ปัจจุบันผู้บริโภคหันมาสนใจรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น ทำให้ผู้ผลิตอย่างเกษตรกรต้องทำการปรับตัว รวมถึงปรับวิธีการเลี้ยง หรือเพราะปลูกให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง ลดการใช้สารเคมี หรือยาปฏิชีวนะ ในการเกษตรนั้นๆ ดังเช่น สุขใจปลากาญฟาร์ม ที่เลี้ยง ปลาทับทิม ไร้สาร
แต่แน่นอนว่าการไม่ใช้ยา หรือสารเคมี ในการทำเกษตร สิ่งที่มักตามมา คือ ความเสียหายของพืชผล หรือ แม้แต่สัตว์น้ำที่เลี้ยง ส่งผลให้เกษตรกรถอดใจกลับมาใช้ยา หรือสารเคมี อีกครั้ง แต่ไม่ใช่สำหรับเกษตรกรของเราในวันนี้
จุดเริ่มต้นเลี้ยงปลาทับทิม
วันนี้ทีมงานนิตยสารสัตว์น้ำเดินทางมายังจังหวัดกาญจนบุรีอีกครั้ง เพื่อมาดูการเลี้ยง ปลาทับทิม แบบไม่ใช้ยา ของ คุณเสรี พีระณรงค์ หรือคุณเส ผู้บริหาร “ สุขใจปลากาญฟาร์ม ” กระชังเลี้ยงปลาแห่งแรกๆ ของ จ.กาญจนบุรี ที่เน้นการเลี้ยงปลาแบบไม่ใช้ยาแม้แต่นิดเดียว
คุณเสได้ให้ข้อมูลว่า ตนหันมาทำอาชีพเลี้ยง ปลาทับทิม จากวันแรกถึงวันนี้ก็เข้าปีที่ 6 แล้ว โดยใช้องค์ความรู้จากการทำงาน เป็นเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเลี้ยงปลาทับทิมในสมัยก่อน มาประยุกต์และปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงให้เข้ากับปัจจุบัน เพื่อผลิตปลาทิมทิมคุณภาพออกจำหน่ายสู่ตลาด
“ ความตั้งใจแรกของผมหลังจากลาออกจากงานประจำ คือ อยากเลี้ยงปลาแบบไม่ใช้สารเคมี หรือไม่ใช้ยาเลย ผมจะเน้นเรื่องความปลอดภัยของผู้บริโภค อยากให้ผู้บริโภคได้กินปลาที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ไม่มีสารตกค้าง เริ่มแรกของการทำฟาร์มผมจะเลือกแหล่งน้ำก่อน เราจะเลี้ยงปลากระชังต้องเลือกแม่น้ำที่สะอาด มีน้ำตลอดทั้งปี จนมาจบที่ อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี เพราะแหล่งนี้ตรงนี้มาจากธรรมชาติ ไหลมาจาก 2 เขื่อนใหญ่ คือ เขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณ์
จะเห็นว่าด้านบนของลำน้ำจะไม่มีโรงงานอุตสาหกรรม ดังนั้นคุณภาพน้ำที่เอามาเลี้ยงปลาจะไม่มีสารพิษเจือปน ประกอบกับรูปแบบการเลี้ยงที่ไม่ใช้ยาตั้งแต่ลูกปลายันวันจับ ดังนั้นปลาของเราจึงปลอดภัย 100% ” คุณเสเผยถึงความสำคัญของน้ำเลี้ยง
เทคนิคการเลี้ยงปลาทับทิม
ปัจจุบันสุขใจปลากาญฟาร์ม มีกระชังเลี้ยงปลากว่า 600 กระชัง คุณเสได้เผยเทคนิคการเลี้ยง ปลาทับทิม ว่า ขั้นตอนแรก คือ การคัดเลือกลูกปลาจากฟาร์มเพาะที่มีมาตรฐาน ไม่ใช้ยาทุกขั้นตอนการผลิต โดยลูกปลาที่ใช้จะมีน้ำหนักประมาณ 30 – 50 กรัม จากนั้นทำการแช่ด่างทับทิมเพื่อฆ่าเชื้อเห็บ และพาราไซต์ต่างๆ แล้วจึงนำมาอนุบาลในกระชัง เพื่อให้ลูกปลามีภูมิต้านทานโรคประจำถิ่น
แต่ก่อนลงลูกปลาทางฟาร์มจะเน้นทำความสะอาดกระชัง โดยกำจัดพืชน้ำรอบๆ กระชังออก เมื่อลงลูกปลาแล้ว ทุก 2 อาทิตย์ จะนำตาข่ายกันอาหารในกระชังออกมาทำความสะอาด ฉีดล้างคราบต่างๆ รวมถึงแช่ด่างทับทิม เพื่อตัดวงจรเชื้อโรคไปในตัว
กระชังที่ใช้เลี้ยงจะมีขนาด 3×6 เมตร ความลึกจากผิวน้ำ 1.5 เมตร ซึ่งเป็นขนาดที่เหมาะสมต่อการอนุบาลหนาแน่น 1,300 ตัว ซึ่งในระหว่างอนุบาล คุณเสจะให้ความสำคัญเรื่องการให้อาหารและอากาศในน้ำเป็นอันดับต้นๆ
การให้อาหารปลาทับทิม
ในส่วนของอาหาร ทางฟาร์มเลือกใช้แบรนด์ “ นิวทรีน่า ” จาก บริษัท คาร์กิลล์สยาม จำกัด เนื่องจากใช้แล้วสังเกตว่าปลาโตดี สร้างเนื้อเร็ว ที่สำคัญเกล็ดแข็ง ตัวปลาแข็งแรง ช่วยลดการสูญเสียระหว่างการอนุบาลได้ดี อีกทั้งเชื่อมั่นได้ในเรื่องคุณภาพของอาหาร
โดยทางฟาร์มจะให้อาหารวันละ 3 มื้อ ปริมาณ 3 – 3.5% ของน้ำหนักตัวปลาเท่านั้น พร้อมๆ กับการวัดค่าออกซิเจนในน้ำให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม หากต่ำเกินไปจะมีการให้ออกซิเจนเพิ่มในกระชัง ใช้เวลาในการอนุบาลประมาณ 2 เดือน จะเริ่มคัดแยกลูกปลาตามไซซ์ลงกระชังเลี้ยงจริง
การขุนปลาให้ทรงสวย คุณเสเกริ่นว่าไม่มีอะไรยุ่งยาก ขอเพียงสายพันธุ์ปลาดี บวกกับอาหารปลาที่ดี ก็จะทำให้ปลาขึ้นทรงสวย อย่างที่ฟาร์มจะเน้นใช้อาหาร “ นิวทรีน่า ” เป็นหลัก หลังจากปลาผ่านการอนุบาลแล้ว เริ่มเข้าเดือนที่ 4 จะให้อาหารเต็มที่ตามน้ำหนักปลาที่รับได้ จะเห็นว่าเพียงอาทิตย์เดียวจะเริ่มเห็นสันปลาขึ้นมาอย่างชัดเจน ปลาจะอ้วนสวย แข็งแรง เกล็ดแข็ง
การบริหารจัดการบ่อปลาทับทิม
นอกจากนี้ในระยะเวลาที่เลี้ยงทางบริษัท คาร์กิลล์ฯ จะส่งหมอมาตรวจโรคของปลาที่ฟาร์มเป็นประจำ ซึ่งแน่นอนว่าหากพบว่าปลาป่วย คุณเสจะนำปลากระชังนั้นๆ ขึ้นมาแช่ด่างทับทิมเพื่อเป็นการตัดเชื้อ และลดอาหารลง 50 – 60%
ซึ่งโดยรวมแล้วปลาทับทิมของฟาร์มแห่งนี้จะมีอัตราการรอดเฉลี่ย 75 – 80% ของปลาทั้งหมด จะเห็นว่ามีอัตราการรอดที่สูงเลยทีเดียว ทั้งๆ ที่มีการเลี้ยงแบบไม่ใช้ยา นั่นเป็นเพราะคุณเสมีการบริหารจัดการฟาร์มที่ดีตั้งแต่เริ่มแรก รวมถึงการเลือกใช้อาหารที่มีคุณภาพ สามารถตอบโจทย์การเลี้ยงได้เป็นอย่างดีนั่นเอง
ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายปลาทับทิม
สำหรับเรื่องตลาดปลา คุณเสอธิบายว่า ปัจจุบันตนจะส่งปลาให้กับแพปลาในตลาด นครปฐม กรุงเทพ และ ห้างโมเดิร์เทรด เฉลี่ยรวมเดือนละ 100 กว่าตัน โดยผลผลิตทั้งหมดมาจากสุขใจปลากาญฟาร์ม และเครือข่ายลูกกระชังกว่า 10 ฟาร์ม และนอกจากปลาทับทิมแล้ว ทางฟาร์มยังเลี้ยงปลานิล และปลาสวาย อีกด้วย เพื่อรองรับความต้องการของแม่ค้า ส่วนปลาสวายนั้นคุณเสเลี้ยงไว้เพื่อนำไขมันปลามาแปรรูปเป็นกุนเชียงปลานั่นเอง
“ การแปรรูปของเราเริ่มต้นเมื่อช่วงเกิดโรคโควิด 19 ช่วงนั้นปลาที่ฟาร์มเหลือเยอะ เพราะตลาดปิด แต่ปลาเราได้ไซซ์แล้ว ต้องจับแล้ว เลยปรึกษากับทีมงาน บ.คาร์กิลล์ฯ เพื่อหาวิธีระบายปลา เลยคิดว่าลองเอามาแปรรูปดู ทั้งน้ำพริก กุนเชียง ปลาทับทิมแดดเดียว ซึ่งทำออกมาได้ดี เพราะเราขายคุณภาพของปลา ว่าเป็นปลาที่ปลอดสารเคมี 100% ก็ทำออกมาขายได้ รสชาติดี ตอนนี้กำลังขยายการผลิตอยู่ เราเพิ่งเริ่มต้นทำ แต่เมื่อทำแล้วต้องต่อยอดไปให้สุด ตอนนี้เปิดเพจเฟสบุ๊คขายกันอย่างจริงจัง มีรับตัวแทนขายในแต่ละภาคด้วย ถ้าใครสนใจก็ติดต่อสอบถามกันมาได้ ”
มุมมองของคนเลี้ยงปลาไร้สารเคมี
“ ผมอยากให้คนเลี้ยงมองว่า คนที่ซื้อปลาเราไปทานเป็นลูกเรา เป็นพ่อแม่เรา ถ้าคิดมุมนี้ได้ ผลผลิตที่ออกไปสู่ตลาดก็ต้องเป็นของที่ดีที่สุด ปลาเป็นโปรตีนที่ย่อยง่ายอยู่แล้ว ถ้าจะบอกว่าเป็นยาอายุวัฒนะมันก็เป็นได้ แต่คุณต้องไม่ใช้ยา อย่างไรตลาดก็ไปรอด ทุกวันนี้ปลาผมไม่เคยพอกับความต้องการ
อีกอย่างการเลี้ยงแบบนี้มันปลอดภัยต่อคนเลี้ยงเองด้วย เพราะเราสามารถกินปลาของเราเองได้ หากใครสนใจจะร่วมเข้ามาเป็นครอบครัวเดียวกับผม ผมก็ยินดี สามารถเข้ามาพูดคุยได้ที่ฟาร์มตลอดเวลา ” คุณเสให้ความเห็น
ขอขอบคุณข้อมูล คุณเสรี พีระณรงค์ “ สุขใจปลากาญฟาร์ม ”