ด้วยการเลี้ยงกุ้งที่ยากกว่าเมื่ออดีตของเกษตรกรในประเทศไทย เนื่องด้วยหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อม สภาพอากาศ อาหาร โรคต่างๆ ส่งผลให้เกษตรกรเกิดความท้อถอยในอาชีพ แต่ก็มีเกษตรกรบางรายหันมาปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงกุ้งให้พัฒนาขึ้น โดยการเน้นเลี้ยงแบบใช้จุลินทรีย์เป็นตัวหลัก วิธีปรับสภาพน้ําเลี้ยง
จุดเริ่มต้นการเลี้ยงกุ้ง
สำหรับเขตภาคกลาง ปัจจุบันการเลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไมให้ได้ไร่ละ 1 ตัน ว่ายากแล้ว ทีมงานนิตยสารสัตว์น้ำได้เดินทางไปจังหวัดนครปฐม เพื่อสัมภาษณ์ 2 เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งที่ได้ผลผลิตไร่ละ 2 ตัน ระยะเวลาเลี้ยง 70 วัน ด้วย “จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพสูง”
คุณนรินทร เอี่ยมเอกสุวรรณ หรือคุณหลี เกษตรกรที่ผันตัวเองจากพนักงานบริษัทมาเป็นเกษตรกรอย่างเต็มตัว ด้วยความมุ่งมั่น และทุ่มเทแรงกาย แรงใจ เพื่อหาจุดด้อยนำมาพัฒนาต่อยอดในการเลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไม เน้นเลี้ยงไซส์ใหญ่ ไม่ลงแน่น
คุณหลีเผยว่า แรกเริ่มก่อนออกจากพนักงานบริษัทนั้น พี่ชายของตนหรือเสี่ยหมูที่รู้จักในนาม ทัพหลวงฟาร์ม มีอาชีพเพาะลูกกุ้งมานานตั้งแต่สมัยลูกกุ้งกุลาดำ และตนได้นำลูกกุ้งมาเลี้ยงบ้าง ปรับเปลี่ยนพัฒนามาเรื่อยๆ จึงได้ตัดสินใจหันมาเป็นเกษตรกรเลี้ยงกุ้งแบบเต็มตัว ปัจจุบันตนเลี้ยงอยู่เป็นบ่อดินแนวกึ่งพัฒนา มีผลประกอบการในปัจจุบันอาจจะดีกว่าบ่อพลาสติก ซึ่งสาเหตุที่เป็นเช่นนี้อาจจะเป็นเพราะว่าตนใส่ใจในรายละเอียดต่างๆ ปัจจุบันมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 60 ไร่ แบ่งเป็นส่วนของบ่อกุ้ง 30 ไร่ ขนาดบ่อมีหลายขนาดตั้งแต่ 2-4 ไร่ จำนวน 8 บ่อ อัตราการปล่อย 1-1.2 แสนตัวต่อไร่ ลงกุ้งพี 10-12
การบริหารจัดการบ่อกุ้ง
- สีน้ำ เรื่องสีน้ำนั้นสำคัญมากอีกเช่นกัน สีน้ำที่ดีเหมาะสำหรับการเลี้ยงกุ้งต้องมีสีเขียวตุ่นๆ เป็นสีของแพลงก์ตอนพืชและสัตว์ผสมกัน ซึ่งไม่ควรเป็นสีเขียวอ่อน เพราะแสดงให้เห็นว่ามีแพลงก์ตอนพืชเยอะ และสีของน้ำนั้นจะต้องไม่ออกสีน้ำตาล เนื่องจากจะแสดงให้เห็นว่ามีแพลงก์ตอนสัตว์เยอะเกินไป สีน้ำตามหลักแล้วควรเหมือนสีน้ำทะเล เพราะเหมือนระบบในธรรมชาติของกุ้งมากที่สุด
- ใช้เพลทในการตรวจน้ำ การตรวจน้ำเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะน้ำเป็นปัจจัยหลักอย่างหนึ่งในการเลี้ยงกุ้ง เพราะเชื้อต่างๆ ที่ทำให้กุ้งเกิดปัญหาส่วนมากอยู่ในน้ำ การตรวจเชื้อจะตรวจวันเว้นวัน เพราะเชื้อจากน้ำในบ่อเลี้ยงแล้วดูโคโลนีว่าเกิดหรือไม่ ถ้าหากเกิดมีเชื้อเกิดขึ้นก็ใส่จุลินทรีย์ลงไปเพื่อฆ่าเชื้อ
การให้อาหารกุ้ง
การให้อาหารด้วยเครื่อง Auto Feed หลังลงกุ้ง 7 วัน จะไม่ให้อาหาร เพื่อให้ลูกกุ้งได้กินซากพืช ซากสัตว์ หนอนแดง อาหารตามธรรมชาติ ซึ่งจะส่งผลให้ลูกกุ้งแข็งแรง และหลังจากนั้นจะเริ่มให้อาหารเม็ด โดยการหว่านมือวันละ 2 มื้อ มื้อละ 4 กิโลกรัม รวมให้อาหารวันละ 8 กิโลกรัม ประมาณ 30 วัน เพื่อให้มีการปรับพฤติกรรมการกิน ส่วนสาเหตุที่ไม่อัดอาหารตั้งแต่ปล่อยลูกกุ้งเพราะจะส่งผลให้ของเสียเกิดเร็ว และหลังจากนั้นไปอีก 40 วัน จะใช้เครื่อง Auto Feed ช่วย เนื่องจากจะจับปริมาณอาหารได้แม่นยำกว่า และจะมีเวลาเพิ่มมากขึ้นเพื่อไปดูแลจัดการในส่วนอื่นเพิ่มเติมได้
คุณหลีกล่าวว่าปัจจุบันนี้แตกต่างจากเมื่อก่อนมาก ทั้งในเรื่องของโรค และเรื่องของสิ่งแวดล้อมต่างๆ ทำให้เกิดการสูญเสียอย่างมาก แต่เมื่อใช้จุลินทรีย์เป็นตัวช่วยทำให้สภาพแวดล้อมภายในบ่อนิ่ง จัดการง่ายขึ้น เปรียบเสมือนมีตัวช่วยมาอุดรอยรั่ว เมื่อก่อนเจอปัญหามาตลอด แล้วก็หันมองตัวเองว่าต้องเริ่มแก้ไขปัญหาจากจุดไหน มีปัญหาที่จุดไหนบ้างก็เริ่มจัดการไปทีละอย่าง หลักๆ จะอยู่ที่ตัวเกษตรกรเอง
สภาพพื้นที่เลี้ยงกุ้ง
ตามต่อด้วยเกษตรกรอีกท่านที่เน้นการเลี้ยงกุ้งขาวแบบไม่ใช้ยา ใช้แต่จุลินทรีย์ในการเลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไม นั่นก็คือ คุณวิกร เอี่ยมเอกสุวรรณ หรือคุณเอ๋ เกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่นครปฐม ปัจจุบันคุณเอ๋เลี้ยงกุ้งทั้งหมดประมาณ 80 ไร่ 14 บ่อ บ่อละประมาณ 4-5 ไร่ อัตราการปล่อยอยู่ที่ 450,000 ตัว ต่อ 5 ไร่ เน้นการเลี้ยงกุ้งขาวแบบไม่ใช้ยาและสารเคมี ใช้จุลินทรีย์เพียงอย่างเดียว
คุณเอ๋เปิดเผยว่าตั้งแต่เลี้ยงกุ้งมานั้นตนไม่ชอบใช้ยาหรือสารเคมีในการเลี้ยง แต่จะใช้จุลินทรีย์มาโดยตลอดไม่ว่าจะเป็น ปม. EM ทั่วไป ตัวน้ำแดง หรือแม้กระทั่งบาซิลัสซอง เปรียบได้กับมวยวัดต่อยมั่ว อยากใส่ตัวไหน ใครแนะนำตัวไหนว่าดีก็ใส่ตาม แรกๆ ที่เลี้ยงนั้นได้ผลดี แต่เมื่อมาเจอ EMS ในช่วง 2 ปีที่แล้ว ส่งผลให้จุลินทรีย์ต่างๆ ที่มีขายตามท้องตลาดควบคุมไม่ได้
เทคนิคการเลี้ยงกุ้ง และ วิธีปรับสภาพน้ําเลี้ยง
- ลูกกุ้ง คุณเอ๋เผยว่าตนใช้ลูกกุ้งของเฮียหมูจากทัพหลวงฟาร์ม ลูกกุ้งเฮียหมูเป็นของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์ จำกัด(มหาชน) 100% มีปลอมปน คุณภาพลูกกุ้งดีมาก โตไว ใช้มาหลายที่ไม่มีที่ไหนสู้ได้ การันตีได้ ลูกกุ้งของเฮียหมูไม่ถึง พี 12 แต่จะแข็งแรงกว่า อาจจะเป็นเพราะการขนส่งที่ใกล้ และคิดว่าตัวกุ้งยิ่งเล็กยิ่งปรับตัวง่าย
- คุณภาพน้ำ พื้นที่ที่เลี้ยงอยู่ในเขตอำเภอนครชัยศรี น้ำมาจากจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งพื้นฐานคุณภาพน้ำยังดีอยู่สำหรับเมื่อก่อนหากเลี้ยงไปเรื่อยก็จะพบปัญหา เช่น pH ตก แกว่ง ไม่นิ่ง ส่งผลเสียต่อการปรับตัวของกุ้ง แต่เมื่อใช้จุลินทรีย์มาช่วยก็ทำให้ pH นิ่ง แต่ที่ฟาร์มจะเน้นในเรื่องของการคุมสีน้ำด้วยจุลินทรีย์
- ตรวจโรคเป็นประจำ น้ำในบ่อตรวจสัปดาห์ละ 1 ครั้ง โดยการใช้เพลทตรวจซึ่งจะวัดแบบหยาบๆ หากไม่มากนับจุดโคโลนีในเพลท แต่ถ้าหากจำนวนโคโลนีขึ้นเยอะให้คิดเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ เพื่อเป็นแนวทางในการลงจุลินทรีย์
- Auto Feed ควบคุมการให้อาหาร บ่อของตนเป็นบ่อ 5 ไร่ การเลือกใช้ Auto Feed ควรเลือกใช้รัศมีเหวี่ยง 12 เมตร เนื่องจากถ้ารัศมีน้อยกว่านี้จะทำให้กุ้งกินอาหารได้ไม่ทั่วถึง ต้องเบียดกันเข้ามาในพื้นที่เดียวกัน เป็นสาเหตุให้เกิดการแตกไซส์ และที่เลี้ยงด้วย Auto Feed เพราะว่าเลี้ยงง่าย คำนวณอาหารได้ถูกต้องแม่นยำ และรู้ว่าอาหารเหลือหรือไม่ในทุกชั่วโมง
- ออกซิเจนเพียงพอต่อการเลี้ยง การวางใบพัดในบ่อดินจะวางยังไงก็ได้แต่ต้องให้เหลือพื้นที่รวมเลนน้อยที่สุดและให้เหลือพื้นที่หว่านฟีด ต้องไม่ให้แนวอาหารเข้าไปในแนวเลน แต่ถ้าหากมีการลอกคราบพร้อมกันกุ้งจะใช้ออกซิเจนมากซึ่งไม่เพียงพอ ก็จะใช้ออกซิเจนผงช่วยหว่านเพิ่ม สาเหตุที่ลอกคราบพร้อมกันประเด็นหลัก คือ ช่วงฝนตกหนักๆ น้ำมีการเปลี่ยนแปลงเร็ว
ปัญหาและอุปสรรคในบ่อกุ้ง
คุณเอ๋กล่าวทิ้งท้ายว่า ถ้าหากพบพวกไวรัสไม่ต้องไปแก้ไข จับอย่างเดียว เพราะไวรัสมันไม่มีวิธีแก้ โอกาสที่ไวรัสจะเข้าได้ตลอดเวลา ถ้าในเรื่องของโรคหากไม่มากนักเราก็จะสามารถจัดการแก้ไขได้ ถ้าเราดูแลสภาพแวดล้อมดี กุ้งแข็งแรง เพราะถ้าจะป้องกันไวรัสทำได้อย่างเดียว อย่าให้นกลง เชื้อต้องไม่มากับน้ำ แต่จะควบคุมยาก เพราะเวลากลางคืนก็มีแมลงสามารถเป็นพาหะได้เช่นกัน แต่หากไวรัสมาในช่วงที่กุ้งอ่อนแอ หรือกุ้งลอกคราบ ค่าแร่ธาตุไม่เพียงพอมันก็มีโอกาสร่วงได้เหมือนกัน
สนใจรายละเอียดด้านการเพาะเลี้ยงติดต่อ โทร.091-723-3792