หมอเจี๊ยบ บอกวิธี รวยด้วยการเลี้ยงกุ้ง

โฆษณา
AP Chemical Thailand

พอเอ่ยนาม “หมอเจี๊ยบ” หรือ นายสัตวแพทย์สุวรรณ ยิ้มเจริญ นักวิชาการ และเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งในจังหวัดจันทบุรี คนในวงการพยักหน้ามากขึ้น เพราะไม่ใช่เก่งแต่ทฤษฎี แต่ลงมือเลี้ยง ทั้งกุ้งขาวและดำหลายบ่อ มีกำไรคุ้มค่าแก่การลงทุน ไม่เครียดเรื่องกุ้งตาย ไม่โต อะไรเป็นต้น ซึ่งสวนทางกับผู้เลี้ยงกุ้งหลายคนที่หมดตัวเพราะกุ้ง

1.หมอเจี๊ยบ01

การเลี้ยงกุ้ง

“การเลี้ยงที่ดีต้องเรียบง่าย ทุกคนเลี้ยงได้ มีผลผลิตออกทุกฤดูกาลอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมต้นทุนได้คงที่ และต่ำกว่าราคาขาย มีเทคโนโลยีการเลี้ยงที่สามารถทำได้ง่าย สร้างระบบป้องกันโรคที่ดี เช่น ไวรัสตัวแดงฯ หัวเหลือง โดยเฉพาะไวรัสสำคัญมาก ปีนี้เราเจอทั้งปี จากสภาพอากาศที่เปลี่ยนไป” หมอเจี๊ยบ ได้เปิดประเด็นการเลี้ยงกุ้งต่อผู้เข้าร่วมสัมมนา

ในเรื่องตลาดทั้ง กุ้งดำ และ กุ้งขาว หมอเจี๊ยบฟันธง มีรองรับแน่นอน ไม่ว่า กุ้งอ๊อก กุ้งต้ม หรือ กุ้งแช่แข็ง ไปได้ทั้งหมด

หลายปีที่หมอเจี๊ยบอยู่กับการเลี้ยงกุ้ง ได้เรียนรู้ทุกมิติ ทั้งการผลิตและการตลาด สามารถนำเทคโนโลยีต่างๆ มาประยุกต์ใช้ ตลอดจนมี “กำไร” เรื่อยมา พูดได้ว่าเขาคือ เซียน ตัวจริงในวงการ ไม่แปลกที่แต่ละวันต้องตอบคำถามเรื่องกุ้งทางเฟสบุ้คให้แฟนคลับของเขา

“กุ้งกุลาดำที่เราจับปีนี้ตลาดดีมาก กุ้งอ๊อกมีตลาดทั้งปี มีเที่ยวบินไปจีนทั้งปี กุ้งต้ม ผมคุยกับยี่หนิง ซื้อกุ้งต้มกุลาดำทั้งปี โดยเฉพาะ 50-55 ตัว/กก. เลี้ยงได้ทุกสายพันธุ์ ทำสีได้หมด กุ้งขาวปีนี้ราคาก็ดีกว่าปีที่ผ่านมา ตลาดจีนเพิ่มขึ้น” หมอเจี๊ยบ ยืนยัน

เมื่อตลาดเปิดกว้าง ก็ต้องเร่งผลิตกุ้ง ทั้งดำและขาว ตามทฤษฎีตีเหล็กเมื่อร้อน แต่เลี้ยงอย่างไรให้รอด และกุ้งโตได้ไซซ์ที่ตลาดต้องการ เป็นคำถามที่ฮิตมาตลอด

โฆษณา
AP Chemical Thailand

2.หมอเจี๊ยบ02

สายพันธุ์กุ้ง

หมอเจี๊ยบฟันธงเรื่อง สายพันธุ์ สำคัญมาก เพราะจะต้องให้เหมาะกับบ่อ และเครื่องไม้เครื่องมือที่มีอยู่ “ให้เหมาะกับสิ่งที่เรามี ให้เหมาะกับศักยภาพแวดล้อมของเรา ตรงนี้คือหัวใจ ผมใช้สายพันธุ์ทนเข้ามาเลี้ยงปีที่ 2 เห็นหน้า เห็นหลัง” ไม่เครียด ลงดูฟาร์ม 2 หรือ 3 ครั้ง/เดือน เพราะมีภารกิจหลายอย่าง ปล่อยให้ ผจก.บริหารแทน เพราะกุ้งพันธุ์ทนเลี้ยงง่าย คอนโทรลทุกอย่างได้ง่าย เมื่อก่อนเจอปัญหา เมื่อกุ้งอายุ 70 วัน ต้องคอยดูแล ตอนนี้ 120 วัน ก็ไม่มีปัญหา จึงเริ่มวางแผนได้ว่าจับวันไหน

“เลี้ยงกุ้งให้ดี คือ เลี้ยงดินๆ ให้เลี้ยงน้ำๆ ให้เลี้ยงกุ้ง ต้องเริ่มจากดิน บำบัดพื้นดินให้ดี เมื่อดินดี น้ำจะดี เมื่อน้ำดี กุ้งจะดี ที่ฟาร์มบำบัดดินก่อนการเลี้ยงทุกรอบ น้ำก็รีไซเคิลกลับมาใช้ใหม่ เพราะจะช่วยประหยัดพลังงาน และรักษาแร่ธาตุ เรามีเทคนิคประหยัดแร่ธาตุ เทคนิคทำสีกุ้งให้เข้ม ทำได้ทุกสายพันธุ์” หมอเจี๊ยบ เปิดเผย

3.หมอเจี๊ยบ03

การบริหารจัดการบ่อกุ้ง

ดังนั้นการเตรียมบ่อต้องบำบัดพื้นบ่อหลายวิธี เช่น ตากแดดให้แห้ง หรือใช้ จุลินทรีย์ ราดให้ทั่วพื้นบ่อหลังจากฉีดเลนเสร็จ เพราะดินยังมีความชื้น ทิ้งบ่อให้แห้ง แล้วลง ปูนร้อน เติมน้ำเข้าบ่อจนเต็ม แล้วลงยาไดคลอวอสออกฤทธิ์เร็วเพื่อฆ่าพาหะ ทิ้งไว้ 1 วัน พอวันที่ 3 ใส่ คอปเปอร์ เพื่อฆ่าหอย ซึ่งเป็นตัวพาหะ EHP จากนั้นก็ใส่ กากชา 20 กก./ไร่ วันที่ 8 ใส่ โปตัสเซียมโมโนซัลเฟตแท้ 100% ฆ่าเชื้อไวรัส โดยไม่รบกวนแพลงก์ตอนแต่อย่างใด โดยใส่ 4 กก./ไร่

ถ้าผสม คลอรีน ด้วยก็ดี ในสัดส่วน โปตัสเซียมฯ กับคลอรีน 4 กก.:400 กรัม ซึ่งน้ำลึก 1.5 เมตร มันจะแตกตัวดีมาก มีประสิทธิภาพฆ่าไวรัส พอวันที่ 9 ใส่จุลินทรีย์ ตามด้วยน้ำตาลทราย และกากน้ำตาล ควรใส่จุลินทรีย์ 11 โมงเช้า เพราะน้ำมี pH สูง จุลินทรีย์แบ่งตัวไว ทำให้ pH ลด จนใกล้เคียงตอนบ่าย และเกิดจุลินทรีย์ตัวดีในบ่อมากขึ้น ประกอบกับ ปูนซีเมนต์ซิลิเกต ที่ใส่ตอน 9 โมงเช้า จะช่วยลดตะกอนในน้ำ

จากนั้นก็ลงลูกกุ้งในอัตราที่สัมพันธ์กับฤดูกาลแต่ละพื้นที่ ซึ่งมีผลต่อ ความเค็ม ของน้ำในบ่อ เช่น ถ้าความเค็ม 30-40 ppt. ควรปล่อย 8 หมื่น-1 แสนตัว/ไร่ หน้าฝน 2 แสนตัว/ไร่ หน้าหนาว 1.2 แสนตัว/ไร่ และหน้าร้อน 8 หมื่น-1 แสนตัว/ไร่ “เราต้องคอนโทรลเรื่องเชื้อ ถ้าหนาแน่นสูง เราคอนโทรลไม่ได้ ถ้าเราไม่บ้าระห่ำถ่ายน้ำ แต่ถ้าเปลี่ยนถ่ายน้ำมากก็คือ การเอาเชื้อไวรัสเข้ามาในระบบ” คุณหมอเจี๊ยบ ให้เหตุผลการปล่อยปริมาณลูกกุ้ง

“วันนี้ที่ฟาร์มกลับมาเลี้ยงแบบเดิมๆ เลี้ยงโดยเตรียมบ่อด้วยจุลินทรีย์ ไม่ถ่ายน้ำ ไม่ดูดเลน ตลอดการเลี้ยง เรากลับมาเลี้ยงได้หลายบ่อ กลับมาเหมือน 7-8 ปีที่แล้ว ผมปล่อยทุกเดือน 10-15 บ่อ จับกุ้งทุกอาทิตย์” คุณหมอเจี๊ยบ ยอมรับถึงการกลับไปสู่อดีต

โฆษณา
AP Chemical Thailand

4.หมอเจี๊ยบ04

ข้อดีของจุลินทรีย์

ดังนั้นการนำ ระบบไบโอซีเคียว มาใช้ เริ่มเห็นผลในยุคที่อากาศแปรปรวน ไม่งั้น ไวรัส ต่างๆ เล่นงานหนัก โดยเฉพาะโรคหัวเหลือง หรือ RNA ไวรัส ที่โจมตีเม็ดเลือดกุ้งระบาด แม้น้ำมีความเค็ม 17 แต้ม ก็ไม่เว้น แม้แต่พาหะของไวรัส เช่น นกต่างๆ ก็ต้องป้องกันอย่างดี ยิ่งบรรยากาศมี PM2.5 มาก ก็ทำให้มีผลกระทบต่อ ออกซิเจน ในน้ำด้วย

ดังนั้นจุลินทรีย์จึงมีบทบาทสำคัญในการเลี้ยงกุ้ง เพราะเมื่ออากาศเปลี่ยน pH น้ำเปลี่ยน น้ำก็เปลี่ยน บางคนเจอ  “น้ำล้ม” แพลงก์ตอนดรอป แบคทีเรียรวมกลุ่มกันสร้าง ไบโอฟิล์ม แล้วแตกกระจายอยู่ผิวน้ำ ทำอย่างไรไม่ให้น้ำล้ม ก็ต้องทำให้น้ำไม่ขาด คาร์บอนไดออกไซด์ ไม่ขาด อัลคาไลน์ เพราะทั้ง 2 อย่าง ล้วนเกื้อกูลซึ่งกันและกันในระบบนิเวศ และ แพลงก์ตอน ต้องการใช้คาร์บอนไดออกไซด์

ดังนั้นเมื่อ 3 สิ่งไม่สมดุลกัน ก่อให้เกิดน้ำล้ม 2 วัน นำมาซึ่ง ขี้ขาว ซึ่ง 90% เกิดจากน้ำล้ม ซึ่งหมอเจี๊ยบฟันธงว่า “สิ่งที่ต้องทำ คือ ทำให้อัลคาไลน์สูง จึงต้องเตรียมบ่อด้วยจุลินทรีย์ เพราะเมื่อจุลินทรีย์แบ่งตัวมันจะสร้างกรดคาร์บอนิกไปละลายปูนร้อนๆ เมื่อถูกน้ำเป็นคาร์บอเนตๆ เมื่อถูกกรดคาร์บอนิกละลายจะเป็นไบคาร์บอเนต เป็นอัลคาไลน์ เมื่อสูงขึ้นเรื่อยๆ จะบัฟเฟอร์ให้คุณภาพน้ำนิ่ง

ฉะนั้นการเติมจุลินทรีย์ต่อเนื่อง อัลคาไลน์สูงตลอดเวลา เลี้ยง 40-50 วัน เกิดฟล็อก หรือตะกอนแขวนลอย บ่อไหนเกิดฟล็อก กุ้งโตดี เมื่ออัลคาไลน์สูง pH ไม่แกว่ง ในบ่อเกิด 2 ระบบๆ ออโตโทฟิก กับเฮชเทอโรโทฟิก ออโตโทฟิก แพลงก์ตอนขับเคลื่อน สีน้ำเข้มขึ้น ระบบเฮชเทอโรโทฟิกจะมีจุลินทรีย์ขับเคลื่อน pH ไม่สูง 7.6-7.7 แต่ถ้าทำ 2 ระบบ ให้สมดุล pH รอบวันไม่แกว่ง” หมอเจี๊ยบ ให้ความเห็นถึงข้อดีของการให้จุลินทรีย์ตลอดการเลี้ยง

5.หมอเจี๊ยบ05

การบำรุงดูแลกุ้ง

นอกจากนี้หมอเจี๊ยบได้แนะนำให้ใช้ปูนซีเมนต์ ซึ่งเป็น แร่ซิลิเกต เมื่อมันละลายน้ำก่อให้เกิดแพลงก์ตอนกลุ่มดี เกิดกลุ่มไดอะตอม เกิดแบคทีเรียตัวดี จุลินทรีย์ตัวดีเป็นประโยชน์ต่อระบบนิเวศในบ่อ ก่อนจับกุ้ง 14 วัน ใส่ปูนซีเมนต์ 2-4 กก./ไร่ โดยใส่ 2 ช่วง 9 โมง และ 3 ทุ่ม ใส่สีน้ำเทียมเพื่อให้สีน้ำเข้ม แล้วให้อาหารเร่งสี 14 วัน สีกุ้งขึ้นทันที ดังนั้นปูนซีเมนต์ช่วยได้หลายเรื่อง คุณหมอเจี๊ยบใส่ปูนซีเมนต์หลังลงกุ้ง 12 วัน 1 กก./ไร่ ตลอดการเลี้ยง เพราะเมื่อใส่ปูนตอนเช้า ตะกอนจะลดลง แต่ถ้าใส่กลางคืนจะช่วยสร้างเปลือกให้กุ้ง

ขณะเลี้ยงการให้ ออกซิเจน ก็เป็นเทคนิคอย่างหนึ่ง เพราะมันเป็นเรื่องต้นทุนที่สัมพันธ์กับความหนาแน่นของกุ้งตามอายุ และตามปริมาณอาหารที่ให้แต่ละวัน “คำนวณเครื่องตีน้ำง่ายๆ 1 มอเตอร์ 3 แรง ตีประมาณ 80-90 รอบ 2 ใบ 15 ใบ ได้ 800 กก. นี่คือค่าที่ปลอดภัย พอเรารู้ว่าบ่อเรามีกุ้งเท่าไหร่ และรู้ว่าสายพันธุ์อะไรที่เหมาะสมต่อการเลี้ยงแต่ละฟาร์มที่มีอยู่ ตรงนี้สำคัญ” หมอเจี๊ยบ ให้ความเห็น

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ส่วนเรื่องการใส่น้ำก็สัมพันธ์กับ ไนโตรท์ เพราะไนไตรท์มีผลต่อการทำให้ กุ้งสีฟ้า ถ้ามีมากในบ่อเกิน 3 ppm. ต่อเนื่องกัน 7 วัน จะทำให้เลือดกุ้งมีไนไตรท์ถึง 5 หรือ 6 เพราะกุ้งจะแลกเปลี่ยนกับไนไตรท์ในน้ำผ่านทางเลือด ซึ่งเม็ดเลือดกุ้งทำหน้าที่ขนส่งธาตุออกซิเจน แพร่ไปตามเนื้อเยื่อ เพราะกุ้งไม่มีเส้นเลือด กุ้งจะเครียด ภูมิคุ้มกันตก เบื่ออาหาร ต้องลดอาหาร และเปลี่ยนถ่ายน้ำ เพื่อลดความเข้มข้นของไนไตรท์

“หลายคนเจอปัญหาเดียวกัน ก่อนเปลี่ยนถ่ายน้ำ ตรวจน้ำ ไนไตรท์ 3 หลังถ่ายน้ำ 50% อีกวันตรวจ 3 เท่าเดิม เพราะไนไตรท์ในตัวกุ้งถูกขับออกมา แต่น้ำจาก 3 เหลือ 4 ทำให้กุ้งรีบถ่ายไนไตรท์ จึง 3 เท่าเดิม จึงต้องช่วยดูดตะกอนเลนออกให้มากที่สุด ควบคุมอาหารบ่อที่ไนไตรท์ค้าง ลดอาหาร 40% เสริมแร่ธาตุ โดยเฉพาะเกลือดำผสมอาหาร เกลือจะลดความเป็นพิษของไนไตรท์” หมอเจี๊ยบ ให้ความรู้เรื่องไนไตรท์ที่มีอิทธิพลต่อกุ้ง แม้แต่เปลือกกุ้งที่บางก็เพราะไนไตรท์สูง คอยดักจับ ฮีโมไซยานิน ในเม็ดเลือด ไม่ให้นำแร่ธาตุไปสร้างเนื้อเยื่อนั่นเอง

จึงเห็นได้ว่า การเลี้ยงกุ้งต้องรู้ลึกเรื่อง เลี้ยงดิน เลี้ยงน้ำ เลี้ยงกุ้ง ตามหลักวิทยาศาสตร์ กุ้งจึงแข็งแรง ทนโรค โตได้ไซซ์ที่ต้องการ

อ้างอิง : นิตยสารสัตว์น้ำ ฉบับที่ 405