ปลาหนังที่รู้จักกันดี “ปลาดุก” วันนี้อยู่ในช่วงขาลง หลายคนออกจากวงการ แต่ก็มีผู้พยายามจะยกระดับปลาดุกไทยให้เป็นปลาเศรษฐกิจ เช่น การจัดสัมมนาเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2567 ณ ห้องประชุม ชั้น 6 อาคารศูนย์วิจัย วิทยาศาสตร์จุฬาภรณ์ 60 พรรษา คณะวิทยาศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ
ภายใต้การสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชน กล่าวเปิดงานโดย ท่านประพันธ์ ลีปายะคุณ รองอธิบดีกรมประมง วิทยากรภาคเช้า ได้แก่ ศ.ดร.อุทัยรัตน์ ณ นคร อาจารย์และนักวิจัยภาควิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ และ ดร.ปกรณ์ อุ่นประเสริฐ ผู้เชี่ยวชาญด้านประมงน้ำจืด โดยมี ผศ.ดร รัตนาภรณ์ ธรรมะโกศล ที่ปรึกษาศูนย์วิจัยจีโนมิกส์และทรัพยากรชีวภาพสัตว์น้ำ เป็นผู้ดำเนินการสัมมนา โดยเนื้อหาถูกตัดตอนบางถ้อยคำที่ไม่เหมาะสมเท่านั้น
การเพาะเลี้ยงปลาดุก
ศ.ดร.อุทัยรัตน์ ณ นคร เปิดประเด็นว่า “การเลี้ยงปลาดุกมีมานานมากแล้วตั้งแต่ พ.ศ.2493 ปลาดุกมีสายพันธุ์ทั่วโลก 61 ชนิด ปลาสกุลแพเรียส เป็นปลาชนิดเดียวที่มีซ้ำกันระหว่างเอเชียและแอฟริกา ในเมืองไทยมี 7 ชนิด ดิฉันเคยพูดไว้ว่าประเทศไทยเป็นประเทศมหาอำนาจปลาดุก แต่ตอนนี้เราสูญเสียความเป็นผู้นำให้แก่ไนจีเรียไปแล้ว ไนจีเรียเลี้ยงปลาดุกแอฟริกัน ในขณะที่เราเลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุย ปลาดุกเป็นปลาที่เพาะง่าย สมัยก่อนส่วนใหญ่คนจีนจะเลี้ยง ปัญหาในการเลี้ยงมี 2 อย่าง 1.ตายง่าย 2.พอคนเลี้ยงมากขึ้นราคาตก คนจึงหันมาเลี้ยงปลาดุกอุยเพราะราคาดีกว่า”
ดร.ปกรณ์ อุ่นประเสริฐ ได้เล่าประวัติของตนว่า ตำแหน่งสุดท้ายของผมที่ทำงาน คือ ประมงจังหวัดร้อยเอ็ด เรื่องปลาดุก ผมเกี่ยวข้องมาตั้งแต่ต้น มีการศึกษาเพาะพันธุ์ และก็เป็นทีมงานของท่านมานพ ตั้งตรงไพโรจน์ และคุณสุจินต์ หนูขวัญ แล้วผมมาได้ทำตำแหน่งกองส่งเสริมเป็นหลัก งานวิชาการก็ทำ แต่สิ่งที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นปลานิล ปลาดุก ในการเพาะพันธุ์ เรามีการศึกษาและมีการเพาะพันธุ์โดยนักวิชาการ ตั้งแต่สมัยท่านอารีย์ สิทธิมังค์ ต่อมาท่านที่มีความสามารถอีกท่าน ชื่อ ลิขิต นุกูลรักษ์ อยู่ศูนย์วิจัยประมงจังหวัดชัยนาท
ปลาเมื่อเอามาผสมพันธุ์กันเรียกพันธุ์ธรรมชาติ ในธรรมชาติไม่ได้อยู่ติดกัน เมื่อก่อนปลาไน ตัวสีดำ ปลาทองตัวก็สีดำ เพาะไปเพาะมาเกิดสีแบบนี้ขึ้นมา ตอนแรกเราเรียก ปลาเผือก ปลาส้ม ปลาอีกตัว คือ ปลาบู่ เป็นปลาอีกตัวที่เพาะพันธุ์ธรรมชาติ ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่เราเรียกว่า ปลาบู่ทอง เพาะไปเพาะมาเกิดจากฝีมือท่านมานพ ปัจจุบันการเลี้ยงหนาแน่นทำให้เกิดเลือดชิด ปลานิลก็เกิดอาการนี้มาแล้ว ก็เกิดการผิดปกติขึ้นมาเป็นปลาเผือก ผมได้มีโอกาสได้มาคัดพันธุ์ตั้งแต่ปี 2519 และพรีเซ้นท์เรื่องนี้ปี 2525 เป็นต้นกำเนิดของปลานิลแดง สมเด็จพระนางเจ้าให้ทรงเรียกปลานิลแดง และในปัจจุบันนี้เรียก ปลาทับทิม ผมอยากเรียนว่าทางด้านพันธุกรรมมีความสำคัญมาก การเพาะพันธุ์โดยการผสมข้ามพันธุ์ จะเกิดลักษณะประหลาดขึ้นมา อาจจะตัวใหญ่ ประหลาดไม่ดีเช่นเกิดปลาเผือก
การบำรุงดูแลปลาดุก
ศ.ดร.อุทัยรัตน์ กล่าวต่อไปว่า มีคนบ่นกันมากว่าเลี้ยงสกปรกมาก ถ้าจะขยายตลาดมันจะไม่ได้ เลี้ยงแต่ละบ่อ 10-20 ไร่ ก็มีการเลี้ยงในบ่อกลมระบบน้ำหมุนเวียนขึ้นมาเป็นเรื่องที่ดังมากตอนนั้น มีหลายคนไม่เชื่อบอกว่าปลาดุกเลี้ยงในบ่อปูนไม่ได้มันจะวิ่งชน ปากจะเปื่อยหมด ตัวจะเป็นแผล แต่ในที่สุดก็พบว่าระบบนี้เลี้ยงได้ดี บ่อหนึ่งได้ถึงหมื่นตัว เลี้ยงไป 4 เดือนได้ตันกว่าๆ แต่ระบบน้ำก็ต้องดีหน่อย เกษตรกรเอาไปเลี้ยงกันเยอะ พอเริ่มจะมีความนิยม ปลาดุกบิ๊กอุยก็เข้ามา ปลาดุกบิ๊กอุยมันสามารถไปเลี้ยงแทนที่ปลาดุกด้านได้ง่ายๆ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ใช้กัน
อันแรกที่จะบอกว่าปลาดุกอุยทั่วประเทศมันไม่เหมือนกัน ศึกษาโดยใช้เครื่องหมายพันธุกรรม จะแบ่งใหญ่ตามลุ่มน้ำ ลุ่มน้ำเจ้าพระยาก็กลุ่มหนึ่ง ลุ่มน้ำโขงก็กลุ่มหนึ่ง ภาคใต้ก็กลุ่มหนึ่ง สังเกตว่าปลาดุกอุยทางใต้หัวจะค่อนข้างแหลม นอกจากเครื่องหมายพันธุกรรมจะให้เห็นว่าแตกต่างกันแล้ว ลูกศิษย์คนนี้มาจากโมซัมบิส สนใจปลาดุกมาก เราก็จัดให้ทำปลาดุกเลย เขาก็ศึกษาจากสต๊อกเกษตรกับปลาของอุดร เอามาเลี้ยงเปรียบเทียบกัน พบว่าของเกษตรโตดีกว่า แล้วก็ลักษณะหลายๆ อย่างจะต่างกัน อย่างเช่น ความยาวของครีบหลัง และ แม่พันธุ์ที่ใช้ๆ กันต้องดูว่ามันเป็นอย่างไร เคยลองทำปลาเพศเมียล้วน แต่โดยเฉลี่ยมันไม่ได้โตกว่าที่ปลาธรรมดา ข้อมูลที่อยากจะเรียนท่าน เมื่อท่านเปลี่ยนพ่อแม่พันธุ์ปลาลูกออกมาไม่เหมือนเดิม บางคู่มันแย่กว่าเดิม บางคู่ดีกว่าเดิม เพราะฉะนั้นเรื่องของพ่อแม่พันธุ์มีความสำคัญที่สุด เราสามารถปรับปรุงพ่อแม่พันธุ์บิ๊กอุยได้ โดยการที่คัดเลือกแล้วมาผสมกัน สามารถทำให้บิ๊กอุยโตเร็ว
การพัฒนาพันธุ์ปลาดุกอุย
มาเรื่องของปลาดุกยักษ์ เราตั้งสมมุติฐานว่ามันเกิดจากการผสมเลือดชิด ทำให้ลักษณะต่างๆ ถดถอยลง โดยเฉพาะเรื่องการขยายพันธุ์ โดยทฤษฎีถ้ามันเลือดชิดต้องไปพันธุกรรมที่มันไม่เหมือนกัน เราเอาปลาจากอ่างทองและนครพนมเอามาผสมข้ามกัน ได้ข้อสรุปมา 2 ข้อ ข้อที่ 1 ลูกผสมไม่ดีขึ้น ข้อ 2 เมื่อใช้ตัวหนึ่งเป็นพ่อทำแบบสลับกันไม่เหมือนกัน แสดงว่าพันธุกรรมของแม่ก็มีความสำคัญ เมื่อไม่กี่ปีมานี้ดิฉันได้ทุนทำวิจัย พอไปถามว่าปัญหาเรื่องใด ก็ตอบว่ามีปัญหาเรื่องพันธุ์ จึงบอกว่าถ้าดิฉันจะปรับปรุงพันธุ์ดีหรือไม่ บอกว่าดี ดิฉันบอกว่าถ้าทำเสร็จแล้วจะเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์หรือไม่ ตอบว่าไม่เลี้ยง สุดท้ายไปหา เบทาโกร เพราะต้องมีคนดูแลพ่อแม่พันธุ์นี้ต่อ เบทาโกรสนับสนุนทั้งในเรื่องของกำลังคน สถานที่ และให้เงินทุนมาเพื่อที่จะให้ร่วมกับ สกว. ปรับปรุงพันธุ์ปลาดุกยักษ์ เราจึงสามารถทำขนาดใหญ่ได้
วิธีการปรับปรุงพันธุ์อันแรกเลย คือ เราต้องมีประชากร เริ่มต้นที่มีฐานพันธุกรรมที่กว้าง แล้วเราจะเอามาจากไหน เราได้ประชากรที่แตกต่างกัน 3 ประชากรเอามาผสมเข้ากันเพื่อที่จะขยายฐานพันธุกรรมให้กว้างขึ้น ตอนนั้นลูกศิษย์ทำงานอยู่เบทาโกร ยากเย็นแสนเข็ญกว่าจะผ่านมาได้ สรุปว่าเรารู้ว่าการเจริญเติบโตของปลาดุกยักษ์มันสามารถปรับปรุงพันธุ์ได้ แต่ที่เราต้องการ คือ ปรับปรุงพันธุ์ให้ระบบสืบพันธุ์มันดีขึ้น แต่ข่าวร้ายก็คือว่าขนาดถุงน้ำเชื้อเป็นอะไรที่ปรับปรุงได้ยากมาก ที่มันโตมันเล็กมันเกิดจากพันธุกรรมแค่ 2% ในขณะที่ความแข็งแรงของน้ำเชื้อไม่มีพันธุกรรมเลย ความหนาแน่นของน้ำเชื้อประมาณ 2% ตัวเมียก็ต่ำเช่นเดียวกัน
จึงมีข้อสรุปว่าต้องไปหาประชากรใหม่เพิ่มแล้วเพื่อขยายฐานพันธุกรรม แต่ในตอนนั้นเวลาโครงการจำกัดเราก็ทำการปรับปรุงพันธุ์ให้มันโตขึ้นอย่างเดียวจากการคัดเลือกโดย EVV ของน้ำหนักตัว ก็คือ มีการเอาข้อมูลว่ามันเป็นลูกใครอะไรแบบนี้มาวิเคราะห์ เราก็ได้ความก้าวหน้า 10% ปัญหาที่เจอ สรุปได้ง่ายๆ ว่าอยู่ดีๆ หายไป แล้วเราจะทำอย่างไร เราก็ต้องมีการปรับปรุงพันธุ์ และเรื่องของราคาอาหารที่แพงขึ้นเรื่อยๆ ทุกวัน อยากเสริมเรื่องการปรับปรุงพันธุ์ปลาดุกอุยโดยใช้วิธีการเดียวกันนั่นแหละ แต่ว่าประชากรที่ใช้มีความหลากหลายต่ำ ความก้าวหน้าก็เลยไม่เห็นชัด
โดยสรุปที่พูดมาทั้งหมด ข้อที่ 1 เรามีความรู้ เรามีเทคโนโลยี เพียงพอที่จะปรับปรุงพันธุ์ปลาบิ๊กอุย เนื่องจากเรารู้แล้วว่าปลาบิ๊กอุยสามารถจะโตเร็วขึ้นได้ ก็อาจจะต้านทานโรคเพิ่มขึ้นได้ ถ้าใช้พ่อที่โตเร็ว ต้านทานโรค ใช้แม่ที่ปรับปรุงพันธุ์ให้โตเร็วและต้านทานโรค ข้อที่ 2 ฐานพันธุกรรมของปลาดุกยักษ์ต้องมีการขยาย ต้องมีสต๊อกใหม่เข้ามา ที่อยู่ในไทยไม่โอเคแล้ว และข้อสุดท้าย ปลาดุกอุยเองก็ต้องมีการปรับปรุงพันธุ์โดยที่ทำอย่างถูกหลักการ จบด้วยภาพตรงนี้ด้วยภาพจากเบทาโกร เป็นรูปอาหารที่ดูดี เรื่องการบริโภคที่หลากหลายก็มีความจำเป็นเช่นเดียวกัน
ดร.ปกรณ์ เล่าต่อว่า มีพี่น้องในภาคอีสานอยู่จังหวัดหนองคาย น้องออยเป็นคนหนึ่งที่สามารถลดต้นทุนการเพาะเลี้ยงปลาดุกได้โดยวิธีธรรมชาติ การเลี้ยงให้ได้คุณภาพ น้ำเป็นสิ่งสำคัญ อาหารเป็นเรื่องสำคัญ ปลาดุกที่ชอบกินกันมากต้องสีเหลือง คุณออยที่ฟาร์มหนองคายสามารถทำให้ปลาตัวสีเหลืองโดยวิธีธรรมชาติ ที่นี่คือเรามาเพื่อหาข้อมูล ข้อสรุปที่ดีเพื่อเสนอภาครัฐให้พิจารณาช่วยเหลือ อาหารปลอดภัย GMP กรมมีระเบียบของฟาร์ม ต้องขึ้นทะเบียนมีมาตรฐาน มีเจ้าหน้าที่ไปตรวจ ไม่มีสารพิษหรือแบบออร์แกนิค คือ ไม่มีสารอะไรเลย ผมเลี้ยงปลาหลดในฟาร์มปลูกข้าวเขตทุ่งกุลาร้องไห้ แล้วเราอ้างว่าเขตข้าวที่มีปลาถือว่าเป็นนาอินทรีย์ เพราะฉะนั้นการจะผลิตอาหารปลอดภัย ราคาก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ต้องพิจารณาแก้ไข และสิ่งที่สำคัญตลาดที่มีคุณภาพเป็นตลาดชั้นดี ขณะนี้ประเทศไทยมีปัญหา ปลาดุกก็เป็นตัวหนึ่งที่พบว่านอกจากผลผลิตจะลดลงแล้ว ยังมีคู่แข่งเพิ่มอีก วันนี้เป็นโอกาสที่ดีที่เราจะได้มาร่วมกันหารือวางแผนและปรับปรุง โดยเฉพาะข้อมูลที่ได้จากวันนี้จะเสนอฝ่ายบริหาร
ผศ.ดร.รัตนาภรณ์ ธรรมะโกศล ผู้ดำเนินรายการ ขอสรุปสั้นๆ ว่า กรมประมงพร้อม กระทรวงเกษตรพร้อม มหาวิทยาลัยเกษตรพร้อม เราจะไปล่องแม่น้ำไนล์เพื่อหาทั้งปลาดุกและปลานิล ปลานิลเราจะกลับไปสอนให้เลี้ยงเป็น ส่วนปลาดุกเราจะเอามาประเทศไทย จากสถิติที่เคยสูง 180,000 ตอนนี้เหลือ 70,000 ดูว่าเราจะกลับไปที่ 180,000 ได้มั้ย ที่ ศ.ดร อุทัยรัตน์ พูดถึงไนจีเรียวันนี้ 300,000 ประชากร 23 ล้าน รองลงมา คือ ประเทศไทย ได้ 70,000 ท่านผู้เชี่ยวชาญบอกว่าไปต่อได้ เราก็เดิน เอาใส่มือหัวหน้าทีมเศรษฐกิจเรียบร้อย อูกันดา อันดับ3 บังคลาเทศ อันดับ 4 เราไปมาหมดแล้ว เราจะไปอียิปต์ต่อ และเขาพร้อมที่จะให้ความร่วมมือ นอร์ทโคเรีย การ์น่า
บทสรุป คือ เมื่อปลาดุกที่เราเลี้ยงแล้วมันไม่โต จะทำยังไงให้มันโต และนโยบายต่อไป คือ ทำให้มันถูกและดี ดีคือคุณภาพ ถูกคือจะคุมเรื่องอาหารอย่างไร วันนี้เราจะยกระดับคุณภาพปลาดุกให้มีในตลาดกลาง ตลาดสูง อันนี้แหละเป็นหน้าที่ของเราทุกคนในห้องนี้ จากนี้เราจะเดินต่ออย่างไร กระทรวงพาณิชย์จะรับไม้ ส่วนมหาวิทยาลัยเกษตรคณะบริหารธุรกิจดิฉันคุยไว้เรียบร้อยแล้ว จะรับไม้จากคณะวิทย์และคณะประมง กระทรวงพาณิชย์จะเป็นแกนทั้งนโยบายและงบประมาณสนับสนุน ขอขอบคุณทั้ง 2 ท่าน และภาคเอกชน ที่ให้สปอนเซอร์มา น้ำดื่ม น้ำส้ม ได้รับการสนับสนุนโดยคุณประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ประธาน TPI และท่านก็พร้อมให้การสนับสนุน
สายพันธุ์ปลาดุก
คุณวินิจ ตันสกุล ที่ปรึกษาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ บริษัท อะควาติกอินโนเวชั่น กล่าวว่า ขอพูดต่อในเรื่องเกิดอะไรขึ้นกับปลาดุกไทย สิ่งที่จะบอกว่าสถิติตัวเลขที่เกิดขึ้นจะบอกสิ่งที่เกิดขึ้นได้เรื่องการเลี้ยงปลาดุกของไทย ข้อมูลเชื่อถือได้จากกรมประมง โดยทางกรมประมงมีการพัฒนาตัวเลขขึ้นมาแล้วก็ทำเป็นแผนพัฒนาการเพาะเลี้ยงปลาดุกอีก 5 ปีข้างหน้า เป็นยังไงบ้าง เห็นว่าตัวเลขน่าสนใจก็เลยเอามานำเสนอให้ที่ประชุมได้รับทราบเพื่อเราจะได้เห็นทิศทางว่าคนที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมของปลาดุกมองทิศทางอย่างไรบ้าง ปลาดุกหลักๆ ก็มีอยู่ 2 สายพันธุ์ ก็มีปลาดุกท้องถิ่น (อุย, ด้าน) ปลาดุกต่างถิ่นก็จะเป็น(ดุกบิ๊กอุย ดุกเทศ) นี่เป็นข้อมูลของ FBO ประมาณปีที่แล้วแต่ว่าตัวเลขอาจจะดูห่างจากปัจจุบัน ปลาดุกอยู่ในอันดับที่ 15 ของสายพันธุ์ปลาน้ำจืดของโลก ในประเทศไทยในส่วนของน้ำจืด ปลานิลเป็นอันดับ 1 ถ้าดูจากชาร์ทจะเห็นมันลดลงไป
สภาพพื้นที่เลี้ยงปลาดุก
เรามาดูว่าคนเลี้ยงอยู่ที่ไหนบ้าง โดยมีการเก็บข้อมูลโดยให้เกษตรลงทะเบียนในหน่วยงานของกรมประมง ฟาร์มปลาดุกทั้งหมดปี 2566 มีอยู่ประมาณกว่า 8 หมื่นฟาร์ม ใช้พื้นที่เลี้ยงประมาณ 85,000ไร่ ผลผลิตประมาณ 97,000 ตัน มูลค่าตลาดประมาณ 5 พันล้าน ก็ถือว่าใช้ได้ ในส่วนนี้จะพบว่าในทั้งหมดที่ลงทะเบียนมีเป็นเลี้ยงยังชีพถึง 88% แล้วก็เป็นฟาร์มที่เลี้ยงในเชิงพาณิชย์ไม่เกิน 12% จะมีอยู่มากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เลี้ยงยังชีพค่อนข้างเยอะ เลี้ยงคนละบ่อ สองบ่อ แยกประเภทการเลี้ยง
ข้อมูลขึ้นทะเบียนเราพบว่าเลี้ยงในบ่อดินเป็นหลักประมาณ 48,000 ไร่ ในบ่อซีเมนต์ ในกระชัง ซึ่งการเลี้ยงในกระชังตอนนี้มีการพัฒนาสามารถยกตั้งบนบกได้ด้วย ผลผลิตประมาณ 67,000 ตัน สำหรับที่ขึ้นทะเบียน ส่วนที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนก็มีวิธีการเลี้ยงแบบพลาสติกธรรมดาง่ายๆ เพราะว่ารูปแบบบ่อพลาสติก อันนี้เป็นบ่อซีเมนต์มีสแลนคลุม ก็เป็นบ่อกระชังในแหล่งน้ำ อันนี้ก็นิยมมากในภาคอีสาน เลี้ยงง่ายๆ ก็เอาน้ำใส่มีพวกพืชน้ำคลุมไว้ไม่ให้ร้อน แต่ว่าเลี้ยงเยอะไม่ได้ ส่วนใหญ่เลี้ยงแบบยังชีพ มีขายบ้างในหมู่บ้าน ในชุมชน
ถ้าเราจำแนกฟาร์มเพาะพันธุ์ก็จะเหลืออยู่ในภาคกลางเป็นหลักและต่อไปภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ภาคกลางจะมีครบหมดตั้งแต่เพาะพันธุ์อนุบาล เลี้ยงตั้งแต่ลูกปลาจนมาลงบ่อดินได้ สังเกตว่าจะมีอยู่ในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือขึ้นไป ส่วนภาคตะวันออก ภาคตะวันตก ภาคใต้นี่ก็มีไม่มาก ประเด็นก็คือว่าส่วนใหญ่จะอยู่ที่ภาคกลาง แต่พอภาคอื่นมันจะเรื่องขนส่งจะแพง ความเสียหาย เพราะว่าแต่ละภาคที่เลี้ยงมันไม่พอ เพราะมันไปกระจุกอยู่ที่ภาคกลางเป็นหลัก ลูกปลามีส่วนหนึ่งก็ไปส่งออกมีข้อมูลจากด่านตรวจกรมประมงเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ปีที่แล้ว มีการส่งลูกปลาไปมาเลเซียประมาณ 56 ล้าน แล้วก็ไปลาว 42 ล้าน ปลานำเข้าจะเป็นปลามีชีวิตจากมาเลเซีย เป็นปลาดุกแอฟริกา ปลาดุกแช่แข็งนำเข้าจากจีน
ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายปลาดุก
ในเรื่องของการส่งออก ส่วนใหญ่เป็นปลาดุกแช่แข็งส่งออกมากสุด แล้วก็แบบมีชีวิต ส่วนแปรรูปมีน้อยมาก มูลค่าส่งออกรวมประมาณ 50 ล้านบาท จากมูลค่าในการเลี้ยงอยู่ 5พันล้าน การส่งออกปลาดุกมีชีวิตไปเพื่อนบ้านเรา ไปลาว พม่า กัมพูชา ในส่วนส่งออกของปลาดุกแช่แข็งส่วนใหญ่ก็จะไปทางตะวันออกกลางที่ไปอาหรับอิมิเรท ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เกาหลี รัสเซีย ส่วนใหญ่จะเป็นตะวันออกกลางเป็นหลัก ไปยุโรปก็มี ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร สิงคโปร์ก็มีบ้าง ในการเลี้ยงจะบ่นว่าต้นทุนมันสูง กรมประมงได้ทำการศึกษา พบว่าส่วนใหญ่แล้วต้นทุนปลาดุกก็อยู่ประมาณ 30 กว่าบาท พวกปลาที่เกี่ยวกับปลากินพืชต้นทุนก็อยู่ประมาณ 25 ถึง 30 กว่าบาทขึ้นไป ซึ่งบางครั้งราคาก็อาจจะเป็นแพงกว่าต้นทุนก็มี จึงทำให้เกษตรกรไม่ได้รับผลตอบแทนที่ดีหรือถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้นก็ขาดทุน ตลาดกลางก็อยู่ที่ตลาดบางปะกง หมายถึงว่าทุกจังหวัดเวลาอยากจะขายก็จะมาตลาดกลางตรงนี้กัน
ภาพรวมของปี 65 ที่ผ่านมา อยู่ประมาณ 97,000 ตัน เรานำเข้า 500 ส่งออก 950 หักแล้วเหลือบริโภคในประเทศ 96,000 ตัน ถามว่าเพียงพอกับคนไทยมั้ย โชคดีที่ว่าคนไทยมีปลาหลายประเภทให้บริโภค แต่ก็สามารถเพิ่มการผลิตได้โดยเฉพาะพวกเลี้ยงยังชีพ เราสามารถให้ความรู้ การส่งเสริมเข้าใจว่าเลี้ยงอย่างไรให้มันยั่งยืน สุดท้ายคือความท้าทายของเราที่จะต้องแก้ต่อจากข้อมูลทั้งหมด ต้นทุนไม่ใช่แค่ปลาดุก แต่วันนี้ต้นทุนการเลี้ยงสัตว์น้ำทุกอย่างมันแพงขึ้นหมด แล้วก็ยิ่งเลี้ยงแน่นมากยิ่งใช้อาหารมาก ต้องเปลี่ยนอาหารที่มันถูกลง พออาหารถูกลงบางทีคุณภาพอาหารที่ถูกลงไม่ใช่ว่าดีนะ บางทีมันถูกลงมันไม่ดีขึ้นมาแก้ปัญหาอีก ปัญหาเรื่องการเกิดโรคความเสี่ยงเรื่องโรคเยอะแยะไปหมด ต้นทุนอาหารหลักของปลาดุกคิดเป็น 61% จากการคำนวณของกรมประมง ก็สูงมาก เพราะฉะนั้นเราจะต้องมานั่งพิจารณาตรงกันเรื่อยๆ เพื่อให้ต้นทุนถูกลง แล้วก็แหล่งลูกพันธุ์ก็อยู่ในภาคกลางทำให้มีราคามันก็ค่อนข้างสูงที่จะขนส่งไปยังภาคอื่น การแนะนำให้เลี้ยงควรมีกำหนดรูปแบบการเลี้ยงแบบไหนไม่ให้แน่นเกินไป โตช้าและน้ำเสีย การแปรรูป ก็เน้นเป็นของฝาก ปลาดุกแดดเดียว ก็ต้องมีการส่งเสริมตรงนี้ทำตลาดได้ดีขึ้น
การอนุบาลลูกปลาดุก
คุณสำเนา เกาะกาเหนือ เจ้าของสำนาพันธุ์ปลา อาชีพหลักก็คือ เพาะเลี้ยงและอนุบาลลูกปลาดุก เริ่มต้นกิจการก็เมื่อปี 2540 ก็เพาะและอนุบาลลูกปลาส่งมอบลูกค้า ก็ประมาณ 120-150 ล้าน/ตัว/ปี สิ่งหนึ่งที่ต้องขอพูดวันนี้ คือ ขอบคุณนักวิชาการทุกท่านที่พัฒนาและคิดค้นแนวทางในการเพาะเลี้ยงลูกปลาดุก ทำให้เกษตรกรนำไปพัฒนาได้เร็วขึ้น ต่อยอดได้เร็วขึ้น ณ วันนี้มีโอกาสได้เจออาจารย์ท่านแรกที่นำวิชาการของท่านไปพัฒนาและปรับปรุงรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง
ดร.อุทัยรัตน์ ผมได้ตำราของท่านเล่มแรกที่เขียนวิธีการเพาะเลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุย ซึ่งผมก็ทำปลาดุกบิ๊กอุยเป็นหลัก ก็จริงๆ แล้วเราก็เลี้ยงลูกปลาดุกมาเรื่อยๆ ไม่ค่อยมีปัญหาอะไร แต่สิ่งที่เราเป็นคนเพาะและอนุบาลลูกปลา เราต้องคิดนำมาตลอดว่าลูกค้า และคนที่เราต้องให้ความสำคัญก็คือ คนที่รับช่วงต่อจากเราไปเลี้ยง ทำยังไงก็ได้ให้สินค้าเรามีคุณภาพดีที่สุด คนที่ไปเลี้ยงต่อ เลี้ยงง่าย โตเร็ว ไม่เป็นโรคง่าย เราก็คิดอยู่ตลอดว่าเรื่องเลือดชิดน่าจะสำคัญอย่างที่ท่านด็อกเตอร์พูดมา
การเพาะพันธุ์ปลาดุก
การแก้ไขในเบื้องต้นก่อนปี 2558 ก่อนที่เราคิดว่าเลือดชิดเราแก้ไขได้ไม่ยาก ที่ทำอยู่คือการสร้างครอบครัวที่ดี ครอบครัวที่สวย ผมก็คัดพ่อแม่พันธุ์ที่มีลักษณะดี มีความแข็งแรง อายุงานก็ 2 ปีขึ้นไปมาเป็นพ่อพันธุ์ต่อเชื้อ เราคิดว่ามันคงแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง แต่มันก็ยังแก้ได้ไม่มาก มาสักประมาณปี 2561 เริ่มเกิดปัญหาในการเพาะเลี้ยงและอนุบาลลูกปลาดุก จากที่เคยมีความแข็งแรงสูง เห็นปลาขึ้นน้ำหรือปลาขึ้นมาผิวน้ำบนอากาศ มองเห็นตัวเลขเงินได้ แต่ ณ ปัจจุบันหลังจากปี 2561 มาถึงใกล้จับยังมีโอกาสตาย คือ ไม่ตายธรรมดา ตายยกบ่อ ถ้าตายลักษณะนั้นเกษตรกรอยู่ไม่ได้ เพราะต้นทุนทุกอย่างลงไปที่นั่นหลายแล้ว ต้นทุนไม่ต่ำกว่า 100,000 บาท ต่อการอนุบาล 1 รอบ 2 ไร่ อนุบาลลูกปลา 1 ล้านตัวเนี่ย 100,000บาท ไม่ขาดต่อบ่อ ถ้าเป็นเกษตรกรที่ไม่มีทุนหรือทุนน้อยนี่สามารถหายไปจากวงการอาชีพนี้ได้เลย
สิ่งที่เราคิดแล้วก็ทำมาแล้วก็พยายามสรรหาก็คือตามพ่อพันธุ์ที่อายุเยอะที่สุด เพราะว่าก่อนปี 2558 มายังไม่มีปัญหาในการเลี้ยงลูกปลา เลี้ยงมานี้ขึ้นน้ำเห็นตัวเห็นตังค์ เราก็ไปตามอายุพ่อพันธุ์ที่อายุเยอะมาเป็นพ่อพันธุ์มาตลอด โดยแก้จากปัญหาเรื่องที่สร้างจากครอบครัวที่ดี แก้มาก็ได้ในระดับหนึ่งก็คือเยอะแต่ยังไม่เยอะจริง แต่ ณ ปัจจุบันเราก็เก็บมาได้พ่อพันธุ์ที่เกิดเมื่อปี 2548 ไปตามเก็บมาได้สืบจากประวัติการเพาะเลี้ยง ได้มา 2 ตัว เอาไปต่อยอดต่อเชื้อแม่พันธุ์ที่ใช้ปัจจุบันนี้ เริ่มใช้เมื่อเดือนสิงหาคมของปีที่แล้ว เกษตรกรนำไปเลี้ยงหลายๆ ราย
แม้กระทั่งบริษัทใหญ่อย่างเบทาโกรที่เราเป็น supplier แต่ไม่ได้เป็น supplierโดยตรง ผ่านคนกลางอีกทีที่อุบลราชธานี น้องท็อปที่อยู่เบทาโกรก็เอาไปเลี้ยง เราก็สอบประวัติว่ากี่เดือนจับได้อะไรนั้น แล้วก็เกษตรกรหลายๆ รายที่เรานำชุดนี้ไปให้ก็ผลตอบรับได้ดี ก็ประมาณ 4 เดือน แล้วก็ทนต่อโรค แต่ส่วนพ่อพันธุ์ตัวที่ 2 ไม่รอด บางคนถามว่าทำไมไม่รอดในเมื่อเขามีความแข็งแรง ไม่รอดเพราะไปกินเพื่อนหิวตัวเท่าแขนอยู่ที่กระเพาะอาหารพ่อพันธุ์ตัวที่ 2 ที่ตามมาได้เสร็จ แต่ข้อด้อยของพ่อพันธุ์ชุดนี้ขออนุญาตเรียกว่าตัวแรกเป็น F1 ชุดที่ 2 คือ F2 นี่ยังมีสัญชาตญาณความดุร้ายอยู่ยังจะกินกันเองสูง เพราะว่าสัญชาตญาณป่าเขายังค่อนข้างเยอะ แล้วก็ F3 ชุด ณ ปัจจุบัน ชุดนี้ดีมาก อัตราเพาะฟักก็ดี ไม่ค่อยกินกันเอง จะกินแต่อาหารที่เราไปให้
สิ่งที่เราสังเกตได้คือ อาหารสำเร็จรูปที่เรานำมาใช้ อย่าคิดว่าอาหารถูกแล้วดีนะ อาหารดีมีผลต่อการเพาะเลี้ยงและอนุบาล อาหารที่คุณภาพสูง ปลาดุกเป็นปลาที่ไว ประสาทสัมผัสไวมาก จะกินอาหารที่มีคุณภาพสูงก่อนเท่านั้น ถ้าอาหารคุณภาพไม่สูงเขาไปกินกันเอง หรือให้อาหารไม่พอเขาจะกินกันเอง ทีนี้จะเกิดปัญหาในการเพาะเลี้ยงทันทีก็คือ ตัวที่เคยกินเพื่อนจะไม่กินอาหารเลย จ้องจะไปกินเพื่อนอย่างเดียว ถ้าเป็นสัญชาตญาณของบิ๊กอุยหรือรัสเซียจะจ้องกินเพื่อนอย่างเดียว ซึ่งเราก็ฝากไปยังผู้ประกอบการที่ผลิตอาหาร ผลิตอาหารที่มันชวนกิน คุณภาพสูงประมาณนั้น สูงเราไม่กลัวเพราะจับแลกเนื้อออกมาแล้วทุกคนรู้ว่าหมดอาหารกี่กิโลกรัม ได้ปลากี่กิโลกรัม ค่าอาหารเป็นเงินเท่าไหร่ ต้นทุนขายเท่าไหร่ ทุกอย่างคือกำไรหรือต้นทุนทั้งนั้น
ส่วนที่อยากจะฝากก็คือ เรื่องเลือดชิด แล้วพ่อพันธุ์คุณภาพดีที่เราจะนำเข้ามา สังเกตมาหลายๆ ปีแล้ว ที่เขาเป็นเอเลี่ยนสปีชีส์ สำหรับปลาดุกเป็นไปได้ยาก เพราะว่า 1.ด้วยรสชาติของเนื้อเขาเป็นที่ต้องการของเอเลี่ยนสปีชีส์ที่มีศักยภาพสูงกว่า เช่น ปลาช่อน ปลาชะโด ปลาแมงภู่ พวกนี้พอเขาไปอยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติเขาจะโดนปลาพวกนี้จ้องมากกว่า จากการจับสังเกตของพวกผมที่เป็นเกษตรกรหรือเกษตรกรพื้นบ้านเวลาวิดจับปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติจะไม่เจอปลาดุกบิ๊กอุยหรือปลาดุกรัสเซียเลย ส่วนมากจะเจอแต่แค่ปลาดุกพื้นบ้าน พฤติกรรมการกินของปลาดุกรัสเซียและปลาดุกบิ๊กอุย ถ้าวางไข่ออกมาเมื่อไหร่ถ้าไม่มีคนไปบริหารจัดการเขาจะกินไข่ตัวเอง โดยธรรมชาติทั้งคู่ทั้งที่บิ๊กอุยและรัสเซีย คุณภาพของการเลี้ยงลูกปลา คือ คุณภาพของอาหารและก็น้ำ ปัจจัยหลักก็คือน้ำ
การบริหารจัดการบ่อปลาดุก
จะเล่าประสบการณ์ก็คือ ที่ฟาร์มบริหารจัดการน้ำด้วยการไม่ปล่อยน้ำสู่แหล่งน้ำสาธารณะ น้ำที่เลี้ยงปลาดุกจะนำกลับมาใช้ใหม่ทั้งหมด รีไซเคิลใหม่ทั้งหมด พื้นที่นครนายกจะเป็นพื้นที่ดินเปรี้ยว ถ้าน้ำที่มีตะกอนมากผ่านน้ำที่มีความเปรี้ยวจะตกตะกอนได้เร็วภายในไม่กี่ชั่วโมง ตกตะกอนแล้วแต่ก่อนน้ำที่เราจะปล่อยไปสู่ดินน้ำดินเปรี้ยว การเลี้ยงปลาดุกโดยธรรมชาติของเราจะเกิดแพลงค์ตอนพืชที่ค่อนข้างเยอะ ถ้าปล่อยไม่มีการบำบัดมันก็จะเน่าในอนาคต ที่ฟาร์มเขาจะปล่อยปลากินพืชเป็นหลักไม่ว่าจะเป็นปลาทุกชนิด สูบน้ำออกจากบ่อเลี้ยงปลาดุกผ่านบ่อเลี้ยงปลากินพืชพวกนี้แหละ ให้ปลากินพืชกินแพลงค์ตอน หลังจากที่กินแพลงค์ตอนเสร็จมันก็ยังขุ่นอยู่ยังไม่ใส ใช้กระบวนการสูบน้ำขุ่นผ่านน้ำที่มีบ่อดินเปรี้ยวในน้ำขุ่นที่เราปล่อยออกไปมันก็มี pH สูงขึ้นมาอีกประมาณ 7-8 หรือ 8 กว่าๆ เกือบ 9 พอไปถึงน้ำที่มีค่าความเป็นกรดน้ำเปรี้ยวก็จะบาลานซ์กัน ก็นำกลับมาใช้ใหม่ได้ แต่ข้อดีของน้ำ pH สูงที่ออกไปมันก็จะมีเชื้อโรคปะปนอยู่เล็กน้อย แต่พอไปผ่านน้ำเปรี้ยว เชื้อโรคไม่สามารถเจริญเติบโตได้ในน้ำที่มีความเป็นกรด ผ่านออกมาก็เหมือนเราฆ่าเชื้อไปในตัว ซึ่งเป็นการลดต้นทุนในการผลิตที่ค่อนข้างเหมาะสมสำหรับคนนครนายก ก็เลยเป็นพื้นที่อนุบาลลูกปลาดุกคิดว่ามากที่สุดในประเทศไทย
ฟาร์มเจ๊แมว กล่าวว่า ผมก็เลี้ยงคู่มากับพี่สำเนา ปัญหาก็คือปลาพ่อพันธุ์มีปัญหาเยอะ ผมก็เอาพ่อพันธุ์มาจากพี่สำเนา ก็ฝากตรงนี้ไว้ว่าถ้าเอาเข้ามาจากแอฟริกาได้ก็จะดี เพราะว่าผมดูแล้วของเขามันยังใหญ่ ตัวใหญ่ และยังดีเยอะกว่าของเรา ปีนี้พ่อพันธุ์ยังหายากเลย
คุณสำเนาให้ความเห็นว่า ขออนุญาตเสริมถ้าทางกรมประมงอนุญาต ซึ่งเรารู้ว่าเป็นเอเลี่ยนสปีชีส์ แต่ถ้าเราก็พยายามติดต่อผู้ประกอบการที่อยู่ไนจีเรีย ซึ่งอยู่ในลุ่มแม่น้ำทั้ง 3 สาย เก็บพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ ไว้ในอนาคต เพราะเราจะพยายามอย่างสุดความสามารถเพื่อที่จะเอาเข้ามาให้ได้ให้ถูกต้อง เราจะไม่ลักลอบ เรามีเกษตรกรที่เป็นคู่ค้าเราอยู่ เขาทำธุรกิจปลาสวยงามอยู่ เขาสามารถนำเข้ามาให้เราได้ ตอนนี้เขาไปเก็บจากแม่น้ำทั้ง 3 สายเลย สายละประมาณสัก 40 ตัว ก็มีอยู่ตัวเท่าประมาณ 1 กก.
แล้วตอนนี้ถ้าทางกรมประมงอนุญาตเราสามารถนำเข้ามาได้ภายในปีนี้ ผมให้เขาเลี้ยงไว้ให้แล้วจะปรึกษาทุกภาคส่วน เอาชุดนี้เข้ามาให้ได้ยังไง โดยให้เราถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งคนที่ทำธุรกิจอยู่คนนี้เป็นคนสิงคโปร์ทำอาชีพปลาสวยงาม แล้วก็มีเพื่อนที่เป็นไนจีเรียอยู่หลายคน ปลาดุกบิ๊กอุยเราเป็นที่ต้องการของไนจีเรีย เขาบอกว่ารสชาติเนื้อของเราดีกว่าเขาเยอะ โดยศักยภาพของแม่พันธุ์พื้นเมืองปลาดุกอุยของเรา ความน่าทานของเราจะมีมากกว่า
ผู้ดำเนินการสัมมนากล่าวว่า ตอนแรกผมมีความคิดเหมือนๆ พี่สำราญ เราหาทางลักลอบเข้ามาซึ่งมันไม่ถูก ถึงแม้ถ้าอนุญาตให้ถูกก่อนแล้วไปหยิบผิดหรือหยิบถูกเพราะเราไม่เห็น เราดูจากลักษณะภายนอก เราดูจากพันธุกรรม เรามีนักวิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพอยู่ที่นี่แล้ว ทางหัวหน้าโครงการมีความตั้งใจทำจริง ต้องไปแผนที่พันธุกรรม แล้วเอาไปตรวจหาในแหล่งน้ำที่ไนจีเรีย แอฟริกา เพื่อที่จะหยิบให้มันถูก ส่วนที่คุณสำเนาที่พูดว่าลูกปลาถ้าทำลูกไม่ดี คนไปเลี้ยงก็ไม่รอด อันนี้ก็ต้องหาทางแก้ปัญหาต่อไป ขอเชิญทางด้านแฮชเชอร์รี่ของอาจารย์ปูเป้ก็เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่อยู่ที่สกลนคร ก็อาจจะมีระเบียบแบบแผน แลกเปลี่ยนกันฟังว่าทางมหาวิทยาลัยมันมีวิธีในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างไรบ้าง ขอเชิญครับ
ปัญหาและอุปสรรคการเลี้ยงปลาดุก
ผศ.ดร.เกตุนภัส ศรีไพโรจน์ หรือ อาจารย์ปูเป้ กล่าวว่า ตนเป็นอาจารย์อยู่ที่คณะทรัพยากรและอุตสาหกรรมเกษตร จะทำงานกับปลาดุกอุยเป็นส่วนใหญ่ ที่ดูฟาร์มที่สกลนคร มีโอกาสอาจารย์กั้งก็เชิญเข้ามาร่วม ก็จะรับผิดชอบในเรื่องของการหาพ่อแม่พันธุ์ปลาดุกอุยธรรมชาติ จริงๆ ตอนที่เราเริ่มทำปลาดุกอุยธรรมชาติก็เจอปัญหาเยอะ ที่ฟาร์มเก็บปลาดุกอุยมาตั้งแต่ปี 59-60 เก็บแล้วก็รอบแรกเราเจอปัญหาน้ำท่วมใหญ่สกลนครปลาก็ไปหมดเลย รอบที่ 2 เราเจอปัญหาพอดีมีความผิดพลาดทางเทคนิคเด็กๆ ก็ทำปัญหาพิเศษแล้วมันมีเชื้อปนไป ก็ภายใน 3 วัน ก็ยกบ่ออีก ก็เป็นความยากที่เราทำงานกับปลาป่า ก็คือปลาที่เราเอามาจากธรรมชาติ เราต้องมาปรับสภาพเขาใช้เวลานาน
รอบแรกที่เราเพาะปลาผอมมากเลย คือ ไม่กินอาหาร ก็ปรึกษากรมประมงเราต้องเริ่มตั้งแต่การไปขนพ่อแม่พันธุ์ เวลาที่เราขนพ่อแม่พันธุ์หรือเราไปเอาปลาป่ามา มันจะเกิดการสูญเสียเยอะเรื่องของการขนส่งด้วย การขนส่งปลาตามหลักการที่เราเรียนมา เราก็บอกว่าเราต้องไม่อัดแน่นมากให้มันหลวมๆ แต่กับปลาดุกคนที่เขาส่งมาประจำเขาบอกเลยว่าเราต้องใส่ปลาไปประมาณ 10 กิโล ปลาขนาดประมาณ 1-2 ขีด ก็คือ ประมาณ 80 ตัวประมาณนั้น ก็จะเกิดบาดแผลน้อย
แล้วพอเราเอามาที่ฟาร์ม สิ่งที่เราได้เรียนรู้ก็คือว่าเราเอามาปล่อยบางๆ หลักการอย่ากลายเป็นว่าบ่อที่ปล่อยบางมันยักกันแล้วมันเป็นแผล อันนี้ก็เป็นอะไรที่เราต้องเรียนรู้ในการจัดการกับปลาป่ากับการขนส่งก็ต้องอัดเพื่อไม่ให้มันทำร้ายกัน สัตว์น้ำมันมีความหลากหลายมากกว่าสัตว์บก บางครั้งหลักการที่เราเรียนมามันอาจจะไม่ได้แบบเป็นนี้กับทุกปลา อย่างปลาดุกก็จะมีอวัยวะช่วยหายใจก็จะทน ก็เป็นข้อดีที่จะทนความโหดร้ายได้มากกว่าปลาชนิดอื่น อันนี้ก็เป็นฟาร์ม การที่อยู่ทีมวิจัยเราก็ได้ตกตะกอนความรู้อะไรหลายๆ อย่าง ก็คงจะพูดเป็นภาพรวมในฐานะผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
การที่เราจะประสบความสำเร็จและก็ยั่งยืนสุดท้ายเรื่องของสิ่งแวดล้อมอันนี้เป็นสิ่งสำคัญ เราต้องไม่ลืมที่จะกลับมาในเรื่องของสิ่งแวดล้อมเพราะว่ามันก็เป็นห่วงโซ่วนกลับมากันหมด ทีนี้ที่อาจารย์ใส่สีส้มอะไรเอาไว้ในสไลด์ก็คือคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญที่เราน่าจะต้องทำงานกันก่อน เราพูดกันเยอะเรื่องของพันธุ์ พอพูดถึงเรื่องของพันธุ์เราก็จะมีประชากรธรรมชาติแล้วก็ประชากรโรงเพาะฟัก สิ่งหนึ่งที่สำคัญมากซึ่งเห็นเยอะมากเลยอันนี้เรื่องของการปล่อยปลา อาจจะเป็นเรื่องที่หลายๆ ท่านอาจจะไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วมันมีผลกระทบมาก
ซึ่งงานของอาจารย์ก็ศึกษาพิสูจน์ออกมาแล้วว่ามันมีการปนเปื้อนทางพันธุกรรมรู้สึกจะเป็นปลาดุกยักษ์ ปลาดุกธรรมชาติ อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งเราก็ทำเรื่องพวกนี้มานานมากแล้ว ไม่เคยมีการศึกษากันต่อเนื่องว่าปลาดุกอุยในธรรมชาติพันธุกรรมมันเปลี่ยนไป เพราะว่าเมื่อก่อนเราก็ไม่มีเทคโนโลยีทาง DNA ทางที่มันไฮเทคเหมือนสมัยนี้ ก็ถือเป็น Step แรกของโครงการที่เราต้องเริ่มศึกษาความหลากหลายทางพันธุกรรมของปลาดุกอุยด้วยว่าปลาดุกอุยแต่ละแหล่งมันมีพันธุกรรมอย่างไร
ซึ่งทีมก็เริ่มได้ผลมาบ้างบางส่วน แล้วก็จะมีงานของอาจารย์ปูเป้ทำตั้งแต่ปี 61 ตอนนั้นเราทดลองเอาปลาดุกลงโรงเพาะฟักกับสายพันธุ์ธรรมชาติที่หนองหาร ก็มาผสมข้ามกันมันก็ชัดเจน ปลาที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์โตเร็วดีกว่ามากเลย ในขณะที่ปลาป่าที่เอามาจากหนองหารแม้ว่าเราจะผสมแล้วและได้ลูกมาเค้าจะไม่ค่อยยอมรับอาหารสำเร็จรูป การกินปลาที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์แล้วก็ลูกผสมระหว่างธรรมชาติก็จะสู้ปลาที่มาจากโรงเพาะฟักไม่ได้ เพราะฉะนั้นเรื่องของพันธุกรรมของประชากรธรรมชาติก็เป็นเรื่องใหญ่ที่เราควรจะต้องตระหนักถึงเรื่องพวกนี้กันด้วย
ส่วนประชากรโรงเพาะฟักก็สายพันธุ์ของปลาดุกอุยก็มีการคัดพันธุ์ งานที่ท่านอาจารย์อุทัยรัตน์ได้เสนอเล่าให้ฟังเมื่อเช้าก็จะเป็นลักษณะของปรับปรุงพันธุ์โดยใช้ Mass Selection ก็คือปลาตัวไหนที่มันโตดีเราก็ไปหยิบเอามา งานด้านปรับปรุงพันธุ์มันเป็นงานที่ต้องใช้เวลา มันไม่ใช่แบบว่าแป๊บๆ แล้วเราจะเห็นผล ปลาบางชนิดที่เขามีวงจรชีวิตยาวๆ บางที 20-30ปีกว่า มันจะเห็นแบบเป็นรูปธรรมใหญ่ๆ แต่ว่าแมสคือมันอาจจะเร็ว แต่ว่าสิ่งที่ตามมามันอาจจะมีปัญหาเรื่องเลือดชิดอันนี้ที่เราเจอ
เพราะฉะนั้นปัจจุบันนี้ถ้าพูดถึงปลาดุกอุยเราก็ยังไม่ได้มีสายพันธุ์เฉพาะสำหรับการเพาะเลี้ยงถ้าเทียบกับปลานิล เรามีจิตรลดา 1 จิตรลดา 2 จิตรลดา 3 หรือทางบริษัท มานิตย์ ก็ทำสายพันธุ์ปลานิลที่ชัดเจน ซึ่งเราก็เห็นผลว่ามันเลี้ยงแล้วโตดีกว่าจริงๆ เพราะฉะนั้นอย่างปลาดุกอุยเราก็ยังไม่มีที่ชัดเจนสำหรับโรงเพาะฟัก โดยธรรมชาติปลาโรงเพาะฟักมักเจอปัญหาเรื่องของเลือดชิดอยู่แล้ว ถ้าเราไม่ได้มีการจัดการดีๆ มันก็จะเจอเรื่องพวกนี้ มันก็จะเกี่ยวพันกับเรื่องของประชากรตั้งต้นที่เราใช้
ทีนี้อยากให้ดูภาพนี้นิดนึงพอดีเมื่อเช้าเราคุยกันเรื่องของปลาดุกยักษ์ที่ว่ามันมีปัญหาเรื่องน้ำเชื้อจะบอกว่าในปลาดุกอุยก็เจอเหมือนกัน ตอนที่ทำงานวิจัยเมื่อปี 61 สิ่งที่เราพบคือ ในปลาโรงเพาะฟักเราจะเจอถุงน้ำเชื้อที่มันไม่สมบูรณ์ มันจะเป็นสีแดงๆ ไม่มีพูขาว ส่วนปลาธรรมชาติเราก็เจอถุงน้ำเชื้อแต่มันใหญ่กว่า พยายามเก็บค่า GSI ทั้ง 2 กลุ่ม เพื่อพยายามเปรียบเทียบ แต่เราก็ไม่เจอ อีกอันนึงที่เราเจอในบ่อเรา แต่ไม่แน่ใจว่าของเกษตรกรเจอบ้างมั้ย คือ เป็นปลาที่เราเก็บไว้ในบ่อ เราก็จะเจอปลาพวกนี้ในกลุ่มที่เกิดจากโรงเพาะฟัก คือ เราไม่ได้แยกเพศผู้ เพศเมีย แล้วเราเจอแบบนี้เยอะ แต่ว่าในบ่อธรรมชาติจะไม่ค่อยเจอเท่าไหร่แต่มีบ้าง อันนี้เป็นเรื่องของคุณภาพน้ำ
เมื่อกี้เราพูดถึงพันธุ์ไปเรียบร้อยแล้ว ต่อไปเรื่องของคุณภาพน้ำ อันนี้สำหรับภาคอีสานจะเจอปัญหาเรื่องของคุณภาพน้ำ ถ้าเทียบกับภาคกลางเราจะมีต้นทุนที่ไม่ดีเท่าภาคกลางเรื่องของความเป็นด่าง อันนี้เป็นข้อมูลจากการที่ทำงานในพื้นที่ 5 จังหวัด แล้วก็ไปสำรวจอันนี้เราเจอเลยความเป็นด่าง 17 หรือแค่ 2 หยด 34 ก็คือ ถ้าเทียบกับภาคกลางแล้วเราจะไม่สู้ ภาคอีสานจะเจอปัญหาเรื่องพวกนี้เยอะแต่ว่าคุณภาพน้ำ อ.ปูเป้ คิดว่าเราปรับปรุงได้ มันสามารถที่จะจัดการได้ง่ายหรือใช้เวลาไม่ได้นานเรื่องเท่ากับเรื่องของการปรับปรุงพันธุ์หรือว่าปัจจัยอื่น แต่ว่าอันนี้ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่อาจจะทำให้ผลผลิตเราไม่ได้ดีมากนัก
อันนี้ก็เป็นปัญหาที่เราเจอในภาคอีสาน เรื่องของความเป็นด่าง ความกระด้างต่ำ ส่วนหนึ่งก็เลยอาจจะทำให้ปลามันไม่ได้โตดีเท่ากับภาคกลาง เรื่องของการเตรียมบ่อมันก็จะไปพ่วงกับเรื่องของสิ่งแวดล้อมด้วยที่ตัวเองรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่ต้องตระหนักถึง อันนี้เป็นบ่อที่เราเคยเลี้ยงปลาดุกยักษ์โตเร็วมาก 2-3 เดือน ก็เก็บได้แล้ว แต่ว่าสิ่งที่ตามมาที่เป็นปัญหากับเราก็คือ เรื่องของพื้นบ่อที่เราจะเจอพวกไฮโดรเจนซัลไฟด์ หลังจากที่เราไม่ได้เลี้ยงปลาดุกแล้วเราเอาบ่อนี้ไปเลี้ยงปลาอื่น เราก็จะเจอเรื่องของปัญหาไมโครซิสทีฟอะไรพวกนี้ก็เป็นอีกเรื่องที่เราต้องตระหนัก
เรื่องของความปลอดภัยของผู้บริโภคถึงแม้ว่าตัวเองก็พยามยามหาข้อมูลว่ามันมีผลกระทบอะไรมั้ยที่เกิดไมโครซิสทีฟหรือที่แพลงค์ตอนมันสร้างขึ้นแต่เราก็ยังไม่เจอแต่เรา รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่เราก็ต้องตระหนักด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อมหรือพื้นบ่อ เพราะการเลี้ยงปลาดุกว่าจะมีสารอินทรีย์สะสมเยอะ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เราอาจจะต้องตระหนักถึง อันนี้เป็นผลกระทบเรื่องของพันธุ์ เรื่องของน้ำที่เราอาจจะเจอเรื่องอัตรารอดต่ำ ปลาโตช้า เลี้ยงนานขึ้นทั้งหมด แล้วก็อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญก็คือ เรื่องของอาหาร ซึ่งจริงๆ มันก็ต้องเริ่มตั้งแต่พ่อแม่พันธุ์เลย พ่อแม่พันธุ์ก็ต้องมีอาหารที่มันเหมาะสม แต่จริงๆ แล้วเรื่องที่ถุงน้ำเชื้อมันไม่สมบูรณ์ มันก็อาจจะมาจากอาหาร เราก็อาจจะต้องไปศึกษาเรื่องของอาหารด้วยเช่นเดียวกัน แล้วก็ปัญหาเรื่องของอาหารปลาวัยอ่อน ตอนที่เราทำแล้วไรแดงไม่พอ เราก็พบว่าอัตรารอดมันก็ต่ำตอนที่เราให้ปลากินอาหาร
เพราะฉะนั้นเรื่องของปริมาณและคุณภาพด้วยไรแดง เราต้องทำไรแดงให้มันเพียงพอ เพราะถ้าไม่เพียงพอเราก็ต้องไปเอาไรแดงจากแหล่งน้ำอื่นๆ เช่น ในบ่อน้ำเสีย ก็ต้องทำความสะอาดให้ดีก่อนไม่งั้นจะเกิดปัญหาเรื่องของปลาที่เคยได้ยินกันว่าตัวปลิวไรอย่างนี้ ซึ่งทางเบทาโกรได้มีการเก็บข้อมูลพวกนี้แล้วก็พบว่าเจอปัญหาในเรื่องของเชื้อบิดและมันทำให้ปัญหาอัตรารอดของลูกมันน้อยลง ในเรื่องของปลาวัยอ่อนก็สำคัญ พอปลาไซส์ตลาดอันนี้สำคัญเรื่องของต้นทุนค่าอาหารที่เป็นปัญหากับพวกเราทุกคนเพราะฉะนั้นการหาแหล่งวัตถุดิบอื่นทดแทน
ปลาป่นก็ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ ก็ประมาณนี้สำหรับประสบการณ์ในเรื่องปลาดุกอุย
ผู้ดำเนินรายการ กล่าวว่า ผมได้มีโอกาสไปสกลนคร ไปเจอท่านอาจารย์จิระศักดิ์ ทางทีมผู้บริหารเบทาโกรดูแลเราอย่างดี ตอนนั้นเขาให้มาบริหารสมาคมพอดีเรามีเป้า แล้วเป้านี้เราตั้งก่อน แต่ว่าเราทำในเชิงบูรณาการได้ว่า 1.เราจะทำ ม.เกษตรศาสตร์ที่กำแพงแสนเป็นแหล่งพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ปลาดุกของประเทศไทย ส่วนสกลนครเป็นแหล่งปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์ปลาดุกอุยของประเทศไทย ซึ่งถ้าเราบูรณาการกรมประมงมาช่วย ภาครัฐสนับสนุนเรื่องทุนภาคเอกชนหรืออย่างทางที่พี่ปุ๊กบอกว่า ทางกระทรวงพาณิชย์เนี่ยก็อาจจะเห็นว่า 1 Mission ของปลาดุก ถ้าเราได้ทุนนักวิจัยเค้าทำงานง่าย
ซึ่งผมตอบเลยว่าทางน้องๆ ไม่ได้หยุด บอกพี่หาทุนมาพัฒนาโครงการ ตอนนี้เราก็เข้าแหล่งทุนเป็นข้อเสนอก็รอ ถ้าเขาอนุมัติทางเรา ทางคณะวิทยาศาสตร์ ก็จะไปหาแหล่งพันธุกรรมของปลาดุกแอฟริกันในทวีปแอฟริกา แล้วก็นำมาใช้งานวิจัยจะทำให้เร็วขึ้น เดี๋ยวขอเชิญคุณออย ตอนนี้ก็คือผู้ใช้ลูกพันธุ์ที่ดี ถ้าไม่ดีทางนี้ก็เดือดร้อน
การเลี้ยงปลานิล และ ปลาดุก
ออยฟาร์มปลาดุกหนองคาย กล่าวว่า ผมเป็นผู้เลี้ยง เป็นเกษตรกร แล้วก็เป็นคนขายให้เป็นเกษตรกร วันนี้ผมจะมาเกาให้ถูกที่คันเลย ผมมองว่าวันนี้ความยั่งยืนทางด้านอาหารถึงโรยแล้ว เพราะเกษตรกรอายุเฉลี่ย 55 ปีโดยประมาณ บวกลบเกษตรกรยุคใหม่ไม่เลี้ยงแล้วไม่กลับมาทำแล้ว อยากเป็นอะไร อยากเป็น youtuber ผมได้เป็นนักพูดอย่าง ม.อุบล ม.ขอนแก่น บอกเลยว่าถ้าน้องเรียนประมงมีแค่ 18 คน อีก 10 ปี น้องจะรวย ถามว่าจริงหรือทำไมถึงรวย คนที่ 55 อีก 10 ปี อายุเท่าไหร่ แล้วต่อไปคนเลี้ยงก็ต้องน้อยลง การแย่งอาหาร ซัพพลาย ดีมานด์ มีแน่ๆ วันนี้คนเลี้ยงและคนขายเราจะให้คนกินๆ อย่างไรให้รู้สึกกินอย่างภาคภูมิใจกับปลาที่เกษตรกรเลี้ยง ที่ไม่ต้องกินเพราะสงสาร
มาดูสไลด์ “โตมงคล” ผมเลี้ยงปลานิลแล้วก็ปลาดุก อีสานโพลผมเปิดเป็นห้องเย็นโรงแร่ห้องเย็น พี่อาร์ตถามว่ามีความรู้เรื่องห้องเย็นหรอ ผอบอกไม่มี อ้าวแล้วกล้าทำเหรอ ผมลงทุนอันนี้คือ 60 ล้านบาท เฟสแรก 30 ล้าน ผมกู้ธนาคารโดยที่ไม่ได้ใช้ตังค์ตัวเองเลยแม้แต่บาทเดียว ทำไมผมกล้าทำ ผมบอกว่าผมจะเป็นลูกวัวที่ไม่กลัวเสือ ผมพูดคำนี้กับพี่อาร์ตเลย เพราะผมรู้แล้วว่าวันนี้ทั้งผู้ขายและเกษตรกรปัญหาเดียวกัน คือ มันสวิง บางทีล้น บางทีขาด บางทีไม่พอถูก อะไรที่มันจะทำให้เป็นเส้นตรงหรือแนวขึ้นคือห้องเย็นอย่างเดียว ที่เหลืออยู่ที่คนขายแล้วว่าเราจะไปขายกันยังไง อันนี้คือ Esan Pole Food and Frozen สโลแกนเราก็จะมุ่งมั่นพัฒนาวัตถุดิบยกระดับ
วันนี้น้องๆ รุ่นใหม่หรือผู้บริโภคกินแค่ 3 อย่าง คือ 1.Histie ร้านนี้ 100 ปี โบราณบอกโบราณเขาก็ไปกิน 2.กินแบบ Story เล่ามาเลยว่ากุ้งในจานนี้ ในคำนี้มี 200 ตัว เพิ่งจับมาจากญี่ปุ่นแล้วเป็นเวลาที่พอจับตอนเที่ยงนั่งเครื่องมาถึงปากพี่ 2 ทุ่ม อร่อยมาก 3.กินด้วยประสบการณ์ ยกตัวอย่างมีอยู่สถานที่หนึ่ง ท่านต้องปิดตากิน แต่เชฟทำอาหารดีมาก เราจะได้ประสบการณ์ ได้รู้สึกเหมือนคนตาบอดกิน ฟาร์มปลาดุกเราเลี้ยงบ่อผ้าใบ ผมชอบที่อาจารย์บอกเลี้ยงในบ่อปูน บางคนบอกว่าไม่โต แต่จริงๆ แล้วโตและเรายังคุมอาหารได้ คุมทุกอย่างได้ ผมเลี้ยงอาหารเม็ด100% ฟาร์มผม 18 ไร่ แต่ผลผลิตได้ 3-4 แสนกิโล/เดือน
ที่อาจารย์บอกว่าทำไมทำให้ปลาเหลือง คือ ผมผสมดินเข้าไป จริงๆ แล้วปลาดุกเป็นปลานักล่า เขาจะพรางตัวเองเพื่อล่าและป้องกันตัวเองไม่ให้ถูกล่า ของผมก็แยก เวลาขายถังสีแดงก็จะเป็นปลาโบ้ ถังสีเหลืองก็ปลา 4-5 ตัวโล สีเขียวก็เป็นปลาเล็ก สีฟ้าก็เป็นปลารวม สโลแกนของฟาร์มปลาดุก” วันนี้เราเลี้ยงปลาครับ วันหน้าปลาเลี้ยงเรา” อันนี้สโลแกน ผมไม่ได้สอนเด็กนักเรียนไปทอดแหผมไม่ได้สอนอย่างนั้น ผมถามน้องๆ ว่าอยากเลี้ยงปลาแบบมือไม่เปียกน้ำหรือเลี้ยงยังไงใช้เทคโนโลยียังไง พี่ก็เลี้ยงปลาด้วยมือถือเพราะมันมีแอปพลิเคชั่นทุกอย่าง นี่คือสโลแกนปลานิล “เราไม่ใช่แค่คนเลี้ยงปลา เราส่งมอบความสุขผ่านตัวปลา” ทำไม เพราะว่าถ้าเราบอกว่าวันนี้ปลาผมสด สะอาด อร่อย ได้มาตรฐาน แล้วของคนอื่นล่ะ ทุกคนก็อยากทำแบบนี้เหมือนกัน แต่เกษตรกรที่อยู่ในนี้เลี้ยงปลาเหมือนลูก แล้วค่าขายปลาพวกนี้ก็เอาไปเลี้ยงลูกต่อ
ผู้ดำเนินรายการ เปิดให้ซักถาม
โทนทองฟาร์ม จากจังหวัดสิงห์บุรี เราทำพ่อแม่พันธุ์ปลาดุกอุยขายทั่วประเทศ มีปัญหาตรงว่าจะหาพ่อพันธุ์ทุ่ง ตัวผู้พ่ออุยคือจะต้องให้มันต่างใช่ไหม แล้วคราวนี้เราก็หาแหล่งข้างนอกมันหายาก แล้วถ้าเราจะข้ามไปเอาทางอีสาน จะมีปัญหาอะไรมั้ยคะ
วิทยากร ตอบว่า คือในเรื่องพันธุกรรมปลาดุกอุย ทีมวิจัยก็เก็บข้อมูล ก็หาปลาทั่วประเทศ มีข้อมูลบางส่วนออกมาแล้ว แต่ว่าก็ยังไม่ได้ครอบคลุมเพราะว่าเราก็พยายามเก็บ ซึ่งข้อมูลที่ออกมาอย่างของสกลนคร เราก็พบว่าความหลากหลายทางพันธุกรรม ถ้าในแง่ของเราเรียกว่าจำนวนยีนก็ยังสูงอยู่
“มีคำถามที่ฝากมาค่ะ ก็จะเป็นในส่วนของสายพันธุ์เช่นเดียวกันค่ะ มีอยู่ 2 คำถามด้วยกัน ก็คือ ทำไมจะต้องเอาปลาดุกแอฟริกันมาคอสนะคะ เราสามารถที่จะหาพ่อพันธุ์ที่เป็นรัสเซียได้มั้ยเพื่อป้องกันเลือดชิดค่ะ”
วิทยากร ตอบว่า สำหรับคำถามแรกเพราะลูกมันโตดีขึ้นกว่าปลาดุกอุย คือ เราชอบกิน ปลาดุกอุยมันโตดีขึ้นกว่าและอร่อยกว่าปลายักษ์นิดนึง แล้วเป็นคู่ที่เหมาะเจาะมากผสมกันติดดีมาก จริงๆ แล้วปลาดุกยักษ์แอฟริกันก็มีคนเอาไปผสมกับพวกตระกูลปลาดุกอุยอีกตัวนึง ชื่อ เฮชโท บังคัส เป็นปลาในแถบแอฟริกาเลี้ยงเป็นการค้าเหมือนกัน ส่วนคำถามที่ 2 ปลาดุกรัสเซียก็คือปลาดุกแอฟริกัน เพียงแต่ว่าตอนที่เอามาเลี้ยงคือรัสเซีย เอามาจากแอฟริกา ไปเลี้ยงที่เวียดนาม พอเวียดนามแตกจากลาวมาเรา
ผู้ดำเนินรายการ ให้ความเห็นว่า เท่าที่ผมถามหลายคน มันเป็นความมั่นคงทางอาหารของกองทัพรัสเซีย เค้าส่งปลาเลี้ยงง่าย โตไว มาเป็นโปรตีน อย่างเช่น ปลาหมอเทศ กองทัพญี่ปุ่นเอามาเลี้ยง พวกทำสงครามเค้าจะวางแผน เพราะจริงๆ งานนี้เราอยากได้ข้อมูลมาแล้วเพื่อประมวลผล แล้วก็เดี๋ยวช่วงหลังจะเก็บแนวทาง
ผศ.ดร.รัตนาภรณ์ ให้ข้อมูลว่า จริงๆ ไม่มีพันธุ์รัสเซียนะคะ มันเป็นพันธุ์ “แอฟริกัน แคชฟิช” มันเป็นปลาดุกแอฟริกา ส่วนเรื่องสายพันธุ์ต่างๆ ต้องถามผู้เชี่ยวชาญนะคะ
คำถาม “ตอนนี้ได้มีการเริ่มการเพาะพันธุ์ระหว่างพันธุ์ปลาดุกแอฟริกันกับปลาดุกบ้านเราหรือยัง เพราะว่าปัญหาของผู้เลี้ยงที่เจอตอนนี้ คือ ระยะการเลี้ยงยาวกว่าเดิม เพราะว่าอาจจะเป็นด้วยเนื่องจากพันธุกรรมที่เราใช้กันอยู่ในทุกวันนี้ ถามว่าการนำเข้ามาพวกนี้จะทำให้การเลี้ยงสั้นลงมั้ย ต้นทุนการผลิตของเราจะลดลงหรือเปล่า”
วิทยากร ตอบว่า ขออนุญาตที่เป็นฟาร์มเพาะลูกปลา ฟาร์มเพาะลูกปลามันจะมีหลายรูปแบบ ก็คือ การขายลูกปลา มันเป็นการขายเป็นตัวไม่ใช่เป็นกิโลกรัม ถ้าการทำลูกปลาที่ให้ได้คุณภาพดีต้องฝึกให้ปลากินอาหารเก่งตั้งแต่ต้นทาง การขายเป็นตัวบางที คือ เราขาย 3-5 เซ็นต์ หรือ 2-3 นิ้ว ความยาวได้ แต่ขนาดความอ้วนอะไรยังไม่ได้ มันก็จะส่งผลให้ลูกปลากินอาหารไม่เก่ง พอไปถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงเป็นปลาใหญ่ ปลามันกินอาหารไม่เก่งตั้งแต่ต้นทางไปแล้วไปถึงมือคุณมันก็ไม่เก่ง
แต่ส่วนเรื่องสายพันธุ์มันจะมีผลมากที่สุด ก็คือ การทนต่อโรค ทนต่อสภาพอากาศที่ค่อนข้างจะสวิงในระหว่างวันสายพันธุ์ที่ดีของพ่อพันธุ์ การเจริญเติบโตของปลามันจะได้มาจากพ่อพันธุ์เป็นหลัก รสชาติเนื้อลักษณะทางกายภาพจะได้จากทางแม่พันธุ์ เราก็เลยเพ่งเล็งไปที่ตัวพ่อพันธุ์เพื่อให้ได้พ่อพันธุ์อันดับแรกที่มีคุณภาพดีก่อน ส่วนพฤติกรรมการกินอาหารเกิดจากผู้เพาะเลี้ยงลูกปลา ลูกปลาจะดี ไม่ดี จะเกิดจากผู้เพาะเลี้ยงอันนี้เราไม่โฆษณาตัวเองแล้วก็จะไม่ใส่ร้ายให้ฟาร์มอื่น เพราะว่าเราเป็นบุคคลที่ประกอบอาชีพเดียวกัน ทางผู้เลี้ยงจะรู้ว่าพันธุ์จากฟาร์มไหนดี สังเกตด้วยพฤติกรรมการกินอาหาร
คำถาม “เรามีความมั่นใจมากแค่ไหนที่ว่าเราจะไปเอาสายพันธุ์ที่แอฟริกาแล้วมันจะดีกว่าในประเทศของเรา ในเมื่อประเทศของเรามีการเพาะเลี้ยงกันอย่างมากมายกว้างขวาง แล้วเรามั่นใจได้ยังไงว่าในปลาของแอฟริกาเนี่ยเชื้อสายมันจะไม่ชิดเพราะว่ามันไม่มีสำมะโนครัว ไม่มีนามสกุลอะไร ให้เราสังเกตใช่ไหม แต่ปลาโดยธรรมชาติเนี่ยมันจะดูความแข็งแกร่ง มันจะเลือกคู่โดยเลือกตัวที่แข็งแรงมาเป็นคู่ แต่เรื่องความชิดหรือไม่ชิดเราจะรู้ได้ยังไง แล้วปลาเรายังไม่เคยเอาเข้ามาเลย แล้วเราจะรู้หรือว่าปลานี้จะต้องดีแน่ ทั้งๆ ที่ปลาพวกนี้ตัวมันใหญ่มาก แต่ปลาที่เรากินกันมันเล็กนิดเดียวจากสายพันธุ์ที่มันใหญ่เป็น 10 กก. แต่ว่าปลาเรากินกันแค่ 2 ขีด 3 ขีด ยังใหญ่แค่ครึ่งกิโล แล้วเรามั่นใจได้ยังไงในเมื่อเรายังไม่เห็นสภาพของมันเลย เราได้แต่จินตนาการไป
อ.ปูเป้ ให้ความเห็นว่า จริงๆ เราก็มั่นใจหรอก แต่ด้วยข้อมูลที่เรามีตอนนี้ ตอนแรกที่เอาปลาดุกยักษ์เข้ามาเราก็ไม่ได้มีการเก็บบันทึกไว้เลยมันเริ่มจากตรงนั้น พอเวลาผ่านไปเรื่อยๆ การปะติดปะต่อข้อมูลบางทีมันก็ยาก อาจารย์เล่าให้ฟังว่าปลาดุกยักษ์มันมีความหลากหลายในตัวของมันที่เราเรียกปลาดุกยักษ์ จริงๆ แล้วมันยังมีสายพันธุ์อื่นๆ ซ้อนอยู่ ซึ่ง 30 กว่าปี เราไม่มีข้อมูล เราก็ไม่รู้ว่ามันเป็นไง ซึ่งตอนนี้เราก็ก้าวขึ้นไปแล้ว ได้ข้อมูลมาแล้ว และอาจารย์ก็วางแผนถึงขนาดว่าก็ต้องไปศึกษาถึงที่ที่เราจะไปเอาเพื่อให้มั่นใจก่อนว่าที่เราจะเอามามันดีมันต่าง แล้วก็มันเป็นจุดตั้งต้นที่ดีจริงๆ ก็ทีมวิจัยกำลังดำเนินการตรงนี้
ศ.ดร.อุทัยรัตน์ ให้ความเห็นว่า เวลาเลือดชิดไม่ได้หมายความว่า จริงๆ มันก็คือญาติมาผสมกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าลูกพ่อแม่เดียวกันอะไรแบบนี้ ดังนั้นในวิชาพันธุศาสตร์ประชากรเราจะรู้ว่าถ้าประชากรขนาดเล็กไม่ต้องรู้หรอกว่าตัวไหนผสมกับตัวไหน ในที่สุดมันเกิดเลือดชิดแน่นอน คำตอบก็คือว่าปลาบ้านเราเอาเข้าออกกี่คู่ไม่รู้แล้ว ก็เนื่องจากแต่ละฟาร์มเพาะทีได้ลูกเยอะ แต่ก็ไม่ได้เก็บเยอะ ก็จะเก็บไว้บางทีจาก 2 คู่ 3 คู่ อย่างนี้ ยังไงก็เลือดชิด คราวนี้ปลาที่เอามาจากธรรมชาติเราไม่รู้ก็จริงว่ามันเป็นลูกใคร พ่อไหน แม่ไหน แต่ว่าเราต้องเอาจำนวนมาให้ได้แล้วก็จัดการผสมให้มันคละกันดีๆ เลือดชิดมันจะไม่เกิด เขาศึกษามาแล้วว่าโดยเฉลี่ยแล้วมันควรจะต้องมีพ่อแม่ 50 คู่เริ่มต้น ถึงจะถึงอันนี้ เป็นหลักการทางพันธุศาสตร์
คราวนี้ถามว่ามั่นใจมั้ย โดยทางทฤษฎีและก็ประสบการณ์อย่างที่เล่าเมื่อเช้าว่าเวลาปรับปรุงพันธุ์มันต้องมีความหลากหลายของลักษณะเปรียบเสมือนว่าเราประกวดนางสาวไทยแล้วเราได้มาหน้าตาเหมือนกันหมด สวยทั้งหมดเราก็เลือกไม่ได้คนไหนสวยที่สุด จะเลือกให้สวยกว่านี้เลือกเรื่องไม่ได้ ในทำนองเดียวกันเวลาที่เราจะเลือกปลาให้มันโตขึ้นเราก็จะต้องมีพันธุกรรมของปลาตัวดี ตัวดีกว่า ตัวดีที่สุด เพื่อที่จะคัดเลือก แล้วในที่สุดประชากรปลาเยอะๆ มันก็จะโตตามกันไปหมด ยังไงก็แล้วแต่ คือ ในฐานะนักวิชาการ ฟันธงไม่ได้หรอก แต่ว่าขอให้เชื่อทฤษฎี ทฤษฎีถูกประมาณ 95%
คำถาม จากผู้สัมมนา ในนามของผู้เลี้ยงปลาดุกแปลงใหญ่ของอำเภอวังม่วง จังหวัดสระบุรี วันนี้ที่เข้ามาร่วมกิจกรรมเพราะว่าผมเป็นลูกค้า ไม่ว่า โทนทองฟาร์ม, คุณสำเนา หรือของเจ๊แมว ผมการันตีได้ทั้ง 3 ฟาร์ม ที่เข้ามาอยู่ด้วยกัน อดีตเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว เราเลี้ยงลูกผสมคือเราเลี้ยงของรัสเซียอยู่ประมาณ 3 เดือน 70 วัน สามารถที่จับได้เลย 3 เดือน 10 วัน ในการกินอาหาร การเจริญเติบโตได้ดีมาก การเลี้ยงบิ๊กอุยนี่ก็ไม่เกิน 4 เดือนครึ่ง ปัจจุบัน 5- 6 เดือนกว่า การลงทุนเราก็ลงทุนมากขึ้น อยากฝากไว้คือประสบการณ์ที่เราเคยเลี้ยงด้วย 10 กว่าปีเหมือนกัน มีอาชีพในการเลี้ยงปลาดุก ปัจจุบันต้นทุนมันสูง ถ้าการกินได้น้อยมันก็โตช้า พ่อพันธุ์เป็นอันดับ 1 การเลี้ยงอัตราตอบแทน คือ รับประกันได้เหรอว่าทั้ง 3ฟาร์ม ที่พูดถึงเขาเลี้ยงพันธุ์เขาดี อัตรารอดสูง ตอนนี้อัตราการแลกเนื้อก็ค่อนข้างจะไม่เหมือนเดิม แล้วพวกเราเองเป็นคนที่เลี้ยงปลาเนื้อ
ปัจจุบันหัวไก่ ไส้ไก่ ซึ่งต้นทุนต่ำ เมื่อก่อนตอบแทนให้กำไรสูง ปัจจุบันหลุดจากวงจรเราไปหมด เราต้องมาเพิ่มมาเริ่มจากการผลิตอาหารเม็ดหรือเพิ่มอาหารอัตราส่วนแทน ไม่ว่าเป็นปลาป่นหรือหาอัตราส่วนตัวอื่นที่จะมาทำยังไงให้อยู่ได้ เมื่อก่อนจับปลา 1 ครั้ง มีความสุข ปัจจุบันจับปลาจนวันสุดท้ายถึงจะได้กำไร ซึ่งเมื่อก่อนเราลงทุนไป 4-5 แสน /บ่อ เราจับ 2 วัน วันที่ 2 เริ่มกำไรแล้ว แต่ปัจจุบันลงทุน 3-4 แสนบาท วันสุดท้ายจนเหลือปลาก้นบ่อเราถึงจะได้กำไร
เพราะฉะนั้นผมฝากกรมประมงไว้ว่าถ้าทำยังไงให้เกษตรกรอยู่ได้ ไม่งั้นคนเราจะเลิกเลี้ยง เพราะว่าทำแล้วผลตอบแทนมันอยู่ไม่ได้ ไม่ว่าสำเนาหรือว่าของเจ๊แมว ผลิตลูกปลาเท่าไหร่ขายไม่ได้นะ เพราะพวกผมเลิกเลี้ยง จริงๆ แล้วต่อบ่อผมซื้อทีเป็นแสนตัว เลี้ยงหนาแน่น เพราะผมอยู่สระบุรี ผมส่งอีสานเป็นหลัก แต่ถ้าสมมุติว่าทางโซน สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี เขาจะเลี้ยงเป็นปาโบ้ซึ่งส่งภาคกลาง แต่ผมเองส่งอีสานเป็นการดักทางไว้ เพราะว่ากลุ่มพวกผมเป็นกลุ่มหลายๆคนต้องเลี้ยงปลาดุก อย่างสำเนาก็ไปเอาปลาแถวบ้านผม พอเอากลับมาผสมปุ๊บมันก็โตเร็วขึ้น ถามว่าเลือดชิดไหมอันนี้ผมไม่รู้ แต่ว่าประสบการณ์ที่เราเลี้ยงด้วยกัน เราเคยค้าขายมาด้วย เรารู้เลยว่าของเขาใช้ได้แล้ว ตอนนี้คือ แต่ละฟาร์มเขามีการแลกเปลี่ยนกันแล้ว คือ พ่อของฟาร์มนั้น แม่ของฟาร์มนี้ ซึ่งความถนัดไม่เหมือนกัน ถ้าเป็นสิงห์บุรีมีแม่พันธุ์ขายตลอด แต่พ่อพันธุ์ไม่แน่ต้องหา แต่ถ้ากรมประมงให้ความช่วยเหลือนำเข้าจากแอฟริกา ผมว่าทิศทางที่จะกลับมาดีขึ้น
ผศ.ดร.รัตนาภรณ์ ให้ความเห็นว่า ขออนุญาตเพื่อจะยังมีความคาใจว่ารู้ได้ยังไงว่าปลาแอฟริกาดี ดิฉันใช้ชีวิตอยู่ในแอฟริกา 23 ปีต่อเนื่อง แล้วไปทุกที่ และมีผู้เชี่ยวชาญอย่างเช่น อาจารย์อุทัยรัตน์ พวกจบเรื่องพันธุกรรมจากยุโรป จากอเมริกา ความเชี่ยวชาญของเขาก็ไม่ธรรมดา เพราะฉะนั้นเขาได้ศึกษามาตลอด
ดร.ปกรณ์ กล่าวว่า เมื่อไม่นานมานี้ ผมพบกับคนไนจีเรียมาซื้อปลาดุกเอาไปทำอาหาร เขาให้นามบัตรผมมา ผมติดต่อเขาบอกว่าประเทศไทยผลิตปลาดุกได้อร่อย ถูกใจคนแอฟริกัน ซึ่งเขาเป็นตัวแทนร้านอาหารในประเทศไทยอยู่ในกรุงเทพฯ นามบัตรเขาให้เมื่อกี้ จะพูดยาวท่านอาจารย์ปุ๊บอกให้หยุดไว้ก่อน ผมยืนยันว่าประเทศไทยเราเลี้ยงปลาดุกได้ดี มีคุณภาพ รสชาติอร่อยเหลือ แต่ว่าทำอย่างไรให้ดีที่สุดเท่านั้นเอง
นิตยสารสัตว์น้ำ ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ จึงรายงานข้อมูลแบบไม่ตัดต่อ เพื่อให้ผู้อ่านนำไปพิจารณาว่าปลาดุกไทยไปต่อได้หรือไม่