ในขณะที่การประกอบธุรกิจเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำยังประสบปัญหากันอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีอีกหนึ่งธุรกิจที่กำลังค่อยๆ เติบโตแบบยั่งยืน นั่นคือ การทำฟาร์มสาหร่ายพวงองุ่น วิธีเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น
ซึ่งกำลังเป็นกระแสนิยมในกลุ่มคนรักสุขภาพเป็นอย่างมาก มีกระบวนการการผลิตไม่ยุ่งยากโดยไม่กี่ขั้นตอน อีกทั้งยังให้ผลผลิตที่คุ้มค่า ราคาจำหน่ายในท้องตลาดสูง กำไรงาม จึงเหมาะสมที่จะเป็นตัวเลือกให้กับเกษตรกรที่กำลังมองหาช่องทางในการสร้างอาชีพให้กับตนเอง
การเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น
นิตยสารสัตว์น้ำพาท่านผู้อ่านมากันที่อำเภอแหลมผักเบี้ย จังหวัดเพชรบุรี เพื่อมาพบกับ คุณนงนภัส อภิกรรัตน์ หรือคุณกิ ผู้บริหาร เบ็ญจมาศ กรีนคาเวียร์ ฟาร์มผลิตสาหร่ายพวงองุ่นที่ได้รับมาตรฐาน GAP จากกรมประมง โดยเป็นฟาร์มที่นำสายพันธุ์ที่มีคุณภาพจาก ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง เพชรบุรี ซึ่งได้วิจัยและพัฒนาสายพันธุ์จนสามารถเผยแพร่ให้เกษตรกรนำมาปลูกจำหน่ายเป็นอาชีพต่อไปได้
เบ็ญจมาศ กรีนคาเวียร์ เกิดขึ้นจากแนวคิดของคณะผู้ก่อตั้งฟาร์ม และคุณกิ ร่วมกันก่อตั้งฟาร์ม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างอาชีพเสริม ซึ่งเดิมทีคุณกิยังพอมีความรู้ด้านการประมงอยู่บ้าง และมีแหล่งข้อมูลความรู้ที่สามารถสอบถามได้ง่าย จากการที่ตนเองได้ทำงานอยู่ภายในศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง เพชรบุรี
โดยจุดเริ่มต้นของแนวคิด คือ การได้รับโอกาสจาก โครงการฟาร์มทะเลตัวอย่างตามพระราชดำริ และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง เพชรบุรี ได้นำผลผลิตสาหร่ายพวงองุ่นซึ่งเป็นผลผลิตหลักของโครงการไปเผยแพร่ให้คนไทยได้รู้จัก คุ้นเคย อาหารชนิดนี้ เริ่มต้นมีการออกงานต่างๆ เปิดบูธเพื่อให้ผู้คนที่มาเที่ยวงานได้ทดลองชิมรสชาติของสาหร่ายพวงองุ่นว่ามีรสชาติอย่างไร มีวิธีการรับประทานอย่างไร สามารถนำไปประกอบอาหารอย่างไรได้บ้าง
ในช่วงนั้นได้ทดลองนำเสนอเมนูต่างๆ ที่ใช้สาหร่ายพวงองุ่นเป็นวัตถุดิบหลักในการประกอบอาหาร ผสมผสานตัวสาหร่ายพวงองุ่นเสริมเข้าไปในแต่ละเมนู อาทิ ส้มตำ ยำ ผักน้ำพริก แครกเกอร์หน้าสาหร่าย ซูชิสาหร่าย เป็นต้น สุดท้ายจึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นตั้งแต่ตอนนั้นด้วย รู้ขั้นตอนว่าควรทำอย่างไรให้สามารถรับประทานสาหร่ายพวงองุ่นได้อร่อยและถูกปากคนไทยทั่วไป นอกจากนี้ยังมีช่องทางในการจำหน่ายหลายช่องทางเพื่อเผยแพร่ให้สาหร่ายพวงองุ่นเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น จึงค่อยๆ ขยับมาทำฟาร์มเป็นของตนเองควบคู่ไปด้วย
จุดเริ่มต้นการเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น
ในช่วงแรกได้เริ่มซื้อสาหร่ายพวงองุ่นจากโครงการฟาร์มทะเลฯ มาทดลองขายเองก่อน คู่กับการศึกษาข้อมูลและวิธีการคัดเลือกสาหร่ายคุณภาพดี และเข้ารับการอบรมพัฒนาความรู้ด้านการเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น เริ่มตั้งแต่วิธีการปลูก ตลอดจนการเก็บเกี่ยว และการเก็บรักษาผลผลิตก่อน-หลังจำหน่าย ว่าทำอย่างไรให้สาหร่ายพวงองุ่นสะอาด สด และสามารถเก็บผลผลิตไว้ได้นาน
จากนั้นได้เริ่มทดลองซื้อสาหร่ายพวงองุ่นจำนวนมากขึ้น เพื่อนำมาทำระบบพัก ล้าง และจำหน่ายผ่านช่องทางต่างๆ จนเริ่มมีลูกค้าทั่วไป และสนใจนำไปจำหน่าย จึงเป็นที่มาของการเริ่มทำฟาร์มเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นแบบเต็มรูปแบบ ภายใต้ชื่อฟาร์ม เบ็ญจมาศ กรีนคาเวียร์ โดยมีเจ้าของทั้งหมด 4 ราย และ 1 ในนั้น คือ คุณกิ ผู้บริหารฟาร์ม
ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายสาหร่ายพวงองุ่น
คุณกิเล่าให้ฟังว่า “ จริงๆ ปีนี้คนเริ่มรู้จักสาหร่ายพวงองุ่นแล้วว่าคืออะไร ต่างจากปีที่แล้ว เมื่อต้นๆ ปีสาหร่ายชนิดนี้ยังไม่เป็นที่รู้จักมากเท่าไหร่นัก ซึ่งปีนี้ที่กระแสสาหร่ายพวงองุ่นค่อนข้างแรง ส่วนหนึ่งเกิดจากกระแสโซเชียลที่มีนักชิมต่างๆ หรือ ASMR สายกิน ได้นำสาหร่ายพวงองุ่นไปรับประทานโชว์ หรือทำคลิปโชว์ เมื่อมีคนเห็นมากขึ้น ผู้ที่รับชมจึงเริ่มสนใจอยากทดลองกินบ้าง เมื่อกินแล้วติดใจก็จะบอกต่อๆ กัน จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ในปีนี้สาหร่ายพวงองุ่นเป็นที่รู้จักและนิยมมากขึ้น”
ราคาสาหร่ายพวงองุ่นในช่วง 2-3 ปีแรกนั้น อยู่ที่กิโลกรัมละ 300-400 บาท เลยทีเดียว นับว่ามีราคาสูง ราคานี้เป็นราคาสาหร่ายแบบเกรด B ขนาดกลาง ความยาวประมาณ 2-4 นิ้ว แต่ถ้าเป็นแบบเกรด A ความยาว 4 นิ้วขึ้นไป เด็ดแบบไม่ติดก้าน ราคาสาหร่ายอยู่ในช่วง 600-800 บาท/กิโลกรัม เลยก็มีช่วง 2-3 ปีแรก การเด็ดสาหร่ายจะเป็นแบบเด็ดเป็นเส้น ไม่ติดก้าน
แต่ในภาคใต้ของประเทศไทยมีการบริโภคสาหร่ายเป็นจำนวนมาก และบริโภคมานานแล้ว โดยส่วนใหญ่นิยมแบบเด็ดมีก้าน หรือเป็นยอดอ่อน คล้ายลักษณะการเด็ดยอดผัก เด็ดเป็นช่อ เมื่อความต้องการของตลาดเพิ่มขึ้น ราคาจำหน่ายเป็นที่ดึงดูดแก่ผู้เพาะเลี้ยง จึงเริ่มมีฟาร์มต่างๆ เกิดขึ้นอีกมากมาย ผลผลิตจึงเริ่มมีปริมาณมากขึ้น ราคาสาหร่ายจึงถูกลง แต่ทั้งนี้ยังถือว่าการเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นเป็นธุรกิจที่ยังสร้างรายได้ได้ดีอยู่ เพียงแต่ราคาจัดจำหน่ายจะลดลงจากช่วงแรกเท่านั้น เมื่อความต้องการเริ่มมากขึ้น ทางฟาร์มจึงได้ทำการเพาะปลูกแบบปลูกด้วยวิธีปักดำต้นพันธุ์ทางหน้าดิน ซึ่งจะช่วยเพิ่มยอดการผลิตได้มากขึ้น และทำให้มีสาหร่ายเพียงพอต่อความต้องการของตลาดได้
การบริหารจัดการบ่อเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น
การเตรียมบ่อและการดูแลดินภายในบ่อเลี้ยง ควรเลือกดินที่ใช้ทำบ่อเป็นดินเหนียวเป็นหลัก เพราะถ้าเป็นดินทรายจะไม่ช่วยอุ้มน้ำ และมีแร่ธาตุอาหารน้อย ทำการขุดบ่อลึกประมาณ 1.5-2 เมตร ทำการตากบ่อให้แห้ง เพื่อช่วยกำจัดศัตรูต่างๆ เช่น สาหร่ายเส้นผม หอยกะพง เพรียงชนิดต่างๆ และปรับสภาพพื้นบ่อด้วยปูนขาวประมาณ 50 กิโลกรัม/ไร่ โดยหว่านให้ทั่วๆ บ่อ เช่นเดียวกับการเตรียมบ่อสำหรับเลี้ยงสัตว์น้ำทั่วไป
การเตรียมน้ำ สูบน้ำเข้าบ่อประมาณ 1.5 เมตร ทิ้งไว้ 1-2 วัน จากนั้นปล่อยน้ำทิ้งเหมือนการล้างบ่อ และทำการสูบน้ำเข้าบ่อใหม่อีกครั้ง จากนั้นค่อยๆ ปรับค่าพารามิเตอร์น้ำให้เหมาะสม ค่า pH จะอยู่ที่ 7.5-8.5 ค่าอัลคาไลน์ประมาณ 150 พีพีเอ็ม ทำการสูบน้ำเข้าบ่อประมาณ 50 ซม.
การเพาะปลูก การปลูกสามารถทำได้ 2 วิธี คือ การหว่าน หรือการปักชำ โดยทางฟาร์มเลือกวิธีการปักดำเป็นหลัก คือ นำต้นพันธุ์สาหร่ายพวงองุ่นจากศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง เพชรบุรี ทำการปลูกลงดิน โดยวิธีการปักดำแบบไม่ต้องติดกันมาก ระยะห่างประมาณ 30-50 ซม. ปลูกให้ทั่วบ่อ หลังจากปักดำเสร็จแล้วจึงเติมน้ำในบ่อเพาะปลูกที่ระดับความสูงไม่เกิน 150 ซม. สาหร่ายจะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ จะเริ่มแตกยอดใหม่ให้เห็น และค่อยๆ แตกยอดเลื้อยไปตามพื้นบ่อ ระยะเวลาในการเพาะปลูกประมาณ 2-3 เดือน จึงจะทำการเก็บเกี่ยว หลังจากเริ่มเก็บเกี่ยวแล้วก็จะสามารถเก็บเกี่ยวได้เรื่อยๆ ตลอดทั้งปี
การควบคุมน้ำตลอดการเพาะเลี้ยง ตลอดช่วงการเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น สิ่งสำคัญ คือ การเปลี่ยนถ่ายน้ำในบ่อเลี้ยง โดยจะดูดน้ำใหม่เข้าบ่อเลี้ยงเป็นประจำ เพื่อให้สาหร่ายได้รับสารอาหารจากธรรมชาติ หมั่นถ่ายเทน้ำ โดยสูบน้ำเก่าออก เติมน้ำใหม่เข้ามาทดแทน โดยรักษาความสูงของระดับน้ำให้อยู่ที่ประมาณ 1.5 เมตร ยาวไปตลอดจนการเก็บเกี่ยวผลผลิต
การให้อากาศ มีการรักษาปริมาณออกซิเจนภายในบ่อเลี้ยงให้เพียงพอ โดยทางฟาร์มจะมีเครื่องให้อากาศในน้ำ และเครื่องตีน้ำช่วยในการหมุนเวียนของน้ำ เพิ่มออกซิเจนภายในน้ำอย่างต่อเนื่อง เพราะจะส่งผลให้สาหร่ายพวงองุ่นเจริญเติบโตได้ดีมากยิ่งขึ้น
นอกจากภายในบ่อจะมีผลผลิตที่ได้จากการเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นอยู่แล้ว ทางฟาร์มยังผสมผสานการเลี้ยง “ปลากะพง” เข้าไปด้วย ซึ่งจะช่วยเป็นรายได้เสริมควบคู่กับการเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นในคราวเดียวกัน คุณกิให้ข้อมูลว่า “จริงๆ แล้วปลากะพงกับสาหร่ายพวงองุ่นนั้นสามารถเลี้ยงร่วมกันได้ โดยทั้ง 2 ชนิดนี้จะไม่รบกวนกัน เพราะปลากะพงไม่กินสาหร่ายพวงองุ่น แถมยังช่วยในเรื่องของศัตรูพืชในสาหร่ายพวงองุ่น ซึ่งศัตรูพืชที่คอยรบกวนสาหร่ายนั้นมีอยู่เรื่อยๆ แต่ไม่ได้ทำให้สาหร่ายเสียหาย เพียงแต่จะเกาะสาหร่ายเหมือนเป็นการรบกวนมากกว่า ซึ่งปลากะพงจะช่วยเก็บกินศัตรูขนาดเล็ก เป็นการบำบัดในเชิงระบบนิเวศ ไม่ต้องใช้สารเคมีในการไล่หรือกำจัด ผู้บริโภคจึงมั่นใจได้ว่าสาหร่ายพวงองุ่นจะปลอดภัยไร้กังวลเรื่องของยาฆ่าแมลงหรือสารเคมีอีกด้วย”
การเก็บเกี่ยวสาหร่ายพวงองุ่น
จุดเด่นของฟาร์มที่ลูกค้าติดใจ คือ สาหร่ายพวงองุ่นของทางฟาร์มเบ็ญจมาศ กรีนคาเวียร์ จะไม่มีกลิ่นเหม็นคาวโคลน หรือเศษดินติดไปกับสาหร่าย เนื่องจากทางฟาร์มมีขั้นตอนในการทำความสะอาดสาหร่ายอย่างพิถีพิถันด้วยการใช้ “ระบบสกิมเมอร์” ในการทำความสะอาดสาหร่าย ช่วยล้างขจัดดินโคลนออกจนหมด เนื่องจากเวลาเก็บเกี่ยวสาหร่ายขึ้นมาจากบ่อนั้นจะมีดินโคลนเกาะติดอยู่จำนวนมาก ถ้าไม่ล้างให้สะอาดสาหร่ายจะมีกลิ่นเหม็นคาวโคลน ไม่น่ารับประทาน
วิธีการจัดการง่ายๆ คือ หลังจากเก็บสาหร่ายที่เพาะปลูกมาแล้ว ซึ่งเรียกว่าสาหร่ายปากบ่อ เราจะนำสาหร่ายปากบ่อมาพักในน้ำที่เตรียมไว้ 1 คืน ก่อนนำไปเด็ด เพื่อให้สาหร่ายที่เพิ่งทำการเก็บเกี่ยวมาฟื้นตัวก่อน จึงจะส่งให้คนงานทำการเด็ดคัดต่อไป และหลังจากที่คนงานเด็ดคัดสาหร่าย โดยเลือกเด็ดสาหร่ายที่มีความสมบูรณ์ แข็งแรง มีสีเขียวเท่านั้น โดยทำการเด็ดคัดสาหร่ายเรียบร้อยแล้วจะนำสาหร่ายไปพักน้ำที่ให้ออกซิเจนในถังที่เตรียมไว้เป็นเวลา 1 วัน เพื่อให้สาหร่ายฟื้นตัว และจะย้ายสาหร่ายในวันต่อมาลงในถังล้างระบบสกิมเมอร์ เพื่อทำการขจัดคราบดินโคลน และสิ่งสกปรกต่างๆ ที่ติดมากับสาหร่าย ให้สังเกตที่สีของน้ำจะมีสีขุ่น มีคราบฟองโคลนลอยขึ้นบนผิวน้ำ หมั่นเช็ดออกอยู่เสมอ
โดยทางฟาร์มจะทำการเปลี่ยนถ่ายน้ำทุกวันในช่วงเวลาเย็น หากยังเห็นว่าไม่สะอาดจะทำการล้างสกิมเมอร์ต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าสีของน้ำจะใสสะอาด ไม่มีคราบฟองโคลนลอยบนผิวน้ำ เมื่อเห็นว่าสะอาดแล้วจึงทำการย้ายสาหร่ายมาใส่ในถังพักน้ำที่เตรียมไว้ โดยให้ออกซิเจนตามปกติ ระยะเวลาการล้างตั้งแต่เก็บเกี่ยวประมาณ 2-3 วัน
หลังจากนั้นเราสามารถสังเกตได้ว่าสาหร่ายที่เด็ดแล้วจะเริ่มมีรากฝอยเล็กๆ ขาวๆ แตกออกมาบริเวณที่เราตัดแต่ง นั่นแสดงว่าแผลของสาหร่ายที่ถูกเด็ดปิดสนิทจนเกิดเป็นรากเล็กๆ สาหร่ายจะมีความแข็งแรงพร้อมที่จะส่งขาย ไม่เสี่ยงต่อการคายน้ำ เพราะเนื้อเยื่อที่ถูกเด็ดได้ปิดสนิทแล้ว สาหร่ายจึงพร้อมที่จะบรรจุจำหน่ายให้กับลูกค้าต่อไป
ฝากถึงเกษตรกรที่สนใจ วิธีเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น
การเริ่มทำธุรกิจผลิตสาหร่ายพวงองุ่น หรือธุรกิจการผลิตสัตว์น้ำทุกๆชนิด ควรคำนึงถึงการจัดการฟาร์มให้ผ่านมาตรฐานที่กรมประมงได้กำหนดไว้ ซึ่งจะเป็นแนวทางให้ประกอบธุรกิจสัตว์น้ำได้อย่างราบรื่นและยั่งยืน คุณกิได้ฝากทิ้งท้ายไว้ว่า “เกษตรกรผู้สนใจเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นสามารถทดลองเพาะเลี้ยงเพื่อเป็นรายได้ให้กับครอบครัว เป็นอีกอาชีพที่สร้างรายได้ดี สามารถจะช่วยให้เศรษฐกิจในครอบครัวดีขึ้นได้ หรือผู้ที่สนใจนำไปจำหน่าย สามารถรับสาหร่ายไปจำหน่ายในลักษณะตัวแทนจัดจำหน่ายได้เช่นกัน ทุกทางของกระบวนการผลิตจะเกื้อกูลซึ่งกันและกัน
ในการจำหน่ายสาหร่ายพวงองุ่นควรคำนึงถึงความสด สะอาด คุณภาพ ของสาหร่าย เป็นสิ่งสำคัญ เพราะการบริหารจัดการในกระบวนการผลิตที่ดีส่งผลให้เกิดมาตรฐานในสินค้า และเกิดความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค และในส่วนของการสร้างมาตรฐานฟาร์มนั้น จริงๆ ทุกฟาร์มสามารถทำได้ โดยสามารถติดต่อขอความรู้ได้ที่กรมประมง
อย่างแรกควรจะจดทะเบียนฟาร์มเกษตรกรก่อนเป็นอันดับแรก แล้วจากนั้นหน่วยงานกรมประมงจะแนะนำขั้นตอนและวิธีการปฏิบัติอย่างไรให้ได้มาตรฐาน ตั้งแต่กระบวนการผลิต มาตรฐานการผลิต วิธีการผลิต การบริหารจัดการน้ำ คุณภาพของสินค้าที่ออกมามีคุณภาพ ส่งผลต่อความมั่นใจของผู้บริโภค ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการประกอบอาชีพเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นอย่างแน่นอน”
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือสนใจผลผลิตสาหร่ายพวงองุ่น สด สะอาด ได้มาตรฐาน GAP ติดต่อได้ที่ โทร.095-8248975 คุณกิ ทางฟาร์มมีบริการจัดส่งสาหร่ายทั่วประเทศ (คิดค่าส่งตามขนาดบรรจุ/ระยะทาง/ตามจริง) และสำหรับท่านใดอยากได้ต้นพันธุ์สาหร่ายพวงองุ่นเพื่อนำไปเพาะปลูกเป็นอาชีพ สามารถติดต่อและขอความรู้ได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง เพชรบุรี/โครงการฟาร์มทะเลตัวอย่างตามพระราชดำริ/ฟาร์มเบ็ญจมาศ กรีนคาเวียร์ ยินดีต้อนรับทุกท่านที่สนใจ
ขอบคุณข้อมูลเกษตรกรจาก คุณคุณนงนภัส อภิกรรัตน์ ผู้บริหาร เบญจมาศ กรีนคาเวียร์ วิธีเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น
โทร/Line 095-8248975, 095-8248987 ที่ตั้งฟาร์ม ตรงข้ามวัดสมุทรโคดม หมู่ที่ 1 ต.แหลมผักเบี้ย อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี
อ้างอิง : นิตยสารสัตว์น้ำ ฉบับที่ 262/2562 วิธีเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น วิธีเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น