ด้วยข้อจำกัดในการเลี้ยงกุ้งให้ “ยั่งยืน” หลายประการ ส่งผลให้ประเทศไทยลดประสิทธิภาพ การผลิต และ การตลาด ปล่อยให้ประเทศคู่แข่ง อย่าง เวียดนาม เอกวาดอร์ และ อินเดีย แซงหน้า ทั้งๆ ที่ไทยเคยเป็นแชมป์โลกมาก่อน จุดอ่อน ตลอดห่วงโซ่การผลิตหลายเรื่อง ยังเป็นดินพอกหางหมู และ “จุดแข็ง” บางอย่าง ก็ยังไม่ขยายผล เช่น พื้นที่ ภาคกลาง-ตะวันออก สามารถเลี้ยง กุ้งก้ามกราม และ กุ้งขาว ในบ่อเดียวกันสำเร็จ มีตัวอย่างมากมาย แต่รัฐ โดย กรมประมง ไม่ได้ส่งเสริมเรื่องนี้ ทั้งๆ ที่ พันธุ์ และ ปัจจัยการผลิต เอื้ออำนวย นิตยสารสัตว์น้ำ จึงต้องหยิบเกษตรกรคนเก่ง เมืองยอดแหลม ที่ประสบความสำเร็จ มานำเสนอ หวังว่าแกนนำผู้เพาะเลี้ยงกุ้ง และ สัตว์น้ำ ทั้ง 2 ภาค จะได้สนใจขยายผล
การเพาะเลี้ยงกุ้ง
ณ ตำบลบางแขม อ.เมือง จ.นครปฐม คนจีน นาม “นำชัย ภู่เจริญ” ได้เช่าที่ดินนายทุนดังๆ อย่าง เจ้าพ่อล้อยางใหญ่โอตานิ หลายร้อยไร่ เพื่อทำสวนเกษตร ระยะหลังได้นำมาพัฒนาเพื่อเลี้ยง กุ้งก้ามกราม และ ปลานิล จนกระทั่งได้ส่งมอบธุรกิจให้ลูกชาย “ไพฑูรย์ ภู่เจริญ” เพราะเห็นว่ามีประสบการณ์พอสมควร โดยมี “คุณถวิล ภู่เจริญ” มารดา มาช่วยดูแล และให้กำลังใจ
ถึงรุ่นลูกใช้ที่ตนเอง 12 ไร่ และเช่าที่จากนายตำรวจที่กรุงเทพ รวมทั้งหมด 100 ไร่ เลี้ยงปลานิลหมัน เจอโรคเล่นงาน จึงตัดสินใจหันมาเลี้ยงกุ้งก้ามกรามปนกับกุ้งขาววานาไม ในปัจจุบัน
เนื่องจากในอดีตย่านนี้ น้ำสะอาด อากาศตรงฤดู ยังพอมีรายได้จากการเลี้ยงปลาและกุ้ง ต่างจากวันนี้ สภาพแวดล้อมไม่ดี อากาศแปรปรวน การเลี้ยงกุ้งและปลาต้องใช้ฝีมือมากขึ้น
เนื่องจากคุณไพฑูรย์ได้ประสบการณ์จากเตี่ย และจำเป็นต้องสู้ เพราะมีลูกและภรรยา ต้องเดินหน้าเลี้ยงกุ้งให้มี “กำไร” ไม่ว่าจะสุ่มเสี่ยงแค่ไหน
การบริหารจัดการบ่อกุ้ง
ดังนั้นเขาจึงต้องเอา “ตัวเอง” เข้าไปเรียนรู้ทุกเรื่อง โดยเฉพาะการลงไปอยู่ใน “บ่อกุ้ง” เพื่อหาข้อมูลต่างๆ จนพบสัจธรรมหลายเรื่อง แล้วนำมาวิเคราะห์แก้ปัญหาและพัฒนา
การเลี้ยงกุ้งในสภาพอากาศแปรปรวนรวดเร็ว ไม่มีทฤษฎีเป็นสูตรสำเร็จ ดังนั้นจึงต้องพลิกแพลงตามสถานการณ์
ยุคเลี้ยงกุ้งก้ามกรามแบบธรรมชาติ คุณไพฑูรย์เร่งจับกุ้งตัวเมียจิ๊กโก๋ไปขาย เมื่อเลี้ยงได้ 4-5 เดือน จากนั้นก็เลี้ยงตัวผู้ตัวโตๆ 8-9 เดือน แล้วจับขาย ถ้าไม่โตก็เลี้ยงต่อ อาหารก็ผสมเอง โดยปลายข้าวแช่น้ำแล้วหว่านให้กิน ไม่ต้องให้ออกซิเจน มีแต่ถ่ายน้ำออกครึ่งบ่อแล้วนำเข้าใหม่ คุณไพฑูรย์เป็นวัยรุ่น ทำงานตามที่เตี่ยสั่ง
ใกล้ๆ ฟาร์ม ได้กำเนิดอาหารผง ของ บริษัท โภคาฟีด จำกัด ซึ่งเข้ามามีบทบาทต่อผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามพอสมควร เตี่ยและคุณไพฑูรย์ได้ทดลองใช้ ลองผิดลองถูก แต่ในที่สุดก็ต้องผสมอาหารใช้เองเหมือนเดิม
การทดลองเลี้ยงกุ้งก้ามกราม ท่ามกลางประสบการณ์ที่ไม่มีหลักวิทยาศาสตร์มาวิเคราะห์ โอกาสผิดพลาดมีสูง แม้แต่ “กุ้งน็อค” กระโดดกลางคืน ก็สรุปว่ากุ้งหิว เป็นต้น
ปัญหาและอุปสรรคการเลี้ยงกุ้ง
เมื่อเตี่ยเสีย ก็เป็นภารกิจของคุณไพฑูรย์ เลิกกุ้งก้ามกรามหันมาเลี้ยงปลานิลหมันกับซีพี แต่ก็เจอโรคอยู่ ไม่รอด ต้องกลับมาเลี้ยงก้ามกรามอีกครั้ง เพราะซีพีก็จับกุ้งก้ามกรามด้วย แต่สุดท้ายก็ไปไม่ได้ ด้วยสาเหตุหลายประการ ทั้งๆ ที่ลูกกุ้งซีพีโตดี เลี้ยง 5 ตัว/กก.
วันนี้คุณไพฑูรย์ตัดสินใจเลี้ยงก้ามกรามปนกับกุ้งขาว ในบ่อขนาด 5 ไร่ ใช้อาหารกุ้ง ของ บริษัท โกรเบสท์ จำกัด และของ บริษัท ไทยยูเนียน จำกัด (มหาชน) ส่วนลูกกุ้งก้ามกรามใช้ของโกรเบสท์ “ตอนนี้ผมเป็นตัวชูโรง เอาลูกกุ้งเขามาชำ กุ้งติด 94% มีลูกบ่อเอาลูกกุ้งมาไล่ๆ กับผม ปรากฏว่าไม่ติด ของผมติด จึงมาดูวันปล่อย-ย้าย-ขาย และครอปล่าสุดติด 80% ผมถามว่ามีโปรให้มั๊ย เขาไม่ลดราคาให้ แต่อาจมีแถมให้” คุณไพฑูรย์ เปิดเผยถึงการค้ากับโกรเบสท์ ขณะที่อาหารของไทยยูเนียนใช้มาหลายปีแล้ว และวันนี้ได้ใช้ของโกรเบสท์มาเปรียบเทียบด้วย
ยุคที่เลี้ยงก้ามกรามล้วนๆ คุณไพฑูรย์มีแต่ความชอกช้ำ ใช้อาหาร 1-2 ตัน ได้กุ้ง 200-300 กก. เพราะเทสต์อาหารไม่เป็น บางครั้งสั่ง “ห้องเย็น” มาจับกุ้ง พอวิดน้ำแห้ง ปรากฏว่ากุ้งไม่มี
แต่เพราะความรับผิดชอบต่อครอบครัว จึงขอโอกาสจากภรรยาเลี้ยงต่ออีก 1 ครอป ถ้าไม่รอดก็ขายกิจการ
คุณไพฑูรย์ได้ทบทวนสาเหตุแห่งความล้มเหลว หลังปล่อยลูกกุ้งได้ดูแลอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา บ่อยครั้งที่ต้องลงบ่อกุ้งเพื่อเรียนรู้ โดยเฉพาะการใช้ แร่ธาตุ และ อาหารสำเร็จรูป เป็นต้น แต่กุ้งก็เงียบ ในแต่ละวันไม่แสดงอาการใดๆ จนกระทั่งมั่นใจว่าได้ไซซ์ที่ตลาดต้องการ
“แฟนบอกว่ากุ้งมันกินอาหารเยอะ มีตัวกุ้งหรือเปล่า เราเคยโดนมาแล้ว จนถึงวันลาก คนงาน รถอ๊อก มาจับ พอเข้าฝั่งตลบอวน ใจไม่ดี มันเงียบ แต่พอรวมอวนมันฟู่ขึ้นมา เลยใจชื้น ปล่อยกุ้งแสนตัวได้ 1 ตัน สมัยนั้นใครปล่อยแสนได้ตัน ถือว่าเก่งมาก” คุณไพฑูรย์ เปิดใจถึงความสำเร็จ จากนั้นคุณไพฑูรย์ก็ประสบความสำเร็จเลี้ยงกุ้งก้ามกรามปนกุ้งขาวมาตลอด และประสบความสำเร็จ ทั้งๆ ที่ฟาร์มอื่นๆ ล้มเหลว
ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายกุ้ง
การมีกุ้งขายให้ พ่อค้า แม่ค้า ย่อมตั้งราคาเองได้ เห็นกำไรเนื้อๆ
เมื่อถามว่ากำไรเป็นล้าน/ครอป มีปัจจัยอะไรบ้าง คุณไพฑูรย์ยืนยันว่า เรื่องแรกต้องวางแผนการผลิต ให้กุ้งออกมาในช่วงที่ตลาดไม่มีกุ้ง เช่น ปล่อยลูกกุ้งขาวในบ่อ 5 ไร่ 1-1.5 แสนตัว ปล่อยกุ้งก้ามกราม 5 หมื่นตัว ในช่วงปลายฝนต้นหนาว แม้จะเจอโรคต่างๆ ก็ไม่ห่วง โดยใช้ยาพื้นฐาน เช่น ตระกูลออกซี่ คุมไว้ก่อน พอเริ่มหนาว หรือมีฝน ก็ปล่อยให้กุ้งอดอาหาร
“พอกุ้งเริ่มได้ไซซ์ ผมจะเลี้ยงพยุงแค่พออิ่ม ไม่ให้ผอม กุ้งโตแล้วให้พออิ่ม แต่ไม่อด กุ้งก้ามกรามไซซ์ 10-12 ตัว/กก. ได้ แล้วกุ้งขาวไซซ์ไหนไม่เป็นไร เพราะผมดักไอ้โง่ออกก่อน พอเริ่มบาง กุ้งก้ามกรามก็เลี้ยงปกติ ก่อนปีใหม่ 10 บ่อ กุ้งตัวผู้ 10-12 ตัว/กก. ราคา 300 กว่าบาท ตัวเมีย 200 กว่าบาท” คุณไพฑูรย์ เปิดเผยถึงการเล่นไซซ์ระหว่างกุ้งขาว/กุ้งก้ามกราม ในช่วงตลาดขาดกุ้ง
อย่างไร คุณไพฑูรย์ให้ความสำคัญกับเรื่องบริหาร “ต้นทุน” การเลี้ยง เช่น การลดค่าน้ำมัน/ค่าไฟ ในการให้ออกซิเจน วันไหนอากาศดี ไม่ตีน้ำ ไม่ใช้เครื่องออโต้ฟีด เขาจะเดินให้อาหารทั่วบ่อ แต่ถ้าบ่อใหญ่จะลงเรือให้อาหาร และเลิกใช้ยอในการเช็คอาหาร เพราะไม่แน่นอน เพราะบางครั้งอาหารในยอไม่หมด แต่อาหารที่พื้นหมด หรือในยอหมด แต่ที่พื้นหมด
“ผมต้องลงน้ำเอง บ่อไหนให้อาหารตอนเช้า ต้องเช็คอาหาร 13.00-14.00 น. ถ้าช้อนแล้วหมดก็ถือว่าหมด ที่ต้องลงพื้นเพราะได้เห็นตัวกุ้ง ดูอาการกุ้ง ถ้าเห็นท่าไม่ดีจับเลย” คุณไพฑูรย์ ยืนยันถึงความจำเป็นของการลงบ่อ
การให้อาหารกุ้ง
การได้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามกับเตี่ย ย่อมได้ประสบการณ์บางอย่างมาประยุกต์ใช้ เช่น การผลิตอาหารใช้เองในฟาร์ม ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ เพราะอาหารเม็ดระบุโปรตีน 38% พอนำไปตรวจที่ ม.กำแพงแสน ออกมาเพียง 32.5% จึงต้องผลิตเครื่องจักรเอง จัดหาวัตถุดิบเอง เช่น ปลาเป็ด กากถั่วเหลือง รำละเอียด มะพร้าวขูด เป็นต้น ได้โปรตีน 38% เมื่อนำมาเลี้ยงกุ้ง ปรากฏว่า กุ้งมีโครงสร้างใหญ่ เนื้อแน่น น้ำหนักดี สีสวย หัวไม่มีมัน
“ในสูตรอาหารที่ต้องใช้มะพร้าวขูดด้วย เพราะมีไขมันอิ่มตัว ช่วยการลอกคราบ และได้ศึกษาวิธีการอบอย่างไรไม่ให้โปรตีนหาย” คุณไพฑูรย์ ยอมรับถึงความจำเป็นในการผลิตอาหารให้มีคุณภาพ ดังนั้นการอบเม็ดอาหารให้แห้ง จึงต้องใช้ “ลมร้อน” มาอบ 1 คืน ไม่ใช้แก๊ส ซึ่งเคยผิดพลาดมาแล้ว แม้แต่ ความเหนียว ของเม็ดอาหาร ก็ทดลองหลายอย่าง แม้แต่ กล้วย ก็ถูกนำมาใช้ได้ผลดี แต่เมื่อกล้วยราคาแพง ก็ต้องหันมาใช้ สารเหนียว แทน
แม้แต่แลปที่ตรวจโรคกุ้ง คุณไพฑูรย์ก็ไม่เชื่อใจ เพราะเมื่อกุ้งเป็นโรคก็แนะนำให้ใช้ยา ถ้ากุ้งที่ขายเกิดถูกตรวจแล้วเจอสารตกค้างจะพังทั้งระบบ เหตุนี้คุณไพฑูรย์เรียนรู้เรื่อง “สมุนไพร” แล้วนำมาทดลองผสมอาหารให้กุ้งกิน โดยเฉพาะสายพันธุ์บางชนิด ใช้ใบ 1 กระสอบ แปรรูป ผสมอาหาร 400 กก. ให้กุ้งกิน หยุดโรคขี้ขาวได้ดี แค่กุ้งกินเพียง 4 มื้อ เท่านั้น
สุดท้าย คุณไพฑูรย์ได้เปรียบเทียบการเลี้ยงกุ้งในบ่อที่มีพื้นเป็นดินทราย น้ำเลี้ยงขาว เหลือง กุ้งจะมีสีใสอมเหลือง ตรงกันข้ามกับบ่อดินดำ น้ำค่อนข้างเขียว กุ้งจะเปลือกเขียว ขายได้ราคา
เป็นอันว่า คุณไพฑูรย์ ภู่เจริญ วันนี้ประสบความสำเร็จในการเลี้ยงกุ้งขาวปนกุ้งก้ามกราม เพราะใช้องค์ความรู้ที่สะสมมาหลายทศวรรษ มาประยุกต์ใช้ด้วยตัวเอง และเป็นคนเปิดรับองค์ความรู้ใหม่ๆ เป็นน้ำไม่เต็มแก้ว เป็นนักบริหารต้นทุน โดยคำนึงถึง “ตลาด” เป็นหลัก
เมื่อดู “บทบาท” ของนักเลี้ยงกุ้ง ที่เกื้อกูลแลกเปลี่ยน องค์ความรู้ และ ปัจจัยการผลิต ซึ่งกันและกัน จะพบว่าเขาเป็นเลือดจีน ที่ต้องสู้ไม่ถอยง่ายๆ ซึ่งเขาได้คลุกคลีอยู่กับบริษัทผลิต “อาหาร” ชื่อดัง ในฐานะผู้ใช้ แต่ยังไม่มีใครหยิบยกบทบาทของเขาในการเลี้ยงกุ้งแบบยั่งยืนในภาคกลาง เพื่อให้เป็นต้นแบบต่อการถ่ายทอดทักษะไปสู่เกษตรกร ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดาย