ฟาร์มปลาผู้ใหญ่พร GAP ผลิตลูกปลาน้ำจืด 20 ชนิด ป้อนตลาดในและนอก

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ทีมงานสัตว์น้ำจะพาไปดูการเลี้ยงปลาที่ ฟาร์มปลาผู้ใหญ่พร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่นี่มีการเพาะพันธุ์ปลาที่หลากหลายชนิด จนประสบความสำเร็จ กับประสบการณ์ 40 กว่าปี ทำให้ปลาของที่ฟาร์มมีคุณภาพ สามารถจำหน่ายเป็นที่ต้องการสู่ตลาดได้จำนวนมาก

1.ปลาแรดดำ
1.ปลาแรดดำ

การเพาะเลี้ยงปลาหลากหลายชนิด

คุณสุฑิพงค์ สินตรีขันธ์ หรือ คุณพีท ทายาทรุ่นที่ 2 ที่ได้เข้ามาบริหารจัดการต่อจากคุณพ่อ โดยคุณพีทได้ให้เหตุผลที่กลับมาต่อยอดธุรกิจของคุณพ่อว่า“ที่ผมกลับมาทำตรงนี้ต่อ เพราะคุณพ่อเขาสร้างไว้แล้วกว่า 40 ปี เราก็รู้สึกว่าไม่อยากให้ 40 ปี ที่สร้างมามันเสียเปล่า เราก็เลยตัดสินใจที่เข้ามาทำต่อ”

คุณพีทได้เล่าให้ทางทีมงานฟังว่า ก่อนจะมาเป็นฟาร์มปลาผู้ใหญ่พรนั้น คุณพ่อทำนามาก่อน และได้เผยถึงเหตุผลที่เปลี่ยนจากที่นาเป็นบ่อปลาว่า “เพราะคุณพ่อเป็นคนที่มีแนวคิดต่างจากคนอื่น จึงอยากทำอะไรที่แตกต่าง ช่วงนั้นมีคนทำนาเยอะ คุณพ่อจึงรู้สึกว่าอยากทำอะไรที่แตกต่างออกไป ลองทำอาชีพอื่นที่ไม่ใช่ทำนาบ้าง ก็ได้ไปค้นหาหนังสือมาอ่าน และได้เจอการเพาะพันธุ์ปลา แล้วเกิดความสนใจ จึงเปลี่ยนจากที่นาเป็นบ่อปลา”

โดยเริ่มต้นจากขุดบ่อทดลองเลี้ยง 1 บ่อ ควบคู่กับการทำนาไปด้วย จากรายได้ที่ได้จากการทำนาอย่างเดียว  ก็เริ่มมีรายได้จากการเลี้ยงปลาขายเนื้อ จากบ่อปลา 1 บ่อ จึงเริ่มขยายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อธุรกิจการขายปลาเนื้อดีกว่าการทำนาจึงเริ่มหันมาทำบ่อปลาเพียงอย่างเดียว

จากที่นาพื้นที่ 54 ไร่ ได้เปลี่ยนมาเป็นบ่อปลาทั้งหมด หลังจากเริ่มทดลองเลี้ยงปลาเพื่อขายเนื้อได้ 2-3 ปี ทางฟาร์มก็ได้เริ่มทำการเพาะลูกปลาขาย แบ่งบ่อเลี้ยงออกเป็นทั้งหมด 26 บ่อ โดยแบ่งเป็นโซนปลาแต่ละชนิด

2.โรงอนุบาลลูกปลา
2.โรงอนุบาลลูกปลา

ปัญหาและอุปสรรคในบ่อปลา

เมื่อถามถึงปัญหาและอุปสรรคเมื่อเริ่มเข้ามาดูแลบ่อปลาต่อจากคุณพ่อ คุณพีทได้เผยว่า “ช่วงนั้นปัญหาก็ค่อนข้างเยอะ จะเป็นปัญหาเรื่องการขนส่ง เพราะตอนนั้นคุณพ่อกับคุณแม่อายุก็ค่อนข้างเยอะแล้ว เขาจะทำแบบเดิมๆ จะใช้คนงานน้อย เน้นทำเองเยอะ แพ็คเอง วิ่งรถส่งเอง ทำทุกอย่างเอง เมื่อเราเข้ามาทำตรงนี้ เราเห็นปัญหาว่าถ้าทำแบบเดิมโอกาสที่จะขยายใหญ่จะยาก”

โฆษณา
AP Chemical Thailand

คุณพีทจึงได้เข้ามาจัดวางให้เป็นระบบมากขึ้น แบ่งเป็นแผนกต่างๆ ให้การจัดการเป็นระบบและง่ายขึ้น เพื่อรองรับการขยายต่อๆ ไปในอนาคต ซึ่งใช้ระยะเวลา 4-5 ปี สำหรับระบบที่วางจึงจะเริ่มนิ่ง “เราได้วางแผน วางระบบ และจัดแผนกต่างๆ มีฝ่ายขาย ฝ่ายผลิต ฝ่ายจัดส่ง เพื่อที่เราจะได้รู้ว่าเราต้องจ้างคนเข้ามาเพิ่มอีกเท่าไหร่ มาทำหน้าที่อะไร”

3.การตรวจสอบคุณภาพน้ำในบ่ออนุบาล
3.การตรวจสอบคุณภาพน้ำในบ่ออนุบาล

การบริหารจัดการในบ่อปลา

สำหรับปลาที่เพาะขายช่วงคุณพีทเข้ามาดูแลใหม่ๆ มี 5-6 ชนิด ปัจจุบันฟาร์มปลาผู้ใหญ่พรเพาะพันธุ์ปลาขายประมาณ 20 ชนิด คุณพีทได้ให้เหตุผลที่มีการเพาะพันธุ์ปลาเพิ่มให้มีหลายชนิดว่า “เมื่อเราทำการตลาดออนไลน์มากขึ้น เราก็ได้เห็นความต้องการของตลาดมากขึ้น ลูกค้าในและพื้นที่มีความต้องการลูกปลาแตกต่างกัน เราจึงมีการพัฒนาและเพาะพันธุ์ปลาให้มีหลากหลายชนิดเพื่อให้ตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น”

เมื่อถามถึงองค์ความรู้เรื่องการเพาะพันธุ์ปลา คุณพีทได้กล่าวว่า “ไปศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติมจากหน่วยงานราชการหลายๆ ที่ นำมาทดลองปรับใช้กับของตัวเอง จนได้ออกมาเป็นสูตรที่ทางฟาร์มใช้มาจนถึงปัจจุบันนี้”

เมื่อก่อนมีอัตราการผลิตลูกปลาอยู่ที่ประมาณ 1-2 ล้านตัว / เดือน ปัจจุบันมีอัตราการผลิตอยู่ที่ 10 ล้านตัว / เดือน ส่วนอัตราการผลิตของแต่ละสายพันธุ์จะดูที่ยอดขายและแนวโน้มของตลาด สายพันธุ์ไหนมียอดขายสูงจะมีการผลิตออกมาจำนวนมาก

“แนวโน้มของตลาดเราจะวิเคราะห์จากลูกค้า เช่น ลูกค้าที่โทรเข้ามาปีนี้ส่วนใหญ่จะถามถึงปลาหมอเยอะ แสดงว่าปีนี้ปลาหมอน่าจะมาแรง เราก็จะผลิตปลาหมอด้วย อย่างปีนี้ลูกค้าโทรมาถึงปลาช่อนเยอะมาก จนมากลางปีก็ยังมีติดต่อเข้ามาเรื่อยๆ แสดงว่าปลาช่อนมาแรงแล้ว เราต้องเร่งผลิตปลาช่อนแล้ว”

4.ปลานิลแปลงเพศ หมัน100%
4.ปลานิลแปลงเพศ หมัน100%

การป้องกันและกำจัดโรคในบ่อปลา

4 ทศวรรษ ของฟาร์มที่เพาะเลี้ยงปลาน้ำจืด 20 กว่าชนิด เช่น ปลานิลหมัน ปลาดุก ทับทิม ปลาไน ปลาหมอ ปลาช่อน ปลากราย เป็นต้น ปรากฏว่า “ปลานิลหมัน” ทำเงินมากที่สุด เพราะเป็นปลาน้ำจืดที่มีการบริโภคในประเทศเป็นจำนวนมาก แต่การผลิตลูกปลานิลให้ได้ตามออเดอร์นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย  เพราะปลานิลจะมีโรคประจำตัวชนิดหนึ่งที่สร้างความเสียหายอย่างมาก นั่นคือ “โรค Tilapia lake virus (TiLV)” หรือที่รู้จักกันในนาม โรคตายเดือน

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ปลานิลหมันปลอดเชื้อไวรัส Tilapia lake virus (TiLV)

โรค Tilapia lake virus (TiLV) หรือ “ตายเดือน” เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสที่ไม่สามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ และยังไม่มีวัคซีนที่ขึ้นทะเบียนให้ใช้สำหรับการป้องกันโรค ฉะนั้นวิธีที่ดีที่สุด คือ การจัดการฟาร์มที่ดี เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงของการแพร่กระจายของโรค

คุณพีทได้เผยว่าหลังจากศึกษากับทางนักวิชาการเรื่องปลานิล มีผลวิจัยออกมาว่ากว่า 90% ในปลานิล จะมีเชื้อไวรัส  TiLV แฝงอยู่ ถ้าติดไวรัสชนิดนี้จะไปแสดงอาการตอนอายุ 2-3 เดือน ปลาจะทยอยตาย ซึ่งทางฟาร์มมีการทำตลาดส่งออก แต่การส่งออกจะมีไวรัสชนิดนี้ปนเปื้อนไม่ได้

คุณพีทจึงได้ทำการรื้อระบบปลานิลทั้งหมด โละพ่อแม่พันธุ์ทิ้ง ทำบ่อเคลียร์บ่อใหม่  แล้วเริ่มตั้งแต่การจัดหาพ่อแม่พันธุ์ที่ไม่มีไวรัสชนิดนี้ ทำการผสมและเพาะพันธุ์ลูกปลา ทำให้ปัจจุบันทางฟาร์มสามารถทำตลาดส่งออกได้ โดยไม่มีการปนเปื้อนของไวรัส

5.ถาดวนลูกปลานิล
5.ถาดวนลูกปลานิล

เคล็ดลับการเพาะพันธุ์ปลา ฉบับฟาร์มปลาผู้ใหญ่พร

เริ่มจากการคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ โดยทางฟาร์มจะคัดลูกปลาแล้วนำไปส่งตรวจหาเชื้อไวรัส จากนั้นนำลูกปลามาขุนเป็นพ่อแม่พันธุ์ โดยลูกปลาที่นำมาเลี้ยงเป็นพ่อแม่พันธุ์นั้นมาจากฟาร์มมาตรฐานหลายๆ ฟาร์ม นำมาผสมกันเพื่อป้องกันการเกิดเลือดชิด จากนั้นขุนปลานาน 7 เดือน ให้ได้อายุและลักษณะปลาที่เหมาะสมในการผสมพันธุ์ แล้วจึงจะส่งปลาตรวจหาโรคอีกครั้ง ก่อนนำมาคัดเป็นพ่อแม่พันธุ์ โดยดูจากรูปทรงที่เป็นความต้องการของตลาด คือ หัวเล็ก ตัวป้อมไม่ยาวมาก สันหนา

เมื่อคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ได้แล้ว จึงนำมาลงบ่อผสมพันธุ์ สัดส่วนตัวผู้ต่อตัวเมีย 1 ต่อ 2 ในอัตราส่วนพื้นที่ 2 ตัว / 1 ตารางเมตร แล้วจะทำการเช็คไข่ทุกๆ 7วัน คุณพีทได้เผยเทคนิคเร่งไข่ คือ จะเน้นเรื่องคุณภาพของอาหาร รวมถึงวิตามินบำรุงต่างๆ จะช่วยให้ปลาไข่ดี ไข่สมบูรณ์ และมีอัตราการรอดสูง หากพ่อแม่พันธุ์ได้กินอาหารที่สมบูรณ์ กินวิตามินครบถ้วน เวลาไข่ออกมาไข่จะแข็งแรง “ผมเปรียบวิธีบำรุงแม่พันธุ์ก็เหมือนคน คนท้องถ้าได้รับสารอาหารดีๆ ลูกที่ออกมาก็จะมีสุขภาพแข็งแรง เจริญเติบโตได้ดี” คุณพีทเผยถึงแนวคิดการดูแลพ่อแม่พันธุ์

โฆษณา
AP Chemical Thailand

นอกจากอาหารแล้ว เรื่องน้ำในบ่อเลี้ยงก็มีความสำคัญไม่ต่างกัน ปลาจะให้ไข่เยอะ หรือ ผสมพันธุ์ สิ่งสำคัญ คือ อุณหภูมิของน้ำ หากน้ำเย็นเกินไปปลาตัวเมียอาจจะให้ไข่เยอะ แต่ปลาตัวผู้ความเข้มข้นของน้ำเชื้อจะต่ำ ส่วนถ้าน้ำร้อนเกินไปจะมีผลดีต่อน้ำเชื้อ แต่ไม่มีผลดีต่อไข่ ดังนั้นอุณหภูมิที่เหมาะสมของน้ำต้องอยู่ที่ 28-30 องศาเซลเซียส

“เทคนิคการควบคุมคุณภาพน้ำ หัวใจสำคัญ คือ การวัดน้ำ เช็คคุณภาพน้ำ ซึ่งจะเป็นตัวบ่งบอกข้อเท็จจริงของน้ำ สามารถบอกได้ว่าน้ำขาดอะไร หรือมีอะไรเกินมา การใช้ประสบการณ์อย่างเดียวเราอาจจะดูได้ แต่คนงานของเราอาจจะดูไม่ได้จึงต้องมีการเช็คทุกๆ 3-5 วัน หรือทุกครั้งที่ปลาเริ่มมีปัญหา ต้องเช็คดูและแก้ไข”

พอได้ไข่มาแล้วจะนำเข้าฟักในกรวยประมาณ 3-5 วัน พอเริ่มฟักออกมาเป็นตัวจะย้ายไปลงกระชัง และเริ่มให้ฮอร์โมนโดยใช้สูตรผสมแบบเดียวกับทางกรมประมงประมาณ 23 วัน เมื่อลูกปลาให้ฮอร์โมนครบ 23 วัน ก็จะมีคนงานคอยเช็คว่าแต่ละชุดปลาเป็นหมันกี่เปอร์เซ็นต์

หัวใจสำคัญที่ช่วยให้อัตราการรอดในช่วงอนุบาลดี คือ ออกซิเจน ถ้าออกซิเจนดีปลาก็จะกินอาหารได้ดี โตเร็ว แข็งแรง ไม่เป็นโรคง่าย หากออกซิเจนต่ำปลาจะเกิดความเครียด กินอาหารได้ไม่ดี ร่างกายไม่แข็งแรง ภูมิคุ้มกันต่ำ เชื้อโรคต่างๆ จะเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย

“อัตราการรอดของลูกปลาที่ฟาร์มค่อนข้างดี จากไข่ออกมาเป็นตัวจะอยู่ที่ 80% จากเริ่มเป็นตัวไปไซซ์ใบมะขามอัตราการรอด 90-100% ปกติก่อนจะลงปลาจะมีการตวงชั่งน้ำหนักก่อน เมื่อนำขึ้นมาก็จะมีการชั่งอีกทีหนึ่ง ส่วนใหญ่ที่ทำมา ก็คือ จะอยู่ครบ อัตราการรอดดี” คุณพีทกล่าวเพิ่มเติม

ระยะเวลาตั้งแต่ไข่ออกจากปากปลาจนถึงปลาไซซ์ใบมะขามจะให้เวลาประมาณ 30 วัน ปลาไซซ์ใบมะขามจะมีขนาด 2.5 ซม. ถ้าไซซ์ขยับขึ้นไปจะเป็น 3-3.5 ซม., 4-5 ซม. และ 5-6 ซม.

โฆษณา
AP Chemical Thailand

เมื่อถามถึงความยากของการอนุบาลลูกปลา คุณพีทกล่าวว่า “ความยากของการอนุบาลลูกปลา คือ การควบคุมสภาพแวดล้อม บางทีคุณภาพน้ำไม่ดีเราก็สามารถแก้ไขได้ แต่เรื่องฟ้าฝนมันเป็นเรื่องธรรมชาติ เราไม่สามารถไปควบคุมแก้ไขมันได้ ทำให้วิธีแก้ไขปัญหาแต่ละฤดูแตกต่างกันไป”

6.เกษตรกรมั่นใจลูกปลาแข็งแรง โตดี อัตรารอดสูง
6.เกษตรกรมั่นใจลูกปลาแข็งแรง โตดี อัตรารอดสูง
ปลายี่สกไทย
ปลายี่สกไทย

ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายปลา ทั้งในและต่างประเทศ

ในด้านการตลาดซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ ทางฟาร์มมีการทำการตลาดหลายช่องทาง ทั้งช่องทางออฟไลน์ที่ขายหน้าฟาร์ม ส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าเจ้าเก่า และช่องทางออนไลน์ทางเฟสบุ๊ค “ฟาร์มปลาผู้ใหญ่พร อ.เสนา จ.อยุธยา” และในอนาคตกำลังมองหาปลาเศรษฐกิจตัวใหม่ที่จะมาต่อยอดที่ฟาร์มและตอบโจทย์ลูกค้าได้เพิ่มขึ้น

หากพูดถึงจุดแข็งของฟาร์มปลาผู้ใหญ่พร อันดับแรก คือ สายพันธุ์ที่หลากหลาย หากลูกค้าต้องการปลาหลายๆ ชนิด หากมาที่ฟาร์มเราที่เดียวสามารถตอบโจทย์ได้ และสอง คือ ความรับผิดชอบ และบริการหลังการขาย ถ้าปลาที่ส่งเมื่อลูกค้าเช็คแล้วมีเสียหายสามารถตีกลับได้ หรือถ้าลงแล้วปลามีปัญหาเรายินดีเคลมให้ แต่ต้องอยู่ในเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้

นอกจากขายในประเทศแล้ว ยังส่งออกต่างประเทศ เช่น พม่า กัมพูชา ลาว และ มาเลเซีย ส่วนใหญ่จะเป็นปลานิล ปลาช่อน และ ปลาหมอ บ้าง เพราะที่ฟาร์มมีมาตรฐานครบ มีมาตรฐานส่งออก มีมาตรฐาน GAP ปลาทุกชนิดที่ขาย ทำให้ฟาร์มปลาผู้ใหญ่พรมีคุณภาพ สามารถจำหน่ายเป็นที่ต้องการสู่ตลาดได้จำนวนมาก

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก คุณสุฑิพงค์ สินตรีขันธ์ หรือ คุณพีท ฟาร์มปลาผู้ใหญ่พร โทร.095-996-5569

อ้างอิง : นิตยสารสัตว์น้ำ ฉบับที่ 381