ในบรรดาปลาเนื้อขาว “กะพงขาว” คือ ปลาสุขภาพ ระดับสากล คนไทยเริ่มเข้าใจมากขึ้น แต่ยังยึดติดกับความอร่อย ปลากะพงขาว บางเมนู ด้านโภชนาการ โดดเด่นในเรื่องปริมาณของกรดไขมันจำเป็น DHA โปรตีนบำรุงสมอง โอเมก้า 3 ส่งเสริมการหมุนเวียนเลือด ผิวพรรณผ่องใส ประสาทตาดีขึ้น ย่อยง่าย มีไขมันต่ำ เนื้อ 1 ขีด มีเพียง 2-4 กรัม เท่านั้น จึงเป็นปลาสุขภาพ ที่กรมประมงส่งเสริมการเพาะเลี้ยง ส่งผลให้ประเทศไทยติดอันดับต้นๆ ของโลก ในเรื่องปลากะพงขาว ดังนั้นเมือง 3 น้ำ อย่าง “แปดริ้ว” กลายเป็นพื้นที่ผลิตปลากะพงขาวหลายอำเภอ หลายรายไปไม่รอด ขณะที่หลายราย รุ่ง ร่ำรวย ที่เป็นเช่นนี้มีเหตุหลายประการด้วยกัน
ตั้งฟาร์มเลี้ยงแบบพัฒนา มุ่งผลิตกะพงยักษ์เป็นหลัก
คุณประโยชน์ โสรัจจกิจ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ขาวผ่องฟาร์ม จำกัด และ คุณธรณินทร์ สืบสายทอง (โอ๊ต) ผจก.ทั่วไป องค์กรธุรกิจปลากะพงขาว ที่ประสบความสำเร็จ เพราะปิด “ปัจจัยลบ” ได้ทั้งหมด ได้ร่วมกันเปิดเผยเหตุแห่งความล้มเหลวของการเลี้ยงปลากะพงในอดีต และความสำเร็จของบริษัทในปัจจุบัน ด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
คุณประโยชน์ยอมรับว่า ปลากะพงขาวไม่ได้รับความนิยมบริโภคมากนักในไทย อาจเข้าใจว่าไม่มาตรฐานมากนัก และผู้บริโภคยังติดยึดกับ “ปลาสด” ทั้งๆ ที่ปลาดอลลี่ ปลาแซลมอน ล้วนเป็นปลาแช่แข็ง ที่นำเข้าทั้งหมด “คนไทยมีความเข้าใจว่าเวลาจะรับประทานปลาสดจะต้องเป็นปลาเป็นๆ จึงเป็นเรื่องที่เราต้องมาคำนึงถึงกระบวนการจัดการ โดยเฉพาะการเอาเลือดออก ควบคุมอุณหภูมิ
ผมเชื่อว่าจะเป็นการยกระดับคุณภาพปลากะพง ถ้าสดคนจะชอบ เกิดการยอมรับ ตลาดโต แต่เราทำมาตรฐานคนเดียวไม่ได้ ทุกคนต้องมาตรฐานเหมือนเรา” คุณประโยชน์ เปิดประเด็นถึงเหตุที่ตลาดในประเทศไม่โต มาตรฐานแรกที่ต้องทำ คือ ทำ “ฟาร์มเลี้ยง” ให้ได้มาตรฐาน
บนเนื้อที่ 120 ไร่ ถูกแบ่งเป็นบ่อเลี้ยง 80 ไร่ 25 บ่อๆ ละ 2 ไร่ ลึก 1.7-2 เมตร มีบ่อพักน้ำจืดเพื่อผสมกับน้ำเค็มให้เป็น “น้ำกร่อย” เพื่อใช้เลี้ยงปลาเนื้อ เป็นน้ำขึ้น-ลง ความเค็ม 10-15 ppt. ของแม่น้ำบางปะกง จึงไม่ต้องซื้อน้ำ ข้างบ่อปูด้วยพลาสติก PE เพื่อป้องกันปัญหาการพังทลายของดิน
คุณโอ๊ตเปิดเผยว่า การเลี้ยงปลากะพงขาว 2 ขั้นตอนๆ แรกเลี้ยงลูกพันธุ์ตัวเล็กๆ มาลงบ่อ 10,000 ตัว/ไร่ 5-6 เดือน ได้ตัวละประมาณ 1 กก. ก็ย้ายบ่อไปเลี้ยง 1,000 ตัว/ไร่ เลี้ยงเป็นปลายักษ์ โดยตั้งเป้าบ่อละ 8 ตัน ส่วนปลาที่มีขนาด 7-8 ขีด ถือว่าเป็น “ปลาหาง” เลี้ยงยาก โตช้า
ในเรื่องอาหารใช้ของ บริษัท ไทยยูเนียน ฟีดมิลล์ จำกัด มี 9 เบอร์ ซึ่งแต่ละเบอร์ที่ใช้เปลี่ยนไปตามไซส์ของปลา ส่วนอัตราการแลกเนื้อปลากะพงยักษ์ (FCR) ไม่เกิน 2 ประมาณ 1.8-1.9 ส่วนในช่วงเลี้ยงลูกปลา 5 เดือน FCR 1.2 ซึ่งการเลี้ยงแบบนี้ต้องใช้ “ออกซิเจน” และตรวจค่าน้ำทุกสัปดาห์ ดูค่า pH แอมโมเนีย ไนไตรท์ และ ออกซิเจน เป็นต้น ถ้าน้ำไม่ดีต้องเปลี่ยนถ่าย หรือใส่ปูนปรับสภาพ ส่วนแรงงานดูแลบ่อ 1 คน/5-6 บ่อ ซึ่งกระบวนการเลี้ยงทั้งหมดเกิดจากการวางแผนอย่างรัดกุม เพื่อให้ได้ผลผลิต 300 ตัน/ปี
ส่งเสริมเกษตรกรด้วยปลากะพงแปลงใหญ่
เพราะความที่คุณประโยชน์เป็นคนไม่ประมาท แม้จะมีภารกิจเพื่อสังคมด้วย แต่ธุรกิจก็ต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษ ดังนั้นการลงทุนอุตสาหกรรมปลากะพงขาวครบวงจร จะต้องส่งเสริมเกษตรกรให้เลี้ยงด้วย แล้วบริษัทก็รับซื้อ โดยนำนโยบาย “เกษตรแปลงใหญ่” ของรัฐ มาประยุกต์กับการเลี้ยง ปรากฏว่า มีเกษตรกร 32 ราย เข้าโครงการ พื้นที่กว่า 5,000 ไร่ กระจายอยู่ในจังหวัดฉะเชิงเทรา โดยเฉพาะใน อ.บางปะกง มากที่สุด
โดยตั้งทาร์เก็ตไว้ปีละ 2,000-3,000 ตัน “32 คน ยังเลี้ยงไม่ทั้งหมด เลี้ยงแค่ส่วนหนึ่ง เพราะการปรับเปลี่ยนทุกคนต้องเห็นผลชัดในเรื่องรายได้ ถ้าไม่ชัดก็ไม่อยากปรับเปลี่ยน เราจึงต้องทำให้เขาเห็น ต้องสร้างความแตกต่างให้ชัด ซึ่งคนกำหนดความชัดเจน คือ ผู้บริโภค” คุณประโยชน์ ให้ความเห็นถึงการลงทุนผลิตปลาพรีเมียม โดย “ขาวผ่องฟาร์ม” ทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง
จับมือห้องเย็นศิริคุณ โดย คุณนิรันดร์ แสงสุขเอี่ยม กก.ผจก. ผลิตฟิลเลย์ปลากะพงยักษ์ ป้อนตลาดพรีเมียม
เนื้อที่ 120 ไร่ ในขาวผ่องฟาร์ม ถูกพัฒนาเป็นโรงงานแปรรูปปลากะพงยักษ์ โดยนำเทคโนโลยีของห้องเย็นศิริคุณ ซึ่งมีทักษะสูงมากๆ มาใช้ เพราะอยู่ในอุตสาหกรรมนี้มาหลายทศวรรษ มีตลาดต่างประเทศรองรับ โดยเฉพาะการพัฒนาฝีมือการแล่เนื้อปลา ถือว่าเป็นทักษะฝีมือขั้นสูง เพราะปลากะพงยักษ์ที่ผ่านการเลี้ยงจนได้น้ำหนักเฉลี่ยตัวละ 5 กก. ถูกแล่ตามขนาดที่ตลาดต้องการ และต้องมีสีสวย สด มัน จะต้องใช้ฝีมือจริงๆ และต้องทำงานแข่งกับเวลา “เวลาเอาปลาเข้ามาต้องแช่น้ำแข็งให้เร็ว เพื่อรักษาความสดเอาไว้
และที่สำคัญของฟาร์ม ก็คือ “กระบวนการอิเคะจิเมะ” คือ เอาเลือดออกจากตัวปลา เพื่อมิให้จุลินทรีย์ หรือ แบคทีเรีย เกิดได้ง่าย (ซึ่งจุลินทรีย์ทำให้ปลาเหม็นคาว ไม่สด) หลังจากนั้นนำปลามาบ่ม (Aging) ด้วยน้ำแข็ง เพื่อให้ปลายังสดเหมือนเดิม สีใส” คุณโอ๊ด ให้ความเห็น
ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายปลากะพงขาว
ปัจจุบันคุณประโยชน์ได้นำหลักการ APEC มาใช้ด้านความร่วมมือ เพราะไม่มีใครเก่งทุกเรื่อง “เราเก่งคนเดียวไม่ได้ เราไม่รู้ทุกเรื่อง ต้องหาพันธมิตรที่มีความรอบรู้มาช่วยกัน” คุณประโยชน์ เปิดเผย และมองตลาดในไทยว่า 70 ล้านคน ขอแชร์ตลาดซัก 5% หรือ 3.5 แสนคน กินปลาเดือนละ 1 กก./คน ต้องใช้เนื้อปลาประมาณ 350 ตัน ก็จะทดแทนปลานำเข้าจากต่างประเทศได้พอสมควร
เพราะความที่คุณประโยชน์ยึด “ผู้บริโภค” เป็นหลัก จึงต้องพัฒนาปลากะพงยักษ์ให้ได้มาตรฐาน ตั้งแต่ การผลิต การแปรรูป และ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ทั้งกระบวนการ และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ “เราต้องยึดหลักมาตรฐาน ต้องซื่อตรงต่อผู้บริโภค วงการนี้ต้องโตไปพร้อมๆ กัน ทำให้ได้มาตรฐานเหมือนกัน ขาวผ่องฟาร์มไม่ใช่เราต้องเด่นคนเดียว อยากให้ทุกคนทำตามเรา ถ้าคิดว่าเราดี” คุณประโยชน์ ย้ำถึงจุดยืนของบริษัทในการทำธุรกิจ ขณะเดียวกันผู้บริโภคต้องรู้ถึงความแตกต่างของสินค้าได้
เมื่อถามถึงภาครัฐกับปลากะพงขาว คุณประโยชน์ให้ความเห็นว่า รัฐคอยสนับสนุนเอกชน ไม่ต้องเขียนกฎเกณฑ์ เพราะบางที่ใช้ไม่ได้ และอันไหนเป็นอุปสรรคก็ต้องแก้ไข ต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง และสินค้าเกษตรอย่ามุ่งแต่ “ปริมาณ” เพราะสุดท้ายมันไม่ได้สะท้อน “รายได้” มันต้องเน้น “คุณภาพ” เพราะมันสะท้อน “กำไร” ที่ชัดเจน “อย่างปลากะพงคุณภาพได้ คนรู้ว่า อร่อย รสชาติดี มีคุณค่าทางโภชนาการ ผมเชื่อว่าสามารถเพิ่มยอดการบริโภคได้ ก็ย้อนกลับมาผู้ผลิตต้องมาตรฐาน ถ้าเราทำได้จะเป็นต้นแบบการพัฒนาสินค้าเกษตร” คุณประโยชน์ ยืนยัน
ต้องการร่วมโครงการ ติดต่อ บริษัท ขาวผ่องฟาร์ม จำกัด 55/5 หมู่ 3 ต.ท่าพลับ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา 24140 โทร.084-351-4165, 097-270-1487