นิตยสารสัตว์น้ำฉบับนี้มีโอกาสกลับมาเยี่ยมเยียน สุนทรีฟาร์ม อีกครั้ง หลังจากห่างหายไปนาน การกลับมาเยี่ยมสุนทรีฟาร์มครั้งนี้ ทางทีมงานได้พบกับเทคนิคการให้อาหารแบบใหม่ ที่ทางฟาร์มได้ปรับใช้ให้เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบัน แต่เนื่องจากห่างหายไปนานทางนิตยสารขอเล่าเท้าความถึงสุนทรีฟาร์ม ให้เกษตรกรหน้าใหม่ได้รู้จัก
การเพาะเลี้ยงอาร์ทีเมีย
สุนทรีฟาร์ม มีการดำเนินธุรกิจฟาร์มเพาะพันธุ์อาร์ทีเมียมาแล้ว 10 กว่าปี มี คุณธนัญช์ เป็นผู้ดูแล ทางสุนทรีฟาร์มจดทะเบียนเมื่อปี 2554 แต่ก่อนหน้านั้นมีการทำธุรกิจด้านประมงมาก่อนแล้วเมื่อ 5-6 ปี เป็นฟาร์มอนุบาลปลากะพง แต่มีการผลิตอาร์ทีเมียใช้เอง และนั่นคือจุดเริ่มต้นก่อนมาเป็นฟาร์มอาร์ทีเมีย
เริ่มทำการตลาดอาร์ทีเมียโดยการขายเข้าตลาดซันเดย์ เป็นตลาดปลาสวยงามจตุจักร ขายให้กับโบรกเกอร์ที่วิ่งรับส่ง เมื่อทำไปได้ซักพักตลาดเริ่มดรอปลง จึงเริ่มมองหาช่องทางใหม่ เป็นตลาดส่งออก โดยทำร่วมกับบริษัทผู้ส่งออกและผลิตอาหารสัตว์น้ำ
เดิมทางฟาร์มจะนำอามิผสมกับน้ำในบ่อเพื่อทำสี และสร้างอาหารให้ตัวอาร์ทีเมีย เพราะอาร์ทีเมียจัดอยู่ในพวกกรองกิน อาหารของอาร์ทีเมียเป็นพวกแพลงก์ตอน และแบคทีเรีย ที่เกิดจากน้ำอามิ และนำพันธุ์อาร์ทีเมียไปปล่อยจะสามารถขยายพันธุ์ได้เอง
ปัญหาและอุปสรรคในฟาร์ม
แต่ในกลางปี 62 ถึงต้นปี 63 ทางฟาร์มได้เจอวิกฤต วัตถุดิบที่เคยใช้ อย่าง อามิ โรงงานผู้ผลิตได้ปิดตัวลง และย้ายโรงงานไปอยู่ที่บางปะหัน ซึ่งอยู่ไกลจากฟาร์ม ทำให้มีเรื่องค่าขนส่งที่สูงขึ้น ปัญหาต่อมา คือ วิธีการผลิตเปลี่ยนไป อามิที่ได้รับในช่วงหลังนอกจากมีราคาที่สูงขึ้น ยังก่อให้เกิดปัญหาในการเลี้ยง
“ทางบริษัทแจ้งว่ามีการเปลี่ยนวิธีการและขั้นตอนการผลิต และดูเหมือนว่าปริมาณของเสียจากอามิที่ออกมาจากระบบจะน้อยลง เมื่อนำมาใช้จะบูมแพลงก์ตอนได้ไม่ดีเท่าอามิเดิม สิ่งนี้ส่งผลเสียกับเรา”
ในตลอดปี 63 ทางฟาร์มได้หาแหล่งอาหารที่จะมาแทนอามิ จนได้มาเจอกับมูลสุกร และมูลไก่ แต่เนื่องจากบ่อที่ฟาร์มมีขนาดใหญ่ ทำให้ใช้เวลาค่อนข้างนานในการหาสูตรที่ลงตัว แต่ตอนนี้ทางฟาร์มก็ได้สูตรที่ลงตัว และผลผลิตที่ได้กลับมาก็เกือบ 100% เมื่อเทียบกับอามิสมัยก่อน
“อามิสมัยก่อนให้ผลผลิตดีมาก แต่อามิรุ่นใหม่ สิ่งที่เห็น คือ กลิ่นที่เปลี่ยนไป มีกลิ่นเหม็น หากทิ้งไว้นานจะเน่า แต่อามิสมัยก่อนหากทิ้งไว้นานจะไม่เน่า เพราะอามิมี pH ที่ต่ำมาก มีความเป็นกรดสูงมาก มันจะไม่เน่า” คุณธนัญช์กล่าวเพิ่มเติม
นอกจากเรื่องอามิแล้ว อีกปัญหาที่ทางฟาร์มเจอ คือ เรื่องของแรงงานที่ขาด ในช่วงโควิด-19 เนื่องจากแรงงานกลับบ้าน และไม่ยังสามารถกลับมาฟาร์ม ทำให้ช่วงนั้นฟาร์มขาดแรงงาน ทางคุณธนัญช์จึงได้ดัดแปลงอุปกรณ์ที่มีให้เกิดประโยชน์
“คนงานกลับบ้านช่วงสงกรานต์ แล้วโควิดก็กลับมาระบาดอีกครั้ง คนงานเลยกลับมาไม่ได้ตั้งแต่สงกรานต์ ก็คือ ทำกันอยู่แค่ 2 คน ซึ่งที่อื่นจะใช้คนงานในการเก็บตัวอาร์ทีเมีย แต่ที่ฟาร์มจะใช้เรือจริงๆ เราใช้เรือมาตั้งแต่ 10ปีแล้ว แต่คนงานเขาอยากเดินเก็บเอง พอตอนนี้ไม่มีคนงาน เราจึงนำเรือกลับมาใช้อีกครั้ง” คุณธนัญช์เผยถึงที่มาของอุปกรณ์
ทางฟาร์มได้นำเรือที่เคยใช้ในอตีดกลับมาพัฒนาปรับปรุง และผลลัพธ์ที่ได้ คือ มีประสิทธิภาพดีกว่าเดิมมาก ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น โดยไม่ต้องเสียค่าแรงงาน
ผลผลิตที่เพิ่มขึ้นไม่ใช่แค่วิธีการเก็บที่เปลี่ยนไป แต่ยังมีเรื่องของอาหารที่เปลี่ยนไปอีกด้วย เรียกได้ว่าจากวิกฤตที่เกิดขึ้น ทำให้ทางฟาร์มได้หาทางแก้ไขปรับปรุงและพัฒนาการเลี้ยง จนปัจจุบันได้ผลผลิตที่ดี มีคุณภาพดีกว่าเดิม และช่วยลดต้นทุนอีกด้วย
“จริงๆ แล้วตัวอาร์ทีเมีย ตั้งแต่ที่เลี้ยงด้วยอามิจะมีปัญหาอย่างหนึ่ง ด้วยความที่อามิเป็นกรดมาก หรือเพราะธาตุอาหารไม่ครบสมบูรณ์ จะพบอาร์ทีเมียตัวค่อนข้างบาง ถึงจะได้สีตัวที่แดงมาก แต่ผนังลำตัวมันบาง ทำให้ตายง่าย เวลาเอามาฟรีซตัวมันจะแตก แต่หลังจากหันมาใช้มูลสัตว์พบว่าผนังหนาขึ้น สามารถขนส่งได้ในระยะไกลโดยไม่มีปัญหา” คุณธนัญช์เผยถึงวิกฤตที่กลายมาเป็นโอกาส
ใช้มูลสัตว์เป็นแหล่งอาหารอาร์ทีเมีย
การใช้มูลสัตว์ให้ผลลัพธ์ออกมาดีมากๆ แต่ในปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัย หรือการส่งเสริมจากทางภาครัฐ เรื่องการใช้ มูลสัตว์เลี้ยงอาร์ทีเมีย จึงทำให้หลายๆ ฟาร์มยังไม่กล้าที่จะลอง และปัจจุบันในวงการสัตว์น้ำมีอาหารสำเร็จรูปให้เลือกหลากหลาย
ในช่วงที่ผ่านมาทางฟาร์มขายอาร์ทีเมียให้กลุ่มผู้เลี้ยงปลากัด ทำให้กลุ่มปลากัดเพชรบุรีใหญ่โตขึ้นมาก เป็นกลุ่มที่เลี้ยงเพื่อส่งออกต่างประเทศ เช่น อินโดนีเซีย เม็กซิโก เมื่อได้ลองใช้แล้วผลที่ได้ คือ ปลากัดโตไว สีสวย ได้ราคาดีขึ้น
“ช่วงที่เรามีคนงานอยู่ พอจะมีเวลาแวะไปส่งตามบ้านที่เลี้ยงปลากัด พอได้ลองใช้ก็ติดใจกัน สั่งกันเยอะขึ้น ตอนช่วงนั้นปลากัดบูมมาก มีลูกค้าที่ลาออกจากงานประจำมาเพาะปลากัดเป็นอาชีพก็มี” คุณธนัญช์กล่าวเพิ่มเติม
อาร์ทีเมียจะไม่นิยมใช้ฟาร์มลูก เพราะกลัวกุ้งจะดุ แล้วกินกันเอง ส่วนใหญ่ที่ฟาร์มจะขายให้ฟาร์มพ่อแม่พันธุ์กุ้งขาว คุณธนัญช์ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “สำหรับผม กุ้งดุ คือ กุ้งที่แข็งแรงเป็นธรรมชาติเดิมของมัน แต่คนเลี้ยงจะกลัวอัตรารอดต่ำ แต่ที่จริงแล้วอัตรารอดสูง เพราะกุ้งจะแข็งแรง”
นอกจากกุ้งแล้ว ยังจำหน่ายให้ทางหน่วยงานราชการ ส่วนใหญ่จะนำไปเลี้ยงปูม้า ในระยะ Megalope ของปูม้า ถ้าใช้อาร์ทีเมียจะดีมาก และที่สั่งเป็นครั้งคราวจะเป็น ปลาเก๋า ปลาสวยงาม
การบริหารจัดการบ่อเลี้ยงอาร์ทีเมีย
ปัจจุบันทางฟาร์มมีบ่อเลี้ยงทั้งหมด 4บ่อๆ ละ 6 ไร่ มีทางเชื่อมแต่ละบ่อเพื่อให้เรือสามารถวิ่งยาวได้ ลึกประมาณ 60 เซนติเมตร ส่วนจัดการบ่อไม่ยุ่งยาก เพราะทางฟาร์มมีการทำน้ำเค็มมานานแล้ว การจัดการบ่อเพียงแค่เติมน้ำไปเรื่อยๆ ทีละนิดจากบ่อพักน้ำ ซึ่งทางฟาร์มไม่เคยตากบ่อเลย
และอีกกิจกรรม คือ จะใช้เรือลากเพื่อทำให้น้ำขุ่น โดยใช้ตัวลากเป็นไม้ซึ่งจะทำงานได้เร็วกว่าการใช้โซ่ลาก พื้นที่ทั้งหมด 24 ไร่ ใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมง จะคาดบ่อทุกวันในช่วงเช้า ไม่เกินเที่ยง กิจกรรมทุกอย่างควรทำให้เสร็จก่อนเที่ยง ยกเว้นการให้อาหารเวลาไหนก็ได้
โดยคุณธนัญช์ได้ให้เหตุผลที่ต้องคาดบ่อว่า “เพื่อต้องการให้ธาตุอาหารที่อยู่บนพื้นบ่อลอยขึ้นมา ถ้าไม่คาดบ่อธาตุอาหารจะไม่ลอย และเหตุผลที่สอง คือ การทำให้น้ำขุ่นจะทำให้พวกสาหร่ายเส้นเติบโตไม่ได้ ซึ่งถ้าสาหร่ายเส้นโตจะทำให้เราเก็บผลผลิตไม่ได้”
การให้อาหารอาร์ทีเมีย
การเตรียมอาหารจะมี 2 วิธี คือ การใช้เรือคาด และการเติมปุ๋ยมูลสัตว์ จำนวนปุ๋ยมูลสัตว์สัตว์ที่ใช้ 2กระสอบ / บ่อ / วัน (กระสอบละ 25 กิโลกรัม) ใช้วิธีการหว่านโดยใช้เรือ ทางฟาร์มจะมีเรือที่ออกแบบมาให้เหมาะสมกับงานทั้งหมด 3 ลำ สำหรับเก็บตัวอาร์ทีเมีย คาดบ่อ และให้อาหาร
ปุ๋ยมูลสัตว์ที่ทางฟาร์มเลือกใช้จะเป็นมูลสุกร โดยคุณธนัญช์ได้ให้เหตุผลว่า “ในเรื่องของธาตุอาหารขี้ไก่จะดีกว่า แต่ขี้ไก่จะมีแกลบผสมมา มันจะมีปัญหาเรื่องแกลบ และขนไก่ลอย หรือติดเวลาลากทำให้บ่อสกปรก ต้องมาแยกทำให้การจัดการยากขึ้น และที่เลือกขี้หมูเพราะอยู่ใกล้แหล่ง มีให้ใช้ไม่จำกัด การจัดการง่าย เหมาะสำหรับทำเพื่อส่งออก”
เมื่อถามถึงความยากของอาชีพนี้ คุณธนัญช์ได้ให้ความเห็นว่า ความยากของอาชีพนี้สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มต้น คือ ตลาด ที่ผ่านมามีข้อจำกัด เพราะคนไทยส่วนใหญ่ไม่นิยมใช้อาหารสด การใช้อาร์ทีเมียจึงน้อยลง หันไปใช้อาหารสำเร็จรูปมากขึ้น เพราะเน้นความสะดวก แต่ที่ต่างประเทศอาร์ทีเมียเป็นที่นิยมมาก สำหรับการเลี้ยงอาร์ทีเมียไม่มีอะไรมาก อยากให้หันมาใช้กันดู
หากเกษตรกรท่านใดสนใจ ติดต่อได้ที่ สุนทรีฟาร์ม 126 ม.1 ต.แหลมผักเบี้ย อ.แหลมผักเบี้ย จ.เพชรบุรี หรือ โทร.081-995-4036 หรือ 081-310-6282 และสามารถติดตามได้ทาง Facebook เพจ Artermai biomass farm