ปลานิลจิตรลดา 4 การเพาะพันธุ์ ลูกปลานิล กว่า 3 ล้านตัว/เดือน ส่งอีสาน และลาว

โฆษณา
AP Chemical Thailand

การเลี้ยงปลานิล

ปลานิลมีหลากหลายสายพันธุ์ ฟาร์มเพาะปลานิลหลายแห่งมักจะมีพ่อแม่พันธุ์เป็นของตัวเอง ซึ่งต่างก็พัฒนาสายพันธุ์มาต่างๆ นานา แต่จะมีสักกี่ฟาร์มที่ใช้สายพันธุ์ที่กรมประมงเป็นผู้วิจัยให้เกษตรกร หรือที่เรียกว่า “ปลานิลจิตรลดา” ซึ่งทางกรมประมงได้วิจัยออกมาถึง “ปลานิลจิตรลดา 4” มีเกษตรกรผู้เลี้ยงปลานิลจำนวนน้อยรายที่จะสืบทอดเจตนาที่รัฐบาลและกรมประมงเป็นผู้สนับสนุน

1.ลูกพันธุ์ปลานิลจิตรลดา-4
1.ลูกพันธุ์ปลานิลจิตรลดา-4
2.ดร.วุฒิ-รัตนวิชัย-และคุณณรงค์-นิลนันท์-เจ้าของฟาร์ม
2.ดร.วุฒิ-รัตนวิชัย-และคุณณรงค์-นิลนันท์-เจ้าของฟาร์ม

จนวันนี้ทีมงานสัตว์น้ำได้พบกับ คุณณรงค์ นิลนันท์ หรือคุณป๋อง เจ้าของฟาร์มธุรกิจผู้เพาะเลี้ยง ปลานิลจิตรลดา 4 ในจังหวัดสุรินทร์ ที่เปิดโอกาสให้ทีมงามได้เยี่ยมชมฟาร์มและพูดคุย จากเดิมเป็นพนักงานส่งเสริมการขายอาหารปลาบริษัทแห่งหนึ่งด้วยระยะเวลา 3 ปี แต่ก็ได้มองว่า “หากบริษัทมีความมั่นคง แล้วตัวเรามีความมั่นคงหรือไม่”

จึงได้ตัดสินใจออกมาทำฟาร์มด้วยเงินเก็บ 30,000 บาท เช่าพื้นที่ 15 ไร่ และซื้อแม่พันธุ์ปลาดุก โดยได้จ้างลูกจ้างมาฉีดปลาแทน เพราะไม่สามารถฉีดได้เอง ในเวลาเดียวกันก็ได้ศึกษาเรียนรู้งานมาตลอด ซึ่งตอนนั้นราคาพ่อแม่พันธุ์ถูก แต่ลูกพันธุ์ปลามีราคาแพง ทำให้มีแรงจูงใจในการทำงานมากขึ้น

ในช่วงปีที่สามตั้งแต่ก่อตั้งฟาร์มขึ้นมาสามารถหาลูกค้าฝั่งลาวและส่งขายได้เป็นจำนวนกว่า 25 ล้านตัว/ปี เฉลี่ยเดือนละ 2 ล้านตัว ทำให้มีการขยายฟาร์มเพิ่มอีก 20 ไร่ จนปัจจุบันมีพื้นที่ 80 ไร่ ใช้ระยะเวลากว่า 11 ปี

3.บ่อเลี้ยงปลานิล
3.บ่อเลี้ยงปลานิล

การเพาะพันธุ์ปลานิล

หากมองย้อนกลับไปมองดูวงการสัตว์น้ำอย่าง “ปลาดุก” และ “ปลานิล” ถือเป็นปลาเศรษฐกิจทั้งคู่ที่มีการเลี้ยงอย่างแพร่หลายตั้งแต่อดีต แต่ในปัจจุบันหากลองเปรียบเทียบปลาดุกถือว่าโด่งดังในอดีตอย่างมาก ล้มลุกคลุกคลาน มีได้ มีเสีย กันมามาก ไม่มีหนทางที่เรียบง่ายเหมือนปลานิล เมื่อมองหลายๆ คนที่ทำฟาร์มปลาดุกก็ไม่เห็นมีใครรวยเท่าฟาร์มปลานิล จึงได้มองว่าหากยังทำฟาร์มปลาดุกต่อจะมีฐานะแค่พออยู่ได้ ต่างจากธุรกิจฟาร์มเพาะเลี้ยงปลานิลที่สามารถโตขึ้นได้ทุกปี ยอดขายลูกพันธุ์มีแต่ไม่พอส่งตลาดคนเลี้ยง

เป็นเหตุให้ตัดสินใจหันมาเพาะพันธุ์ปลานิล มีการศึกษาตลาด และสามารถมองช่องทางออกว่าปลานิลมีตลาดรองรับได้มหาศาล เมื่อทำได้ครบ 1 ปี สามารถมองเห็นทิศทางการตลาดได้อย่างแม่นยำ จึงได้มุ่งเน้นการผลิตต่ออย่างเร่งด่วน ศึกษาเพิ่มเติมจากฟาร์มขนาดกลาง และขนาดใหญ่ รวมถึงสถานีประมงในจังหวัดต่างๆ ที่ประสบความสำเร็จในหลายพื้นที่ เก็บข้อมูลของทุกแห่งนำมาประยุกต์ใช้กับฟาร์ม จนกลายเป็น “ป.พันธุ์ปลานิล” ในปัจจุบัน ซึ่งจุดเด่นที่สามารถอยู่ได้ และมีลูกค้าที่เหนียวแน่นถึงทุกวันนี้ คือ “ไม่มีการใช้ยาทั้งฟาร์ม” ลูกค้าจะได้รับแต่ปลาที่มีคุณภาพเท่านั้น

โฆษณา
AP Chemical Thailand
4.การเก็บไข่จากบ่อดิน
4.การเก็บไข่จากบ่อดิน

การเก็บไข่ปลานิล

สายพันธุ์ปลานิลของประเทศไทยในตอนนี้มีความใกล้เคียงกัน ซึ่งสายพันธุ์ ปลานิลจิตรลดา 4 ถูกคัดสรรขึ้นมาโดยกรมประมง มีอัตราการเจริญเติบโตดีกว่า ปลานิลจิตรลดา 3 ประมาณ 30% มีความดก และความสมบูรณ์ ของไข่มากกว่า ซึ่งเก็บไข่แต่ละระยะมามีอัตรารอด 80-90% พบความเสียหายน้อยมาก และหากมองย้อนกลับไป 3-4 ปีที่ผ่านมา ปลานิลจิตรลดา 4 เพิ่งเข้ามาในตลาด จะมีปัญหาด้านการเจริญเติบโต เมื่อเลี้ยงแล้วจะตาย ซึ่งเกษตรกรเอาลูกปลาขนาดใบมะขามไปลงแล้วจะเกิดการสูญเสีย

แต่ทุกวันนี้สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยได้แล้ว ส่งผลให้มีอัตราการเจริญเติบโตที่เร็วกว่าเดิม แต่จะพบข้อเสีย คือ การแตกไซส์ เนื่องจากว่าไม่ได้คัดขนาดอย่างละเอียด ใช้ตะแกรงในการคัดปลาเพียงอย่างเดียว และเหตุที่ใช้ตะแกรงคัดเพราะว่าจะลดการสูญเสียของลูกปลาได้มากกว่า ลดการบอบช้ำ และหัวถลอกจากการคัด เมื่อถึงมือลูกค้าจะมีอัตรารอดที่ดีไม่ต่ำกว่า 80% หากไม่ถึงจะเคลมให้ลูกค้าทันที

5.โรงเพาะฟัก ผลิต ปลานิลจิตรลดา 4
5.โรงเพาะฟัก ผลิต ปลานิลจิตรลดา 4
โรงเพาะฟักแบบปิด
โรงเพาะฟักแบบปิด
ทำความสะอาดถาดเพาะ
ทำความสะอาดถาดเพาะ

การเคาะไข่ปลานิล

พ่อแม่พันธุ์ที่ใช้จะเป็นปลาที่ผ่านเชื้อมาหมดแล้ว ใช้สารสกัดอินทรีย์คลุกอาหารตั้งแต่ต้น ทำให้มีความพร้อม และความสมบูรณ์ ไข่ที่ได้จึงมีความสมบูรณ์ และแข็งแรง อาจจะส่งผลให้ลูกพันธุ์มีความแข็งแรงมากกว่าเดิม เมื่อเกษตรกรนำไปเลี้ยง ในรอบปัจจุบันที่เริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งถือได้ว่าเป็นช่วงฤดูหนาว

แต่ที่ฟาร์มจะได้เปรียบ เพราะเป็นบ่อดินจะไข่เยอะ เพราะว่าอุณหภูมิของน้ำจะเหมาะสมกว่าบ่อซีเมนต์ โดยที่มีแม่ 5,000 ตัว สามารถเก็บไข่ได้ไม่ต่ำกว่า 1,000,000 ฟอง ซึ่งต่างจากที่อื่นที่เป็นบ่อซีเมนต์ ส่วนมากจะไม่ได้ไข่ และหากเป็นช่วงสภาพอากาศปกติสามารถผลิตไข่ได้มากกว่า 2-3 ล้านตัว จะเห็นได้ว่าสามารถเพาะพันธุ์ได้ตลอดทั้งปี และพ่อแม่พันธุ์ที่ใช้จะมีอายุใช้งานเพียงแค่ 2 ปี เพราะหากเข้าปีที่ 3 ความดกของไข่ และความสมบูรณ์ จะลดลง

การเคาะไข่แต่ละที่จะมีวิธีที่แตกต่างกันไป ซึ่งทางฟาร์มจะมีการเคาะไข่ทุก 9 วัน หรือ 1 เดือน 3 ครั้ง เพราะจะเลือกเก็บไข่ในช่วงไข่เข้าระยะที่ 2 แล้ว เพราะเก็บในระยะที่ 2-4 ถึงแม้ว่าไข่จะน้อยแต่ความสมบูรณ์ของไข่มีมากกว่า ทำให้ความเสียหายลดลง และให้อาหารผสมฮอร์โมนเพียง 1 วัน ก่อนลงกระชังในบ่อดิน และหลังจากลงกระชังแล้วให้อาหารผสมฮอร์โมนต่ออีก 28 วัน และจะได้ลูกปลาขนาดใบมะขาม

6.กระชังอนุบาลลูกปลา
6.กระชังอนุบาลลูกปลา

การอนุบาลลูกปลานิล

น้ำก็เป็นส่วนสำคัญต่อการเพาะเลี้ยง ซึ่งฟาร์มมีทำเลที่ตั้งดี ผ่านการวิเคราะห์มาว่า จ.สุรินทร์ เป็นจังหวัดที่มีน้ำบาดาลดีที่สุด เนื่องจากจะมีความเค็มเพียงเล็กน้อย ค่าอัลคาไลน์สูงกว่าพื้นที่อื่น ส่งผลให้ลูกปลาได้แร่ธาตุจากน้ำเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันตั้งแต่ยังอยู่ในระบบเพาะฟัก และทำเลที่ตั้งของฟาร์มยังตั้งอยู่บนพื้นที่ต้นน้ำ ไม่ผ่านสารเคมีต่างๆ มาจากห้วยแสลงโดยตรง ที่มีสาหร่ายช่วยกรองมาก่อนหน้านี้

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ทุกฟาร์มย่อมมีการพัฒนาตนเองเพื่อความอยู่รอด และคุณภาพมาตรฐานของฟาร์ม เพื่อรองรับฐานลูกค้าที่เพิ่มขึ้น ตอนนี้ได้สั่งแม่พันธุ์จิตรลดา 4 กับศูนย์พัฒนาพันธุกรรมบุรีรัมย์ ไปแล้ว 200,000 ตัว และจัดคัดให้เหลือเพียงแค่ 20,000 ตัว เพื่อที่จะผลิตลูกพันธุ์ให้ได้มากกว่า 5 ล้านตัว/เดือน

และหากเป็นตัวผู้เยอะจะต้องทำใจยอมรับ เนื่องจากเปอร์เซ็นต์การเจริญเติบโตของตัวผู้มีมากกว่าอยู่แล้ว แต่ตัวเมียที่ได้จากการคัดจะถือว่าเป็นแม่พันธุ์ที่ดีที่สุด เพราะมีการเจริญเติบโตที่ดีกว่าตัวอื่น หลังจากนั้นจะไปวัดกันในด้านคุณภาพ และการกินฮอร์โมนต่อไป ได้รับใบรับรองมาตรฐาน FMA หรือใบมาตรฐานการควบคุมแม่พันธุ์โดยกรมประมง และได้รับใบรับรองพ่อแม่พันธุ์จากศูนย์พันธุกรรม

7.ระบบกรองน้ำ
7.ระบบกรองน้ำ

การให้อาหารลูกปลานิล

การที่จะสามารถผลิตให้ได้ลูกปลาที่มีคุณภาพมากถึง 3 ล้านตัวต่อเดือน ถือว่ายาก หากไม่มีการเอาใจใส่ดูแลที่ดีในเรื่องต่างๆ เช่น ในเรื่องของอาหาร ซึ่งฟาร์มจะผสมอาหาร ของบริษัท ลีพัฒนาอาหารสัตว์ จำกัด (มหาชน) และฮอร์โมนวันต่อวันเท่านั้น เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพที่สูงสุดเท่านั้น

และให้ “สารสกัดอินทรีย์” เป็นอาหารเสริม เพื่อเพิ่มหรือกระตุ้นการกินอาหาร ส่งผลให้มีอัตราการกินที่เต็มที่ และลูกปลาจะได้ฮอร์โมนแปลงเพศครบตามความเข้มข้นที่สามารถแปลงเพศได้ และไม่จำเป็นต้องให้ถึง 8 มื้อ ในเวลา 21 วัน จะให้เพียงแค่ 5 มื้อ แต่จะใช้ระยะเวลา 28 วัน สามารถแปลงเพศได้กว่า 99% เพื่อความมั่นใจในคุณภาพลูกปลาก่อนที่จะส่งถึงมือลูกค้า ไม่ต้องกลัวว่าฮอร์โมนจะมากเกินไป และสะสมในตัวลูกปลา เพราะหากมีมากเกินไปจะมีกระบวนการขับส่วนที่เกินออกมาเองโดยอัตโนมัติ ตัวลูกปลาจะสวยเป็นเลื่อม

8.แพ็คปลาเตรียมขนส่ง
8.แพ็คปลาเตรียมขนส่ง

ด้านตลาดลูก ปลานิลจิตรลดา

ตลาดหลักที่ทางฟาร์มมีจะอยู่ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ในประเทศไทยลูกค้าหลักจะอยู่ที่เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ จ.มุกดาหาร จ.ชัยภูมิ จ.นครราชสีมา และในพื้นที่ละแวกใกล้เคียง ส่วนในต่างประเทศจะอยู่ที่ประเทศลาวเป็นส่วนมาก ช่วงตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงเดือนพฤศจิกายนจะเป็นช่วงระยะเวลาที่ประเทศลาวมีการสั่งลูกปลามากที่สุด เนื่องจากในเดือนอื่นเกษตรกรไม่กล้าลงปลา เพราะสภาพอากาศที่ร้อน หากลงแล้วมักเกิดความเสียหาย

การเลือกลูกปลาที่ได้มาตรฐาน และคุณภาพ ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกษตรผู้เลี้ยงปลาได้ผลกำไรสูงสุด เนื่องจากสามารถกำหนดต้นทุนได้ หากปลาที่เลือกมาดี มีคุณภาพ มาตรฐานมากพอ ก็จะลดความเสียหายลงอย่างเห็นได้ชัด “ป.พันธุ์ปลานิล” ถือเป็นทางเลือกที่ดีอีกทางสำหรับเกษตรกรในวงการผู้เลี้ยงปลานิล

โฆษณา
AP Chemical Thailand

เกษตรกรท่านใดสนใจลูกพันธุ์ สารอินทรีย์สกัด หรือวิธีเพาะพันธุ์ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ คุณป๋อง 081-360-2929