ตลิ่งที่สูงชันทั้งสองฟากฝั่งไหล เลี้ยวเลาะไปตามไหล่เขา จากทางเหนือสู่ทางใต้ ความเร็วของกระแสน้ำเกิดขึ้นตลอดเวลาตามฤดูกาล สายน้ำที่กระเพื่อมอยู่ตลอดเวลาเกิดออกซิเจนที่ละลายอยู่ในน้ำ (DO) 7-8 ตลอดทั้งปี แน่นอนว่า DO มีผลต่อการกิน การเจริญเติบโต และอีกมุม คือ น้ำยิ่งไหลแรงปลาที่แหวกว่ายอยู่ต้องใช้พลังงานสูง จึงไม่ต่างจากนักกีฬาที่สร้างกล้ามเนื้อ เป็นที่มาของปลาแม่น้ำโขง รสชาติอร่อย เนื้อแน่น เผาแล้วไม่ยุบตัว
ทีมงานนิตยสารสัตว์น้ำมีโอกาสเดินทางไปอีสาน จ.หนองคาย เพื่อพูดคุยกับยักษ์ใหญ่ลุ่มน้ำโขง คุณยุทธนา พิลาคง เจ้าของยุทธนาฟาร์มเติบโตจากการทำฟาร์มเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืด สืบทอดกิจการต่อจากครอบครัว และหันมาเป็นเอเยนต์จำหน่ายอาหารสัตว์น้ำ แต่ก็ต้องหยุดการเพาะพันธุ์ปลาไป เนื่องจากมีปัญหาเรื่องพ่อแม่พันธุ์ จึงเปลี่ยนมาใช้การรับลูกพันธุ์ปลาจาก “บริษัท น้ำใสฟาร์ม จำกัด” ฟาร์มเพาะพันธุ์ปลานิลแปลงเพศ มาอนุบาลเป็นลูกปลานิ้ว จำหน่ายให้กับเกษตรกรที่เลี้ยงปลากระชัง บนพื้นที่กว่า 100 ไร่ และเปิดกระชังเลี้ยงปลาในอ.ศรีเชียงใหม่และอ.ท่าบ่อ กว่า 400 กระชัง ในลำน้ำโขง
ประสบการณ์กว่า 30 ปี ในวงการเพาะเลี้ยงปลานิล สิ่งสำคัญที่คุณยุทธนาให้ความสำคัญ คือ แหล่งที่มาของสายพันธุ์ ต้องมีคุณภาพและสม่ำเสมอในเรื่องของอัตรารอด เปอร์เซ็นต์แปลงเพศ อาหาร ที่ใช้เลี้ยง ต้องมีสูตรที่จำเพาะเหมาะสมกับแหล่งน้ำ จึงจะประสบความสำเร็จ
ด้วยความเชี่ยวของลำน้ำโขง อาหารที่ใช้เลี้ยงปลาต้องมีความเฉพาะพิเศษสำหรับปลาที่เลี้ยงในกระแสน้ำที่แรง โดยคุณยุทธนาจะให้โจทย์กับบริษัทผู้ผลิตอาหารชั้นนำของประเทศ อย่าง บริษัท คาร์กิลล์สยาม จำกัด ในการคิดค้นสูตรอาหารที่ให้พลังงานสูง เพื่อให้เหมาะสมกับการเลี้ยงปลาในแม่น้ำโขง และมีแบรนด์ที่ใช้เองในชื่อ อาหารปลา แอ็คโค่ ฟีด ปลาสันหนา โตเร็ว สั่งได้
พื้นที่ฟาร์มกว่า 100 ไร่
สืบเนื่องมาตั้งแต่รุ่นคุณพ่อทำฟาร์มเพาะพันธุ์ปลามาก่อน บ่อปลาขนาด 1-5 ไร่ ที่มีอยู่แล้ว สับเปลี่ยนมาเป็นบ่ออนุบาลลูกปลานิลให้เป็นปลานิ้วขนาด 30-100 กรัม ไปเลี้ยงต่อในกระชัง และจำหน่ายให้กับเกษตรกรที่เลี้ยงปลากระชัง
เตรียมความพร้อมบ่ออนุบาล
บ่อดินที่ผ่านการใช้งานแล้วจะเน้นการตากบ่อ ฆ่าเชื้อโดยการใช้ปูนขาว แล้วจึงเติมน้ำเข้าบ่อในระดับที่เหมาะสมประมาณ 1.20 – 1.50 เมตร
ลูกปลาคุณภาพต้องนิ่ง จากแหล่งที่น่าเชื่อถือ
ในเรื่องของสายพันธุ์ ในภาคเอกชนหลายๆ ฟาร์ม จะมีการพัฒนาสายพันธุ์ให้มีลักษณะเด่น ทั้งเรื่องของการเจริญเติบโต อัตรารอด และอีกนึ่งความสำคัญที่เป็นตัวชี้วัดคุณภาพ คือ เปอร์เซ็นต์การแปลงเพศ จากปลาเพศเมียเป็นปลาเพศผู้ คุณยุทธนากล่าวว่า ทางฟาร์มทดลองใช้ลูกปลาจากหลายๆ ฟาร์ม มาเลี้ยงเปรียบเทียบ และความนิ่งของเปอร์เซ็นต์ การแปลงเพศที่ชื่นชอบ และตอบโจทย์ได้มากที่สุด คือ ลูกพันธุ์ปลา สายพันธุ์ “บิ๊กนิล” ของ “น้ำใสฟาร์ม” เช็คเปอร์เซ็นต์เพศจะนิ่งอยู่ที่ 98% ขึ้นไป เพราะตนจะสุ่มตรวจเช็คเปอร์เซ็นต์อย่างต่อเนื่อง จึงมั่นใจและเลือกใช้ลูกปลาขนาด 2-3 เซนติเมตร จากน้ำใสฟาร์มมาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 10 กว่าปี
การอนุบาลลูกปลาในบ่อ
บ่อดินขนาด 1-5 ไร่ ที่มีขนาดแตกต่างกันออกไป คุณยุทธนาจะประเมินการลงลูกปลาจากขนาดไซส์ที่จะนำไปลงกระชัง ถ้าเป็นลูกปลาที่ใช้เองในฟาร์ม ไซส์จะอยู่ที่ 70-100 กรัม จะลงลูกปลาอนุบาล 25,000 ตัว/ไร่ ให้อาหารวันละ 2 มื้อ เช้า-เย็น ระยะเวลาการอนุบาล 2 เดือน
เตรียมลูกปลาก่อนลงกระชัง
ลูกปลาที่อนุบาลได้ตามไซส์ที่ต้องการแล้วจะลากอวนจากบ่อขึ้นมาพักในกระชัง 15 วัน ก่อนขนย้ายไปลงที่กระชังเลี้ยง คุณยุทธนาให้ความสำคัญตรงนี้มาก เพราะเป็นการเตรียมปลาให้แข็งแรงก่อน เมื่อลูกปลาแข็งแรงนำไปลงในกระชัง อัตรารอดจะดีกว่า ไม่มีปัญหาเรื่องการแตกไซส์
ระหว่างที่พักลูกปลาในกระชังจะให้อาหารผสมอ๊อกซีเตตราไซคลินในอัตรา 3-5 กรัม/อาหาร 1 กิโลกรัม ผสมให้กินวันละ 1 มื้อ ติดต่อกัน 5 วัน ในปริมาณที่เล็กน้อย เพื่อไม่ให้ปลาอ้วนจนเกินไป เพราะถ้าปลาอ้วนมากเกินไป ปลาจะอ่อนแอได้ง่ายกว่า หลังจากพักปลาในกระชังบ่อดิน 15 วัน แล้ว จะขนย้ายไปลงกระชัง ซึ่งจะเน้นช่วงเวลาที่อุณหภูมิไม่สูงมากนัก
ขนาดกระชัง/อัตราการปล่อย
จากลักษณะความไหลเชี่ยวของน้ำที่ค่อนข้างแรง คุณยุทธนาจะใช้กระชัง 3×4, 3×6 และ 4×6 เพื่อไม่ให้หน้ากว้างรับน้ำมากเกินไป การลงทุนในการสร้างกระชังโครงเหล็กเพื่อเลี้ยงปลากระชังพร้อมโครงเหล็กขนาด 3×4 เฉลี่ยแล้วกระชังละ 1 หมื่นบาท
อัตราการปล่อยกระชังขนาด 3×4 จะปล่อยลูกปลาขนาด 70 กรัม อยู่ที่ 1,250 ตัน/กระชัง
เคล็ดลับรักษาโรค
กระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวย่อมมีสิ่งที่เรียกว่าเชื้อโรคพัดผ่านเข้ามา คุณยุทธนาเองก็ประสบปัญหานี้มาโดยตลอด จากประสบการณ์และการลงมือปฏิบัติเองทำให้รู้ว่าการใช้ด่างทับทิมใส่สวิง และเขย่าหน้ากระชังตามการไหลของน้ำก่อนให้อาหารถือเป็นช่วงที่ปลาต้องการกินอาหาร จะกรูเข้ามารับด่างทับทิม เป็นการฆ่าเชื้อโรคได้ผลดีมาก คุณยุทธนาใช้เคล็ดลับนี้ในทุกวันก่อนให้อาหารทุกมื้อ ถือเป็นวิธีที่ได้ผลและไม่เป็นอันตรายต่อลูกปลาในกระชัง
อาหารแอ็คโค่ ฟีด ดีอย่างไร
จากประสบการณ์กว่า 30 ปี อาหารที่ใช้ถือเป็นตัวบ่งบอกได้ว่าการเลี้ยงปลาจะได้กำไรหรือขาดทุนในแหล่งน้ำเชี่ยว อย่าง แม่น้ำโขง จำเป็นต้องใช้อาหารสูตรพิเศษที่เน้นเรื่องพลังงานสูง เพื่อให้ปลาแข็งแรงและมีภูมิต้านทานที่ดี คุณยุทธนาจึงให้โจทย์นี้แก่บริษัทผู้ผลิตอาหารผลิตให้ ในชื่อ แอ็คโค่ ฟีด โปรตีนที่ใช้เลี้ยงปลาในช่วงแรกๆ อยู่ที่ 35% แล้วจึงปรับลดเหลือ 32% เป็นอาหารปลานิลเลี้ยงปลานิลโดยตรง ปลาหนึ่งกระชัง ขนาด 3*4 ในอัตรารอด 80 -90 %จะกินอาหาร 75 ลูก FCR ประมาณ1.5 ซึ่งคุณยุทธนากล่าวว่า FCR ระดับนี้ถือว่าไม่สูง เพราะเลี้ยงปลาในกระแสน้ำแรง
ความได้เปรียบปลากระชังแม่น้ำโขง
- รสชาติดี เป็นที่ต้องการของตลาด
- ไม่มีกลิ่นโคลน เพราะพื้นแม่น้ำเป็นพื้นทราย
- ของเสียจากการขับถ่ายถูกพัดพาเป็นอาหารของปลาธรรมชาติ ทำให้ไม่เกิดปัญหาแอมโนเนีย ไนไตรท์ สะสม
- เมนูปลาเผา ตัวปลาไม่ยุบ พองสวย เนื้อแน่น รสชาติดี
- ปริมาณออกซิเจนสูง 7.8 ตลอดทั้งปี ทำให้ปลาเจริญเติบโตได้ดี
จำนวนกระชังที่อยู่ในความดูแลของคุณยุทธนากว่า 400 กระชัง การบริหารจัดการถือเป็นเรื่องสำคัญ และต้องมีการวางแผนการเลี้ยงให้ดีที่สุด ผลผลิตในช่วงสิ่งแวดล้อมดี การจัดการดี แล้วลูกปลามาดี คุณยุทธนากล่าวว่า กระชัง 3×4 ได้ผลผลิตปลานิล 1.2-1.3 ตัน มาแล้ว
ส่วนเรื่องของราคา ณ ปัจจุบันนี้ หน้ากระชังรับซื้ออยู่ที่ กก.ละ 80 บาท โดยในแต่ละวันจะมีผลผลิตออกจำหน่ายกระจายสินค้าไปทั้งหมด 12 อำเภอ ใน จ.หนองคาย,เลย,อุดรธานี,บึงกาฬ เป็นตลาดส่งที่สามารถควบคุมราคาได้ เฉลี่ยแล้วเดือนละ 70 -100 ตัน/เดือน หรือประมาณวันละ 2 ตัน จากผลการเลี้ยงที่ยอดเยี่ยมและความใส่ใจ ในการลงมือปฏิบัติเอง ถึงแม้การเลี้ยงปลาของคุณยุทธนา จะต้องลดกำลังการผลิตลงไป ลดปริมาณลูกบ่อ แต่เดินเครื่องเต็มสูบในการอนุบาลลูกปลาในบ่อและการเลี้ยงปลาในกระชัง เพราะการเลี้ยงปลา 4 ตันแต่ได้กำไร เท่ากับ ปลา 2 ตัน ถือว่าลงทุนเหนื่อยเปล่า และเป็นความเสี่ยงที่มากมากกว่า แต่ในช่วงเดือน กรกฎาคม นี้กำลังการผลิตจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง 100 บ่ออนุบาลสามารถหมุนเวียนและกระจายสินค้าของไปทั้งใน จังหวัดใกล้เคียงพื้นที่ไกลๆได้ด้วยรถบรรทุก
tags: ยุทธนาฟาร์ม การเลี้ยงปลาในกระชัง การเลี้ยงปลานิลในกระชัง กระชังปลา การเลี้ยงปลาดุกในกระชัง เลี้ยงปลาในกระชัง ยุทธนาฟาร์ม การเลี้ยงปลาในกระชัง กระชังปลา ปลา
[wpdevart_like_box profile_id=”377357182296025″ connections=”show” width=”300″ height=”220″ header=”big” cover_photo=”show” locale=”th_TH”]