ปฏิวัติการเลี้ยงกุ้งกุลาดำ ด้วยนวัตกรรม CODE KUNG โดย น.สพ.สุวรรณ (หมอเจี๊ยบ)

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ปกเลี้ยงกุ้งกุลาดำด้วยนวัตกรรม Code Kung copy 2

ในช่วงปี 2566 วงการเพาะเลี้ยงกุ้งของประเทศไทยประสบกับภาวะราคาตกต่ำอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในช่วงเดือนมีนาคม เมษายน และพฤษภาคม ราคากุ้งขนาด 30 ตัวต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นขนาดที่นิยมเลี้ยงในเกือบทุกฟาร์มนั้น ตกลงมาอยู่ที่ระดับ 130-140 บาทเท่านั้น ถือเป็นราคาต่ำสุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งทั่วประเทศอย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาวิกฤตนั้น มีผู้ประกอบการรายหนึ่งที่เลี้ยงกุ้งกุลาดำ ซึ่งเป็นสายพันธุ์พิเศษที่มีความต้องการในตลาดน้อยกว่ากุ้งขาวทั่วไป  ปฏิวัติการเลี้ยงกุ้งกุลาดำ ด้วยนวัตกรรม CODE KUNG โดย น.สพ.สุวรรณ (หมอเจี๊ยบ)

1.เจี๊ยบ
หมอเจี๊ยบ ( น.สพ.สุวรรณ ยิ้มเจริญ)

เทคนิคการเลี้ยงยังไงให้ได้ “โคตรกุ้ง”

จึงได้คิดค้นเทคนิคการเลี้ยงกุ้งกุลาดำให้ได้ขนาดใหญ่กว่าปกติ โดยตั้งชื่อว่า “โคตรกุ้ง” เพื่อสร้างจุดเด่นและตลาดเฉพาะกลุ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ของตนการริเริ่มดังกล่าวเกิดจากความต้องการทราบขีดจำกัดของสายพันธุ์กุ้งกุลาดำที่มีอยู่ ว่าสามารถเลี้ยงให้ได้ขนาดใหญ่สุดเพียงใด และจะใช้ระยะเวลานานเท่าใด พร้อมกันนั้น จึงศึกษาตลาดรองรับกุ้งขนาดใหญ่พิเศษโดยเฉพาะ ซึ่งพบว่ามีตลาดสำหรับกุ้งขนาด 8-18 ตัวต่อกิโลกรัม แต่เป็นกุ้งที่จับจากทะเลเท่านั้น

ส่วนหนึ่งของการบรรยาย เมื่อครั้งงานวันกุ้งจันท์ ครั้งที่ 28 มีหัวข้อ เทคนิคการเลี้ยงกุ้งกุลาดำไซส์ใหญ่ ที่เกษตรกรให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ซึ่งได้รับการบรรยายข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญอย่าง น.สพ.สุวรรณ ยิ้มเจริญ หรือ หมอเจี๊ยบ ประธานคลัสเตอร์กุ้งกุลาดำตะวันออก ที่มาเล่าถึงแนวทางการสร้างโอกาสใหม่ๆให้กับเกษตรกรหรือผู้ประกอบการในวงการกุ้ง โดยหมอเจี๊ยบเปิดเผยถึงข้อมูลตลาดกุ้งขนาดใหญ่พิเศษ โดยจากการสำรวจตลาดกุ้งขนาดใหญ่พิเศษ พบว่ากุ้งที่จับได้จากทะเลในขนาด 18 ตัวต่อกิโลกรัม และ 8 ตัวต่อกิโลกรัมนั้น จะมีปริมาณออกสู่ตลาดมากที่สุดในช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม หลังจากนั้นในช่วงหน้ามรสุม ปริมาณกุ้งขนาดดังกล่าวจะลดน้อยถอยลงจนหมดนอกจากกุ้งทะเลแล้ว ยังพบกุ้งขนาดใหญ่จากบ่อพักน้ำของเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งอีกด้วย โดยจะมีการปล่อยกุ้งกุลาดำลงในบ่อพักน้ำ และเมื่อจับกลับมาก็จะได้ปริมาณประมาณ 200-300 กิโลกรัม /รอบ ซึ่งถือเป็นปริมาณที่ไม่มากนัก

การสำรวจตลาดกุ้งขนาดใหญ่พิเศษในกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียง พบว่ามีความต้องการสูงถึง 30-40 ตัน/เดือนในกรุงเทพฯเพียงแห่งเดียว และหากรวมถึงพื้นที่ภาคตะวันออกอย่างชลบุรี พัทยา โฮมสเตย์ และร้านอาหารต่างๆ ความต้องการจะเพิ่มเป็น 50 ตัน/เดือนอย่างไรก็ตาม เนื่องจากปริมาณกุ้งขนาดใหญ่พิเศษจากธรรมชาติมีจำกัด ทำให้ผู้จัดจำหน่ายไม่กล้าเสนอขายกับโรงแรมและร้านอาหารชั้นนำ เพราะกลัวจะไม่สามารถจัดหาได้เพียงพอต่อความต้องการ ส่งผลให้กุ้งขนาดดังกล่าวไม่ได้ถูกบรรจุในเมนูอาหารของร้านเหล่านั้น

สำหรับราคากุ้งขนาดใหญ่พิเศษในปัจจุบันนั้น มีดังนี้ ขนาด 17-18 ตัวต่อกก. ราคา 350-400 บาท, 16-15 ตัว/กก. ราคา 400-450 บาท, 15-14 ตัว/กก. 450-500 บาท, 13-12 ตัว/กก. 500-600 บาท, 11-10 ตัว/กก. 600-700 บาท และ 9-8 ตัว/กก. 700-800 บาท ซึ่งเป็นราคาที่สามารถสร้างกำไรได้สูงถึง 200 บาทต่อกิโลกรัม

รูปแบบคอมมูนิตี้ช่วยเพิ่มปริมาณและความต่อเนื่องของผลผลิต

ที่ผ่านมามีผู้เลี้ยงกุ้งในจังหวัดจันทบุรีจำนวนมากสนใจที่จะเลี้ยงกุ้งขนาดใหญ่เช่นนี้ แต่ก็ยังมีข้อกังวลในเรื่องระยะเวลาการเลี้ยงที่นาน รวมถึงการจำหน่ายผลผลิต อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการรายนี้ยืนยันว่า การเลี้ยงกุ้งขนาดดังกล่าวใช้ระยะเวลาเพียง 7-8 เดือนเท่านั้น หากมีการจัดการที่ดี ซึ่งถือเป็นระยะเวลาที่ไม่นานนักเมื่อเทียบกับต้นทุนการผลิตที่ต่ำเพียง 200 บาทต่อกิโลกรัม แต่สามารถสร้างรายได้สูงมาก เมื่อพิจารณาจากความต้องการที่สูง แต่มีข้อจำกัดด้านปริมาณผลผลิตและการจำหน่าย การรวมตัวเป็นกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งขนาดใหญ่พิเศษในรูปแบบคอมมูนิตี้ จะสามารถเพิ่มปริมาณและความต่อเนื่องของผลผลิต ตลอดจนสร้างช่องทางการจำหน่ายที่แน่นอนยิ่งขึ้น นับเป็นโอกาสที่น่าสนใจสำหรับการเติบโตของธุรกิจการเลี้ยงกุ้งขนาดใหญ่พิเศษในประเทศไทย

โฆษณา
AP Chemical Thailand

“ ปีที่แล้วผมคุยกับกลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งในจันทบุรี มีแต่คนสนใจอยากจะทำ สนใจอยากจะเลี้ยง แต่พอไปถึงมันเลี้ยงนาน ใช้เวลานาน เลี้ยงไปปุ๊บกลัวจะเกิดอย่างนั้น อย่างนี้ แล้วจะขายใคร นี่คือความกลัวที่เกษตรกรฟีดแบคมา จริงๆ แล้วเลี้ยงกุ้งพวกนี้ ผมยังบอกว่าใช้เวลาไม่มาก ถ้ารู้จักการจัดการ ตามวิชาการจะบอกว่าใช้ระยะเวลาประมาณ 7-8 เดือน พอทำจริงมันมีการย่นระยะเวลา แล้วเชื่อไหม ต้นทุน ไซส์ 16-15 ตัว/กก., ไซส์ 15-14 ตัว/กก. ต้นทุน 200 นิดๆ ถามทุกท่านที่อยู่ในห้องนี้ ท่านเคยขายกุ้งได้กำไร กก.ละ 200 บาท ล่าสุดเมื่อไหร่ บางคนบอกไม่มีล่าสุด เพราะในชีวิตไม่เคยขายได้ แต่ผมจะบอกว่าปีที่แล้วผมขายกุ้งได้ กก.ละ 200 บาท ทั้งปี วันนี้ปีที่แล้วมันมีวิกฤต แต่พอเราเห็นเส้นทาง เห็นโอกาส ที่จะเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส เรารู้ว่าแน่นอนวันนี้ตลาดมีแล้ว ขาดแต่ปริมาณที่ซัพพอร์ต ตอนนี้ถ้าสายพันธุ์พร้อมแล้ว ผมยืนยันว่าเราทำได้ เทคนิคการเลี้ยงพร้อมแล้ว อาหารกุ้งพร้อม เหลือแต่ตลาด เรามีอยู่ปริมาณเท่านี้ แต่ผมเชื่อว่าถ้าต่อไปเราสามารถรวมเป็นคอมมูนิตี้ มันจะทำให้มีปริมาณที่ต้องการมีมากและเพียงพอ เราสามารถจะออกไปตลาดและบอกว่ากลุ่มเกษตรกรของเรา จังหวัดจันทบุรี จังหวัดใกล้เคียง เรารวมตัวกันสามารถผลิตกุ้งไซส์ขนาดนี้ออกมาได้ แล้วสร้างตลาด มีอยู่จำนวนหนึ่งแล้ว เราไปสร้างเพิ่ม ”หมอเจี๊ยบ ตอกย้ำว่ากุ้งไซส์ใหญ่ขายได้จริง สามารถทำได้จริง

5.เจี๊ยบ05

แนวคิดการสร้างแบรนด์ “โคตรกุ้ง” สู่ตลาดกุ้งขนาดใหญ่พิเศษระดับโลก

หมอเจี๊ยบ บอกต่ออีกว่าในขณะที่ตลาดกุ้งขนาดใหญ่พิเศษมีความต้องการสูงถึง 50 ตัน/เดือนในประเทศไทย แต่ยังขาดแคลนปริมาณผลผลิตที่เพียงพอ รวมถึงการจัดจำหน่ายที่ยังไม่มีประสิทธิภาพ ได้มีแนวคิดการรวมกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งกุลาดำขนาดใหญ่ในรูปแบบ “คอมมูนิตี้” ขึ้น โดยตั้งแบรนด์ว่า “โคตรกุ้ง” (CODEKUNG)

คำว่า “CODE”ประกอบด้วยความหมายดังนี้

– CO หมายถึง คอมมูนิตี้ (Community) ที่เกษตรกรรวมตัวกันเพื่อพึ่งพาและช่วยเหลือกันในการผลิตกุ้งขนาดใหญ่พิเศษ

– D หมายถึง ดีลิเชียส (Delicious) ซึ่งกุ้งโคตรกุ้งมีรสชาติอร่อยเนื่องจากการเลี้ยงด้วยวิธีการพิเศษ

– E หมายถึง เอนไวรอนเม้น (Environment) โดยการเลี้ยงกุ้งจะคำนึงถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ใช้จุลินทรีย์บำบัดน้ำและผสมในอาหารกุ้ง เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี

โฆษณา
AP Chemical Thailand

นอกจากนี้ ยังมีการสร้างเรื่องราวเกี่ยวกับการเป็นสินค้าที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่น ซึ่งจะเป็นจุดขายสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคตระหนักถึงการมีส่วนร่วมช่วยเหลือสังคมเมื่อซื้อสินค้าโคตรกุ้งการดำเนินงานในรูปแบบคอมมูนิตี้ จะทำให้สมาชิกได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคนิคการเลี้ยงกุ้งขนาดใหญ่พิเศษร่วมกัน ช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถผลิตในปริมาณมากพอที่จะนำเสนอต่อผู้จัดจำหน่าย โรงแรม ภัตตาคาร รวมถึงตลาดต่างประเทศ

หากโครงการนี้ประสบความสำเร็จ จะเป็นการสร้างตลาดกุ้งขนาดใหญ่พิเศษขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยได้รับการยอมรับในฐานะผู้นำตลาดกุ้งระดับโลกอีกครั้ง นอกเหนือจากกุ้งขาวและกุ้งกุลาดำขนาดปกติแล้วโดยในอนาคต ผลิตภัณฑ์โคตรกุ้งจะต้องมีการพัฒนาเพิ่มเติมในประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม    เช่น การลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เพื่อเข้าสู่มาตรฐาน ASC หรือคาร์บอนเครดิต ที่จะเป็นสิ่งจำเป็นต่อการแข่งขันในตลาดสากล เนื่องจากผู้บริโภคให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นทุกวัน และแนวคิดการสร้างแบรนด์และรูปแบบการรวมกลุ่มคอมมูนิตี้ดังกล่าว จึงนับเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำพาให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นผู้นำตลาดกุ้งรายใหม่ในระดับสากล และตอบโจทย์รูปแบบการบริโภคกุ้งคุณภาพสูงขนาดพิเศษในอนาคตได้อย่างยั่งยืน

“ ถ้าเกิดว่าเกษตรกรสามารถรวมตัวกันแล้วผลิตกุ้งไซส์ขนาดนี้ได้ มีปริมาณที่มากพอ ผมเชื่อว่าห้องเย็นพร้อมจะเอาตัวนี้ไปทำตลาด และเราสร้างสตอรี่ให้มันเหมือนหลายๆ ประเทศ คนไทยเก่งอย่างเดียว เลี้ยงกุ้งเก่ง แต่ทำสตอรี่ไม่ได้เรื่องเลย ไม่ใช่บอกว่าไม่เก่งนะ วิธีการสำคัญเราจะต้องสร้างสตอรี่ เมื่อรวมตัวกันสามารถจัดการการเลี้ยง ปล่อยด้วยความหนาแน่นที่พอเพียง เราเลี้ยงกุ้งโดยใช้จุลินทรีย์ เป็นตัวบำบัดพื้นบ่อ ผสมในอาหารให้กุ้งกิน มีโปรไบโอติก ทำให้สภาวะแวดล้อมดี นี่คือการสร้างแบรนด์ เมื่อเรากำหนดแบรนด์ เรามีตลาด เราก็มาเรื่องการผลิต นี่คือการรวมกลุ่มคอมมูนิตี้ ผู้ซื้อเขาจะรู้สึกว่าการที่จะมาซื้อกุ้งจากกลุ่มของเราเป็นการช่วยเหลือสังคม เป็นการช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ เป็นการช่วยสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น และถ้าเราขยายตรงนี้ไปสู่ต่างประเทศ สร้างเป็นสตอรี่ ไล่ลำดับขึ้นมามันจะเกิดอิมแพ็คมากขึ้น ”

รูปแบบการเลี้ยงกุ้งกุลาดำไซส์ใหญ่ ฉบับโคตรกุ้ง มี 3 รูปแบบ

  1. รูปแบบการเลี้ยงแบบที่ 1 ปล่อยกุ้ง 5 หมื่นตัว/ไร่ เลี้ยงนาน 5-6 เดือน เพื่อให้ได้กุ้งขนาด 18-10 ตัว/กก. โดยใช้ระบบปิดไม่ดูดน้ำเข้า-ออก เพื่อป้องกันโรคไวรัส และเวียนน้ำภายในบ่อเดียวกันทุก 2-3 วัน เหมาะสำหรับเกษตรกรรายย่อย
  2. รูปแบบการเลี้ยงแบบที่ 2 ปล่อยกุ้ง 1.5 แสนตัว/ไร่ในบ่อหลัก เมื่ออายุ 70-80 วัน ย้ายกุ้งไปบ่อใหม่ แบ่งเป็น 3 บ่อๆ ละ 5 หมื่นตัว โดยเวียนน้ำระหว่างบ่อ สามารถเลี้ยงได้นาน 6-7 เดือน ผลผลิตประมาณ 2-3 ตัน จากบ่อ 4 ไร่
  3. รูปแบบการเลี้ยงแบบที่ 3 ปล่อยกุ้ง 1 แสนตัว/ไร่ แล้วจับกุ้งออกไปขายที่จีนตั้งแต่อายุ 5 เดือน โดยจับขายไปบางส่วน เก็บส่วนหนึ่งไว้เลี้ยงต่ออีกประมาณ 2 เดือนครึ่ง เพื่อให้ได้ขนาดใหญ่ขึ้น

3.เจี๊ยบ03

หัวใจสำคัญในการทำ “โคตรกุ้ง”

หมอเจี๊ยบ ยังบอกถึงหัวใจสำคัญคือการเตรียมบ่อ น้ำ และรักษาสภาพพื้นบ่อให้ดี โดยใช้จุลินทรีย์บำบัดพื้นบ่อ การฆ่าเชื้อด้วยปูนร้อน คลอรีน ไดร์คลอวอส คอปเปอร์ซัลเฟต และใส่กากน้ำตาลเป็นระยะ รวมถึงใช้กระดูกปลาอัดเม็ดผสมจุลินทรีย์เพื่อสร้างหนอนแดงและโคพีพอด

อีกหนึ่งเรื่องคือสายพันธุ์กุ้งที่เหมาะสมคือ CPF กุ้งลายทอง และ โมอนา รวมถึงต้องใช้อาหารกุ้งที่มีคุณภาพ การเลือกเวลาย้ายกุ้งก็สำคัญต้องไม่เกิน 120 ตัว/กก. เพื่อป้องกันการเป็นตะคริว

“ หัวใจสำคัญในการทำโคตรกุ้ง หรือกุ้งไซส์ใหญ่ สายพันธุ์ต้องเหมาะสม วันนี้ใช้อยู่ 2 สายพันธุ์ 1.CPF กุ้งลายทอง 2.โมอนา ระยะเวลาเลี้ยง 6-7 เดือน คุณภาพอาหารกุ้งต้องเหมาะสม ที่สำคัญที่สุด คือ การเตรียมบ่อ เตรียมน้ำ ให้เหมาะสม และรักษาสภาพพื้นบ่อตลอดการเลี้ยง หัวใจสำคัญตรงนี้ต้องหาจุลินทรีย์บำบัดพื้นบ่อดีที่สุด จุลินทรีย์ที่กินแก๊สไข่เน่าได้ดีที่สุด จุลินทรีย์ที่กินตะกอนต่างๆ ได้ดีที่สุด มันถึงจะไปจุดนี้ได้ ถ้ามีแก๊สไข่เน่าไม่มีโอกาสที่จะไปโคตรกุ้ง ตรงนี้สำคัญ ฉะนั้นจุดที่ต้องเน้นการเตรียมบ่อ ตั้งแต่ทุกท่านเลี้ยงกุ้งมา อันนี้พูดถึงกุลาดำ เวลาฆ่าเชื้อใช้คลอรีนใส่ลงไปในดิน ใช้ด่างทับทิมลงไปในดิน ลงไปในน้ำ การฆ่าเชื้อขนาบน้ำมันทำให้ดินเป็นประจุลบ นั่นคือดินเสีย ไม่ว่าจะใส่แร่ธาตุอะไรลงไปดินจะดูดซับหมด เพราะว่าแร่ธาตุ แคลเซียม ,แมกนีเซียม , โปแตสเซียม พอดูดซับใส่ไปเท่าไหร่มันไม่พอ แต่ถ้าบำบัดพื้นบ่อก่อนการเลี้ยง มันจะปลดล็อค ต้องไปหาจุลินทรีย์ที่ดีในการบำบัดพื้นบ่อก่อนการเลี้ยง เอามาราดพื้นให้ทั่ว เสร็จแล้วก็ใส่ปูนขาวโรยให้ทั่ว ปูนร้อนก็ได้ ปูนร้อนมันเป็นแคลเซียมออกไซด์

โฆษณา
AP Chemical Thailand

6.เจี๊ยบ06

วิธีการใส่ปูนร้อน เชื่อว่าครึ่งห้องนี้ใส่ปูนผิดวิธี บางท่านใส่ปูนร้อนวันนี้ 3 วัน เอาน้ำเข้า ปูนร้อนมันร้อนไหม 3 วัน จะเป็นปูนร้อนได้ต้องทำปฏิกิริยากับน้ำ วิธีการ หว่านปูนตอนเย็นๆ ก็ได้ หว่านปูนตามจุด เอาคนงาน 4-5 คน กรีดถุง เหวี่ยงพร้อมกัน ทำตอนซัก 5 โมงเย็น 6 โมง ให้เสร็จ และเอาน้ำเข้าทันที เพราะปูนร้อนมันไปทำปฏิกิริยากับน้ำให้ความร้อน เขาให้ความร้อน เขาฆ่าเชื้อ แต่ถามว่าจุลินทรีย์ที่เราใส่ไปตายไหม บางส่วนครับ หลังจากเราราดจุลินทรีย์เราต้องทิ้งไว้ก่อน 3 วัน ให้จุลินทรีย์มันลงไปที่พื้นก่อนพอเราตากไว้ 3 วัน ความร้อนจากไอน้ำจะระเหยขึ้น แต่จุลินทรีย์จะถูกดูดลงไป และเราค่อยสาดปูน สาดปูนเสร็จ กลางคืนเอาน้ำเข้า น้ำเข้าให้พอท่วมจุดที่ตื้นที่สุด ทิ้งไว้ 1 คืน ไม่ต้องทำอะไร เพื่อฆ่าในเรื่องของ ESP ถามว่ากุ้งดำมันไม่เป็น ESP ทำไมต้องทำ ไม่เป็นไรเราป้องกันไว้ก่อน แต่ความร้อนมันฆ่าเชื้อวิบริโอได้ โดยเฉพาะวิบริโอมันฆ่าได้ ความร้อนจากปูน หลังจากหว่านปูนร้อนแล้วทิ้งไว้ 1 คืน อีก 1 วัน ดูดน้ำให้เต็มบ่อ ลงฆ่าพาหะไดร์คลอวอส เพราะไดร์คลอวอสเป็นตัวฆ่าพาหะที่ออกฤทธิ์เร็ว เสื่อมฤทธิ์เร็ว เพราะว่าถ้ามันยังหลงเหลืออยู่มันฆ่ากุ้งด้วย ฉะนั้นต้องเสื่อมฤทธิ์ภายใน 5 วัน หรือ 7 วัน ต้องให้มันเสื่อมฤทธิ์ ไดร์คลอวอสมันเหมาะสม มันเป็นรูปแบบน้ำแค่เทลงไป ปลอดภัยต่อคนเลี้ยง

หลังจากนั้นลงคอปเปอร์ซัลเฟตฆ่าหอย เพราะถ้าเลี้ยงกุ้งกุลาดำมีหอยเป็นเรื่อง หมายถึงหอยในบ่อเลี้ยง ไม่ได้หอยในบ่อพักน้ำ คอปเปอร์ซัลเฟต 8 กก.ต่อไร่ บางคนอาจจะน้อยกว่านี้แล้วแต่พื้นที่ ทุกท่านรู้อยู่แล้วว่าท่านใช้เท่าไหร่ พอวันที่ 5 ลงกากชาฆ่าปลาหมอ จันทบุรีปลาหมอเทศเหลือน้อยแล้ว เหลือแต่คางดำ ต้องฆ่าปลาหมอคางดำ ถ้าไม่ฆ่าความวิบัติมาถึงท่านเลย แค่ 3-4 เดือน มันออกลูก ออกหลาน เต็มบ่อแล้ว พอจับมากุ้งจะเหลือ 500 กก. ปลาหมอคางดำน่าจะตันครึ่งหลังจากนั้นวันที่ 8 ลงจุลินทรีย์และกากน้ำตาล ผมมีกระดูกปลาอัดเม็ดผสมจุลินทรีย์หว่านไปเลย เมื่อก่อนต้องไปต้มทำโน่น ทำนี่ ตากนั่น เดี๋ยวนี้เป็นพวกกระดูกปลาอัดเม็ดและผสมจุลินทรีย์หว่าน สร้างหนอนแดง สัตว์หน้าดิน โคพีพอท ถ้าทำกุ้งจะโตดี 10% ถ้าไม่ทำ อันนี้จากการทดลองที่ฟาร์มบอร์ดที่ทำแบบนี้ อัตราการเจริญเติบโตแตกต่างกัน บ่อที่ทำเดือนแรกโตเร็วกว่า กุ้งถ้าเดือนแรกมันโตเร็วกว่า เดือนต่อไปโตแน่นอน บ่อที่มีแต่อาหารอย่างเดียว มียาฆ่าเชื้ออะไรต่างๆ โตช้า และความแข็งแรงคนละอย่าง สภาพปูแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เม็ดไขมันไม่เหมือนกัน เรื่องของเชื้อคนละเรื่องเลย

วันที่ 13 ลงกากน้ำตาลและจุลินทรีย์อีกครั้ง อย่าลืมว่าเราเตรียมด้วยปูนขาวและปูนร้อน pH บ่อจะสูง อาจจะไปแตะ 9 หรือ 8 เกือบ 9 เราต้องลงจุลินทรีย์และกากน้ำตาลเพื่อดึง pH ลงมาให้อยู่ระดับ 8 พอจุลินทรีย์ทำงานขยายตัว จุลินทรีย์คายกรดคาร์บอนิกทำให้ pH ตก พอ pH ตกไปละลายปูน แคลเซียมออกไซด์ ปูนขาว แคลเซียมคาร์บอเนต ละลายเป็นไบคาร์บอเนต ไบคาร์บอเนต คือ อัลคาไลน์ จะได้อัลคาไลน์ฟรีๆ โดยที่ไม่ต้องเติมโซเดียมไบคาร์บอเนตเลย แค่เตรียมบ่อตามแบบนี้ วันที่ 15 ตรวจสอบคุณภาพลูกกุ้ง ปรับปรุง ขาดแร่ธาตุตัวไหนเสริม กุ้งมาเช็คอัตรารอดต้องรอด 100% กุ้งกุลาดำไม่เหมือนกุ้งขาว กุ้งขาวรอดเท่านั้น เท่านี้ กุ้งกุลาดำต้องรอด 100% กุ้งกุลาดำลงน้ำต้องรอด 100% แล้วปล่อย”

7.เจี๊ยบ07

เมนูอาหารจาก “โคตรกุ้ง”

หมอเจี๊ยบ ยังให้ข้อมูลด้านการกินอาหารของกุ้งกุลาดำขนาดใหญ่หรือโคตรกุ้ง โดยสายพันธุ์ CPF กุ้งลายทอง จะมีอัตราการกินและการเจริญเติบโตที่รวดเร็วกว่า โดยในวันแรกของการปล่อยลงเลี้ยงอาจให้อาหารได้ถึง 2 กก.ต่อแสนตัว ในขณะที่สายพันธุ์โมอนาจะมีอัตราการกินที่ช้ากว่า โดยในวันแรกอาจให้อาหารได้เพียง 1.5 กก.ต่อแสนตัว อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากการปรับตัวในช่วงแรกแล้ว ทั้งสองสายพันธุ์จะค่อยๆ เพิ่มอัตราการกินและเจริญเติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดยสามารถปรับเพิ่มอาหารได้ดังนี้ คงไว้ที่ 2 กก.ต่อแสนตัวอีก 4 วัน จากนั้นเพิ่มเป็น 4 กก.ต่อแสนตัวอีก 4 วัน และเพิ่มเป็น 6 กก.ต่อแสนตัวอีก 4 วัน เป็นต้น

แม้ว่าในช่วงแรกสายพันธุ์ CPF จะโตเร็วกว่า แต่เมื่อเข้าสู่เดือนที่ 6-7 ทั้งสองสายพันธุ์จะมีขนาดเท่ากัน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องของความสะดวกในการจัดการมากกว่า โดยสายพันธุ์ที่โตเร็วในช่วงแรกอาจเหมาะสำหรับการเลี้ยงแบบจับขายออกเป็นกุ้งอ๊อก ในขณะที่อีกสายพันธุ์หนึ่งก็สามารถทำเป็นกุ้งอ๊อกได้เช่นกัน เมื่อเลี้ยงจนถึงเดือนที่ 7ในการย้ายกุ้งไปบ่ออื่น จุดสำคัญคือต้องไม่ให้กุ้งเป็นตะคริวหรือได้รับความเครียด โดยวิธีตรวจสอบที่ง่ายคือให้สังเกตจากการยกยอกุ้งเร็วๆ หากไม่มีกุ้งเป็นตะคริวแสดงว่าพร้อมสำหรับการย้ายได้ในวันนั้น ไม่จำเป็นต้องรอตรวจเช็คอัตรารอดเพราะสามารถเช็คได้จากลักษณะภายนอกก่อนแล้ว โดยในการย้ายควรใช้อุปกรณ์พิเศษเพื่อไม่ให้กุ้งได้รับบาดเจ็บ เช่น ไอ้โง่ดักที่ออกแบบพิเศษ เพื่อไม่ต้องลากกุ้งไปบนพื้นบ่อซึ่งจะทำให้กุ้งได้รับความเครียดนอกจากนี้ หากเกษตรกรรายย่อยหรือรายกลางประสบปัญหาในการเลี้ยงกุ้งขาว การหันมาเลี้ยงกุ้งกุลาดำไซส์ใหญ่ อาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ เนื่องจากสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากการขายกุ้งไซส์ใหญ่ รวมถึงควรสร้างแบรนด์สินค้าและผลิตภัณฑ์ของเกษตรกรเอง เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้และผ่านพ้นวิกฤตการณ์ได้ และสรุปการบรรยายนี้หวังว่าจะเป็นอีกหนึ่งแนวทาง ในการเลี้ยงกุ้งขนาดใหญ่ ที่มีตัวอย่างรายละเอียดการเตรียมบ่อ ดูแลสภาพแวดล้อม รวมถึงการจัดการในแต่ละช่วงระยะการเลี้ยง เพื่อให้ได้ผลผลิตสูงและมีคุณภาพดี สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรได้อย่างมั่นคง

ขอบคุณข้อมูล :ส่วนหนึ่งการบรรยายใน งานวันกุ้งจันท์ ครั้งที่ 28

โฆษณา
AP Chemical Thailand

โดย น.สพ.สุวรรณ ยิ้มเจริญ หรือ หมอเจี๊ยบ ประธานคลัสเตอร์กุ้งกุลาดำตะวันออก ในหัวข้อ เทคนิคการเลี้ยงกุ้งกุลาดำไซส์ใหญ่  โทร. 081-9269820

8.เจี๊ยบ08

เรื่องกุ้งดำต้องร่วมกันขับเคลื่อนอย่างมียุทธศาสตร์

เรื่องกุ้งกุลาดำ วันนี้ คณะกรรมการคลัสเตอร์ ที่มีหมอเจี๊ยบเป็นประธาน ได้ยอมรับกับ สมัชชาพลังเขียวสร้างชาติ ว่า ตลาดกุ้งดำ มีทั้งในประเทศและจีน ในประเทศเป็นกุ้งไซซ์ใหญ่ 10 กว่าตัว/กก. โดยขายผ่านโบรกเกอร์หลายคน เพื่อเข้าสู่ร้านอาหารและโรงแรมเพื่อนักท่องเที่ยว ส่วนต่างประเทศเป็น กุ้งเป็น ส่งทางเครื่องบินไปจีน ไซซ์เล็ก 30-40 ตัว/กก. สำหรับพื้นที่การเลี้ยงกุ้งกุลาดำ มีทั้งฝั่งอันดามัน และแปซิฟิก กลุ่มทักษิณมารีน ธุรกิจห้องเย็นครบวงจร ยึดฐานการเลี้ยงที่ระนอง และภูเก็ต มุ่งกุ้งไซซ์ใหญ่ 10 กว่าตัว/กก. สำหรับภาคตะวันออก กลุ่มหมอเจี๊ยบ รวมๆ แล้วหลายร้อยไร่ ในจังหวัดจันทบุรี โดยหมอเจี๊ยบเลี้ยง 300 กว่าไร่ ที่เหลือเป็นกลุ่มนากุ้งแปลงใหญ่นายายอาม 50 กว่าคน เป็นผู้เลี้ยงรายย่อยเป็นหลัก

ในเรื่องสายพันธุ์และอาหารเป็นของ CP ส่วนโมอานาต้องชะลอไว้ก่อน เพื่อป้องกัน โรคตัวใส จากเวียดนาม จะลุกลามเข้าไทย เพราะมีการระบาดหนัก ผลผลิตเสียหายกว่า 50% แต่อาหารกุ้งทางคลัสเตอร์คิดสูตรเอง โดยว่าจ้าง บริษัท กรุ๊ปเน็ต จำกัด ที่มี คุณเจริญชัย  สวัสดี เป็นผู้บริหาร เป็นผู้ผลิตตามสูตร

การยืนหยัดพัฒนากุ้งกุลาดำของคลัสเตอร์กุ้งดำ ถือว่าเดินถูกทาง เจ้าภาพหลัก อย่าง กรมประมง เห็นด้วย ถ้าจะขยายฐานการผลิตและการตลาดให้กว้างขึ้น อาจต้องเข้าสู่การสนับสนุนจากรัฐบาลผ่านกระทรวงเกษตรฯ ที่มี ทีมมันสมอง ที่รู้จักกันในนาม “ดร.วิชิต ปลั่งศรีสกุล” เป็นประธานคณะกรรมการ ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ กระทรวงเกษตรฯ ตามคำสั่งที่ 32/2567 ลงนามโดย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เจ้ากระทรวง เมื่อ 8 ม.ค. 67

เรื่องกุ้งดำเป็นเรื่องใหญ่ที่จะต้องร่วมกันขับเคลื่อนอย่างมียุทธศาสตร์ สนใจเข้าร่วม โทร.081-926-9820

 

อ้างอิง : นิตยสารสัตว์น้ำ ฉบับ 416