ปลาทับทิม ไม่พอตลาด เปิดสูตร เลี้ยงปลาทับทิม ฉบับ 8 บัณฑิต สจล. รวมตัว เลี้ยงปลาทับทิม 150 กระชัง
จังหวัดกาญจนบุรี เป็นจังหวัดที่มีแม่น้ำสายใหญ่ไหลผ่านคือแม่น้ำแคว เป็นต้นน้ำของแม่น้ำกลอง เมื่อมีน้ำไหลผ่านแน่นอนว่าต้องเกิดอาชีพการเลี้ยงปลากระชังขึ้นมาและสร้างรายได้ให้เกษตรกรบริเวณริมแม่น้ำ ซึ่ง การเลี้ยงปลาทับทิม กระชังถือเป็นทางรอดหนึ่งในช่วงระหว่างน้ำแล้ง
ทางทีมงานนิตยสารสัตว์น้ำได้มีโอกาสเดินทางไปยังภาคตะวันตก ดินแดนแห่ง การเลี้ยงปลาทับทิม กระชังซึ่งทีมงานสืบทราบมาว่า มีกลุ่มเกษตรกรที่เลี้ยงปลากระชังโดยใช้วิธีแบบชาวบ้านผสมกับหลักวิทยาศาสตร์ และได้พบกับ คุณยอดชาย ปรารถนาเปลี่ยน หรือ คุณยอด หนึ่งในกลุ่มเกษตรกรที่จบวิทยาศาสตร์การประมงโดยตรง
กล่าวว่าตนมีความคิดริเริ่มในการเลี้ยงปลากระชังในตอนแรกเริ่มมาจากปัญหาด้านสุขภาพไม่ค่อยดีจึงอยากที่จะประกอบธุรกิจส่วนตัวและมีรุ่นน้องคือ คุณพล อนงค์พรยศกุล หรือ คุณอุ๋ย มาชวน เลี้ยงปลากระชัง ในจังหวัดกาญจนบุรี จึงตกลงที่จะร่วมทุนด้วย เริ่มแรกนั้นเริ่มทำกันมา 2 คน
ในช่วงแรกที่เริ่มทำฟาร์มก็มีปัญหาต่างๆประมาน 3 ปี ถึงจะดีขึ้น ได้พยายามหาวิธีลดต้นทุนมาตลอด เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นจึงได้เริ่มชักชวนคนอื่นมาเลี้ยงด้วยและสามารถขยายฟาร์มเพิ่มขึ้น แต่การขยายฟาร์มก็มองตรงที่เอาคนที่คิดเหมือนกัน ทำงานเหมือนกัน จึงเลือกที่จะชักชวนเด็กมหาลัยเดียวกันมาทำ
ซึ่งคนในทีมทั้งหมดจบวิทยาศาสตร์การประมงจาก สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มีทั้งหมด 8 คน เลี้ยง 5 ฟาร์ม จำนวน 150 กระชัง และเมื่อแต่ละคนพบปัญหาก็จะมาคุยกันถึงสาเหตุและวิธีแก้ปัญหา
🐟🐟🐟🐟🐟🐟🐟🐟🐟🐟🐟🐟🐟
ปรึกษาฟรี! สนใจเลี้ยงปลาทับทิม @
🐟🐟🐟🐟🐟🐟🐟🐟🐟🐟🐟🐟
เลือกพันธุ์จากแหล่งที่ได้มาตรฐาน
การเลือกพันธุ์ปลาต้องเลือกจากแหล่งที่ได้มาตรฐาน คุณภาพของปลาของทุกบริษัทต่างๆใกล้เคียงกันแต่เลือกใช้ปลาพันธุ์ปลาสีจะไม่กระดำกระด่างและอัตราการเจริญเติบโตของปลาของทุกบริษัทผ่านการทดลองเลี้ยงมาแล้ว
ใกล้เคียงกันและตลาดจะเน้นคุณภาพของลักษณะปลาว่าต้องไม่มีสี ห้ามตกกระไม่มีจุดสีดำ ได้มีการพัฒนา และไม่มีการไขว้ สายพันธุ์ กับปลาดำที่เป็นสาเหตุให้เกิดกระซึ่งในบางตัวของบางบริษัทมีลายกระเยอะจนเป็นลายแผนที่ซึ่งจะถูกกดราคา หากเป็นช่วงปลาล้นตลาดพ่อค้าจะไม่รับเลยตีเป็นปลาตกไซส์
การปรับอุณหภูมิของน้ำก่อนลงปลาเป็นสิ่งสำคัญ
การเลี้ยงปลาในกระชังเป็นปลาไซส์จะลงปลา 1,800 ตัว ขนาดกระชัง 5 x 5 เมตร ลึก 2 เมตร เมื่อปลามาถึงหากเป็นปลาจากบริษัท ป.เจริญฟาร์ม จะมีการขนส่งที่ดีอยู่แล้วเพราะมีการควบคุมอุณหภูมิอยู่ที่ 20 องศาเซลเซียส ทำให้ปลาไม่เครียด
หากขนส่งมาดีก็เหลือแค่การจัดการตรวจเช็คสภาพลูกปลาว่าปลาแข็งแรงหรือไม่ หากปลาไม่แข็งแรงก็ต้องคุยกับเซลล์ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่หากปลาแข็งแรงดีจะลอยน้ำไว้ 1 ชั่วโมง ถึงจะปล่อยปลาและเมื่อปล่อยปลาแล้วต้องสังเกตอาการเช่นภายในเวลา 2 – 3 ชั่วโมงปลาจะว่ายน้ำเป็นฝูง
อาหารผสมสารกระตุ้นภูมิคุ้มกันและวิตามิน
เมื่อลง ปลาทับทิม เสร็จเรียบร้อยแล้วจะพักปลาทับทิม ไว้ 1 คืนหรือประมาน 6 – 12 ชั่วโมง โดยไม่มีการให้อาหาร และจะเริ่มให้อาหารมื้อแรกโดยที่มี “ เกลือแกง ” เป็นส่วนเสริม เมื่อลง ปลาทับทิม ใหม่ ปลาทับทิม ส่วนใหญ่จะเครียดจะผสมให้กินในมื้อแรกเท่านั้น โดยคลุกยาป้องกันแบคทีเรียทั่วไปตามท้องตลาดกับอาหารให้ในมื้อแรกของวันเนื่องจากเป็นเวลาที่ปลาหิวที่สุดหากไปให้มื้ออื่นปลาจะไม่กิน
เพราะว่าเมื่อใส่ยาลงผสมลงไปในอาหารทำให้กลิ่นของอาหารเพี้ยนไปถ้าให้มื้อแรกปลาก็จะได้รับยาอย่างเต็มที่ จะให้ทุกวันในช่วง 7 วันแรก ดูจากอาการของปลาหากไม่ได้มีอาการผิดปกติก็จะให้ประมาน 3 – 5 วันเท่านั้น แต่การให้อาหารก็ขึ้นอยู่กับขนาดของปลาที่นำมาลงถ้าเป็นขนาดใบมะขามเป็นปลาเล็กเริ่มให้ด้วยอาหารกุ้งที่เป็นอาหารเกร็ดให้กินประมาน 1 สัปดาห์
และเปลี่ยนมาใช้อาหารอนุบาลวัยอ่อน ไฮเกร็ด ของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์ จำกัด และหลังจากนั้นเป็นอาหารเบอร์ 1 ของ บริษัท สมาร์ท แอนิมัล ฟีดส์ จำกัด ภายใต้แบรนด์ คอส ฟีดส์ และก็ขยับเบอร์ขึ้นมาเรื่อย ๆ
ไม่จำเป็นต้องให้อะไรเพิ่มเนื่องจากอาหารจะผสมสารกระตุ้นภูมิคุ้มกันอยู่แล้วซึ่งเป็นอาหารปลาดุกมีอัตราการเจริญเติบโตที่ดีและสามารถควบคุมโรคได้อีก และเมื่อพ้น 7 วันแรก จะให้อาหารวันละ 1 – 2 มื้อ
และค่อยปรับเป็น 3 มื้อ เนื่องจากสภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลง ต่อมาให้อาหารวันละ 3 เวลา เมื่อปลามีการปรับตัวได้ ช่วงเช้าต้องรอให้แดดออกประมาน 1 ชั่วโมงถึงจะให้อาหาร เนื่องจากขบวนการเมทาบอลิซึมของปลา
จะเริ่มขึ้นตั้งแต่มีอุณหภูมิสูงเพราะเป็นสัตว์เลือดเย็น ตอนเช้าจะทำงานอย่างอื่นก่อน เช่น ตักขี้ปลา และตรวจสอบกระชัง เมื่ออุณหภูมิได้แดดเริ่มออก ถึงเวลาหว่านอาหารก็จะทำให้ปลากินดีกว่าตอนที่ยังไม่มีแดด
ระบบการจัดการกระชังเพื่อความคุ้มค่า
ใน 1 ปี จะเลี้ยงได้แค่ 10 เดือน อีก 2 เดือนจะเป็นช่วงฤดูน้ำแรง น้ำท่วมและไม่สามารถเลี้ยงได้ จะลงปลาไซส์ใบมะขาม 1 รุ่น และลงปลาไซส์ 100 กรัม 2-3 รุ่น
ตัวอย่างเช่นกระชัง 50 ใบ จะลงปลาใบมะขาม 10 ใบ อีก 40 ใบ จะลงปลาไซส์ 100 กรัม และเมื่อปลาไซส์ 100 กรัม ถึงกำหนดจับขึ้น
จะย้ายปลาใบมะขามได้เต็มฟาร์ม ซึ่งเป็นการบริหารจัดการกระชังให้ได้ประโยชน์สูงสุด วิธีการเลี้ยงต้องเลี้ยงแบบนี้ถึงจะคุ้มทุน ถ้าลงปลาใหญ่อย่างเดียวจะได้ตรง
สามารถทำรอบได้แต่กำไรจะน้อยเนื่องจากว่าลูกพันธุ์ราคาสูง แต่หากลงปลาเล็กรอบการเลี้ยงจะได้น้อยกว่าแต่กำไรก็จะมากตามไปด้วยเพราะฉะนั้นต้องสลับการเลี้ยง
สูตรปลาทับทิม 1,000 ตัว/อาหาร 60 กระสอบ
ระยะเวลาในการเลี้ยงปลากระชังจะนานกว่าบ่อดิน หากลงปลาไซส์ 100 กรัม จะใช้ละยะเวลาเลี้ยงกว่า 3 เดือน เมื่อให้อาหารครบ 60 กระสอบต่อปลา 1,000 ตัวแล้ว จะเริ่มเช็คไซส์ลูกปลาก่อนหากได้ไซส์ก็จับเลยแต่ถ้ายังไม่ได้จะเลี้ยงต่ออีกหน่อย
แต่การดูไซส์ปลาต้องดูลึกๆเพราะปลาใหญ่จะอาศัยอยู่ข้างล่างและปลาเล็กจะอาศัยอยู่ด้านบนตามลักษณะนิสัยของปลา ปลาใหญ่จะเป็นปลาที่อยู่ในที่ที่ดีที่สุดคือด้านล่างสุดแต่เวลากินอาหารจะเป็นตัวที่ขึ้นมากินก่อนสังเกตได้จากจุดนี้อีกจุด ซึ่งได้ผลผลิตกว่า 1.5 ตัน/กระชัง
ผลผลิตไม่พอต่อตลาด
ตลาดปลาทับทิม ในตอนนี้ราคากลางจะอยู่ที่ประมาน 65 – 80 บาท โดยมีพ่อค้ามารับซื้อปลาจากฟาร์ม ซึ่งจะมีอยู่ 2 กลุ่ม คือกลุ่มตลาดปลาเผาซึ่งกลลุ่มนี้จะรับเป็นปลาใหญ่ไซส์ขนาด 1,000 – 1,300 กรัม
และตลาดปลาทั่วไปจะรับที่ 700 – 1,100 กรัม ซึ่งตอนนี้ปลาไม่พอขายต้องมีการขยายฟาร์มเพิ่มให้ถึง 300 กระชังถึงจะเพียงพอต่อความต้องการของตลาด
นักเลี้ยงต้องเก็บข้อมูล
การเลี้ยงปลาในตอนนี้เปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อก่อนมากต้องเปิดใจให้กว้างและยอมรับสิ่งใหม่ๆที่มีวิธีการที่เหมาะสม ถ้าอยากประสบความสำเร็จต้องเปิดใจเพราะทุกอย่างล้วนมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาต้องตามให้ทันไม่อยากให้เกษตรกรมีความคิดที่ว่า “มันเป็นอะไร ช่างมันเถอะ”
คืออยากให้พยายามหาคำตอบให้ได้ทุกอย่างเป็นเหตุเป็นผลอยู่แล้ว อยากให้เก็บข้อมูลตั้งแต่เริ่มเลี้ยงจนจบเปรียบเสมือนทำบัญชีให้ธุรกิจ คิดว่าจะทำยังไงให้ลดต้นทุนได้ ทำยังให้ให้ลด FCR ได้
การจดบันทึกเป็นสิ่งที่ดีกว่าใช้ความรู้สึกมาตัดสินซึ่งความรู้สึกก็ไม่ได้ตรงตลอด แต่มีสิ่งเดียวที่ต้องใช้ความรู้สึกคือการสังเกตอาการของปลาต้องมีความใส่ใจลงไปด้วย หากทำได้เกษตรกรทุกคนย่อมประสบความสำเร็จ
ทีมงานนิตยสารสัตว์น้ำขอขอบคุณ คุณยอดชาย ปรารถนาเปลี่ยน และ คุณ คุณพล อนงค์พรยศกุล ที่สละเวลามาให้ความรู้กับทีมงานและเกษตรกรผู้ติดตามนิตยสารสัตว์น้ำ
ปลาทับทิม
ปลาทับทิม เลี้ยงปลาทับทิม การเลี้ยงปลาทับทิม การเลี้ยงปลากระชัง เลี้ยงปลาทับทิมกระชัง ปลาทับทิม เลี้ยงกระชัง ขั้นตอนการเลี้ยงปลาทับทิม เลี้ยงปลาทับทิม การเลี้ยงปลาทับทิม การเลี้ยงปลากระชัง เลี้ยงปลาทับทิมกระชัง