ชนะ ตรีบุปผา ปัจจุบันอายุ 61 ปี เป็นชาว อ.เสนา จ.อยุธยา เติบโตที่ กทม. ตั้งแต่เด็ก เรียนจบสายช่างยนต์ และทำธุรกิจด้านตลาดรถยนต์ และได้หันเข้ามาสู่ธุรกิจฟาร์มกุ้ง ปี 2532 ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ด้วยกุ้งกุลาดำสมัยนั้นประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ขยายกิจการออกไปถึง 3 อำเภอ เนื่องจากธรรมชาติที่เอื้อต่อการเลี้ยงอย่างมาก ไม่ต้องรู้อะไรมาก แค่ปล่อยกุ้งลงบ่อแล้วก็รอเวลารับเงิน (ภาพฝันในอดีตครับ)
ปัญหาและอุปสรรคการเลี้ยงกุ้ง
ต่อมาเริ่มเจออุปสรรคหัวเหลืองระบาด ปี 35 กุ้งตายพร้อมกันทั้ง 3 อำเภอ ท่ายาง, ไชยา, ท่าชนะ 20 บ่อ ไปต่อไม่ถูก ไม่มีทางแก้ไขต่อโรค เปลี่ยนอาชีพมาทำแพซื้อกุ้ง ปรับตัวเพื่อความอยู่รอด แล้วมุ่งมาที่แฮชเชอรี่ผลิตลูกกุ้ง และเคมีภัณฑ์ แต่ก็ยังหลงใหลกับฟาร์มเลี้ยงมาตลอด 34 ปีเต็ม ผ่านการหลอม ล้มลุกคลุกคลานมา 5 รอบ กว่าจะมาถึงวันนี้ WINNER 2560 เปิดโครงการทดลองเลี้ยงกุ้งเสมือนจริง ได้เริ่มเลี้ยงกุ้งแนวชีวภาพ โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาหลายท่านให้คำแนะนำ และทดลองสืบค้นตามหลักของธรรมชาติ โดยยึดที่ตั้งว่ากุ้งในธรรมชาติทำไมถึงไม่ตาย แม้ว่าจะสัมผัสกับเชื้อสารพัด ทำไมกุ้งถึงไม่สูญพันธุ์ จึงเป็นที่มาของโครงการ
ข้อมูลฟาร์ม
พื้นที่โครงการ 22 ไร่ จากสวนปาล์มถูกปรับมาเป็นบ่อทดลองเลี้ยงกุ้ง 3 สเต็ป มี 5 บ่อ โดยใช้แนวคิดพื้นที่น้อย ใช้ประโยชน์สูงสุด เร่งรอบได้เร็ว กุ้งจะย้ายบ่อไปบ่อละ 30 วัน ขนาดของบ่อ พื้นที่ 1 560 คิว ลึก 2 เมตร พื้นที่ 2 1 ไร่ ลึก 3.5 เมตร พื้นที่ 3 2 ไร่ ลึก 4.5 เมตร พื้นที่ 4 1 ไร่ ลึก 3.5 เมตร พื้นที่ 5 ลึก 9 เมตร เป้าผลผลิตที่พื้นที่ 3 อยู่ที่หน้า 3-4 5 ตันขึ้นไป และมีกุ้งขายให้จับทุกเดือน จากบ่อเล็กไปหาบ่อที่ใหญ่กว่า ตามค่าความสามารถของบ่อนั้นๆ พื้นที่ 5 รองรับน้ำภายนอกโดยไม่ต้องสูบระบบน้ำเข้า รวมถึงรีไซเคิล ได้รอบฟาร์ม แนวทางต่อไปจะเข้าสู่สเต็ปที่ 4 บ่อขนาด 6 ไร่ เพื่อใช้ต่อยอดจากกุ้ง 90-120 วันขึ้น โครงการเลี้ยงกุ้งเสมือนจริงมีสมาชิก 100 กว่าราย ที่ร่วมทำการทดลอง
จุดเริ่มต้นการตั้งชมรมผู้เลี้ยงกุ้งท่าทอง
ในอดีตผมเคยจัดตั้งชมรมสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งท่าทองเมื่อปี 2549 โดยประชุมครั้งแรกที่ศาลาวัดประสพ ใน ต.ท่าทอง อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี ด้วยจำนวนสมาชิกเริ่มต้น 35 คน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กลุ่มคนเลี้ยงกุ้งด้วยกัน โดยใช้หลักการของสหกรณ์หล่อหลอมให้องค์กรเข้มแข็งจนถึงวันนี้ ด้วยข้อระเบียบและหลักของกฎหมายดูอุ้ยอ้าย และไม่ตอบโจทย์ในสภาวะปัจจุบัน การเรียกร้อง การช่วยเหลือ ต่อเกษตรทำได้ยาก และไม่ตกถึงสมาชิกเลย หวังแค่เงินปันผลก็แค่ไม่กี่ตัว
ผมจึงตัดสินใจเปิดชมรมผู้เลี้ยงกุ้งท่าทอง เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2565 โดยรวบรวมเพื่อนสมาชิกกลุ่มแรก 120 คน จัดตั้งอย่างเป็นทางการ และในปัจจุบันมีสมาชิกผู้เลี้ยงกุ้ง 320 คน ในเวลาเพียง 3 เดือน จากงานสัมมนาวิชาการ ถอดรหัสครั้งที่ 1 มีผู้ร่วมงานถึง 900 กว่าคน ถือว่าเป็นการตอบรับที่เราจะมาเป็นเพื่อนกัน เพื่อเพื่อน ช่วยเพื่อน
เจตนารมณ์เพื่อนช่วยเพื่อน
ชมรมท่าทองจะถือว่าสมาชิกต้องมาก่อนเสมอ กิจกรรมใดๆ ที่ส่งผลประโยชน์ และดูแลสมาชิกได้ ชมรมจะทำเป็นนโยบายผดุงอาชีพเกษตร การเลี้ยงกุ้งร่วมกับสมาคมเครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทย และองค์กรต่างๆ ชมรม/สหกรณ์ ทั่วประเทศ ทำกิจกรรมและเรียกร้องสิทธิประโยชน์อันพึงมีพึงได้ สนับสนุนกิจกรรมงานทดลองร่วมกับกรมประมง และหน่วยงานของรัฐ ที่จะนำสู่เกษตรและสมาชิก
เป้าหมายของชมรม ในปี 66
ส่งเสริมให้สมาชิกเลี้ยงกุ้งได้ โดยจัดตั้งกลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งที่ประสบความสำเร็จในองค์กร ออกให้ความช่วยเหลือ แนะแนวทางให้เพื่อนสมาชิกที่ติดปัญหา หาทางออกไม่ได้ หรือมีแนวทางที่ไม่ชัดเจน ไม่สำเร็จ ในการเลี้ยง ขาดตกบกพร่องอย่างไร ชมรมยินดีเข้าไปเสริม ชนิดตัวต่อตัว เพื่อยกระดับให้สมาชิกติดอาวุธทางปัญญา จะเพิ่มช่องทางการประชาสัมพันธ์ในกลุ่มสมาชิก ช่วยเหลือกันแบบเพื่อนช่วยเพื่อน อุดหนุนกันเองในกลุ่ม ให้ชมรมเป็นที่พึ่งได้ของสมาชิก แบบเพื่อนช่วยเพื่อน
แนวทางในอนาคต เมื่อเพื่อนช่วยกันแล้วให้เพิ่มเจตนารมณ์ต่อไป คือ พี่ช่วยน้อง เพื่อสร้างเจนสองให้มีแรงผลักดัน และรับอุดมการณ์ต่อไปครับ ความสำเร็จจะตอบได้อยู่ที่การกระทำ เชิญชวนหาคำตอบได้ งานสัมมนาวิชาการ ครั้งที่ 2 เดือน ม.ค. 2564 อีกครั้ง