สนิท ฟาร์มปลากะพง เปิดตลาดธุรกิจบ่อตกปลากะพง เสริมรายได้การเลี้ยงปลากะพงอย่างยั่งยืน

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ถ้าพูดถึงยุคของการเปลี่ยนผ่านของปลากะพงไทย ที่ทำให้กลายเป็นสินค้าพรีเมี่ยมสามารถตอบโจทย์ให้กับเหล่าผู้บริโภคทั่วโลก คงต้องพูดถึงยุคของปลากะพงที่เลี้ยงด้วยอาหารเม็ดสำเร็จรูป ที่ผ่านการเลี้ยงแล้วได้ผลผลิตปลากะพงที่มีความแน่นของเนื้อ ไม่มีกลิ่นคาว รสชาติถูกปากและได้มาตรฐานสากล

1.สนิทฟาร์ม01

จุดเริ่มต้นของการใช้อาหารสำเร็จรูป

นิตยสารสัตว์น้ำพาท่านผู้อ่านไปพูดคุยกับยอดยุคการเริ่มต้นการเลี้ยงปลากะพงด้วยอาหารเม็ดสำเร็จรูปอย่าง คุณไตรภพ โพธิ์อุบล หรือ คุณหนุ่ม ผู้บริหาร สนิทฟาร์มปลากะพง บนพื้นที่ฟาร์มกว่า 65 ไร่ ในตำบลสองคลอง อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยคุณหนุ่มเริ่มลุยธุรกิจปลากะพงต่อจากครอบครัว ซึ่งมีคุณพ่อปูทางสายประสบการณ์นี้เพื่อดูแลครอบครัวมานานกว่า 20 ปี ส่วนคุณหนุ่มเองได้คลุคลีอยู่กับการเลี้ยงปลากะพงร่วมกับคุณพ่อมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในปัจจุบันสามารถลุยธุรกิจปลากะพงได้อย่างมั่นคง

คุณหนุ่มเล่าให้เราฟังว่า ตนเป็นกลุ่มทดลองกลุ่มแรกๆ ที่ทางบริษัทผู้ผลิตอาหารสัตว์น้ำอย่าง บริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ จำกัด (มหาชน) ส่งเสริมให้เริ่มเลี้ยงปลากะพงขาวด้วยอาหารเม็ดสำเร็จรูปที่มีโปรตีนที่เหมาะสม เพื่อทดแทนการใช้อาหารสดหรือปลาเหยื่อในการเลี้ยงปลากะพง “ในวันที่ผมเริ่มเลี้ยงปลากะพงอย่างจริงจัง ได้มีบริษัท ไทยยูเนี่ยน ให้ทดลองอาหารที่ใช้เลี้ยงจากปลาเหยื่อสดเป็นอาหารเม็ด

ผมเป็นกลุ่มทดลองกลุ่มแรกเลย ณ วันที่เปลี่ยนลูกค้าที่ซื้อปลาเรายังไม่มั่นใจในคุณภาพเนื้อ เนื่องจากว่าปลากะพงเป็นปลากินเนื้อ ซึ่งมาให้อาหารเม็ดเนี่ย เขากลัวว่ารสชาติหรือว่าคุณภาพของเนื้อจะเปลี่ยนไป แต่ว่ามีอยู่ช่วงนึงปลากะพงขาดตลาด เขาก็เลยมาลองจับไปขายร้านอาหาร ปรากฏว่าคุณภาพดีเกินคาด ตั้งแต่วันนั้นเลยกลายเป็นที่ยอมรับมาโดยตลอด จนถึงวันนี้ก็น่าจะ 15 ปีได้แล้ว” คุณหนุ่มเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการใช้อาหารสำเร็จรูป

2.สนิทฟาร์ม02

การให้อาหารปลากะพง

ตอนแรกเริ่มในการเปลี่ยนรูปแบบอาหารในการเลี้ยงปลากะพงอาจจะยังไม่ชัดเจนมากนัก แต่พอเข้าสู่สภาวะอาหารสดหรือปลาเหยื่อขาดตลาด เลยทำให้คุณหนุ่มตัดสินใจใช้อาหารเม็ดสำเร็จรูปแทนทั้งหมด เพื่อรักษาสมดุลในการเลี้ยงให้ได้ดำเนินอย่างต่อเนื่อง ปลามีอาหารกินตลอดการเลี้ยง ทางฟาร์มควบคุมคุณภาพของผลผลิตได้ตลอดการเลี้ยง “ในวันที่ปลาเหยื่อสดเริ่มขาดตลาด เริ่มหายาก ทำให้เราเปลี่ยนมาเป็นอาหารเม็ดดีกว่า เพราะว่าปลาเหยื่อ ปลาเป็ด เนี่ย ถ้าสมมติว่าคลื่นลมหน้าฝน เรือประมงออกไม่ได้เลย จะทำให้อาหารขาด เราต้องรอปลาดองน้ำแข็งจากน้ำลึกมาอย่างเดียว เราจะไม่สามารถจัดการได้ บางทีปลาเราก็กินไม่ต่อเนื่อง” คุณหนุ่ม บอกถึงเหตุผลในการเลิกใช้เหยื่อสด

อีกหนึ่งแรงจูงใจที่ทำให้คุณหนุ่มมั่นใจในการปรับวิธีการเลี้ยงและการให้อาหาร เพราะในวันนั้นทาง บริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ จำกัด (มหาชน) ได้ให้ความเชื่อมั่นกับทางกลุ่มผู้เริ่มทดลองใช้อาหารสำเร็จรูปด้วยการรับซื้อผลผลิตที่เลี้ยงด้วยอาหารของบริษัทกลับทั้งหมด ทำให้เกษตรกรกลุ่มทดลองอย่างคุณหนุ่มมีความมั่นใจว่าจะขายผลผลิตได้และเชื่อมั่นการทดลอง ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ทางคุณหนุ่มยังคงเลือกใช้ อาหารเม็ดสำเร็จรูป “โปรฟีด” ของ บริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ จำกัด (มหาชน) เป็นทางเลือกสู่ความสำเร็จมาโดยตลอด

โฆษณา
AP Chemical Thailand

3.สนิทฟาร์ม03

การบริหารจัดการบ่อปลากะพง

คุณหนุ่มเน้นย้ำกับเราว่านอกจากการมีพันธมิตรในการทำธุรกิจที่ดีแล้ว สิ่งที่สำคัญเป็นอย่างมาก คือ กระบวนการจัดการฟาร์มที่ได้มาตรฐาน เข้มงวดกับทุกองค์ประกอบของการเลี้ยง อย่างฟาร์มของคุณหนุ่ม ไม่ใช่เพียงได้มาตรฐาน GAP แต่ได้มาตรฐานที่สูงขึ้นไปอีก คือ BAP หรือ The Best Aquaculture Practices เป็นมาตรฐานที่พัฒนาออกแบบมาเพื่อกำหนดแนวทางความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ความเป็นอยู่ที่ดีของสัตว์ ความปลอดภัยของอาหาร และการตรวจสอบย้อนกลับมาตรฐาน BAP จะครอบคลุมขั้นตอนการผลิตทั้งหมด ตั้งแต่ฟาร์มจนถึงโรงงานแปรรูป ทำให้ผลผลิตที่ออกจากสนิทฟาร์มปลากะพงเป็นที่ยอมรับของห้องเย็น แพปลา พ่อค้า เป็นอย่างมาก

4.สนิทฟาร์ม04

เทคนิคการจัดการฟาร์มฉบับ สนิท ฟาร์มปลากะพง

สนิท ฟาร์มปลากะพง ดำเนินการเลี้ยงปลากะพงบนพื้นที่กว่า 65 ไร่ เป็นแนวยาวกว่า 1 กิโลเมตร มีบ่อเลี้ยงกว่า 22 บ่อ โดยแต่ละบ่อเลี้ยงปลากะพงด้วยความหนาแน่นประมาณ 8,000 ตัว/ไร่ ปล่อยลูกปลาไซซ์ 1.5 นิ้ว ใช้เครื่องใบพัดตีน้ำ 3-4 แขน/บ่อเลี้ยง แขนละ 12-16 ใบพัด เพื่อรักษาออกซิเจนในน้ำระหว่างการเลี้ยงหรือDO ให้ไม่ต่ำกว่า 4 และมีการใช้จุลินทรีย์น้ำแดงลงทุกสัปดาห์เพื่อลดของเสียภายในน้ำ และเติมผลิตภัณฑ์จำพวกซีโอไลท์เพื่อลดความหนืดของน้ำ ส่วนเรื่องอาหาร คุณหนุ่มบอกกับเราว่าถ้าเลือกใช้อาหารที่ไว้ใจเรื่องคุณภาพได้แล้ว เราจะมีเวลาไปใส่ใจกับเรื่องอื่นที่สำคัญอีกหลายๆ เรื่องได้ และจัดการได้อย่างทันท่วงที

“การจัดการฟาร์มผมจะให้ความสำคัญตั้งแต่การลงลูกปลา ผมเลือกลงลูกปลาขนาด 1.5 นิ้ว แต่ถ้าเป็นมือใหม่ผมแนะนำให้เริ่มต้นลงขนาด 3-4 นิ้ว และอาจจะสตาร์ทที่ความหนาแน่น 5,000 ตัว/ไร่ จะมีอัตรารอดสูงกว่า จัดการง่ายกว่า แต่ของผมที่ปล่อยขนาด 1.5 นิ้ว หนาแน่น 8,000 ตัว/ไร่ ได้ เพราะผมทำมานานจนระบบของผมเข้าที่เข้าทางแล้ว

ส่วนเรื่องการอนุบาลของผมจะไม่แยกอนุบาลหรือร่อนไซซ์ แต่จะเลี้ยงยาวไปเลยจนจบ แต่ถ้าเป็นมือใหม่แนะนำให้ร่อนไซซ์แยกบ่อเลี้ยงจะได้ปลาขนาดเท่าๆ กัน ไม่กินกันเอง แต่ของที่ไม่แยกบ่อเพราะต้องการทำปลาให้แม่ค้าได้เลือกไซซ์ได้ เพื่อเป็นตัวเลือกในการขายปลาที่แม่ค้าต้องการมากขึ้น แต่วิธีการจัดการจะยากตามมาด้วย ต้องควบคุมและจัดการการให้อาหารอย่างเข้มงวดเป็นอย่างมาก ส่วนระยะเวลาการเลี้ยงของผมจะอยู่ประมาณ 5 เดือน จะได้ปลาไซซ์ 7 8 9 ขีด เราจะดูตลาดในวันนั้นว่าแม่ค้าเขาจะเอาปลาไซซ์ไหนด้วยการสุ่มไซซ์ปลาให้แม่ค้าเลือก และอาจยืดได้ถึงขนาด 1-1.2 กก. และจะสอดคล้องกับแผนการลงปลาทั้งหมดของฟาร์ม ทำให้ผลผลิตปลาของฟาร์มออกสู่ท้องตลาดได้ทั้งหมด” คุณหนุ่ม อธิบายถึงขั้นตอนการจัดการฟาร์ม

5.สนิทฟาร์ม05

ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายปลากะพง

ทุกวันนี้จากการให้ข้อมูลจากคุณหนุ่ม สนิท ฟาร์มปลากะพง สามารถจับจำหน่ายผลผลิตเฉลี่ยอยู่ 3-5 ตัน/วัน และในช่วงเทศกาลอาจจับผลผลิตได้สูงถึง 10-15 ตัน/วัน เลยทีเดียว จึงเป็นตัวเลขที่บ่งบอกถึงความสำเร็จที่ส่งผลต่อการจัดการที่ได้รับการเอาใจใส่และเข้มงวดในมาตรฐานฟาร์ม “ผมเน้นย้ำตรงนี้เลยว่าการรักษาออกซิเจนในน้ำ เป็นตัวสำคัญเลย สัตว์น้ำถ้าขาดออกซิเจนมีโอกาสที่จะเสียหายสูง ส่วนไนไตรท์เป็นตัวที่จัดการยาก จะเกิดได้จากการที่ปลาจะมากินอาหารเยอะ อากาศร้อน จุลินทรีย์ทำงานไม่ทัน ก็จะเกิดเป็นไนไตร์ทได้ ไนไตร์ทสูงจะทำให้ปลากินอาหารไม่ได้ กินอาหารถอยลง และทำให้ค่า FCR มันก็จะสูงขึ้น

ส่วนเรื่องความเค็ม ปลากะพงเป็นปลา 2 น้ำ ซึ่งมันไม่ค่อยส่งผลกระทบเท่าไหร่ ปลากะพงน้ำจืดจะทำให้โตเร็ว แต่โรคเยอะ พวกเห็บระฆังพวกนี้มันจะเจริญเติบโตได้ ปลากะพงน้ำเค็มเป็นปลากะพงที่เนื้อแน่น เนื้อดี แต่ว่าอัตราการเจริญเติบโตมันอาจจะช้านิดนึง ส่วนของเราเป็นปลากะพงน้ำกร่อย ซึ่งน้ำกร่อยก็คือไม่ใช่ไม่มีความเค็มเลย มีแต่ว่าไม่ได้สูงมากนัก ทำให้มันสามารถเจริญเติบโตต่อได้ในภาวะความเค็มสูงหรือต่ำที่มันสลับกัน และส่วนเรื่องโรคของฟาร์มเราใช้วิธี back to the basic เลย คือ การใช้ด่างทับทิมและไอโอดีน ถ้าเจอพวกเห็บระฆังหรือโรค เราจะใช้ด่างทับทิม 1 กก./ไร่ และ ไอโอดีน 1 ลิตร/ไร่ เลือกใช้เมื่อเกิดในแต่ละสถานการณ์ตามความเหมาะสม”

โฆษณา
AP Chemical Thailand

6.สนิทฟาร์ม06

สนิท ฟาร์มปลากะพง ธุรกิจตกปลากะพง สร้างเงินหมุนเวียนในครอบครัว

อีกหนึ่งธุรกิจที่ทำให้ สนิท ฟาร์มปลากะพง มีเงินหมุนเวียนใช้จ่ายในช่วงวิกฤตที่มีผลผลิตตกค้างอยู่ในบ่อ หลังจากได้รับการกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 นั่นคือ การเปิดบ่อตกปลากะพง ที่เปิดให้นักท่องเที่ยวหรือผู้ชื่นชอบในการตกปลาได้เข้ามาตกปลากะพงที่บ่อ โดยได้รับการตอบรับเป็นอย่างมาก คุณหนุ่มเล่าให้เราฟังว่าที่ผ่านมาสามารถระบายผลผลิตออกไปได้ 2 ตัน/สัปดาห์ ทำเกิดเงินหมุนเวียนที่จะนำมาเป็นค่าอาหารปลา ค่าใช้จ่ายในครอบครัวในช่วงที่ผ่านมา

“ช่วงโควิดผลผลิตทุกคนหยุดหมดเลย ปลากะพงของผมจะส่งสายการบินเป็นหลัก และคราวนี้สายการบินหยุดเครื่องบิน ทำให้เค้าหยุดออเดอร์ และเรามีปลาที่จะต้องส่งอยู่เดือนละ 20, 30 ตัน ค้างในบ่อ เราก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เราก็เลยเปิดตก เฉลี่ยแล้วอาทิตย์นึง 7 วัน น่าจะมีปลาออกประมาณ 2 ตัน ที่เขามาตกๆ ไป คราวนี้พอปลาไม่พอตกแล้ว เราจึงปิดไป 1 ปี และคราวนี้มีคนทักมาทางเพจของเรา ว่าให้กลับมาเปิดตกที เพราะว่าเขาไปกินปลาที่อื่นแล้วรสชาติไม่เหมือนที่นี่ เพราะว่าปลาที่เราสามารถกินเป็นเกรดซาซิมิได้เลยครับ เราจะไม่มีค่าเบ็ด ค่าอะไรเลย มาตกกี่ตัว นำมาชั่งออกทุกตัว และก็เอากลับบ้าน เรามีบริการแช่น้ำแข็ง แช่ฟรีซให้

อย่างตอนโควิด ผมกำหนดราคาไว้ที่ 100 บาท/กก. ซึ่งราคาตลาดตอนนั้น 150 บาท ก็จะมีคนที่เป็นนักตกปลานำไปขายต่อหน้าโรงงาน กก.ละ 120 บาท เคยมีตกได้สูงๆ เลย 200 กก./วัน ไปขายต่อหมดวันเดียว และก็ไม่พอ วันรุ่งขึ้นเขาก็กลับมาตกอีก ผมบอกว่าพี่เพิ่งตกไปเมื่อวานไม่ใช่เหรอ เขาบอกว่าใช่ ขนาดเก็บไว้ 5 ตัว สำหรับกินเอง ก็ต้องขายไปจนหมด พอหยุดไป 1 ปี เราเริ่มกลับมาตั้งแต่ 1 ธ.ค. จนประมาณ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา ตกไปแล้ว 5 ตันกว่า อันนี้คือเปิดตกอย่างเดียวเลย”

ปัจจุบัน สนิท ฟาร์มปลากะพง ดำเนินการแยกโซนระหว่างการเลี้ยงและการเปิดบ่อตกเพื่อเป็นการดำเนินธุรกิจไปได้ทั้งสองอย่างด้วยความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น และเป็นการสร้างห่วงโซ่ของวงการปลากะพงให้แข็งแรงมากยิ่งขึ้น

สำหรับท่านใดสนใจอยากปรึกษาหรือสอบถามสามารถติดต่อได้ที่ 087-6677229 คุณหนุ่ม ผู้บริหาร สนิท ฟาร์มปลากะพง

อ้างอิง : นิตยสารสัตว์น้ำ ฉบับที่ 413