การเลี้ยงปลาทับทิม
ปัจจุบันราคาสัตว์น้ำในท้องตลาดบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็น “กุ้ง” หรือ “ปลา” มีราคาขายที่สูงขึ้น เมื่อเทียบกับแต่ก่อน โดยเฉพาะ “ปลาทับทิม” ซึ่งสวนทางจากราคาต้นทุนที่รับซื้อจากบ่อเลี้ยงของเกษตรกร ซึ่งสาเหตุหลักๆ ของราคาปลาที่สูงขึ้นมาจากการรับซื้อผลผลิตหลายช่วง ส่งผลราคาปลาทับทิมกว่าที่จะมาถึงมือผู้บริโภคจึงมีราคาสูงขึ้นตามกลไกของตลาด
ดังนั้นการแก้ปัญหาทางด้านราคาที่ถูกต้องควรจะแก้ที่การย่นระยะทางของปลาทับทิมให้มาถึงมือผู้บริโภคให้ได้สั้นที่สุด โดยมีวิธีการ คือ ให้เกษตรกรสามารถส่งผลผลิตให้กับร้านค้าได้โดยตรง ซึ่งร้านค้าสามารถรับซื้อปลาได้ในราคาที่ถูกลง เมื่อนำมาขายในท้องตลาดก็สามารถขายได้ในราคาที่ไม่สูงมากนัก ซึ่งผู้บริโภคก็จะได้รับประทานปลาที่มีคุณภาพ และราคาถูกลงอีกด้วย
การเปิดแพรับซื้อปลา
คุณอัญชลี แสงสว่าง หรือเจ๊อ้อย เจ้าของแผงขายส่งปลาทับทิมและปลานิลคุณภาพแห่งตลาดปลาอ่างทอง ผู้ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการปลามานานกว่า 20 ปี ได้รับรู้ปัญหาของวงการปลาทับทิมมาตลอด เนื่องจากตนเปิดแพรับซื้อปลาจากพ่อค้าคนกลาง ซึ่งยอมรับว่าตนซื้อปลามาในราคาที่ค่อนข้างสูง เนื่องจากปลาจะผ่านพ่อค้าหลายช่วง ทำให้ร้านต้องจำหน่ายปลาในราคาที่สูงตาม อีกทั้งปลาที่ได้มาบางครั้งไม่ได้คุณภาพ ปลาไม่สวยบ้าง ปลาช้ำบ้าง สร้างความเสียหายแก่เจ๊อ้อยอีกด้วย
ด้วยเหตุนี้เธอจึงคิดอยากให้แพปลาสามารถซื้อปลาตรงกับเกษตรกรได้ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากปลาที่ได้ก็จะเป็นปลาที่มีคุณภาพ ได้ขนาดตามที่ทางร้านต้องการ อีกทั้งราคารับซื้อก็จะถูกลง ทำให้สามารถนำปลามาขายต่อให้กับร้านค้ารายย่อยได้ในราคาที่ถูกลง เหตุนี้จึงเป็นที่มาของความร่วมมือกันระหว่างแพปลา คือ เจ๊อ้อย และ บริษัทค้าปัจจัยการผลิตอาหารปลาคุณภาพ อย่าง บริษัท เอพีเอ็ม อะโกร จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารปลา ภายใต้แบรนด์ “โมโม่” นั่นเอง
จุดเริ่มต้นการรับซื้อปลาจากเกษตรกร
ก่อนที่เจ๊อ้อยจะเข้ามาในวงการปลาทับทิมนั้น อดีต คือ แม่ค้าขายขนมหวาน และประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้างมาก่อน แต่ด้วยยุคต้มยำกุ้ง ทำให้ธุรกิจเกิดขาดทุน จึงหันมาขายเสื้อผ้าแฟชั่นในตลาดที่พิษณุโลก ซึ่งเป็นบ้านเกิดของตน และด้วยความเป็นแม่ค้าผู้ไม่หยุดนิ่ง ได้สังเกตเห็นว่าในตลาดที่ตนขายของมีร้านขายปลาน้ำจืด แต่ละวันปลาเหล่านั้นขายหมดทุกวัน ซึ่งเจ๊อ้อยมองว่าเป็นธุรกิจที่น่าสนใจ จึงอยากจะเปลี่ยนมาขายปลาบ้าง บวกกับ เสื้อผ้าแฟชั่นที่ตนขายอยู่นั้นใช้ต้นทุนค่อนข้างสูง ด้วยเหตุนี้จึงติดต่อขอเช่าพื้นที่ และเริ่มรับซื้อปลาน้ำจืดทั่วไปมาวางขายในตลาด ในปี 2539
จนกระทั่งวันหนึ่งเจ๊อ้อยได้เข้ามาซื้อปลาในตลาดสิงห์บุรี เห็นว่าที่ตลาดแห่งนี้มีปลาทับทิมขาย จึงได้ทดลองซื้อมาขายที่พิษณุโลก เพราะขณะนั้นยังไม่มีใครขายปลาทับทิม ในช่วงแรกที่เจ๊อ้อยรับมาขายนั้นจะเน้นขายที่หน้าร้าน ซึ่งแต่ละวันสามารถขายปลาได้ประมาณวันละ 10-20 ตัว เพราะลูกค้ายังไม่รู้จักปลาชนิดนี้ เจ๊อ้อยจึงทำตลาดเพิ่มยอดขาย โดยการทำปลาส่งโต๊ะจีนร่วมด้วย ทำให้ขณะนั้นทางร้านมีออเดอร์ปลาวันละ 30-40 กิโลกรัม จากนั้นก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็น 1 ตัน ทำให้เจ๊อ้อยตัดสินใจที่จะยึดอาชีพนี้
จนกระทั่งวันหนึ่งมีเซลล์บริษัทจำหน่ายปลาทับทิมเข้ามาติดต่อขายปลาทับทิมแช่แข็งถึงหน้าร้าน พร้อมกับต้องการให้เจ๊อ้อยเปิดเป็นร้านตัวแทนจำหน่ายปลาทับทิมในพื้นที่ภาคเหนือ รายแรก ซึ่งเจ๊อ้อยสนใจและติดต่อซื้อขายปลาทับทิมเรื่อยมา จากนั้นจึงย้ายร้านมาเปิดแผงปลาค้าส่งที่ จ.อ่างทอง เนื่องจากทราบมาว่าตลาดปลาอ่างทองเป็นตลาดค้าส่งตลาดใหญ่ในภาคกลาง
เมื่อย้ายร้านมาอยู่ที่ตลาดปลาอ่างทอง เจ๊อ้อยก็ยังซื้อขายปลาทับทิมกับบริษัทอยู่ จนกระทั่งวันหนึ่งทางบริษัทไม่มีปลาส่ง ต้องออกหาซื้อปลาจากพ่อค้าคนกลาง ซึ่งได้ปลาในราคาที่ค่อนข้างสูง เพราะต้องซื้อผ่านพ่อค้าคนกลาง ทำให้ ผู้บริโภคซื้อปลาในราคาที่สูงตามไปด้วย ซึ่งสวนทางกลับราคาขายของเกษตรกรผู้เลี้ยง เนื่องจากถูกกลุ่มพ่อค้าคนกลางกดราคา และนำปลามาขายให้กับแพรับซื้อในราคาที่สูง อีกทั้งปลาที่เจ๊อ้อยรับมาไม่สามารถนำมาลดราคาเพื่อแข่งขันในตลาดได้
ด้วยเหตุนี้เจ๊อ้อยจึงเกิดแนวคิดว่าถ้าหากแพปลาสามารถซื้อปลาจากกระชังเกษตรกรได้โดยตรงน่าจะเป็นผลดี เกษตรกรก็จะได้ขายปลาในราคาที่สูงขึ้น แพปลาก็สามารถจำหน่ายปลาให้กับผู้บริโภคได้ในราคาที่ถูกลง และยังสามารถลดราคาให้กับแม่ค้ารายย่อยเพื่อนำไปแข่งขันในตลาดระดับชุมชนได้อีกด้วย
การจัดตั้งโครงการ ตลาดรับซื้อปลา
จึงเป็นที่มาของโครงการรับซื้อปลากระชังจากเกษตรกรสู่แพปลาโดยตรง ซึ่งโครงการดังกล่าวเจ๊อ้อยได้ไปปรึกษากับ บริษัท เอพีเอ็ม อะโกร จำกัด ผู้ผลิตอาหารปลา ภายใต้แบรนด์ “โมโม่” ผ่านทีมงานการตลาด สาเหตุที่ต้องมีบริษัทอาหารสัตว์เข้ามาเกี่ยวข้อง เนื่องจากเจ๊อ้อยคิดว่าเรื่องของอาหารเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ปลาได้คุณภาพ อีกทั้งอาหารยังถือว่าเป็นต้นทุนหลักของการผลิตปลา เช่นเดียวกับลูกพันธุ์
ดังนั้นหากเกษตรกรสามารถลดต้นทุนด้านราคาอาหารลงได้ ซึ่งเป็นปัจจัยอันดับต้นๆ ของการผลิต เกษตรกรก็จะเหลือกำไรมากขึ้น ทำให้เกษตรกรสามารถขายปลาในราคาที่ลดลงได้ เพื่อที่ผู้บริโภคปลายทางจะสามารถซื้อปลาได้ในราคาที่ถูกลง แต่ยังได้ปลาที่ดี มีคุณภาพ เช่นเดิม
การเข้าร่วมโครงการรับซื้อปลา
ทางบริษัทเห็นว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ดี มีประโยชน์ จึงเปิดให้ฟาร์มเกษตรกรที่มีศักยภาพสามารถเข้ามาซื้อขายอาหารปลาโมโม่ได้โดยตรงกับทางบริษัทได้ โดยเกษตรกรท่านแรกที่เจ๊อ้อยชักชวนให้เข้ามาร่วมโครงการ คือ “อินเจริญฟาร์ม” ที่มีคุณต้อม เป็นเจ้าของฟาร์ม ซึ่งเป็นฟาร์มที่ผ่านการคัดเลือกของเจ๊อ้อย เนื่องจากเห็นศักยภาพของฟาร์ม ที่มีปริมาณการสั่งซื้ออาหารในแต่ละเดือนค่อนข้างสูง จึงชักชวนคุณต้อมมาเริ่มเป็นตัวอย่างเกษตรกรรายแรกที่ใช้โครงการ “direct” (โดยตรง)โดยมีแพปลาเป็นสื่อกลางระหว่างบริษัทอาหารและฟาร์มของเกษตรกร
ซึ่งจะสามารถช่วยในการลดต้นทุนทางด้านราคาค่าอาหารได้ ซึ่งหากทางฟาร์มสามารถลดต้นทุนทางด้านราคาอาหารได้ แพปลาก็จะสามารถซื้อปลาในราคาที่ค่อนข้างยุติธรรม และสามารถนำปลาไปทำตลาดกับแม่ค้ารายย่อยได้นั่นเอง
คุณต้อมอธิบายว่า ตนเป็นลูกค้าซื้อขายปลาทับทิมกับเจ๊อ้อยมานาน แต่ก่อนซื้อขายกันผ่านพ่อค้าคนกลาง ซึ่งปลาขายได้ราคาที่ค่อนข้างถูก และพ่อค้าจะคัดเลือกเฉพาะปลาที่ต้องการใช้เท่านั้น ทำให้ทุกรอบการผลิตตนจะเหลือปลาที่ไม่ได้ขนาดทุกครั้ง ส่งผลให้ต้องวิ่งหาตลาดส่งปลาเอง จนครั้งหนึ่งเกิดวิกฤติปลาทับทิมล้นตลาด ฟาร์มของตนถูกพ่อค้าลอยแพปลาทั้งหมด ส่งผลให้เหลือปลาในกระชังร่วม 100 ตัน
ซึ่งขณะนั้นได้แพปลาของเจ๊อ้อยที่มาช่วยระบายปลาจนหมด จากนั้นเจ๊อ้อยได้ชักชวนให้ตนเข้าร่วมโครงการขายปลาให้กับแพเจ๊อ้อยโดยตรง ซึ่งเจ๊อ้อยได้มองเห็นศักยภาพของฟาร์ม ตนจึงได้แนะนำฟาร์มให้กับบริษัทผลิตอาหารปลา “โมโม่” เพื่อเปิดบัญชีซื้อขายตรงกับบริษัท ไม่ผ่านร้านค้าตัวแทนจำหน่าย ซึ่งตนคิดว่าเป็นเรื่องที่ดี
เนื่องจากแต่ก่อนตนต้องซื้ออาหารผ่านร้านตัวแทนจำหน่าย ซึ่งราคาซื้อ ค่อนข้างสูง บวกกับตนมีจำนวนอาหารปลาที่ต้องใช้ในแต่ละรอบการผลิตค่อนข้างสูง ทั้งให้ในแต่ละเดือน ตนจะต้องจ่ายค่าอาหารปลาค่อนข้างมาก ดังนั้นเมื่อปลาสามารถจับขายได้ ตนจึงต้องขายปลาในราคาที่ค่อนข้างสูง ซึ่งบางครั้งหากปลาขายได้ราคาต่ำ ตนก็จะขาดทุนทันที เพราะต้นทุนอาหารและลูกพันธุ์ค่อนข้างสูงนั่นเอง
เกษตรกรสามารถลดต้นทุนด้านราคาค่าอาหารได้ค่อนข้างมาก
แต่เมื่อเข้ามาในโครงการของเจ๊อ้อย ถือว่าเป็นโอกาสที่ดี เนื่องจากตนจะได้ซื้ออาหารปลาโดยตรงกับบริษัท ซึ่งสามารถลดต้นทุนได้พอสมควร อีกทั้งอาหารปลา “โมโม่” ยังเป็นอาหารปลาที่ดี มีคุณภาพ มีมาตรฐานการผลิตที่ดี ทั้งโรงงาน และสารอาหารต่างๆ ที่นำมาประกอบเป็นอาหารปลา ส่งผลให้คุณภาพของปลาที่ออกมาได้คุณภาพดี ทรงสวย สันหนา ตัวอ้วน เนื้อแน่น และเยอะ ซึ่งเป็นรูปทรงปลาที่ตลาดต้องการมากที่สุด ณ ตอนนี้
“การที่แพปลาเจ๊อ้อย และ บริษัท เอพีเอ็ม อะโกร จำกัด ผู้ผลิตอาหารปลา “โมโม่” มีโครงการรับซื้อปลาตรงจากเกษตรกรขึ้นมา ผมในฐานะของเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาทับทิมเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเกษตรกรได้ขายปลาในราคาที่สมเหตุสมผล ซึ่งตัวเกษตรกรก็ไม่ขาดทุน เพราะเจ๊อ้อยจะรับซื้อปลาทุกขนาด ทุกไซซ์ อีกทั้งโครงการนี้ยังสามารถทำให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนด้านราคาค่าอาหารได้ค่อนข้างมาก เนื่องจากเดิมทีตนจะต้องซื้ออาหารจากร้านตัวแทนจำหน่าย แต่เมื่อหันมาซื้อสินค้าตรงกับทางบริษัท ทำให้ราคาสินค้าถูกลง
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับปริมาณของการสั่งซื้อในแต่ละเดือนอีกด้วย ซึ่งตนใช้ปริมาณอาหารปลาแต่ละเดือนค่อนข้างสูง ทำให้สามารถลดต้นทุนทางค่าอาหารได้ค่อนข้างมาก อีกทั้งอาหารปลาโมโม่เมื่อนำมาให้ปลากินแล้ว ปลาที่จับได้มีคุณภาพ ทรงสวย สันหนา เนื้อเยอะ ทรงสวย เกล็ดแข็งแรง และที่สำคัญ คือ FCR ค่อนข้างต่ำอีกด้วย” คุณต้อมเปิดเผย
ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายปลาทับทิม
ปัจจุบันคุณต้อมสามารถผลิตปลาทับทิมคุณภาพได้ประมาณ 50 ตัน/เดือน ซึ่งผลผลิตเกือบทั้งหมดจะส่งขายให้กับ แพปลาเจ๊อ้อยเป็นหลัก และหากมีผลผลิตเหลือ คุณต้อมจะขายให้กับพ่อค้าทั่วไปที่เข้ามาแบ่งซื้อปลาจากตน และยืนยันว่า “ผมยินดีเป็นอย่างมากที่เข้ามาทำโครงการร่วมกับแพเจ๊อ้อย เพราะเราสามารถรู้ได้เลยว่าผลผลิตของฟาร์มเราทั้งหมดมีช่องทางจำหน่ายที่แน่นอน อีกทั้งเจ๊อ้อยยังซื้อขายปลาเงินสด ซึ่งสามารถทำให้ฟาร์มมีศักยภาพที่สามารถนำเงินเหล่านี้มาใช้ซื้ออาหาร หรือเป็นค่าใช้จ่ายภายในฟาร์ม”
ขอขอบคุณข้อมูลจาก คุณอัญชลี แสงสว่าง (เจ๊อ้อยแพปลา) โทร : 085-049-2599
สามารถติดต่อและขอข้อมูลเพิ่มเติม ทีมงานฝ่ายการตลาด อาหารปลา โมโม่
บริษัท เอพีเอ็ม อะโกร จำกัด (APM AGRO)
คุณพรศักดิ์ กิตติวิไลธรรม (หมอเด่น) โทร.086-812-0777
คุณพงศกร พรมมา (หมออาร์ม) โทร.098-256-6455