บทความนี้บอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับแนวคิด “เปลี่ยนนาเป็นบ่อกุ้ง” เพื่อเป็นตัวเลือกให้เกษตรกร ในการใช้พื้นที่ของตัวเองให้เหมาะสม และหวังว่าจะนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ เพราะถ้าทุกคน ทำพืชชนิดเดียวกันมาก ๆ ราคาผลผลิตจะลดลง ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อเกษตรกรเองและกลุ่มที่ทำอยู่เดิม การเพิ่มตัวเลือกจึงเป็นวิธีที่เหมาะสม บทความนี้จะมีเนื้อหาดังต่อไปนี้
- สถานการณ์อุตสาหกรรมกุ้งของไทยในปี 2559 – 2560
- แนวโน้มการส่งออกกุ้ง 2560
- ตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในการแปลงพื้นที่นาบางส่วนเป็นบ่อกุ้ง
- การเตรียมบ่อ สารปรับสภาพน้ำ และวิธีอนุบาลลูกกุ้ง
- การคัดเลือกสายพันธุ์ลูกกุ้งขาว
- การเลี้ยงกุ้งขาวควบคู่กับกุ้งก้ามกราม
- ปัจจัยสำคัญคือน้ำ
- ติดต่อเกษตรกรตัวอย่าง
สถานการณ์อุตสาหกรรมกุ้งของไทยในปี 2559 – 2560
อุตสาหกรรมกุ้งของไทยในปี 2559 ว่า ผลผลิตกุ้งโดยรวมมีประมาณ 300,000 ตัน หรือเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วประมาณร้อยละ 15 ที่มีผลผลิต 260,000 ตัน ผลผลิตเพิ่มขึ้นดังกล่าวเป็นผลจากการเลี้ยงกุ้งเริ่มฟื้นตัว หลังจากประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาโรคกุ้งตายด่วน หรือ อีเอ็มเอส ( EMS ) ด้วยวิธีการปรับปรุงฟาร์มและการบริหารจัดการการเลี้ยงที่มีประสิทธิภาพขึ้น
ซึ่งต้องขอบคุณวิกฤติโรคกุ้งอีเอ็มเอสที่ทำให้เหล่าเกษตรกรรวมพลังกัน ระดมสมองเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยใช้องค์ความรู้ การวิจัยและนวัตกรรม ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งมีการพัฒนาในวันนี้จึงกลายเป็นมืออาชีพ ทั้งนี้ได้เกิดการปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงใหม่
ซึ่งยึดหลักของ “สะอาด 3 อย่าง” ได้แก่ บ่อสะอาด น้ำสะอาด และลูกกุ้งสะอาด ทำให้เกิดระบบนี้จะนำพาอุตสาหกรรมกุ้งไทยพัฒนาอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน
สำหรับการส่งออกในปี 2559 ในรอบ 10 เดือน ตั้งแต่มกราคม-ตุลาคม อยู่ที่ 160,935 ตัน มูลค่า 54,483 ล้านบาท ทั้งปีคาดว่าจะส่งออกได้ราว 300,000 ตัน มูลค่าราว 60,000 ล้านบาทขึ้นไป
ส่วนในปี 2560 เชื่อว่า จะเป็นปีที่ดีสำหรับเกษตรกรเลี้ยงกุ้ง ทั้งในด้านราคาและผลผลิตที่เชื่อว่าจะอยู่ในเกณฑ์ดี โดยในปี 2559 ราคากุ้งไทยซื้อขายในประเทศอยู่ที่ 120-140 บาทต่อกิโลกรัม ประคองไม่ต่ำกว่า 120 บาทต่อกิโลกรัมให้เกษตรกรมีความสุข
สำหรับผลผลิตในปี 2560 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 350,000 ตัน ซึ่งถือว่ามากที่สุดในรอบ 4 ปี ด้านการส่งออกปี 2560 คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 10 – 15 % โดยมูลค่าการส่งออกขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งอัตราที่ดีต่อผู้ส่งออกอยู่ระหว่าง 37 – 38 บาท
อย่างไรก็ตามการผลิตเน้นที่เรื่องคุณภาพมากกว่าปริมาณ เพื่อผลตอบแทนที่ดีกว่าและไม่ให้มีปริมาณมากเกินไปจนฉุดราคากุ้งตกต่ำ
แนวโน้มการส่งออกกุ้ง 2560
โดยตลาดส่งออกกุ้งที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐฯ มีสัดส่วน 40% ญี่ปุ่น 20% จีน10% และสหภาพยุโรปลดลงเหลือประมาณ 5% ในขณะที่ยอดความต้องการกุ้งโดยรวมอยู่ที่ 450,000 ล้านตัน สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมกุ้งทั่วโลกนั้น
ผู้ผลิตกุ้ง 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน อินเดีย ไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย ในปี 2559 ผลผลิตกุ้งโดยรวมทั่วโลกผลิตลดลงอยู่ที่ 2,363,000 ตัน คาดในปี 2560 จะเพิ่มขึ้นไม่มาก
ทั้งนี้ในจีนเลี้ยงกุ้งมากแต่เลี้ยงเพื่อบริโภคในประเทศ ไม่ได้ส่งออก ผลผลิต 2560 มีแนวโน้มลดลงเนื่องจากจีนยังประสบปัญหาโรคอีเอ็มเอสไม่สามารถฟื้นตัวได้ ทำให้ต้องเลิกเลี้ยงไปในช่วงฤดูร้อน
นอกจากนี้มีการใช้ยาปฏิชีวนะสูง แต่ด้วยประชากรที่มีอยู่เป็นจำนวนมากถึง 1,300 ล้านคน จีนจึงเป็นตลาดส่งออกสำคัญที่เป็นโอกาสสำหรับไทย จีนบริโภคกุ้ง 1 กก.ต่อคนต่อปี ทำให้จีนมีความต้องการมากถึง 1,300 ล้านตันต่อปี
สำหรับคู่แข่งในการส่งออกที่สำคัญของไทย ได้แก่ เวียดนาม และอินเดีย แต่ไม่น่ากังวลนัก โดยอินเดียส่งออกอันดับ 1 แต่ปี 2560 อาจเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วนไทยส่งออกเป็นอันดับ 2 ของโลก
โดยภาพรวมแล้วเชื่อว่า กุ้งยังเป็นอาหารทะเลที่ยังเป็นที่ต้องการของตลาด ส่วนราคายังมีเสถียรภาพ ปริมาณการผลิตไม่เพิ่ม ในสหรัฐฯการเปลี่ยนผู้นำไม่มีผลต่อการบริโภค ประชาชนยังบริโภคกุ้งเหมือนเดิม
อัตราแลกเปลี่ยนมีส่วนสำคัญ
อย่างไรก็ดีผู้เลี้ยงกุ้งไทยเรียกร้องให้ภาครัฐช่วยดูแลอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อช่วยผู้ส่งออกกุ้งไทย พร้อมทั้งให้ช่วยเหลือด้านประชาสัมพันธ์มาตรฐานแรงงานในอุตสาหกรรมกุ้งตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทยในการปรับปรุงแก้ไขเรื่องแรงงานที่ไม่เป็นธรรม เช่น มาตรฐาน GLP หรือมาตรฐาน TLS 8000
ขณะเดียวกันยังเรียกร้องให้ภาครัฐช่วยเจรจากับประเทศจีนเรื่องภาษี VAT ซึ่งจะถูกเรียกเก็บประมาณ 13% หากเป็นการนำเข้าผ่านด่านประเทศจีนโดยตรง ที่ผ่านมาผู้นำเข้าเลี่ยงไปนำเข้าผ่านเวียดนาม ที่ได้รับสิทธิพิเศษไม่เสียภาษี VAT
อีกทั้งวอนให้ช่วยเจรจากับออสเตรเลีย ให้สิทธิพิเศษในการนำเข้ากุ้งดิบกับประเทศไทย เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่มีกุ้งมีคุณภาพ ปราศจากเชื้อไวรัส
ซึ่งทางกรมประมงสามารถที่จะเจรจาร่วมกับ AQIS ของออสเตรเลียในการสร้างมาตรฐานในการนำเข้ากุ้งดิบไปออสเตรเลีย เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาตนเองเข้าสู่ระบบและสามารถส่งกุ้งดิบไปยังออสเตรเลียได้
ตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในการแปลงพื้นที่นาบางส่วนเป็นบ่อกุ้ง
นิตยสารสัตว์น้ำ ฉบับที่ 332 ประจำเดือน เมษายน 2560 ทีมงานได้มีโอกาสเข้าไปสัมภาษณ์ คุณธวัชชัย เล็กประยูร (คุณเกษม) เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งพื้นที่ 20 ไร่ ที่บางหลวง นครปฐม พื้นเพยึดอาชีพชาวนา
ปลูกข้าวขายซึ่งสามารถเก็บเกี่ยวได้ตามฤดูกาล คือ การทำ “นาปี” เป็นนาข้าวที่ทำในระหว่างเดือนเมษายนจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นฤดูการทำนาปกติ พันธุ์ข้าวนาปีจะออกดอกตามวันและเดือนที่ค่อนข้างตายตัว ไม่ว่าจะตกกล้าในเดือนเมษายน พฤษภาคม มิถุนายน กรกฎาคม หรือสิงหาคม เมื่อถึงวันที่จะออกดอกก็ออกพร้อมกันหมด
เนื่องจากช่วงของแสงต่อวันบังคับ ตามปกติจะแบ่งวันหนึ่งออกเป็น กลางวัน 12 ชั่วโมง กลางคืน 12 ชั่วโมง แต่เนื่องจากการหมุนรอบตัวเองของโลก
จึงทำให้แต่ละส่วนของ โลกได้รับแสงอาทิตย์ในแต่ละวันไม่เท่ากัน ทำให้เมื่อช่วงของวันยาวขึ้นข้าวก็จะเจริญเติบโตทางลำต้น ไม่ออกรวง หรือถ้าออกรวงได้ก็ไม่พร้อมกันในต้นเดียว บางรวงก็แก่โน้มลง บางรวงก็เพิ่งตั้งท้อง จนเมื่อช่วงของวันเริ่มสั้นลง ข้าวพวกนี้จะเจริญทางพันธุ์ (ออกรวง)
ดังนั้น การทำนาล่า เช่น ปักดำในเดือนตุลาคม ต้นข้าวจะเตี้ย แตกกอน้อย รวงเล็ก เพราะยังไม่ทันเจริญทางลำต้นก็ต้องมาเจริญทางพันธุ์ นั่นคือ วันสั้นยาวมีผลต่อการออกรวงของข้าว ข้าวประเภทนี้จึงเรียกว่า “ข้าวนาปี” หรือ “ข้าวไวแสง”
ซึ่งเป็นข้าวที่ออกตามฤดูกาล และ การทำ “นาปรัง” เป็นนาข้าวที่ต้องทำนอกฤดูทำนาเพราะในฤดูทำนา น้ำมักจะมากเกินไป ซึ่งข้าวที่ใช้ทำนาปรังจะเป็นข้าวที่แสงไม่มีอิทธิพลต่อการออกดอก ซึ่งเรียกว่า “ข้าวนาปรัง” หรือ “ข้าวไม่ไวแสง”
ซึ่งเป็นข้าวที่ออกตามอายุ ไม่ว่าจะปลูกเมื่อใด พอครบอายุก็จะเก็บเกี่ยวได้ และซึ่งในช่วงปีที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องราคาข้าวตกต่ำลง ทำให้พลิกผันตัวเองมาทำบ่อกุ้งเพื่อเพิ่มรายได้อีกช่องทางโดยที่ยังไม่ทิ้งการทำนา
การเตรียมบ่อ สารปรับสภาพน้ำ และวิธีอนุบาลลูกกุ้ง
ในขณะเดียวกัน น้ำในพื้นที่บางหลวง แถบนั้นเป็นพื้นที่ปลายน้ำ น้ำไม่ดีมีทั้งสารเคมี และน้ำเสีย ยังจำเป็นที่จะปลูกข้าวเพื่อให้นาข้าวเป็นที่พักน้ำก่อน เพื่อปรับความเป็นพิษของน้ำ แล้วจึงปล่อยเข้าบ่อพักน้ำเพื่อบำบัดก่อนปล่อยน้ำดีนอกจากนี้ยังมี “ ไรแดงธรรมชาติ ” ที่เกิดขึ้นจากการปรับสภาพน้ำ เมื่อเราหว่านสารปรับสภาพน้ำลงในบ่อที่เตรียมไว้ ช่วง 6 – 7 วันแรก
ก่อนที่จะปล่อยกุ้งลงในบ่อจะมีไรแดงขึ้นเป็นจำนวนมาก เพราะ “ไรแดง”เป็นอาหารธรรมชาติที่ดีสำหรับการอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนโดยเฉพาะสัตว์น้ำเศรษฐกิจ ทั้ง กุ้งขาว กุ้งก้ามกราม ปลาสวยงามและปลาเศรษฐกิจ ในอดีตไรแดงส่วนใหญ่รวบรวมได้จากแหล่งน้ำโสโครกตามบ้านเรือน โรงฆ่าสัตว์ หรือโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งมีปริมาณไม่แน่นอน ปัจจุบันไรแดงจากธรรมชาติมีปริมาณลดลงเพราะสภาพสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เปลี่ยนไป
ในขณะที่ ความต้องการไรแดงกลับเพิ่มขึ้น ทำให้ประสบปัญหาการขาดแคลนไรแดงในการอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนมากขึ้น ซึ่งมีผลโดยตรงกับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การเพาะเลี้ยงไรแดง และการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และอาหารที่เลือกให้กับกุ้งขาว และ กุ้งก้ามกรามจะเป็นชนิดของเม็ดจม
เพราะนิสัยการกินของกุ้งคือการเดินหาอาหารกินเอง ซึ่งทางคุณเกษม ได้มีการให้อาหารกุ้งในช่วงเวลา 6 โมงเช้า และ ช่วงบ่าย 3 – 4 โมงเย็น เพราะจะเป็นช่วงที่แสงไม่มากเกินไป อากาศโปร่งจะทำให้กุ้งกินอาหารได้ดีกว่า และจะส่งผลให้กุ้งแข็งแรง และโตไว เป็นอาหารธรรมชาติที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง
ดังนั้นการอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนด้วยไรแดงจึงทำให้อัตรารอดและอัตราการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำวัยอ่อนที่สูงมาก ไรแดงน้ำหนักแห้งประกอบด้วยโปรตีน 74.09 % คาร์โบไฮเดรต 12.50% ไขมัน 10.19 % และเถ้า 3.47 % และเมื่อใส่สารปรับสภาพน้ำ “ ตรากุ้งสามตัว ” ลงสู่บ่อแล้วก็จะพบไรแดงธรรมชาติที่เกิดขึ้นภายในบ่อกุ้งซึ่งทำให้เลี้ยงกุ้งเล็กได้ถึง 7 วัน ประหยัดต้นทุนอาหารเกือบ 1 สัปดาห์
จากพื้นที่ทำนา พลิกผันเป็นบ่อกุ้งเพิ่มรายได้ให้ครอบครัว
ด้วยเศรษฐกิจข้าวในปีที่ผ่านมา ราคาตกต่ำลงมากทำให้ชาวนาตาดำๆก็ต้องเลิกทำนาไปก็เยอะ เปลี่ยนอาชีพอีกมากมาย แต่ยังมีชาวนาที่พลิกผันวิกฤตจากนาข้าวมาทำเป็นบ่อกุ้งเพื่อเพิ่มรายได้เป็นจำนวนมาก แต่ก็ยังไม่ทิ้งอาชีพชาวนา
ตอนนี้กุ้งก็มีราคาที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจึงทำให้ คุณเกษม ได้หันมาเลี้ยงกุ้งโดยมีการปรับเปลี่ยนพื้นบ่อโดยการทำคันเพื่อกักเก็บน้ำในบ่อให้มีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งการทำคันเพื่อกักเก็บก็ต้องมีการจ้างแรงงานในการขุดบ่อราว 10,000 บาท / ไร่
เพื่อไม่ให้เกิดการรั่วไหลเมื่อทำคันเสร็จก็จะทำการปรับบ่อและปล่อยน้ำเข้าบ่อ และมีการปรับสภาพดิน สภาพน้ำ จึงมีการเตรียมบ่อโดยการตากบ่อ จนกระทั่งดินสุก ถึงจะปล่อยน้ำที่พักไว้ในนาข้าวเข้าสู่บ่อที่เตรียมไว้ แล้วถึงจะมีการปรับสภาพน้ำ
โดยการใส่สารปรับสภาพน้ำ “ ตรากุ้งสามตัว ” ประมาณ 2 ลูก หรือ 100 กิโลกรัม เมื่อหว่านลงน้ำจะเห็นได้ชัดว่าจะเกิดวงสีขาว และ สีของน้ำจะดีขึ้น ซึ่งสารปรับน้ำตัวนี้ช่วยปรับสภาพดินและเลน ที่เป็นของเสียใต้บ่ออีกด้วย การใส่สารปรับสภาพน้ำโดยการหว่านขณะปล่อยน้ำใส่ในบ่อ จะเห็นความแตกต่างได้ชัด
เช่น เกิดไรแดงธรรมชาติโดยการมองเห็นจากผิวน้ำ นั่นคือมีแร่ธาตุ น้ำเปลี่ยนสี และดินดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อย่างพื้นที่ 5ไร่ ใช้สารปรับสภาพน้ำไร่ละ 2ลูก และค่า pH อยู่ที่ 7 – 8 จึงจะทำการปล่อยกุ้งลงในบ่อที่เตรียมไว้
และการให้ออกซิเจน หรือ การตีน้ำ ก็เป็นอีกส่วนของการเลี้ยงกุ้ง หากปล่อยกุ้งหนาแน่น และให้ออกซิเจนไม่เพียงพออาจทำให้กุ้งตายได้ เพราะน้ำในบ่อจะปะปนกับขี้กุ้งและเลนอีกด้วย จึงต้องให้ออกซิเจน เพื่อให้เกิดการถ่ายเทอากาศให้กับกุ้งเพื่อการอยู่รอด และแข็งแรง
การคัดเลือกสายพันธุ์ลูกกุ้งขาว
ในการเลี้ยงกุ้งคุณเกษม ยังเจอปัญหากุ้งอีกมากมาย โดยเฉพาะเรื่องของลูกพันธุ์ที่นำมาเลี้ยงก่อนหน้านี้เดิมทีเคยใช้ ราคาสูง เกิดการแตกไซส์ ลูกกุ้งไม่โต ไม่กินอาหาร จึงเปลี่ยนมาเรื่อย จนพบกับฟาร์มผู้ใหญ่ปัญญา (คุณน้อยหน่า) ลูกพันธุ์ค่อนข้างดี เพราะลูกกุ้งที่เลี้ยงแล้ว ไม่แตกไซส์ กินอาหารดี โตไว ทำให้ได้ผลผลิตดี และได้ไซส์ที่ตลาดต้องการ
การเลี้ยงกุ้งขาวคู่กับกุ้งก้ามกราม
ทางฟาร์มของคุณเกษม ซึ่งเป็นฟาร์มที่อยู่ปลายน้ำในการทำการเกษตร 1 บ่อ จะใช้พื้นที่ 5 ไร่ สามารถปล่อยกุ้งขาวอยู่ได้ที่ 100,000ตัว / ไร่ เติมก้ามกรามอีก 100 กิโลกรัม เลี้ยงผสมกันเพราะมันอยู่คนละชั้นน้ำ
การเลี้ยงกุ้งก้ามกราม เพื่อช่วยกินของเสียภายในบ่อ ไซส์ของกุ้งขาวจะเล็กกว่าก้ามกราม เมื่อเลี้ยงผสมกันกุ้งก็จะโตไล่กันพอดีกับเวลาจับขาย และเมื่อได้ไซส์อยู่ที่ 70 – 90 วัน จะเป็นไซส์ที่แพต้องการคือ 100 ตัว / กิโลกรัม 70 – 90 ตัว / กิโลกรัม
แต่ส่วนใหญ่จะจับอยู่ที่ไซส์ใหญ่เพราะ ตอนนี้ราคากุ้งขาวดีกว่า และไม่รู้ว่าราคาลงสุดหรือไม่ ในส่วนของกุ้งก้ามกราม ตัวผู้จะอยู่ที่ไซส์ 20ตัว / กิโลกรัม ราคา 200 บาท
ถ้าช่วงเทศกาลราคาดี 300 – 350 บาท ตัวเมียที่เคยขายได้ไซส์ 40ตัว/กิโลกรัม ราคาจะ 200 – 230 บาท ตอนนี้ที่ราคา 150 บาท เหตุที่ราคาไม่นิ่งมันขึ้นอยู่ที่แม่ค้า ถ้าแม่ค้าไม่ไปแย่งกันซื้อก็จะทำให้ราคาลดลงเรื่อย ๆ
ฝากถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งปลายน้ำ
หากพูดถึงการเลี้ยงกุ้งปลายน้ำ ปัจจัยหลักคือ“น้ำ”เพราะถ้าน้ำไม่ได้ ค่า pH ,ค่าอัลคาไลน์ ไม่ได้ก็จะส่งผลทำให้กุ้งตายได้ ดังนั้นการปรับสภาพน้ำ วัดค่าน้ำ สีของน้ำ คือ สิ่งสำคัญต้องตรวจสอบเสมอ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย
หากสนใจเยี่ยมชม หรือปรึกษาเรื่องการเพาะเลี้ยงกุ้ง
คุณธวัชชัย เล็กประยูร (คุณเกษม)
บ้านเลขที่ 1 หมู่ 8 ตำบล บางหลวง อำเภอ บางหลวง จังหวัด นครปฐม
โทร: 061-872-6609