ปลากะพงขาว ปลา 2 น้ำขนาดใหญ่ ที่ได้รับความนิยม เพราะสามารถเลี้ยงได้ทั้งในบ่อดินและกระชังแม่น้ำ
ในประเทศไทยสามารถพบปลากะพงขาวตามชายฝั่งทะเล โดยเฉพาะปากแม่น้ำใหญ่ที่มีทางออกติดต่อกับทะเล มีการผสมพันธุ์และวางไข่ในน้ำทะเลที่มีความเค็มประมาณ 28-32 ppt. ในทะเลที่มีความลึก หลังจากนั้นไข่จะถูกพัดพาเข้าสู่บริเวณชายฝั่งและฟักออกเป็นตัว ลูกปลากะพงขาวที่ฟักออกเป็นตัวจะดำรงชีวิตในน้ำกร่อยและในน้ำจืด จนมีอายุได้ 2-3 ปี มีขนาด 3-5 กิโลกรัม จะเคลื่อนตัวออกสู่ทะเลเพื่อทำการผสมพันธุ์และวางไข่ต่อไป
ในแถบฉะเชิงเทราจะเรียกปลากะพงขาวว่า “ปลาโจ้โล้” และถือเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงปลากะพงขาวแหล่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
ย้อนไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ปลากะพงขาวถือเป็นสัตว์น้ำดึงความสนใจ คุณสุทธิ มะหะเลา หรือคุณเค เจ้าของร้านบุญสว่าง (2006) ที่เริ่มต้นอาชีพจากการเป็นเอเยนต์จำหน่าย,เวชภัณฑ์และอาหารกุ้ง และพื้นที่ 16 ไร่ เลี้ยงกุ้งตามกระแส สร้างอาชีพ แต่พบว่ากุ้งประสบปัญหาการเกิดโรคได้ง่าย จึงเปลี่ยนจากบ่อกุ้งมาทดลองเลี้ยงปลากะพงขาว 1 บ่อ เพราะความคิดที่ว่าต้องการฉีกแนวจากคนในละแวกเดีวกัน
เริ่มแรกการเลี้ยงปลากะพงขาวจะใช้อาหารเหยื่อสด กิโลกรัมละ 6-7 บาทแต่ประสบปัญหาด้านแรงงานที่ต้องมาสับมาโม่ ไม่มีเวลาดูแลเท่าที่ควร
แล้วทำไมไม่มีอาหารปลากะพง
นี่คือคำถามของคุณเค จังหวะเหมาะที่มีบริษัทผู้ผลิตอาหารสัตว์น้ำที่ตนเป็นเอเยนต์ เห็นว่ามีบ่อปลากะพงและต้องการทดลองคุณภาพอาหาร จึงเข้ามาทดลองแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ
“ลักษณะเม็ดอาหารเท่าเหรียญบาท ตรงกลางเป็นแอ่งคล้ายท้องกระทะ ค่อยๆแกว่งเป็นกระทะที่กำลังจมน้ำให้คล้ายกับอาหารเหยื่อสด เราทดลองให้ ปรากฏว่า มันไม่ประสบความสำเร็จ ประมาณ 2 ครอป ประมาณปี 2538 ด้วยความที่เราไม่มีความรู้ เห็นแต่ว่ามันกิน แล้วมันก็คล้ายปลาที่กินด้วยเหยื่อสด คือกินใต้น้ำ เราก็เลยไม่เห็นว่าปลามากิน เต็มจำนวนมั๊ย…? สมมุติว่า ถ้าปล่อยปลา 1 หมื่นตัว ผลผลิตต้องได้ประมาณ 6 ตัน แต่เราจับได้แค่ตันเดียว ปลาที่ขึ้นมาไขมันเยอะมาก และการเลี้ยงด้วยเหยื่อสดที่มีปัญหาเรื่องแรงงาน และการคาดการณ์ที่มองว่าในอนาคตราคาเหยื่อสดจะแพง อาหารสำเร็จรูป น่าจะเป็นทางเลือกสำหรับการเลี้ยงปลากะพงขาว”
ผลผลิตปลา 1 ตันที่ได้กลายเป็นผลผลิตที่ขายไม่ได้ เพราะปลามีไขมันเยอะ รูปทรงอ้วน ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด เสียหายหลักล้านบาท เป็นปัญหาที่ต้องยุติการเลี้ยงและมุ่งเน้นการเลี้ยงกุ้ง เฉกเช่นคนอื่นๆ
ด้วยความมุ่งมั่น เกิดจุดเปลี่ยนให้คุณเค ต้องการเรียนรู้และอยากที่จะทดลองในช่วงที่ต้องยุติการเลี้ยง คุณเคใช้เวลาหลายปี ซุ้มเก็บข้อมูล ศึกษานิสัยพฤติกรรมปลากะพงขาวอย่างถ่องแท้ และการเข้าไปเรียนรู้ ฝึกฝนการอนุบาลลูกปลากะพงด้วยอาหารเม็ดในบ่อปูน และตั้งสมมุติฐานกับตัวเองว่า “สงสัยต้องฝึก” ให้กินอาหาร เพราะใน 10,000 ตัว ปลากินอาหาร 10% ก็เท่ากับว่ามันยอมกินเองเพราะความหิว และด้วยเงื่อนไขประกอบของปลากะพงขาวเอง คุณเคจึงเข้าไปเรียนรู้นิสัยว่าทำไมถึงกินบ้าง บางตัวทำไมถึงยอมอดตาย และขอโอกาสเริ่มใหม่ประมาณปี 2546-2547 ด้วยการพาคุณติ๊กภรรยาที่เป็นคนเลี้ยงไปดูการฝึกลูกปลาให้กินอาหารเม็ด ในชุดนั้นได้ลูกปลา 3,000 ตัว ที่ผ่านการฝึก ทดลองเลี้ยงกับอาหารปลากะพงขาวของบริษัทหนึ่ง ใช้ระยะเวลาการเลี้ยง 6 เดือน จับปลาได้ 2 ตัน
ปี 2547 เปิดศักราชใหม่ อาหารปลากะพง “โปรฟีด” ถ้าพูดถึงการพัฒนาสูตรอาหารแต่ละบริษัทจะมีการเก็บข้อมูลเพื่อมาวิจัย จนได้สูตรอาหารที่เป็นแบบฉบับของตนเอง เช่นเดียวกับ “บริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ จำกัด” ที่มุ่งเน้นและพัฒนาอาหารปลากะพงขาว ซึ่ง ณ ปัจจุบันกลายเป็นยอดอาหารปลากะพงขาวเบอร์ 1 ของประเทศไทยไปแล้ว
ด้วยใจสู้ ไม่ยอมถอย มองเห็นอนาคต และอยากเลี้ยงเพื่อเป็นการฉีกตลาดปลากะพงขาวออกมา ครอปที่ 2 ของการเลี้ยงปลากะพงขาว หลังจากที่คุณเคได้เข้าไปศึกษาและฝึกให้ลูกปลากินอาหารเม็ด ประมาณปี 2551 ดร.สุพิศ ทองรอด เข้ามารับตำแหน่ง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์น้ำ บริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ จำกัด การเลี้ยงปลากะพงขาวของคุณเคที่ได้ร่วมมือกับบริษัทก็คือการผลิตสูตรอาหารที่ได้จากข้อมูลของคนเลี้ยงจริงๆ คือ ทางคุณเคผู้เลี้ยงจะทราบว่าปลาในบ่อต้องการอะไร ปรับเปลี่ยนสูตรอาหารให้เหมาะสมกับปลาได้มั๊ย ซึ่งทางบริษัท ไทยยูเนี่ยน ที่มุ่งเน้นและต้องการพัฒนาสูตรอาหารอยู่แล้ว น้อมรับข้อเสนอและนำไปปรับเปลี่ยนเพื่อให้ผลการเลี้ยงออกมาดี เป็นที่พอใจของคนเลี้ยงปลา ทั้งในเรื่องของอัตรารอด การเจริญเติบโตและรูปร่างที่สวย เป็นที่ต้องการของตลาด
การพัฒนาสูตรอาหารของ บริษัท ไทยยูเนี่ยนฯ ถือเป็นก้าวแรกที่สามารถดึงผู้สนใจจากคนเลี้ยงกุ้งมาเลี้ยงปลากะพง 2 ราย ที่ลองเลี้ยงไปพร้อมกัน ซึ่งถือเป็นการเก็บข้อมูลเพื่อนำไปพัฒนาสูตรอาหาร ชนิดที่ว่าต้องเข้าไปเก็บข้อมูลที่บ่อทุกอาทิตย์กันเลยทีเดียว
เมื่อสูตรอาหารมีการพัฒนาถึงเป้าหมายความพึงพอใจของคนเลี้ยง คุณเคเองไม่หยุดที่จะพัฒนาการเลี้ยง โดยตั้งข้อสงสัยในเรื่องของอัตราการปล่อยต่อไร่ การฝึกลูกปลาให้กินอาหารเม็ด เพื่อให้การเลี้ยงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
พื้นที่ 60 ไร่ เลี้ยงปลากะพง
การเลี้ยงปลากินเนื้อให้ยอมรับการกินอาหารเม็ดนั้น ขั้นตอนที่เป็นปัญหา คือ การฝึกลูกปลาให้กินอาหารเม็ด ปี 2547-2552 การเลี้ยงกุ้งขาวถือเป็นสัตว์น้ำที่ได้รับความสนใจด้านรายได้ที่ดี แต่สำหรับคุณเคตัดสินใจยุติการเลี้ยงกุ้งขาวและหันมาเอาจริงเอาจังกับการเลี้ยงปลากะพงขาวเต็มรูปแบบด้วยอาหารเม็ด 100%
สายพันธุ์ มาจากสองคลองใกล้พื้นที่ฟาร์มที่มีข้อได้เปรียบในเรื่องนี้อยู่แล้ว แต่ปัญหาที่เจอก็คือ ลูกปลาโตช้า จากเมื่อก่อนเลี้ยง 4 เดือน ขายได้ แต่ในปัจจุบันต้องใช้ระยะเวลาถึง 6 เดือน แต่พอเลี้ยงด้วยอาหารเม็ดของ บริษัท ไทยยูเนี่ยนฯ ที่มีการปรับปรุงสูตร ถ้าเป็นปลา 4 นิ้ว แล้วมาเลี้ยงเป็นปลาไซส์จะใช้เวลาแค่ 4 เดือนครึ่ง การเลี้ยงปลากะพงขาวจะแบ่งอาชีพกันทำ หรือการแบ่งช่วงผลิตลูกปลา จะมีช่วงการทำพ่อแม่พันธุ์กลุ่มหนึ่งและคนรับปลาตุ้มไปอนุบาลเป็นปลานิ้วในบ่อดินอีกกลุ่มหนึ่ง
เพื่อให้ได้คุณภาพและมาตรฐานเดียวกันและปริมาณเพียงพอกับความต้องการเลี้ยงในบ่อดิน คุณเคได้ใช้เทคนิคการรับลูกปลาตุ้มขนาด 1-1.5 เซนติเมตร มาปล่อยอนุบาลในบ่อดิน ด้วยอัตราการปล่อย 8 หมื่น-1 แสนตัว/ไร่ ขนาดของบ่อที่ใช้อนุบาลโดยทั่วไปจะไม่เกิน 2 ไร่ ลูกปลากะพงสามารถอนุบาลในน้ำได้ทุกระดับความเค็มตั้งแต่น้ำจืดจนถึงน้ำทะเล
การเตรียมบ่อสำหรับอนุบาล
การเตรียมบ่อที่ดี เริ่มต้นจากการตากบ่อให้แห้ง ใส่ปูนขาวในการฆ่าเชื้อโรคภายในบ่อ แล้วเติมน้ำเข้าบ่อ ติดตั้งเครื่องตีน้ำ เมื่อเตรียมบ่อเรียบร้อยแล้ว การสั่งลูกปลาจากฟาร์ม คุณเคจะให้ความสำคัญส่วนนี้ด้วย ในการซื้อลูกปลามาฝึกต่อจากบ่อปูน จะต้องกักคอกเพิ่มเนื้อที่ในการกักคอกเท่าตัว ต้องรู้ที่มาของปลาว่ามาจากฟาร์มไหน เพราะนิสัยของปลาแต่ละฟาร์มไม่เหมือนกัน ปลากะพงจากสองคลองอนุบาลในบ่อปูนเหมือนกัน หยอดอาหารเหมือนกัน แต่นิสัยไม่เหมือนกัน นิสัยปลาจะเหมือนคนเลี้ยง บางคนเลี้ยงทั้งวัน บางคนเลี้ยงเป็นมื้อ ถือเป็นนิสัยพื้นฐาน ทำให้เรารู้ สามารถนำมาปรับเพื่อให้นิสัยเป็นเหมือนเลี้ยงในบ่อดิน
การปล่อยลูกปลาลงอนุบาล
ส่วนใหญ่แล้วจะตีตารางบ่อไว้ ถ้าตามแนวกว้างต้องกัก 3 กัก ปล่อยลูกปลาตรงกลางก่อน สิบวันไปแล้วจึงขยายพื้นที่หนึ่งครั้ง พอปลาได้ 4-5 นิ้ว รู้ที่กินแล้วจึงปล่อยคอกกักออก จากการสังเกตถ้าอนุบาลในบ่อปูน อาหารเหมือนหล่นใส่ปาก การกักพื้นเป็นเหมือนการฝึกให้ลูกปลารู้จักที่กินอาหาร
เรื่องของออกซิเจน
ออกซิเจนในน้ำถือเป็นเรื่องสำคัญ ควรมีการติดตั้งให้เพียงพอ เพราะถ้าออกซิเจนไม่พอปลาจะไม่กินอาหารในคอกกักที่จำกัดพื้นที่ จึงควรมีใบตีน้ำอยู่ในคอกกัก 2-3 ใบ
การกินอาหาร ปริมาณการให้อาหารนั้นขึ้นอยู่กับจำนวนปลาและไซส์ปลาในบ่อ สมมุติ ปลา 1 หมื่นตัว ขนาด 4 นิ้ว จะกินอาหาร 6-8 กิโลกรัม/มื้อ กินทันที ไม่ใช่การสาดอาหารทิ้งให้ลอยน้ำ ใน 1 มื้อ จะใช้เวลากิน 15 นาที แต่ถ้านานกว่านี้แสดงว่าปลากินอาหารไม่ดุ กินอาหารไมเก่ง อาหารจะเหลือ จำเป็นต้องปรับลดเหลือวันละ 2 มื้อ 3 วันแรก กินอาหารน้อยไม่เป็นไร แต่ภายใน 3-5 วัน ต้องกินอาหารดีขึ้น เพราะจะเป็นตัวบ่งชี้ถึงอัตรารอดของลูกปลาในบ่อ การแก้ไขก็คือ การปรับวิธีสาดหรือไม่ก็ลองงดอาหารครึ่งวันหรือหนึ่งวัน เพื่อให้ปลารู้สึกหิวจัดๆ แล้วค่อยให้ หรืออาจจะใช้น้ำปลาทูสดผสมในอาหารเพื่อเป็นการเรียกกลิ่นก็ได้
เทคนิคการฝึกลูกปลากินอาหารเม็ด
การฝึกลูกปลาให้กินอาหารเม็ด ถือเป็นวิธีการที่ต้องใช้เวลาและความใส่ใจเป็นอย่างมาก คุณเคสั่งสมประสบการณ์ ลองถูกลองผิด จนเกิดเป็นเรื่องง่ายๆ โดยวิธีแรกนั้นจะเป็นการซื้อลูกปลาตุ้มมาฝึกให้เป็นปลา 3 นิ้ว มาฝึกกินอาหารเม็ด วิธีการคือ การฝึกลูกปลาในคอกกัน สมมุติ ลูกปลา 1 หมื่นตัว กินเหยื่อสดประมาณ 7 กิโลกรัม จะใช้อาหารเม็ด 10% ผสมน้ำและโม่พร้อมเหยื่อสด เป็นอาหารเหยื่อสดที่มีกลิ่นของอาหารเม็ด ใช้สูตรนี้เลี้ยงฝึกลูกปลาในบ่อ 10 วัน ลูกปลาจะรู้กลิ่น ได้รสชาติของอาหารเม็ดบ้าง พอหลังจากนั้นก็เพิ่มปริมาณอาหารเม็ดให้มากขึ้นทุกวัน และเพิ่มปริมาณของส่วนผสมทั้งสองอย่าง ให้เพียงพอกับความต้องการของลูกปลาที่โตขึ้นด้วย การยอมรับอาหารเม็ดจะใช้เวลา 5 วัน ลูกปลาจะเริ่มตอดกินอาหาร เมื่อปลาเริ่มกินก็จะเป็นอาหารเม็ดอย่างเดียว สาดดูก่อนครั้งละ 1 กิโลกรัม ถ้าลูกปลากินหมด ในวันถัดไปก็เพิ่มปริมาณอาหารเป็น 2 กิโลกรัม ในขณะเดียวกันลูกปลาก็จะกินอาหารดีขึ้นเรื่อยๆ สามารถลดเหยื่อที่โม่รวมกับอาหารเม็ดลงเรื่อยๆ ใช้ระยะเวลาไม่เกิน 40 วัน ในการฝึกวิธีนี้ปลาก็จะยอมกินอาหารเม็ดได้เกือบ 100% ไซส์จะอยู่ประมาณ 5-6 นิ้ว เป็นเทคนิคที่ฝึกให้กินอาหารเม็ด และเลี้ยงในบ่อนั้นเลย โดยไม่ต้องย้ายบ่อ อัตรารอดจะอยู่ที่ 80-85%
การเลี้ยงปลากะพงขาว ระบบหนาแน่น
โดยส่วนใหญ่การปล่อยลูกปลากะพงขาวนั้น จะปล่อยปลาในอัตราความหนาแน่นที่มีความเหมาะสม ซึ่ง ณ ปัจจุบันนี้ผู้เลี้ยงส่วนใหญ่จะนิยมลงลูกปลาขนาด 4 นิ้วผ่านการฝึกให้กินอาหารเม็ดแล้ว ซึ่งจะทำให้ง่ายต่อการเลี้ยง เป็นการลดระยะการเลี้ยงและเพิ่มอัตรารอด ถึงแม้จะมีต้นทุนค่าลูกพันธุ์ที่สูงแต่ก็คุ้มค่ากว่า โดยอัตราการปล่อยลูกปลาขนาด 4 นิ้วจะอยู่ที่ 4,000 – 5,000 ตัว/ไร่ ใช้เวลาในการเลี้ยงจนจับ 4-5 เดือน
ก่อนปล่อยลูกปลา คุณเคจะใช้เทคนิคการกั้นคอกบ่อสัดส่วน 30 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่การเลี้ยง แต่ไม่เกิน 1 ไร่ เพื่อจำกัดพื้นที่ให้ลูกปลาด้วยความที่ปลากะพงเป็นปลาหากินเป็นฝูง การเลี้ยงลูกปลาขนาดเล็กในพื้นที่จำกัดจะทำให้ลูกปลารวมตัวกินอาหารได้ดี และให้ลูกปลาเรียนรู้จุดการให้อาหาร ถ้าปล่อยลูกปลาโดยไม่มีคอกกั้นก่อนลูกปลาจะหลงน้ำ กระจายตัวไปทั่วบ่อ ทำให้ลูกปลาไม่รู้ตำแหน่งการให้อาหาร เกิดการแตกไซน์ของลูกปลา ผลการเลี้ยงก็จะไม่ดี จะใช้ระยะเวลาการอนุบาลลูกปลา 30-40 วัน ก่อนเปิดกั้นปล่อยปลาออกสู่บ่อใหญ่
จุดให้อาหารหรือคอกให้อาหาร 1บ่อกำหนดจุดให้อาหาร 1 จุดโดยตั้งเสาไม้ ใช้มุ้งฟ้าล้อมกั้นเป็นคอกขนาด 9X10 หรือ 10X10 เมตร (ความยาวเนื้อผ้า 38-40 เมตร) อาจทำเป็รรูปวงกลมหรือสีเหลี่ยมผืนฟ้าก็ได้ ให้เนื้อของผ้ามุ้งฟ้าจมอยู่ในน้ำ 30 เซนติเมตร การใช้มุ้งฟ้ามากั้นเป็นคอก เป็นการป้องกันไม่ให้อาหารลอยน้ำไปทั่วบ่อ เป็นการเช็คการกินอาหารและสุขภาพของลูกปลาในบ่อด้วย
อาหารและการให้อาหาร
การให้อาหารจะให้วันละ 1-2 ครั้ง เป็นเวลาเดิมทุกวัน จะอยู่ในช่วงเช้า และ เย็นที่มีแสงน้อยในบริเวณจุดที่กำหนดไว้ทุกครั้งแต่ต้องหลีกเลี่ยงการให้อาหารบริเวณมุมบ่อทั้งสี่ เพราะจะทำให้เกิดการหมักหมมของอาหารที่เหลือได้ง่าย การสาดอาหารปลา จะให้ครั้งละน้อยๆ รอจนปลากินใกล้หมดจึงสาดต่อไปเรื่อยๆตามปริมาณการกินในแต่ละบ่อ และต้องคอยสังเกตพฤติกรรมการฮุบกินอาหารของปลา หากช้าลง ปลาชะลอการกินจึงหยุดให้อาหาร
จะมุ่งการเปลี่ยนแปลง ถ่ายน้ำด้วยวิธี
1. การเติมน้ำเข้าทุกๆ วันและ
2. การเปลี่ยนถ่ายน้ำเก่าก้นบ่อออกประมาณ 30-50% แล้วเติมน้ำใหม่เข้าสู่บ่อ ซึ่งนิยมมากเมื่อคุณภาพน้ำเริ่มไม่ค่อยดี
ปลากะพงขาวชอบน้ำที่สะอาด หากน้ำเน่าเสียหรือเก่าแล้ว จะพบปัญหาปลาจะไม่กินอาหาร ส่งผลให้มีการเจริญเติบโตช้ากว่าปกติ และปลาจะอ่อนแอลง เป็นสาเหตุของการเกิดโรคได้ง่ายทำให้ปลาตายในที่สุด ในการเปลี่ยนน้ำที่มีความเค็มควรจะให้มีความเค็มใกล้เคียงกันกับความเค็มของน้ำในบ่อเลี้ยง
ปลากะพงขาวขนาดน้ำหนักตั้งแต่ 200 กรัมขึ้นไป มีความไวต่อการขาดออกซิเจน ถ้าปริมาณออกซิเจนในน้ำต่ำกว่า 3 ส่วนในล้าน (ppm) อาจทำให้ปลากระทบกระเทือน ลอยหัวและไม่กินอาหาร ถ้าออกซิเจนยิ่งต่ำ จะพบปัญหาการตาย สิ่งนี้ต้องระวังมากเมื่อเลี้ยงปลากะพงขาวหนาแน่นสำหรับเกษตรกร การป้องกันคือ การถ่ายเทน้ำเป็นประจำ โดยเฉลี่ยอย่างน้อย 10 เปอร์เซ็นต์ของน้ำในบ่อต่อวันและมีการเพิ่มเครื่องให้อากาศในบ่อ โดยทั่วไปบ่อขนาด 1 ไร่ควรมีแขนตีน้ำ ขนาด 6 ใบพัด จำนวน 1 แขนเป็นอย่างน้อย
เลี้ยงหนาแน่น ออกซิเจนและอาหาร ต้องเพียงพอ
การเลี้ยงปลากะพงของคุณเคจะตั้งเป้าผลผลิตสุดท้ายของบ่อที่จะได้ จากการปล่อยปลาในอัตรา 15,000-16,000 ตัว เปลี่ยนมาปล่อย 30,000 ตัว ถ้าถามว่าทำไมถึงปล่อยได้ คุณเคกล่าวว่าจริงๆ แล้ว ปลากะพงเลี้ยงหนาแน่นได้ ขึ้นอยู่กับออกซิเจนกับอาหาร เรื่องของออกซิเจนนั้นมีความละเอียดอ่อน
สมมุติว่า ปล่อยปลา 15,000 ตัว อัตรารอด 100% เฉลี่ยตัวละ 600-700 กรัม ผลผลิตประมาณ 9 ตัน ใบตีน้ำ 1 ใบ ให้ออกซิเจนปลา 200 กิโลกรัม ต้องใช้ใบตีน้ำ 45 ใบ การเลี้ยงปลาสามารถปล่อยหนาแน่น สำคัญที่ใบตีน้ำต้องพอ และต้องดูความเหมาะสม ความหนาแน่น ในช่วงกลางคืนต้องมีเวรยามดูความปลอดภัยของเครื่องตีน้ำ จะทำเครื่องออกซิเจน
ของเสียสะสมในบ่อ
เมื่อเลี้ยงปลาในระบบหนาแน่นมากๆ ของเสียที่มาจากปลาก็จะเยอะ น้ำก็อาจจะเขียวเร็วกว่า ถ้าเป็นปกติคุณเคกล่าวว่าเลี้ยงปลาไซส์ 4 เดือน บางทีไม่ได้เปลี่ยนถ่ายน้ำเลย สีน้ำในบ่อก็ยังสวยอยู่ตลอด แต่พอมาเลี้ยงหนาแน่นน้ำจะเข้มไว เนื่องจากของเสียจากปลาเยอะขึ้น แต่ไม่ใช่จากของเสีย จากอาหารเหลือ การแก้ไขระหว่างเลี้ยงจะใช้จุลินทรีย์กำจัดพื้นบ่อ จากปริมาณปกติจะเพิ่มขึ้นเท่าตัว และต้องตรวจเช็คคุณภาพทุกๆ 7 วัน pH 7.5-8.5 อัลคาไลน์ 100 ขึ้น ความเค็มตั้งแต่ 0-30 แล้วก็แอมโมเนีย ไนไตรท์ อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานไม่เกิน 1 ให้ดีหน่อยก็ไม่เกิน 0.5 ถ้าเจอปัญหาเรื่องนี้แทนที่จะใส่จุลินทรีย์ครึ่งเดือนครั้งก็จะปรับเพิ่มใบตีน้ำหรือดูดน้ำเก่าออก เติมน้ำใหม่เข้าไปแทนที่ ถ้าพบปลาป่วยจะรักษาตามอาการ ใช้ยาแทบจะน้อยมาก เพราะเน้นการป้องกันตั้งแต่แรกอยู่แล้ว
ต้นทุนการผลิต
ลูกปลาที่ฝึกให้กินอาหารเม็ด ราคาจำหน่ายเฉลี่ยตัวละ 6 บาท อัตราปล่อย 2 หมื่นตัว ปล่อยในบ่อขนาด 5 ไร่ ราคาลูกปลาจะอยู่ที่ 120,000 บาท เลี้ยงปลา 4-5 เดือน ไซส์ 700 กรัม ได้ผลผลิต 14 ตัน ปลาจะต้องกินอาหารอยู่ที่ 16,800 กิโลกรัม หรือ FCR = 1.2 เฉลี่ยค่าอาหารที่กิโลกรัมละ 52 บาท ค่าอาหารประมาณ 873,600 บาท ค่าการจัดการ ค่าไฟ 50,000 บาท ค่าแรง 40,000 บาท ค่าน้ำ 2,000 บาท ค่าแรงตอนจับ 27,000 บาท ค่ายา 12,500 บาท ค่าปูน 5,000 บาท ส่วนใหญ่จะใช้ปูนโดโลไมท์ ใส่ครั้งละ 5 ลูก ใช้ตอนน้ำเข้มมาก สรุปต้นทุนผลผลิต 14 ตัน ราคาจำหน่าย 70-210 บาท โดยเฉลี่ยแล้วประมาณกิโลกรัมละ 110 บาท ผลตอบแทนจากการเลี้ยงปลากะพง 4-5 เดือน ไซส์ 700 กรัม กำไรประมาณ 3-4 แสนบาท ถ้าเทียบระยะเวลาและผลตอบแทน การเลี้ยงปลากะพงถือเป็นสัตว์น้ำที่ให้ผลตอบแทนดี คุณเคกล่าวว่าถ้าพูดถึงความเสี่ยงไม่มากเท่ากับการเลี้ยงกุ้ง เพราะปลากะพงมีกระเพาะ เวลาป่วยจะมีอาการให้เห็น รักษาง่าย โรคระบาดไม่มี โรคนั้นคือการติดเชื้อแบคทีเรีย วิบริโอ ในน้ำ ปรสิตเข้าบ้าง โรคพวกนี้สามารถป้องกันรักษาได้
เรื่องของตลาดก็ไม่น่าห่วง แต่ถ้าในภาวะล้นตลาดน่ากลัวช่วงเดือน ส.ค.-ต.ค. เพราะเริ่มเลี้ยงปลากันในช่วง พ.ค. ช่วงปลายปีผลผลิตก็จะออกมาเยอะ แต่ถ้าหลังจากนี้จะทำลูกปลาได้สวย ผลผลิตจะลดลง จะทำให้ราคาขึ้น
การเลี้ยงปลาที่กำหนดเป้าหมายจับ คุณเคกล่าวว่าผลผลิต/บ่อที่ได้จะอยู่ที่ 15-20 ตัน ผลิตเข้าห้องเย็น และพ่อค้าคนกลางที่เข้ามารับเองหลักๆ จะผลิตเข้าห้องเย็น ฉะนั้นมาตรฐานและคุณภาพถือเป็นสิ่งสำคัญ เฉลี่ยแล้วต้องผลิตส่งห้องเย็นเดือนละ 35-40 ตัน ตอบโจทย์การพัฒนาสูตรเพื่อคนเลี้ยงปลากะพง อาหารปลากะพงของ บริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ จำกัด คุณเคกล่าวว่าตนมีความมั่นใจในคุณภาพอาหารมาก เพราะก่อนหน้าที่จะเลี้ยงของเราเคยได้ทดลองเลี้ยงมาอย่างน้อย 2 แบรนด์ แล้วเรามีลูกค้าในมืออย่างน้อย 350 ราย ผลผลิตจะเสมอต้นเสมอปลายมาก เมื่อสามปีที่แล้ว FCR 1.4 แต่ปัจจุบันบริษัทปรับสูตร FCR เหลือ 1.2 บริษัทมีการปรับปรุงคุณภาพตลอดเวลา มีการแก้ไขจุดบกพร่องของอาหารตลอดเวลา ผลการเลี้ยง 10 ปีที่ผ่านมา ไม่มีข้อผิดพลาดที่แก้ไขไม่ได้ ถือเป็นเบอร์ 1 อยู่ในเรื่องของอาหารปลากะพง ตอนนี้กำลังทดลองอาหารสูตรใหม่ที่บริษัทกำลังพัฒนาสูตรขึ้น เพื่อลด FCR และระยะเวลาการเลี้ยงที่ผ่านมาจับตัวเลขเป็นที่น่าพอใจ เพราะหนึ่งเดือนจะได้ 70 กรัม และอีกหนึ่งเดือนจะขึ้นมาอีกเท่าตัว มองดูแล้วจะเกินด้วย เพราะอาทิตย์แรกที่เลี้ยงเฉลี่ย 120 กรัม อาทิตย์ที่ 2 200 กว่ากรัม ในการเลี้ยงปลาให้คำนึงถึงผลการเลี้ยง ฤดูกาลไหน เกษตรกรส่วนใหญ่จะเลี้ยงตามฤดูกาลจริงๆ การวางแผนใหม่ เพื่อให้ผลผลิตกระจายออกทั้งปี เพื่อที่จะให้ผลผลิตราคาถูกก็มีขาย ผลผลิตราคาสูงก็มีขาย เป็นการเฉลี่ยรายได้ทั้งปี ถ้าเลี้ยงตามๆ กัน ผลผลิตจะออกมาล้นตลาด เกิดปัญหาปลาราคาถูก รายย่อยอยู่ไม่ได้
ในส่วนของคุณเคจะมีห้องเย็นของบริษัทมารองรับ ทำให้ผลผลิตที่ล้นตลาด มีที่รองรับ ทำให้คนที่ทำปลาไซส์ขายก็ทำได้ คนที่เลี้ยงปลาส่งห้องเย็นก็เลี้ยงต่อได้ เป็นการแบ่งกลุ่ม ไม่แย่งตลาดกัน ซึ่งในอนาคตหวังว่าจะมีตลาดจากต่างประเทศ ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นตอนเจรจา มาทำให้ผลผลิตไม่พอ ทำให้คนเลี้ยงกุ้งที่ขาดทุนหันมาเลี้ยงปลากะพงทดแทนได้
ขอขอบคุณ คุณสุทธิ มะหะเลา ตัวแทนจำหน่ายอาหารปลากะพง โปรฟีด
ร้านบุญสว่าง (2006) 66 ม.3 ต.บางนาง อ.พานทอง จ.ชลบุรี โทร.08-9244-1344, 08-9894-3709
สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
บริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ จำกัด 89/1 หมู่ 2 ถ.พระราม 2 ต.กาหลง อ.เมือง จ.สมุทรสาคร
โทร.034-417-222
tags: ปลากะพงขาว ปลากะพง ปลาโจ้โล้ การเลี้ยงปลาในกระชัง เลี้ยงปลาในกระชัง การเลี้ยงปลากระพง ปลากะพงขาว ปลากะพง ปลาโจ้โล้ ปลากระพง การเลี้ยงปลาในกระชัง ปลากระพง
[wpdevart_like_box profile_id=”377357182296025″ connections=”show” width=”300″ height=”220″ header=”big” cover_photo=”show” locale=”th_TH”]