บางปะกงฟาร์ม เลี้ยงกุ้งขาว-กุ้งก้าม 20 บ่อ ทดลองเลี้ยง “ปลาน้ำเงิน” ในกระชัง

โฆษณา
AP Chemical Thailand

บนพื้นที่หลายร้อยไร่ ติดแม่น้ำบางปะกง ต.หัวไทร อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา ถูกพัฒนาเป็น “ฟาร์ม” ปลูกพืชเศรษฐกิจหลายชนิด และบางส่วนเป็นบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ ทั้งกุ้งและปลา และในแม่น้ำบางปะกงเลี้ยงปลาในกระชังจนประสบความสำเร็จหลายเรื่อง แต่บางเรื่องเป็นเพียงงานวิจัยที่ต้องนำไปต่อยอดเป็นธุรกิจ คุณวิทูร สุนทรเสณี คือ เจ้าของตัวจริง บางปะกงฟาร์ม ” ที่ได้ปั้นดินแดนแห่งนี้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว แหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตร และประมง และเป็นสถานที่พักผ่อนของเพื่อนๆ เนื่องจากบรรยากาศแม่น้ำบางปะกงนั้นคลาสสิกไม่น้อย ภายในเวลา  5 ปี ซึ่งถือว่าโตเร็วมาก

1.คุณวิทูรและคุณหมอวัธนี สุนทรเสณี เจ้าของฟาร์ม
1.คุณวิทูรและคุณหมอวัธนี สุนทรเสณี เจ้าของฟาร์ม

การเพาะเลี้ยงปลาในกระชัง

ทั้งๆ ที่การลงทุนกระชังละ 30,000 บาท เป็นฟาร์มแรกของประเทศที่เลี้ยงปลากะพงขาวด้วยอาหารเม็ดแทนอาหารสด ซึ่ง CPF เป็นผู้ผลิตรายแรกของประเทศ “ธุรกิจโตเร็ว ผลตอบแทนดีกว่าพืช เลี้ยงได้หลายครอป/ปี ดีกว่ามะม่วง กว่าจะได้ผลผลิต 5-6 ปี” คุณวิทูร เปิดเผย

แต่ในที่สุดก็ต้องหยุดการเลี้ยงปลาในกระชัง เพราะ “น้ำเสีย” จากการปนเปื้อนของน้ำที่ไหลมาจากคลองต่างๆ ลงแม่น้ำบางปะกง ขณะเดียวกันแม่น้ำบางปะกงก็มีความเค็ม เพราะน้ำทะเลหนุนเข้ามา ส่งผลให้ค่า DO ลดลง จาก 5 เหลือ 2 ปี 47 เมื่อออกซิเจนในน้ำมีน้อย ปลาก็ตาย

2.เตรียมน้ำบ่อเลี้ยงกุ้งขาวลงรอบใหม่
2.เตรียมน้ำบ่อเลี้ยงกุ้งขาวลงรอบใหม่

สภาพพื้นที่เลี้ยง กุ้งขาว กุ้งก้ามกราม

หลายทศวรรษที่คุณวิทูรเป็นเถ้าแก่ด้านธุรกิจเคมีเกษตร มีพรรคพวก เพื่อนฝูง มากมาย แต่เมื่อเกษียณตัวเอง ก็มาพักผ่อน และเอนจอยกับการทำฟาร์มที่ตัวเองรัก โดยไม่ได้มุ่งธุรกิจเป็นหลัก

30 กรกฎาคม 2565 ได้เปิดเผยกับ สัตว์น้ำ ว่า ขณะนี้ทางฟาร์มได้เดินหน้าเลี้ยงกุ้งต่อไป มีทั้งกุ้งขาว และกุ้งก้ามกราม โดยส่วนหนึ่งร่วมกับ บริษัท ไทยยูเนียน ฟีดมิลล์ จำกัด (มหาชน) และอีกส่วนหนึ่งบางปะกงฟาร์มเลี้ยงเอง

ย้อนไปเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว คุณวิทูรได้เลี้ยง ปลาทับทิม และ ปลากะพงขาว ในกระชัง ในแม่น้ำบางปะกง จาก 5-10 กระชัง มาเป็น 580 กระชัง

โฆษณา
AP Chemical Thailand

บางปะกงฟาร์ม เสียหาย เพราะน้ำเสีย ปลาตาย มูลค่ากว่า 10 ล้านบาท เป็นข่าวดังระดับประเทศ

ด้วยพระบารมีของ พ่อหลวง ร.9 ที่ทรงพระราชดำริเรื่องสร้างอ่างเก็บน้ำ และเขื่อนที่ห้วยสโมง ซึ่งเป็นพื้นที่ราบเชิงเขา ต.แก่งดินสอ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี เพื่อกักเก็บน้ำหน้าฝน และปล่อยน้ำลงแม่น้ำปราจีนฯ ซึ่งไหลลงแม่น้ำบางปะกงที่บางแตน เพื่อไล่น้ำเค็ม และนำน้ำจืดไปใช้ด้านการเกษตรและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ในที่สุด ครม. ก็เห็นด้วย ให้ กรมชลประทาน ก่อสร้าง ปี 52 เขื่อนเสร็จ เปิดใช้

เขื่อนนฤบดินทรจินดา สูง 32 เมตร กว้าง 9 เมตร และยาว 3,967 เมตร เก็บน้ำได้ 295 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงเพียงพอต่อการไล่น้ำเค็ม ป้องกันน้ำท่วม และน้ำเพื่อการเกษตรและประมง “ค่า DO ในแม่น้ำบางปะกงดีขึ้น 4-5 ตลอด ไม่กลัวเรื่องน้ำเสีย จากวันนั้นถึงวันนี้น้ำไม่เคยเสีย ช่วยชาวนาให้มีน้ำปลูกข้าว ชาวกุ้งเลี้ยงกุ้งได้ แค่ซื้อน้ำเค็มมาเติม ไม่ต้องทะเลาะกัน ระหว่างคนทำนากับชาวประมง” คุณวิทูร ยืนยันถึงข้อดีของเขื่อน

3.กระชังเลี้ยงปลาน้ำเงิน
3.กระชังเลี้ยงปลาน้ำเงิน
ปลาน้ำเงิน ที่มา.common sheatfish
ปลาน้ำเงิน ที่มา.common sheatfish

เทคนิคการเลี้ยงปลาในกระชัง

วันนี้ บางปะกงฟาร์ม กลับมาเลี้ยงปลาในกระชังอีก เพราะไม่ต้องเสียค่าไฟเหมือนเลี้ยงในฟาร์ม อันเนื่องมาจากต้องใช้เครื่องให้ออกซิเจนนั่นเอง

ปลาที่ คุณวิทูร ทดลองเลี้ยง ได้แก่ ปลาน้ำเงิน คล้ายปลาเนื้ออ่อน ไร้เกล็ด พื้นลำตัวสีขาวเงิน ส่วนหลังสีดำอมเขียว ฟันแหลม นิสัยก้าวร้าว กบดานนิ่งกับพื้น ว่ายน้ำล่าเหยื่อ เป็นปลากินเนื้อ จึงเลี้ยงเพื่อเป็นปลาสวยงาม และเป็นปลาเพื่อบริโภค เนื้ออ่อนอร่อย ราคา กก.ละ 300 บาท เป็นต้น ลูกพันธุ์จัดหาโดยทีมงานไทยยูเนียน “นโยบายผมให้เลี้ยงในบ่อบนบกให้ได้ 400-500 กรัม แล้วเอาไปลงกระชัง เลี้ยงแบบนี้เราใช้แรงงานให้เลี้ยงได้ดี ได้กำไรเท่าไหร่หักไป 20%” คุณวิทูร ให้ความเห็นถึงรูปแบบการเลี้ยง

เนื่องจากปลาน้ำเงินเป็นปลาดั้งเดิมของแม่น้ำบางปะกง ซึ่งนักกินจะรู้รสชาติเป็นอย่างดี จึงไม่ต้องห่วงเรื่องตลาด ไซซ์  400 กรัม ก็ขายได้แล้ว ใช้เวลาเลี้ยงทั้งหมดไม่เกิน 6 เดือน

โฆษณา
AP Chemical Thailand

เมื่อถามว่าถ้าเปรียบเทียบกับปลากะพงพันธุ์ไหนกำไรดีกว่ากัน คุณวิทูร ฟันธงว่า อยู่ที่เทคนิคการเลี้ยง เรื่อง “อาหาร” สำคัญมาก ต้องให้เพียงพอ ไม่งั้นมันกินกันเอง เพราะเป็นปลากินเนื้อ และมันจะกินอาหารกลางคืน ดังนั้นคนเลี้ยงต้องดูแลมิให้อาหารขาด เป็นอาหารที่ใช้เลี้ยงปลากะพงขาวนั่นเอง เรื่องอาหารจึงไม่มีปัญหาแต่อย่างใด

4.คุณวิทูรและคุณอนุวัฒน์ ผู้จัดการฟาร์มด้านประมงและเลี้ยงสัตว์น้ำ
4.คุณวิทูรและคุณอนุวัฒน์ ผู้จัดการฟาร์มด้านประมงและเลี้ยงสัตว์น้ำ

การบริหารจัดการบ่อกุ้ง

ในส่วนของการเลี้ยงกุ้ง คุณวิทูร เปิดเผยว่า ทางฟาร์มใช้เนื้อที่ 60 ไร่ มีบ่อเลี้ยง 20 บ่อ โดยเลี้ยง กุ้งขาว และ กุ้งก้ามกราม บางบ่อเลี้ยงเดี่ยว และบางบ่อเลี้ยงปนกัน และความหนาแน่น/บ่อ ก็แตกต่างกัน แต่อาหารใช้ ไทยยูเนียน กับ CPF เท่านั้น ซึ่งจะเลี้ยงกุ้งแต่ละครั้งต้องวางแผนร่วมกัน และประชุมร่วมเดือนละครั้ง ส่วนบุคลากรในฟาร์มประชุมทุกสัปดาห์ เพราะการเลี้ยงกุ้งยังไงก็เจอโรค และต้องอยู่กับมันให้ได้ โดยที่กุ้งไม่เสียหาย เลี้ยงแล้วรอด มีกำไร

ซึ่งเรื่องนี้ คุณอนุวัฒน์ รื่นเริง ผจก.ฟาร์ม เปิดเผยว่า เดือนกรกฎาคม 65 ทางฟาร์มลงกุ้งเพียง 10 บ่อ โดยเลี้ยงกุ้งขาวปนกุ้งก้าม 5 บ่อ และกุ้งขาวล้วนๆ 5 บ่อ ลูกกุ้งก้ามเป็นของพันธ์พงษ์ฟาร์ม บ่อเลี้ยงขนาด 2 ไร่ ความลึกของน้ำ 1.50 เมตร ปล่อยลูกกุ้งก้ามขนาด 300 ตัว/กก. ในอัตราเฉลี่ย 5 ตัว/ตรม. ส่วนลูกกุ้งขาวเป็นของอ่างศิลาฟาร์ม ขนาด P12 ราคาตัวละ 6 สตางค์ บ่อที่เลี้ยงรวม 50 วัน ได้ไซซ์กุ้งก้าม 30 ตัว/กก. และกุ้งขาว 27,000 ตัว ไซซ์ 70 ตัว/กก. ความเค็มน้ำเป็นศูนย์ กุ้งขาวใช้อาหารไทยยูเนียน แต่กุ้งก้ามใช้ของ CPF

“เราตรวจเช็คทุกๆ 2 วัน/สัปดาห์ อังคาร และ ศุกร์ หากความเค็มตกใช้เกลือช่วย พอกุ้งโต 2 เดือนขึ้น ก็ใช้หัวน้ำเค็ม ราคาหมื่นบาท/เที่ยว และใช้แร่ธาตุที่จำเป็น ตอนนี้ผมปรับงานให้เข้ากับคน ไม่ใช่ปรับคนให้เข้ากับงาน 10 บ่อ เราใช้ 4 คน รวมทั้งผม แต่ละคนมีงานอื่นด้วย เช่น เลี้ยงเพรียงทราย และปลาน้ำเงิน” คุณอนุวัฒน์เปิดเผยถึงรูปแบบการทำงาน และได้พูดถึงการจัดซื้อลูกกุ้งแต่ละฟาร์มว่าทางฟาร์มไม่ใช้ที่เดียว เพราะผู้ผลิตแต่ละฟาร์มมีฝีมือต่างกัน แต่ละช่วงเวลา

ดังนั้นตนจึงดูว่าช่วงไหน ฟาร์มไหนผลิตได้คุณภาพ ราคาสมเหตุสมผล ส่วนในด้านการให้ออกซิเจน ซึ่งเป็นต้นทุนค่าไฟ เรื่องนี้คุณอนุวัฒน์กล่าวว่า ค่า DO ไม่ต่ำกว่า 4.5 ไม่มีปัญหา เลี้ยงแบบสบายๆ มีเวลาไปดูแลการผลิต “เพรียงทราย” ที่เริ่มจาก 2 บ่อ และกำลังเริ่มบ่อที่ 3 2 บ่อ ไว้ผลิตพ่อแม่พันธุ์เป็นหลัก บ่ออื่นๆ เลี้ยงไว้ขายให้นักตกปลาเพื่อใช้เป็นเหยื่อ

5.จุลินทรีย์ ปม.1 ที่นำมาใช้ภายในบ่อเลี้ยงกุ้ง
5.จุลินทรีย์ ปม.1 ที่นำมาใช้ภายในบ่อเลี้ยงกุ้ง

รายได้จากการเลี้ยงกุ้ง

เมื่อถามถึงกำไรจากการเลี้ยงกุ้งในครอปนี้ คุณอนุวัฒน์ยืนยันว่า กำไรแน่นอน เพราะเลี้ยงไม่ถ่ายน้ำ ตัดเรื่องเชื้อโรคที่จะเข้ามากับน้ำได้โดยตรง

โฆษณา
AP Chemical Thailand

กุ้งที่ผลิตได้ส่วนหนึ่งจะขายให้แพกุ้งแบบประมูล อีกส่วนหนึ่งทางฟาร์มจะนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์กุ้ง เช่น กุ้งหวาน เป็นต้น แบรนด์บางปะกงฟาร์ม โดยเฉพาะการพาเชียลกุ้งไปแปรรูป ทำให้กุ้งที่เหลือในบ่อโตไวอีกด้วย

บางปะกงฟาร์ม โดย คุณวิทูร สุนทรเสณี  วันนี้กลับเข้าวงการปลาในกระชัง และยืนหยัดเลี้ยงกุ้งร่วมกับ ไทยยูเนียนฯ มันคือการประกาศให้คนในวงการรู้ว่าการเลี้ยงสัตว์น้ำด้วยหลักวิชาและประสบการณ์ของทีมงานแบบวินวินดุจหุ้นส่วนนั้น มันเป็นนวัตกรรมที่ยั่งยืน

6.มีห้องประชุมไว้คอยบริการ
6.มีห้องประชุมไว้คอยบริการ

การทำ รีสอร์ท และ โฮมสเตย์

อย่างไรก็ดี วันนี้ บางปะกงฟาร์ม มีสถานะทางธุรกิจเกษตรและประมง แต่อีกสถานะหนึ่ง คือ เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ มี โฮมสเตย์ มีเรือล่องแพ ชมนก ตกปลา ตกกุ้ง ท่ามกลางสายน้ำ และกระแสลมแห่งแม่น้ำบางปะกงที่ใสสะอาด  มีลานกิจกรรมสันทนาการเลี้ยงสังสรรค์  มีห้องประชุมทางธุรกิจและสังคม  มีห้องจัดเลี้ยง ที่ทุกคนนำ ผัก ผลไม้ กุ้ง ปลา มาปรุงได้ หรือมีจักรยานให้นักปั่นในฟาร์ม ซึ่งเรื่องนี้ คุณวิทูร และ คุณหมอวัธนี สุนทรเสณี พร้อมต้อนรับด้วยตนเอง

158/4 หมู่ 2 ต.หัวไทร บางคล้า ฉะเชิงเทรา โทร.081-834-1929

อ้างอิง : นิตยสารสัตว์น้ำ ฉบับที่ 396