็นการค้าจะสามารถเพิ่มมูลค่าได้เช่นเดียวกับปูนิ่ม (กุ้งก้ามกรามปกติขนาด 30-40 ตัว/กก. เพศเมียราคา 250 บาท เพศผู้ราคา 350-500 บาท) กุ้งนิ่มสามารถนำไปทำเป็นอาหารได้หลากหลายเมนู เช่น กุ้งนิ่มทอดกระเทียม กุ้งนิ่มอบวุ้นเส้น กุ้งนิ่มราดซอสสลัด ฯลฯ รับประทานง่าย กินได้ทั้งตัวโดยไม่ต้องแกะเปลือก แต่การเลี้ยง กุ้งนิ่ม เป็นการค้ายังไม่เกิด เพราะยังไม่มีปริมาณ
การลอกคราบของกุ้งจึงเป็นทั้งจุดอ่อนและจุดแข็งของตัวมันเอง แต่สำหรับผู้เลี้ยงกุ้งถือเป็นโอกาสดี หากสามารถเลี้ยง กุ้งนิ่ม เป็นการค้าได้ในอนาคต ด้วยนวัตกรรมกะละมังใบเดียวเลี้ยง กุ้งนิ่ม เทคนิคง่ายๆ ที่หลายคนมองข้ามของคุณธงชัย ศีลอุดม
ธงชัย ศีลอุดม โทร.08-0567-7242
เลขที่ 67/8 หมู่ 8 ต.ท่าสะอ้าน อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา 24130
อ้างอิง : นิตยสารสัตว์น้ำ ฉบับที่ 304/2557