“นครปลา” ศูนย์กลางลูกพันธุ์สวายโซนเหนือ ป้อนตลาด 70,000 ตัว/วัน มีทุนเริ่มต้นเพียง 79 บาท
เริ่มต้นกิจการโดยใช้ทุนเริ่มต้นเพียง 79 บาท
ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน เป็นที่ตั้งของจังหวัดพิจิตร ที่ถือได้ว่าเป็นแหล่งทำการประมงด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดที่สำคัญอีกแห่งของประเทศไทย เมื่อทีมงานนิตยสารสัตว์น้ำได้ทราบว่า จังหวัดแห่งนี้มีศูนย์กลางการจำหน่ายลูกพันธุ์ปลาน้ำจืดแทบทุกชนิด และยังเป็นเอเย่นต์อาหารรายใหญ่ของ บริษัท ไทยยูเนี่ยนฟีดมิลล์ จำกัด
จึงไม่รีรอที่จะออกเดินทางขึ้นเหนือไปติดตามข้อมูลที่เป็นประโยชน์มาให้ผู้อ่านทุกท่านได้ติดตามกัน โดยทีมงานได้ทราบข้อมูลเบื้องต้นว่าผู้ประกอบการเจ้านี้เริ่มต้นกิจการโดยมีทุนเริ่มต้นเพียง 79 บาท แต่สามารถประสบความสำเร็จเติบโตเป็นร้านจำหน่ายลูกพันธุ์และอาหารได้มากกว่า 5 สาขา ทั่วประเทศไทย ภายใต้ชื่อ “นครปลา”
จุดเริ่มต้นเมื่อ 18 ปีกับการเริ่มเพาะเลี้ยง และอนุบาล ลูกพันธุ์ปลาน้ำจืด ปลาสวาย
“นครปลา” เริ่มต้นมากว่า 18 ปี ด้วยเงินทุน 79 บาท จากการขายปลาหางนกยูงเล่นๆ ของ คุณนคร เจริญพร หรืออาจารย์นคร ซึ่งอาชีพเดิมเป็นคุณครูสอนภาษาไทย เมื่อมีงานประจำที่ต้องทำจึงไม่มีเวลาเลี้ยงดูลูก จึงได้จ้างคนงานมาเลี้ยง และในขณะนั้นเองคนงานที่เลี้ยงลูกของตนได้เลี้ยงปลาหางนกยูงไว้ในอ่างเพื่อให้ลูกของตนดูเล่น เมื่อปลาหางนกยูงมีการขยายพันธุ์เพิ่มขึ้น คนงานจึงได้ขายเป็นอาชีพเสริม
แต่แล้วการเปลี่ยนถ่ายน้ำทำให้ปลาน็อคน้ำตายทั้งหมด คนงานจึงเลิกเลี้ยงไป แต่คนละแวกนั้นก็ยังมาถามหาซื้อปลาหางนกยูงอยู่ ตนจึงไปซื้อปลาหางนกยูงมาด้วยเงิน 79 บาท เลี้ยงในอ่างใบเก่าที่คนงานเคยเลี้ยงเพาะพันธุ์ และขายมาเรื่อยๆ แต่เนื่องจากตนนั้นพื้นเพเป็นคนนครปฐม ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์และขายปลาสวยงามที่โด่งดัง
ก็ได้คิดว่าควรรับปลาสวยงามมาขายที่พิจิตรบ้าง โดยเริ่มจากปลาสอด บอลลูน จึงกลายเป็นธุรกิจขายปลาตั้งแต่นั้นมา จากผู้เพาะกลับกลายมาเป็นผู้ซื้อมาและขายไปตามตลาด ทำธุรกิจนี้มานานกว่า 7 ปี คนในละแวกนั้นก็เริ่มถามต่อว่าทำไมมีแต่หางนกยูง ไม่รับปลาเศรษฐกิจมาด้วยหรือ จึงเริ่มเอาลูก “ปลาแรด” จากนครปฐม มาขาย
นับแต่นั้นมาจึงเริ่มพลิกผันตัวเองมาลงด้านปลาเศรษฐกิจในช่วงระยะหลังนี้เอง เหตุที่พื้นที่ของจังหวัดพิจิตรมีพื้นที่ติดกับจังหวัดนครสวรรค์ จึงได้รับ “ลูกพันธุ์ปลาสวายนิ้ว” มาอนุบาลในบ่อดินให้ได้ขนาด 2-3 นิ้ว ขาย นับว่าเป็นปลาที่ทำรายได้ให้กับธุรกิจมากที่สุด
ในขณะนั้นมีพื้นที่เพียง 10 ไร่ และนอกเหนือจาก ปลาสวาย และปลาแรดแล้วยังมีปลาเศรษฐกิจชนิดอื่นๆ อีกมาก เช่น ปลานิล นิลแดง ไน ตะเพียน ยี่สก จีน จาระเม็ด สลิด บึก ดุก เทโพ เทพา กราย กระโห้ ให้ลูกค้าได้เลือกซื้อกันอย่างหลากหลาย
อนุบาล ปลาสวาย ยอดขายอันดับหนึ่ง
ในการเลี้ยง ปลาสวาย ถือว่าประสบความสำเร็จ และเป็นจุดเด่นมากที่สุดของนครปลา จากที่เคยขาดทุนปีละ 40,000-50,000 บาท หรือบางปีเกือบ 100,000 บาท แต่ปัจจุบันลูก ปลาสวาย กลายเป็น ผลผลิตหลักที่ทำกำไรให้กับฟาร์มได้อย่างต่อเนื่อง
โดยในช่วงแรกที่ฟาร์มประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนักนั้น ภรรยาของอาจารย์นครได้บอกให้ยุติกิจการลง แต่ตนได้ถามภรรยากลับว่า “เรียนจบปริญญาตรีเสียไปเท่าไหร่” จึงทำให้ภรรยาของอาจารย์ได้หยุดคิด และเกิดแรงผลักดันที่จะทำให้นครปลาสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ในช่วงแรกการอนุบาล ปลาสวาย นั้นถือว่ายังไม่มีกำไร และประสบปัญหาขาดทุนอยู่ถึง 3 ปี
แต่ต่อมาอาจารย์เริ่มจับจุดอ่อนที่ต้องแก้ไขได้ จึงได้ดำเนินการโดยสามารถจับจุดได้ว่า เดิมทีนครปลาจะผลิตและจำหน่ายลูกปลาออกขายให้เกษตรกรที่ขนาด 1 นิ้ว เท่านั้น จึงทำให้เกษตรกรเอาไปเลี้ยง ก็มีความรู้สึกว่ายังเล็กน่าจะเลี้ยงไม่รอด ทางฟาร์มจึงได้ชำลูกปลาให้ได้ขนาดเพิ่มมากขึ้น คือ 2-3 นิ้ว ซึ่งจะช่วยให้ลูกปลามีอัตรารอดมากขึ้น
จากกลยุทธ์ดังกล่าวจึงทำให้ลูกค้าของนครปลาเพิ่มมากขึ้น จนมีกำไรเพิ่มขึ้น และสามารถขายลูกปลาสวายได้สูงสุดถึงวันละ 70,000 ตัว
แหล่งรับลูกพันธุ์ปลาที่สำคัญ
การรับลูกพันธุ์ปลามาขายจะรับมาจากหลายแหล่ง แล้วแต่สายพันธุ์ของปลา ซึ่งจะรับลูกปลามาขายจากฟาร์มที่ได้มาตรฐาน จำแนกตามชนิดของปลาหลักๆ ได้ดังนี้
- ปลาสวาย รับจากจังหวัดนครสวรรค์ เพราะเป็นแหล่งที่ขยายพันธุ์ดีที่สุดในประเทศไทย และเป็นฟาร์มที่มีพันธุ์ปลาได้มาตรฐานเท่านั้น
2.ปลานิลแปลงเพศ รับจากจังหวัดพิษณุโลก “บุญรักษ์ฟาร์ม” ซึ่งฟาร์มนี้จะมีสายพันธุ์ปลานิลจิตรลดา 3 แปลงเพศ ที่มาจากศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมอุตรดิตถ์
3.ปลาแรด รับจากอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาแรดที่ถือว่าใหญ่ในประเทศไทย
4.ตระกูลปลาเกล็ด เช่น ปลาตะเพียน ปลานิล ปลาไน ปลายี่สก ปลานวลจันท์ รับจากจังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดมหาสารคาม ที่เป็นแหล่งใหญ่สุด คือ “ภ.พันธุ์ปลา” ตระกูลนี้จะใช้ในปริมาณที่มาก จึงจำเป็นต้องรับจากสามแหล่ง
อาหารปลาสวาย และ การอนุบาลลูกปลาเพื่อลดความสูญเสียช่วงการขนส่ง
ในอดีตนั้นการอนุบาลลูก ปลาสวาย ค่อนข้างยาก เพราะในเวลานั้น อาหารปลาสวาย เม็ดยังมีขนาดใหญ่กว่าปากของลูกปลาที่จะสามารถกินได้ทั้งเม็ด โดยมีเพียงอาหาร NEOPRO ขนาด 2.0 มิลลิเมตร เท่านั้น ที่เล็กที่สุด ฟาร์มอนุบาลจึงต้องดัดแปลงโดยใช้วิธีปั้นอาหารเป็นก้อน แล้วปักในบ่อให้ปลาตอดกิน
แต่เมื่อเวลาผ่านไปได้มีการพัฒนาสูตรขึ้นมาเป็น อาหารปลาสวาย อนุบาลลูกปลาวัยอ่อน “D-Light” ขนาด 1.2 มิลลิเมตร ของบริษัท ไทยยูเนี่ยนฯ ตนก็คิดว่ายังมีขนาดใหญ่อยู่ แต่จำเป็นต้องใช้ ซึ่งการให้อาหารจะมีขั้นตอนที่ยุ่งยากกว่าปัจจุบัน คือ ต้องแช่น้ำปั้นเป็นก้อน หรือแช่น้ำให้นิ่ม แล้วหว่าน แต่ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา อาหารเริ่มมีการพัฒนาขึ้นอีก
โดย บริษัท ไทยยูเนี่ยนฯ ได้ผลิต อาหารปลาสวาย เม็ดเล็กขนาด 1 มิลลิเมตร ขึ้น ภายใต้ชื่อ กบทอง ทำให้การให้อาหารปลาสวาย ขณะที่อนุบาลง่ายขึ้น แต่คุณค่าทางโภชนศาสตร์ระหว่างอาหารกบและอาหารอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน (D-Light) ลูกปลายังจะได้รับโปรตีนในขนาดที่ต้องการเช่นเดิม
จึงทำให้อัตรารอดดีขึ้น คุณภาพและความแข็งแรงได้มาตรฐานมากขึ้น ซึ่งสังเกตได้จากระหว่างการขนส่งจะมีการสูญเสียน้อยลง และแข็งแรงมากขึ้น กว่าแต่ก่อน ส่วนสาเหตุที่ทำให้อัตราการรอดสูงขึ้น เนื่องจากอาหารกบทองมีขนาดเม็ดเล็ก และปลาสามารถตอดกินได้พอดี โดยไม่เสียคุณค่าทางโภชนาการไป
ขั้นตอนการอนุบาล ปลาขนาด “หนึ่งนิ้วสองหุน” อัตรารอดสูงถึง 80%
การรับปลามาอนุบาลต่อต้องรับลูกพันธุ์จากฟาร์มได้มาตรฐานที่กำหนด โดยมีมาตรฐานว่าจะรับ “ปลาหนึ่งนิ้วสองหุน” มาอนุบาลเท่านั้น เพราะจะอนุบาลง่าย และลดอัตราเสี่ยงการสูญเสียได้มาก โดยที่จะรับมาถุงละ 1,000 ตัว แล้วนำมาอนุบาลในบ่อดิน บ่อละ 70,000 ตัว/งาน อนุบาลให้ได้ขนาด 2-3 นิ้ว โดยที่ใช้เวลา 20-25 วัน
ทำให้อัตราเสี่ยงต่อการสูญเสียลดลง เนื่องจากมี อาหารปลาสวาย สำหรับอนุบาลที่มีคุณภาพแล้ว หากถามถึงปัญหาอาจารย์นครกล่าวว่า นานๆ ครั้งถึงจะพบโรค ครั้งแรกที่เริ่มมีอัตรารอดแค่ 10% เท่านั้น จนปัจจุบันมีอัตรารอดสูงถึง 80% โดยที่ใช้อาหารกบทองมีโปรตีน 37% ซึ่งเพียงพอต่อความต้องการของลูกปลา 10 วัน
หลังจากนั้นให้ NEOPRO ต่ออีก 10 วัน เพียงแค่นี้จะได้ลูกปลาขนาด 2-3 นิ้วแล้ว แต่ก่อนที่จะนำปลามาลงจะต้องมีการเตรียมบ่อ เช่น การล้างบ่อ และตากบ่อ โดยทั่วไป โดยที่ตากบ่อ 2-3 วัน และหว่านปูนขาว เพื่อฆ่าศัตรูปลาทุกชนิด จากนั้นใส่น้ำ 1.5 เมตร แล้วจึงจะปล่อยลูกปลา
โดยจะปล่อยในช่วงเช้า เพราะอุณหภูมิของน้ำไม่ร้อน และสามารถให้ อาหารปลาสวาย ในช่วงเย็นได้ทันที ในระหว่างการเลี้ยงจะไม่มีการเปลี่ยนถ่ายน้ำ แต่จะใช้จุลินทรีย์ในการบำบัดน้ำแทน เมื่อเลี้ยงครบ 20-25 วัน แล้ว จะนำขึ้นมาพักในบ่อปูน ก่อนที่จะมีการจำหน่ายตามออร์เดอร์ของลูกค้า แต่บางส่วนก็จะเลี้ยงต่อไปเรื่อยๆ ให้ได้ขนาด 4-5 นิ้ว
ซึ่งได้ราคาจำหน่ายที่สูงขึ้นไปอีก อาจารย์กล่าวต่อไปว่า ปัญหาในการอนุบาลก็มีบ้าง หากมีการจัดการที่ไม่ดี เช่น การฉีดยาฆ่าหญ้าบริเวณคันบ่อ เมื่อฝนตกทำให้น้ำฝนชะล้างสารเคมีที่ตกค้างลงไปในบ่อ ส่งผลให้ปลาตาย แต่เมื่อรู้ปัญหาทางฟาร์มจึงเลี่ยงการใช้ยาฆ่าหญ้า และจะใช้เครื่องตัดหญ้าแทน ถึงแม้ว่าจะเป็นการเพิ่มต้นทุน แต่ก็คุ้มค่ามาก
และมีข้อดี คือ ในการตัดหญ้าจะมีหญ้าที่หล่นอยู่ขอบบ่อ ทำให้หญ้าเกิดการเน่าเปื่อย กลายเป็นปุ๋ย เมื่อฝนตกน้ำฝนจะชะล้างลงบ่อด้วย ก็จะกลายเป็นอาหารของปลาต่อไป ถือว่าเป็นการเพิ่มอาหารธรรมชาติไปในตัว
พักลูกปลา เช็คความแข็งแรง ก่อนส่งขาย
ก่อนจะส่งปลาไปยังลูกค้าปลายทางในจังหวัดต่างๆ จำเป็นต้องมีการตรวจสอบความแข็งแรง และเตรียมความพร้อมล่วงหน้าก่อนส่งมอบให้ลูกค้า เพื่อให้ได้รับปลาที่มีคุณภาพดี หลังจาก 25 วัน ที่นำปลามาอนุบาลในบ่อดินให้ได้ขนาด 2-3 นิ้ว แล้ว ขั้นตอนต่อไปจะเป็นขั้นตอนของการขนย้ายลูกปลาจากบ่อดินที่ผ่านการอนุบาล
ซึ่งจะนำมาพักในกระชังบ่อดินขนาด 2×18 เมตร กระชังละ 20,000-30,000 ตัว มีการโฟลน้ำตลอดเวลา เพื่อเพิ่มออกซิเจนให้เพียงพอ และเป็นการลดอุณหภูมิของผิวน้ำ ช่วงที่นำปลาขึ้นมาพักจะให้อาหารปริมาณ 4-5 กิโลกรัม ให้เพียงมื้อเดียวในตอนเย็นวันละ 1 มื้อ เท่านั้น เนื่องจากเป็นปลาที่เตรียมไว้ขาย เพราะในระหว่างวันลูกค้าอาจจะมีมาซื้อหน้าร้านเลยโดยที่ไม่ได้นัดหมาย
เมื่อให้อาหารมื้ออื่นด้วยจนมันอิ่มอาจส่งผลให้เกิดความเสียหายระหว่างขนส่งได้ แต่ก็พบปัญหาเพิ่มในช่วงฝนตก หรือเปลี่ยนฤดูกาล เพราะสภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลงกะทันหัน เช่น หัวแดง ตัวแดง ปากเปื่อย แก้ปัญหาได้ยากมาก ซึ่งจะให้ยาป้องกันไว้ก่อน และทำให้โอกาสเสียหายลดลงด้วย
เลือก บ. ไทยยูเนี่ยนฯ เป็นคู่ค้าหลัก เพราะมั่นใจในคุณภาพ อาหารปลาสวาย
อาจารย์นครกล่าวว่า ในช่วงแรกที่เริ่มขายลูกพันธุ์ปลา จะไม่ได้เน้นขายอาหาร แต่ก็มีการขายควบคู่กันมาบ้างหลากหลายยี่ห้อ เนื่องจากลูกค้าได้ลูกพันธุ์ปลาไปแล้วก็จะถามหาอาหารด้วย จึงขายคู่กันไป แต่ไม่เคยคิดทำเป็นธุรกิจ เมื่อเวลาผ่านไปก็เริ่มคิดเป็นเชิงการค้ามากขึ้น จึงได้มาร่วมงานกับ บริษัท ไทยยูเนี่ยนฟีดมิลล์ จำกัด (มหาชน)
โดยปัจจุบันเป็นคู่ค้ากันมานานกว่า 7 ปี แล้ว สาเหตุที่ทำให้เป็นคู่ค้ากันมายาวนาน เพราะว่าเคยใช้ อาหารปลาสวาย มาหลายแบรนด์แบบที่กล่าวไปข้างต้น แต่ก็ยังไม่มี อาหารปลาสวาย แบรนด์ใดที่โดนใจ เพราะเมื่อเลี้ยงไปแล้วอัตราการแลกเนื้อได้ไม่เท่าที่ควร หรือลูกปลาอาจจะโตดี แต่ในระหว่างการขนส่งเกิดความเสียหายอย่างมาก
ซึ่งทุกอย่างมีความสัมพันธ์กัน เลี้ยงดี ขนย้ายไม่มีเสียหาย หรือเสียหายน้อย เพราะลูกปลาจะต้องแข็งแรง นครปลาจึงได้พยายามค้นหาอาหารที่ตอบโจทย์ตรงนี้ได้มาตลอด จนได้มาเจออาหารของ บ.ไทยยูเนี่ยนฯ ที่คับคั่งไปด้วยคุณภาพ
โดยแต่ก่อนนั้นทางฟาร์มจะมีการทดสอบ อาหารปลาสวาย ก่อนนำมาขาย ตั้งแต่นำอาหารมาลง และแช่น้ำดูความคงตัวของเม็ดอาหาร และดูว่าจับตัวกันเป็นก้อนหรือเปล่า อีกทั้งยังทดสอบในกระชังเลี้ยงปลาที่เอาไว้สำหรับทดสอบอาหารโดยเฉพาะ ซึ่งกระชังทั้งหมดจะอยู่ในบ่อเดียวกัน และใช้ปลาที่มีขนาดและความหนาแน่นที่เท่าเทียมกัน
แต่จะให้อาหารที่แตกต่างกัน ตามแบรนด์ที่นำมาทดลอง จากนั้นจึงจะเก็บผลการทดสอบเพื่อนำมาเปรียบเทียบอาหารทุกแบรนด์ ก่อนใช้เลี้ยง หรือจำหน่าย จะต้องมีการตรวจสอบหลายอย่าง เพราะเมื่อนำมาเลี้ยงเองแล้วได้ผลออกมาดีก็สามารถที่จะพูดกับเกษตรกรได้ว่าอาหารมีคุณภาพจริงหรือไม่
ซึ่งในปัจจุบันหากมี อาหารปลาสวาย แบรนด์ใหม่เข้ามาก็จะมีการทดสอบก่อนเช่นกัน แต่ถึงวันนี้ยังไม่มีแบรนด์ไหนที่จะเอาชนะใจได้เท่ากับ บ.ไทยยูเนี่ยนฯ บางแบรนด์คุณภาพอาจจะใกล้เคียง แต่ในเรื่องของความแข็งแรงของปลาในการขนย้ายสู่ปลายทางสู้ไม่ได้
การเลือกคุณภาพ อาหารปลาสวาย ที่ใช้
อาหารปลาที่จัดจำหน่ายมีหลากหลายแบรนด์ เช่น “PROFEED” อาหารปลาช่อน “333” จะเป็นอาหารปลากินพืช ซึ่งแต่ละตัวจะทำออกมาแตกต่างกัน เพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการของปลาแต่ละชนิด แต่อาหารหลักที่มียอดจำหน่ายได้สูงที่สุด คือ “NEOPRO” เป็นอาหารปลาดุก ถือได้ว่าเป็นตัวพระเอก เพราะเป็นตัวที่แนะนำลูกค้า
แล้วมีผลตอบแทนสูงที่สุด สามารถทำรอบได้เร็วขึ้น และเนื่องจากต้องดูกำลังทรัพย์ของลูกค้าว่าอยากได้อาหารเกรดไหน ของถูก หรืออยากได้ของมีคุณภาพพรีเมี่ยม หากลูกค้าบางรายมองถึงปลายทาง ที่ผลผลิตออกมามีความแตกต่างกัน ก็กลายเป็นว่าตัว NEOPRO เป็นตัวถูกด้วย เพราะว่าจำนวนกระสอบใช้น้อยกว่า และระยะเวลาเร็วกว่า และคุณภาพเนื้อปลาสวย เป็นที่ต้องการของตลาด เช่น ปลาดุกผิวจะเหลือง ตลาดจะต้องการสูง ขายคล่อง ความรู้สึกจะเหมือนปลาดุกนาที่ตัวเหลือง
ทุกบริษัทอาหารล้วนแล้วแต่มีความต้องการให้เกษตรกรพอใจกับอาหาร ซึ่งคุณภาพอาหารของ บ.ไทยยูเนี่ยนฯ แบรนด์ NEOPRO ถือว่านำมาเป็นอันดับต้นๆ ของพื้นที่ภาคเหนือก็ว่าได้ อย่างเช่น หากเลี้ยงในกลุ่มปลาดุกบิ๊กอุยส่งผลให้มีผิวตัวสีเหลือง หากเปรียบเทียบกับอาหารรายอื่น NEOPRO ถือว่าเป็นอาหารที่ได้มาตรฐานมากที่สุดในแถบบริเวณภาคเหนือ และในเรื่องของราคาไม่แพงมาก
ทำให้เกษตรกรเลี้ยงแล้วมีกำไร อัตราการแลกเนื้อจะไม่ต่ำกว่า 15.1 กิโลกรัม ต่ออาหาร 20 กิโลกรัม หรือ อาหาร 1 กระสอบ หากเป็นปลาดุกรัสเซียจะมีอัตราการแลกเนื้อได้อยู่ที่ 17 กิโลกรัม
กลิ่นที่ปลาสวายชอบ
เนื่องจากในส่วนของวัตถุดิบที่นำมาเป็นส่วนผสมในอาหารที่สำคัญ คือ น้ำมันปลาทูน่า เพราะบริษัท ไทยยูเนี่ยนฯ มีเรือออกหาปลาทูน่าเอง ทำให้กลิ่นของอาหาร NEOPRO จะไม่เหมือนที่บริษัทแห่งอื่นเลย ถือได้ว่าเป็นจุดเด่นของอาหาร และจุดเด่นหลักอีกข้อที่สำคัญ คือ เรื่องของขนาดเม็ด บริษัท ไทยยูเนี่ยนฯ
จะสามารถผลิตขนาดที่แตกต่างจากบริษัทอื่นได้ เช่น อาหารสำหรับกลุ่มลูกปลาจะมีขนาดตั้งแต่ 1.5 มิลลิเมตร เนื่องจากคำนึงถึงขนาดของปากปลาเป็นหลัก ไม่จำเป็นต้องมาบดแบบสมัยก่อน เช่น การเอามาบีบละลายในน้ำ ซึ่งวิธีนี้จะทำให้เสียคุณภาพอาหารไป อาหารขนาดที่เล็กปลาก็จะได้กินทุกเม็ด และแลกเนื้อออกมาเป็นเนื้อปลาได้ดี
ส่วนอาหารกบทองที่ขนาด 1 มิลลิเมตร ถือได้ว่าบริษัท ไทยยูเนี่ยนฯ เป็นบริษัทที่ทำอาหารเม็ดเล็กที่สุดของประเทศก็ว่าได้ ซึ่งฉีกแนวออกมาเป็นขนาดเล็กกว่าที่มีอยู่ในท้องตลาด เพราะคำนึงถึงตั้งแต่อัตราการเจริญเติบโตของลูกปลาที่ดี เพื่อไม่ให้ปลาแตกไซส์ แต่จริงๆ แล้วเม็ดเล็กมีกระบวนการผลิตที่ยากกว่า
เนื่องจากต้องใช้เวลาในการผลิตมากกว่าเดิม แต่ก็คุ้มค่า เมื่อสามารถควบคุมได้ตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงกลางทาง และปลายทาง ทำให้เกษตรกรประสบความสำเร็จในด้าน การเลี้ยงปลา
การเลี้ยงปลา ดุกรัสเซีย ช่วยกำจัดอาหารเหลือ
สำหรับนครปลานอกจากการประกอบธุรกิจค้าลูกพันธุ์ปลา และค้าอาหาร แล้ว ยังมี การเลี้ยงปลา เนื้อด้วย คือ ปลาดุกรัสเซีย โดยเลี้ยงทั้งหมด 4 บ่อ ขนาดบ่อละ 1 งาน ปล่อยในความหนาแน่น 6,000 ตัว สาเหตุที่เลือกเลี้ยงปลาดุกรัสเซียเพราะเป็นปลากินเนื้อ อีกทั้งยังเป็นสัตว์น้ำที่สามารถรองรับอาหารที่เหลือ หรือใกล้หมดอายุ
รวมถึงลูกปลา ที่เสียหายจากการขนส่ง หรือพวกปลาที่ตายแล้วทางฟาร์มจะไม่นำไปทิ้งให้เกิดกลิ่นเหม็นเน่า รบกวนคนในบริเวณ แต่จะกำจัดซากโดยการให้ปลาดุกรัสเซียกินเป็นอาหาร ซึ่งได้ประโยชน์ดีกว่าเอาไปฝังกลบทิ้ง จึงทำให้ การเลี้ยงปลา ดุกรัสเซียเสริมขึ้นมาตรงนี้เป็นเหมือนเป็นการบำบัด และกำจัดของเสียมากกว่า
โดยร่วมงานกับบริษัท ไทยยูเนี่ยนฯ ทำให้มียอดขายที่เพิ่มขึ้น เพราะเมื่อเวลาเกิดปัญหาสามารถขอความช่วยเหลือจากพนักงานขาย และทีมงานวิชาการ ที่คอยเข้าไปช่วยเหลือเกษตรกรได้ถึงที่ หรือแม้แต่การเข้าไปแนะนำการใช้อาหารให้ถูกวิธี เช่น วิธีการเก็บรักษา เพื่อการใช้ให้มีประสิทธิภาพสูงสุดแก่เกษตรกร ลดปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้
นครฟาร์มเกิดจากทุนดำเนินการเพียงแค่ 79 บาท ที่ซื้อมาแล้วขายไป แต่วันนี้การอนุบาลลูกพันธุ์ปลาให้มีคุณภาพจนถึงปัจจุบันทำได้ไม่ยาก เพียงต้องมีการจัดการบ่อที่ดี และมีอาหารที่ดี เท่านี้ก็เพียงพอต่อการสร้างกำไรที่รวดเร็วได้ สุดท้ายนี้ทีมงานนิตยสารสัตว์น้ำต้องขอขอบคุณ คุณนคร เจริญพร ที่ได้สละเวลาให้ข้อมูลเพื่อเป็นแนวทางแก่เกษตรกร ทั้งรุ่นเก่า และรุ่นใหม่
หากเกษตรกรสนใจลูกพันธุ์ปลาคุณภาพ และอาหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยนฟีดมิลล์ จำกัด สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ นครปลา หรือติดต่อโดยตรงที่ อาจารย์นคร โทร. 089-856-4885