ธุรกิจการเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามแดงนั้นเป็นอีกหนึ่งธุรกิจเสริมที่ได้รับความสนใจจากเกษตรกรหน้าใหม่ และหน้าเก่า อย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงเกษตรกรผู้ประกอบธุรกิจด้านอื่นๆ อย่างเช่น สวนยาง นาข้าว หรือธุรกิจด้านอื่นๆ ก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน เพราะสามารถนำพื้นที่ที่เหลือจากการทำกิจการมาใช้สำหรับเลี้ยงกุ้งตัวนี้เสริมรายได้ขึ้นมาได้อีกทางหนึ่ง กุ้งเครฟิช
และในวันนี้เกษตรกรจากหลากหลายภูมิภาคได้เริ่มต้นเพาะเลี้ยงกุ้งชนิดนี้กันแล้วอย่างจริงจัง เพื่อที่จะให้สัตว์น้ำเศรษฐกิจตัวนี้สามารถก้าวต่อไปในตลาดกุ้งเนื้อ และมีตลาดการซื้อขายที่มั่นคง
การเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามแดง
ธุรกิจการเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามแดงนั้นเป็นอีกหนึ่งธุรกิจเสริมที่ได้รับความสนใจจากเกษตรกรหน้าใหม่ และหน้าเก่า อย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงเกษตรกรผู้ประกอบธุรกิจด้านอื่นๆ อย่างเช่น สวนยาง นาข้าว หรือธุรกิจด้านอื่นๆ ก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน เพราะสามารถนำพื้นที่ที่เหลือจากการทำกิจการมาใช้สำหรับเลี้ยงกุ้งตัวนี้เสริมรายได้ขึ้นมาได้อีกทางหนึ่ง
และในวันนี้เกษตรกรจากหลากหลายภูมิภาคได้เริ่มต้นเพาะเลี้ยงกุ้งชนิดนี้กันแล้วอย่างจริงจัง เพื่อที่จะให้สัตว์น้ำเศรษฐกิจตัวนี้สามารถก้าวต่อไปในตลาดกุ้งเนื้อ และมีตลาดการซื้อขายที่มั่นคง
กลุ่มย่านตาขาวเครฟิช เร่งผลิต กุ้งเครฟิช ป้อนตลาดภาคใต้
โดยทีมงานนิตยสารสัตว์น้ำจะพาทุกท่านไปกันที่ จ.ตรัง เพื่อพบกับฟาร์มเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามแดงรายใหญ่ ภูตะวันฟาร์ม ที่ใช้เวลาเพียงปีกว่าแต่สามารถขยายกิจการ และมีผลผลิตกุ้งก้ามแดงขายส่งเข้าสู่ตลาดได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งสามารถทำรายได้ต่อเดือนได้ถึง 30,000-40,000 บาท และยังเป็นศูนย์กลางการผลิตกุ้งก้ามแดงของ จ.ตรัง อีกด้วย
คุณแต้ม หรือคุณณรงค์วิทย์ ชุมรัตน์ ผู้ประกอบกิจการเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามแดง ภูตะวันฟาร์ม โดยมีที่ตั้งอยู่ที่ ต.ย่านตาขาว อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง นอกจากนี้คุณแต้มยังเป็นตัวแทนของ จ.ตรัง ในกลุ่มสมาพันธ์ผู้เพาะเลี้ยงกุ้งก้ามแดงแห่งประทศไทยอีกด้วย
คุณแต้มได้เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการประกอบธุรกิจเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามแดงให้ทีมงานฟังว่า เดิมทีนั้นตนเองประกอบธุรกิจสวนยาง และธุรกิจการซื้อขายแลกเปลี่ยน แต่ด้วยภาระทางบ้านที่เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งตนเองยังเป็นหัวหน้าครอบครัว ที่ต้องดูแลภรรยา และลูกๆ อีก 3 คน จึงทำให้ต้องมองหาอาชีพเสริมเข้ามารองรับกับค่าใช้จ่ายภายในครอบครัว
ซึ่งในช่วงนั้นเองธุรกิจการเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามแดงกำลังขยายตัว ตนจึงได้รับคำแนะนำจากเพื่อนให้ลองนำกุ้งชนิดนี้มาเพาะเลี้ยงดู เพราะว่าเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่เลี้ยงง่าย โตไว และเป็นที่ต้องการของตลาด
การเพาะเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์กุ้งก้ามแดง
นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นให้คุณแต้มก้าวเข้าสู่วงการเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามแดงในปี 2558 โดยเริ่มต้นจากการซื้อพ่อแม่พันธุ์กุ้งก้ามแดงขนาด 3 นิ้ว มาในราคาคู่ละ 600 บาท และมาเริ่มทำการเพาะเลี้ยงด้วยตนเอง จากนั้นตนเองเริ่มมองหาฟาร์มพ่อแม่พันธุ์จากที่อื่นๆ มีทั้งจากฉะเชิงเทรา และฟาร์มต่างๆ ที่มีความน่าเชื่อถือ
นอกจากนั้นยังนำเอาพ่อแม่พันธุ์มาจากอินโดนีเซีย และมาเลเซีย เพื่อนำมาไขว้สายพันธุ์ไม่ให้เกิดปัญหาเลือดชิด จนปัจจุบันมีแม่พันธุ์อยู่ทั้งหมดกว่า 400 ตัว เมื่อคุณแต้มมีประสบการณ์ในการเพาะพันธุ์ รวมถึงเริ่มมีตลาดที่กว้างมากขึ้น จึงได้ชักชวนคนรู้จักที่เพาะเลี้ยงกุ้งก้ามแดงใน จ.ตรัง มาก่อตั้งเป็นกลุ่ม ย่านตาขาวเครฟิชโดยมีคุณแต้มเป็นประธานของกลุ่ม ซึ่งภายในกลุ่มจะช่วยกันผลิต และทำตลาด กุ้งก้ามแดง ให้ทันกับความต้องการของลูกค้า และคอยหาตลาดใหม่ๆ
ซึ่งปัจจุบันทางกลุ่มได้จำหน่ายกุ้งก้ามแดง ทั้งลูกพันธุ์ พ่อแม่พันธุ์ รวมไปถึงแม่ไข่ติด นอกจากนี้ยังได้เริ่มต้นการเลี้ยงกุ้งก้ามแดงสำหรับขายเป็นกุ้งเนื้อแล้ว โดยสามารถผลิตและส่งเข้าสู่ร้านอาหาร และโรงแรม ได้ถึง 50-70 กิโลกรัม/เดือน โดยเป้าหมายของกลุ่มในอนาคตวางไว้ว่าจะขยายตลาดกุ้งเนื้อ และเพิ่มกำลังการผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค
ลักษณะบ่อเลี้ยงกุ้งก้ามแดง
ทางฟาร์มจะมีบ่อเลี้ยง และบ่อเพาะพันธุ์ หลายรูปแบบ ทั้งในแบบบ่อปูน ขนาด 4×4 เมตร จำนวน 4 บ่อ สำหรับใส่แม่ไข่ และอนุบาลลูกกุ้ง รวมถึงใช้เป็นบ่อเพาะพันธุ์ด้วย และบ่อกลมอีก 9 บ่อ ใช้ใส่พ่อพันธุ์ และแม่พันธุ์ สำหรับผสมพันธุ์ แต่เพื่อรองรับกับปริมาณความต้องการของตลาดที่มากขึ้น คุณแต้มจึงได้สร้างโรงเพาะพันธุ์เพิ่มขึ้นมา
โดยอยู่ไม่ห่างจากฟาร์มเดิมมากนัก โดยในโรงเพาะพันธุ์แห่งใหม่นี้จะมีบ่อปูนปูกระเบื้องขนาด 5×5 เมตร ทั้งหมด 3 บ่อ และบ่อกลมอยู่ล้อมรอบ โรงเพาะอีกทั้งหมด 22 บ่อ ซึ่งจะช่วยให้สามารถผลิตลูกกุ้งได้จำนวนมากขึ้น และมีพื้นที่อนุบาลที่เพียงพอ ซึ่งจะช่วยให้กุ้งมีอัตรารอดที่ดีขึ้น ในการเพาะพันธุ์ใช้พ่อแม่พันธุ์ขนาด 4-7 นิ้ว ซึ่งกุ้งแต่ละไซส์จะให้ไข่ที่แตกต่างกันออกไป หากกุ้งไซส์ 4 นิ้ว จะสามารถให้ได้ 4-5 รอบ/ปี แต่ถ้าไซส์ใหญ่ขึ้น รอบของไข่ที่ได้ก็จะช้าลง
หลังจากคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์มาแล้วจะนำมาลงในบ่อปูนขนาด 4×4 เมตร แบ่งเป็นตัวผู้ 50 ตัว และตัวเมีย 150 ตัว แต่ถ้าเป็นบ่อกลมจะใช้พ่อพันธุ์ 2 ตัว แม่พันธุ์ 8 ตัว คุณแต้มบอกว่าเป็นอัตราส่วนที่เหมาะสมที่สุดในการเพาะพันธุ์ โดยในบ่อจะต้องให้ออกซิเจนอยู่ตลอดเวลา และใส่สแลน รวมถึงท่อ pvc เพื่อเป็นที่หลบซ่อนให้กับกุ้ง และจะให้อาหารวันละ 1 มื้อ เท่านั้น เป็นอาหารกุ้งกุลาดำเบอร์ 4 และเมื่อเลี้ยงครบ 1 สัปดาห์ จะต้องมีการเช็คแม่ไข่ทุกๆ 1 สัปดาห์
หากพบว่ามีกุ้งไข่ จะนำไปแยกลงในตะกร้า แล้ววางลงในบ่อขนาด 4×4 เมตร ที่เตรียมน้ำไว้แล้ว และจะกางกระชังเอาไว้ในบ่ออีกชั้นหนึ่ง เพื่อให้ง่ายต่อการเก็บผลผลิตลูกกุ้ง จากนั้นจะใช้เวลาเพียง 1 เดือน ไข่จึงจะเริ่มฟักออกมาเป็นตัว จึงจะยกตะกร้าแม่พันธุ์ออก แล้วนำไปลงในบ่อเพาะพันธุ์เช่นเดิม ส่วนลูกกุ้งที่ลงเดินแล้วนั้นจะปล่อยไว้ในบ่อก่อน จนกว่ากุ้งในบ่อจะลงเดินทั้งหมด จากนั้นจึงจะนำใส่ถัง และนำมาไว้ที่โรงเพาะที่สร้างขึ้นมาใหม่เพื่อทำการอนุบาลต่อไป
การให้อาหารกุ้งก้ามแดง
โดยอาหารที่ใช้สำหรับการอนุบาลจะเป็นอาหารกุ้งกุลาดำเบอร์ 1 และ 2 และเสริมด้วยสาหร่ายที่ขึ้นตามแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งจะทำให้น้ำสะอาด และไม่ต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำบ่อย โดยในบ่ออนุบาลจะเปลี่ยนถ่ายน้ำ 2 สัปดาห์ต่อครั้ง หลังจากอนุบาลครบ 1 เดือน ลูกกุ้งจะได้ไซส์ 1 นิ้วขึ้นไป
จากนั้นจึงจำหน่ายออกไปให้กับลูกค้า แต่อีกส่วนหนึ่งจะนำไปเลี้ยงลงในบ่อดินที่อาศัย ใช้พื้นที่จากร่องสวนยาง และส่วนหนึ่งจะนำไปจำหน่ายเป็นพ่อแม่พันธุ์ และกุ้งเนื้อ โดยปัจจุบันทางฟาร์มสามารถผลิตลูกกุ้งได้ถึง 10,000 ตัว/เดือน
การจำหน่ายกุ้งก้ามแดง
กุ้งของทางฟาร์มจะมีจำหน่ายหลากหลายขนาด ถ้าเป็นลูกกุ้งลงเดินจะอยู่ที่ 4-5 บาท กุ้งขนาด 1 นิ้ว อยู่ที่ 12-15 บาท โดยราคาจะขึ้นอยู่กับปริมาณการสั่งซื้อ โดยทางฟาร์มจะมีกุ้งจำหน่ายไปจนถึงขนาด 6 นิ้ว การแพ็คขายส่งลูกค้านั้น ถ้าเป็นลูกกุ้งลงเดินจะใส่ในถุงพลาสติก ถุงละ 4-5 ตัว แล้วอัดออกซิเจน
แต่ถ้าเป็นกุ้ง 1 นิ้ว จะใส่ถุงละตัว แต่ถ้ากุ้งขนาด 1 นิ้วขึ้นไป จะบรรจุส่งลงในแก้วพลาสติก และใส่ลงในกล่องโฟมอีกทีหนึ่ง โดยในกล่องโฟมจะใช้ใยแก้วชุบน้ำเย็นเพื่อควบคุมอุณหภูมิ และรักษาระดับความชื้น ให้กุ้งไม่เครียดระหว่างการเดินทาง
ด้านตลาดกุ้งก้ามแดง
โดยลูกค้าส่วนใหญ่ของทางฟาร์มจะอยู่ในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี กระบี่ สงขลา รวมไปถึงกรุงเทพมหานคร ที่จะเป็นลูกค้าประจำ และสั่งออเดอร์เข้ามาอยู่ตลอด ซึ่งจุดเด่นของฟาร์มแห่งนี้ที่ทำให้ลูกค้าติด คุณแต้มกล่าวว่าเพราะกุ้งที่ทางฟาร์มส่งนั้นทุกตัวต้องมีสภาพ 90% คือ ตัวสวย ขาครบ ก้ามครบ ตัวสะอาด และในการจัดส่งจะมีการรับประกันสินค้า 3 วัน หากพบว่ากุ้งตายจะให้ลูกค้าเลือกได้ว่าต้องการให้ส่งกุ้งไปใหม่ หรือต้องเป็นเงินโอนกลับไป และที่สำคัญที่สุด คือ การบริการหลังการขาย ทางฟาร์มยินดีให้คำปรึกษาแก่ลูกค้าทุกคน ทั้งการเลี้ยง การเพาะพันธุ์ แบบครบวงจร
และที่สำคัญ คือ รับซื้อกุ้งกลับ หากลูกค้าต้องการ จึงเป็นสาเหตุสำคัญให้ฟาร์มแห่งนี้มีลูกค้าเพิ่มขึ้น และได้รับการยอมรับจากลูกค้า ในส่วนของกุ้งเนื้อนั้นปัจจุบันทางฟาร์มส่งให้กับร้านอาหารที่ จ.ภูเก็ต โดยในอนาคตคุณแต้มมองไว้ว่าจะขยายฟาร์มเพิ่มออกไป โดยใช้พื้นที่เล้าหมูเก่าจำนวน 10 เล้า เปลี่ยนเป็นพื้นที่สำหรับอนุบาลกุ้งต่อไป และหากสามารถผลิตได้เป็นจำนวนมาก ทางกลุ่มจะเข้าร่วมส่งกุ้งให้กับทางสมาพันธ์กุ้งก้ามแดงแห่งประเทศไทย เพื่อส่งเสริมตลาดกุ้งก้ามแดงของไทยให้สามารถมีกำลังการผลิตที่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดสากลได้
โดยคุณแต้มกล่าวว่าปัจจุบันทางสมาพันธ์กุ้งก้ามแดงแห่งประเทศไทย เปิดรับออเดอร์กุ้งก้ามแดงจากเกษตรกรทั่วประเทศ โดยจะมีปริมาณการรับซื้อ และหลักเกณฑ์ต่างๆ ระบุในหน้าเว็บไซส์ ซึ่งหากเกษตรท่านใดสนใจสามารถติดต่อไปที่สมาพันธ์ได้โดยตรง หรือผ่านตัวแทนของแต่ละจังหวัด
ฝากถึง…เกษตรกรที่เพาะเลี้ยงกุ้งก้ามแดง
คุณแต้มกล่าวว่า “ในส่วนของเกษตรกรที่เลี้ยงอยู่แล้วนั้น ขอร้องว่าอย่าตัดราคากันมากเลยนะครับ 555” (หัวเราะ) “ส่วนของผู้ที่ต้องการจะเริ่มธุรกิจเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามแดงนั้นสามารถติดต่อและเข้ามาพูดคุยกันได้ในกลุ่ม Facebook ย่านตาขาวเครฟิช
ตลาดกุ้งเนื้อ
ส่วนของตลาดตอนนี้นั้นอยากให้ผู้ที่คิดจะเริ่มเลี้ยงตอนนี้มองไปที่ตลาดกุ้งเนื้อเป็นหลัก ซึ่งจะมีความมั่นคงมากกว่า เพราะตอนนี้กลุ่มผู้เพาะเลี้ยงกุ้งก้ามแดงหลายๆ กลุ่ม ต่างเริ่มรับซื้อกุ้งเนื้อเพื่อช่วยเหลือสมาชิกของกลุ่มตนเอง จึงทำให้ไม่ต้องกังวลเรื่องตลาดที่จะเลี้ยงแล้วไม่มีตลาดซื้อขาย เพราะวันนี้สามารถพูดได้ว่าปริมาณกุ้งก้ามแดงนั้นยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดจริงๆ” คุณแต้มกล่าว
หากเกษตรกรท่านใดมีความสนใจต้องการติดต่อซื้อขายกุ้งก้ามแดงจากทาง ภูตะวันฟาร์ม หรือ กลุ่มย่านตาขาวเครฟิช สามารถติดต่อได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 09-0072-5422 (คุณแต้ม) หรือชื่อ Facebook:ย่านตาขาว เครฟิช และ ณรงค์วิทย์ ชุมรัตน์